fbpx
Glenn Fajardo : ออกแบบกระบวนการยุติธรรมสำหรับทุกคน ด้วยแนวคิด Design Across Border

Glenn Fajardo : ออกแบบกระบวนการยุติธรรมสำหรับทุกคน ด้วยแนวคิด Design Across Border

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

ปนัฐ ธนสารช่วงโชติ ภาพ

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แนวความคิด design thinking เป็นหนึ่งในแนวคิดที่ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลาย ด้วยความที่เป็นแนวคิดซึ่งพยายามนำการคิดเชิงออกแบบนวัตกรรมมาทำความเข้าใจปัญหาต่างๆ โดยยึดเอาคนเป็นศูนย์กลาง (Human-Centered) แนวคิด Design thinking ถูกยอมรับและได้รับความนิยมในภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก โดยมีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งได้นำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตน

อย่างไรก็ตาม การนำแนวคิดดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับภาคส่วนอื่น นอกเหนือจากภาคธุรกิจ อาจเป็นเรื่องที่ใหม่และค่อนข้างยากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเรื่องกระบวนการยุติธรรมหรือปัญหาสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความเป็นพลวัตร มีความซับซ้อน และมีตัวแสดง รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากกว่าปัญหาในภาคธุรกิจ

Glenn Fajardo คือหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านการนำแนวคิด design thinking มาใช้ในการแก้ปัญหาสังคม โดยเขาเป็นผู้ออกแบบและผู้สอนหลักสูตร ‘design across border’ หลักสูตรพิเศษของ Stanford d.school มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา หลักสูตร ‘design across border’ ยังคงแก่นเรื่องการคิดเชิงออกแบบนวัตกรรม แต่นำเอาบริบทความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมเข้ามาร่วม ผสมผสานกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้คนที่อยู่ในพื้นที่แตกต่างกัน ในแต่ละส่วนของโลกสามารถติดต่อสื่อสารกันได้

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Glenn Fajardo ได้เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อเป็นวิทยากรหลักในงานเยาวชนไร้พรมแดน (Borderless Youth Forum) จัดโดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC)

ในงานนี้ Glenn Fajardo ได้นำแนวคิด design across border มาใช้กับการแก้ปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมเป็นครั้งแรก โดยทำงานร่วมกับเยาวชนกว่า 150 คน จาก 14 ชาติ ด้วยเทคโนโลยีและเครื่องมือที่เชื่อมโยงให้เยาวชนจากคนละแห่ง คนละที่ ได้สื่อสารและทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาและสร้างสังคมที่ดีกว่าในอนาคต

101 จึงได้ถือโอกาสอันดีนี้สนทนากับ Glenn Fajardo เกี่ยวกับการนำเอาแนวความคิด design thinking มาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาสังคม และเสริมพลังของเยาวชน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ในการคิดค้นนวัตกรรมทางสังคม

Glenn Fajardo

แนวความคิดเรื่อง design thinking เป็นแนวคิดที่ค่อนข้างมีชื่อเสียง ตอนคุณเริ่มหลักสูตร design across border แนวความคิดที่ว่านี้เกี่ยวข้องกับเรื่อง design thinking อย่างไร

อันที่จริง แนวความคิด design across border มีพื้นฐานมากจากแนวคิด design thinking แต่มีความแตกต่างกันเล็กน้อยตรงที่ว่า design across border จะเป็น design thinking ที่มีบริบทของความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมเข้ามาร่วมด้วย ดังนั้น โจทย์ของงานนี้คือ เราจะใช้หลักสูตร design thinking ร่วมกันได้อย่างไร เมื่อพวกเราอยู่ไกลกัน และมีบริบททางวัฒนธรรมที่ต่างกัน

ทุกวันนี้ เทคโนโลยีทำให้ชีวิตและการทำธุรกิจของเราง่ายขึ้น เช่น เราสามารถใช้ Video conference ในการประชุมกับคนที่อยู่อีกซีกหนึ่งของโลกได้ โดยที่ไม่ต้องเจอหน้ากัน แล้วความแตกต่างระหว่างการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวกับการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการจัดกิจกรรม Borderless Youth Forum ครั้งนี้คืออะไร

ผมมีสามประเด็นหลักในเรื่องนี้ ประเด็นแรก ผมคิดว่าปัจจัยสำคัญไม่ใช่ตัวเทคโนโลยี แต่เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างจินตนาการมากกว่า และส่วนที่เราควรพิจารณาเกี่ยวกับ design across border คือ เราจะใช้และมีปฏิสัมพันธ์กับเทคโนโลยีอย่างไร

