fbpx

เรื่องเล่าของสาวรับใช้ Girl with a Pearl Earring

นิยายปี 1999 เรื่อง Girl with a Pearl Earring ผลงานเขียนชิ้นแรกของเทรซี เชวาเลียร์ ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ทั้งยอดขายและคำวิจารณ์ จนอีกสี่ปีต่อมา เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นเมื่อถูกดัดแปลงเป็นหนังในชื่อเดียวกัน

สำหรับฉบับแปลภาษาไทย มี 2 สำนวน ครั้งแรกใช้ชื่อ ‘หญิงสาวกับต่างหูมุก’ แปลโดยสิริยากร พุกกะเวส (สำนักพิมพ์อิมเมจ) เมื่อ พ.ศ. 2545 และล่าสุดเพิ่งตีพิมพ์เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาคือ ‘สาวใส่ต่างหูมุก’ แปลโดยปทุมจิต อธิคมกมลาศัย (สำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์)

ในข้อเขียนชิ้นนี้ ผมเล่าสู่กันฟังโดยยึดถือสำนวนแปลจาก ‘สาวใส่ต่างหูมุก’ เป็นหลักนะครับ

ตอนที่ได้อ่าน Girl with a Pearl Earring เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ผมไม่ได้ชอบหรือประทับใจนิยายเรื่องนี้มากนัก ค่อนข้างไปทางผิดหวังเสียด้วยซ้ำ ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือช่วงนั้นผมยังคุ้นเคยกับนิยายจำพวกเน้นความบันเทิงจะแจ้งเด่นชัด และคาดหวังว่าจะได้พบเจอพล็อตเรื่องที่หวือหวาจัดจ้าน พอมาเจอะเจอกับเรื่องเล่าค่อนข้างไปทางเรียบง่าย จึงเหมือนลิ้มลองอาหารรสจืด ‘ไม่ถูกปาก’

ที่แย่กว่านั้นก็คือ ผมจับสังเกตไม่ได้นะครับว่านิยายเรื่องนี้มีข้อดีงามอย่างไร

ด้านบวกประการเดียวที่เกิดขึ้น มีเพียงแค่ช่วยเปิดโลก ทำให้ผมได้รู้จักกับศิลปินผู้ยิ่งใหญ่อย่างเฟอร์เมียร์เป็นครั้งแรก

เมื่อมีฉบับแปลใหม่ จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้อ่านอีกครั้ง เพื่อแก้สงสัยให้หายคลางแคลงใจ

ผลก็คือเหมือนอ่านนิยายคนละเรื่อง หรือคิดอีกแบบ เหมือนผมเปลี่ยนไปกลายเป็นคนละคน คราวนี้ชอบทันทีด้วยความสนิทใจ และเห็นว่าเป็นนิยายที่ดีโดยปราศจากข้อกังขาใดๆ ทั้งสิ้น

ไอเดียและความคิดหลักกว้างๆ ของนิยายเรื่อง Girl with a Pearl Earring คือการเล่าถึงเบื้องหลังที่มาของภาพเขียน (ชื่อเดียวกับนิยาย) หนึ่งใน ‘งานชิ้นเอก’ ของเฟอร์เมียร์และโลกศิลปะ

ภาพวาด Girl with a Pearl Earring (ก่อนจะติดปากเรียกขานด้วยชื่อนี้ ภาพดังกล่าวเคยถูกขนานนามอื่นๆ อีกหลายชื่อ) เป็นภาพหญิงสาวเอี้ยวศีรษะมองมายังผู้ชม เต็มไปด้วยปริศนาและความคลุมเครือหลายๆ อย่าง จนกลายเป็นเสน่ห์ตรึงใจผู้ได้ชม (ซึ่งพยายามตีความหรือค้นหาคำตอบต่างๆ นานา) กระทั่งได้รับสมญาว่าเป็น Mona Lisa of the North

