fbpx
ของกำนัลกับการเดินทางของความสัมพันธ์ทางสังคม

ของกำนัลกับการเดินทางของความสัมพันธ์ทางสังคม

พรรณราย โอสถาภิรัตน์ และ วิภาส ปรัชญาภรณ์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

“มานุษยวิทยา” อาจเป็นชื่อสาขาวิชาที่ชวนให้นึกถึงการศึกษาทำความเข้าใจมนุษย์ผ่านแบบแผนและการปฏิบัติทางวัฒนธรรม ซึ่งพัฒนาคำถามบนพื้นฐานของความสนใจใคร่รู้ในสังคมวัฒนธรรมที่มีความ “เป็นอื่น” จากผู้ศึกษา ในช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์สาขาวิชาหรือแม้แต่ในปัจจุบันเมื่อมีการเปรียบเทียบกับสาขาวิชาอื่นๆ หลายคนยังมักเชื่อมโยงมานุษยวิทยากับงานวิจัยภาคสนามในชุมชนห่างไกล และการนำเสนอภาพแทนของวิถีชีวิตที่แตกต่างจากชุมชนเมืองในสังคม “สมัยใหม่”

“สัมพัทธ์สัมพันธ์” เป็นชุดความเรียงที่จะเปิดพื้นที่สนทนาจากมุมมองทางมานุษยวิทยาซึ่งอาจต่างไปจากที่หลายคนคุ้นเคย นอกจากจะพยายามแสดงให้เห็นถึงนัยสำคัญของวิถีปฏิบัติในสังคมวัฒนธรรม “ดั้งเดิม” แล้ว ยังจะชวนให้ผู้อ่านใคร่ครวญถึงความเชื่อมโยงระหว่างโลกที่ดูแสนห่างไกลนั้น กับการหวนกลับมาทำความเข้าใจตัวตนของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติเชิงสัมพัทธ์ของความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับวัตถุ ซึ่งมักถูกจัดวางเป็นคู่ตรงข้ามในระบบคุณค่าเชิงศีลธรรมของสังคมสมัยใหม่

มโนทัศน์ว่าด้วยบุคคลในโลกตะวันตกมักให้ความสนใจกับมิติเชิงสัมพัทธ์ของความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจก เช่น เรามักพูดถึงผู้มีเพศสรีระเป็นหญิง โดยอ้างอิงกับบทบาทตามบรรทัดฐานทางสังคมว่าเป็นลูกสาว พี่/น้องสาว หรือภรรยา ฯลฯ​ อย่างไรก็ตาม นักมานุษยวิทยาอย่าง แมริลิน สแตรธเธิร์น (Marilyn Strathern) ได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของผู้คนในเมลานีเซียว่า ความเป็นบุคคลประกอบขึ้นจากความสัมพันธ์ที่หลากหลายและไม่จำกัดเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น ชาวเมลานีเซียอ้างถึงผู้คนในแต่ละช่วงชีวิต เช่น ลูกสาวของคนนี้ ลูกสาวของพี่/น้องสาวของคนนั้น หรือภรรยาของอีกคน ฯลฯ กับวัตถุสิ่งของต่างๆ โดยเฉพาะวัตถุในการแลกเปลี่ยน เช่น ของกำนัล สิ่งของมีค่า สินไหม ฯลฯ ในกระบวนการดังกล่าว พวกเขาไม่ได้เพียง “แบ่งส่วน” วัตถุของการแลกเปลี่ยนเพื่อกระจายหรือจำกัดการเข้าถึงภายใต้เงื่อนไขของสายสัมพันธ์ทางสังคม แต่วัตถุเหล่านั้นยังได้หลอมรวมความเป็นบุคคลที่ “แบ่งส่วน” (partible persons) เข้าเป็นส่วนหนึ่งของชุดความสัมพันธ์ทางสังคมที่บุคคลเลือกจะยึดโยงด้วย

 

