fbpx
อ่านวัฒนธรรมการลงโทษในโลกการศึกษา กับ กานน คุมพ์ประพันธ์ และอุฬาชา เหล่าชัย

อ่านวัฒนธรรมการลงโทษในโลกการศึกษา กับ กานน คุมพ์ประพันธ์ และอุฬาชา เหล่าชัย

 

 

หนึ่งในประเด็นร้อนแรงเกี่ยวกับการศึกษาในช่วงที่ผ่านมา คือข่าวครูโรงเรียนชื่อดังทำร้ายร่างกายนักเรียนอนุบาล เป็นเหตุให้สังคมหันมาตั้งคำถามต่อคุณภาพของโรงเรียน คุณภาพครู ลามเลยไปจนถึงคุณภาพการศึกษาของระบบโดยรวมในประเทศไทย

แม้ความรุนแรงภายในรั้วโรงเรียนไม่ใช่ประเด็นใหม่ที่เพิ่งเกิด แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ปัญหาเหล่านี้ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข หรือทำความเข้าใจต้นตอสาเหตุอย่างจริงจัง

การลงโทษครูผู้กระทำถือเป็นจุดสิ้นสุดความรุนแรง หรือเราควรจะสำรวจรากเหง้าปัญหาที่แฝงอยู่ในโครงสร้างสังคม วัฒนธรรม และสถาบันการศึกษาอย่างลึกซึ้งมากขึ้น

เพื่อตอบคำถามว่าทำไมบทลงโทษทำร้ายร่างกายจึงดำเนินมาถึงปัจจุบัน  101 สนทนากับอาจารย์กานน คุมพ์ประพันธ์ และอาจารย์อุฬาชา เหล่าชัย ผู้ทำงานวิจัยเรื่อง “สำรวจวาทกรรมเกี่ยวกับการจัดการในชั้นเรียนและการลงโทษของครูระดับชั้นมัธยมศึกษา” เพื่อร่วมกันถอดรื้อปัญหาวัฒนธรรมอำนาจนิยม ระบบการผลิตครู ความเชื่อและมุมมองเกี่ยวกับการลงโทษด้วยความรุนแรงในระบบการศึกษาไทย

 

จากข่าวคราวครูโรงเรียนชื่อดังทำร้ายร่างกายนักเรียนอนุบาลเมื่อไม่นานมานี้ แม้จะไม่ถือว่าเป็นการลงโทษเสียทีเดียว แต่จากเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าว สะท้อนให้เราเห็นอะไรในระบบการศึกษาไทยบ้าง

อุฬาชา : สะท้อนให้เห็นหลายอย่าง ตั้งแต่ระบบการจัดการ นโยบาย ไปจนถึงวัฒนธรรมในระบบการศึกษา

จากเหตุการณ์นี้ บางคนอาจโทษว่าครูผู้กระทำเป็นคนใจร้าย แต่เราเห็นว่าการโทษครูคนเดียวอาจจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะแง่หนึ่ง ระบบการศึกษาสิ่งที่ผลิตครูคนหนึ่งออกมา การที่ครูต้องทำงานอยู่ในระบบและใช้วิธีการรุนแรงจัดการเด็ก แสดงว่าต้องมีอะไรผิดปกติในระบบสักอย่าง

ถ้าเราดูฝั่งนโยบาย ก่อนหน้านี้ยังสามารถใช้ไม้เรียวเฆี่ยนได้ แต่พอมีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ระบุว่าห้ามทำร้ายร่างกายเด็กออกมา และมีระเบียบกระทรวงศึกษาออกมาหลังจากนั้นว่าควรจะลงโทษเด็กแบบไหน ซึ่งในนั้นไม่มีการตี การตีก็ไม่เคยถูกยอมรับทางกฎหมายอีก ทว่าในทางปฏิบัติ เรากลับเห็นครูหลายคนศรัทธาในการตีอยู่ สะท้อนว่ามันต้องมีอะไรบางอย่างในระบบที่ถึงแม้กฎหมายจะห้าม แต่ยังทำให้ครูใช้กันอยู่