ข้อสงสัยแรกสุดคือ ตัวภาพแม้จะเปี่ยมด้วยเอกลักษณ์เฉพาะของศิลปินผู้วาด แต่ขณะเดียวกันก็มีความแตกต่างจากงานส่วนใหญ่ของเฟอร์เมียร์ จนชวนให้นึกฉงนว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ที่เห็นชัดสุดคือพื้นหลังดำสนิท ปราศจากฉากและรายละเอียด ซึ่งในผลงานอื่นๆ ของเขา มักมีการจัดวางองค์ประกอบภาพระหว่างนางแบบนายแบบ สิ่งของเครื่องใช้ แสงเงา อย่างพิถีพิถันประณีตบรรจงเข้าขั้นวิจิตร

ถัดมาคือ สีหน้าแววตา (รวมถึงริมฝีปาก) ของหญิงสาวที่ปรากฏในภาพ เต็มไปด้วยปริศนาลึกลับว่าเธออยู่ในอารมณ์ความรู้สึกเช่นไร? เหตุใดจึงโพกผ้าพันเส้นผมและศีรษะ ต่างจากของหญิงสาวทั่วไปในภาพวาดอื่นๆ? ตลอดจนข้อสงสัยว่าใครคือนางแบบ?

นี่ยังไม่นับรวมว่าประวัติชีวิตของเฟอร์เมียร์เองก็มีข้อมูลรายละเอียดหลายอย่างไม่กระจ่างชัด

จุดเด่นแรกสุดของนิยายเรื่อง Girl with a Pearl Earring คือ เทรซี เชวาเลียร์ใช้จินตนาการสร้างเรื่องแต่งเข้าไปสวมทับในเหตุการณ์จริงอันคลุมเครือ เหมือนการเติมคำในช่องว่าง

อารมณ์ละม้ายใกล้เคียงกับนักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ศิลปะ ที่ตั้งข้อสังเกตสร้างสมมติฐานบางอย่างขึ้นมา แล้วหยิบยกเหตุผลและหลักฐานต่าง ๆ ขึ้นมาอธิบายความคิดเห็นของตน

เป็นข้อสังเกต ความคิดเห็น ความเชื่อที่ไม่อาจสรุปฟันธงได้ว่าถูกหรือผิด แต่สามารถหยั่งประเมินได้ว่าเหตุผลประกอบรายล้อมที่หยิบยกมานั้น มีน้ำหนักพอจะเป็นที่ยอมรับคล้อยตามหรือไม่

‘เบื้องหลังภาพวาดบันลือโลก’ ที่ปรากฏในนิยายก็เข้าอีหรอบนี้ คือนำเสนอออกมาแล้ว ‘เข้าเค้า’ และ ‘ฟังขึ้น’  สามารถทำให้ผู้อ่านยอมรับคล้อยตาม (ผมนั้นรู้สึกว่าคุณเทรซี เชวาเลียร์นั้น ‘ช่างคิด’ และเก่งมาก)

ที่ชอบยิ่งไปกว่านั้นคือเป็นจินตนาการที่กำลังพอเหมาะพอดี ไม่โลดโผนหวือหวาพิสดารเกินควร จนกลายเป็นนิยายโม้สะบั้นหั่นแหลกประมาณ The Da Vinci Code  (ซึ่งตอนอ่านเมื่อ 20 ปีก่อน ผมคาดหวังอยากให้เป็นเช่นนั้น ตอนนี้สำนึกผิดแล้วครับ) ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ไขปริศนาต่างๆ จนเคลียร์ชัดใสแจ๋ว เห็นกระจ่างไปหมดทุกสรรพสิ่ง แต่ยังคงมีลักษณะเก็บงำซ่อนเร้น ทำให้ผู้อ่านต้องครุ่นคิดค้นหาคำตอบหรือสร้างข้อสันนิษฐานด้วยตนเองอีกทอดหนึ่ง