ประเด็นที่สองคือ พวกเราใช้เทคโนโลยีหลายอย่างผสมผสานกัน ดังนั้น นี่จึงไม่ใช่เรื่องของเครื่องมือเพียงชิ้นเดียว แต่เป็นเรื่องของการจัดการเทคโนโลยีเหล่านั้น พูดให้ชัดก็คือ เมื่อเราใช้ video call พวกเราสามารถเห็นปฏิกิริยาของฝ่ายตรงข้ามได้แบบเรียลไทม์ และในเวลาเดียวกัน เราก็สามารถเขียนอะไรลงในไวท์บอร์ด หรือติดตามเรื่องราวต่างๆ ไปด้วยได้ นี่เป็นประโยชน์ของเทคโนโลยีในการช่วยติดต่อสื่อสารกับคนอื่น และใช้ช่องทางสื่อที่หลากหลายในเวลาเดียวกัน

ประเด็นสุดท้าย ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ การใช้เทคโนโลยีไม่ใช่แค่การใช้ แต่ต้องใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้อย่างตั้งใจ และใช้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการ

คุณเคยพูดถึงความสำคัญของความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Cultural diversity) ในฐานะแหล่งกำเนิดของนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ แต่ขณะเดียวกัน หนึ่งในจุดอ่อนของความหลากหลายทางวัฒนธรรมคือ มันอาจเป็นอุปสรรคในการทำงานร่วมกัน เพราะแต่ละคนมีเชื้อชาติ เพศภาวะ หรือความแตกต่างกันหลายอย่าง แล้วแนวคิด design across border จะถูกใช้เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากความหลากหลาย และแก้จุดอ่อนที่ว่ามาได้อย่างไร

ความหลากหลายเป็นเหมือนดาบสองคม หนึ่งในรากฐานสำคัญของ design across border คือ พวกเราเห็นความหลากหลายเป็นเสมือนสิ่งที่จะนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ที่ดีกว่า คุณมองเห็นการบรรจบกัน (intersection) ของความคิดที่แตกต่าง และเราจะไม่สามารถคิดอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาได้เลย ถ้าไม่มีความหลากหลาย

เราจะเห็นว่าความคิดมากมายที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ล้วนเป็นผลมาจากการบรรจบกันที่ว่านี้ หรือหลายครั้งมาจากสิ่งที่เราคาดไม่ถึงด้วยซ้ำ ดังนั้น ความคาดหวังของพวกเราเกี่ยวกับเรื่อง design across border คือ เราจะเพิ่มการบรรจบกัน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไร

แนวความคิด design thinking มักถูกใช้ในภาคธุรกิจ แต่งานของ TIJ เน้นที่ปัญหาทางสังคม ซึ่งอาจมีความซับซ้อนกว่าปัญหาทางด้านธุรกิจ แล้วเราจะใช้ design thinking เพื่อแก้ปัญหาสังคมเหล่านี้ได้อย่างไร

การนำแนวความคิด design thinking มาใช้แก้ปัญหาสังคมเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อนมากในตอนนี้ โดยการที่จะใช้ design thinking แก้ปัญหาสังคมคือการที่เราต้องคิดทั้งเรื่องผลผลิต (product) และบริการ (service) รวมถึงเรื่องระบบ (system) ด้วย ว่าระบบจะต้องเป็นอย่างไรถึงจะทำให้ทั้งประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมามีปฏิสัมพันธ์กันจริงๆ และไม่ใช่คนแค่กลุ่มเดียว แต่เราต้องคิดถึงคนที่มีความแตกต่างกันทั้งหมดที่อยู่ร่วมในปัญหาสังคม เช่น ใครคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เรามีองค์การ NGOs เรามีคนที่แตกต่างกันเต็มไปหมด เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราทำคือ การสร้างความเห็นอกเห็นใจ (empathy) ต่อคนทั้งหมดที่อยู่ร่วมในปัญหาทางสังคมเหล่านี้ เพื่อที่เราจะได้เข้าใจว่า อะไรคือแรงขับเคลื่อนของแต่ละกลุ่ม เพื่อที่จะคิดวิธีแก้ปัญหาขึ้นมาได้

คุณมีโครงการเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยที่สแตนฟอร์ด ที่เอาวิธีการแบบ design across border มาใช้ อะไรคือจุดเริ่มต้นของโครงการดังกล่าว