หนึ่งในนั้นคือคำอธิบายว่าครูตีเด็กเพราะรักเด็ก ซึ่งเราอาจเขียนสมการได้ว่า ตี = รัก เขาตีเพราะเขารัก แต่เมื่อเราเอาสมการนี้ไปใส่ในความสัมพันธ์แบบคู่รัก มันจะไม่สมเหตุสมผลทันที ถ้าเราเห็นผู้ชายตีผู้หญิง จะไม่สามารถอธิบายได้เลยว่าเขาตีเพราะเขารักเธอ คำถามคือทำไมพอเป็นความสัมพันธ์ของครูกับนักเรียนแล้ว เรากลับคิดว่ามันโอเค ต้องมีความคิดความเชื่อบางอย่างที่มากำกับอยู่ระหว่างครูกับนักเรียนอยู่

กานน : เหตุการณ์นี้ทำให้เราเห็นว่าการแก้ปัญหาหลายๆ อย่างจะแก้ในเชิงนโยบายอย่างเดียวไม่ได้ เพราะการแก้ด้วยนโยบายห้ามตีมีมานานแล้ว แต่เชิงปฏิบัติกลับทำไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้นอาจมีมิติอื่นที่เราต้องแก้ไขด้วย

ที่ผ่านมา เมื่อพูดถึงการแก้ปัญหาด้านการศึกษา เรามักจะนึกถึงการออกนโยบายใหม่ การตั้งองค์กรดูแล แต่อันที่จริงอาจจะมีเรื่องอื่นๆ ที่เราต้องคิดให้มากขึ้น เช่น จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราอาจตั้งคำถามว่า ระบบการผลิตครูแบบไหนที่ทำให้ท้ายที่สุดแล้ว เวลาครูเจอปัญหาเรื่องการจัดการชั้นเรียน ไม่รู้จะทำอย่างไรดีนอกจากใช้ความรุนแรง

อุฬาชา : อีกประเด็นหนึ่งที่ชัดเจนมากจากเคสนี้ คือ การมีอำนาจของผู้ปกครอง เราจะเห็นข่าวว่าผู้ปกครองมีการดำเนินการ ติดตามเอาเรื่องอย่างจริงจังมากกว่าหลายๆ เคสก่อนหน้านี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ปกครองมีฐานะดีในระดับหนึ่ง เป็นชนชั้นกลางที่ใส่ใจการศึกษาของลูก เมื่อผู้ปกครองให้ความสำคัญกับการศึกษาของบุตรหลาน เกิดการรวมตัวและมีความเหนียวแน่น กลายเป็นสมาคมผู้ปกครอง ก็จะมีอำนาจต่อรองกับครูหรือผู้บริหารโรงเรียน เหมือนกระดูกเบอร์เดียวกัน เมื่อชนกันแล้วไม่มีใครมีอำนาจเหนือใคร

 

ที่ผ่านมา ครูหรือฝ่ายผู้บริหารโรงเรียนดูเหมือนมีอำนาจต่อรองมากกว่าฝ่ายอื่นๆ หรือเปล่า

อุฬาชา : จากเหตุการณ์ความรุนแรงในสถานศึกษาที่ผ่านๆ มาจะเห็นว่าไม่ใช่โรงเรียนดัง ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนรัฐ ซึ่งฐานะของผู้ปกครองอาจไม่ได้มีอำนาจต่อรองกับครูมากนัก อาจเข้าไม่ถึงสื่อ หรือฝ่ายครูก็มีคำอธิบายของเขาอยู่แล้วว่าเป็นการทำเพราะหวังดีต่อเด็ก ทำให้ผู้ปกครองส่วนหนึ่งอาจมองว่าเป็นเรื่องสมเหตุสมผล ในต่างจังหวัดห่างไกล ผู้ปกครองหลายคนยังคิดว่าหน้าที่ดูแลเด็กเป็นของครู ยกหน้าที่อบรมเด็กให้ครู ดังนั้น เมื่อเกิดการตีหรือทำร้ายเด็กจึงน้อยมากที่จะออกมาเป็นข่าว นอกเสียจากว่าจะเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุจริงๆ เห็นชัดว่าเด็กเจ็บตัวมากจริงๆ จึงจะเป็นข่าว

สำหรับเคสนี้ นอกจากเครือข่ายผู้ปกครองที่เข้มแข็ง ติดตามกันอย่างแข็งขัน ยังมีหลักฐานที่เราเห็นได้ชัด และเป็นชนชั้นที่มีอำนาจเข้าถึงสื่อ มีสิทธิ์มีเสียงในสังคมค่อนข้างมาก เมื่อเกิดเหตุการณ์จึงตื่นตัวกันมาก ทั้งที่เรื่องครูทำร้ายเด็กเป็นประเด็นที่มีมานานแล้ว แค่ไม่เคยเป็นกระแสดังขนาดนี้

