fbpx
ทำไมไม่ไปทำอะไรที่มันสร้างสรรค์

ทำไมไม่ไปทำอะไรที่มันสร้างสรรค์

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

 

ลมหนาวต้นเดือนพฤศจิกายนพัดมาให้ชื่นใจเสียที แม้เบาหวิว แต่ก็ทำให้รู้สึก ฉันนั่งมองต้นกระบองเพชรที่วางเรียงรายตรงระเบียงชั้น 20  ลมโกรก และกาแฟในมืออร่อยกว่าทุกวัน ต้นเล็กในกระถางเล็ก นิ่งสงบ ไม่สั่นไหวไปตามลม — ก็แหง เพราะมันไม่มีใบ แต่มีอยู่ต้นหนึ่งที่ใหญ่โตกว่าเพื่อน แทงเนื้อตัวแย่งกันออกจากกระถาง 3-4 แง่ง ดูเหมือนว่ากระถางจะเล็กเกินไปสำหรับมัน

 

ฉันได้กระบองเพชรต้นนี้เป็นของขวัญปีใหม่ เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว เป็นหน่อเล็กอุ๊ปุ๊ ฝังอยู่ในดินกระถางอย่างน่ารัก ไม่มีวี่แววว่าจะโตได้ขนาดนี้ด้วยซ้ำ และแม้จะเลี้ยงมันแบบ ‘ปล่อย’ คือให้น้ำบ้าง ไม่ให้บ้าง ย้ายบ้านกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ก็หอบหิ้วมาด้วยแบบไม่ได้ใส่ใจอะไรนัก พอรู้ตัวอีกที กระบองเพชรต้นนี้ก็แตกหน่อจนเรียกได้ว่าเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว ขยายใหญ่จนกระถางเอียงทำท่าว่าจะรับน้ำหนักไม่ไหว

ฉันรู้สึกไม่ค่อยสบายใจนักที่กระบองเพชรต้องอึดอัดอยู่ในนั้น ทั้งที่อากาศดีขนาดนี้ เห็นทีจะต้องเปลี่ยนกระถางอย่างจริงจังเสียที

 

1

 

อันที่จริง คนเราก็ควรได้เปลี่ยนกระถาง

นึกย้อนกลับไปตอนเด็ก ตอนที่พวกเราทุกคนต้องออกไปหน้าชั้นเพื่อบอกว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” คิดกี่ทีก็ขำ เด็ก 20-30 คน มีคำตอบวนอยู่แค่ไม่กี่อย่าง ตำรวจ ทหาร คุณครู หมอ จะมีโผล่มาเท่ๆ บ้าง ก็เช่นนางสาวไทย หรืออยากเป็นผู้ใหญ่ ด้วยความที่เป็นเด็กห้าว ฉันเดินออกไปหน้าห้องอย่างมาดมั่น เพื่อบอกว่าอยากเป็นนักบินอวกาศ

ทุกคนหัวเราะ แม้แต่คุณครูก็ขำ มันคงดูไกลตัวเกินไป เป็นไปไม่ได้เกินไป และดูไร้สาระเกินไป

แต่จะว่าไป ก็เพราะพวกเราเห็นโลกแค่นั้น เราถูกสอนมาแค่นั้น และกระถางก็เล็กแค่นั้น จะเอาอะไรมาคิดใหญ่โตจนเกินตัว

ตอนเป็นวัยรุ่น แม้เราจะได้ขยายกระถางขึ้นมานิดหน่อย แต่ผู้ใหญ่ก็ยังกังวลกลัวว่าเราจะออกนอกลู่นอกทาง ยัดเวลาเรียน และตารางกิจกรรมมาให้เป็นแบบแผน เพื่อที่จะไม่ให้เรามีเวลาคิดอย่างอื่น

การเรียนหนังสือไม่ใช่ไม่ดี แต่ดูเหมือนว่าทุกความสนใจอื่นที่ไม่ใช่การเรียน ล้วนเป็นเรื่องไร้สาระ เป็นได้แค่งานอดิเรก อย่าแหยมขึ้นมามีความสำคัญ — เพราะเดี๋ยวจะเสียอนาคต

