fbpx
Gender Matters เพศกำลังลื่นไหล แล้วสังคมไทยลื่นไหลแล้วหรือยัง?

Gender Matters เพศกำลังลื่นไหล แล้วสังคมไทยลื่นไหลแล้วหรือยัง?

เอกศาสตร์ สรรพช่าง เรื่อง

 

1

 

ข่าวคราวแถลงการณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม) เมื่อไม่นานมานี้ว่า พระราชบัญญัติเรื่องการแต่งงานและการมีชีวิตครอบครัว (Right to marriage and family life) ของคนรักเพศเดียวกันจะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภาช่วงเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งถือว่าเป็นไปตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล และตอนนี้ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต หลังจากผ่านการรับฟังความเห็นมาแล้ว 5 ครั้งจากทั่วประเทศ ผลออกมาว่ามีผู้เห็นด้วย 78.65% ไม่เห็นด้วย 10.93% ไม่ขอออกความเห็นอยู่ที่ 10.42%

ถ้าใครตามเรื่องนี้อยู่ก็น่าจะพอรู้นะครับว่ามีความเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปี 2555 เรื่อยมาจนกระทั่งปีนี้ ก็ต้องถือว่างวดเต็มที ซึ่งคาดว่าการทำร่างกฎหมายน่าจะเสร็จภายในเดือนกันยายน และจะเข้าสู่สภาในเดือนธันวาคมนี้

หากมองจากตัวเลขที่ได้จากการสำรวจความคิดเห็น ต้องบอกว่าคนไทยมีทัศนคติเปิดกว้างกับคนรักเพศเดียวกันมากกว่าในอเมริกาเสียอีก แม้จะมีความเคลื่อนไหวต่อสู้มาตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา และคนอเมริกันคุ้นเคยกับการถกเถียงในเรื่องนี้ดี แต่กลายเป็นว่าโพลส่วนใหญ่ที่ออกมากลับเป็นไปในแนวทางเดียวกัน คือมีคนที่ไม่เห็นด้วยมากกว่าสนับสนุน

อย่างไรก็ดี ตอนนี้คนรักเพศเดียวกันในสหรัฐอเมริกา (บางรัฐ) ก็แต่งงานกันได้เป็นที่เรียบร้อย ฉะนั้นความเป็นไปได้ในเรื่องนี้ก็ดูท่าว่าจะมีแนวโน้มในเชิงบวกมากกว่า

 

2

 

ไม่นานก่อนหน้านี้ก็มีข่าวใหญ่ในแวดวง LGBTQ เรื่องมิสยูนิเวิร์สของสเปน อังเฆล่า โปนเซ่ กามาโช่ เป็นคนแรกของโลกที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศ หลังจากที่กองประกวดของมิสยูนิเวิร์สเปิดโอกาสให้คนข้ามเพศสามารถลงประกวดในเวทีนี้ได้ตั้งแต่ปี 2555  ส่วนประเทศไหนจะมีวิธีการจัดการอย่างไร อันนี้ก็แล้วแต่การรองรับทางกฎหมายหรือความเหมาะสมของแต่ละประเทศ นับว่าเป็นก้าวอีกก้าวหนึ่งที่จะนำพามนุษยชาติไปสู่โลกใหม่ที่นิยามเรื่องเพศเปลี่ยนไปจากเดิม

ผมในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตแบบคนรักเพศเดียวกันอย่างเปิดเผย (ที่ว่าเปิดเผยคือหมายถึงเรามีชีวิตครอบครัวที่เป็นที่ยอมรับความสัมพันธ์ของเราทั้งสองครอบครัว) มองสองเรื่องนี้ในหลายๆ แง่มุมด้วยกัน เลยคิดว่าน่าจะเป็นการดีหากเราได้มาแชร์ความคิดเห็นบางประเด็นที่น่าช่วยกันคิดต่อ

 

3

 