กานน : ถ้าเราอ่านข่าวในอดีตจะรู้เลยว่าเคสนี้ไม่ใช่เคสแรก และปัญหาอีกส่วนหนึ่งคือวิธีการจัดการกับครูผู้กระทำ สมัยก่อนเราไม่มีการลงโทษครูอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่แค่ย้ายครูไปที่อื่น หรืออาจจะเปลี่ยนชั้น เปลี่ยนวิชาที่ครูสอน ซึ่งไม่ใช่ทางแก้ปัญหาหรือทำให้ครูเลิกใช้ความรุนแรง ทำให้มีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำๆ จนถึงปัจจุบัน

 

เรามักเชื่อว่าโรงเรียนที่มีค่าเทอมแพงหรือชื่อเสียงโด่งดังต้องดูแลเด็กดี ไม่ตีเด็กหรือทำร้ายร่างกาย แต่ข่าวที่เกิดขึ้นเป็นการทำลายความเชื่อนี้อย่างสิ้นเชิง ตกลงว่าปัญหาการตีเด็ก ทำร้ายร่างกายเกิดได้ทุกที่เลยหรือไม่ สภาพแวดล้อมในโรงเรียนแบบไหนที่เอื้อให้เกิดการกระทำเหล่านี้ง่ายเป็นพิเศษ

กานน : ต้องย้อนดูก่อนว่าการตีเด็กแต่เดิมเกิดจากอะไร เราพบว่าการตีเด็กไม่เกี่ยวกับโรงเรียนค่าเทอมแพงหรือถูก แต่เกี่ยวกับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งอัตลักษณ์ความเป็นครู วิธีคิดเรื่องความเป็นครูในสังคมไทย หรือวัฒนธรรมบางอย่างในสังคมเราที่ใหญ่กว่าแค่ในโรงเรียน ซึ่งผมเรียกว่า ‘วัฒนธรรมอำนาจนิยม’

วัฒนธรรมอำนาจนิยมสามารถมีได้ในทุกโรงเรียน มันเป็นวิธีคิดที่ว่าคนมีอำนาจคือคนที่ถูกต้อง ในความสัมพันธ์ของครูกับนักเรียนมีสถานะไม่เท่ากันตั้งแต่แรก เมื่อครูคิด ครูพูด ครูทำอะไรจะถูกหมด นักเรียนมีหน้าที่ทำตามที่ครูบอก วัฒนธรรมนี้อยู่กับระบบการศึกษาไทยมานานมาก จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังเห็นอยู่

สำหรับการตี จากการที่เราสองคนทำงานวิจัยมา การตีเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้วัฒนธรรมนี้ยังคงอยู่และอยู่ต่อไป ฉะนั้นการที่โรงเรียนจะมีค่าเทอมแพงหรือไม่ ไม่น่าจะเกี่ยว เกี่ยวแค่ว่าโรงเรียนนั้นใช้วัฒนธรรมอำนาจนิยมในการบริหารจัดการศึกษาหรือไม่ ซึ่งวัฒนธรรมอำนาจนิยมก็อาจไม่ได้อยู่แค่ในความสัมพันธ์ของครูกับศิษย์ แต่ยังอยู่ในมิติอื่นๆ ด้วย

 

อาจารย์ทั้งสองเคยกล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์เว็บไซต์โครงการผู้นำแห่งอนาคตว่า ความเหลื่อมล้ำเชื่อมโยงกับความรุนแรงภายในโรงเรียนด้วย ทั้งสองสิ่งเชื่อมโยงกันอย่างไร

อุฬาชา : เวลาพูดถึงความรุนแรง เรามักจะนึกถึงความรุนแรงที่เห็นได้ชัด เช่น การใช้กำลัง หรือการดุด่าให้รู้สึกเจ็บใจ แต่จริงๆ ความรุนแรงมีหลายรูปแบบ ในนิยามของกัลตุง (Johan Galtung) แบ่งความรุนแรงออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ความรุนแรงทางตรง คือการตี การดุ ที่เราคุ้นเคยกัน ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง และความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม ซึ่งทั้งสามอย่างทำงานสนับสนุนกันและกันเพื่อให้เกิดความรุนแรงทั้งสามประเภทยังคงอยู่

