fbpx

มองนโยบายเรื่องเพศในโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง
เพราะการสนับสนุนความหลากหลายไม่ได้มีแค่สมรสเท่าเทียม

ตั้งแต่การเลือกตั้งปี ’62 ที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องนโยบายความหลากหลายทางเพศถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นวาระสังคมนับครั้งไม่ถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระแสของสมรสเท่าเทียมที่ทำให้หลายคนจับตาดูการทำงานของสภา และทำให้นักการเมืองต้องหันมาใส่ใจต่อประเด็นความหลากหลายทางเพศมากขึ้น

ปรากฏการณ์ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาจึงส่งผลให้การเลือกตั้งในปี ’66 พรรคการเมืองชูนโยบายเรื่องเพศขึ้นมาหาเสียงเลือกตั้ง ทั้งการผลักดันประเด็นที่ค้างอยู่สภา คือ สมรสเท่าเทียม และการเปิดประเด็นใหม่ๆ อย่าง การแจกผ้าอนามัย การฉีควัคซีน HPV ไปจนถึงภาพใหญ่ในการร่างกฎหมายที่ลดการกีดกันและการเลือกปฏิบัติในสังคม

แต่ถึงแม้ว่าหลายพรรคจะพยักหน้าตอบรับกับนโยบายเรื่องเพศคล้ายๆ กัน แต่ในรายละเอียดยังมีประเด็นสำคัญที่กลุ่มคนทำงานเรื่องเพศยังตั้งคำถามต่อจุดยืนความเข้าใจในความหลากหลายทางเพศของแต่ละพรรค เพื่อให้นโยบายเหล่านี้ตอบโจทย์ต่อคนในสังคมจริงๆ มากกว่าเป็นเพียงนโยบายขายฝันเพื่อหาคะแนนเสียงให้กับการเลือกตั้ง

101 คุยกับ 4 นักกิจกรรมด้านเพศเกี่ยวกับนโยบายความหลากหลายทางเพศจากพรรคการเมืองต่างๆ  เพื่อหาคำตอบว่าเรื่องไหนในสังคมที่ต้องการความเข้าใจอย่างแท้จริงจากภาคการเมือง และเรื่องไหนที่การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง

สมรสเท่าเทียมที่ยังคงติดหล่มการเมือง

ดาราณี ทองศิริ เจ้าของเพจ Feminista 

ดาราณี ทองศิริ เจ้าของเพจ Feminista

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา สังคมได้เห็นการเคลื่อนไหวผลักดันสมรสเท่าเทียมเพื่อให้การสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมายโอบรับคนทุกเพศได้อย่างไม่แบ่งแยก

ในฐานะบุคคลที่ติดตามความเคลื่อนไหวของประเด็นความเสมอภาคทางเพศและความหลากหลายทางเพศมาโดยคตลอด ดาราณีมองว่าจากกระแสสมรสเท่าเทียมได้ทำให้พรรคการเมืองหลายพรรคตอบรับ สนับสนุน และชูประเด็นความหลากหลายทางเพศมาหาเสียงช่วงเลือกตั้ง ’66 เนื่องจากกระแสโลกและกระแสสังคมมีทิศทางสนับสนุนเรื่องนี้ รวมถึงการเชื่อมโยงการสนับสนุนเรื่อง LGBT ในเชิงเศรษฐกิจได้ ทำให้หลายพรรคมีทิศทางบวกและเลือกนำประเด็นความหลากหลายทางเพศมาเป็นนโยบายในการหาเสียง

“ชัดเจนว่ามีบางพรรคใช้การหาเสียงโดยสนับสนุนนโยบายความหลากหลายทางเพศ แต่ก็มีบางพรรคไม่ได้เน้นเรื่องนี้มาก อย่างพรรคอนุรักษนิยมส่วนใหญ่ยังไม่ได้นำเสนอเรื่องนี้ ยกเว้นประชาธิปัตย์ที่เริ่มสนับสนุนเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น บางพรรคทำงานมานานแล้วอย่างก้าวไกล ตั้งแต่ผลักดันให้มีตัวแทนคนหลากหลายทางเพศเข้าไปอยู่ในสภา มีคนทำงานในพรรคที่มีความหลากหลายทางเพศ ประกาศตัวชัดเจนว่าจะทำเรื่องสมรสเท่าเทียม ประกาศจะผลักดันสมรสเท่าเทียมภายใน 100 วันถ้าได้เป็นรัฐบาล”

“ส่วนเพื่อไทยประกาศชัดเจนสนับสนุนเรื่องนี้ มีการประกาศบอกว่าอยากจัดงาน Pride แคนดิเดตนายกฯ อย่างคุณเศรษฐาก็บอกว่าสนับสนุนสมรสเท่าเทียม แต่วันที่ไปฟังในงานเสวนาเวทีดีเบตพรรคการเมืองวาระสิทธิมนุษยชนของแอมเนสตี้ที่ท่าแพ เชียงใหม่ มีคนจากพรรคเพื่อไทยบอกว่า การแก้ ป.พ.พ. ดูจะยากกว่า พ.ร.บ. คู่ชีวิต และเขายังมีส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ก้าวไกลคิดมา อันนี้เราก็ยังไม่ทราบความชัดเจนจากเขาเหมือนกัน”

