fbpx

เหรียญสองด้านของเด็กอัจฉริยะ – สุธาวัลย์ หาญขจรสุข

วันดี สันติวุฒิเมธี เรื่องและภาพ

 

ทุกวันนี้ เรามักได้ยินคำว่า “เด็กอัจฉริยะ” หรือ “เด็ก gifted” กันบ่อยมากขึ้น พ่อแม่มักภูมิใจหากมีใครชมว่าลูกเป็น “เด็กอัจฉริยะ” แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกสิ่งบนโลกใบนี้ย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เปรียบเหมือนเหรียญสองด้านที่เราต้องยอมรับ

101 ชวน ผศ.ดร.สุธาวัลย์ หาญขจรสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กจากศูนย์พัฒนาการศึกษาพิเศษ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้มีประสบการณ์ทำงานกับเด็กอัจฉริยะมานานนับสิบปี มาเปิดเผยความจริงของเหรียญอีกด้านหนึ่งของความเป็น “เด็กอัจฉริยะ” ให้พ่อแม่ได้เข้าใจกันมากขึ้น

 

 

อยากให้อาจารย์ช่วยอธิบายความหมายของคำว่า “เด็กอัจฉริยะ” หรือ “gifted child”

คำว่า gifted child หมายถึง เด็กที่มีความสามารถอย่างน้อยหนึ่งด้านที่โดดเด่นกว่าเด็กวัยเดียวกัน การพิจารณาว่าเด็กคนไหนเป็นเด็ก gifted ต้องเปรียบเทียบกับเด็กวัยเดียวกัน สิ่งแวดล้อมเดียวกัน

ถ้าเขาเป็นกลุ่มเด็กที่มีความพร้อม เราก็ต้องเปรียบเทียบกับเด็กกลุ่มเดียวกัน หรือเด็กอยู่โรงเรียนต่างจังหวัด ถ้าเราจะเปรียบเทียบภาษา เราก็ต้องเปรียบเทียบในกลุ่มของเขา ไม่ใช่เปรียบเทียบด้วยข้อสอบหนึ่งแบบกับเด็กทุกชนชั้น หรือเปรียบเทียบเด็กที่มีการศึกษาแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่นในอเมริกาจะแยกตามบริบทเลย เด็กที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักจะใช้วิธีวัดความสามารถที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ เพื่อค้นพบศักยภาพที่แท้จริงของเด็ก โดยไม่ได้เอาเรื่องชนชั้น รายได้ของครอบครัว หรือการศึกษาพ่อแม่มาเป็นตัวแปร

ถ้าเรามองแคบๆ ว่าเด็ก gifted คือเด็กที่มีความพร้อม เรียนเก่ง ภาษาดีเท่านั้นก็จะผิดคอนเซ็ปต์ของคำว่า “gifted” ไป เพราะเด็กชายขอบหรือเด็กด้อยโอกาสก็เป็นเด็ก gifted ได้เหมือนกัน

 

ห้องเรียน gifted ที่มีอยู่ในโรงเรียนบ้านเราใช้มาตรฐานการคัดเด็กอย่างไร

การคัดเด็กห้องเรียน gifted ที่มีอยู่ในโรงเรียนใช้ข้อสอบและเกรดผลการเรียนในการพิจารณา โดยอาจใช้ข้อสอบที่ยากกว่าปกติเพื่อคัดเด็กที่เก่งออกมา ถ้าเด็ก gifted คนไหนไม่ถนัดทำข้อสอบแต่ถนัดเรื่องการปฏิบัติ อย่างเช่นนักวิทยาศาสตร์บางคนอาจทำข้อสอบไม่ได้ดี แต่ทำการทดลองได้ดี หรือมีความสามารถในการแสดงออกด้านอื่นที่ไม่ใช่การทำข้อสอบ เด็กกลุ่มนี้ก็จะไม่ผ่านเกณฑ์การคัดเด็ก gifted ของโรงเรียน

ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่เป็น LD (Learning Disabilities) กลุ่มที่มีความบกพร่องด้านภาษาจะมีข้อจำกัดด้านการอ่านการเขียน ถ้าวัดความสามารถด้วยข้อสอบ เขาจะทำไม่ได้ แต่เขาอาจมีความสามารถด้านอื่นที่สูงกว่าเด็กวัยเดียวกัน ดังนั้น การวัดด้วยข้อสอบอย่างเดียวจึงไม่ได้สะท้อนศักยภาพที่แท้จริงของเด็ก

