fbpx

เอเชียใต้ที่เปลี่ยนไป ในวันที่อัฟกานิสถานเปลี่ยนแปลง

เป็นเวลากว่าหนึ่งเดือนแล้วที่ตาลีบันสามารถยึดครองอัฟกานิสถานได้สำเร็จ และเมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาอัฟกานิสถานได้จัดตั้งรัฐบาลรักษาการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนของตาลีบัน ดูจะขัดกับความคาดหวังของนานาชาติที่ต้องการให้รัฐบาลมาจากหลายกลุ่มการเมืองและชาติพันธุ์ แต่หลังจากอัฟกานิสถานมีรัฐบาลรักษาการไม่นาน ก็เริ่มมีการเจรจาเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ และเรียกร้องให้นานาชาติส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมหลังเผชิญวิกฤตอย่างหนัก

หนึ่งในประเทศที่ยื่นมือเข้าไปช่วยอัฟกานิสถานคือจีน ซึ่งมีบทบาทและพูดคุยกับกลุ่มตาลีบันมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพูดคุยครั้งหลังสุดที่จัดขึ้นก่อนตาลีบันยึดกรุงคาบูลไม่กี่สัปดาห์ที่เมืองเทียนจิน ประเทศจีน ที่น่าสนใจกว่านั้น จีนเป็นไม่กี่ประเทศที่ยังคงภารกิจทางการทูตในอัฟกานิสถาน และผู้นำของตาลีบันหลายคนได้เดินทางมาพบและพูดคุยกับทูตจีนประจำอัฟกานิสถานอย่างเปิดเผย

ส่วนคำถามที่ว่าทำไมจีนยังสนใจอัฟกานิสถานนั้น บทความ‘”การลงทุนมีความเสี่ยง” เหตุไฉน จีนถึงกล้าลงทุนในอัฟกานิสถาน?’ ได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนแล้ว ฉะนั้นจึงอยากชวนท่านผู้อ่านพิจารณาประเด็นสถานภาพของอินเดียที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการขึ้นมามีอำนาจของตาลีบัน และที่สำคัญกว่านั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในอัฟกานิสถานส่งผลให้สมดุลในเอเชียใต้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากด้วย

อัฟกานิสถานในฐานะจุดเชื่อมของภูมิภาคเอเชีย

เป็นที่ถกเถียงกันอยู่มากว่า สรุปแล้วอัฟกานิสถานจัดอยู่ในภูมิภาคใดของทวีปเอเชียกันแน่ บ้างก็ว่าเอเชียกลาง บ้างก็ว่าเอเชียใน แต่ในบทความชิ้นนี้จะจัดอัฟกานิสถานเป็นส่วนหนึ่งของเอเชียใต้ เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นอาจเพราะอัฟกานิสถานเป็นส่วนหนึ่งของ‘สมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคเอเชียใต้ (South Asian Association for Regional Cooperation: SAARC)ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าการจัดอัฟกานิสถานอยู่ในภูมิภาคอื่นๆ จะเป็นเรื่องผิดอันใด เพราะขึ้นอยู่กับว่าจะพิจารณาจากมิติด้านใด

ที่สำคัญไปกว่านั้น ความสับสนในการจัดตำแหน่งแห่งที่ของอัฟกานิสถานในภูมิภาคเอเชียถือเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างน่าสนใจว่า ประเทศนี้มีความสำคัญอย่างมากต่อภูมิภาค โดยเฉพาะการเป็นจุดเชื่อมระหว่างเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันตกหรือตะวันออกกลาง เอเชียกลาง ยูเรเชีย และเอเชียใต้ ความพิเศษในเชิงภูมิศาสตร์ส่งผลให้อัฟกานิสถานมีความสำคัญอย่างมากต่อภูมิรัฐศาสตร์และภูมิศาสตร์เศรษฐกิจของเอเชีย

มีบันทึกทางประวัติศาสตร์หลายชิ้นที่ระบุว่าดินแดนแห่งนี้มีความสำคัญอย่างมากต่อเส้นทางการค้าสายไหมของจีน ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นพื้นที่การปะทะกันทางอารยธรรมของอินเดีย จีน และเอเชียตะวันตกอีกด้วย ในขณะที่ปัญหาการก่อการร้ายที่เริ่มก่อตัวอย่างเป็นรูปร่างในช่วงปี 2001 ส่งผลให้ดินแดนแห่งนี้ถูกจับตามองอีกครั้ง โดยเฉพาะการเข้ามาของสหรัฐอเมริกา ตลอดเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา การคงอยู่ของสหรัฐอเมริกามีส่วนช่วยให้ดินแดนแห่งนี้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นและยังส่งผลต่อภาพรวมของภูมิรัฐศาสตร์เอเชียด้วย