“อีกพรรคการเมืองที่น่าสนใจคือ พรรคเสมอภาค มีสมาชิกเป็นทั้งผู้หญิงข้ามเพศและผู้ชายข้ามเพศ เขาเน้นเรื่องความหลากหลายทางเพศชัดเจน และพรรคไทยสร้างไทยที่มีการทำโฆษณาออกมาเกี่ยวกับคู่จิ้น ซึ่งเรายังตั้งคำถามอยู่ว่า นโยบายหลักในเรื่องเพศของเขาคืออะไร เรายังไม่ได้ไปรีวิวดูตัวพรรคชัดๆ แต่มีตัวแทน ส.ส. เขตเชียงใหม่ของไทยสร้างไทยที่ทำเรื่องเพศชัดเจน”

อย่างไรก็ตาม ด้วยประเด็นการแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) เพื่อให้ทุกเพศสามารถสมรสได้อย่างเท่าเทียม ยังคงค้างอยู่ในสภาสมัยที่แล้ว และมีประเด็นการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ดาราณีตั้งคำถามว่า ในการสนับสนุนนโยบายความหลากหลายทางเพศของแต่ละพรรคนั้น มีความเชื่อและเข้าใจในความเสมอภาคทางเพศจริงๆ หรือมองเป็นคะแนนเสียงจากการขายนโยบายเท่านั้น

“เพราะถ้าพูดเรื่อง พ.ร.บ. คู่ชีวิตที่รัฐบาลที่แล้วพยายามผลักดันออกมา เมื่อเราเข้าไปคุย เราตั้งคำถามกับ พ.ร.บ.คู่ชีวิต คำถามคือเขาเข้าใจจริงๆ หรือเปล่าว่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศมอง พ.ร.บ. คู่ชีวิตยังไง มีคำพูดอะไรบ้างที่ยังทำให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศเข้าไม่ถึงการก่อร่างสร้างครอบครัวจริงๆ เราจะเห็นว่าในสภาที่ผ่านมา หลายพรรคสนับสนุน พ.ร.บ. คู่ชีวิต เพราะมีประเด็นทางการเมืองว่า ถ้าสมรสเท่าเทียมผ่าน คนจะไปสนับสนุนก้าวไกล ทำให้มีการยื้อไป-มา พรรคฝั่งรัฐบาลก็เลยไปสนับสนุน พ.ร.บ. คู่ชีวิต ทั้งๆ ที่การแก้ไข ป.พ.พ. กว้างกว่า พ.ร.บ. คู่ชีวิต”

“เราเข้าใจว่าการแข่งขันนโยบายเป็นเรื่องการเมืองมากๆ แต่ละพรรคต้องนำเสนอเรื่องที่ซื้อคนได้อยู่แล้ว เราต้องคุยกับพรรคการเมืองว่าตกลงคุณฟังคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับกฎหมายนี้หรือเปล่า หรือคุณแค่คิดว่าอะไรคือสิ่งที่ดีกับประชาชนแล้วคุณจะได้คะแนนเสียง ซึ่งเรื่องนี้สะท้อนว่าเขาไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ไม่ได้เอาผลประโยชน์ของสิทธิประชาชนเป็นหลัก ถ้าเขาฟังเสียงคนลงชื่อสนับสนุนสมรสเท่าเทียมจริงๆ เขาจะไม่ปฏิเสธ แต่การที่เขามองว่าของตัวเองดีกว่า แสดงว่าเขาไม่ฟังเสียงประชาชนเลย” 

นอกจากนี้ ดาราณีมองว่าประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเรื่องเพศในพื้นที่ทางการเมือง เพราะหลายครั้งบนเวทีดีเบตยังคงเห็นสัดส่วนผู้ชายที่เข้ามาทำงานมากกว่า และถ้าสังเกตในสมาชิกพรรคการเมืองหรือการลงสมัคร ส.ส. ก็ยังมีเปอร์เซ็นต์เพศอื่นๆ ที่น้อยกว่าเพศชายด้วย

“เราตั้งคำถามว่า พรรคการเมืองที่ให้ความสำคัญในความเท่าเทียมทางเพศหรือประชาธิปไตยให้ความสำคัญกับประเด็นสัดส่วนความหลากหลายทางเพศในพื้นที่การเมืองมากน้อยแค่ไหน แม้กระทั่งก้าวไกลเอง หลายๆ ครั้งไม่มีผู้หญิงเป็นตัวแทนในบางเวที แม้เมื่อเทียบกับฝั่งอนุรักษนิยมแล้วเขาก็มีปริมาณที่พยายามเพิ่มผู้หญิงมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนเพื่อไทยยอมรับเองว่ายังมีสัดส่วนผู้หญิงในพรรคน้อย เราคิดว่าพรรคที่แคร์เรื่องสัดส่วนทางเพศอย่างชัดเจนที่สุดคือ พรรคสามัญชน” 

