ภูมิศาสตร์การเมืองโลก (Geopolitics): อีกหนึ่งความเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้าม

ภูมิศาสตร์การเมืองโลก (Geopolitics): อีกหนึ่งความเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้าม

พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม เรื่อง

 

การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางการเมืองโลกในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้รับความสนใจไม่น้อยในหมู่นักวิเคราะห์การเมืองและเศรษฐกิจ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นตัวแปรความไม่แน่นอนที่ยากจะคาดเดาและสามารถส่งผลต่อทิศทางแนวโน้มนโยบายและภาวะเศรษฐกิจในอนาคตได้

ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ บทความ ‘Political shocks reorient markets’ ในรายงานประจำปีของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements หรือ BIS ซึ่งมักถูกขนานนามว่า “ธนาคารของธนาคารกลาง”) ฉบับล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2560 ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังดูดีและสดใสนั้น ตลาดการเงินกำลังหันเหความสนใจออกจากนโยบายการเงินที่ได้รับความสำคัญมาโดยตลอดนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจโลก มาสู่ปัจจัยทางด้านการเมือง

งานศึกษาชิ้นนี้ได้หยิบยกหลักฐานต่างๆ ที่บ่งชี้ถึงความสำคัญของภูมิศาสตร์การเมืองโลกในฐานะความเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้าม

รูปที่ 1 แสดงการเปลี่ยนแปลงของผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรรัฐบาลของประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ข้อมูลชี้ว่าตลาดดูจะตอบสนองเป็นอย่างมากต่อเหตุการณ์ทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นผลโหวตออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส ขณะที่การตอบสนองต่อข่าวการแถลงผลการประชุมนโยบายการเงินดูจะลดน้อยถอยลงโดยเปรียบเทียบ

 

รูปที่ 1: การเปลี่ยนแปลงของผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรรัฐบาล (Event study) ของการประกาศผลการตัดสินใจนโยบายการเงินและเหตุการณ์ทางการเมือง (เวลา = 0 คือวันที่มีเหตุการณ์นั้นๆ เกิดขึ้น)

ที่มา: Bank for International Settlements, Annual Report, หน้า 32

 

นอกจากนี้ ทิศทางดังกล่าวยังสอดคล้องกับสุนทรพจน์เมื่อกลางปี 2559 ของ Mark Carney ผู้ว่าการธนาคารแห่งสหราชอาณาจักร ภายหลังจากที่รู้ผลการลงประชามติออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) แล้ว ในขณะนั้น สุนทรพจน์นี้ถูกจับตามองอย่างมากจากตลาดการเงิน เนื่องจากต้องการจะทราบว่าผู้ว่าการธนาคารกลางจะออกมาพูดถึงผลลัพธ์ที่ผิดจากการคาดการณ์ของคนส่วนใหญ่นี้อย่างไร

Mark Carney ได้เน้นถึงภาพรวมของความไม่แน่นอนที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศอังกฤษใน 3 รูปแบบ คือ หนึ่ง ความไม่แน่นอนจากโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ (Economic uncertainty) สอง ความไม่แน่นอนจากนโยบายเศรษฐกิจ (Economic policy uncertainty) (ดังที่ผู้เขียนได้เคยกล่าวถึงมาแล้วในบทความ เศรษฐศาสตร์ว่าด้วย “ความไม่แน่นอน”) และ สาม ความไม่แน่นอนจากภูมิศาสตร์การเมืองโลก (Geopolitical uncertainty)

Carney ชี้ให้เห็นว่า แนวโน้มของความไม่แน่นอนทั้งสามรูปแบบนี้ดูจะมีทิศทางเพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2551 เป็นต้นมา ในกรณีของ Brexit ความไม่แน่นอนด้านนโยบายเศรษฐกิจได้พุ่งสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ขณะที่ผลการลงประชามติยังมิได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อโครงสร้างระบบเศรษฐกิจในขณะนั้นเลย นอกจากนี้ปัจจัยทางการเมืองสามารถส่งผลต่อความไม่แน่นอนได้ ทั้งด้านนโยบายเศรษฐกิจและด้านนโยบายการเมืองระหว่างประเทศ

 

จับตาภูมิศาสตร์การเมืองโลก: จากอดีตสู่ปัจจุบัน

ความไม่แน่นอนทางภูมิศาสตร์การเมืองโลกนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ในหลากหลายรูปแบบ นอกจากเหตุการณ์การก่อการร้ายข้ามชาติแล้ว ยังมีความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ หรือความรุนแรงในขั้นทำสงคราม

ตัวอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้คือ ปัญหาความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกาและเกาหลีเหนือ จากคำประกาศของเกาหลีเหนือที่จะยิงขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีปไปตกยังทะเลใกล้เกาะกวม รวมถึงคำขู่ของประธานาธิบดี Donald Trump ด้วยวลีรุนแรงว่าผู้นำเกาหลีเหนืออาจเผชิญกับ “ไฟและความเดือดดาลอย่างที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน” (“fire and fury like the world has never seen”) คำพูดนี้ทำให้เกิดความกังวลเป็นวงกว้าง รวมถึงตลาดการเงินที่ตอบสนองในเชิงลบโดยทันที

