fbpx
ยีน ชาร์ป กับ “สันติวิธีของคนดื้อ”

ยีน ชาร์ป กับ “สันติวิธีของคนดื้อ”

จันจิรา สมบัติพูนศิริ เรื่อง

ข้าพเจ้ามีครู ‘สันติวิธี’ อยู่สองคน คนหนึ่งคือชัยวัฒน์ สถาอานันท์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกคนหนึ่งคือโธมัส เวเบอร์ (Thomas Weber) แห่งมหาวิทยาลัยลาโทรป ประเทศออสเตรเลีย

คนแรกแนะนำให้ข้าพเจ้ารู้จักสันติวิธีแบบที่พ้นไปจากวาทกรรมของสังคมไทย กล่าวคือ สันติวิธีทำให้เกิดสันติ เป็นวิถีพุทธ เป็นเรื่องของศีลธรรมเท่านั้น อาจารย์ชัยวัฒน์เผยให้ข้าพเจ้าเห็นว่าจะใช้สันติวิธีได้ต้อง “ดื้อ” และสันติวิธีรบกวนความสงบสุขของสังคมมากอยู่

ส่วนอาจารย์โธมัสแม้ว่าจะเป็นผู้ฝักใฝ่คำสอนของคานธี แต่ก็ชี้ให้ข้าพเจ้าเห็นพลังของอารมณ์ขันในฐานะ “อาวุธ” ต่อสู้กับอำนาจ ในฐานะลูกหลานชาวยุโรปตะวันออก อาจารย์ดูแลและชี้แนะข้าพเจ้าตลอดกระบวนการเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกว่าด้วยอารมณ์ขันกับขบวนการประท้วงด้วยสันติวิธีในประเทศเซอร์เบีย

ทั้งอาจารย์ชัยวัฒน์และอาจารย์โธมัสได้รับอิทธิพลทางความคิดจาก “ยีน ชาร์ป” (Gene Sharp) นักวิชาการด้านสันติวิธีผู้เลื่องชื่อ

ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ชาร์ปจากโลกนี้ไปด้วยวัย 90 ปี ณ บ้านหลังเล็กในเมืองบอสตัน ในฐานะ “ศิษย์” ผู้ได้รับอิทธิพลจากผลงานของชาร์ป ข้าพเจ้าขอทบทวนเส้นทางการสร้างความรู้สันติวิธีของชาร์ป และคุณูปการต่อสังคมไทยซึ่งน้อยคนนักจะตระหนักรู้

ชาร์ปในฐานะ “ขบถ” แห่งธรรมเนียมการศึกษาสันติวิธี

ยีน ชาร์ป
ที่มาภาพ: ทวิตเตอร์ยีน ชาร์ป

ชาร์ปเกิดเมื่อปี 1928 เป็นบุตรของบาทหลวงจากมลรัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา ชาร์ปสำเร็จการศึกษาด้านสังคมศาสตร์ในระดับปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอ (ค.ศ. 1946-1951) วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทหัวข้อ “Non-violence: A Sociological Study” สะท้อนความสนใจมิติทางสังคมศาสตร์ของปฏิบัติการสันติวิธี

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนี้ ขบวนการสันติวิธีที่ต่อสู้จักรวรรดินิยมอังกฤษเฟื่องฟูในอินเดีย มหาตมะ คานธีเป็นแรงบันดาลใจให้ชาร์ปศึกษาสันติวิธีอย่างลึกซึ้งขึ้น แม้ชาร์ปจะเริ่มต้นเขียนงานสันติวิธีจากมุมสังคมศาสตร์ แต่เพราะบทบาทของคานธี ชาร์ปเริ่มสนใจว่าสันติวิธีมีพลังจากแง่มุมศีลธรรมอย่างไร

ชาร์ปเขียนหนังสือเล่มแรกในชีวิตขณะอายุได้ 25 ปี ชื่อว่า “Gandhi Wields the Weapon of Moral Power”[1] (ตีพิมพ์ในประเทศอินเดียเท่านั้น) ผู้เขียนคำนำของหนังสือเล่มนี้คืออัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ หลังจากหนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ได้ไม่นาน ชาร์ปถูกจำคุกเก้าเดือนเพราะไม่ยอมเป็นทหารในกองทัพสหรัฐฯ ร่วมรบในสงครามเกาหลี[2]