ความจริงแล้ว การใช้ข้อสอบเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งเท่านั้น ถ้าในอเมริกาจะต้องดูข้อมูลเรื่องอื่นๆ ประกอบกันด้วย เช่น การเปิดให้โอกาสผู้ปกครองเสนอชื่อเด็ก gifted เพราะพ่อแม่คือคนที่รู้จักเด็กที่แท้จริง โดยจะมีเช็คลิสต์ให้ผู้ปกครองตอบคำถามว่า ลูกมีลักษณะแบบนี้ใช่หรือไม่ รวมทั้งแฟ้มสะสมผลงานของลูกตั้งแต่ยังเล็ก สมมติเด็กออกแบบเครื่องยนต์กลไก พ่อแม่หรือเด็กจะเก็บผลงานที่น่าภูมิใจเอาไว้ ซึ่งแฟ้มแบบนี้จะสะท้อนความสามารถของเด็กโดยตรง ความเห็นของผู้ปกครองจะเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งที่ใช้พิจารณาร่วมกับข้อมูลอื่นๆ

แต่ในเมืองไทย เวลาดูแฟ้มสะสมผลงานของเด็ก ส่วนใหญ่จะเป็นการรวบรวมประกาศนียบัตรที่เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ หรือแฟ้มใบงานที่ครูให้ทำ ซึ่งเด็กทุกคนก็จะทำเหมือนกันหมด

 

เด็ก gifted มีกี่ระดับ

มีหลายระดับด้วยกัน กลุ่มที่พบเยอะสุด คือ กลุ่มเด็ก gifted ที่มีความสามารถเกินวัยในระดับที่ไม่ถึงกับก้าวกระโดดจากเพื่อนวัยเดียวกันมากนัก ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะยังปรับตัวอยู่ในสังคมได้ไม่ยาก เด็กกลุ่มนี้ครูจะมองว่าเป็นเด็กเรียนเก่ง แก้ปัญหาได้ และเป็นผู้นำ แต่ถ้าเด็กที่เป็นเด็ก highly gifted หรือ profoundly gifted เด็กกลุ่มนี้จะมีความสามารถบางอย่างสูงโดดเด่น และความสนใจ “ดิ่งเดี่ยว” เฉพาะเรื่องและจะไม่สนใจเรื่องอื่นเลย

 

เด็ก Highly gifted เวลาไปโรงเรียนทั่วไปจะมีการแสดงออกอย่างไร

เด็กกลุ่มนี้จะรู้สึกว่า กิจกรรมที่โรงเรียนไม่ได้ตอบสนองความต้องการของเขา เด็กบางคนสนใจเฉพาะเรื่องแบบ “ดิ่งเดี่ยว” และปฏิเสธวิชาอื่นไปเลย โดยจะแสดงพฤติกรรมต่อต้านอย่างชัดเจน อาทิ บางคนหันหลังให้ครู บางคนเวลาทำข้อสอบก็หลับหูหลับตากาคำตอบ หรือไม่เขียนตอบเลยก็มี บางคนเดินวนในห้องจนถูกสงสัยว่าเป็นสมาธิสั้นหรือเปล่า ถ้าครูขาดจิตวิทยา แล้วต้องเจอเด็ก gifted ถามแต่เรื่องที่เขาสนใจ จนควบคุมเนื้อหาในห้องเรียนไม่ได้ ครูก็จะเริ่มถอยห่างจากเด็ก gifted ทำให้เด็กมีทัศนคติต่อโรงเรียนไม่ค่อยดีเท่าไหร่

 

เด็ก highly gifted มีปัญหาในการปรับตัวเข้าสังคมกับเพื่อนวัยเดียวกันบ้างไหม

เด็กกลุ่มนี้จะมีความยุ่งยากในการปรับตัวกับเพื่อนมากพอสมควร ยกตัวอย่างเช่น เด็กอายุเก้าขวบแต่ความสนใจวิทยาศาสตร์ระดับมหาวิทยาลัยปีหนึ่ง เขาสามารถอ่าน text book ที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วยตนเองแล้ว ถ้าต้องอยู่ในห้องเรียนกับเพื่อนวัยเดียวกัน เขาก็จะคุยกับเพื่อนไม่รู้เรื่อง หรือคุยแล้วเพื่อนไม่ยอมรับ เวลาแบ่งกลุ่มทำงาน เพื่อนจะไม่อยากรับเข้ากลุ่ม เพราะความคิดไปไกลกว่าเพื่อนในกลุ่มทำให้เด็กรู้สึกโดดเดี่ยว