ด้านความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ในแง่หนึ่งอาจเรียกว่าเป็นความเหลื่อมล้ำก็ได้ เพราะการมีโครงสร้างหมายถึงการแบ่งว่าใครทำหน้าที่อะไร ซึ่งการแบ่งหน้าที่นี้จะไม่ถือเป็นความรุนแรงเลย ถ้าเราไม่ไปจำกัดศักยภาพของคนในตำแหน่งหน้าที่นั้นๆ แต่โครงสร้างในสังคมเราส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นชั้นๆ คนข้างบนกดทับคนข้างล่าง จำกัดโอกาสที่คนข้างล่างจะได้ใช้ศักยภาพสูงสุดของตัวเอง ทำให้โครงสร้างการกดทับนี้นับเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่งในทัศนะของกัลตุง

ขณะที่ความเหลื่อมล้ำเองก็เป็นโครงสร้างที่มีลำดับชั้น คนข้างบนกดทับคนข้างล่าง ความเหลื่อมล้ำจึงถือเป็นความรุนแรงประเภทหนึ่งเช่นเดียวกัน

ส่วนความรุนแรงทางวัฒนธรรม คือ การมีอุดมการณ์บางอย่างที่ทำให้เราเชื่อว่าการอยู่ในโครงสร้างแบบนี้ ถูกกดทับจากคนชั้นสูงกว่า ถูกจำกัดศักยภาพบางอย่างไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไร เราควรจะยอมรับสถานภาพของตนเอง รู้ที่ต่ำที่สูง รู้ที่ทางว่าตัวเองควรอยู่ตรงไหน

ความคิดแบบนี้จะหล่อเลี้ยงความรุนแรงเชิงโครงสร้างและความรุนแรงทางตรงให้คงอยู่ต่อไป เพราะเมื่อเราเชื่อว่ามีคนที่อยู่เหนือกว่าเราเสมอ และยินยอมพร้อมใจให้เป็นแบบนั้น เวลาเขาใช้ความรุนแรงทางตรงกับเรา เช่น ตี หรือดุด่า เราจะไม่รู้สึกอะไร คิดว่าเขาคงหวังดีกับเรามั้ง หรือแม้ว่าจะไม่พอใจ ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะถือว่าเราไม่มีอำนาจต่อรองกับเขา

 

จากการที่อาจารย์ทั้งสองท่านได้ทำงานวิจัย พูดคุยกับครูในโรงเรียนมา อาจารย์เห็นความคิดความเชื่อของครู หรือวัฒนธรรมอะไรในวงการครูเกี่ยวกับการลงโทษบ้าง

อุฬาชา : เนื่องจากการทำวิจัยเกี่ยวกับครู ต้องเข้าใจครู เราจึงได้พูดคุยกับครูจำนวนหนึ่ง และพบว่ามีสิ่งที่มีร่วมกันระหว่างครูที่ใช้วิธีการตี และครูที่เปลี่ยนวิธีการไปแล้ว คือความเชื่อเรื่องของอัตลักษณ์ความเป็นครู หน้าที่ของครู และความเป็นครูที่ดี

ครูที่ใช้วิธีการตีเชื่อว่าตนต้องเป็นแม่แบบ เป็นคนที่ขัดเกลานักเรียน อุปมาเหมือนคนเจียระไนเพชร ทำให้เด็กกลายเป็นเพชร ซึ่งคำว่าเจียระไน หมายถึงการตัดส่วนเกินทิ้งไป ตัดส่วนที่ไม่พึงปรารถนาออกไป ครูจึงทำหน้าที่เป็นเหมือน QC คอยคัดว่านักเรียนคนนี้ได้คุณภาพหรือไม่ ถ้าไม่ได้คุณภาพ ก็ต้องนำมาตัดส่วนเกิน ส่วนที่มีปัญหาออกด้วยวิธีการอย่างไรก็ได้ เป็นที่มาทำให้เขาใช้วิธีลงโทษต่างๆ นานา เพื่อปรับพฤติกรรมเด็ก ทำให้เด็กกลายเป็นเพชร เป็นสิ่งที่น่าปรารถนา