คงไม่มีใครทราบว่าปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวนี้จะคลี่คลายไปในรูปแบบใด เพราะในหลายครั้ง คำขู่ (threat) ก็ไม่ได้นำไปสู่การกระทำ (act) แต่อย่างไรก็ตาม เราอาจพอที่จะเรียนรู้จากเหตุการณ์อื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตได้ว่า ภูมิศาสตร์การเมืองโลกมีพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรจากอดีตถึงปัจจุบัน และพอจะศึกษาผลกระทบของความเสี่ยงนี้ต่อเศรษฐกิจได้ จากการใช้ข้อมูลในอดีตผ่านเครื่องมือวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์

รูปที่ 2 แสดงประมาณการของระดับความเสี่ยงทางด้านภูมิศาสตร์การเมืองโลกและเหตุการณ์สำคัญในรอบ 100 กว่าปีที่ผ่านมา จะเห็นว่า ‘การปะทุขึ้น’ (spikes) ­ของความตึงเครียดทางภูมิศาสตร์การเมืองโลกนั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยมีระดับความรุนแรงของเหตุการณ์แตกต่างกัน ความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นมากที่สุดเท่าที่โลกเคยประสบก็คงจะหนีไม่พ้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสงครามโลกครั้งที่สอง

หากลงรายละเอียดของเหตุการณ์ในช่วงประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา คือตั้งแต่ปี ค.ศ. 1985 จนถึงปี ค.ศ. 2016 (ดังที่แสดงในรูปที่ 3) จะเห็นได้ว่า นับตั้งแต่การก่อการร้ายในสหรัฐอเมริกาในวันที่ 11 กันยายน ปี ค.ศ. 2001 หรือเหตุการณ์ 9/11 ความตึงเครียดที่สำคัญๆ ของภูมิศาสตร์การเมืองดูเหมือนจะเกิดบ่อยครั้งมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับช่วง 15 ปีก่อนหน้า

 

รูปที่ 2: The Historical Geographical Risk Index ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1900

ที่มา: Caldara and Iacoviello (2017)

รูปที่ 3: ความเสี่ยงทางด้านภูมิศาสตร์การเมืองในช่วงปี ค.ศ. 1985 ถึงปี ค.ศ. 2015

ที่มา: Caldara and Iacoviello (2017)

 

ดัชนีวัดระดับความเสี่ยงของภูมิศาสตร์การเมืองโลกดังที่ได้กล่าวมานี้ มาจากงานวิจัยของ Dario Caldara และ Matteo Iacoviello (นักเศรษฐศาสตร์แห่ง U.S. Federal Reserve) ที่ได้ปรับปรุงล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2017 โดย Caldara and Iacoviello ทำการวัดระดับความเสี่ยงเหล่านี้จากการค้นหาคำที่เกี่ยวข้อง (keywords) ที่สามารถคลอบคลุมเหตุการณ์ด้านภูมิศาสตร์การเมืองโดยเฉพาะ และนับจำนวนความถี่ของบทความจากหนังสือพิมพ์สำคัญๆ จำนวนกว่า 10 ฉบับ เพื่อมาคำนวณเป็นดัชนีชี้วัด (News-based index)

ดัชนีที่เสนอมานั้นมีข้อดีเมื่อเทียบกับแหล่งอื่นๆ โดยเฉพาะการวัดออกมาเป็นเชิงปริมาณซึ่งนักเศรษฐศาสตร์สามารถวิเคราะห์ต่อได้ (quantitative) และมีความถี่สูงในระดับรายเดือนทำให้ติดตามได้ทันกาล (real-time) แต่ก็มีข้อเสียคือการวัดความถี่ของเหตุการณ์ผ่านการนับจำนวนบทความจากหน้าหนังสือพิมพ์ (press coverage) อาจแสดงความผันผวนมากเกินไป ทั้งๆ ที่เป็นไปได้ว่าความตึงเครียดหรือความเสี่ยงของเหตุการณ์นั้นๆ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก

นอกเหนือจากดัชนีวัดระดับความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์การเมืองโลกแล้ว Caldara and Iacoviello ได้ประมาณการผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจ ซึ่งค้นพบว่า การปะทุเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์การเมืองส่งผลกระทบทางลบในภาพรวมอย่างมีนัยสำคัญต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งภาคเศรษฐกิจจริงและผลตอบแทนในตลาดการเงิน

เมื่อเป็นดังนี้แล้ว ผู้ที่ไม่ได้เชี่ยวชาญด้านภูมิศาสตร์การเมือง รวมถึงผู้เขียนบทความนี้ คงจะเริ่มหาหนังสือความรู้เบื้องต้นเพื่อทำความเข้าใจเรื่องภูมิศาสตร์การเมืองให้มากขึ้น เพราะ “เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องรู้ภูมิรัฐศาสตร์”

สุดท้าย ผู้เขียนขอแนะนำหนังสือ ภูมิรัฐศาสตร์: ความรู้ฉบับพกพา ของ Klaus Dodds ที่แปลเป็นภาษาไทยโดย จิตติภัทร พูนขำ (สำนักพิมพ์ openworlds, เมษายน 2560) ให้อ่านกันครับ

 

อ้างอิง

Bank for International Settlements (2017). “Political shock reorient markets”. BIS 87th Annual Report.

Carney, Mark (2016). “Uncertainty, the economy and policy”. Speech (30 June 2016).

Caldara, Dario and Matteo Iacoviello, “Measuring Geopolitical Risk“. Working paper, Board of Governors of the Federal Reserve Board, 2017 (version: 11 July 2017).

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save