fbpx
การเมืองของทางเลือกและน้ำยาของฝ่ายก้าวหน้า: บทวิเคราะห์การเลือกตั้งในเยอรมัน

การเมืองของทางเลือกและน้ำยาของฝ่ายก้าวหน้า: บทวิเคราะห์การเลือกตั้งในเยอรมัน

จันจิรา สมบัติพูนศิริ เรื่อง

 

ช่วงสองปีมานี้ ทุกครั้งที่คุยกับเพื่อนนักวิชาการเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในบ้านเราและในโลก มีอันต้องบ่นกันเรื่องอนาคตอันกระง่อนกระแง่นของประชาธิปไตย สำหรับคนยุค ’90 อย่างข้าพเจ้า เวลานั่งดูประชาธิปไตยค่อยๆ ถูกสั่นคลอนในหลายประเทศ (โดยเฉพาะในประเทศไทย) เหมือนกำลังเป็นประจักษ์พยานแก่ภัยธรรมชาติที่ถล่มตึกสูงให้ล้มครืนลงมาทีละตึก … ทีละตึก

ยุค ’90 ไม่ได้เป็นเพียงยุคของ Britney Spears และ Backstreet Boys เท่านั้น แต่ยังเป็นยุครุ่งโรจน์ของเสรีนิยมประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชนสากล ความร่วมมือระหว่างประเทศ และโลกาภิวัตน์ทางการค้า นักวิชาการและผู้กำหนดนโยบายเชื่อกันจริงๆ ว่าเรามาถึงจุดสูงสุดของประวัติศาสตร์ และประชาธิปไตยคือนิรันดร์ เสรีนิยมประชาธิปไตยกลายเป็นทางเลือกเดียวของโลก ไม่มีอะไรดีกว่านี้ได้

ชาวพุทธและนักทฤษฎีโพโม (postmodern – หลังสมัยใหม่) รู้กันดีว่าไม่มีอะไรจีรัง รัฐประหารเกิดขึ้นในไทยปี 2549 วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2551 วิกฤตเงินยูโรตามมาติดๆ พรรคฝ่ายขวาในยุโรปได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา รัฐประหารในไทยเวียนมาบรรจบอีกครั้งในปี 2557 อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปปี 2559 ตามติดมาด้วยชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ในสหรัฐฯ

ขณะที่ชาวโลกโล่งใจว่าฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์รอดเงื้อมมือพรรคขวาประชานิยมมาได้ในการเลือกตั้งเมื่อต้นปีนี้ แต่ล่าสุดเราก็อึ้งกันอีกครั้ง เมื่อพรรคขวาประชานิยมอย่าง “พรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี” (Alternative for Germany – AfD) ได้คะแนนเสียงเกือบ 3 ล้านเสียง คิดเป็นร้อยละ 13.5 สูงกว่าคะแนนเสียงในการเลือกตั้งปี 2556 อย่างมาก ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (พูดอีกอย่างได้ว่า “หลังฮิตเลอร์”) ที่พรรคอุดมการณ์ฝ่ายขวา สนับสนุนนโยบายชาตินิยมและกีดกันผู้อพยพ มีที่นั่งในสภาเยอรมัน

ไม่เพียงเท่านั้น พรรคร่วมรัฐบาลเดิมสองพรรคใหญ่ ได้แก่ พรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (Christian Democratic Union – CDU) และพรรคประชาธิปไตยสังคม (Social Democratic Party – SDP) ได้คะแนนลดลงจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ฉะนั้นแม้ว่าทั้งสองพรรคยังครองคะแนนเสียงมากที่สุด คือ พรรค CDU ได้ร้อยละ 33 ส่วน SDP ได้เพียงร้อยละ 20 แต่พรรคขวาประชานิยม AfD ได้คะแนนเสียงมากเป็นอันดับสาม