จุดเด่นประการต่อมาคือเรื่องแต่งที่เทรซี เชวาเลียร์ ผูกสร้างขึ้นก็มีความน่าสนใจในตัวของมันเอง

ผมไปอ่านเจอศัพท์คำหนึ่ง ซึ่งมีคนใช้เรียกขานนิยายเรื่อง Girl with a Pearl Earring ว่าเป็นเรื่องเล่าในแบบ bildungsroman

จากข้อมูลที่ผมอ่านเจอ และยังไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้อง bildungsroman เป็นศัพท์วรรณกรรมเยอรมัน เกิดขึ้นในครึ่งหลังศตวรรษที่ 18 มาจากคำ bildung แปลว่า  ‘การเรียนรู้’/‘การศึกษา’ ซึ่งกลายความหมายได้อีกว่า การขึ้นรูปหรือก่อร่างขึ้นเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ผนวกรวมกับ roman ที่แปลว่า นิยาย

ความหมายกว้างๆ ของ bildungsroman คือเป็นนิยายว่าด้วยการเดินทางของตัวเอก ช่วงวัยมักคาบเกี่ยวกับวัยเด็กกลายมาเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งเผชิญอุปสรรค สถานการณ์ผันผวน ความสับสนในตัวตน ผ่านความเจ็บปวดและการสูญเสีย เกิดความขัดแย้งภายในใจขนานใหญ่ ได้เรียนรู้และพบเจอบทเรียนชีวิต กระทั่งเติบโตมีวุฒิภาวะมากขึ้นกว่าเดิมจากตอนแรกเริ่ม

นิยามข้างต้น bildungsroman จึงมีความหมายใกล้เคียงกับ coming of age ข้อแตกต่างตามความเข้าใจของผมก็คือ คำแรกนั้น สิ่งที่ตัวละครต้องพบเผชิญ มีลักษณะเฉพาะเจาะจงกว่า มีความเป็นแบบแผนมากกว่า

พูดง่ายๆ คือสิ่งที่ทำให้ตัวละครผ่านช่วง coming of age นั้น ครอบจักรวาลและกว้างกว่าใน bildungsroman

ข้างต้นนี้ ผิดถูกจริงเท็จอย่างไรไม่รับประกันนะครับ

พล็อตคร่าวๆ ของ Girl with a Pearl Earring เล่าถึงเด็กสาววัย 16 ปีชื่อกรีท อาศัยอยู่ที่เมืองเดลฟท์ ครอบครัวของเธออยู่ในสภาพขัดสน หลังจากที่พ่อประสบอุบัติเหตุจนตาบอด กลายเป็นคนตกงาน

กรีทจึงต้องออกจากบ้านไปทำงานเป็นคนรับใช้ให้ครอบครัวของเฟอร์เมียร์ ต้องทำงานหนัก ตั้งแต่ซักล้างเสื้อผ้า จ่ายตลาด และที่สำคัญคือทำความสะอาดห้องทำงานหรือสตูดิโอของเฟอร์เมียร์ ซึ่งมีกฎเข้มงวดอย่างหนึ่งคือต้องปัดกวาดเช็ดถู โดยห้ามไม่ให้สิ่งของต่างๆ (ซึ่งเป็นฉากหลังของภาพที่เฟอร์เมียร์กำลังวาด) ขยับเคลื่อนผิดไปจากเดิมแม้แต่เพียงน้อยนิด

เรื่องราวถัดจากนั้นคือการผจญภัยสารพัดสารพันของกรีท ตั้งแต่การรับมือกับบรรดาสมาชิกในครอบครัวนายจ้าง ซึ่งมีทั้งดีและร้าย มีทั้งความเป็นมิตรและความเป็นอริ ความสัมพันธ์แบ่งรับแบ่งสู้กับชายหนุ่มชื่อปีเตอร์ ลูกชายคนขายเนื้อที่ตกหลุมรักเธอ การเอาตัวรอดจากความจงเกลียดจงชังตั้งแต่แรกพบของคาธารีนา (ภรรยาของเฟอร์เมียร์) ซึ่งงานบางอย่างที่กรีทได้รับมอบหมาย จำต้องปกปิดเป็นความลับไม่ให้คาธารีนาล่วงรู้