ต่อความหวังในการเปลี่ยนแปลงหลังการเลือกตั้ง ดาราณีมองว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดผลสำเร็จของการผลักดันนโยบายเรื่องความหลากหลายทางเพศ หากพรรคที่สนับสนุนสมรสเท่าเทียมอย่างก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล ซึ่งผู้สมัครให้สัญญาว่าภายใน 100 วันจะผลักดันสมรสเท่าเทียมให้สำเร็จ ส่วนพรรคเพื่อไทยมีนักวิชาการอิสระที่เชี่ยวชาญประเด็นความหลากหลายทางเพศอย่างชานันท์ ยอดหงษ์ที่ได้ลงสมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อแล้ว ก็น่าจะทำให้เกิดการผลักดันเรื่องสิทธิผ้าอนามัย การฉีดวัคซีน HPV ได้ แต่ทั้งหมดนี้ต้องรอผลการเลือกตั้งที่จะถึง และติดตามการทำงานที่แต่ละพรรคหาเสียงกันต่อไป

แม้แก้กฎหมายทำแท้งในรอบ 60 ปีแล้ว แต่ยังมีปัญหาที่รอนโยบายผลักดันอยู่

สุไลพร ชลวิไล กลุ่มทำทาง

สุไลพร ชลวิไล กลุ่มทำทาง

กฎหมายยุติการตั้งครรภ์ได้รับการแก้ไขไปเมื่อปี 2564 คือให้ผู้ที่มีอายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ แสดงให้เห็นถึงการเขยิบเส้นความก้าวหน้าในกฎหมายทำแท้งที่ไม่เคยแก้ไขมาตลอด 60 ปี อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัญหาเกิดขึ้นอยู่ โดยเฉพาะ ข้อจำกัดในการรับบริการและเงื่อนไขของกฎหมายที่ทำให้แพทย์ปฏิเสธการรักษาได้ และที่สำคัญ มาตรา 301 ที่ระบุว่าการทำแท้งที่เกินกว่าอายุครรภ์ที่กำหนดยังเป็นความผิด ทำให้ไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนที่ให้ผู้ที่มีโอกาสตั้งครรภ์ได้มีสิทธิตัดสินใจในร่างกายของตัวเอง 

นี่คือคำถามสำคัญจากกลุ่มที่ขับเคลื่อนกฎหมายทำแท้งอย่าง ‘กลุ่มทำทาง’ ว่าแม้กฎหมายจะได้รับการแก้ไข แต่จะทำอย่างไรให้เกิดการทำแท้งปลอดภัยเกิดขึ้นจริงได้ ในช่วงเลือกตั้งจึงเป็นโอกาสที่พวกเขาเฝ้าดูนโยบายและผลักดันประเด็นยุติการตั้งครรภ์ไปยังพรรคการเมืองต่างๆ 

“ตั้งแต่ทุกพรรคเตรียมการเลือกตั้ง เราจับตาดูตั้งแต่แรกๆ ว่าจะมีเรื่องอะไรบ้าง มีเรื่องกฎหมายทำแท้งหรือเปล่า ซึ่งไม่มี พรรคการเมืองส่วนใหญ่จะมีนโยบายเรื่องเพศที่เน้นเรื่อง LGBT เช่น สมรสเท่าเทียม ซึ่งหลายพรรคพูดกันจนเป็นมาตรฐานเลย เพราะมีการเคลื่อนไหวมาตลอด 4 ปี หรือเกี่ยวกับสวัสดิการอย่าง สวัสดิการผ้าอนามัย หรือการลด VAT ผ้าอนามัย”

“ส่วนเรื่องที่ซับซ้อนและกระทบกับประเด็นศีลธรรม อย่างการทำแท้ง ยังไม่มีพรรคไหนนำเสนอนโยบายในตอนแรก ต่อมา เราจึงพยายามทำหนังสือเข้าไปคุยกับแต่ละพรรค โดยพูดถึงปัญหาที่เราเจอในการแก้กฎหมายครั้งล่าสุด อันนี้เราพูดคุยกันภายใต้ขอบเขตของกฎหมายเลย ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดี บางคนได้เอาไปใส่เพิ่มเติมในนโยบาย แต่ก็ยังไม่ได้ยินเขาพูดบนเวทีอื่นๆ มากนัก นอกจากเวทีเรื่องเพศ ซึ่งเข้าใจได้นะ เพราะว่าแต่ละพรรคเขาก็มีหลายประเด็นที่ต้องรับผิดชอบ”

