fbpx
ความมั่งคั่งของชาติ การก้าวข้ามตัวเลข GDP และนัยยะจาก Code Red ด้านสภาพภูมิอากาศ

ความมั่งคั่งของชาติ การก้าวข้ามตัวเลข GDP และนัยยะจาก Code Red ด้านสภาพภูมิอากาศ

ตัวชี้วัดที่ถูกรายงาน ติดตาม และตั้งเป้า เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจมากที่สุดก็คือ Gross Domestic Products หรือ GDP ซึ่งรวบรวมมูลค่าสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นในประเทศในช่วงเวลาหนึ่ง มันเป็นตัวเลขวิเศษที่ทำให้เห็นภาพทั้งภาคการผลิตสินค้า-บริการ มูลค่าเพิ่ม รายได้ และรายจ่ายที่เกิดขึ้นได้พร้อมกัน

ในการวัดความร่ำรวยของประชาชนก็มักจะใช้ GDP per capita ซึ่งนำมูลค่า GDP มาหารเฉลี่ยรายคน หากตัวเลขดังกล่าวสูงก็แปลว่ามีผลผลิตต่อคนมาก คนในประเทศโดยเฉลี่ยก็มีรายได้มาก ซึ่งรายได้นั้นก็สามารถนำไปแปลงเป็นชุดการบริโภคที่ถูกใจ หรือจะนำไปลงทุนต่อได้มาก

อย่างไรก็ตาม ก็มีคนพูดถึงข้อเสียของ GDP และยังบอกว่าเราไม่ควรบ้าตัวเลข GDP หรือ GDP per capita มากเกินไป ด้วยเหตุผลหลายอย่าง [1]

เหตุผลแรกที่มักได้รับการพูดถึงก็คือ ตัวเลข GDP ไม่นับรวมบางกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่สามารถตีมูลค่าเป็นตัวเงินได้ เพราะโลกของเราไม่ได้มีตลาดสำหรับทุกสินค้าและบริการ (หลายอย่างก็ไม่จำเป็นต้องมีตลาด) แม้ว่าจะมีความพยายามตีมูลค่าให้การทำงานบ้าน งานกิจกรรมทางสังคม กีฬา หรืองานศิลปะ แต่มูลค่าเหล่านั้นน่าจะถูกประเมินค่าต่ำกว่าคุณค่าของพวกมัน

ประเด็นที่สองที่ตามมาก็คือ ผลกระทบภายนอกทั้งที่ดีและไม่ดีก็ไม่ได้ถูกนับใน GDP เช่นกัน ทั้งที่มันสร้างหรือทำลายมูลค่าเพิ่มให้กับคนอื่นๆ เช่น การเผานาข้าวซึ่งน่าจะเพิ่ม GDP ให้กับหมวดเชื้อเพลิงและสาธารณสุขอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้สะท้อนผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คน หรือกิจกรรมบางอย่าง เช่นการตัดต้นไม้หรือประมง ก็ถูกวัดค่าตามมูลค่าตลาดของมันเท่านั้น แต่ไม่มีการประเมินผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อม (ที่ทุกคนต้องแบกรับ) ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมเหล่านี้

ประเด็นที่สามคือ GDP ยังถูกโจมตีอย่างมากเรื่องการไม่ได้วัดคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคน การที่ GDP สูงไม่ได้แปลว่าคุณภาพชีวิตดีเสมอไป เช่น เมืองที่เศรษฐกิจรุ่งเรืองแต่กลับมีปัญหาหมอกควัน PM2.5 การบริโภคภาครัฐที่สูง (เพิ่ม GDP) แต่ไม่ได้ทำให้คนในประเทศดีขึ้น การที่ GDP กระจุกตัวอยู่กับคนบางกลุ่มขณะที่คนส่วนใหญ่ยังยากจน และการที่ GDP ไม่สามารถชี้วัดความยั่งยืนได้ แม้จะพยายามรวมผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเข้าไปก็ตาม [2]