ความเชื่อที่ว่าเป็นหน้าที่ของครูที่ต้องขัดเกลา ทำให้เขาเชื่อในการลงโทษ เพราะการลงโทษ การตี การดุด่า เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ประหยัดเวลา ทำแล้วเห็นผลได้ว่าเด็กกลัวและอาจเปลี่ยนพฤติกรรมได้โดยทันที มันจึงเป็นวิธีที่ครูนึกถึงเป็นลำดับแรกๆ ในการจัดการกับนักเรียน

กานน : ถ้าเรามองกว้างขึ้นไปมากกว่าระดับบุคคล เราจะพบว่ามีตรรกะแบบเจ้าอาณานิคมมองผู้อยู่ใต้อาณานิคมซ้อนอยู่บนอัตลักษณ์ครูอีกที เป็นตรรกะเวลาคนมองเห็นอะไรที่ไม่ศิวิไลซ์ แล้วจำเป็นต้องได้รับการขัดเกลาให้ศิวิไลซ์ ให้ได้มาตรฐานเดียวกันกับที่ครูเชื่อหรือถูกสอนให้เชื่อ จากตัวอย่างในงานวิจัยของเรา มีครูบางท่านพูดว่า เด็กต่างจังหวัดที่เขาสอนมีสุขอนามัยไม่ดี เช่น ก่อนนอนไม่แปรงฟัน และที่บ้านก็ไม่สอน ดังนั้น ครูต้องทำหน้าที่คอยดูแลเด็กนักเรียนให้มีสุขอนามัยที่ดีให้ได้ ต้องเปลี่ยนให้เด็กสวยงาม สะอาด มีมาตรฐานให้ได้

และถ้ามองภาพใหญ่ขึ้นไปอีก ตรรกะแบบเจ้าอาณานิคมนี้ยังสอดคล้องกับตรรกะวิธีคิดในการสร้างชาติไทย กล่าวคือ เป็นวิธีการที่ศูนย์กลางหรือคนกรุงเทพฯ มองคนนอก มองคนท้องถิ่น และพยายามทำให้คนเหล่านี้ศิวิไลซ์ ซึมซับความคิดของชนชั้นนำ (elite) ในกรุงเทพฯ ให้ได้

อุฬาชา : มีครูคนหนึ่งเล่าว่าตอนที่เรียนครู เขาถูกสอนมาว่าเด็กบ้านนอกจะไม่ค่อยมีมารยาท การสอนเรื่องนี้เลยต้องให้ความสำคัญมาก เพราะเขารู้สึกว่าการมีมารยาทเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เด็กได้รับความรัก ความเมตตาจากคนที่จะให้โอกาสในการเติบโต นี่จึงสะท้อนให้เห็นว่าครูส่วนหนึ่งได้รับการเรียน ได้ซึมซับความเชื่อมาแบบนี้ จนกลายเป็นมาตรฐาน เป็นความคาดหวังที่ครูมีต่อนักเรียน ว่าอยากให้เด็กเป็นคนอย่างไร อยากให้ประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างไร

กานน : มีครูหลายคนไม่ว่าจะใช้หรือไม่ใช้ความรุนแรงลงโทษเด็ก ก็ยังให้ความสำคัญต่อเรื่องมารยาท การรู้ตำแหน่งแห่งที่ของตน ครูต้องการให้เด็กรู้ว่าตัวเองอยู่จุดไหน เวลาอยู่กับใครควรปฏิบัติอย่างไร ต้องรู้จักที่ต่ำที่สูง ซึ่งแม้จะทำด้วยความหวังดี แต่วิธีคิดเหล่านี้สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมอำนาจนิยมในระบบการศึกษาไทย เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความไม่เท่าเทียมในสังคมไทยให้คงอยู่ต่อไป

ในระบบการสร้างครูก็มีวัฒนธรรมเหล่านี้เช่นกัน จากการที่เราคุยกับครูหลายคนที่ใช้ความรุนแรงลงโทษเด็ก เขาบอกว่าไม่รู้จะใช้วิธีไหนจัดการชั้นเรียน เมื่อเราถามต่อว่าตอนเรียนครู ได้เรียนเรื่องการจัดการชั้นเรียนไหม เขาบอกว่าได้เรียน แต่การเรียนส่วนใหญ่เป็นการเรียนผ่านตำรา ไม่เคยนำไปใช้จริง ทำให้เขาเข้าใจในเชิงทฤษฎี แต่ไม่ได้มีประสบการณ์หรือรู้วิธีการที่เป็นเนื้อเป็นตัว