สุไลพรยอมรับว่าประเด็นเรื่องการทำแท้งยังกระทบกับความเชื่อเดิมในสังคม ทำให้หลายพรรคต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในการสื่อสาร โดยเฉพาะในช่วงหาเสียง ซึ่งต้องเรียกคะแนนจากคนหลายกลุ่ม โดยนโยบายที่เลือกมาหาเสียงต้องไม่สร้างคำถามเรื่องศีลธรรมอันดีที่คนในสังคมส่วนใหญ่นับถือ เพราะต้องยอมรับว่ายังมีประชาชนที่ยังไม่เห็นด้วยกับการทำแท้งอยู่เป็นจำนวนมาก  

“ความท้าทายอีกอย่างของพรรคการเมืองคือ บางพรรคประกอบด้วยสมาชิกหรือผู้สมัครที่หลากหลายกลุ่ม หลากหลายความเชื่อทางศาสนา เขาจะบอกเราเลยว่า เห็นด้วยกับการทำแท้งปลอดภัย แต่พูดออกหน้าไม่ได้ เพราะสมาชิกพรรคเป็นมุสลิม ซึ่งอันนี้เราเข้าใจได้” 

อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายพรรคการเมืองที่พร้อมสนับสนุนและคิดนโยบายเพื่อแก้ปัญหา โดยเฉพาะการจัดการปัญหาจากการแก้กฎหมายครั้งล่าสุด ที่แม้จะเปิดโอกาสให้คนท้องอายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ และเพิ่มเงื่อนไขการท้องที่ส่งผลกระทบกับสุขภาพจิต ทำให้ต้องยุติการตั้งครรภ์ แต่หน่วยสาธารณสุขยังไม่แจ้งสถานบริการที่คนสามารถเข้าใช้บริการ และกฎหมายยังมีช่องว่างที่ไม่ได้บังคับให้ผู้บริการหรือแพทย์ต้องปฏิบัติตามความต้องการของผู้ตั้งครรภ์ พูดอย่างเข้าใจง่าย หมอยังคงปฏิเสธการรักษาได้ และนี่คือสิ่งที่กลุ่มขับเคลื่อนเรื่องทำแท้งปลอดภัยอยากทำงานในระยะสั้นให้เกิดการแก้ไขขึ้นจริง

“คิดว่าประเด็นนี้เพิ่งแก้กฎหมายด้วย ทำให้เราพูดคุยกันภายใต้ขอบเขตกฎหมายได้ชัดเจน ตอนเราไปเจอพรรคการเมืองต่างๆ เขาก็ให้การสนับสนุนดีมาก เช่น พรรคที่เราเซอร์ไพรส์ เพราะเขาเป็นพรรคอนุรักษนิยมแต่ตอบรับเราเรื่องนี้ คือ พลังประชารัฐ เราไปพบคุณไพบูลย์ นิติตะวัน พูดกันในขอบเขตกฎหมายว่ายังมีข้อจำกัดในการรับบริการทำแท้งปลอดภัย เขาบอกว่าพรรคไม่ได้มีนโยบายเรื่องนี้ แต่สามารถช่วยได้ในบทบาทกฎหมาย ถ้าใครไม่ได้รับบริการให้มาบอกได้”

“อีกพรรคที่เราไปคุยและสนับสนุนเราคือ ไทยสร้างไทย เราคุยตั้งแต่เลือกตั้งผู้ว่าฯ เพราะกรุงเทพไม่มีสถานบริการทำแท้งปลอดภัยฟรีเลย ใครอยากใช้บริการต้องเดินทางไปถึงสิงห์บุรี ทางพรรคก็ตอบรับเรื่องนี้กับเราเป็นอย่างดี คุณหญิงหน่อยเล่าให้ฟังว่าเคยมีคนมาร้องเรียน เขาจึงตอบรับในประเด็นนี้”

นอกจากนี้ สุไลพรยังพูดถึงพรรคอื่นๆ ที่ทำงานประเด็นเรื่องทำแท้งปลอดภัยมาโดยตลอด อย่างสามัญชนและก้าวไกล และบางพรรคที่มีสมาชิกเข้าใจปัญหาและประเด็นต่างๆ ได้ดี อย่าง เพื่อไทยและเสมอภาค ซึ่งต้องรอดูว่าพวกเขาจะขับเคลื่อนในประเด็นเหล่านี้กันอย่างไร 

“พรรคเสมอภาคมีนาดา ไชยจิตต์ เป็นนักสิทธิมนุษยชนที่เข้าใจเรื่องนี้อยู่แล้ว เขาเข้าใจประเด็นนี้ส่วนเพื่อไทย เรารู้จักกับปกป้อง (ชานันท์ ยอดหงษ์) เขารู้ประเด็นที่เราผลักดัน เขาสนับสนุนเรา เพียงแต่เราไม่รู้ว่าโครงสร้างพรรคเป็นอย่างไร เมื่อเขาอยู่ในจุดนั้น อาจจะไม่ใช่คนที่มีอำนาจมากที่สุดในการกำหนดนโยบายพรรคได้ ทำให้เรื่องนี้เราไม่ค่อยเห็นออกมามากนัก”