เคยเจอเด็กที่เป็น highly gifted เล่าให้ฟังว่า เวลาเจอครูวิทยาศาสตร์ ตอนแรกเขารู้สึกดีใจเพราะอยากคุยกับครูเรื่องยากกว่าในชั้นเรียน แต่ครูกลับเพิกเฉย มองผ่านเขาไปเลย เด็กจึงเริ่มรู้สึกขาดการเห็นคุณค่าในตนเอง ถามว่าโรงเรียนจะปรับทุกอย่างมาให้เด็กคนนี้ได้ไหม พูดได้เลยว่ายาก แต่คนที่ช่วยได้คือพ่อแม่ คือ ต้องช่วยหากิจกรรมเสริมตามความสนใจของเขาที่บ้านเพิ่มเติม

 

พ่อแม่ที่มีลูกเป็น highly gifted ควรทำโฮมสคูลให้ลูกดีหรือไม่

พ่อแม่ที่มีลูกเป็น highly gifted มักต้องการพาลูกออกมาทำโฮมสคูล เพราะรู้สึกว่าโรงเรียนไม่ได้ตอบสนองความต้องการของลูก แต่การทำโฮมสคูลก็มีทั้งข้อดีข้อเสียที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ

ตามปกติ การทำโฮมสคูลสำหรับเด็กทั่วไป พ่อแม่ต้องมีความพร้อมในการส่งเสริมการเรียนรู้มากอยู่แล้ว แต่การทำโฮมสคูลสำหรับเด็ก gifted จะยิ่งยากขึ้นไปอีก เพราะพ่อแม่ต้องเข้าใจจริงๆ ว่าจะส่งเสริมลูกยังไง ถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจแนวทางส่งเสริมเด็กรอบด้าน แล้วตัดสินใจพาลูกออกมาจากโรงเรียนเพื่อส่งเสริมเฉพาะวิชาที่ลูกชอบ เด็กจะยิ่งขาดทักษะทางสังคมหรือทักษะวิชาอื่นไปเลย

ถ้าพ่อแม่มาปรึกษาเรา เราจะแนะนำว่าอย่าเพิ่งพาลูกออกจากโรงเรียน แต่ให้พยายามปรับตัวอยู่ในโรงเรียนดีกว่า เพราะเด็กจำเป็นต้องพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะพัฒนาการทางอารมณ์และสังคม ซึ่งจะค่อยๆ เติบโตขึ้นตามวัย เด็กอาจโตขึ้นไปเป็นอัจฉริยะบุคคลในอนาคต แต่เขาก็ยังต้องอยู่ในสังคม และต้องสื่อสารความสามารถอันโดดเด่นของเขาให้คนอื่นเข้าใจ ดังนั้น พ่อแม่ควรจะให้ลูกเรียนรู้ปรับตัวอยู่ในสังคมให้ได้ตั้งแต่ยังเด็ก ถ้าเขามีปัญหาการเข้าสังคมก็ช่วยกันประคับประคองไปตามวัยของเขา น่าจะดีกับเด็กมากกว่า

เหตุผลหนึ่งที่พ่อแม่อยากพาลูกออกจากโรงเรียนเพราะครูไม่สนใจลูก พ่อแม่บางคนเข้าไปคุยกับครูว่า ครูควรจะปรับการสอนให้ลูกตนเองเพราะลูกเป็นเด็กอัจฉริยะ พอพูดแบบนี้ปุ๊บก็จะเกิดกำแพงเล็กๆ ระหว่างผู้ปกครองกับครู ซึ่งบางกรณีอาจนำไปสู่ความแตกหักได้ เพราะครูบางคนอาจมองว่า ถ้าลูกคุณเก่งจริงก็ย้ายไปเรียนที่อื่นเถอะ

เคสแบบนี้เจอเยอะ เพราะพ่อแม่ทุกคนย่อมมองว่าลูกเก่งลูกดี แต่เวลาคุยกับครูก็ต้องมีเทคนิคในการคุยเหมือนกัน เรามักจะแนะนำให้คุยกับครูในเชิงปรึกษา ไม่ใช่ตำหนิ เช่น ลูกมีความสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ จะทำให้อย่างไรให้ลูกไปโรงเรียนแล้วยังคงความสนใจเรื่องนี้อยู่ และคำสำคัญในการสื่อสารกับครูคือ “พ่อแม่พร้อมจะให้ความร่วมมือกับโรงเรียนเต็มที่” ไม่ใช่พูดว่า ครูต้องปรับให้มาสอดคล้องกับลูกของตนเองอย่างเดียว