ลักษณะภูมิรัฐศาสตร์ดังกล่าวเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันหลังการกลับมามีอำนาจของตาลีบัน และการถอนทหารของสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรที่สิ้นสุดลงไปเมื่อสิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นำมาซึ่งสภาพสูญญากาศทางความมั่นคงในอัฟกานิสถาน แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์ของเอเชียด้วย โดยเฉพาะในเอเชียใต้ซึ่งถือว่าอินเดียมีบทบาทอย่างมากในภูมิภาคมาโดยตลอด แม้จะเผชิญการท้าทายจากปากีสถานอยู่บ่อยครั้ง แต่อินเดียยังคงสถานะนำภายในภูมิภาคไว้ได้

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้จึงนำมาซึ่งคำถามว่า การขึ้นมามีอำนาจของตาลีบันจะส่งผลอย่างไรบ้างต่อภูมิรัฐศาสตร์ของเอเชียใต้ในฐานะที่อัฟกานิสถานเคยเป็นพันธมิตรที่สำคัญของอินเดียในการลดทอนอิทธิพลของปากีสถาน แต่ดูเหมือนทุกอย่างจะเปลี่ยนไปหมดเมื่อตาลีบันขึ้นมามีอำนาจ เพราะนอกจากตาลีบันจะใกล้ชิดกับปากีสถานแล้ว ดูเหมือนว่ารัฐบาลชุดใหม่ยังคาดหวังให้จีนเข้ามามีบทบาทภายในประเทศมากยิ่งขึ้น ซึ่งกระทบโดยตรงต่อผลประโยชน์ของอินเดียในภูมิภาคแห่งนี้ เพราะก่อนหน้านี้จีนก็ขยายอิทธิพลของตัวเองเข้ามาในเอเชียใต้อย่างต่อเนื่อง

สถานะที่ไม่มั่นคงของอินเดียกับอิทธิพลจีนที่เพิ่มขึ้นในอัฟกานิสถาน

ดังที่เขียนไว้ข้างต้นว่าความเปลี่ยนแปลงในอัฟกานิสถานครั้งนี้ส่งผลอย่างมากต่ออินเดีย เพราะอินเดียลงทุนและให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมประเทศแห่งนี้มาอย่างต่อเนื่อง จนเรียกได้ว่าโครงการพัฒนาของอินเดียในอัฟกานิสถานนั้นครอบคลุมทุกจังหวัดของประเทศ และคิดเป็นเงินลงทุนมากถึง 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เหตุผลที่อินเดียลงเงินจำนวนมากไปกับอัฟกานิสถานมาจาก 2-3 ปัจจัยสำคัญ

ประการแรก หากมองมิติในด้านการก่อการร้ายและความมั่นคงของอินเดีย สายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างอินเดียและรัฐบาลอัฟกานิสถานก่อนหน้านี้ช่วยลดอิทธิพลของกลุ่มตาลีบันที่มีต่อกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในแคชเมียร์ ซึ่งอินเดียเชื่อเสมอมาว่าตาลีบันมีแนวคิดให้ความช่วยเหลือกลุ่มดังกล่าวเพื่อปลดปล่อยแคชเมียร์ให้เป็นเอกราช

ในอีกด้านหนึ่ง อินเดียมียุทธศาสตร์ต้องการเชื่อมโยงเศรษฐกิจของเอเชียใต้และเอเชียกลางเข้าหากันผ่านโครงการลงทุนหลายชนิด แม้ว่าจะต้องเผชิญอุปสรรคจากปากีสถาน อินเดียก็ตัดสินใจลงทุนในอิหร่านเพื่อใช้ท่าเรือ Chabahar ในการเชื่อมโยงอินเดียกับเอเชียกลางผ่านทางอัฟกานิสถาน ซึ่งโครงการมีความก้าวหน้าไปมากพอสมควรแล้ว และประการสุดท้าย อินเดียคาดหวังให้อัฟกานิสถานคัดง้างอำนาจของปากีสถานภายในภูมิภาคเอเชียใต้ ซึ่งก็เป็นไปด้วยดีมาโดยตลอด

ยุทธศาสตร์เชื่อมโยงอินเดีย-อิหร่าน-อัฟกานิสถาน ที่อินเดียพยายามผลักดัน ภาพโดย RaviC