ข้อจำกัดอีกอย่างที่สุไลพรมองว่าทำให้พรรคการเมืองไม่ได้ชูประเด็นทำแท้งขึ้นมาเป็นนโยบาย เนื่องจากกฎหมายเพิ่งแก้ไขได้ไม่นาน และภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุให้ใช้กฎหมายที่เพิ่งแก้ไขไปก่อน 5 ปี แล้วจึงกลับมาทบทวนใหม่ อย่างไรก็ตาม สุไลพรย้ำว่ายังต้องการผลักดันให้กฎหมายทำแท้งปลอดภัยเกิดขึ้นได้จริง ไม่ใช่เพียงการแก้ไขในกระดาษเท่านั้น จึงจำเป็นต้องพูดคุยกับพรรคการเมืองเพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไขได้

“เป้าหมายระยะสั้น เราอยากให้คนใช้บริการได้จริงก่อน คือ ขอให้หน่วยงานสาธารณสุขประกาศว่ามีสถานบริการที่ไหนให้ทำแท้งปลอดภัยได้บ้าง และต้องผลักดันให้หมอให้บริการ ซึ่งเราเข้าไปคุยกับหลายพรรคการเมืองอย่างที่บอกแล้ว และเป้าหมายสูงสุดของเราคือยกเลิกมาตรา 301 ไม่ให้ระบุว่าเป็นความผิดถ้าหากคนอยากจะทำแท้งปลอดภัย ซึ่งเป็นประเด็นสอดคล้องกับสิทธิมนุษยชน แต่เรารู้ว่าต้องใช้เวลาระยะยาวในการคุยกับสังคม และเราต้องผลักดันเรื่องเหล่านี้ในหลายทางไปด้วยกัน” 

สิทธิการทำงานบริการทางเพศที่รอวันถูกกฎหมาย

ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักสิทธิมนุษยชน

ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักสิทธิมนุษยชน

ในฐานะนักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องความหลากหลายทางเพศมาหลายสิบปี ศิริศักดิ์มองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีประเด็นนโยบายเรื่องเพศที่น่าสนใจทุกประเด็น และเห็นว่าเป็นพัฒนาการของสังคมต่อเรื่องเพศที่เริ่มเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งตอนนี้ไม่ได้ขับเคลื่อนแค่เรื่อง LGBT เท่านั้น แต่ยังมีการมองประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศโดยตรง เช่น การแจกผ้าอนามัยฟรีที่มีหลายพรรคยกมือสนับสนุน แต่ยังมีช่องว่างที่หลายพรรคยังไม่ได้พิจารณาการลาหยุดในวันปวดประจำเดือน หรือการออก พ.ร.บ. การขจัดการเลือกปฏิบัติ ซึ่งไม่ได้ครอบคลุมแค่เรื่องเพศ แต่รวมถึงกลุ่มคนหลากหลายที่โดนกีดกันในสังคม

“อีกเรื่องที่เป็นประเด็นน่าสนใจ คือนโยบายด้าน sex worker ซึ่งมีอยู่สามประเด็น คือ หนึ่ง-มีพรรคเสนอ พ.ร.บ. คุ้มครองการการทำงานของพนักงานบริการทางเพศ สอง-บางพรรคออกมาพูดสนับสนุน แต่ไม่ได้มีแนวทางชัดเจน และสาม-มีบางพรรคที่เห็นด้วยกับการยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ซึ่งจะได้ไม่ต้องทำให้อาชีพพวกเราเป็นอาชีพพิเศษที่จะต้องมี พ.ร.บ. เฉพาะมาคุ้มครองอาชีพเดียว พูดง่ายๆ คือทำให้มันไม่ผิดกฎหมายก็พอ” 

เนื่องจากประเด็นเรื่องพนักงานบริการทางเพศ ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายต่อความเชื่อและศีลธรรมของสังคม ศิริศักดิ์มองว่าหลายพรรคยังคงต้องมองหาจุดตรงกลางในการทำนโยบายระหว่างความต้องการพนักงานทางเพศ และศีลธรรมที่สังคมยังยึดถือ อีกทั้งในช่วงหาเสียง หลายพรรคต้องนำเสนอในนโยบายที่โดนใจคนก่อน ทำให้นโยบายที่ท้าทายความเชื่อสังคมเป็นเรื่องรองหรืออาจจะไม่ได้รับการพูดถึงมาก

“พรรคเพื่อไทยบอกเราชัดเจนว่า เขาเป็นพรรคอนุรักษนิยม อาจจะไม่มีนโยบายในเรื่องนี้ชัดเจน แต่เขาอยากให้อาชีพพนักงานบริการไม่ผิดกฎหมาย โดยไปยึดโยงกับนโยบายทางเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งรวมบริการทางเพศหรือธุรกิจบันเทิงกลางคืนในนั้นด้วย” 