มุมมองจากวัฒนธรรมที่ดูห่างไกลอย่างเมลานีเซีย สามารถช่วยทลายกำแพงในการทำความเข้าใจความเป็นบุคคลภายใต้กรอบของชุดภาษาและมโนทัศน์แบบยุโรป-อเมริกัน โดยเฉพาะกรอบทวินิยมที่แบ่งแยกระหว่างผู้คนกับสังคม และ มนุษย์กับวัตถุ หากลองทบทวนประสบการณ์เฉพาะในสถานการณ์ต่างๆ ตลอดช่วงชีวิตของแต่ละคน จะเห็นว่ายังมีมิติอื่นๆ นอกเหนือจากการอ้างอิงกับบทบาททางสังคม เช่น เราเกิดในบริบทการทำคลอดแบบไหน การแต่งงานของเราอยู่ภายใต้เงื่อนไขอะไรบ้าง งานศพของเราจะมีรูปแบบเช่นไร ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นสถานการณ์ที่เราไม่สามารถจินตนาการถึงตนเองเพียงคนเดียว หรืออ้างอิงความสัมพันธ์กับผู้คนรอบตัวเท่านั้น หลายคนคงพอจะเริ่มนึกเห็นภาพว่าในสถานการณ์เหล่านี้ การนิยามตัวตนของเรายึดโยงอยู่กับวัตถุสิ่งของต่างๆ มากเพียงใด

ในความเรียงชิ้นแรกนี้ ผู้เขียนจึงอยากชวนคุยเกี่ยวกับงานชาติพันธุ์วรรณนาสองชิ้น ที่มักถูกหยิบยกมาเป็นตัวอย่างในการอธิบายแบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับข้าวของในการแลกเปลี่ยน “ของกำนัล” (gift) ในฐานะที่เป็นพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจในสังคม “ดั้งเดิม” และเป็นด้านตรงข้ามของ “สินค้า” (commodity) ในระบบเศรษฐกิจแบบตลาด โดยในตอนแรกนี้จะกล่าวถึงประเด็นอภิปรายว่าด้วยการแลกเปลี่ยนในวงแหวน “คูลา” (Kula) จากหนังสือ Argonauts of the Western Pacific (Malinowski 1922) ซึ่งเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่มาร์แซล โมสส์ (Marcel Mauss) นำมาอ้างอิงในการศึกษาเชิงเปรียบเทียบว่าด้วยมิติทางสังคมของการแลกเปลี่ยนของกำนัลใน The Gift: Forms and Functions of Exchange in Archaic Societies (Mauss 1925) ซึ่งจะได้กล่าวถึงในตอนที่สอง

Argonauts of the Western Pacific เป็นผลงานจากการวิจัยภาคสนามในหมู่เกาะโทรเบรียนด์ (Trobriand Islands) ของโบรนิสลาฟ มาลินอฟสกี (Bronislaw Malinowski) หนังสือเล่มนี้เป็นที่รู้จักในฐานะงานชาติพันธุ์วรรณนาที่วางรากฐานให้กับวิธีวิทยาทางมานุษยวิทยาอย่าง “การสังเกตอย่างมีส่วนร่วม” (participant observation) ซึ่งต่อมาในช่วงทศวรรษ 1980 ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประเด็นวิพากษ์สำคัญต่องานชาติพันธุ์วรรณนาในฐานะกระบวนการสร้างภาพแทน “ความเป็นอื่น” อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเห็นว่าหนึ่งในหัวใจสำคัญของข้อเสนอว่าด้วยวิธีวิทยาในงานดังกล่าว ซึ่งอาจไม่ค่อยได้รับความสนใจในวงกว้างมากนัก คือ “imponderabilia” หรือที่มาลินอฟสกีอธิบายว่าเป็นชุดของปรากฏการณ์ที่มีนัยสำคัญสำหรับการทำความเข้าใจสังคมวัฒนธรรม ครอบคลุมรายละเอียดของการกระทำของผู้คนในระดับชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่สามารถจดบันทึกด้วยการสอบถามหรือวิเคราะห์เอกสาร แต่ต้องอาศัยการสังเกตการณ์ในสภาวะที่เป็นจริง

