พรรณราย โอสถาภิรัตน์ และ วิภาส ปรัชญาภรณ์ เรื่อง
ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ
ในตอนแรกของความเรียงชิ้นนี้ ผู้เขียนได้ชวนกลับไปอภิปรายประเด็นว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับข้าวของ จากงานศึกษาว่าด้วยการแลกเปลี่ยนในวงแหวนคูลาโดยมาลินอฟสกี ที่ผ่านมา นักเรียนมานุษยวิทยามักรู้จัก ‘คูลา’ ในฐานะที่เป็นตัวอย่างของระบบเศรษฐกิจในสังคม ‘ดั้งเดิม’ และเป็นด้านตรงข้ามของการแลกเปลี่ยนในระบบเศรษฐกิจแบบตลาด อย่างไรก็ดี การพิจารณาแง่มุมเกี่ยวกับการครอบครองและพันธะความสัมพันธ์ในเครือข่ายทางสังคม-เศรษฐกิจ ช่วยให้เรามองเห็นนัยเชื่อมโยงของงานชาติพันธุ์วรรณนารุ่น ‘คลาสสิก’ กับแนววิธีศึกษาและประเด็นอภิปรายว่าด้วยคนกับวัตถุในสังคมร่วมสมัย โดยเฉพาะการเปิดประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับ ‘วัตถุนิยม’ (materialism)
ใน Argonauts of the Western Pacific มาลินอฟสกีได้สรุปไว้ตอนหนึ่งว่า ข้อมูลเชิงชาติพันธุ์วรรณนาเกี่ยวกับแลกเปลี่ยนคูลาแสดงให้เห็นว่า เราจำเป็นต้องทบทวนกรอบการอธิบายแบบวัตถุนิยมเชิงประวัติศาสตร์ ที่มักเหมารวมว่าผู้คนในระบบเศรษฐกิจ ‘ดั้งเดิม’ จะเลือกสิ่งต่างๆ ตามอรรถประโยชน์เชิงวัตถุ เพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานที่เรียบง่าย อย่างไรก็ตาม การรับรู้โดยทั่วไปเกี่ยวกับ ‘วัตถุนิยม’ ในปัจจุบัน อาจไม่ได้เป็นผลมาจากแนวปรัชญาสังคม (materialism/materialist) มากเท่ากับที่นัยของคำดังกล่าวในการอธิบายสภาวะทางสังคมรวมถึงวิถีปฏิบัติของผู้คน (materialism/materialistic) ซึ่งในบริบทของการสนทนาในชีวิตประจำวัน มักใช้สื่อถึงการหมกมุ่นอยู่กับความปรารถนาในการครอบครองวัตถุ โดยเฉพาะในแง่ที่เชื่อมโยงกับกระแส ‘บริโภคนิยม’ อันเป็นต้นตอของความเสื่อมถอยทางศีลธรรมในสังคมร่วมสมัย
ในบทความที่อภิปรายถึงความสำคัญของการศึกษาวัฒนธรรมการบริโภคในเชิงมานุษยวิทยา แดเนียล มิลเลอร์ (Daniel Miller) ได้ชี้ให้เห็นว่านัยดังกล่าวของ ‘วัตถุนิยม’ เป็นผลสืบเนื่องของความสัมพันธ์อันย้อนแย้งระหว่างกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมทุนนิยมกับการก่อตัวของนิยามความเป็นปัจเจกในยุคภูมิปัญญา ซึ่งมองว่าวัตถุเป็นสิ่งแปลกแยกจากมนุษย์ (Miller 2001, 228) แต่ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็ก่อให้เกิดคำถามว่า หากการหมกมุ่นกับการครอบครองวัตถุจะนำไปสู่การล่มสลายทางจิตวิญญาณ เหตุใดการผลิตในระบบอุตสาหกรรมจึงยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง? แม้กระทั่งในปัจจุบันที่ปัญหาความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงมากขึ้น การผลิตเพื่อตอบสนองการบริโภคมวลชนก็ไม่ได้หยุดชะงักแต่อย่างใด แต่กลับมีการนำประเด็นเชิงจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อชนรุ่นหลัง มาเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ทางการตลาดหรือกิจกรรมส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กรแทน
นอกจากมุมมองเชิงลบต่อบริโภคนิยมจะไม่สามารถตอบคำถามข้างต้นได้แล้ว ยังก่อให้เกิดความฉงนฉงาย กระอักกระอ่วนใจ หรือก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับคุณลักษณะแบบมือถือสากปากถือศีล ในหลายกรณี ตัวอย่างเช่น เมื่อมาริเอะ คนโดะ (Marie Kondo) เจ้าของแนวคิดการจัดบ้านแบบ ‘คอนมาริ’ (KonMari) ผู้โด่งดังจากหนังสือและซีรีส์เน็ตฟลิกซ์ยอดนิยมที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนจัดการกับกองสิ่งของรอบตัว (declutter) ได้เปิดตัวร้านค้าออนไลน์จำหน่ายสินค้าตกแต่งบ้านและเครื่องใช้ส่วนตัวโดยเมื่อช่วงปลายปี 2563 คนโดะตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับธุรกิจที่เชิญชวนให้เราซื้อสินค้าของเธอเข้าบ้าน ทั้งที่เธอเองเป็นผู้พร่ำสอนให้เราคัดเก็บไว้เพียงสิ่งที่ ‘จุดประกายความสุข’ (spark joy) เพื่อความเป็นระเบียบและความสำเร็จในชีวิต โดยไม่ลืมที่จะเน้นย้ำว่าเธอไม่ได้สนับสนุนการบริโภคอย่างล้นเกิน
นอกจากนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจช่วงส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ในหลากหลายสังคมวัฒนธรรม ก็เป็นอีกหนึ่งบริบทที่เผยให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันยอกย้อนระหว่างผู้คนกับข้าวของ งานศึกษาจำนวนหนึ่งเสนอว่า ระบบทุนนิยมสมัยใหม่และกระแสบริโภคนิยมเป็นกลไกสำคัญที่ผลักดันให้คริสต์มาสกลายเป็นเทศกาลร่วมสมัยที่มีลักษณะผสมผสานและได้รับการเฉลิมฉลองทั่วโลก โดยไม่จำกัดเฉพาะชุมชนที่นับถือศาสนาคริสต์ ในบริบทสังคมไทย เราอาจเห็นความย้อนแย้งของรัฐที่ในแง่หนึ่งพยายามเชิดชูศีลธรรมด้วยการต่อต้านกระแสบริโภคนิยม แต่ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการจับจ่ายใช้สอยโดยอ้างอิงแรงจูงใจด้านภาษีอย่าง ‘ช้อปช่วยชาติ’ หรือแม้แต่ภาพยนตร์ต้อนรับเทศกาลปีใหม่ 2563 อย่าง How to ทิ้ง ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์โดยเชื่อมโยงกับการจัดการข้าวของตัวเอก ก็ดูเหมือนจะมีความพยายามเปิดประเด็นสนทนาว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับสิ่งของรอบตัวในฐานะวัตถุแห่งความทรงจำ ทั้งในมิติเชิงเปรียบเทียบระหว่างชั่วรุ่น ชนชั้น รวมทั้งมิติความเป็นบุคคลจากมุมมองเชิงมานุษยวิทยา
อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าคำอธิบายหรือประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับปรากฏการณ์หรือตัวบทข้างต้น มีแนวโน้มที่จะเชื่อมโยงกับระบบคุณค่าซึ่งตั้งอยู่บนฐานคิดแบบทวินิยม เช่น หลักจริยธรรมทางศาสนา # กระแสบริโภคนิยม คนรุ่นใหม่ # คนรุ่นเก่า ชนชั้นกลาง # ชนชั้นล่าง การมอบให้ # การส่งคืน ความทรงจำ # การลืม ฯลฯ ซึ่งแม้จะช่วยจุดประกายคำถามเชิงวิพากษ์ แต่ก็อาจมีข้อจำกัดในการอธิบายและทำความเข้าใจในระดับการปฏิบัติ เช่น เหตุใดกลุ่มชนชั้นที่มีศักยภาพในการบริโภคสูงกว่าประชากรส่วนใหญ่ของประเทศจึงไม่ตะขิดตะขวงใจที่จะเทศนาสั่งสอนให้คนอื่นๆ ใช้ชีวิตอย่าง ‘พอเพียง’ หรือ เหตุใดกิจกรรมเชิงการกุศลจึงเป็นแรงจูงใจในการบริโภคที่กลายเป็นทางรอดของผู้ค้าและแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้า ในช่วงที่ต้องเผชิญกับข้อจำกัดมากมายภายใต้มาตรการควบคุมโรคระบาดไวรัสโควิด-19 (จะได้กล่าวถึงกรณีตัวอย่างของประเด็นที่สองนี้ในตอนท้าย)
ในตอนนี้ ผู้เขียนจะกล่าวถึงงานเขียนชิ้นสำคัญของมาร์แซล โมสส์ (Marcel Mauss) ในหนังสือ The Gift: Forms and Functions of Exchange in Archaic Societies (1925) ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นงานชิ้นสำคัญที่นำเสนอกรอบการอธิบายความแตกต่างระหว่างระบบเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการแลกเปลี่ยนของกำนัลกับระบบเศรษฐกิจแบบตลาด โดยจะชวนสนทนาผ่านการตีความและ ‘ต่อยอด’ ข้อเสนอของโมสส์ในระยะหลัง ซึ่งชี้ให้เห็นข้อจำกัดของโมสส์ในการจำแนกสังคมตามรูปแบบของการแลกเปลี่ยน พร้อมๆ กับขยายประเด็นสนทนาทางมานุษยวิทยาว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและวัตถุสิ่งของในบริบทสังคมทุนนิยม อันเป็นแนวทางที่จะช่วยในการทำความเข้าใจ ‘วัตถุนิยม’ ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นด้านตรงข้ามของคุณค่าทางจิตใจ และ ‘บริโภคนิยม’ ที่อาจไม่ได้เป็นกระบวนการบั่นทอนระบบคุณค่าตามประเพณีเสมอไป
‘วิญญาณ’ ของกำนัล และพันธะแลกเปลี่ยนที่ยึดโยงกับส่วนรวม
งานศึกษาทางมานุษยวิทยาว่าด้วยการแลกเปลี่ยนและมานุษยวิทยาเศรษฐกิจในระยะแรก มีมุมมองใกล้เคียงกับนักเศรษฐศาสตร์อย่างคาร์ล โปลันญี (Karl Polanyi) ที่สนใจพิจารณาความแตกต่างระหว่างการปฏิบัติทางเศรษฐกิจในสังคม ‘ดั้งเดิม’ กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสังคม ‘สมัยใหม่’ (Polanyi 1944) นักมานุษยวิทยาเศรษฐกิจส่วนใหญ่เห็นพ้องกับจุดยืนทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่มีเนื้อหาเชิงวัฒนธรรม (substantivism) ที่พิจารณากิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ ว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถตัดขาดออกจากเงื่อนไขในทางสังคม วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของสังคมนั้นๆ ซึ่งตรงกันข้ามกับแนวทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์รูปแบบทั่วไป (formalism) ที่เชื่อในความเป็น ‘สัตว์เศรษฐกิจ’ (homo economicus) ที่เชื่อว่าปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของมนุษย์ในทุกสังคมล้วนดำเนินไปตามตัวแบบทางเศรษฐศาสตร์ งานศึกษาเชิงชาติพันธุ์วรรณนาแทบทั้งหมดมักแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างคุณลักษณะของการแลกเปลี่ยนในระบบเศรษฐกิจในสังคม ‘ดั้งเดิม’ ที่การแลกเปลี่ยนของกำนัลเป็นพื้นฐานของข้อผูกมัด พันธะ และความคาดหวังทางสังคม กับระบบเศรษฐกิจในสังคม ‘สมัยใหม่’ ที่ใช้เงินตราเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าโดยไม่ได้ยึดโยงกับผู้ให้หรือผู้รับ และไม่ได้ก่อให้เกิดพันธะทางสังคม โดยงานของโมสส์จะได้รับการอ้างอิงเสมือนกรอบการศึกษาเชิงเปรียบเทียบระหว่างโครงสร้างเชิงสังคม-เศรษฐกิจของสังคมบรรพกาลกับกระบวนการพัฒนาสู่สังคมเงินตราและระบบพันธะสัญญา
ในงานศึกษาดังกล่าว โมสส์ได้พัฒนาประเด็นอภิปรายเชิงเปรียบเทียบว่าด้วยการแลกเปลี่ยน โดยอาศัยข้อมูลจากงานชาติพันธุ์วรรณนาในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงงานของมาลินอฟสกีที่ได้กล่าวถึงในตอนแรก อย่างไรก็ดี การตีความข้อเสนอของโมสส์ตามแนวทางข้างต้นและโดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับกรอบการอธิบายแบบมาร์กซิสต์ มีแนวโน้มจะลดทอนมโนทัศน์ว่าด้วยของกำนัลในสังคมดั้งเดิม โดยมองการแลกเปลี่ยนดังกล่าวว่ามีลักษณะคำนึงถึงผู้อื่น (altruistic) เฉพาะในมิติที่เป็นสัญลักษณ์ของคุณค่าเชิงศีลธรรมอันดีงาม ในทำนองเดียวกับการให้คุณค่ากับของขวัญในสังคมสมัยใหม่ อันเป็นผลผลิตของกระบวนการสถาปนาระบบคุณค่าเชิงจริยธรรมที่ยึดโยงกับศาสนา ในฐานะที่เป็นขั้วตรงข้ามของระบบคุณค่าเชิงศีลธรรมของการแลกเปลี่ยนสินค้าในเศรษฐกิจแบบตลาด
กระแสการหวนกลับไปอ่านงานของโมสส์ในระยะหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเชื่อมโยงกับงานสำคัญอีกชิ้นของโมสส์ (Mauss 1985) ทำให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากขึ้นว่า ข้อเสนอของโมสส์ไม่ได้มุ่งอธิบายการเปลี่ยนแปลงในเชิงรูปแบบ จากระบบเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการแลกเปลี่ยนของกำนัลมาสู่การแลกเปลี่ยนสินค้า แต่พยายามแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างสังคมที่พิจารณาของกำนัลเป็นส่วนหนึ่งของพันธะแลกเปลี่ยนที่ยึดโยงกับส่วนรวม (total prestations) กับสังคมที่มีการให้คุณค่ากับของกำนัล/ของขวัญในฐานะที่เป็นขั้วตรงข้ามกับสินค้า หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การเปลี่ยนแปลงจากระบบคุณค่าเชิงศีลธรรมที่ไม่แบ่งแยกระหว่างของกำนัลและสินค้า มาสู่ระบบคุณค่าเชิงจริยธรรมที่เน้นย้ำความแตกต่างระหว่างสองสิ่งนี้ การพิจารณาข้อเสนอของโมสส์ในแง่นี้ ได้เปิดพื้นที่ให้กับการทำความเข้าใจกระบวนการแลกเปลี่ยนที่ครอบคลุมทั้งมิติที่ยึดโยงกับความสัมพันธ์ต่างตอบแทน (reciprocity) และมิติที่เป็นส่วนหนึ่งของกลไกทางเศรษฐกิจ
โมสส์ได้พัฒนากรอบมโนทัศน์เพื่ออธิบายความสัมพันธ์ในการแลกเปลี่ยน ซึ่งชี้ให้เห็นมิติความเป็นบุคคลที่หลอมรวมอยู่ในวัตถุของการแลกเปลี่ยน โดยอ้างอิงศัพท์ภาษาเมารีจากงานศึกษาของโรเบิร์ต เฮิร์ตซ์ (Robert Hertz) ได้แก่ ‘เฮา’ (hau) หรือที่มักได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘the spirit of the gift’ (วิญญาณของของกำนัล) ตามนัยที่ชาวเมารีในแถบนิวซีแลนด์ใช้สื่อถึงวิญญาณหรืออำนาจเหนือธรรมชาติที่ดำรงอยู่ในวัตถุที่บุคคลหนึ่งๆ มอบให้อีกผู้หนึ่ง ชาวเมารีเชื่อว่าเฮาปรารถนาจะกลับคืนสู่ถิ่นเดิมของตนในรูปวัตถุใดๆ ก็ตาม และดังนั้น การแลกเปลี่ยนของกำนัลจึงเป็นสื่อกลางในการเดินทางกลับถิ่นฐานของเฮา การรับรู้ร่วมกันว่า เฮาเป็นคุณลักษณะที่หลอมรวมสารัตถะทั้งในเชิงกายภาพและศีลธรรมของผู้ให้ ส่งผลให้ผู้รับมีพันธะในการนำพาเฮากลับคืน ผ่านการมอบของกำนัลตอบแทนตลอดจนการแลกเปลี่ยนรูปแบบอื่นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงโชคร้าย หายนะ หรือแม้กระทั่งอันตรายถึงชีวิต อันอาจเกิดขึ้นหากฝืนหน่วงเหนี่ยวเฮาไว้กับตน ประเด็นอภิปรายเกี่ยวกับ ‘วิญญาณ’ ที่อยู่ในวัตถุแลกเปลี่ยนนี้ ได้นำมาสู่ประเด็นถกเถียงว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและสิ่งต่างๆ อันเป็นส่วนหนึ่งของกระแสการตั้งคำถามกับการแบ่งแยกมนุษย์และวัตถุในการศึกษาทางมานุษยวิทยาในเวลาต่อมา