แต่ประเด็นพื้นฐานที่สุดและเป็นเรื่องที่เราไม่ค่อยพูดถึงก็คือ GDP นั้นเป็นตัวแปร flow ไม่ใช่ stock จึงวัดความมั่งคั่งของชาติหรือประชาชนไม่ได้ตั้งแต่แรก เพราะ GDP สามารถบอกได้แค่ว่ารายได้โดยรวมมีมูลค่าเท่าใดในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่ความมั่งคั่งของประชาชนหรือของชาติคือ stock ของสินทรัพย์ (asset) ที่มีอยู่ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับเรา หากเรานำมันมาใช้งาน

ยกตัวอย่างเช่น การที่ประเทศมีน้ำมันสำรองอยู่ถือเป็นสินทรัพย์ของประเทศ แต่ก็เป็นสินทรัพย์แบบที่ไม่ได้สร้างผลตอบแทนจนกว่าจะถูกขุดขึ้นมาขาย โดยการขายน้ำมันจะทำให้ GDP เพิ่มขึ้น แต่ความมั่งคั่งของชาติลดลงในปริมาณเท่ากัน ถ้าหากไม่นำรายได้ไปลงทุนสำรวจน้ำมันเพิ่มหรือไปสร้างสินทรัพย์อื่นๆ ขึ้นมาทดแทน ประเทศนี้ก็จะมีความมั่งคั่งลดลง

ในช่วงโควิด-19 ตัวเลข GDP มีความผันผวนขึ้นลงมาก สะท้อนรายได้ของผู้คนในแต่ละช่วงเวลา แต่เราก็ต่างรู้ว่าสินทรัพย์ที่มีอยู่ในประเทศไทยก็ยังแทบจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป โครงสร้างพื้นฐาน อาคาร เครื่องจักร พื้นที่ธรรมชาติ หรือความรู้ที่มีอยู่ในสมองคนไทย ไม่น่าจะหายไปมากอย่างรายได้ ความมั่งคั่งของเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากเพียงแค่ถูกดองเอาไว้ชั่วคราว แต่เมื่อสถานการณ์กลับมาดีขึ้นก็จะสามารถนำสิ่งที่มีมาสร้างผลตอบแทนได้อีกครั้งหนึ่ง

ความมั่งคั่งโดยรวมของชาติ

เพื่อให้ทั่วโลกเลิกยึดติดกับ GDP นักเศรษฐศาสตร์ด้านความยั่งยืน และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment Programme – UNEP) พยายามพัฒนาตัวชี้วัด ‘ความมั่งคั่งโดยรวม’ (Inclusive Wealth) ซึ่งเป็นการวัดสินทรัพย์ที่มีอยู่ในประเทศจริงๆ โดยพยายามวัดสต็อก (stock) ทุนในหลายมิติ ได้แก่ ทุนการผลิต (Productive Capital) ซึ่งเป็นเครื่องมือเครื่องจักร ทุนมนุษย์ (human capital) และทุนทางธรรมชาติ (natural capital) [3]

ขึ้นชื่อว่า ‘ทุน’ สิ่งเหล่านี้ก็คือสิ่งที่เราใช้เพื่อสร้างผลผลิตและรายได้ขึ้น ประเทศที่มีทุนมากหรือมีความสามารถในการใช้ทุนเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าที่อื่น ก็จะสร้างผลตอบแทนได้มาก

ในขณะเดียวกัน ทุนก็มีค่าเสื่อมราคา (depreciation) การเอาแต่ใช้งานแต่ไม่ลงทุนทดแทนอย่างเพียงพอ จะทำให้ทุนเราหายไป และถ้าหากไม่มีอะไรมาทดแทน ประเทศและผู้คนในยุคต่อๆ ไปก็จะยากจนลงกว่าอดีต