 “บางพรรคจะหาจุดกึ่งกลางด้วยการร่าง พ.ร.บ. เพื่อคุ้มครองพนักงานบริการฯ ซึ่งถ้าถามจริงๆ พวกเราไม่ได้ต้องการมาก เพราะเราไม่ได้อยากเป็นอาชีพพิเศษที่ออกกฎหมายมาใหม่ แค่ยกเลิกตัวกฎหมายที่บอกว่าเราทำผิดก็พอ แต่เราเข้าใจว่าสังคมจะไม่เห็นด้วย เราก็จำเป็นที่จะต้องอยู่จุดกึ่งกลาง” 

จุดโฟกัสของนโยบายเรื่องพนักงานบริการฯ จึงอยู่ที่ว่า การร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองนี้ตอบโจทย์ต่อ sex worker มากแค่ไหน ในความคิดเห็นของศิริศักดิ์ยังร่างของพรรคที่ยังไม่ตอบโจทย์คนทำงานจริงอยู่บ้าง เช่น ร่างพระราชบัญญัติการบริการทางเพศและคุ้มครองผู้ให้บริการของพรรคก้าวไกล ที่ระบุให้พนักงานบริการฯ ต้องลงทะเบียนเพื่อเข้ารับสิทธิต่างๆ 

“เขายืนยันว่าต้องลงทะเบียนเท่านั้น แต่พนักงานบริการฯ ไม่อยากลงทะเบียน เพราะเป็นการตีตราซ้ำซ้อน แล้วสังคมยังไม่เปิดรับขนาดนั้น พนักงานบางคนมีครอบครัว เขาก็ไม่ได้อยากให้ใครรู้ว่าเขาทำงานอาชีพนี้ด้วย เรื่องการเปิดเผยอาชีพการทำงานเป็นเรื่องส่วนตัวอยู่แล้ว แต่หลักๆ คือไม่ควรให้อาชีพนี้ผิดกฎหมายและต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานเท่านั้น ทางก้าวไกลบอกว่าถ้าไม่ลงทะเบียนจะรู้ได้ยังไงว่าคนที่มารับสิทธิช่วยเหลือเป็น sex worker จริงๆ คำถามคือว่า ถ้าไม่ลงทะเบียนแล้วเขาจะกลายเป็น sex worker เถื่อนเหรอ มันไม่เกี่ยวกันเลยนะ แรงงานทั่วไปเขาก็ไม่ได้ลงทะเบียนอาชีพ เขาก็ไม่ผิดกฎหมายนะ”

“แต่เขายืนยันว่า sex worker ต้องถูกยอมรับในกฏหมาย จึงจะตั้งสหภาพ sex worker ได้ แต่คนที่ไม่ขึ้นทะเบียนในกฏหมายก้าวไกลก็ไม่ผิด เป้าหมายกฏหมายคือ สหภาพ sex worker ที่จะลืมไม่ได้ ส่วนเรื่องอื่นๆ ในร่างนี้คือ มีกลไกอำนาจต่อรองต่อผู้ว่าจ้าง ซึ่งไม่มีบัญญัติในกฏหมายแรงงานทั่วไป เพราะกฏหมายแรงงานพูดถึงการบังคับบัญชา แต่อาชีพเพศใช้วิธีคิดแบบเดียวกันไม่ได้ และมีการเก็บภาษีจากการลงทะเบียนของ sex worker รัฐจะได้รู้ว่ามีงบเท่าไหร่ในการจัดสวัสดิการกลุ่มให้เหมาะสมได้”

  ส่วนพรรคอื่นเน้นสนับสนุนและแก้ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 เช่น พรรคไทยสร้างไทยมีนโยบายยกเลิกมาตรา 6 ที่บัญญัติว่า ผู้ใดกระทำการค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณีต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 7 บัญญัติว่า ผู้ใดกระทำการค้าประเวณีต่อเพศเดียวกัน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีพระราชบัญญัติฉบับใหม่เพื่อคุ้มครองผู้ค้าประเวณีโดยกําหนดการค้าประเวณีเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่ได้มีเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการค้าประเวณี 

และมีการแก้ไข พ.ร.บ. ให้พนักงานบริการฯ ได้รับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกันตามสิทธิแรงงาน รวมทั้งไม่มีการบันทึกประวัติการทำงานหลังจากออกจากอาชีพแล้ว

“แต่ไทยสร้างไทยยังมีส่วนที่ต้องการศึกษาเพิ่มเติมอยู่ อาจจะมีการยกเลิก  พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 และร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ให้บริการทางเพศ ที่จะนำส่วนที่จะแก้ไข มาบัญญัติ และมีข้อมูลในเรื่องของตัวอาชีพนี้มากขึ้น ทั้งเรื่องการลงทะเบียน และการส่งเสริมสุขภาพของผู้ให้บริการและกำหนดไปถึงผู้รับบริการ”

ในขณะที่พรรคเสมอภาคเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ปราบปรามการค้าฯ ปี 2539 เพื่อยกเลิกโทษอาญา และเสนอให้นิยามความหมายของพนักงงานบริการใหม่ เปลี่ยนชื่อ พ.ร.บ.เพื่อลดการตีตราพนักงานบริการฯ แต่ยังคงเนื้อหาที่ป้องกันการถูกบังคับค้าประเวณีในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และยังเสนอแก้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ที่ถูกบังคับใช้กับพนักงานโดยสมัครใจ ซึ่งจะแก้ไขปัญหาการถูกจับกุมแบบเหมารวม 