หากสูตรพรรคร่วมรัฐบาลยังคงเหมือนเดิม คือ CDU+SDP เป็นไปได้ว่าพรรค AfD จะเป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งมีอำนาจผลักดันวาระทางการเมืองแบบขวาๆ มากขึ้น (ขณะนี้พรรค CDU ยังเจรจากับพรรคต่างๆ ที่จะมาร่วมรัฐบาลอยู่ เป็นไปได้ว่าพรรค SDP จะอยากเป็นฝ่ายค้านมากกว่าเฉาตายในรัฐบาล)

 

สัดส่วนที่นั่งในสภาเยอรมันรวมทั้งสิ้น 709 ที่นั่ง แบ่งตามพรรคการเมือง สีดำคือพรรค CDU สีแดงคือพรรค SDP สีชมพูคือพรรคฝ่ายซ้าย สีเขียวคือพรรคสิ่งแวดล้อม สีเหลืองคือพรรคเสรีประชาธิปไตย และสีฟ้าคือพรรค AfD | ภาพจาก BBC

 

พรรค AfD มีอายุไม่ถึงห้าปี แต่ได้รับความนิยมรุดหน้า เพราะต่อต้านนโยบายรับผู้อพยพของนายกรัฐมนตรีหญิง อังเกลา แมร์เคิล พรรค AfD จึงมีวาทะทางการเมือง (political rhetoric) คล้ายกับพรรคฝ่ายขวายุโรปที่อื่น รวมถึงผู้สนับสนุนทรัมป์ในมิตินี้

ในแวดวงสื่อโลก ชุมชนวิชาการ และผองเพื่อนของข้าพเจ้า ยังเถียงกันอยู่ว่าผู้สนับสนุนพรรคขวาประชานิยมเป็นพวกฝ่ายขวาด้วยหรือไม่ คือเห็นเชื้อชาติตัวเองเหนือคนอื่น (racism) กลัวคนวัฒนธรรมอื่น (xenophobia) และในหลายกรณี เหยียดเพศ (sexism/misogyny) ฝ่ายที่ปกป้องแนวคิดเสรีนิยมว่าด้วยการเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรมเชื่อว่า คนเลือกพรรคฝ่ายขวา เพราะเห็นพ้องกับอุดมการณ์ขวาๆ จึงถือว่า “หันขวา” สำนักข่าวอย่าง Vox หรือ The New York Times ในสหรัฐฯ มักแสดงความเห็นในทำนองนี้ต่อผู้สนับสนุนทรัมป์เสมอ

กระนั้นก็ดี ที่มาของพรรค AfD และสถิติการเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้เราตั้งคำถามกับตรรกะที่ว่า “คนเลือกพรรคฝ่ายขวาเพราะหันขวา”

พรรค AfD ตั้งโดยนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มหนึ่ง ซึ่งต่อต้านนโยบายของสหภาพยุโรปในการช่วยเหลือประเทศในยุโรปใต้ให้พ้นจากปัญหาหนี้ในช่วงวิกฤตค่าเงินยูโร โดยเห็นว่านโยบายนี้เบียดบังเงินภาษีของชาวเยอรมัน ทั้งยังเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสหภาพยุโรป

การชูประเด็นดังกล่าวทำให้พรรค AfD มีจุดยืนต่างจากพรรคร่วมรัฐบาลอย่างชัดเจน และได้รับการสนับสนุนจากชาวเยอรมัน โดยเฉพาะในฝั่งตะวันออกที่มีฐานะยากจนกว่าฝั่งตะวันตก จนได้รับคะแนนกว่าร้อยละ 4 ในปี 2556