ข้อมูลล่าสุดของ UNEP แสดงให้เห็นว่า ในช่วงปี 1990 – 2014 ประเทศส่วนใหญ่มี GDP ต่อหัวเพิ่มขึ้นและความมั่งคั่งต่อหัวก็เติบโตด้วย แม้ว่าจะมีอัตราการเติบโตน้อยกว่า GDP ก็ตาม แต่ก็มีบางประเทศที่ GDP เพิ่มขึ้นโดยที่ความมั่งคั่งลดลง เช่น กาตาร์และคูเวต ซึ่งใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรวดเร็ว ส่วนบางประเทศอาจมี GDP ลดลง แต่ก็อาจมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นได้ เช่น เซอร์เบียและอัฟกานิสถาน ในขณะที่ประเทศที่เป็นรัฐล้มเหลวอย่างคองโก เป็นกลุ่มที่ลดลงทั้งความมั่งคั่งและ GDP

ที่มา: https://public.tableau.com/views/IW_GDP/InclusiveWealthvs_GDPgrowth?:language=en-US&publish=yes&:display_count=n&:origin=viz_share_link

ข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ กลุ่มประเทศรายได้สูงยังมีความมั่งคั่งต่อหัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (เฉลี่ย +0.74% ต่อปี) แม้ว่าการเติบโตของ GDP จะไม่ได้สูงมาก แต่ประเทศรายได้ปานกลางระดับบน ปานกลางระดับล่าง และรายได้ต่ำมีการเติบโตของความมั่งคั่งโดยรวมต่อหัวต่ำกว่า (+0.34%, -0.18%, -0.12% ตามลำดับ) ซึ่งแปลว่าโดยรวมแล้วยังไม่มีสัญญาณว่า ประเทศกำลังพัฒนาจะสามารถลดช่องว่างของความมั่งคั่งนี้ลงได้

คุณภาพการพัฒนาความมั่งคั่งของไทย

จากกราฟแรก เราจะเห็นได้ว่าพัฒนาการทางเศรษฐกิจของไทยนั้นอยู่ในกลุ่มพอใช้ได้ โดยมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงพอใช้ แต่ขณะเดียวกัน สินทรัพย์ของประเทศไทยก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พอๆ กับประเทศรายได้สูง แม้จะยังไล่กวดประเทศด้านบนไม่ทัน แต่ก็ไม่ได้แย่เสียทีเดียว

ในรายละเอียด การเติบโตของไทยเป็นการเติบโตที่ต้องเสียสละทรัพยากรธรรมชาติไปมากโดยเฉพาะในอดีต จากเดิมที่มีน้อยอยู่แล้ว เพียง 6.1 พันดอลลาร์สหรัฐ (คงที่ปี 2005) ต่อคน ก็ลดลงเรื่อย ๆ จนเหลือเพียง 4 พันดอลลาร์สหรัฐต่อคน แต่ในเวลาเดียวกัน เราได้เพิ่มทุนการผลิตพวกเครื่องมือเครื่องจักรขึ้นมาอย่างมาก จากที่เคยมี 5.5 พันดอลลาร์สหรัฐ กลายเป็น 1.4 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ ทุนมนุษย์ต่อหัวของไทยก็เพิ่มขึ้นพอสมควรจากการเข้าถึงระบบสาธารณสุขและการศึกษาที่กว้างขวางขึ้น จึงมีทุนเพิ่มขึ้นจาก 2 หมื่นดอลลาร์สหรัฐเป็น 2.6 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ

เราจึงพอเห็นแนวทางว่าที่ผ่านมาประเทศไทยเติบโตและมั่งคั่งขึ้นมาได้ ไม่ได้เพราะพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติจนเกินเหตุ แต่เราได้พัฒนาสินทรัพย์แบบสร้างโดยมนุษย์อย่างมาก รวมถึงการลงทุนในมนุษย์ (ซึ่งควรโตได้มากกว่านี้)