“พรรคเสมอภาคเสนอทำแอพลิเคชั่นใช้ลงทะเบียนโดยสมัครใจ ถ้าหากพนักงานบริการฯ ต้องการการคุ้มครอง โดยเฉพาะกรณีถูกละเมิดหรือใช้ความรุนแรงขณะทำงาน ซึ่งพนักงานมีสิทธิถอนชื่อได้หลังจากลงทะเบียน 48 ชม. เป็นเวลาเพียงพอหากเกิดเหตุอันตรายต่อพนักงาน ในขณะเดียวกันจะได้รับการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเต็มที่ตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” 

“ส่วนพรรคที่ตรงกับความต้องการของเครือข่ายพนักงานบริการมากที่สุดคือ พรรคสามัญชน เพราะ เน้นยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 เท่านั้น ไม่จดทะเบียนแน่นอน และพรรคนี้ยังประกาศว่า จะดันให้ sex worker เข้าไปทำงานในสภาให้ได้”

อีกประเด็นที่แต่ละพรรคยังไม่รับเรื่อง แต่ศิริศักดิ์มองว่าเป็นประเด็นที่ควรผลักดัน คือ ภาพยนตร์ AV ซึ่งพรรคสามัญชนมีแนวโน้มจะเห็นด้วยที่ควรมองหนัง AV เป็นหนังประเภทหนึ่งในอุตสาหกรรมภาพยนตร์เช่นเดียวกันกับหมวดหนังดราม่าต่างๆ โดยศิริศักดิ์มองว่าควรมีการผลักดันให้เหมือนกับอุตสาหกรรมหนัง AV ในญี่ปุ่น แต่มีขอบเขตทำหนังภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน ไม่สนับสนุนให้ทำหนัง AV ที่มีเซ็กซ์กับเด็กและไม่เห็นภาพความรุนแรง 

“เราอยากให้คุยกันว่านักแสดง AV ก็มีสิทธิและศักดิ์ศรีเหมือนนักแสดงทั่วไป เขาต้องได้ค่าจ้างที่เป็นธรรม ไม่ถูกล่วงละเมิดทางเพศด้วย”  

ทั้งนี้ ศิริศักดิ์มองว่าการแก้ปัญหาเรื่องเพศทั้งหมดที่กล่าวมา ควรแก้ตัวหลักใหญ่สำคัญคือ การแก้รัฐธรรมนูญ และหวังว่าหลังการเลือกตั้งนี้จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดความเสมอภาคทางเพศจากกฎหมายหลักนี้ได้ 

“เพราะทุกวันนี้มาตรา 27 ระบุว่าชายหญิงเสมอภาคกันได้ แต่แค่ชายหญิง พอไม่มีเพศหลากหลายทำให้ไม่มีกฎหมายออกล้อตามรัฐธรรมนูญ คุณต้องเพิ่มไปเลยว่า ชาย หญิง และคนมีหลากหลายทางเพศ ชัดเจนง่ายๆ เลย เพราะทุกวันนี้ เวลาเราไปฟ้องศาล เขาจะบอกว่าไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญคือตัวตั้งตัวใหญ่ แล้วนโยบายจะตามออกมาได้”

 

ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ นโยบายที่หลายพรรคการเมืองลืม

จอมเทียน จันสมรัก นักเขียนและคนทำงานด้านความรุนแรงทางเพศ

จอมเทียน จันสมรัก นักเขียนและคนทำงานด้านความรุนแรงทางเพศ

แม้ในช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้งจะมีข่าวความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นในสังคมไม่น้อย แต่ประเด็นเรื่องความรุนแรงทางเพศก็ไม่ค่อยปรากฏในนโยบายพรรคการเมืองมากนัก ในความเห็นของจอมเทียน หลายพรรคดึงคนทำงานจริงในประเด็นทางเพศเข้าไปทำงานในพรรคการเมืองมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังมีเพียงประเด็น สมรสเท่าเทียม การร่างกฎหมายระบุคำนำหน้านาม หรือสุขภาพเพศ มากกว่าเรื่องความรุนแรงทางเพศ

“อาจเพราะยังไม่มีคนทำงานด้านความรุนแรงทางเพศเข้าไปทำงานในพรรคการเมืองมากด้วย แต่สาเหตุที่เราคิดว่าหลายพรรคไม่ค่อยพูด อาจจะยังไม่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ เพราะประเทศเรามองเรื่องนี้เป็นปกติมากๆ และประเด็นสำคัญคือ ใครที่ดันเรื่องนี้ คุณต้องเช็กตัวเองด้วยว่าคุณมีจริยธรรมในการพูดเรื่องนี้แล้วไม่โดนด่าหรือเปล่า” 