และเหนือสิ่งอื่นใดคือความสัมพันธ์ระหว่างสาวรับใช้กับศิลปิน ซึ่งค่อยๆ พัฒนาจากการมีระยะห่างในช่วงแรกเริ่ม กลายมาเป็นความใกล้ชิดมากขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งนำพาไปสู่เรื่องราวอันเป็นบ่อเกิดที่มาของภาพวาดอันเต็มไปด้วยความล้ำเลิศและลึกลับ

ในด้านหนึ่ง พล็อตของนิยายเรื่องนี้ไม่ต่างจากนิยายโรแมนติกย้อนยุคที่มีอยู่ดาษดื่น เต็มไปด้วยเหตุการณ์อิจฉาริษยา ชิงดีชิงเด่นระหว่างหลายๆ ตัวละคร ความรักต้องห้ามที่พัวพันกันหลายเส้าหลายฝ่าย

มิหนำซ้ำ สิ่งที่ผู้อ่านจำนวนมากอยากรู้และเป็นแรงจูงใจสำคัญให้นึกอยากอ่านนิยายเรื่องนี้ คือเส้นทางความเป็นมาและจุดกำเนิดของภาพวาดอันลือลั่น ก็ไม่ได้สลับซับซ้อนเกินคาดเดา ทุกคนรู้ทะลุปรุโปร่งตั้งแต่เริ่มเรื่องว่ากรีทคือหญิงสาวที่จะกลายมาเป็นนางแบบให้แก่ภาพวาดชิ้นสำคัญของเฟอร์เมียร์ (สิ่งที่คาดเดาไม่ได้คือเหตุผลในการวาดภาพ และเบื้องหลังว่าเพราะเหตุใดภาพจึงออกมาแตกต่างจากผลงานอื่น และเต็มไปด้วยปริศนา)

ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่ยกระดับนิยายเรื่องนี้ให้อยู่เหนือเรื่องรักประโลมโลกทั่วๆ ไปคือความเป็น bildungsroman หรือนิยายว่าด้วยการเรียนรู้และเติบโตของตัวละคร

เบื้องหลังภาพวาด Girl with a Pearl Earring เป็นเป้าหมายหลักในการวางพล็อตและการดำเนินเรื่อง แต่พร้อมๆ กันนั้น ภาพวาดนี้ก็เป็นเหตุการณ์สำคัญที่สะท้อนถึงจุดเปลี่ยนและบทเรียนชีวิตของกรีท จากเด็กสาวอ่อนเยาว์ ไร้เดียงสา มองโลกและมีความรักแบบพาฝัน กรีทได้ประสบเหตุการณ์หวานชื่น ขื่นขม เป็นสุขสุดๆ และทุกข์หนักสาหัส ผ่านการถูกสร้างในวิถีทางหนึ่ง (การที่เฟอร์เมียร์วาดภาพเธอ) พร้อมๆ กับถูกทำลายย่อยยับในชีวิตจริง (เหตุการณ์หลังจากภาพวาดเสร็จสมบูรณ์)

พูดอีกอย่างคือเรื่องเล่าว่าด้วยการวาดภาพ Girl with Pearl Earring นั้นดึงดูดและน่าสนใจ แต่สิ่งที่ดีกว่านั้นคือเรื่องเล่าว่าด้วยเส้นทางวิบากไปสู่การเรียนรู้ชีวิตและการเติบโตของกรีท ซึ่งเต็มไปด้วยความสลับซับซ้อน มีความลึก และทิ้งแง่มุมให้ตีความกันไปได้เยอะแยะมากมาย