ที่มา: UNEP คำนวณโดยผู้เขียน

การลดลงของทุนธรรมชาติเกิดกับทั้งทุนแบบหมุนเวียนและไม่หมุนเวียน ตัวที่ลดลงมากก็คือพลังงานฟอสซิล ซึ่งลดลงเหลือเพียง 1 ใน 3 จากที่เคยมีเมื่อ 24 ปีก่อน ทรัพยากรประเภทประมงของไทยก็ลดลงอย่างมากเช่นกัน ในขณะที่ทรัพยากรป่าไม้ต่อหัวประชากรก็ลดลงเล็กน้อยมาตลอด

จากรายงานดังกล่าว เรายังเห็นว่าประเทศไทยยังมีความเสียหายจากคาร์บอนมาตลอด และผลิตภาพการผลิตรวม (Total Factor Productivity – TFP) ของประเทศไม่ได้ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีหลายช่วงที่ติดลบค่อนข้างรุนแรงด้วย (โดยเฉพาะปี 1990-2000) แปลว่าเราไม่ค่อยมีประสิทธิภาพในการสร้างประโยชน์จากความมั่งคั่งเท่าไหร่นัก นอกจากนี้ UN ยังจัดให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านทุนสูงสุด (กลุ่มคนรวยสุด 10% ถือครองสินทรัพย์มากกว่า 70% ของทั้งประเทศ) แถมสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำก็ยังไม่ดีขึ้นอีกด้วย

ความยั่งยืนของความมั่งคั่ง
และรหัสแดงสภาพภูมิอากาศโลก

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความอ่อนไหวต่อสภาพอากาศมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางสภาพอากาศรุนแรงเป็นอันดับ 9 ของโลกในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ตามอ้างอิงจาก Climate Risk Index ของ German Watch เนื่องจากการเกิดเหตุทางสภาพภูมิอากาศบ่อยครั้ง สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจรุนแรง แม้ว่าจะไม่ส่งผลต่อการเสียชีวิตมากอย่างในประเทศอื่น [4]

ยิ่งเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change – IPCC) ขององค์การสหประชาชาติ ออกรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเตือนว่านี่คือ ‘รหัสแดง’ (Code Red) ด้านสภาพภูมิอากาศ โดยชี้ให้เห็นภาพว่า อุณหภูมิพื้นผิวทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก โดยอาจทำให้เกิดเหตุการณ์รุนแรง รวมถึงการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกจนหมดได้ IPCC เตือนว่าข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ อาจไม่เพียงพอที่จะยับยั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิอีก 1.5 องศาเซลเซียสจากช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม [5]

เรื่องนี้กำลังจะกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างยิ่ง เพราะการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิระดับนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมานาน และจะมีผลต่อระบบนิเวศโดยรวมอย่างมาก สุดท้ายก็จะสร้างปัญหาด้านการประกอบอาชีพและความมั่นคงทางอาหารสำหรับคนไทย นอกจากนี้ พื้นที่หัวใจทางเศรษฐกิจของไทยยังเป็นพื้นที่ลุ่มและอยู่ไม่สูงจากระดับน้ำทะเลมาก

อุณหภูมิโลกที่จะเพิ่ม 1.5 องศาเซลเซียส อาจทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นถึงราว 3 เมตร ซึ่งตัวเลขนี้ก็เพียงพอที่จะจมพื้นที่ริมทะเลจำนวนมาก รวมถึงหลายส่วนของกรุงเทพฯ และปริมณฑล และภายในระยะเวลาหนึ่งศตวรรษ ระดับน้ำทะเลอาจสูงขึ้นเป็น 10 เมตร ทำให้เราอาจต้องบอกลากรุงเทพฯ และปริมณฑลทั้งหมด แถมอาจเลยขึ้นไปถึงสุพรรณบุรี

ที่มา: https://en-gb.topographic-map.com/maps/lplt/Thailand/

ดังนั้น สภาพภูมิอากาศที่รุนแรงที่ไม่เพียงแต่ทำลายทุนธรรมชาติ แต่ยังทำลายทุนการผลิต สิ่งของบางอย่างอาจพอขนย้ายได้ แต่โครงสร้างพื้นฐานอย่างถนน ระบบสาธารณูปโภค และอาคารบ้านเรือน จะต้องจมน้ำ เสียหาย หรือไม่อาจนำมาใช้งานได้อีก