 

ถ้าเด็ก highly gifted ไม่อยากไปโรงเรียนเพราะไม่ชอบเรียนวิชาอื่นต้องแก้ปัญหาอย่างไร

เรามักจะแนะนำให้พ่อแม่ช่วยส่งเสริมกิจกรรมที่ลูกชอบเพิ่มเติมที่บ้านแทน เช่น ถ้าเด็กชอบประดิษฐ์ พ่อแม่ก็ควรจะหาอุปกรณ์มาให้ประดิษฐ์ที่บ้าน และพยายามคุยกับลูกว่า ถ้าไปโรงเรียน ลูกต้องยอมรับกฎเกณฑ์ของสังคม เราจะพยายามแนะนำไม่ให้พ่อแม่หาข้อแก้ตัวให้เด็ก เพราะพ่อแม่บางคนมองว่าลูกเป็น highly gifted สนใจเฉพาะด้าน จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ลูกจะเดินป่วนในวิชาอื่นที่ลูกไม่ชอบ ในกรณีแบบนี้ เราจะให้คำแนะนำว่า พ่อแม่มีหน้าที่ส่งเสริมศักยภาพของลูกเท่าที่เราส่งเสริมได้ แต่เรื่องระเบียบวินัย ความรับผิดชอบก็ต้องฝึกให้เขาได้ทำควบคู่กันไป

 

 

โรงเรียนที่มีเด็ก highly gifted มองเด็กกลุ่มนี้อย่างไร

ถ้าเป็นเด็ก highly gifted ประเภทวิทย์คณิต โรงเรียนมักจะชอบเพราะเด็กมีโอกาสสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน แต่เราเคยคุยกับเด็กบางคน เขากลับรู้สึกว่า โรงเรียนไม่ได้ตอบสนองความต้องการของเขา เพราะโรงเรียนต้องการติวให้เขาไปแข่งขันตอบคำถามวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน แต่ไม่ได้ส่งเสริมสิ่งที่เขาสนใจเพิ่มมากขึ้น เช่น เขาอาจสนใจทำแล็บทดลองใหม่ๆ มากกว่า เคยเจอเด็กบ่นว่า “มันไม่เห็นเป็นเหมือนที่ผมคิดเลย”

หรืออีกกรณีหนึ่ง โรงเรียนไม่เข้าใจความต้องการของเด็ก ตอนแรกทางโรงเรียนรับเด็กคนนี้มาเพราะต้องการให้เด็กเป็นที่เชิดหน้าชูตาของโรงเรียนเรื่องวิทยาศาสตร์ ปรากฏว่าเด็กจะส่งงานวิชานี้ช้าทุกครั้ง ทำให้ได้คะแนนไม่ดี แต่พอครูได้คุยกับเด็กว่าทำไมถึงส่งงานช้า เด็กบอกว่า “ถ้าผมยังไม่ได้ทำการทดลอง ผมจะส่งครูได้ยังไง” เพราะทุกครั้งที่ครูสั่งให้ทำรายงานการทดลองวิทยาศาสตร์ เขาต้องให้พ่อแม่หาอุปกรณ์มาทำการทดลองเก็บข้อมูลจริงจังเหมือนเป็นนักวิทยาศาสตร์มืออาชีพ พอครูได้ทราบความจริงก็รู้สึกทึ่ง แล้วมองเด็กคนนี้เปลี่ยนไป

 

การดูแลเด็ก  highly gifted ให้ประสบความสำเร็จในชีวิต พ่อแม่ต้องทำอย่างไร

เด็กที่ประสบความสำเร็จสูง คือ เด็กที่มีครอบครัวสนับสนุนเต็มที่ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าครอบครัวต้องมีฐานะดี หรือต้องพาลูกไปเรียนต่างประเทศ แต่หมายถึงพ่อแม่ต้องมีความพยายามเข้าใจเด็ก มีเคสหนึ่งลูกสนใจเป็นนักประดิษฐ์ แล้วครอบครัวไม่ได้มีฐานะพร้อม พ่อแม่ก็ไปหายืมอุปกรณ์จากโรงเรียนหรือไปขออุปกรณ์จากร้านต่างๆ มาให้ลูกประดิษฐ์ เด็กคนนี้โชคดีที่โรงเรียนช่วยสนับสนุนด้วย เขาจึงไปได้ไกลจนถึงแข่งวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ

แต่ถ้าครอบครัวไม่เข้าใจ โรงเรียนไม่เข้าใจ เด็กก็จะเริ่มรู้สึกเนือยๆ เพราะไม่มีใครสนใจสนับสนุนความสามารถของเขา และเริ่มหันไปสนใจสิ่งที่เพื่อนวัยเดียวกันสนใจแทนเพื่อไม่ให้ตนเองรู้สึกโดดเดี่ยวจนเกินไป เด็กจะรู้สึกว่า เส้นทางของเขามองไม่เห็นอนาคตเลย อยากจะไปตรงนี้แต่ไม่มีใครสนับสนุน ความสามารถพิเศษก็จะถดถอยจนเหมือนเด็กธรรมดาคนหนึ่งในที่สุด

 

เคยได้ยินว่า เด็กที่มีความสามารถโดดเด่นสุดๆ บางด้านก็มักจะมีความสามารถบางด้านที่ถดถอยกว่าเด็กวัยเดียวกันด้วยจริงหรือไม่

จริงๆ แล้ว คำว่า “Gifted” ในภาษาอังกฤษจะอธิบายว่า “Asynchronous development” หรือ “พัฒนาการที่ไม่สมดุลกัน” ดังนั้น เราจึงมักได้ยินคนพูดว่า “ความเป็นอัจฉริยะกับความบกพร่องมีเส้นบางๆ กั้นอยู่” ซึ่งเป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรยอมรับให้ได้ทั้งสองด้าน โดยช่วยแก้ปัญหาความบกพร่องต่างๆ ไปด้วยกัน เราต้องให้เขาปรับตัวอยู่ในสังคมและใช้ความเก่งสร้างประโยชน์ให้สังคมต่อไปได้

 

อยากให้ช่วยยกตัวอย่างเด็กที่มีความเป็นอัจฉริยะโดดเด่นและมีความบกพร่องบางด้านว่ามีปัญหาอะไรบ้าง

ยกตัวอย่างเด็กคนแรกๆ ที่มาเข้าร่วมโครงการวัดแววความสามารถตั้งแต่ประมาณปี 2538 เด็กมีทักษะทางสังคมบกพร่อง จำหน้าคนไม่ได้ และไม่สามารถแยกแยะว่าเวลาคนพูดทีเล่นทีจริง อันไหนพูดจริง อันไหนพูดเล่น เด็กจะถูกเพื่อนแกล้งบ่อยมาก เช่น ถูกเพื่อนหลอกให้ไปพูดคำไม่เหมาะสมกับครูจนครูโกรธ พอเด็กบอกว่า มีคนบอกให้ผมพูด ครูจึงถามว่าใครบอกให้พูด ปรากฏว่าเด็กจำชื่อและหน้าตาเพื่อนไม่ได้ คุณแม่จะถูกเรียกพบผู้ปกครองบ่อยมาก เพราะเด็กไม่มีทักษะทางสังคมเลย

เด็กคนนี้จะมีความสนใจดิ่งเดี่ยวเฉพาะโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ไม่พูดจาสื่อสารกับใคร วิชาอื่นก็แทบจะทิ้งไปเลย จนเกือบจะเรียนในโรงเรียนไม่ผ่านเหมือนกัน เพราะโรงเรียนต้องใช้ระบบคะแนนรวมทุกวิชา แต่เด็กโชคดีที่มีครอบครัวค่อนข้างพร้อม ช่วยกันประคับประคองไปได้ และตอนหลังส่งไปต่างประเทศซึ่งมีความเข้าใจเด็กกลุ่มนี้มากกว่าเมืองไทย ปัจจุบันเรียนจบปริญญาเอกสาขาวิศวกรรมที่เยอรมันเรียบร้อยแล้ว

 

 

จากประสบการณ์จัดค่ายให้เด็ก gifted มารวมกัน พบปัญหาอะไรบ้าง 

ปัญหาด้านทักษะสังคมเยอะที่สุด เพราะเหมือนเราเอา “ยอดมนุษย์” แต่ละด้านมาทำงานด้วยกัน เวลาเด็กมาเข้าค่าย เราจะมีชิ้นงานที่กำหนดว่าต้องการแบบนี้ โดยต้องใช้ความสามารถหลากหลายมาทำงานด้วยกัน