ตัวอย่างการอธิบายปรากฏการณ์ที่มาลินอฟสกีแสดงให้เห็นรายละเอียดของการกระทำดังกล่าว ได้แก่ การพัฒนาประเด็นอภิปรายเกี่ยวกับเครือข่ายการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้คนตามหมู่เกาะต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับชายฝั่งตะวันออกของนิวกินี เพื่อตอบคำถามว่าเหตุใด ผู้คนจึงให้ความสำคัญกับกิจกรรมแลกเปลี่ยนสิ่งของ ที่ดูเหมือนเป็นเพียงเครื่องประดับกระจุกกระจิก ไม่มีประโยชน์ใช้สอย ได้แก่ สร้อยคอที่ทำจากแผ่นเปลือกหอยสีแดง เจาะรูร้อยด้วยเชือกที่ประดับด้วยเปลือกหอยชิ้นเล็กๆ (soulava) และกำไลต้นแขนที่ทำจากเปลือกหอยขนาดใหญ่สีขาว (mwali) ซึ่งในหลายกรณีหมายรวมถึงการเสี่ยงชีวิตเดินทางด้วยเรือขนาดเล็กเป็นระยะทางหลายร้อยไมล์ในมหาสมุทรเพื่อทำการแลกเปลี่ยนกับชุมชนบนเกาะต่างๆ

มาลินอฟสกีได้บันทึกรายละเอียดของกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนแบบคูลาไว้อย่างมีชีวิตชีวาและเต็มไปด้วยประเด็นน่าสนใจ นอกจากแสดงให้เห็นว่าผู้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการแลกเปลี่ยนนี้ จะต้องเรียนรู้เวทย์มนตร์เพื่อใช้ในการเดินเรือและในระหว่างพิธีกรรมการแลกเปลี่ยนแล้ว ยังบรรยายให้เห็นว่าคูลาเป็นหัวข้อของบทสนทนาและการซุบซิบนินทาในระดับชีวิตประจำวัน เช่น ใครเป็นผู้ครอบครองวัตถุคูลาที่มีชื่อเสียง หรือผู้ครอบครองวัตถุคูลาคิดว่าตนควรจะมอบวัตถุแลกเปลี่ยนชิ้นใดให้กับคู่แลกเปลี่ยนคนไหน ฯลฯ

รายละเอียดเหล่านี้เผยให้เห็นนัยเชิงเปรียบเทียบระหว่างการแลกเปลี่ยนในวงแหวนคูลากับการแลกเปลี่ยนในระบบตลาด ในที่นี้ ผู้เขียนจะขอชวนคุยเกี่ยวกับงานศึกษาดังกล่าวผ่านแง่มุมเชิงมโนทัศน์ที่นอกเหนือไปจาก “การหน้าที่” ของการแลกเปลี่ยนของกำนัล ซึ่งหลายคนคงเคยผ่านตาจากตำรามานุษยวิทยาเบื้องต้นมาบ้างแล้ว  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นว่าด้วยนัยของการครอบครองและพันธะทางสังคม-เศรษฐกิจของคู่แลกเปลี่ยน

 

กำไลต้นแขนที่ทำจากเปลือกหอยขนาดใหญ่สีขาว (mwali)
กำไลต้นแขนที่ทำจากเปลือกหอยขนาดใหญ่สีขาว (mwali)

 

สร้อยคอที่ทำจากแผ่นเปลือกหอยสีแดง เจาะรูร้อยด้วยเชือกที่ประดับด้วยเปลือกหอยชิ้นเล็กๆ (soulava)
สร้อยคอที่ทำจากแผ่นเปลือกหอยสีแดง เจาะรูร้อยด้วยเชือกที่ประดับด้วยเปลือกหอยชิ้นเล็กๆ (soulava)

 

ชายสองคนสวมกำไลต้นแขน
ชายสองคนสวมกำไลต้นแขน

 

 

“เมื่อเข้าสู่คูลา ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของคูลาเสมอ”

 