เมื่อพิจารณาจากเหตุปัจจัยข้างต้น อินเดียได้รับผลกระทบอย่างหนักจากความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น ต้องไม่ลืมว่าอินเดียมีท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อตาลีบันอย่างมากนับตั้งแต่ตาลีบันมีอำนาจในปี 1996 อย่างที่ได้กล่าวไว้ว่าตาลีบันมีแนวโน้มสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวในแคชเมียร์ ซึ่งถือเป็นภัยทางด้านความมั่นคงอย่างมากต่ออินเดีย และสำคัญที่สุดคือ ความสัมพันธ์ระหว่างตาลีบันและปากีสถานทำให้ยุทธศาสตร์การขยายความร่วมมือของอินเดียไปยังเอเชียกลางอาจต้องเผชิญกับปัญหาครั้งสำคัญในสภาพเช่นนี้

แต่นั่นยังไม่เลวร้ายเท่าการที่ตาลีบันแสดงออกอย่างชัดเจนว่าต้องการให้จีนเข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจภายในอัฟกานิสถานมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าจีนมีข้อแลกเปลี่ยนที่สำคัญคือการจัดการกลุ่มเคลื่อนไหวเติร์กตะวันออกซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อมณฑลซินเจียงของจีน และรัฐบาลของตาลีบันต้องมาจากความร่วมมือจากทุกฝ่าย

แม้ว่าจีนจะเข้าไปลงทุนในอัฟกานิสถานมานานแล้ว ทั้งในโครงการเหมืองแร่ทองแดงและสัมปทานน้ำมันดิบ แต่โครงการเหล่านี้ต้องเผชิญปัญหาอย่างมากจากความขัดแย้งภายในอัฟกานิสถาน ฉะนั้นจีนจึงไม่ได้ปิดช่องทางการเจรจากับตาลีบันในเรื่องเศรษฐกิจ เพราะอย่างที่ระบุไว้แล้วว่าอัฟกานิสถานมีความสำคัญอย่างมากต่อเส้นทางสายไหมในอดีตของจีน และในปัจจุบันก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตามจีนจะยังคงรอเวลาไปสักพักก่อนเพื่อดูสถานการณ์ภายในอัฟกานิสถานให้มีเสถียรภาพมากกว่านี้ ที่สำคัญไปกว่านั้น จีนเองก็ยังคงไม่ไว้วางใจตาลีบันได้อย่างสนิทใจจนกว่าจะได้เห็นการกระทำที่ชัดเจนมากกว่านี้ แต่เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าการกลับมามีอำนาจของตาลีบันในอัฟกานิสถานนั้นเพิ่มโอกาสให้กับจีนในการเติมเต็มยุทธศาสตร์ข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI)   

แน่นอนว่าความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ที่กำลังก่อรูปขึ้นนี้ยังผลกระทบอย่างมากต่อภูมิรัฐศาสตร์เอเชียใต้ ซึ่งในอดีตนั้นอินเดียถือว่าผูกขาดความเป็นผู้นำในการให้ความช่วยเหลือและลงทุนทางเศรษฐกิจ แต่การขยายอิทธิพลเช่นนี้ของจีนกำลังกระทบสถานะนำของอินเดียในภูมิภาคอย่างมาก

กรงเล็บมังกรเหนือภูมิภาคเอเชียใต้

บทบาทและอิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้นในอัฟกานิสถานยังส่งผลกระทบต่อภาพรวมความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียใต้ เพราะการขึ้นมามีอำนาจของตาลีบันส่งผลให้อินเดียสูญเสียพันธมิตรที่สำคัญในภูมิภาคไป (อินเดียเป็นผู้ผลักดันให้อัฟกานิสถานเข้าร่วม SAARC) จากเดิมที่อินเดียใช้อัฟกานิสถานเพื่อสกัดกั้นปากีสถาน แต่เมื่อตาลีบันกลับมามีอำนาจเช่นนี้ จึงกลายเป็นว่าอินเดียต้องเผชิญหน้ากับปากีสถาน-อัฟกานิสถาน-จีนในสมรภูมิภูมิรัฐศาสตร์เอเชียใต้ ซึ่งสร้างความกังวลอย่างยิ่งต่ออินเดียทั้งเชิงเศรษฐกิจและความมั่นคง โดยเฉพาะการที่จีนจะขยายยุทธศาสตร์ BRI ในเอเชียใต้ได้สะดวกขึ้น 

เพราะนับจนถึงวันนี้มีเพียง 2 ประเทศในเอเชียใต้เท่านั้นที่ไม่สนใจเข้าร่วมยุทธศาสตร์ BRI นั่นคืออินเดียและภูฏาน โดยอินเดียมีความกังวลต่อโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (China–Pakistan Economic Corridor: CPEC) ซึ่งพาดผ่านพื้นที่พิพาทอย่างแคชเมียร์ ปัจจัยนี้ส่งผลให้อินเดียยังคงปฏิเสธที่จะเป็นส่วนหนึ่งกับยุทธศาสตร์ดังกล่าว