ประเด็นแรกที่อยากคิดถึงต่อจากเรื่องของกฎหมายก็คือ การออกแบบระบบการศึกษาที่เสริมสร้างความเข้าใจและยอมรับเรื่องเพศให้ดีมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หลานคนหนึ่งในครอบครัวเราเริ่มโตมากขึ้น เริ่มสงสัยเรื่องความสัมพันธ์ของผมกับแฟน บางครั้งก็ถามถึงความสัมพันธ์ของผมกับครอบครัวของเขาว่า ผมเป็นใคร เข้ามาเกี่ยวพันกับครอบครัวเขาได้อย่างไร ทำไมไปไหนกับบ้านของเขาตลอดทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกในครอบครัวเหมือนลุง ป้า น้า อาคนอื่นๆ ซึ่งเขาเห็นมาตั้งแต่เล็กๆ

“ตกลงว่าเจ็ก (ชื่อผม) กับเจ็ก (ชื่อแฟน) เป็นเพื่อนกันใช่ไหม…แล้วทำไมเจ็กถึงยังไม่มีแฟนกันสักที”

ไม่ก็

“ทำไมเจ็กยังไม่แต่งงาน อยากเล่นกับลูกเจ็ก”

ทั้งพ่อแม่ของหลานๆ ทั้งผมทั้งแฟน บางทีก็ไม่รู้จะตอบยังไงเหมือนกัน

ใครไม่อยู่ในสถานการณ์แบบนี้อาจคิดว่า ก็บอกไปเถอะ ผมก็เคยคิดแบบนั้น แต่พอไปอยู่ตรงนั้นจริงๆ ผมกลายเป็นเหมือนทหารใหม่เข้าสนามรบ ถึงมีปืนแต่ก็ไม่กล้ายิง ในบรรยากาศของครอบครัวซึ่งมีหลายเจนเนอเรชั่นนั่งอยู่ในโต๊ะอาหารและคำถามนี้โผล่ขึ้นมา เอาเข้าจริงๆ มันก็ไม่ง่ายนัก ต่อให้เราทุกคนในโต๊ะนั้นเข้าใจและยอมรับเรื่องแบบนี้ดีแล้วก็ตามที มันก็ยังไม่ใช่ประเด็นที่เราจะพูดได้เลยทันที โดยเฉพาะการตอบปัญหาแบบนี้กับเด็กเจ็ดขวบทั้งชายหญิงที่นั่งหน้าสลอนตาใสแป๋วอยู่ข้างๆ

“เจ็กสองคนเป็นแฟนกันน่ะ แต่ที่มีลูกไม่ได้เพราะเราทั้งคู่ไม่มีรังไข่”…อันนี้แค่นึกในใจ

เรื่องเหล่านี้อาจเป็นเรื่องที่ทั้งโรงเรียนและครอบครัวสมัยใหม่ต้องเตรียมรับมือให้ดี เด็กในช่วงวัยตั้งแต่ 7-13 ปีจะเริ่มเป็นเด็กที่สนใจเรื่องเพศและเริ่มต้นหาว่าร่างกายของตัวเองมีอะไรอีกบ้างที่เขายังไม่รู้ เขาจะเริ่มมองหาความสัมพันธ์กับเพื่อนในรูปแบบที่อาจจะไม่ใช่เพื่อนเล่น เพื่อเป็นส่วนประกอบในการค้นหาตัวเอง อาจไม่ใช่แค่เพศตรงข้าม แต่เป็นกับเพศเดียวกัน เรื่องเหล่านี้พ่อแม่และครูต้องดูปฏิกิริยาของเด็กๆ ว่าพวกเขาคิดเห็นอย่างไรกับเพศสภาพของตัวเอง นั่นคือประเด็น–การศึกษาก็ต้องเปลี่ยนตามเพศที่ลื่นไหลเช่นกัน

 

4

 

ผมมีเพื่อนที่เป็นครอบครัวรักเพศเดียวกันและมีลูก เคยแชร์เกี่ยวกับโรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่มีความคิดแบบเสรีนิยมจริงๆ และให้ความสำคัญกับเด็กมาก เพื่อนผมเล่าว่าตั้งแต่รับเด็กเข้าเรียนและต้องการรู้ว่าสภาพครอบครัวของเด็กเป็นแบบไหน เช่นว่า อยู่กับพ่อแม่ทั้งคู่ หรืออยู่กับใครคนใดคนหนึ่ง ผู้ปกครองที่มีลักษณะแบบที่เป็นคนรักเพศเดียวกัน โรงเรียนต้องการรู้อย่างจริงจังเพื่อการจัดการเรื่องทัศนคติที่ถูกต้องกับเด็กๆ และไม่สร้างสถานการณ์ที่ลดคุณค่าของความเป็นมนุษย์เพียงเพราะความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติหรือลักษณะของครอบครัว

โลกกำลังเปลี่ยนไป อนาคตอีกไม่ไกลจากนี้ครอบครัวจะไม่เหมือนครอบครัวที่อยู่ในแบบเรียนอีกต่อไป  พ่อแม่ไม่ได้มีแบบเดียวตามตำรา โรงเรียนกับครอบครัวก็ต้องทำงานเป็นทีมเดียวกันไปอย่างกลมกลืน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดกรณีของการดูแคลนกันในหมู่เด็กๆ ซึ่งเป็นการเพาะเมล็ดแห่งความเกลียดชังให้พวกเขาอย่างไม่รู้ตัว น่าเสียดายที่โรงเรียนที่มีแนวคิดเปิดกว้างแบบนี้ ผมคิดว่ามีไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์

ในทางกลับกัน ร้อยละ 99 ของโรงเรียนที่สอนกันอยู่ในประเทศไทย ไม่ได้เตรียมความพร้อมเรื่องเพศศึกษาเลย อย่าหวังไปถึงเรื่องที่ซับซ้อนกว่าการหาถุงยางมาใส่หรือให้เด็กหญิงเข้าใจหัวนมตัวเอง ทั้งๆ ที่ประเด็นเหล่านี้มีผลกระทบทางสังคมมากมาย มากกว่าการสอบได้คะแนนท็อปในวิชาคณิตศาสตร์ด้วยซ้ำ เพราะทัศนคติเหล่านี้จะติดตัวไปจนโต แต่ ‘ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา’ อาจหายไปเมื่อความสนใจของเด็กๆ เปลี่ยนไป

ความอ่อนด้อยเรื่องการเสริมทักษะทางสังคมและความเป็นพลเมืองของรัฐไทย ทำให้เห็นวิธีการแก้ปัญหาสังคม (ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเพศ) แบบชวนอึดอัดและไม่มีศิลปะในการนำเสนอ ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าจะเหมาะกับสภาพสังคมที่ซับซ้อนและไม่ได้มีแค่เด็กหญิงเด็กชายอีกต่อไปหรือไม่ ยิ่งในสังคมไทยซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดของสังคมปากว่าตาขยิบด้วยแล้ว บางทีเราอาจต้องการสิ่งที่แยบยล ลึกซึ้ง มีศิลปะมากกว่านี้

ที่สำคัญ ทั้งครู พ่อแม่ และรัฐ ต้องเข้าใจสังคมตอนนี้ก่อนว่า ข้างนอกรั้วโรงเรียนเด็กไปไกลกว่าที่พวกเราคิดมาก ไม่มีเด็กคนไหนมานั่งเล่นแคะขนมครกดีดลูกแก้วใสๆ อีกแล้ว

 

5

 

เรื่องเพศยังอาจโยงไปถึงอีกมิติหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การเปิดกว้างทางเพศจะนำเราไปสู่สังคมแบบพหุวัฒนธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าหากเราสามารถผ่านกฎหมายเรื่องการแต่งงานเพศเดียวกันได้จริงๆ และกลายเป็นประเทศแรกในเอเชีย ผมเชื่อว่าเงื่อนไขนี้เอื้อกับการประกอบธุรกิจหลายอย่าง โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและการลงทุนที่จะเกิดขึ้นจากการเปิดกว้างเรื่องเพศ

เพราะศักยภาพของประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องนี้แทบไม่มีเลย ประเทศที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนี่ตัดทิ้งไปได้เลย ส่วนประเทศอื่นที่รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมจีนซึ่งค่านิยมหลักยังให้ความสำคัญกับความเป็นเพศชาย ก็ยังไม่มีประเทศไหนก้าวหน้าไปมากนัก (ยกเว้นญี่ปุ่นในบางเมืองที่เปิดโอกาสให้คนรักเพศเดียวกันแต่งงานกันได้)

การเปิดโอกาสเรื่องการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน ควรเปิดไปพร้อมกับการมองหาความเป็นไปได้ในการชักจูงเพื่อนบ้านให้เข้ามาลงทุน เช่น การซื้ออสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ประเทศไทยอาจกลายเป็นศูนย์กลางของที่อยู่อาศัยของคนรักเพศเดียวกันในอนาคตในแถบเอเชียก็ได้