มาลินอฟสกีแสดงให้เห็นว่าการแลกเปลี่ยนในวงแหวนคูลานั้นมีแบบแผนที่ซับซ้อน ถักร้อยเป็นเครือข่ายความสัมพันธ์อันกว้างไกล เชื่อมโยงสมาชิกจากหลากหลายชนเผ่ารวมกันแล้วหลายพันคน ซึ่งในหลายกรณีตั้งถิ่นฐานอยู่ห่างกันหลายร้อยไมล์ และประกอบด้วยทั้งคู่แลกเปลี่ยนที่สัมพันธ์กันโดยตรงและผ่านคู่แลกเปลี่ยนของอีกฝ่าย การแลกเปลี่ยนไม่เพียงแต่นำมาสู่การไหลเวียนของวัตถุคูลาอย่างสร้อยคอและกำไลต้นแขน แต่ยังก่อให้เกิดพันธะความสัมพันธ์ระหว่างคู่แลกเปลี่ยนแบบที่มาลินอฟสกีอธิบายว่า “เมื่อเข้าสู่คูลา ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของคูลาเสมอ” (“Once in the Kula, always in the Kula”) ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ สายสัมพันธ์ที่ดูเหมือนจะยืนยาวถาวรนี้ ดำรงอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่จำกัดทั้งขอบเขตของความสัมพันธ์และระยะเวลาในการครอบครองวัตถุคูลา ดังนี้

ประการแรก คู่แลกเปลี่ยนในวงแหวนคูลาถูกกำหนดด้วยเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์และทางสังคม นักเรียนมานุษยวิทยาส่วนใหญ่คงคุ้นตากับแผนภาพแสดงทิศทางการไหลเวียนของสร้อยคอในทิศทางตามเข็มนาฬิกาและกำไลต้นแขนในทิศทางทวนเข็มนาฬิกา หรืออาจจำคำอธิบายโดยคร่าวๆ ได้ว่า เมื่อคู่แลกเปลี่ยนยืนหันหน้าเข้าด้านในของวงแหวนการแลกเปลี่ยน เขาจะได้รับกำไลต้นแขนจากคู่แลกเปลี่ยนที่เดินทางมาจากฟากซ้าย และจะได้รับสร้อยคอจากคู่แลกเปลี่ยนที่มาจากฟากขวา โดยเขาจะต้องมอบวัตถุเหล่านี้กลับคืนให้กับคู่แลกเปลี่ยนในทิศทางตรงกันข้ามเท่านั้น

 

แผนภาพแสดงทิศทางการไหลเวียนของวัตถุแลกเปลี่ยนในวงแหวนคูลา
แผนภาพแสดงทิศทางการไหลเวียนของวัตถุแลกเปลี่ยนในวงแหวนคูลา

 

แผนภาพและคำอธิบายดังกล่าวอาจทำให้เราจินตนาการไปว่า วงแหวนคูลาคงจะเต็มไปด้วยการจับคู่แลกเปลี่ยนระหว่างชุมชนหรือระหว่างเกาะ ซึ่งต่างจากที่มาลินอฟสกีบันทึกรายละเอียดไว้ว่าสมาชิกคูลาคนหนึ่งๆ จะมีคู่แลกเปลี่ยนตั้งแต่ภายในหมู่บ้าน ระหว่างหมู่บ้านบนเกาะเดียวกัน และระหว่างชุมชนที่อาศัยอยู่บนเกาะต่างๆ อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ทุกคนในหมู่เกาะจะมีสิทธิ์ “อยู่ในคูลา” เนื่องจากจำนวนคู่แลกเปลี่ยนจะขึ้นอยู่กับระดับและสถานะทางสังคมของแต่ละคน คนทั่วไปอาจมีคู่แลกเปลี่ยนเพียงไม่กี่คน ในขณะที่ระดับหัวหน้ามีคู่แลกเปลี่ยนกว่าร้อยคน นอกจากนี้ พันธะต่อคู่แลกเปลี่ยนยังแตกต่างไปตามระยะห่างเชิงพื้นที่และสถานะทางสังคม สมาชิกหมู่บ้านมักมีคู่แลกเปลี่ยนที่เป็นญาติจากการแต่งงานหรือเพื่อนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกันประมาณ 2-3 คน และอาจมีคู่แลกเปลี่ยนระดับหัวหน้าหมู่บ้านหรือในชุมชนใกล้เคียงประมาณ 1-2 คน ซึ่งจะเป็นผู้ได้รับวัตถุคูลาที่พวกเขาเพิ่งได้รับมาจากคู่แลกเปลี่ยนอีกทอดหนึ่ง

 