สรุปคือ หากเกิดผลกระทบด้านภูมิอากาศอย่างรวดเร็วและรุนแรงจริงๆ ก็จะทำให้ความมั่งคั่งของประเทศไทยลดลงมากทุกด้านอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และทำให้ประชาชนต้องลำบากมาก

ที่ผ่านมา ประเทศไทยยังทำนโยบายแบบทองไม่รู้ร้อน แม้ว่าเราจะต้องเสียเงินชดเชยรายได้ภาคเกษตรมาตลอด รวมถึงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ก็แสดงให้เห็นว่าเราเปราะบางขนาดไหน แต่เราก็ยังไม่มีกลยุทธ์ในการจัดการความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการลดโอกาส (ลดการปล่อยคาร์บอนและการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ) การลดผลกระทบ (กระจายความเสี่ยงออกจากภาคเศรษฐกิจและพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบสูง) หรือการรับมือเมื่อเกิดเหตุ

แม้ทุกอย่างจะชี้ชัดว่าปัญหานี้มาแน่ แต่ผมคิดว่าปัญหาสำคัญคือ เรายังไม่มีการวัดมูลค่าอย่างเป็นระบบ แต่ใช้ความรู้สึกตามใจมากเกินไป เราอาจมีปัญหาหลายด้าน แต่ด้วยความที่ปัญหาบางอย่างจับต้องได้ยาก การเททรัพยากรไปยังจุดที่จับต้องได้ หรือแม้แต่การปะผุความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว ก็กลายเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลกว่าในมุมของผู้ปฏิบัติการ

Peter Drucker เคยพูดไว้ว่า “What gets measured, gets managed.” หรือ “อะไรที่ถูกวัดผล จึงจะถูกจัดการ” ซึ่งผมก็เชื่อว่าเป็นจริงในแง่การบริหารจัดการ แต่ในกรณีนี้ ผมคิดว่าจะต้องวัดผลให้ออกมาเป็นรูปตัวเงินด้วย ไม่อย่างนั้นก็จะได้รับความสำคัญคนละระดับกัน

น่าเสียดายว่า UNEP ต้องทำตัวเลขความมั่งคั่งของ 140 ประเทศ และการประมาณการตัวเลขนั้นขึ้นมาก็ต้องใช้ข้อมูลและสมมติฐานจำนวนมาก จึงทำให้เป็นงานยาก โดยพวกเขาออกรายงานได้เพียงปีเว้นปี และข้อมูลที่ออกมาก็ย้อนหลังกลับไปอีก 4 ปี

ดังนั้น ก้าวแรกแต่ถือเป็นก้าวที่สำคัญและยากมาก ก็คือการเริ่มวัดทุนทางสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมและรวดเร็ว โดยอย่างน้อย เราควรจะมีตัวเลขดังกล่าวนี้ทุก 1 ปี หรือครึ่งปี เพื่อให้ติดตามความมั่งคั่งและผลกระทบจากปัจจัยภายนอกได้อย่างใกล้ชิด

ประเทศไทยต้องรีบลงทุนขนานใหญ่ในเรื่องนี้แล้ว ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป


[1] ลองดูงานของรพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ ที่สรุปประเด็นจุดแข็ง-จุดอ่อนของ GDP  https://workpointtoday.com/gross-domestic-products-gdp-gross-national-happiness-gnh/

[2] เช่นงานของ William Nordhaus เจ้าของรางวัลโนเบลร่วมในปี 2018

[3] https://www.unep.org/resources/report/inclusive-wealth-report-2018

[4] https://germanwatch.org/en/19777

[5] https://www.ipcc.ch/report/ar6/wg1/ แนะนำให้ลองดูแผนที่ interactive https://interactive-atlas.ipcc.ch/regional-information

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save