ตอนแรกเด็กแต่ละคนต่างมั่นใจในความสามารถของตนเอง ทำงานร่วมกันไม่ได้ เราก็จะหาวิธีให้เขาปรับตัวเพื่อการทำงานร่วมกัน และบอกเหตุผลว่า ทำไมเขาต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม และแชร์ความสามารถร่วมกันเพื่อให้ชิ้นงานประสบความสำเร็จ เขาต้องมีทักษะในการทำงานเป็นทีม เพราะถ้าเขามีความสามารถพิเศษโดดเด่น แต่ไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ เขาก็จะเป็นคนเก่งที่ไปไม่ถึงเป้าหมาย ด้วยความที่เขายังเด็ก เรายังต้องช่วยปรับเรื่องอารมณ์ สังคม การทำงานเป็นทีม โดยมีนักวิชาการคอยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้

 

เด็ก gifted ระดับไหนที่พบเยอะที่สุด 

ส่วนใหญ่จะพบกลุ่มเด็ก gifted ระดับที่มีความโดดเด่นจากวัยไม่มากนัก เด็กกลุ่มนี้ถ้าความโดดเด่นต่างไปจากเพื่อนวัยเดียวกันไม่มากก็ยังพออยู่ร่วมกับเพื่อนได้ ความจริงเด็กที่เราพบมีความหลากหลายแตกต่างกันไปหลายด้าน

 

พ่อแม่จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเป็นเด็ก gifted หรือ highly gifted

กรณีที่พ่อแม่พาลูกมาเข้าโครงการวัดแววความสามารถพิเศษของทางสถาบันฯ เราจะใช้ข้อมูลจากสองส่วนประกอบกัน

ข้อมูลส่วนแรก คือ ข้อมูลจากผู้ปกครองโดยให้กรอกเอกสารประวัติพัฒนาการเด็กตั้งแต่แรกเกิด เพราะเด็กที่มีพัฒนาการเร็วกว่าวัยมักจะมีแนวโน้มว่าเป็นเด็ก gifted แต่เราก็ต้องดูรายละเอียดอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น เด็กคนนี้ได้รับการกระตุ้นจากพ่อแม่ด้วยหรือเปล่า ยกตัวอย่างเช่น เด็กอายุสี่ขวบ เขียนและอ่านภาษาอังกฤษได้คล่อง แต่พอดูระเบียนประวัติพบว่า เด็กผ่านการเรียนและกระตุ้นพัฒนาการมาก่อนทำให้เด็กทำอะไรได้เกินวัย ข้อมูลจากผู้ปกครองก็จะเป็นข้อมูลชุดหนึ่งที่เราเก็บไว้

ส่วนข้อมูลอีกชุดหนึ่งเป็นชุดที่ทางสถาบันเป็นคนประเมินโดยจะใช้เกณฑ์การประเมินหลายแบบ และเด็กต้องมาเข้ารับการประเมินทุกวันเสาร์ติดต่อกัน 8-10 สัปดาห์โดยมีนักวิชาการหลากหลายสาขามาเป็นผู้ร่วมทำการประเมิน โดยจะมีลักษณะของ set แบบทดสอบ ทั้งแบบเป็นข้อสอบและการปฏิบัติ

ตัวอย่างเช่น ถ้าเราจะดูว่าเขาเก่งคณิตศาสตร์ ควรจะได้ทักษะประมาณไหน จะเริ่มจากการวัดความสามารถตามวัยก่อน เช่น เด็กสี่ขวบ เราก็จะเอาทักษะของเด็กสี่ขวบมาวัดก่อน ชั่ง ตวง วัด เด็กก็จะรู้สึกเหมือนเล่นไปด้วยทำไปด้วย เราก็จะมีกลุ่มนักวิชาการกระตุ้นให้เขาลงมือทำเอง พอเขาทำของเด็กสี่ขวบได้แล้ว เราก็จะให้ลองทำของเด็กห้าขวบ เด็กบางคนอาจทำได้ถึงหกขวบ แต่บางวิชาที่เขาไม่ถนัดหรือไม่ชอบอาจต้องถอยไปถึงสามขวบ นักวิชาการจะคอยสังเกตและทำการบันทึกข้อมูล หลังจากนั้นจะนำมาผสมกับข้อมูลของผู้ปกครอง แล้วรายงานว่าเด็กมีความสามารถแค่ไหน

เราจะพยายามไม่ใช้คำว่า “เด็กอัจฉริยะ” แต่เราจะบอกว่า เขามีแววความสามารถด้านไหนมากเป็นพิเศษ และช่วยดูว่าปัจจัยอะไรที่เป็นตัวบล็อคความสามารถของเขาก็จะแนะนำให้ผู้ปกครองช่วยหาทางแก้ปัญหาในเรื่องนั้นๆ เช่น บางคนมีปัญหาด้านภาษา สมาธิ หรือความเชื่อมั่น เป็นต้น การที่เราระบุหรือตีตราว่าเด็กเป็นอัจฉริยะมีทั้งผลดีและผลเสีย เพราะเวลาเด็กไปไหนคนมักจะขอให้แสดงความสามารถให้ดู ซึ่งบางทีเด็กก็ไม่ได้รู้สึกแฮปปี้เท่าไหร่