ประการที่สอง ไม่มีผู้ใดสามารถครอบครองทั้งสร้อยคอและกำไลต้นแขนประหนึ่งเป็นสมบัติของตนเองตลอดไป แม้มาลินอฟสกีจะบันทึกว่ามีบางชุมชนที่มีชื่อเสีย(ง)ในการครอบครองวัตถุคูลาไว้ยาวนาน และอิดออดที่จะส่งผ่านวัตถุเหล่านั้นให้กับคู่แลกเปลี่ยน แต่โดยทั่วไปแล้ววัตถุคูลาจะอยู่ในแต่ละชุมชนเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง คือ ประมาณ 1-2 ปี ก่อนจะต้องส่งมอบให้คู่แลกเปลี่ยนต่อไป

ในแง่นี้ วัตถุคูลาจึงต่างจากมรดกตกทอดตามนิยามในโลกตะวันตก โดยเฉพาะโดยนิยามความเป็นเจ้าของ (ownership) มาลินอฟสกีเสนอว่าวัตถุคูลามีนัยใกล้เคียงกับถ้วยรางวัล (trophies) ที่ผู้รับมอบทั้งในระดับบุคคลและชุมชน จะมีความภาคภูมิใจว่าตนมีฐานะคู่ควรได้ครอบครองสิ่งมีค่านั้น แม้จะเพียงชั่วคราวก็ตาม และดังนั้น ปลายทางจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางครั้งใหม่ และการส่งผ่านวัตถุคูลาจึงไม่ใช่จุดสิ้นสุดแต่เป็นแกนกลางของการสืบสานความสัมพันธ์

นัยสำคัญดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นในธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับความตาย วัตถุคูลาเป็นหนึ่งในสิ่งมีค่าที่เหล่าญาติจะนำมาปลอบประโลมผู้ที่กำลังจะออกเดินทางครั้งสุดท้าย เช่น การนำวัตถุคูลามาลูบหน้าผาก วางแนบกับหน้าอก ถูที่หน้าท้องและกระดูกซี่โครง หรือนำวัตถุบางชิ้นมาแกว่งหน้าจมูกของผู้ที่กำลังจะจากไป โดยหวังว่าจะช่วยทุเลาความเจ็บปวดจากห้วงเวลาอันโหดร้ายนั้น รวมทั้งยังมีการมอบวัตถุคูลาเป็นกำลังใจให้กับพี่และน้องชายของผู้เสียชีวิตเป็นการชั่วคราว เนื่องจากเชื่อกันว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากที่สุด สุดท้ายแล้ว ผู้เสียชีวิตจะออกเดินทางโดยมีวัตถุคูลาของเขาเองวางอยู่บนร่าง และจะยังคงอยู่เช่นนั้นไปอีกระยะหนึ่งหลังจากชีวิตจบลง ก่อนที่จะได้รับการส่งผ่านกลับสู่วงแหวนคูลาต่อไป

การส่งผ่านวัตถุคูลาโดยเฉพาะระหว่างคู่แลกเปลี่ยนต่างเกาะมีนัยสำคัญ เพราะคู่แลกเปลี่ยนต่างถิ่นจะเป็นเจ้าบ้านที่ช่วยให้ผู้มาเยือนรู้สึกสะดวกสบายและปลอดภัย ในโลกของการเดินทางที่ต้องเผชิญกับอันตรายรูปแบบต่างๆ ทั้งภัยธรรมชาติและเวทย์มนตร์ของคนแปลกหน้า นอกจากนี้ การแลกเปลี่ยนในระดับนี้ยังมีนัยสำคัญในเชิงเศรษฐกิจและวัฒนธรรม จนอาจกล่าวได้ว่าคูลาเป็นสถาบันทางสังคม เพราะไม่ใช่มีเพียงการส่งต่อวัตถุคูลาไปถึงมือคู่แลกเปลี่ยนที่อยู่ห่างไกลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการแลกเปลี่ยนข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือนและของกำนัลย่อยๆ ตลอดจนการถ่ายทอดประเพณี บทเพลง รูปแบบทางศิลปะและวัฒนธรรมต่างๆ อีกด้วย

 