แล้วสิ่งที่เป็นเนื้อเป็นตัวคืออะไร? จากการสัมภาษณ์เราพบว่ามันคือวัฒนธรรมอำนาจนิยมในองค์กรที่ผลิตครูอย่างระบบโซตัสนั่นเอง ครูหลายคนผ่านการใช้ความรุนแรงในระบบโซตัสมา บางคนบอกว่าตอนนั้นก็ไม่ชอบ แต่ทำๆ ไปเพราะเห็นทำกันเป็นปกติ ซึ่งระบบโซตัสนี้เป็นระบบอำนาจนิยม ใช้ความอาวุโสเป็นตัวตัดสินถูกผิด ใครอาวุโสมากกว่าเป็นฝ่ายถูก ผู้อ่อนอาวุโสกว่าต้องทำตาม ฉะนั้น การที่คณะที่ผลิตครูมีวัฒนธรรมอำนาจนิยมฝังรากอยู่ และครูเรียนอยู่ในวัฒนธรรมเช่นนั้น เรียนจบมาก็จะใช้วิธีคิดเหล่านั้นทำงานหรือจัดการกับนักเรียน

อุฬาชา : ไม่เพียงแค่ตอนเรียนครู แต่เมื่อเขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษา ก็จะมีคนกำหนดนโยบาย (policy maker) คอยกำกับอีกที กล่าวคือครูอยู่ในลักษณะโครงสร้างที่คล้ายเดิม มีคนอยู่สูงกว่า และต่ำกว่า มีคนที่เป็นผู้สั่งแบบผู้กำหนดนโยบาย และผู้รับคำสั่งแบบครู เขาจะเรียนรู้ตลอดเวลาว่าการไม่ทำตามคำสั่งจะถูกลงโทษ แม้ไม่ถูกลงโทษตรงๆ ก็ยังได้รับผลทางลบ อาจเสียความก้าวหน้า ไม่ได้เลื่อนตำแหน่ง สุดท้าย การก้าวหน้าสำหรับเขา คือการรับคำสั่งนั่นเอง

พออยู่ในห้องเรียน ครูเปลี่ยนบทบาทกลายเป็นคนสั่ง และเด็กนักเรียนกลายเป็นคนรับคำสั่ง ครูก็จะถ่ายทอดความคิดความเชื่อเหล่านี้ และมองว่าคนที่ไม่ทำตามต้องรับบทลงโทษไป

กานน : เราเองก็ไม่อยากเหมารวมว่าครูไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง เพียงแต่อยากเสนอว่าภาพรวมของวัฒนธรรมเป็นเช่นนั้น สำหรับระดับบุคคล อาจมีคนต่อต้านโดยที่เราไม่รู้ก็ได้

 

ผู้ใหญ่ส่วนหนึ่งยังคงเชื่อว่าเด็กอาจจะต้องถูกตีบ้าง หรือผ่านประสบการณ์ที่ไม่ค่อยสวยงามในโรงเรียนบ้าง เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันในการใช้ชีวิตในสังคมจริง ทั้งสองท่านมีความเห็นว่าอย่างไร จำเป็นไหมที่ครูจะต้องรับบทโหดบ้างเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ว่า

กานน : สังคมเราโหดร้ายมากถึงขนาดต้องใช้วิธีการทำร้ายเด็กเพื่อให้เด็กคุ้นชินกับความโหดร้ายเลยเหรอ แทนที่จะบอกว่าเด็กควรถูกเทรนด้วยความโหดร้ายเพื่อไปรับมือกับความโหดร้ายในสังคม คำถามที่เราควรตั้งคือจะทำอย่างไรให้สังคมโหดร้ายน้อยลง ทุกคนจะได้ไม่ต้องเผชิญกับความโหดร้ายแบบนี้