ในแง่นี้ ‘วิญญาณ’ ที่หลอมรวมอยู่ในของกำนัลจึงมีนัยต่างไปจาก ‘จิตวิญญาณ’ ตามการให้คุณค่าแบบจิตนิยมในโลกตะวันตก ซึ่งมีแนวโน้มจะเชื่อมโยงการแลกเปลี่ยนของกำนัลกับความปรารถนาดีของผู้ให้และผู้รับ ของกำนัลจึงมีความน่าสนใจไม่เพียงในแง่ของการให้ความหมายทางวัฒนธรรม แต่ในฐานะรูปวัตถุที่บรรจุตัวตนและความสัมพันธ์ระหว่างคู่แลกเปลี่ยน ซึ่งสามารถส่งผ่านไปยังบุคคลหรือของกำนัลอื่นๆ ในเครือข่ายการแลกเปลี่ยนนั้นๆ ได้ หรืออีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า ของกำนัลและการมอบของกำนัลได้หลอมรวมเอาผู้เกี่ยวข้องและความสัมพันธ์ของพวกเขาเหล่านั้นเข้าไว้ด้วยกัน และเนื่องจากความเข้าใจเกี่ยวกับคู่แลกเปลี่ยนและวัตถุแลกเปลี่ยน มีนัยกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างกัน ดังนั้น การที่บุคคลไม่สามารถมอบ รับ หรือมอบของกำนัลตอบแทนตามความคาดหวังทางสังคม ย่อมหมายถึงการปฏิเสธระบบคุณค่าเชิงศีลธรรมอันเป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์ทางสังคมด้วย
จะเห็นว่าโมสส์อธิบาย ‘วิญญาณของของกำนัล’ ในฐานะที่เป็นพลังทางสังคม (social forces) ตามแนวทางอธิบายสังคมของเอมิล เดอร์ไคม์ (Émile Durkheim) ส่วนในการอธิบายความแตกต่างระหว่างสังคมที่แบ่งแยกและไม่แบ่งแยกของกำนัลกับสินค้า โมสส์ได้พยายามเชื่อมโยงกับพัฒนาการทางปรัชญาและศาสนา กล่าวคือ ในขณะที่ตัวอย่างการแลกเปลี่ยนของผู้คนในเมลานีเซีย โพลีนีเซีย รวมทั้งชนพื้นเมืองอเมริกัน ที่โมสส์หยิบยกมาอภิปราย แสดงให้เห็นว่า การแลกเปลี่ยนมีบทบาทสำคัญต่อการสืบเชื้อสายและการดำรงชีพของกลุ่มสังคม ระบบคุณค่าเชิงจริยธรรมของศาสนาในยุโรปและเอเชียมีแนวโน้มจะปฏิเสธคุณลักษณะดังกล่าว โดยมุ่งสั่งสอนให้ปัจเจกพยายามละทิ้งตัวตนเพื่อบรรลุอุดมคติทางจิตวิญญาณ ซึ่งในบางกรณีรวมถึงการละทิ้งบทบาทในกระบวนการผลิตซ้ำทั้งทางชีววิทยาและทางสังคม และการให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนก็เป็นรูปแบบหนึ่งของวิถีปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การหลุดพ้นตามแนวทางนี้ โดยในงานเขียนของโมสส์ทั้งสองชิ้นยังอ้างอิงตัวอย่างเปรียบเทียบจากสังคมอินเดีย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของศาสนาที่ให้ความสำคัญกับวิถีปฏิบัติในการละทิ้งทางโลกอย่างศาสนาพุทธและศาสนาเชน (Jainism) ร่วมกับตัวอย่างในประวัติศาสตร์ยุโรป
อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันเราจะตระหนักว่าข้อเสนอของโมสส์ไม่ได้มุ่งเปรียบเทียบรูปแบบการแลกเปลี่ยนในเชิงวิวัฒนาการ แต่การพยายามนำเสนอนิยามและแนวการอธิบายที่ครอบคลุมทั่วโลกก็ยังคงเป็นข้อจำกัดสำคัญของโมสส์ นักมานุษยวิทยารุ่นต่อๆ มาได้พยายามชี้ให้เห็นว่า แม้การแลกเปลี่ยนของกำนัลจะเป็นวิถีปฏิบัติที่ดำรงอยู่ในทุกสังคม แต่เราจำเป็นต้องพิจารณาถึงนัยสำคัญของความแตกต่างหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรมด้วย ดังเช่นที่ข้อมูลจากงานชาติพันธุ์วรรณนาในสังคมอินเดียร่วมสมัยได้แสดงให้เห็นว่า การมอบสิ่งของในพิธีกรรมทั้งทางสังคมและทางศาสนา เช่นงานแต่งงานของชนชั้นสูงชาวฮินดูหรือเชน หรือการมอบสิ่งของให้กับนักบวช ไม่ได้มีแรงจูงใจในเชิงตอบแทนดังที่เข้าใจกันทั่วไป แต่เป็นรูปแบบหนึ่งของการปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่การหลุดพ้นทางจิตวิญญาณตามความเชื่อทางศาสนา (Sanchez et al 2017, 570)
ในส่วนต่อไป จะได้กล่าวถึงงานศึกษาที่ได้พัฒนาประเด็นอภิปรายต่อยอดจากข้อเสนอของโมสส์ ที่ชี้ให้เห็นว่า แม้ในสังคมที่มีการแบ่งแยกระหว่างการแลกเปลี่ยนของกำนัลและสินค้า ก็ยังมีวิถีปฏิบัติที่เผยให้เห็นการเชื่อมต่อระหว่างทั้งสองระบบ และเรียกร้องให้ทำความเข้าใจกระบวนการดังกล่าวโดยพิจารณาเชื่อมโยงเงื่อนไขทั้งเชิงเศรษฐกิจและระบบคุณค่าเชิงจริยธรรม ข้อเสนอดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงจุดเปลี่ยนในการศึกษาทางมานุษยวิทยาว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและวัตถุสิ่งของ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของสังคมทุนนิยม
ทานและบุญ: ‘การให้’ ในความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียม
ในบทความของ โจนาธาน พาร์รี (Jonathan Parry) ที่อภิปรายประเด็นว่าด้วย ‘ทาน’ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบคิดและสถาบันทางสังคมที่เชื่อมโยงกับการแลกเปลี่ยนของกำนัลในสังคมอินเดียทั้งในพิธีกรรมทางศาสนาและงานเทศกาลต่างๆ (Parry 1986) พาร์รีนำกรณีของการให้ทานในสังคมอินเดียมาใช้ในการอภิปรายถกเถียงกับหัวใจหลักในข้อเสนอของโมสส์ที่ว่า ของกำนัลต้องมีการมอบคืนเพื่อตอบแทน นอกจากนี้เขายังชี้ให้เห็นว่า วิถีปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ทาน สะท้อนกรอบคิดเกี่ยวกับความเป็นบุคคลในสังคมอินเดีย ซึ่งให้คุณค่ากับความเป็นปัจเจกน้อยกว่าความเป็นส่วนรวม และดังนั้นจึงแตกต่างจากมโนทัศน์ในเรื่อง ‘ของขวัญบริสุทธิ์’ (pure gift) และการให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน
การให้ทานในสังคมอินเดีย นอกจากจะไม่ได้เรียกร้องหรือสร้างพันธะให้ผู้รับต้องตอบแทนกลับคืนแล้ว ในทางตรงกันข้าม การมอบกลับคืนยังเป็นเสมือนการละเมิดข้อบังคับและกฎเกณฑ์ทางสังคมอย่างรุนแรง เนื่องจากการให้ทานเป็นช่องทางส่งออกสิ่งอัปมงคลเลวร้ายให้พ้นออกจากตัว และเป็นกระบวนการที่จำเป็นต้องมีผู้รับซึ่งมักเป็นผู้ที่อยู่ในวรรณะต่ำกว่า หรือพราหมณ์ที่มีพลังอำนาจในการย่อยสลายสิ่งชั่วร้ายเหล่านี้ไม่ให้ย้อนกลับเข้าตัว การตอบแทนจึงเป็นเหมือนการมอบสิ่งชั่วร้ายกลับคืนและอาจก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ให้ซึ่งอยู่ในวรรณะสูงกว่า
พาร์รีชี้ให้เห็นว่า ระบบคิดเกี่ยวกับการให้ทานในสังคมอินเดียแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับระบบคิดเกี่ยวกับการให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนในโลกตะวันตก โดยเขาเสนอว่า วิธีคิดและวิถีปฏิบัติเกี่ยวกับ ‘ของขวัญบริสุทธิ์’ ได้รับการพัฒนาขึ้นในสังคมที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจ-สังคมมีการแบ่งช่วงชั้นของแรงงานค่อนข้างสูงและมีการขยายตัวของภาคการค้า จนไม่จำเป็นต้องพึ่งพาบทบาทเชิงเศรษฐกิจของการแลกเปลี่ยนของกำนัล (Parry 1986, 467) นอกจากนี้ พาร์รีมองว่าปัจจัยสำคัญที่เอื้ออำนวยต่อพัฒนาการดังกล่าว มีรากฐานมาจากระบบความเชื่อและศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาหลักๆ ของโลก ในกรณีของโลกตะวันตก จักรวาลวิทยาของคริสต์ศาสนาที่เชื่อในเรื่องความเท่าเทียมของมนุษย์ทุกผู้ทุกนามเมื่ออยู่ต่อหน้าพระผู้เป็นเจ้า รวมถึงทั้งความคิดในเรื่องเสรีภาพและการมีเจตจำนงอิสระของมนุษย์ มีบทบาทต่อการสถาปนาคุณค่าสากลของการให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน “สำหรับผู้คนที่มีอิสระและปราศจากข้อผูกมัดในปฏิสัมพันธ์ในระบบตลาด เขาก็เป็นผู้ที่มีอิสระและปราศจากพันธะในการแลกเปลี่ยนของกำนัลนอกระบบตลาด” (Parry 1986, 469) และนี่เป็นเงื่อนไขสำคัญของการพัฒนาสู่ระบบการแลกเปลี่ยนแบบตลาดและการก่อตัวของระบบทุนนิยม
อย่างไรก็ดี พาร์รีเสนอว่า กิจกรรมการแลกเปลี่ยนในระดับชีวิตประจำวันอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความรับรู้เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนรูปแบบต่างๆ เสมอไป เช่น อาจมีเงื่อนไขต่างๆ ที่จำกัดการซื้อขายในระบบตลาด จนไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการแลกเปลี่ยนโดยเสรี หรือการมอบของขวัญก็อาจไม่ได้เป็นเพียงการแสดงความรู้สึกของปัจเจกโดยปราศจากเงื่อนไขทางสังคม ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นความไม่สอดคล้องนี้ คือระบบคิดเกี่ยวกับการทำบุญในพุทธศาสนาเถรวาท