ภาพถ่ายจากการเดินทางมารับมอบวัตถุคูลาครั้งหนึ่ง ซึ่งมีเรือคู่แลกเปลี่ยนเดินทางมาในเรือแคนูกว่า 80 ลำ และมีผู้คนจากทั้งในและนอกชุมชนมารวมตัวกันกว่า 2,000 คน (Malinowski 1922)
ภาพถ่ายจากการเดินทางมารับมอบวัตถุคูลาครั้งหนึ่ง ซึ่งมีเรือคู่แลกเปลี่ยนเดินทางมาในเรือแคนูกว่า 80 ลำ และมีผู้คนจากทั้งในและนอกชุมชนมารวมตัวกันกว่า 2,000 คน (Malinowski 1922)

 

โยงใยของพันธะความสัมพันธ์

 

คูลาเป็นรูปแบบการแลกเปลี่ยนที่ต่างจากระบบบาร์เตอร์ (barter) ซึ่งเป็นการแลกสิ่งของต่อสิ่งของ ดังจะเห็นว่าชาวโทรเบรียนด์มักตำหนิผู้ที่แลกเปลี่ยนวัตถุในวงแหวนคูลาอย่างเร่งรัดและไม่เป็นไปตามขั้นตอนพิธีการว่าทำเหมือนแลกเปลี่ยนแบบ gimwali (คำที่ใช้เรียกการแลกเปลี่ยนบาร์เตอร์ในภาษาของชาวเกาะคีรีวานา) กระนั้นก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าคูลาเป็นรูปแบบของการแลกเปลี่ยนของกำนัลในแง่ที่ตรงข้ามกับการซื้อขายสินค้าดังเช่นนิยามในสังคมตะวันตก ซึ่งมักเชื่อมโยงของกำนัลกับคุณค่าทางจิตใจและสินค้ากับความแปลกแยกในระบบทุนนิยม เมื่อพิจารณาในระดับของกิจกรรมแลกเปลี่ยน มาลินอฟสกีชี้ให้เห็นว่ามีหลักการสำคัญ 2 ประการ ดังนี้

ประการแรก เนื่องจากวัตถุคูลามีช่วงชั้นของมูลค่า เช่น กำไลต้นแขนที่มีขนาดใหญ่พอสำหรับผู้ใหญ่จะมีมูลค่ามากเป็นพิเศษ หรือวัตถุคูลาบางชิ้นก็มีชื่อเสียงโด่งดังจนมีการตั้งชื่อเฉพาะและเป็นที่ต้องการของคู่แลกเปลี่ยนในหลายชุมชน แต่ขณะเดียวกันการแลกเปลี่ยนวัตถุคูลาก็ไม่อนุญาตให้มีการเจรจาต่อรองโดยตรง การรักษาสมดุลของการแลกเปลี่ยนจึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของพันธะความสัมพันธ์ระหว่างคู่แลกเปลี่ยน ซึ่งไม่ได้แสดงออกในรูปแบบของความผูกพันทางจิตใจ กล่าวคือ แม้ทุกคนจะสามารถเลือกได้ว่าจะมอบวัตถุคูลาชิ้นใดให้กับคู่แลกเปลี่ยนคนไหน แต่ต่างก็ต้องตระหนักถึงความคาดหวังว่าคู่แลกเปลี่ยนจะมอบวัตถุคูลาที่มีมูลค่าเท่าเทียมกันกลับคืน

มาลินอฟสกีบรรยายถึงการแลกเปลี่ยนครั้งหนึ่งไว้ว่า เมื่อชาวโทรเบรียนด์เดินทางมาถึงชายหาดหน้าหมู่บ้านที่เป็นคู่แลกเปลี่ยนของพวกเขา หลังจากจอดเทียบเรีอกับชายหาดและเสร็จสิ้นการร่ายเวทมนตร์ พวกเขาแยกย้ายไปจับกลุ่มนั่งเคี้ยวหมากและสนทนาตามบ้านของคู่แลกเปลี่ยน พร้อมกับเริ่มมอบของกำนัลเปิดทาง (เรียกว่า pari) ซึ่งอาจเป็นหวี เต้าปูน หรือไม้ป้ายปูน ให้กับคู่แลกเปลี่ยนของตน หลังจากนั้น พวกเขาจะเฝ้ารอจนกระทั่งเสียงเป่าหอยสังข์ดังเป็นสัญญาณว่าหัวหน้าหมู่บ้านได้เริ่มมอบวัตถุคูลาชิ้นแรก และเมื่อเสียงเป่าหอยสังข์ดังตามมาอีกหลายครั้ง จึงจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการแลกเปลี่ยนวัตถุคูลาอย่างเต็มรูปแบบ