จุดเปลี่ยนของพรรคที่สำคัญ คือ นโยบายของรัฐบาลในปี 2558 ซึ่งรับผู้ลี้ภัยจากซีเรียมาพำนักในประเทศ ในช่วงแรกท่าทีของชาวเยอรมันโดยเฉพาะในฝั่งตะวันตกตอบรับกับนโยบายนี้ มีผู้คนออกมายืนต้อนรับผู้อพยพและอาสาสมัครให้ความช่วยเหลือไม่ขาดสาย แต่แล้วกระแสต้อนรับกลับพลิกผัน ภายหลังเกิดเหตุโจมตีในฝรั่งเศสและเบลเยี่ยม รวมถึงเหตุก่อการร้ายในเยอรมนีตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ชาวเยอรมันเริ่มตั้งคำถามต่อนโยบายเปิดรับผู้อพยพ พรรค AfD ถือโอกาสเปลี่ยนประเด็นหลักของพรรคจากโจมตีรัฐบาลเรื่องนโยบายเศรษฐกิจเป็นเรื่องผู้ลี้ภัยแทน จนขยายฐานเสียงได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรค CDU

ครั้งหนึ่ง อังเกลลา แมร์เคิล เคยกล่าวว่าไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากรับผู้อพยพซึ่งเผชิญสงครามอันโหดร้าย ถือเป็นภาระทางศีลธรรมของชาวเยอรมัน พรรค AfD โต้กลับว่าพวกเขาคือทางเลือกสำหรับชาวเยอรมันที่หวั่นใจว่าผู้อพยพชาวมุสลิมจะสั่นคลอนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของพวกตน ตลอดจนเป็นภัยคุกคามความมั่นคง

ข้าพเจ้าเห็นว่าคำอธิบายว่า “ผู้สนับสนุนพรรคฝ่ายขวาหันขวา” ไม่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจปรากฏการณ์อันซับซ้อนนี้ พรรคฝ่ายขวาได้คะแนนนิยมส่วนหนึ่งก็ผลมาจาก “การเมืองของทางเลือก”

กล่าวคือ พรรคฝ่ายขวาในยุโรป รวมถึงทรัมป์ และพรรค UKIP ในอังกฤษที่นำชัยให้แคมเปญ Brexit ล้วนแต่อ้างว่าตนคือ “ทางเลือก” ของประชาชน

คำถามคือ “ทางเลือกจากอะไร?”

เป็นไปได้หรือไม่ว่าผู้สนับสนุนพรรคฝ่ายขวาไม่พอใจกับนโยบายหลายประการของรัฐบาลและพรรคการเมืองกระแสหลัก ไม่ว่าจะเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจ ความมั่นคง การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี รวมถึง กระแสโลกาภิวัตน์ทางวัฒนธรรม ซึ่งส่งผลให้คนจำนวนมากรู้สึกถูกคุกคามโดยวัฒนธรรมของ “คนนอก” และโหยหาสังคมแบบเก่าซึ่งคงคุณค่าและธรรมเนียมดั้งเดิมไว้ ประเด็นนี้เชื่อมโยงกับ “ความกลัว” ของผู้สนับสนุนพรรคฝ่ายขวาต่อคลื่นผู้อพยพ

ท่ามกลางกระแสเสียงความไม่พอใจ ดูเหมือนระบบพรรคการเมืองแบบเดิมไม่อำนวยให้ผู้คนได้แสดงความอัดอั้นเหล่านี้ คนที่แสดงความหวั่นกลัวต่อคลื่นผู้อพยพอาจถูกกล่าวหาว่าเหยียดเชื้อชาติสีผิวได้ง่ายๆ หรือหากท้าทายนโยบายเศรษฐกิจกระแสหลักซึ่งสร้างความเหลื่อมล้ำอย่างมหาศาลก็อาจถูกหาว่าพูดจาไม่มีเหตุผล ไม่อยู่บนฐานความรู้ก็เป็นได้ ขณะเดียวกัน พรรคการเมืองที่เคยเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนอย่างพรรคประชาธิปไตยสังคม ก็ถูกพรรคขวากลาง (เช่น CDU) ผสมกลมกลืนจนแยกไม่ออกว่าพรรคซ้ายกลางกับขวากลางมีนโยบายแตกต่างกันอย่างไร ส่วนพรรคฝ่ายซ้ายแบบดั้งเดิม (เช่น พรรค Die Linke ในเยอรมนี) ก็หลีกเลี่ยงไม่พูดถึงการเมืองอัตลักษณ์ หรือความหวั่นกลัวต่อกระแสผู้ลี้ภัย ในแง่นี้ เมื่อหันซ้ายไม่เจอทางเลือก มองตรงกลางก็หงุดหงิด หันขวาซะดีกว่า เพราะเจอคนพูดโดนใจ