ฉันนึกสงสัย อนาคตที่ว่านั้นคืออะไร

เดินตามกันไป ฝืนใจกันไป ทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่บอกว่าถูกว่าควร จนหลายครั้ง เด็กหลายคนไม่กล้าแม้แต่จะฝัน ไม่กล้าแม้แต่จะเป็นในสิ่งที่ตัวเองเป็น

เราอยู่กันมาแบบนี้ จนคิดว่าเส้นทางแบบนี้คือความจริงแท้ คือสัจธรรม ทั้งที่โลกนอกกระถางเขาไปถึงไหนต่อไหนกันแล้ว

 

2

 

ฉันเพิ่งรู้สึกว่าตัวเองได้กระถางใบใหญ่ขึ้นมาก ก็ตอนที่เรียนจบ แต่สิ่งที่น่ากลัวคือ ที่ผ่านมากว่า 22 ปีของชีวิตคน เหมือนเราเพิ่งได้เริ่มเดินก้าวแรกของตัวเองจริงๆ ก็ตอนนี้

หน่ออ่อนที่เคยเล็กน่ารักในกระถาง พยายามแทงแง่งออกมาทั้งชีวิต เพื่อมาเจอว่า แง่งของเราก็เป็นแค่หน่ออ่อนอยู่ดี เมื่อมีสนยักษ์ไซเปรสตั้งตระหง่านอยู่ข้างนอกหลายสิบต้น

ถึงแม้เราจะได้กระถางใบใหญ่ แต่เราก็ยังอยู่ในกระถาง แม้ตามกฎหมายเราจะได้รับการนิยามว่าเป็น ‘ผู้ใหญ่’ แต่หนังบางเรื่อง หนังสือบางเล่ม เพลงบางเพลง เราก็ยังถูกปิดกั้นไม่ให้เสพ ทำเหมือนว่าเรายังเป็นหน่ออ่อนที่คิดเองไม่เป็น ตัดสินเลือกทางเดินชีวิตตัวเองไม่เป็น

และคุณจงเชื่อฟังเรา

หลายครั้งที่ถ้ามีคนหนุ่มสาวสักคน สักกลุ่ม ลุกขึ้นมาทำหรือแสดงความคิดเห็น ที่ ‘แหลม’ หรือ ‘ไม่เข้าพรรคเข้าพวก’ พวกเขาก็มักจะถูกผู้ใหญ่โยนประโยคคลาสสิกลงมาว่า “ทำไมไม่ไปทำอะไรที่มันสร้างสรรค์”

แล้วอะไรคือสร้างสรรค์ เดินตามร่องตามรอยที่มีคนขีดไว้ สงบเสงี่ยมเจียมตัวอยู่ในร่องในรอย ทำสิ่งที่มีคนบอกว่าถูกว่าดี อย่างนั้นหรือ

ความสร้างสรรค์คือการคิดสิ่งใหม่ ทำสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำ แต่พอมีใครสักคนทำขึ้นมา คิดแหวกไปจากขนบสังคมขึ้นมา ก็มักจะถูกหาว่าไม่สร้างสรรค์ ทั้งที่คำพูดพวกนี้ต่างหากที่ไม่สร้างสรรค์เอาเสียเลย

 

3

 

เด็กรุ่นใหม่เสพโลกได้ทั้งโลกผ่านอินเทอร์เน็ต มองทะลุออกนอกกระถางได้ แม้บางครั้งจะถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้เดินไปโดยง่าย แต่โลกจริง วัยรุ่นทั้งหลายต้องรับมือกับเส้นระหว่างการเชื่อฟังและการเป็นอิสระ

ทุกคนรู้ดี เราต่างก็ต้องประนีประนอมกับโลกในฝันและโลกแห่งความเป็นจริง ชีวิตไม่มีอะไรง่าย แต่พลังของคนหนุ่มสาวก็เป็นพลังที่เปลี่ยนโลกมาแล้วทั้งนั้น

ในวัยวันที่มีแรง ในวัยวันที่กล้าคิด กล้าสงสัย เราควรตอบคำถามที่ว่า “ทำไมไม่ไปทำอะไรที่มันสร้างสรรค์” ด้วยการสร้างสรรค์สิ่งที่ตัวเองเชื่อ

 

ลมหนาวงดงาม เกินกว่าจะอยู่แค่ในกระถางเล็กๆ

 


Illustrated by : Shhhh

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save