 

ถ้ารายงานผลไม่สอดคล้องกับความคิดของพ่อแม่ พ่อแม่ยอมรับได้ไหม

บางทีผู้ปกครองสงสัยว่า ทำไมลูกมีความสามารถด้านนี้สูงมาก แต่พอประเมินออกมาแล้วผลไม่สอดคล้องกัน เพราะผู้ปกครองมองความสามารถของเด็กคนละมุมมองกับเรา อย่างเช่น บางคนบอกว่าลูกคำนวณคณิตศาสตร์เร็วเหมือนเครื่องคิดเลขเลย แต่ทำไมเราประเมินออกมาแล้วไม่ตรงกัน เราก็จะอธิบายให้ฟังว่า การประเมินความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์ไม่ใช่แค่เรื่องตัวเลข เพราะคณิตศาสตร์มีหลายด้าน เด็กอาจเก่งคำนวณ แต่การประยุกต์ใช้คณิตศาสตร์ด้านอื่นๆ อาจทำไม่ได้ หรือถ้าดูระเบียนประวัติ เด็กบางคนผ่านการฝึกคณิตคิดในใจมาก่อน เขาจึงทำได้ดีเกินวัย แต่ทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นของนักวิทย์ฯ อาจยังไม่ดี

หรืออีกเรื่องที่เจอบ่อยคือเรื่องภาษา พ่อแม่มักจะบอกว่าลูกมีแววด้านภาษา แต่ทำไมวัดออกมาแล้วไม่เจอแววด้านนี้ กรณีแบบนี้ เรามักจะพบว่า เด็กกลุ่มนี้ได้รับการฝึกเรื่องภาษามาดี มีครูมาสอนส่วนตัว หรือบางบ้านใช้สามภาษา ไทย จีน อังกฤษอยู่แล้ว เขาจึงใช้ภาษาได้ดีกว่าเด็กวัยเดียวกัน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เขาเก่งจากศักยภาพในตัวของเขาเอง เพราะเวลาเราวัดภาษาจริงๆ เราจะวัดในเชิงประสิทธิภาพการสื่อสารด้วย เช่น มีคลังคำศัพท์เยอะไหม จับใจความได้ไหม หรือเวลาเล่าเรื่องอะไรออกมาสะท้อนให้เห็นประสิทธิภาพทางภาษาด้วยไหม พอเราอธิบายให้ฟัง ผู้ปกครองก็จะเข้าใจมากขึ้น

 

ปัจจุบัน เครื่องมือวัดความสามารถด้านต่างๆ ของเด็กที่มีมาตรฐานมีขายในท้องตลาดไหม

ในเมืองไทยยังไม่มี แต่ในอเมริกาจะมีเครื่องมือที่สามารถเอามาใช้วัดความสามารถเด็กด้านต่างๆ จำหน่ายเป็น commercial เลย เช่น เครื่องมือวัดความคิดสร้างสรรค์ ศิลปะ ดนตรี ภาษา วิทย์ คณิต โรงเรียนสามารถเลือกซื้อมาใช้ได้เลย แต่บ้านเรายังไม่มีเครื่องมือกลาง โรงเรียนก็ต้องหามาตรฐานของตนเอง

 

ปัจจุบันเมืองไทยยังมีศูนย์การเรียนสำหรับเด็ก gifted หรือ highly gifted ไหม

ในบ้านเรามีจัดค่ายเฉพาะทางสำหรับบางกิจกรรมในช่วงวันหยุดหรือปิดเทอม แต่ยังไม่หลากหลายนัก เช่น ค่ายหุ่นยนต์ ค่ายศิลปะ เป็นต้น ถ้าเป็นในอเมริกา ตามมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ จะมีค่ายสำหรับเด็กประถมช่วงปิดเทอม หรือวันหยุดสุดสัปดาห์ บางทีคุณลุงคุณตาที่เป็น professor ด้านนี้จะมาพบกับเด็กๆ โดยตรง เด็กก็จะได้เจอ professor ตัวจริง เด็กจะรู้สึกตื่นเต้น ได้เจอคนที่ทำงานจริงๆ ได้รู้จักวิธีการทดลองและประสบการณ์จริง มหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ในอเมริกาจะมีบทบาทพัฒนาเด็ก gifted ค่อนข้างมาก เพราะเขาจะมีการเชื่อมโยงกันระหว่างเด็ก gifted กับมหาวิทยาลัยเลย ซึ่งโครงการส่วนใหญ่เด็กจะเข้าร่วมได้ฟรี