เมื่อออกจากคุกได้ไม่นาน ชาร์ปย้ายไปทำงานเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร Peace News ในลอนดอน ต่อมาย้ายไปกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ เพื่อทำวิจัยกับนักปรัชญานิเวศวิทยาชื่อดัง อาร์นา แนส (Arne Naess) ว่าด้วยปฏิบัติการสันติวิธีของกลุ่มครูผู้ช่วยเหลือชาวยิวให้รอดพ้นจากเงื้อมมือนาซีเยอรมันช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง[3]

สายธารการศึกษาสันติวิธีของชาร์ปในช่วงแรกนี้คล้ายกับงานศึกษาสันติวิธียุคบุกเบิก เช่น ริชาร์ด เกร็ก (Richard Gregg) ในหนังสือ The Power of Nonviolence (1935) ซึ่งชี้ว่า นักเคลื่อนไหวผู้ไม่ใช้ความรุนแรงในการโต้กลับฝ่ายตรงข้ามซึ่งใช้ความรุนแรงกับตนก่อน อาจโน้มน้าวสาธารณะให้เห็นอกเห็นใจพวกเขา ขณะเดียวกันก็ “ตาสว่าง” มองเห็นว่าฝ่ายผู้มีอำนาจฉ้อฉล รังแกผู้ไร้อาวุธเยี่ยงไร  เกร็กเรียกผลสะท้อนกลับของปฏิบัติการสันติวิธีเช่นนี้ว่า “ยิวยิตสู/จูจุสึทางศีลธรรม” (moral jui-jitsu)[4]

นอกจากนี้งานของ คลาเรนซ์ เคส (Clarence Case) Nonviolent Coercion (1923) และโยน บอนดูรันท์ (Joan Bondurant) Conquest of Violence: The Gandhian Philosophy of Conflict (1958) ส่งอิทธิพลทางความคิดต่อชาร์ปอย่างลึกซึ้ง

ชาร์ปเข้ารับการศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และเริ่มเขียนวิทยานิพนธ์ว่าด้วยการเมืองของปฏิบัติการไร้ความรุนแรง อันเป็นหมุดหมายแห่งการแยกกระแสธารของการศึกษาสันติวิธีออกเป็นสองสาย คือสายหลักการ (principled) ได้แก่แนวทางที่ยึดสันติวิธีเป็นหลักในการดำรงชีวิต และสายปฏิบัตินิยม (pragmatic) ซึ่งใช้สันติวิธีเป็น “อาวุธทางการเมือง”

ใครที่ได้อ่านงานชิ้นนี้อาจรู้สึกประหลาดไม่น้อยกับภาษาแบบทหารและท่าทีแบบนักยุทธศาสตร์สงครามของชาร์ป มากกว่านักศีลธรรมสันติวิธีแบบที่บ้านเราคุ้นกัน ที่สำคัญคืองานชิ้นนี้สะท้อนการเปลี่ยนวิธีคิดของชาร์ปเกี่ยวกับสันติวิธีเกือบ 360 องศา

ชาร์ปโต้แย้งความเข้าใจทั่วไปเกี่ยวกับสันติวิธีในฐานะอาวุธของผู้อ่อนแอหรือแนวทางของ “คนดี” ใจความหลักของชาร์ปมีอยู่สามประการ

ประการแรก ด้านตรงข้ามของสันติวิธีมิใช่ความรุนแรงแต่คือการนิ่งเฉย ไม่ทำอะไร (inaction)

ประการที่สอง คนส่วนใหญ่ใช้สันติวิธีในชีวิตประจำมิใช่เพราะอยากเป็นคนดี แต่เพราะ “ดื้อ” ไม่ยอมต่ออำนาจ ไม่ยอมให้ใครเอาเปรียบ หรือควบคุม