ในบทความเกี่ยวกับการทำบุญของ ‘คนเมือง’ ในแถบจังหวัดเชียงใหม่ (Bowie 1998) แคเธอรีน บาววี (Katehrine A. Bowie) ได้เสนอให้ทำความเข้าใจหลักคำสอนทางศาสนา ความเชื่อ และวิถีปฏิบัติเกี่ยวกับการทำบุญในบริบทที่เชื่อมโยงกับมิติเชิงเศรษฐศาสตร์การเมืองและช่วงชั้นทางสังคม ในขณะที่งานศึกษาส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างสงฆ์กับฆราวาส บาววีแสดงให้เห็นว่าการสละทรัพย์เพื่อสั่งสมบุญมีนัยสัมพันธ์กับสถานะทางเศรษฐกิจของผู้ให้ กล่าวคือ ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญด้วยการสร้างหรือบูรณะปฏิสังขรณ์วัด อุปถัมภ์การบวช การทอดกฐิน หรือแม้แต่การให้ทานกับคนยากจน ล้วนเรียกร้องต้นทุนที่มากเกินกว่าศักยภาพทางเศรษฐกิจของชาวบ้านส่วนใหญ่
นอกจากนี้ บาววียังเสนอว่า แม้เราอาจมองการทำบุญเป็นรูปแบบหนึ่งของการให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน แต่เมื่อพิจารณาพลวัตของความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างชนชั้นนำและผู้ที่มีสถานะด้อยกว่า จะพบว่ามีการยึดยื้อกันระหว่างความพยายามสถาปนาอำนาจนำและการต่อต้าน กล่าวคือ ในขณะที่ชนชั้นนำมีเป้าหมายในการสั่งสมบุญเพื่อตนเอง ซึ่งโดยนัยคือการรักษาอำนาจนำ ไม่ใช่เพื่อเปลี่ยนแปลงสู่สังคมที่เท่าเทียม ผู้รับก็อ้างอิงระบบคุณค่าเชิงจริยธรรมทางศาสนา เพื่อสร้างแรงกดดันให้ชนชั้นนำต้องแสดงออกถึงความโอบอ้อมอารีและเสียสละเพื่อผู้ด้อยโอกาส ซึ่งหากไม่ได้รับการตอบสนอง ก็อาจนำไปสู่การปล้นสดมภ์หรือการลุกฮือของชาวนา ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประวัติศาสตร์ล้านนา
ข้อเสนอของพาร์รีและบาววีได้เปิดประเด็นท้าทายการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนในระบบทุนนิยม ในฐานะกระบวนการที่เชื่อมโยงกับทั้งการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและระบบคุณค่าเชิงจริยธรรม แม้ว่าในระยะหลังจากนั้น จะยังคงมีนักมานุษยวิทยาบางส่วนที่มองโลกของ ‘ชนพื้นเมือง’ เป็นชุมชนขนาดเล็กและมีเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งเป็นการลดทอนความหลากหลายและซับซ้อนของมิติเชิงสังคม-วัฒนธรรมของการแลกเปลี่ยน แต่ก็มีงานศึกษาจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่แสดงให้เห็นว่าเราไม่สามารถแบ่งแยกสังคม ‘ดั้งเดิม’ ออกจากกระบวนการระดับโลก ผู้คนไม่ว่าในสังคม ‘ดั้งเดิม’ หรือ ‘สมัยใหม่’ ต่างเป็นกลุ่มบุคคลในระบบคุณค่าเชิงศีลธรรมที่ต่างเป็นส่วนหนึ่งขององค์รวมที่ใหญ่กว่า การขยายขอบเขตของการเชื่อมโยงไปยังระบบเศรษฐกิจ-การเมืองที่กว้างไกลกว่าหมู่บ้าน จึงจำเป็นต่อการทำความเข้าใจระบบคิดและวิถีปฏิบัติเกี่ยวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสังคมร่วมสมัย
หนึ่งในกลุ่มงานศึกษาที่มีบทบาทในการพัฒนาแนวอธิบายกระบวนการดังกล่าว ได้แก่ งานศึกษาวัฒนธรรมการบริโภค นอกจากแนววิธีศึกษาชีวิตทางสังคมของสิ่งของซึ่งได้กล่าวถึงในตอนที่แล้ว ยังมีแนวการศึกษา ‘ห่วงโซ่สินค้า’ (commodity chain) ที่สนใจความเชื่อมโยงระหว่างผู้คนและสถาบันต่างๆ ในสังคม และพิจารณาชีวิตของสินค้าที่หมุนเวียนในระบบตลาดนับจากการผลิตจนถึงการบริโภค ซึ่งนอกจากจะเป็นการขยายขอบเขตการศึกษาในเชิงพื้นที่แล้ว ยังเน้นศึกษาการแลกเปลี่ยนอย่างเป็นกระบวนการ ครอบคลุมขั้นตอนที่นำมาสู่และเป็นผลสืบเนื่องจากกิจกรรมการแลกเปลี่ยนนั้นๆ ด้วย หนึ่งในประเด็นศึกษาที่พัฒนาต่อยอดจากแนววิธีศึกษาเหล่านี้ ได้แก่ ความเชื่อมโยงระหว่างการบริโภคสินค้ากับการมอบของขวัญในสังคมทุนนิยม (เช่น Carrier 1995; Miller 1998) รวมทั้งกรณีตัวอย่างเกี่ยวกับการมอบของขวัญในเทศกาลคริสต์มาสที่จะได้กล่าวถึงในส่วนสุดท้ายของความเรียงนี้
ของขวัญและการกุศล: ‘บริโภคนิยม’ ที่ผลิตซ้ำประเพณี
ผลสืบเนื่องจากกระบวนการให้คุณค่ากับ ‘ของขวัญบริสุทธิ์’ ทำให้ ‘ของขวัญ’ ในโลกทุนนิยมมีนัยที่แตกต่างจาก ‘ของกำนัล’ และพันธะระหว่างคู่แลกเปลี่ยน ในฐานะที่เป็นแกนหลักของการสืบสานความสัมพันธ์ทางสังคม ขณะเดียวกัน ของขวัญก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่พยายามปฏิเสธต้นกำเนิดของข้าวของมากมายที่ล้วนเป็น ‘สินค้า’ ในระบบทุนนิยม ซึ่งมักถูกลดทอนความสัมพันธ์ทางสังคมให้เหลือเพียงการแลกเปลี่ยนทางธุรกิจระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ
ข้อเขียนว่าด้วยคริสต์มาสจากมุมมองทางมานุษยวิทยาโดยแดเนียล มิลเลอร์ ได้แสดงเห็นถึงความยอกย้อนของกระบวนการบริโภคสินค้าเพื่อแปรเป็น ‘ของขวัญบริสุทธิ์’ ในเทศกาลคริสต์มาส ในขณะที่ทัศนะเชิงวิพากษ์มีแนวโน้มจะเหมารวมว่ากระแสบริโภคนิยมได้เปลี่ยนคริสต์มาสให้กลายเป็นเทศกาลของการจับจ่ายใช้สอยอย่างฟุ่มเฟือย ข้อมูลเชิงชาติพันธุ์วรรณนาว่าด้วยคริสต์มาสในตรินิแดด อังกฤษ และอีกหลายๆ พื้นที่ทั่วโลก (Miller, ed. 1995) กลับแสดงให้เห็นว่า กระบวนการดังกล่าวไม่ได้สั่นคลอนหากแต่อ้างอิงอยู่กับระบบคุณค่า ‘ดั้งเดิม’ อย่างสถาบันครอบครัว-เครือญาติ และความเป็นท้องถิ่น หรืออาจกล่าวอีกอย่างได้ว่า เป็นวิถีปฏิบัติที่พยายามหลอมรวมกระบวนการผลิตสร้างพันธะทางสังคม เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับกิจกรรมที่ดูเหมือนจะลดทอนนัยของคุณค่าทางศีลธรรม
ในตรินิแดด ทัศนคติแง่ลบเกี่ยวกับการบริโภคสินค้าในช่วงคริสต์มาส เป็นผลสืบเนื่องจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจช่วงปลายทศวรรษ 1970 ถึงต้นทศวรรษ 1980 ความกังวลว่าฐานะทางเศรษฐกิจและศักยภาพการบริโภคที่เพิ่มขึ้นจะสั่นคลอนรากเหง้าทางวัฒนธรรม ได้กระตุ้นให้ชาวตรินิแดดหวนกลับไปยึดโยงอัตลักษณ์ชาติกับวัฒนธรรมสเปน ซึ่งในขณะเดียวกันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างความชอบธรรมให้กับการกินดื่มและจับจ่ายใช้สอยในช่วงคริสต์มาส ความเข้มข้นของการซื้อสินค้าเครื่องแต่งบ้านในช่วงเทศกาลดังกล่าว จึงกลายเป็นการแสดงออกถึงความเป็นชาว ‘ตรินิ’ (Trinis) ที่ให้คุณค่ากับความเป็นครอบครัว ในท่ามกลางกระแสต่อต้าน ‘วัตถุนิยม’ ที่ดำเนินไปพร้อมกัน
การซื้อและมอบของขวัญในเทศกาลคริสต์มาสสะท้อนให้เห็นประเด็นถกเถียงสำคัญว่าด้วยคุณลักษณะของ ‘วัตถุนิยม’ กล่าวคือ การเลือกซื้อสินค้าเป็นของขวัญคริสต์มาสได้เปลี่ยนสิ่งของจากผลผลิตของโลกการค้าให้เป็นสิ่งที่มีความหมายเฉพาะสำหรับเรา ยิ่งเป็นของที่เราตัดสินใจซื้อจากตัวเลือกที่มีอยู่มากมายเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีคุณค่าพิเศษมากขึ้นเท่านั้น ในอังกฤษ การอดทนเบียดเสียดเลือกซื้อของขวัญให้ทันก่อนงานเลี้ยงคริสต์มาสของครอบครัว เป็นการทุ่มเทแรงงานเพื่อสกัดเอาสินค้าที่วางขายตามร้านค้ามาเป็นของขวัญ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเราใส่ใจกับรสนิยมและบุคลิกของผู้รับมากเพียงใด ของขวัญจึงเป็นตัวแทนของความสัมพันธ์ระยะยาวโดยเฉพาะความสัมพันธ์ในเครือญาติ และนี่เองเป็นคำอธิบายว่า เหตุใดการซื้อของขวัญคริสต์มาสจึงไม่ใช่เรื่องที่อยากจะทำหรือไม่ก็ได้ หากแต่เป็นสิ่งที่ผู้คนจำนวนมากต้องยึดถือปฏิบัติตามบทบาททางสังคม
ในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยกระบวนการแปรให้เป็นสินค้า แม้เกือบทุกคนจะไม่อยากมีชีวิตที่ขัดสน แต่ขณะเดียวกันก็ไม่อยากถูกมองว่าให้ค่าของวัตถุเพียงในรูปของสินค้าหรือตีค่าความร่ำรวยตามยอดเงินในบัญชีเงินฝาก เทศกาลของขวัญเป็นหนึ่งในทางออกให้กับความย้อนแย้งนี้ กล่าวคือ เป็นช่วงเวลาที่ผู้คนสามารถมีความสุขกับการบริโภคสินค้า โดยที่ยังสามารถแสดงตนว่าให้คุณค่ากับจิตวิญญาณความเป็นสังคม ยิ่งไปกว่านั้น แม้ในห้วงเวลาที่ผู้คนต้องเผชิญกับข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถซื้อขายสินค้าได้ตามปกติ กระบวนการสร้างคุณค่าเชิงจริยธรรมก็อาจมีบทบาทในการสร้างโอกาสและความชอบธรรมให้กับทั้งการจำหน่ายและบริโภคสินค้าได้เช่นกัน ดังกรณีตัวอย่างจากสถานการณ์อันเป็นผลจากมาตรการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ที่จะได้กล่าวถึงต่อไปนี้
งานศึกษา 2 เรื่อง ที่เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาบัณฑิต ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอข้อมูลจากกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจเกี่ยวกับกระบวนการซื้อขายสินค้า ภายใต้ข้อจำกัดของมาตรการควบคุมการระบาดฯ กรณีศึกษาแรก ได้แก่ สินค้าของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่แทบจะไร้ผู้ซื้อ นับตั้งแต่รัฐบาลไทยประกาศจำกัดการเดินทางจากบางประเทศจนกระทั่งมีการประกาศห้ามเที่ยวบินจากต่างประเทศเข้าประเทศไทยเมื่อช่วงปลายเดือนเมษายน 2563 (ภูวนัตถ์ จันเทียน 2563 [1]) ส่วนกรณีศึกษาที่สอง ได้แก่ การ ‘ไลฟ์’ ขายสินค้าบนแพลตฟอร์มช้อปปี้ (Shopee) ซึ่งแม้ในภาพรวมจะเป็นที่รับรู้ว่ามีอัตราการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด แต่ขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อการนิยาม ‘สินค้า’ ที่เปลี่ยนไปด้วย (ณัชชา พูลชัย 2563 [2])