ด้วยเหตุนี้ พรรคขวาประชานิยมในโลกตะวันตกจึงดึงดูดคะแนนเสียงจากผู้ที่หมดหวังกับพรรคกระแสหลัก หรือนักการเมืองในระบบ (ซึ่งมักถูกเรียกว่าเป็น “ชนชั้นนำ” หรือ “establishment”) แน่นอนว่าคนจำนวนหนึ่งเห็นด้วยกับนโยบายชาตินิยมของพรรคเหล่านี้ แต่ก็มีอีกหลายคนที่เลือกหันขวาเพียงเพราะอยากประท้วงพรรคการเมืองอื่นๆ ที่บอกว่าตนไม่มีทางเลือก

ลักษณะเช่นนี้สอดคล้องกับสถิติการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในเยอรมนีครั้งล่าสุด ที่พบว่าผู้คนราวร้อยละ 60 ลงคะแนนเสียงให้พรรค AfD เพราะไม่เห็นด้วยกับพรรคอื่น ขณะที่ร้อยละ 30 เลือกพรรคนี้เพราะเห็นด้วยกับอุดมการณ์ของพรรค ขณะเดียวกัน ประชาชนเพียงร้อยละ 12 พอใจกับการทำงานของแกนนำพรรคอย่าง Alice Wiedel และ Alexander Gauland

กล่าวเช่นนี้ได้หรือไม่ว่า กระแส(เชื้อ)ชาตินิยมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อปรากฏการณ์ “ขาขึ้น” ของพรรคขวาประชานิยม ทว่าความรู้สึกว่าไม่มีทางเลือกอื่น ระบบการเมืองและเศรษฐกิจแบบเดิมไม่ตอบโจทย์ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งเสริมฐานเสียงของฝ่ายขวา

อนุสติเช่นนี้อาจเป็นประโยชน์กับฝ่ายก้าวหน้า เพราะจะได้ไม่โทษแต่ฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นพลังชั่วร้าย หรือโทษผู้สนับสนุนพรรคฝ่ายขวาว่าเป็นมารไปด้วย แต่ต้องหันกลับมาพิจารณาตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้นกับยุทธศาสตร์การเมืองของฝ่ายก้าวหน้า เหตุใดผู้คนจึงไม่เห็นตนเป็นทางเลือก และจะทำอย่างไรเพื่อเปลี่ยนชะตากรรมนี้

จากเยอรมันถึงไทย ข้าพเจ้าเห็นว่าการทบทวนตนเองเช่นนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับฝ่ายก้าวหน้าที่พยายามต่อสู้กับรัฐบาลทหารมาหลายปี และเตรียมพร้อมกับการเลือกตั้งในปีหน้า (สาธุ) ภายใต้ระบบเลือกตั้งใหม่ที่ท้าทายกว่าเดิม

 

อ้างอิง

David Child, “Who are Germany’s far-right AfD?,” Al Jazeera

Cas Mudde, “What the stunning success of AfD means for Germany and Europe,” The Guardian, 24 กันยายน 2560

Jon Henley, “German elections 2017: Angela Merkel wins fourth term but AfD makes gains – as it happened,” The Guardian, 24 กันยายน 2560

Patrick McClanahan, “No Alternatives for Merkel,” Harvard Politics Review, 17 ตุลาคม 2559

Paul Hockenos, “East Germans and the far-right AfD,” International Politics and Society

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save