ผมคิดว่าย่อหน้าข้างต้นนั้นเป็นแก่นเรื่องหลัก แต่ขณะเดียวกัน ตัวนิยายก็แฝงซ่อนไปด้วยแง่มุมทางเนื้อหาอีกหลายประเด็น อาทิ สถานะของสตรีซึ่งเหมือน ‘สินค้า’ ที่มีไว้เพื่อขาย (ตั้งแต่การที่พ่อแม่ตัดสินใจให้กรีทเป็นสาวรับใช้ หรือการยินยอมและสนับสนุนให้ลูกสาวแต่งงานกับปีเตอร์ ลูกชายคนขายเนื้อ เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคง) การมองเห็นและมองไม่เห็น (แง่มุมนี้สะท้อนชัดผ่าน 2 ตัวละครคือ เฟอร์เมียร์และพ่อของกรีท ทั้งคู่มีส่วนผลักดันให้กรีทพัฒนาการมองสรรพสิ่งด้วยสายตาที่แหลมคมขึ้นกว่าเดิม คนแรกอธิบายให้กรีทเข้าใจผ่านวิธีมองด้วยสายตาของศิลปิน ส่วนคนหลังด้วยการซักถามลูกสาวเกี่ยวกับภาพวาดของเฟอร์เมียร์ ทำให้กรีทต้องฝึกปรือสายตาไปโดยปริยาย) การช่วงชิงอำนาจระหว่างหลายๆ ตัวละคร เช่น คาธารีนากับมาเรีย ธินส์ (แม่ของคาธารีนา), ทันเนอเคอ สาวรับใช้คนเก่าคนแก่กับกรีทผู้มาใหม่, กรีทกับคาธารีนา (คนแรกได้รับสิทธิเข้าไปในห้องทำงานของเฟอร์เมียร์ ซึ่งเป็นพื้นที่หวงห้ามสำหรับคาธารีนา ในทางตรงข้าม ฝ่ายภรรยาก็ตั้งท้องและมีลูกนับไม่ถ้วน ขณะที่ความปรารถนาของกรีทเป็นสิ่งที่ต้องปกปิดเก็บงำ ต้องทดแทนแสดงออกผ่านการวาดภาพ ซึ่งแฝงไปด้วยนัยยะทางเพศ และเขียนออกมาได้ยอดเยี่ยมมาก) ฯลฯ

กล่าวโดยรวมคือภายใต้พล็อตเรื่องแบบนิยายชิงรักหักสวาท Girl with a Pearl Earring ก็อุดมไปด้วยแง่มุมให้ผู้อ่านไตร่ตรองหาความหมายมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่างหูมุก ซึ่งน่าจะเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นสุดในเรื่อง (ผมคิดว่านิยายเรื่องนี้มีการใช้สัญลักษณ์อยู่เยอะ เท่าที่นึกออกจำได้ก็คือ มีด เลือด แผ่นกระเบื้องรูปกรีทกับน้องชาย)

ต่างหูมุกเป็นสิ่งที่กรีทปรารถนาอยากได้ใคร่มี และเป็นสิ่งที่คาธารีนาผู้เป็นเจ้าของหวงแหน, เป็นองค์ประกอบสุดท้ายที่ทำให้ภาพวาดของเฟอร์เมียร์เกิดความลงตัวสมบูรณ์แบบ, เป็นชนวนสาเหตุเรื่องร้ายในตอนท้าย และเป็นสิ่งที่เปลี่ยนความหมายไปโดยสิ้นเชิงในบทสรุปตอนจบ

รวมความแล้ว จะตีความหมายเป็นสรุปเช่นไร สุดแท้แต่ผู้อ่านจะพิจารณากันตามอัธยาศัย ผมแค่หยิบมาเล่าสู่กันฟังเท่านั้นนะครับ

ผมชอบและรู้สึกว่าเป็นเรื่องสนุกดีอีกแบบหนึ่งในการอ่านนิยาย แล้วพบว่ามีรายละเอียดจุกจิกปลีกย่อยทำนองนี้ให้นำไปไตร่ตรองครุ่นคิดต่อได้อีก        