สิ่งสำคัญที่เราต้องคิดต่อจากนั้นก็คือ เมื่อกฎหมายกำลังเปลี่ยน ตลาดแรงงานก็ต้องเปลี่ยน ทัศนคติการรับคนเข้าทำงาน การไม่เหยียดเพศกันของคนในสังคม การไม่สร้าง sterotype ในวงการสื่อเพื่อตีตราให้กับคนบางกลุ่ม เรื่องเหล่านี้หากเปลี่ยนได้ ไม่มีทางที่สังคมจะตกต่ำลง ตรงกันข้าม สังคมที่เปิดกว้างทางความคิดจะนำพาไปสู่เสรีภาพและภราดรภาพของสังคมในอนาคต ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมาจากการศึกษา

 

6

 

Alvin Toffler นักอนาคตศาสตร์คนสำคัญ เคยบอกว่า “อนาคตมักมาเร็วกว่าที่คิด และมันไม่เคยมาตามลำดับขั้นอย่างที่ควรจะเป็น” โลกของลูกๆ หลานๆ ของเราก็เช่นกัน การรับมือกับเด็กๆ เราคงไม่สามารถเอาภาพจำลองของวัยเด็กของเรามาใส่แล้วคิดว่ามันใช้แทนกันได้ หากคิดที่จะทำแบบนั้น อนาคตเมื่อลูกหลานเข้าสู่วัยรุ่น เราก็อาจเป็นผู้ปกครองตกยุคอย่างแท้จริง ซึ่งไม่ใช่แค่ไม่ทันลูกนะครับ แต่ไม่ทันโลกไปเลย

มุมมองเรื่องเพศที่กำลังเปิดกว้างขึ้นเป็นเรื่องท้าทายพอๆ กับการใช้ชีวิตบนดาวอังคาร หากเราเปิดกว้างได้จริง มันจะเปลี่ยนบรรทัดฐานของสังคมไปทั้งหมด โครงสร้างอำนาจ ความเท่าเทียม ระบบการศึกษา ฯลฯ แต่ก่อนจะไปถึงความท้าทายเหล่านั้น ความท้าทายเล็กๆ ของเราก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นภายในรั้วบ้านของเราเอง พ่อแม่ต้องเข้าใจและยอมรับถึงการเปลี่ยนแปลงในครอบครัว ก่อนที่เราจะปล่อยเขาไปเผชิญการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

 

7

 

ผมเข้าใจว่าเหตุการณ์แบบนี้เป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน สำหรับตัวผม สำหรับครอบครัวคนจีนของแฟนผม สำหรับหลานชายหลานสาวผม ตอนนี้เหตุการณ์แบบนี้ยังมีไม่มากนัก ที่ในครอบครัวจะมีลุงป้าน้าอาที่มีแฟนเป็นคนเพศเดียวกัน แต่ในรุ่นลูกหลานของเรา มันน่าจะมีมากขึ้นแน่ๆ แต่การที่เราทั้งคู่สามารถเดินมาถึงวันที่หลานๆ กำลังตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์แบบใหม่ที่เขาเห็น ผมมองว่านี่เป็นโอกาสมากกว่าปัญหา เป็นโอกาสที่จะได้แบ่งปันบรรทัดฐานใหม่ของสังคมให้เขาได้เข้าใจ

ผมเองก็ยังไม่รู้ว่าควรต้องทำอย่างไร ต้องเริ่มจากตรงไหนเพื่อบอกหลานๆ หรือว่าปล่อยให้เวลาได้ทำงานของมันไป หรือจะต้องคุยกันในหมู่ผู้ใหญ่ก่อนเพื่อจะได้เข้าใจตรงกัน แต่อย่างไรเสีย นี่คือการเติบโตไปด้วยกัน เราคงไม่อยากได้ยินว่าหลานเราไปเรียกคนอื่นว่าเป็นตุ๊ดหรือกะเทยด้วยน้ำเสียงเดียดฉันท์

ถือว่าเป็นโอกาสของการเรียนรู้และปรับตัวกันต่อไป จนกว่าเราจะสามารถเข้าใจและยอมรับความแตกต่างของกันและกันได้ด้วยหัวใจเมตตาและเปี่ยมด้วยปัญญา

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save