ในระหว่างการแลกเปลี่ยนวัตถุคูลานั้น “ผู้รับ” จะพยายามใช้กลยุทธ์ต่างๆ เพื่อสร้างข้อผูกมัดหรือทำให้ผู้ครอบครองรู้สึกถึงพันธะในการมอบวัตถุคูลาตามที่ตนคาดหวัง โดยเฉพาะการเสนอมอบของกำนัลประเภทอื่นๆ ตั้งแต่กลุ่มที่ไม่มีค่ามากนัก (เรียกว่า pokala) อย่างกล้วย มันเทศ หรือเผือก หรือกลุ่มของมีค่า (เรียกว่า kaributu) เช่น ใบขวานหรือช้อนตักปูนที่ทำจากกระดูกวาฬ ซึ่งจะถูกกำกับด้วยกฎเกณฑ์การมอบคืนที่แตกต่างจากการแลกเปลี่ยนวัตถุคูลา

ในส่วนของ “ผู้ให้” มาลินอฟสกีชี้ให้เห็นว่ามีพันธะที่จะต้องแสดงออกถึง “ความใจกว้าง” (generosity) โดยการมอบวัตถุที่มีมูลค่าเท่าเทียมกับหรือมากกว่าที่เคยได้รับจากคู่แลกเปลี่ยน หรือในทางตรงกันข้าม ผู้ให้ที่รู้สึกว่าวัตถุคูลาในครอบครองของตน มีมูลค่าต่ำกว่าสิ่งที่เคยได้รับจากคู่แลกเปลี่ยน อาจตัดสินใจมอบสิ่งอื่นที่ไม่ใช่วัตถุคูลาให้ก่อน เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนมีพันธะที่จะมอบวัตถุที่มีค่าควรคู่กันให้กับคู่แลกเปลี่ยนในอนาคต

 

ประการที่สอง กระบวนการแลกเปลี่ยนวัตถุคูลาไม่ใช่การนำสิ่งของมาแลกเปลี่ยนในโอกาสเดียวกัน แต่จะเว้นช่วงระหว่างการมอบให้และการมอบกลับ เพื่อให้คู่แลกเปลี่ยนได้พิจารณาเทียบเคียงมูลค่าระหว่างวัตถุคูลาทั้งสองชิ้น ซึ่งอาจกินเวลาเป็นหลักนาที ชั่วโมง และในหลายๆ กรณีอาจใช้เวลาหนึ่งปีหรือมากกว่านั้น ส่งผลให้วัตถุคูลาชิ้นหนึ่งๆ อาจใช้เวลากว่า 2-10 ปีในการเดินทางจนครบหนึ่งรอบวงแหวน ดังนั้น กลไกการแลกเปลี่ยนแบบคูลาจึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของความน่าเชื่อถือซึ่งครอบคลุมทั้งความเชื่อมั่นในการรักษาพันธะที่มีต่อกัน และชื่อเสียงทางการค้าของคู่แลกเปลี่ยนว่าจะสามารถรักษาพันธะในการแลกเปลี่ยนของกำนัลประเภทอื่นๆ ตามที่ตกลงกันได้