ประการสุดท้าย คนดื้อเหล่านี้เลือกใช้สันติวิธีไม่ใช่เพราะไม่อยากทำร้ายฝ่ายตรงข้าม แต่เพราะคิดคำนวนแล้วว่าหากใช้ความรุนแรงจะมีแต่แพ้ ฝ่ายตรงข้ามมีปืนเยอะกว่า กองทัพมีประสิทธิภาพมากกว่า เป็นต้น

ชาร์ปฟันธงแบบไม่เกรงใจคานธีผู้ล่วงลับว่าสันติวิธีคือ “เทคนิคที่ใช้รบในสมรภูมิ” ฉะนั้นจึงมิได้ยึดโยงอยู่กับศีลธรรมหรือความเป็นนักบุญ ชาร์ปเห็นว่าท่าทีต่อสันติวิธีเช่นนี้ต่างหากที่ปลดแอกสันติวิธีจากผู้ทรงศีลอันเป็นคนส่วนน้อย และโน้มน้าวให้คนส่วนใหญ่เห็นว่าเธอและเขาก็สามารถใช้สันติวิธีได้ แม้ไม่ใช่ “คนดี”

แนวทางเช่นนี้โดนใจอดีตนายทหาร โรเบิร์ต เฮลวี่ ซึ่งได้ฟังการบรรยายของชาร์ปในปี 1988 จนกลายเป็นแรงบันดาลให้เขาหันมาศึกษาสันติวิธีในฐานะยุทธศาสตร์การต่อสู้อย่างจริงจัง เฮลวี่มีบทบาทสำคัญในการอบรมให้ความรู้ขบวนการปลดแอกของชนกลุ่มน้อยในพม่าและขบวนการประชาธิปไตยในเซอร์เบีย[5]

บทความสำคัญที่ข้าพเจ้าเห็นว่าสะท้อนเหตุผลลึกๆ ที่ชาร์ปแยกสันติวิธีในฐานะปฏิบัติการ (action) ออกจากหลักศีลธรรมคือ “What are the options for action for believers in principled nonviolence?” ตีพิมพ์ในวารสาร Ahimsa Nonviolence ปี 2005

ชาร์ปตั้งคำถามแทงใจถึง “ผู้ที่เชื่อว่าเกณฑ์สำคัญหนึ่งเดียวสำหรับนักสันติวิธีคือการที่พฤติกรรมส่วนตัวของตนต้องสอดคล้องกับหลักการที่ตนยึดถือ” ว่าถ้าคิดเพียงเท่านี้ ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงหลายอย่างก็นับว่าละเมิดผู้อื่นและตนเองทั้งกาย วาจา ใจ ฉะนั้นจึงเหลือไม่กี่อย่างที่เราทำได้และสอดรับกับหลักการของตน คนจำนวนมากคงทำเช่นนี้ไม่ได้ จึงอาจเห็นว่าสันติวิธีมิใช่ทางเลือกเมื่อเผชิญกับความขัดแย้ง ดังนั้นจึงเลือกใช้ความรุนแรง ในแง่นี้ “สันติวิธีแบบหลักมีส่วนก่อให้เกิดความรุนแรงหรือไม่?”

The Politics of Nonviolent Action 3 Parts

หนังสือ The Politics of Nonviolent Action (1973) ซึ่งดัดแปลงมาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก (ความหนารวมกัน 900 หน้า แบ่งเป็น 3 เล่ม) จึงสะท้อน “การแยกวง” ของแนวคิดสันติวิธีแบบ “ชาร์ปเปียน” (Sharpian School) คุณูปการของงานชิ้นนี้มีอย่างน้อยสองประการ

หนึ่ง หนังสือชุดนี้ทำให้ปฏิบัติการสันติวิธีถูกอธิบายจากฐานทฤษฎีการเมือง ชาร์ปประยุกต์ใช้กรอบทฤษฎีจากนักคิดหลากหลายตั้งแต่สายเสรีนิยม เช่น ทฤษฎีสัญญาประชาคมของจอห์น ล็อค (John Locke) และสายอนาธิปไตย อย่างงานเขียนสัญชาติฝรั่งเศสของเอเตียน เดอ ลา โบเอตี (Étienne de la Boétie)