ในระบบโรงเรียนเฉพาะทาง หรือ Magnet School ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ดึงดูดศักยภาพของเด็กที่เด่นแต่ละด้านเข้ามาเรียน ถ้าเป็นโรงเรียนของรัฐ พ่อแม่ไม่ต้องจ่าย ถ้าเป็นของเอกชน พ่อแม่ต้องจ่ายเอง หรือถ้าเป็นเด็กยากจน โรงเรียนเอกชนก็จะมีทุนให้เด็กที่มีความสามารถโดดเด่นเหมือนกัน สำหรับเมืองไทยยังมีโรงเรียนแนวนี้ไม่มากนัก เด็กที่มีความสามารถพิเศษจึงมีทางเลือกจำกัด

 

พ่อแม่จะมีแนวทางในการค้นหาศักยภาพในตัวลูกได้อย่างไรบ้าง

ตามทฤษฏี “พหุปัญญา” ของโฮวาร์ด การ์ดเนอร์ มองว่ามนุษย์มีความสามารถหลากหลาย แต่จะมีความสามารถบางอย่างโดดเด่นขึ้นมาเลย โดยบางด้านอาจจะสมวัย บางด้านอาจต่ำกว่าวัย เพราะฉะนั้นการจัดการศึกษาในโรงเรียน เราควรให้ความสำคัญกับการจัดความสามารถให้หลากหลาย

ยิ่งถ้าเป็นเด็กเล็กๆ อนุบาล ประถม ควรให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งที่เขาสนใจหลากหลาย เพราะบางทีการให้เขาลองทำหรือลองเล่น เด็กจะได้รู้ว่าเขาสนใจอะไร บางคนเน้นแต่เรียนพิเศษ ติวเยอะ ทำให้เด็กขาด Passion หรือ แรงบันดาลใจในการเรียนรู้ เพราะเขาไม่มีเวลาว่างที่จะแกะของเล่นมาดูกลไกข้างใน หรือไม่มีเวลาที่จะวาดรูปเล่น เขาไม่เคยรู้เลยว่าเขาสนใจอะไร เพราะทุกอย่างที่เขาได้ทำเป็นการเรียนการติว เด็กอาจเรียนเก่ง สอบเข้าโรงเรียนดังๆ ได้ แต่เขาอาจไม่รู้ว่า ตัวของเขาชอบอะไร

เราเจอหมอท่านหนึ่งบอกว่า พอเขาเรียนเก่ง พ่อแม่ก็จะเลือกอาชีพหมอให้เลย เหมือนมีทางเดินสำหรับเด็กเก่งต้องเรียนแพทย์เอาไว้แล้ว แต่พอได้มาเป็นคุณหมอแล้วมีอยู่วันหนึ่ง มีการจัดอบรมศิลปะบำบัดในโรงพยาบาล ปรากฏว่าเขาชอบมาก เลยตัดสินใจไปเรียนต่อทางด้านศิลปะ เขาบอกว่า นี่เป็นสิ่งที่เขาสนใจ แต่ไม่เคยได้ทำมาก่อนเลยในชีวิต

เราเคยมีการสำรวจว่า เด็กที่ประสบความสำเร็จจากศักยภาพในตนเองอย่างเช่นสาขาศิลปะ จริงๆ แล้วเขาสามารถประกอบอาชีพได้หลากหลายมาก เช่น สถาปนิก หรือวิศวกรก็ได้ แต่พ่อแม่ส่วนใหญ่จะคิดว่า วิชาศิลปะจะไปประกอบอาชีพที่มั่นคงไม่ได้ กรอบความคิดของพ่อแม่ยังจำกัดอยู่ในอาชีพกระแสหลัก แม้ว่าพ่อแม่บางคนจะบอกว่า ถ้าลูกสนใจอะไรจะส่งเสริมตามนั้นเลย แต่พอถึงเวลาลูกอยากเรียนตามสิ่งที่ชอบจริงๆ เขาก็เปลี่ยนใจ เพราะกลัวลูกสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ เลยต้องส่งไปเรียนติวแทน ทำให้เด็กขาดโอกาสที่จะพัฒนาศักยภาพที่แท้จริงของตนเอง

 

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save