ที่สำคัญ แม้ว่าจีนจะอธิบายว่า BRI เป็นยุทธศาสตร์เชื่อมโยงทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ในทางหนึ่ง BRI มีส่วนอย่างมากต่อการขยายอิทธิพลของจีนไปยังประเทศต่างๆ ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์นี้ผ่านการลงทุนจำนวนมหาศาลในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งปัจจุบันเอเชียใต้ถือเป็นพื้นที่การลงทุนที่สำคัญของจีน ไม่ว่าจะเป็นใน เนปาล บังคลาเทศ มัลดีฟส์ ศรีลังกา หรือปากีสถาน

ความแนบชิดทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มเอเชียใต้กับจีนที่มากขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมความสัมพันธ์ทางการเมืองของประเทศเหล่านี้กับจีนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ลักษณะเช่นนี้สั่นคลอนสถานะนำของอินเดียในภูมิภาคเอเชียใต้อย่างมาก เพราะตอนเหนือต้องเผชิญกับจีนโดยตรง ในขณะที่ทางใต้ต้องเผชิญกับท่าเรือ Hambanthota ที่จีนได้รับสัมปทานจากรัฐบาลศรีลังกาในการบริหารจัดการ และมีความเป็นไปได้ว่าจีนอาจใช้เป็นจุดแวะพักของเรือรบจีนในพื้นที่มหาสมุทรอินเดียในอนาคต

ซ้ำเมื่อหันไปทางตะวันตก อินเดียก็ต้องเผชิญกับปากีสถานคู่ปรับคนสำคัญ หนำซ้ำอิหร่านที่อินเดียหมายมั่นปั้นมือจะใช้เป็นทางเชื่อมเข้าไปยังเอเชียกลางก็มีสายสัมพันธ์กับจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังถูกสหรัฐอเมริกาคว่ำบาตร และล่าสุดจีนก็ผลักดันอิหร่านเข้ามาเป็นสมาชิกถาวรในองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization: SCO) ไม่ต่างกันสถานการณ์ทางฝั่งตะวันออกของอินเดียก็ไม่ได้ดีนักเพราะทั้งบังคลาเทศ และพม่าต่างก็หันหน้าเข้าหาจีนทั้งสิ้น

โครงการพัฒนาท่าเรือของจีนในเอเชียใต้และเพื่อนบ้านของอินเดีย ภาพจาก SP’s Naval Force

ฉะนั้นเมื่อพิจารณาในจุดนี้ จะเห็นได้ว่าพญามังกรอย่างจีนกำลังสยายปีกเข้ามาบินเหนือภูมิภาคเอเชียใต้มากยิ่งขึ้น และกำลังค่อยๆ ใช้กรงเล็บอันแหลมคม ซึ่งประกอบด้วยเงินลงทุนที่มีมากมหาศาล และเทคโนโลยีราคาถูกที่จับต้องได้ เข้าไปตะครุบประเทศต่างๆ ที่เคยเป็นพันธมิตรที่แนบชิดกับอินเดีย ส่งผลให้อินเดียกำลังอยู่ในสภาพที่อยู่ท่ามกลางแรงกดดันของอิทธิพลจีน

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าอินเดียจะสูญเสียสถานะนำภายในภูมิภาคไปอย่างสิ้นเชิง เพราะอินเดียก็ยังมีไพ่ในมืออีกหลายใบที่สามารถหยิบขึ้นมาใช้เพื่อรักษาสมดุลกับจีนภายในภูมิภาคได้ โดยอำนาจทางเศรษฐกิจที่หลายประเทศในภูมิภาคนี้ยังคงมีอินเดียเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญ ยิ่งไปกว่านั้นอินเดียยังสามารถดึงความช่วยเหลือจากมหาอำนาจภายนอกที่ขัดแย้งกับจีนเข้ามาช่วยได้ ซึ่งเราจะเห็นได้จากความร่วมมือ QUAD

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเปลี่ยนแปลงภายในอัฟกานิสถานนั้นยังผลสำคัญต่อสมการภูมิรัฐศาสตร์และภูมิศาสตร์เศรษฐกิจของเอเชียใต้ โดยเฉพาะบทบาทของตัวแปรอย่างจีนที่เพิ่มขึ้นจนมีนัยยะสำคัญต่อภูมิภาค ฉะนั้นเอเชียใต้จะกลายเป็นอีกหนึ่งสมรภูมิที่มหาอำนาจจะเข้ามาปะทะและแย่งชิงผลประโยชน์กันไม่แตกต่างจากที่กำลังเกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save