ในมุมมองของ “ผู้รับ” กิจกรรมการแลกเปลี่ยนจึงอาจเปรียบเหมือนการเดินทางมา “เก็บหนี้” ตามพันธะที่ผู้รับคาดหวังว่าผู้ให้จะต้องปฏิบัติตามที่ตกลงกันไว้ มาลินอฟสกีได้เล่าถึงเหตุการณ์หนึ่งในการเดินทางครั้งเดียวกับที่อ้างถึงข้างต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวังและความผิดหวังของผู้รับ เมื่อหัวหน้าหมู่บ้านเล็กๆ บนเกาะทางทิศใต้ของโทรเบรียนด์ ได้สอบถามถึงหัวหน้าเผ่าจากอีกเกาะหนึ่งผ่านทางคู่แลกเปลี่ยนชาวโทรเบรียนด์ว่า ได้ส่งข่าวบ้างหรือไม่ว่าจะมอบกำไลต้นแขนให้ตนเมื่อใด เมื่อชาวโทรเบรียนด์ตอบได้เพียงว่าเท่าที่รู้ หัวหน้าเผ่าผู้นั้นไม่มีกำไลต้นแขนขนาดใหญ่อยู่ในครอบครอง หัวหน้าหมู่บ้านได้ระเบิดอารมณ์อย่างรุนแรง และประกาศว่าจะไม่แลกเปลี่ยนวัตถุคูลากับหัวหน้าเผ่าผู้นั้นอีก เพราะเป็นคนแล้งน้ำใจ ไม่รักษาสัญญาที่ว่าจะมอบกำไลต้นแขนกลับคืนให้กับตนมาเนิ่นนานแล้ว แถมยังไม่เคยส่งวัตถุแลกเปลี่ยนอื่นๆ ให้ตนตามที่เคยตกลงกันไว้อีกด้วย

ในระหว่างนั้นชาวโทรเบรียนด์ก็ได้แต่พยักเพยิดตาม พลางแสดงความเห็นที่ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องบ้างเป็นระยะ ก่อนที่จะบ่นบ้างว่าพวกตนก็ยังไม่ได้รับสาคูตามที่คาดหวังจากการมาเยือนครั้งนี้เช่นกัน…

การเดินทางของความสัมพันธ์และชีวิตทางสังคมของสิ่งของ

 

แบบแผนและพันธะผูกพันในการแลกเปลี่ยนในวงแหวนคูลา ได้เปลี่ยนสร้อยคอและกำไลต้นแขนให้เป็นของกำนัลที่เต็มไปด้วยเรื่องราว ตำนาน ความขลัง เวทมนตร์ ทั้งเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับพลังอำนาจของผู้ครอบครองวัตถุแต่ละคน และพันธะความสัมพันธ์ที่สั่งสมผ่านการไหลเวียนเปลี่ยนมือผู้ครอบครอง ข้อเสนอดังกล่าวของมาลินอฟสกีได้เปิดประเด็นอภิปรายถกเถียงว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและวัตถุ โดยเฉพาะในแถบเมลานีเชีย เช่น งานศึกษาของแอนเน็ตต์ ไวเนอร์ (Annette Weiner) ที่แสดงให้เห็นว่าแม้แต่วัตถุที่ถูกกันออกจากวงจรการแลกเปลี่ยน (inalienable possesions) อย่างข้าวของที่ส่งผ่านทางสมาชิกเพศหญิงของครัวเรือน ก็มีบทบาทในการหลอมรวมพันธะความสัมพันธ์และสั่งสมประวัติศาสตร์ของสายตระกูล และเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นบุคคลในสังคมที่สืบสายตระกูลข้างมารดา (Weiner 1992)

จากหมู่เกาะห่างไกลอย่างเมลานีเซีย ประเด็นอภิปรายเกี่ยวกับคูลาและแบบแผนการแลกเปลี่ยน ได้ถูกหยิบยกมาเป็นตัวอย่างสนับสนุนประเด็นนำเสนอว่าด้วยนัยสำคัญของ “วัตถุในการเคลื่อนไหว” (things-in-motion) ต่อแนววิธีศึกษาชีวิตทางสังคมของสิ่งของ (Appadurai 1986) ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเราไม่ควรจำกัดการทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ด้วยนิยามที่แบ่งแยกตายตัวระหว่างของกำนัลกับสินค้า วัตถุที่ไหลเวียนอยู่ในวัฒนธรรมการบริโภคล้วนมีชีวิตทางสังคมซึ่งเป็นการเดินทางข้ามระบบคุณค่า จึงมีทั้งช่วงชีวิตที่เป็นสินค้าในระบบตลาด เป็นของขวัญ หรือเป็นวัตถุสะสมที่ดูเหมือนจะอยู่นอกวงจรการแลกเปลี่ยน หรืออาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่าในระบบเศรษฐกิจแบบตลาด การซื้อขายสินค้าไม่ใช่จุดสิ้นสุดแต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่เครือข่ายความสัมพันธ์ ที่โยงใยชีวิตของผู้คนและสิ่งต่างๆ อย่างยากจะแยกขาดจากกัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save