ผมคิดว่าประเด็นเกี่ยวกับการอพยพของมนุษย์เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญทุกวันนี้ เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบกับโลกมากขึ้นทุกวัน อีกทั้งเมื่อเราพูดถึงการที่ผู้คนเคลื่อนย้ายไปทั่วโลก เรากำลังคิดถึงเรื่องพรมแดนปิด (closed border) ดังนั้น ผมจึงคิดว่า เราควรจะวางกรอบประเด็นปัญหาเรื่องการอพยพใหม่ รวมถึงเรื่องปัญหาและโอกาสเกี่ยวกับเรื่องผู้ลี้ภัยด้วย

Glenn Fajardo

แล้วเราได้วิธีการแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง เพราะประเด็นผู้ลี้ภัยประกอบด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก

ก่อนที่เราจะพูดเกี่ยวกับวิธีการแก้ปัญหา ผมคิดว่าเราต้องระบุปัญหาให้ชัดเจนก่อน สิ่งที่เรามักละเลยเวลาพูดถึงผู้ลี้ภัยหรือการอพยพคือ มันคืออะไรกันแน่ อะไรคือประเด็นและโอกาสที่เราพยายามจะพูดถึง ผมจึงคิดว่า เราควรจะเริ่มดูตั้งแต่เรื่องการวางกรอบของปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นมากในการพัฒนาไปสู่ทางแก้ปัญหาที่ดีขึ้นต่อไป

เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะประยุกต์ใช้แนวความคิด design thinking กับเรื่องอื่น นอกเหนือไปจากพรมแดนในความหมายทางภูมิศาสตร์ เช่น การประยุกต์ใช้แนวความคิดนี้กับคนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองต่างกัน หรือนับถือศาสนาต่างกัน

ตอนนี้ ผมกำลังทดลองเอาแนวความคิด design thinking มาพิจารณาเรื่องอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน และดูว่าเราจะประยุกต์ใช้มันกับเรื่องอะไรได้บ้าง เช่น ถ้าเราให้คนมาทำงานร่วมกันภายใต้สภาพแวดล้อมที่ถูกต้องและเหมาะสม เราจะได้ประโยชน์อะไรจากความหลากหลายบ้าง เราจะได้ความเห็นที่น่าสนใจ หรือความคิดที่ดีขึ้นไหม แต่การทดลองที่ว่ายังเพิ่งเริ่มต้น และยังเจอกับปัญหาและอุปสรรคบางประการอยู่ ซึ่งผมหวังว่าผมจะทำเรื่องนี้ต่อไปได้ในอนาคต

งานของ TIJ จะเน้นที่ประเด็นเฉพาะ เช่น การคืนอดีตผู้ต้องขังกลับสู่สังคม ความรุนแรงต่อบุคคลในเพศภาวะต่างๆ หรือการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของกลุ่มเปราะบาง สำหรับคุณในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้าน design thinking คุณมองเห็นอะไรจากการนำ design thinking มาใช้กับประเด็นเหล่านี้

สำหรับผม สิ่งที่เยาวชนผู้เข้าร่วมกิจกรรม (Borderless Youth Forum) แสดงให้เห็นนั้นน่าสนใจและน่าประหลาดใจมาก พวกเขาได้พูดคุยและรับรู้มุมมอง รวมถึงประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญแต่ละคน และยังเป็นการมองหาโอกาสว่าเราจะเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร แต่นี่ไม่ใช่ความพยายามในการแก้ปัญหาทั้งหมดในภาพรวม พวกเราไม่ได้พยายามจะแก้ปัญหาความรุนแรงต่อบุคคลในเพศภาวะต่างๆ หรือปัญหาการคืนอดีตผู้ต้องขังกลับสู่สังคม แต่พวกเราพยายามจะมองหาโอกาสจากประเด็นเหล่านี้ และพยายามจะควบคุมมัน

หลายครั้งเยาวชนมักถูกมองว่าไม่ใช่กลุ่มที่จะเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในสังคม ทำไมคุณถึงได้ชักชวนให้เยาวชนเข้ามาร่วมกิจกรรมเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงนี้

ข้อแรก เยาวชนเหล่านี้คือกลุ่มที่จะต้องอยู่กับความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นระยะยาวหรือระยะสั้น ดังนั้น ผมคิดว่านี่คือการลงทุนในอนาคต และอนาคตไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ แต่คือการคิดว่าเรากำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางใด

ข้อที่สอง เยาวชนเป็นแหล่งกำเนิดความคิดใหม่ๆ และคิดถึงโลกในมุมมองที่แตกต่างออกไป ดังนั้น ถ้าคุณคิดเรื่องการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการสร้างความเปลี่ยนแปลงแล้ว หนึ่งในสิ่งที่พวกเขาจะทำได้คือการเสนอความคิดใหม่ๆ ออกมา แต่ผมคิดว่า มันไม่ใช่แค่ความพยายามในการหาความคิดที่จะเปลี่ยนโลก แต่มันเกี่ยวกับว่าเราจะพาเยาวชนเข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาสังคมได้อย่างไรด้วย

จากการจัดงาน Borderless Youth Forum คุณเห็นอะไรในตัวเยาวชนผู้เข้าร่วมงาน และคุณเห็นความแตกต่างอะไรของงานนี้กับงานที่คุณเคยจัดมาก่อนหน้านี้ไหม

สำหรับเยาวชน ผมเห็นการที่พวกเขาได้แบ่งปันทักษะต่างๆ ร่วมกัน และเยาวชนยังได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญในประเด็นต่างๆ โดยที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องมาที่กรุงเทพฯ อีกทั้งการทำงานนี้เป็นเหมือนความร่วมมือระหว่าง TIJ กับสแตนฟอร์ด (Stanford) เรามีคนที่อยู่ในที่ต่างๆ ทั้งที่อยู่ที่นี่หรืออยู่ที่ชนบทในเมียนมาร์

อีกความน่าสนใจคือจำนวนผู้เข้าร่วม เมื่อคุณทำงานร่วมกับคนจำนวนเท่านี้ คุณต้องคิดแล้วว่า คุณจะเข้าหาผู้เข้าร่วมแต่ละคนได้อย่างไร เพื่อที่พวกเขาจะได้รู้สึกว่าตนเองได้รับการสนับสนุนตลอดทั้งกิจกรรม

อีกอย่างหนึ่งคือ เยาวชนจะถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยๆ เล็กๆ เพื่อทำกิจกรรมร่วมกันตลอดทั้งงาน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่พวกเขาจะต้องติดต่อ พูดคุยกันตลอด แต่ถ้าพวกเขามองว่านี่เป็นการประชุม (Conference) เขาก็จะคิดว่าตัวเองเข้าร่วมและไม่เข้าบางช่วงก็ได้ ซึ่งการที่คนเข้าๆ ออกๆ แบบนี้ไม่ใช่ประสบการณ์ที่ดีเท่าไหร่นัก

แต่งานนี้ไม่ใช่การประชุม เพราะฉะนั้น ผลลัพธ์ที่ได้ในตอนท้ายเลยมีความแตกต่างจากการประชุมมาก เพราะผมเห็นผู้เข้าร่วมทุกคนทำงานร่วมกันได้ดี และพวกเราก็หวังว่านี่จะเป็นผลที่ดีต่อไปข้างหน้า ซึ่งเราจะต้องคิดถึงเรื่องการสร้างเครือข่ายที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคตด้วย

คุณคิดว่า คุณได้อะไรจากเยาวชนผู้เข้าร่วมเหล่านี้ และคิดว่าการจัดกิจกรรมในครั้งหน้าจะเป็นอย่างไรต่อไป

อย่างแรกคือ ตอนนี้เรามี alumni แล้ว และมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากอาสาช่วยจัดกิจกรรมในปีหน้า ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากและเป็นเรื่องที่เราจะต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน ทั้งเรื่องจำนวนผู้เข้าร่วม กิจกรรมที่เราจะทำ หรือเรื่องช่วงเวลา (Time zone) และการจัดให้แต่ละทีมมามีปฏิสัมพันธ์กันด้วย เราจะดูจากผลลัพธ์ในปีนี้ แต่ผมไม่คิดว่ากิจกรรมในปีหน้าจะเหมือนกับปีนี้ทุกประการ แต่จะมีความแตกต่างอย่างมาก เพราะเราต้องการให้เกิดสิ่งใหม่ๆ มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งมีบางเรื่องที่เราจะต้องเตรียมตัวสำหรับปีหน้า เช่น เรื่องกระบวนการคัดเลือก เพื่อที่เราจะได้คนแบบที่เราต้องการมาร่วมกิจกรรม

Glenn Fajardo


บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมมือกันระหว่าง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) กับ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save