ข้อสรุปของชาร์ปคือ ผู้มีอำนาจครองอำนาจได้เพราะมีคนคอยสนับสนุนเชื่อฟัง ฉะนั้นจุดเริ่มต้นของปฏิบัติการสันติวิธีคือผู้คนต้องหยุดเชื่อฟังและไม่ให้ความร่วมมือกับผู้มีอำนาจ ข้อเสนอเช่นนี้อาจทำให้นักรัฐศาสตร์หลายคนเป็นลมได้ เพราะสอนให้นักปกครองคุมอำนาจ แต่นักปฏิบัติการสันติวิธีดันเสนอว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ปกครองอยู่ในอำนาจไม่ได้

ฉันใดก็ฉันนั้น หากนักปรัชญาอย่างนิโคโล มาเคียเวลลี (Niccolò Machiavelli) ถือเป็นแก่นกลางของแนวคิดรัฐศาสตร์ ชาร์ปก็กรุยทางให้กับทฤษฎีการเมืองของสันติวิธี ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงเรียกชาร์ปว่า Machiavelli of nonviolence[6]

สอง ชาร์ปเสนอว่า สันติวิธีจะสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อนักปฏิบัติการหรือนักเคลื่อนไหวมีเป้าหมายและยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน

ชาร์ปไม่เชื่อว่าสันติวิธีคือยาวิเศษที่ใช้แล้วจะประสบความสำเร็จทุกเมื่อเชื่อไป แต่เห็นว่าปัจจัยสำคัญของปฏิบัติการสันติวิธีที่ได้ผลคือการวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนของฝ่ายตรงข้าม ใครคือผู้สนับสนุนหลัก และทำอย่างไรให้ผู้สนับสนุนเหล่านี้กลายเป็นพันธมิตรของขบวนการเคลื่อนไหว

งานของชาร์ปจึงไม่เพียงแต่รวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับปฏิบัติการสันติวิธีในห้วงประวัติศาสตร์ แต่ชาร์ปยังแบ่งประเภทปฏิบัติการและวิเคราะห์ให้เห็นว่า ปฏิบัติการแต่ละประเภทส่งผลบ่อนเซาะอำนาจของฝ่ายตรงข้ามอย่างไร และเปลี่ยนพันธมิตรของฝ่ายเขาให้กลายเป็นฝ่ายเราได้อย่างไร ขณะเดียวกันก็ชาร์ปเตือนว่าฝ่ายตรงข้ามมักใช้ความรุนแรงโต้กลับ ฉะนั้นนักเคลื่อนไหวต้องวางแผนรับมือ และซักซ้อมมิให้ฝ่ายตนเพลี่ยงพล้ำ ใช้ความรุนแรงตอบโต้ ขบวนการสันติวิธีที่หันไปใช้ความรุนแรงย่อมเผชิญวิกฤตความชอบธรรมและเสีย “ฐานมวลชน” จนแพ้ทางการเมืองได้

ในแง่นี้ สันติวิธีสำนักชาร์ปจึงใกล้เคียงกับวิธีคิดทางทหาร คือทั้งรับ (defense) และรุก (offense) ด้วยเหตุนี้ชาร์ปจึงได้อีกฉายาว่าเป็น Clausewitz of nonviolent warfare[7] ซึ่งล้อกับชื่อนายทหารปรัสเซีย คาร์ล ฟอน เคลาส์วิทซ์ (Carl von Clausewitz) ผู้เขียนตำราพิชัยยุทธทางทหารเล่มสำคัญ On War (1983)