ในทั้งสองกรณี ผู้ศึกษาพบว่ามีกระบวนการสร้างคุณค่าให้กับสินค้าโดยอ้างอิงกับเป้าหมายทางการกุศล ข้อมูลของภูวนัตถ์แสดงให้เห็นว่า ในขณะที่ผู้ผลิตสินค้าของที่ระลึกกลุ่มที่ไม่มีตราสินค้าและกลุ่มที่เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน จำเป็นต้องหันมาผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการในการป้องกันโรคระบาด (เช่น หน้ากากผ้า) ผู้ผลิตสินค้าของที่ระลึกกลุ่มที่มีตราสินค้า มีแนวโน้มจะใช้กิจกรรมการกุศลเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การขายสินค้าให้กับผู้บริโภคภายในประเทศ เช่น การระบุข้อความ “ทุกๆ การสั่งซื้อจะสมทบทุนให้กับ…” โดยส่วนใหญ่ของผู้รับบริจาคมักเป็นผู้จำเป็นต้องใช้งานอุปกรณ์ด้านการแพทย์ต่างๆ
ในส่วนข้อมูลเกี่ยวกับ ‘ช้อปปี้ไลฟ์’ งานศึกษาของณัชชาได้แสดงให้เห็นถึงกระบวนการแปร ‘การไลฟ์’ ให้เป็นสินค้า โดยมีกิจกรรมการกุศลเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในกระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้ กล่าวโดยสรุป ในระยะแรกของการบังคับใช้มาตรการควบคุมการระบาดฯ มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่การขยายตัวของผู้ใช้งาน ‘ไลฟ์’ เพื่อขายสินค้าและในแง่ของประเภทสินค้า โดยเริ่มปรากฏการใช้กิจกรรมการกุศลเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การขายเช่นเดียวกับกรณีผู้ผลิตสินค้าของที่ระลึกที่กล่าวถึงข้างต้น จนถึงช่วงเดือนเมษายน 2563 ผู้ศึกษาพบว่าเริ่มมีการ ‘ไลฟ์’ โดยนักแสดง นักร้อง ฯลฯ ซึ่งไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อขายสินค้าโดยตรง แต่ได้รับการนำเสนอในฐานะกิจกรรมระดมเงินบริจาคให้กับสถานพยาบาล ในลักษณะที่เป็นการร่วมกันทำการกุศลระหว่างผู้ไลฟ์และแฟนคลับ แม้จะเป็นกิจกรรมเฉพาะช่วงสั้นๆ แต่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่เปิดโอกาสให้พัฒนาไปสู่การไลฟ์ในฐานะพื้นที่พบปะศิลปินของแฟนคลับ ซึ่งมีสถานะเหมือนสินค้าที่มีมูลค่าแลกเปลี่ยนและสามารถแปรรูปเป็นผลตอบแทนตามเงื่อนไขของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มในที่สุด
แม้ข้อมูลจากทั้งสองกรณีจะไม่ได้แสดงให้เห็นถึงการยึดยื้อระหว่างระบบคุณค่าของกลุ่มช่วงชั้นทางสังคม ดังเช่นที่แคเธอรีน บาววี ได้นำเสนอไว้ในกรณีของการทำบุญในพุทธศาสนาเถรวาท แต่ก็แสดงให้เห็นว่า การเชื่อมโยงการบริโภคสินค้าและบริการกับเป้าหมายเชิงการกุศล เป็นอีกรูปแบบหนึ่งในกระบวนการสร้างคุณค่าและความชอบธรรมให้กับการบริโภคมวลชน โดยอ้างอิงระบบคุณค่าเชิงจริยธรรมทางศาสนา ซึ่งไม่ได้มุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเท่าเทียม และอาจกล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งใน ‘รูปแบบพื้นฐานของการครอบงำ’ (an elementary form of domination) เช่นเดียวกับที่ปิแอร์ บูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu) เสนอไว้เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนในสังคม ‘ดั้งเดิม’ (Bourdieu 1977, 189-191 อ้างใน Bowie 1998) และบาววีได้ยืนยันผ่านกรณีศึกษาหมู่บ้านในสังคมระดับรัฐ ในแง่นี้ ‘บริโภคนิยม’ ในยุคโควิด-19 จึงเป็นกระบวนการที่คล้ายคลึงกับการแลกเปลี่ยนในเทศกาลของขวัญ ซึ่งนอกจากจะไม่ได้สั่นคลอนระบบคุณค่าตามประเพณีแล้ว ยังอาจเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยผลิตซ้ำความไม่เท่าเทียมที่ฝังรากอยู่ในสังคมอีกด้วย
อ้างอิง
[1] ภูวนัตถ์ จันเทียน. 2563. “ทุนทางเศรษฐกิจ-วัฒนธรรมและการปรับตัวของผู้ประกอบการในยุคไร้นักท่องเที่ยว”. รายงานการศึกษาส่วนบุคคล. คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
[2] ณัชชา พูลชัย. 2563. “จากไลฟ์ขายสินค้าสู่การไลฟ์เป็นสินค้า: “ช้อปปี้ไลฟ์” กับการเชื่อมโยงศักยภาพการสื่อสารในยุคโควิด-19”. รายงานการศึกษาส่วนบุคคล. คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.