หากถามถึงนโยบายแบบไหนที่จะช่วยตอบโจทย์การแก้ปัญหาความรุนแรงทางเพศ จอมเทียนมองว่าปัญหานี้เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมโดยตรง เนื่องจากกระบวนการแจ้งความ การสอบสวน การพิสูจน์พยาน มีข้อจำกัดอยู่มาก โดยเฉพาะในเชิงวัฒนธรรมและกระบวนการทำงาน เช่น การมีพนักงานสอบสวนหญิงน้อย ทำให้ผู้ถูกกระทำไม่สะดวกใจในการแจ้งความ แม้ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีพรรคก้าวไกลเสนอนโยบายเพิ่มอัตราการจ้างตำรวจหญิงเข้ามา แต่จอมเทียนตั้งคำถามว่า ในกระบวนการรับจะเป็นอย่างไร และมีการฝึกอบรมเรื่องต่างๆ อย่างไร

“เพราะถ้าเราไปดูข้อมูลจะเห็นว่าโรงเรียนนายร้อยตำรวจไม่รับ นรต. หญิงแล้ว และถ้าจะเพิ่มคน กระบวนการเป็นแบบไหน จะรับสมัครคนอย่างไร งบประมาณมาจากไหน และใครจะเป็นคนเทรนด์ตำรวจหญิง เนื้อหาที่เทรนด์จะเป็นแบบไหน เพราะสุดท้าย ถ้าหากคุณสอนด้วยหลักสูตรเดิม ต่อให้เป็นตำรวจหญิงเข้ามา ผู้เสียหายก็ไม่ได้รู้สึกสบายใจที่จะให้คำปากคำเหมือนเดิม” 

จอมเทียนมองว่าปัญหาอีกอย่างในการทำงานเรื่องความรุนแรงทางเพศตอนนี้คือ การขาดคนทำงาน เพราะมีเคสความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ทำให้กำลังคนทำงานที่มีอยู่ไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ซึ่งเมื่อพรรคเพื่อไทยนำศูนย์พึ่งได้ขึ้นมา จึงเป็นประเด็นน่าสนใจ เพียงแต่ยังไม่เห็นแนวทางในการเพิ่มคนทำงานและงบประมาณที่จะสนับสนุน

“เพราะตอนเราไปคุยกับ พม. เขาก็จะบอกว่าถ้าอยากให้มีคนทำงาน อยากให้พม. ทำอะไรก็ต้องดูงบให้พม. ด้วย ดังนั้น เราคิดว่าอาจจะต้องเป็นนโยบายที่มีกระบวนการจับต้องได้ให้มากกว่านี้” 

ในฐานะคนทำงานที่เคยทำวิจัยในเรื่องความรุนแรงทางเพศ จอมเทียนมองว่าหากพรรคการเมืองต้องการเสนอนโยบายแก้ไขปัญหานี้ สิ่งที่ควรทำ ในประเด็นแรก คือ การรื้อปรับทัศนคติคนทำงานเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ เช่น การถามคำถามว่าผู้ถูกกระทำแต่งตัวอย่างไรในวันเกิดเหตุ หรือการถามคำถามที่กล่าวโทษเป็นความผิดของผูู้ถูกกระทำ

ส่วนประเด็นที่สอง จอมเทียนมองว่าต้องมีการปรับที่กระทรวงศึกษา การให้ความรู้เรื่องสุขภาพเพศ ความยินยอมคืออะไร เพราะรากของความรุนแรงทางเพศยังติดอยู่กับอำนาจนิยมและปิตาธิปไตย ซึ่งอยู่ในบทเรียน แต่เรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่ เพราะความเชื่อถึงความรุนแรงทางเพศเป็นวัฒนธรรมในสังคมที่มองเป็นเรื่องปกติ แต่ละพรรคอาจจะต้องมองว่าจะมีนโยบายไหนที่รให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาได้ และวางแผนเป็นช่วงเวลาที่จะทำในแต่ละปี

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือจะทำอย่างไรให้พรรคการเมืองมองเห็นว่านโยบายเรื่องนี้ก็สำคัญที่จะต้องเร่งแก้ไขไม่แพ้กัน

“เรื่องเศร้าคือว่า เมื่อเราเห็นนโยบายเรื่องเพศเยอะขึ้น คำถามคือแล้วจะเป็น rainbow washing หรือเปล่า เรามองว่าอย่างน้อยที่สุด พรรคการเมืองได้พูดแล้วก็ต้องทำ ถ้าหากไม่ทำก็ยังมีคนคอยจับตาดูได้ว่าเขาเอานโยบายมาขายเฉยๆ หรือเปล่า ซึ่งเรานับว่านี่คือความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งนะ ในขณะที่เรื่องความรุนแรงแห่งเพศ ไม่ค่อยมีพรรคการเมืองหยิบขึ้นมาขาย แสดงว่าเขาไม่ได้เห็นความสำคัญว่าจะต้องยกขึ้นมาด้วยซ้ำ” 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save