บทวิเคราะห์ลักษณะทางการเมืองของสันติวิธี และท่วงทำนองอันห้าวหาญของมัน มี “ความเป็นการเมือง” อยู่ไม่น้อย ชาร์ปตั้งใจสร้างฐานทางวิชาการให้แก่ปฏิบัติการสันติวิธี จึงต้องกระชากปรากฏการณ์นี้ออกจาก “สันตินิยม” (pacifism) อันเป็นแนวคิดต่อต้านสงคราม ซึ่งพัฒนาโดยกลุ่มศาสนาอย่างเมนโนไนต์ (Mennonite) หรือเควกเกอร์ส (Quakers)

ชาร์ปเข้าใจดีว่าแวดวงวิชาการสหรัฐฯ ในยุคนั้นต้องการสร้าง “ความเป็นศาสตร์” แก่การศึกษาปรากฏการณ์ในสังคมการเมือง ฉะนั้นหากผู้คนยังเข้าใจว่า “สันติวิธีคือสันตินิยม” สันติวิธีจะหมดพลังในการโน้มน้าวสาธารณะชนให้เชื่อมั่นในประสิทธิภาพ

ส่วนที่ภาษาห้าวหาญแบบทหารช่วยลบภาพ “หน่อมแน้ม” ของสันติวิธีในสายตานักวิชาการและผู้กำหนดนโยบายฝ่ายความมั่นคง ลักษณะเช่นนี้สอดคล้องกับความสนใจเรื่องยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศด้วยสันติวิธี (civilian-based defense) ของชาร์ปตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา[8]

นี่ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งของชาร์ป จากที่เห็นว่าสันติวิธีเป็นเครื่องมือต่อสู้ของ “ประชาชน” เท่านั้น ชาร์ปเริ่มชี้ว่า รัฐก็ใช้ยุทธศาสตร์สันติวิธีในการป้องกันประเทศได้โดยไม่ต้องพึ่งพากำลังอาวุธของกองทัพ รัฐบาลประเทศลัตเวียและลิธัวเนียเห็นพ้องและรับข้อเสนอของชาร์ปไปเป็นนโยบายป้องกันประเทศ[9] ในปี 1983 ชาร์ปได้ตั้งสถาบันอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์เพื่อทำวิจัยเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับปฏิบัติการสันติวิธี[10]

ชาร์ปกรุยทางให้แก่การก่อร่างองค์ความรู้ด้านสันติวิธี โดยเฉพาะในชุมชนวิชาการสังคมศาสตร์ นักวิชาการรุ่นใหม่ๆ ในโลกตะวันตกได้รับแรงบันดาลใจจากชาร์ป และศึกษาขบวนการสันติวิธีในบริบทเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ทางสังคม และทางเพศ การเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเองของชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ เป็นต้น

ลูกศิษย์คนหนึ่งของชาร์ปอย่างปีเตอร์ เอเคอร์แมน (Peter Ackerman) ได้ก่อตั้งสถาบันวิจัยและฝึกอบรมสันติวิธีในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในปี 2011 ต่อมานักเคลื่อนไหวชาวเซอร์เบียซึ่งติดตามและประยุกต์ใช้สันติวิธีแบบชาร์ปในประเทศตนได้ก่อตั้งสถาบันคล้ายกันในกรุงเบลเกรด งานวิจัยชิ้นสำคัญโดยนักวิจัยสันติวิธีรุ่นใหม่อย่างเอริกา เชนโนเวธ (Erica Chenoweth) และมาเรีย สเตฟาน (Maria Stephan) ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการด้านความมั่นคงชั้นแนวหน้าอย่าง International Security และหนังสือเล่มสำคัญของเธอทั้งสอง Why Civil Resistance Works ได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย

แม้ว่าชาร์ปจะทำงานหนักกว่า 60 ปี แนวทางสันติวิธีแบบชาร์ปยังถือว่าอยู่ “ชายขอบ” ของสันติภาพและความขัดแย้งศึกษา งานของชาร์ปถูกวิพากษ์โดยนักวิชาการด้านสันติศึกษาคนสำคัญอย่างโยฮัน กัลตุง (Johan Galtung)[11] ว่าอยู่บนฐานวิถีคิดแบบมิตร-ศัตรู มากกว่าจะมุ่งแก้ปมความขัดแย้ง ส่วนนักวิชาการชาวออสเตรเลียอย่างไบรอัน มาร์ติน (Brian Martin) และเคท แม็คกินเนส (Kate Mcguinness) เห็นว่าทฤษฎีอำนาจที่ชาร์ปใช้อธิบายปฏิบัติการสันติวิธีละเลยการกดขี่เชิงโครงสร้างของระบอบทุนนิยมและปิตาธิปไตย[12] ส่วนนักทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โรแลนด์ ไบลเคอร์ (Roland Bleiker) แย้งว่าทฤษฎีอำนาจของชาร์ปมิได้พูดถึงการครอบงำทางความคิดและวัฒนธรรมของระบบกดขี่[13]

ท่ามกลางการถกเถียงในแวดวงวิชาการดังกล่าว ในโลกของนักเคลื่อนไหวและขบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สันติวิธีสำนักชาร์ปเปียนถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายและถางทางสู่การปฏิวัติทางการเมืองในหลายที่ทั่วโลก ทั้งในพม่า ไทย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ฮ่องกง มาดาร์กัสการ์ เนปาล เซอร์เบีย โคโซโว ยูเครน จอร์เจีย เลบานอน อียิปต์ ตูนีเซีย อิหร่าน และบราซิล เป็นต้น

แม้ชาร์ปจากไปแล้ว แต่มรดกทางความคิดของ “คนดื้อ” ยังดำรงอยู่ในจิตวิญญาณของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการ “ดื้อ” ต่อระเบียบสังคมการเมืองอันไม่เป็นธรรม

[อ่านต่อตอนหน้า ว่าด้วยคุณูปการของยีน ชาร์ป ต่อสังคมไทย]

เชิงอรรถ

[1] Adam Roberts, “Gene Sharp obituary,” The Guardian, Feb 12, 2018

[2] Thomas Weber, “Nonviolence is Who: Gene Sharp and Gandhi,” Peace and Change 28(2) (2003): 254.

[3] Janine Di Giovanni, “The Quiet American,” The New York Times, SEP 3, 2012

[4] “ยิวยิตสู”หรือ “จูจุสึ” เป็นศิลปะป้องกันตัว มีต้นกำเนิดในประเทศญีปุ่น ต่อมาพัฒนาในประเทศบราซิล ลักษณะสำคัญคือคู่ต่อสู้เอาชนะกันด้วยการทำให้อีกฝ่ายล้มลงบนพื้นก่อน ฝ่ายที่ได้เปรียบมักใช้กำลังของคู่ต่อสู้เป็นจุดอ่อนของเจ้าตัวเสียเอง

[5] John Bacher, “Robert Helvey’s Expert Political Defiance,” peacemagazine, Apr-Jun 2003; Robert L. Helvey, On Strategic Nonviolent Conflict: Thinking about the Fundamentals (Boston, MA: Albert Einstein Institution, 2004).

[6] Mark Engler, “The Machiavelli of Nonviolence: Gene Sharp and the Battle Against Corporate Rule,” dissentmagazine, 2013

[7] Mark Memmott, “Gene Sharp, ‘Clausewitz Of Nonviolent Warfare,’ Amazed By Egypt’s Youth,” NPR, Feb 22, 2011

[8] ดู Gene Sharp, Civilian-Based Defense: A Post-Military Weapons System (Princeton, NJ: Princeton University Press, 1990).

[9] Jørgen Johansen, “Gene Sharp has died and the world has lost a global educator,” Soziale Verteidigung

[10] About Albert Einstein Institution

[11] Johan Galtung, “On the Meaning of Nonviolence,” Journal of Peace Research 2(3) (1965): 228-57.

[12] Brian Martin, “Gene Sharp’s Theory of Power,” Journal of Peace Research 26(2) (1989): 213-22; Kate Mcguinness, “Gene Sharp’s Theory of Power: A Feminist Critique of Consent,” Journal of Peace Research 30(1) (1993): 105-15.

[13] Roland Bleiker, Popular Dissent, Human Agency and Global Politics (Cambridge: Cambridge University Press, 2000).

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save