ข้อดีอีกอย่าง คือการเล่นกับหลักฐานข้อมูลจากการค้นคว้าของผู้เขียน ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ใหญ่ๆ ทางสังคม รายละเอียดจำพวกเสื้อผ้า หน้า ผม อาหารการกิน ที่อยู่อาศัย และที่ผมชอบมากสุดคือการพรรณนาสาธยายถึงวิธีการทำงานวาดภาพของเฟอร์เมียร์ ตั้งแต่วิธีผสมสีจากวัตถุดิบต่างๆ การให้คำอธิบายถึงที่มาสาเหตุว่าเพราะอะไรศิลปินที่เก่งกาจระดับอัจฉริยะ จึงมีผลงานออกมาไม่มากนักตลอดชั่วชีวิต รวมถึงการกล่าวอ้างหยิบยกพูดถึงภาพเขียนชิ้นอื่นๆ ของเขา

ผมยังไม่ได้อ่าน A Single Thread (เพียงหนึ่งไจเดียว) ซึ่งแปลเป็นไทยแล้วเช่นกัน จึงจับสังเกตลีลาการเขียนของเทรซี เชวาเลียร์ได้ไม่ถนัดนัก แต่ข้อสังเกตที่พบเจอระหว่างอ่าน Girl with a Pearl Earring ก็คือตลอดทั่วทั้งเรื่องนั้น แทบไม่มีตรงไหนตอนใด สำแดงความไพเราะสละสลวยทางภาษา หรือการเปรียบเปรยอันคมคายเลยนะครับ

ตรงนี้ผมไม่แน่ใจว่าเนื่องด้วยเรื่องราวทั้งหมดเล่าผ่านมุมมองของกรีท ซึ่งเป็นเด็กสาวชาวบ้านยากจน ไม่ได้เล่าเรียนเขียนอ่าน ถ้อยคำสำนวนจึงออกมาเรียบง่าย ตรงไปตรงมา เพื่อให้สอดคล้องกับพื้นเพของตัวละครหรือไม่ แต่ที่แน่ใจคือจุดเด่นในการเขียนของเทรซี เชวาเลียร์ นอกเหนือจากการวางพล็อตและดำเนินเรื่องแล้ว ผมคิดว่าเธอเป็นนักเล่าเรื่องที่บรรยายพรรณนาได้เก่งมากๆ อ่านแล้วก็สามารถนึกภาพคล้อยตามได้ชัดเหลือเกิน

มีปริศนาที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง เนื้อความในตอนจบของฉบับแปลภาษาไทยทั้ง 2 สำนวนแตกต่างกัน

ใน ‘หญิงสาวกับต่างหูมุก’ ถอดความออกมาว่า “ปีเตอร์คงพอใจกับเงินส่วนที่เหลือ บัดนี้หนี้สินทุกอย่างล้วนได้รับการสะสางแล้ว ฉันไม่มีอะไรติดค้างกับเขาอีก ในที่สุดสาวใช้คนหนึ่งก็เป็นอิสระเสียที”

ใน ‘สาวใส่ต่างหูมุก’ แปลไว้ดังนี้ “ปีเตอร์คงพอใจกับเงินที่เหลือ หนี้สินสะสางหมดสิ้น เขาไม่ต้องเสียเงินไถ่ตัวข้าแม้แต่นิดเดียว สาวใช้เป็นของได้เปล่า”

ผมไม่ทราบว่าในต้นฉบับภาษาอังกฤษเขียนไว้อย่างไร แต่ผมชอบทั้ง 2 ความหมายที่แปลออกมา และแม้จะแตกต่างกันอยู่มาก แต่ตลอดทางที่อ่านนิยายเรื่องนี้ ผมรู้สึกว่าใช่และเป็นไปได้ทั้ง 2 ความหมายนะครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save