ถ้าเราดูในเชิงงานวิจัยจะพบว่าการลงโทษด้วยการตีเป็นวิธีคิดที่เชยมากแล้วในวงการการศึกษา แทบทุกสำนักที่ทำการวิจัยล้วนบอกเหมือนกันว่าการตีและการใช้ความรุนแรงเป็นการลงโทษที่ไม่ได้ผล สร้างปัญหามากกว่าประโยชน์ ไม่ว่าปัญหาในแง่สภาพจิตใจของเด็ก วิธีคิดต่อโลก กระทั่งความมีวินัยก็ไม่ยั่งยืน เพราะเด็กเรียนรู้วินัยจากความกลัว ไม่ใช่ความเข้าใจ ในมุมของนักสังคมศาสตร์ ก็มองเห็นว่าจะมีปัญหาอื่นๆ ตามมาอีก เช่น การชินชาต่อการใช้ความรุนแรง หรือชินชาต่อระบบอำนาจนิยม

เพราะฉะนั้น ผมมองว่าการตีหรือการใช้ความรุนแรงในการลงโทษไม่ใช่สิ่งจำเป็นเลย และจากงานวิจัยที่เราทำ พบว่าการที่เด็กหลายคนมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีไม่ได้เกิดจากความรุนแรง แต่เกิดจากการเจอครูที่เข้าใจ เห็นคุณค่าและเชื่อมั่นในตัวเขา แม้ว่าบางครั้งครูคนนั้นอาจจะยังตีเด็กอยู่ แต่สิ่งสำคัญคือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับเด็กจะมีส่วนช่วยให้เด็กพัฒนาได้ดียิ่งขึ้น

อุฬาชา : ถ้าเราดูแนวคิดจิตวิทยาการศึกษาหรือจิตวิทยาเด็ก จะมีระบุชัดว่าการสร้างวินัยของเด็กสามารถสร้างด้วยวิธีการเชิงบวกได้ บางสำนักคิดเสนอว่าไม่ควรมีการลงโทษเลยด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นไทม์เอาท์ หรือวิธีอื่นที่ไม่ใช้ความรุนแรงก็ตาม เพราะเขาคิดว่าการสร้างวินัยหรือนิสัยของคนไม่จำเป็นต้องสร้างผ่านบทลงโทษ เราอาจใช้วิธีเสริมแรงเชิงบวกเมื่อเด็กทำพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เช่น ให้รางวัล ชื่นชมเขา ขณะเดียวกัน ถ้าเด็กทำพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ แทนที่จะลงโทษ เราสามารถทำให้เขาเห็นผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำ ซึ่งมันอาจทำให้ตัวเขาเองเดือดร้อน หรือทำให้คนอื่นเดือดร้อน ทำให้เกิดความรู้สึกหรือจิตสำนึกขึ้นมาเองว่าสิ่งที่ทำลงไปมันไม่โอเค ไม่ควรจะทำอีก ไม่ใช่ไม่ทำอีกเพราะกลัวโดนทำโทษ

 

การที่เราจะลดการตี หรือการทำร้ายร่างกายเด็กด้วยการใช้โซเชียลมีเดียจับตามองพฤติกรรมครูแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นับว่าเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพไหม หรือมีข้อควรระวังอะไรบ้าง

อุฬาชา : มันอาจมีผลในแง่ที่ว่าทำให้ครูรู้สึกมีคนจ้องมองอยู่ ต้องระมัดระวังการแตะตัวหรือใช้ความรุนแรงกับเด็ก มีผลในแง่การตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจของครูในห้องเรียน เหมือนการติดกล้อง มันอาจจะมีข้อดีในด้านส่งสัญญาณกับครูว่าเราไม่ได้ปล่อยปละละเลยลูกหลาน แต่ถ้าเราสอดส่องมากเกินไป อาจเป็นการเพิ่มความกดดันแก่ครู และไม่ส่งผลดีกับเด็กก็ได้

กานน : มันอาจทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจ เพราะที่ผ่านมาครูก็โดนทั้งสั่งทั้งควบคุมจากผู้บริหารโรงเรียน ผู้กำหนดนโยบาย การที่เราเอาระบบนี้ไปควบคุมเขาอีก ก็ไม่แน่ใจว่าจะเกิดผลดีหรือไม่ ซึ่งเราต้องบาลานซ์กันระหว่างการตรวจสอบและการไว้วางใจในตัวครู ให้อำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับตัวเด็กด้วย

อีกประเด็นหนึ่งที่ควรระวังเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียที่ใช้สอดส่องตรวจสอบครู คือการใช้แบบสอดส่องหาคนผิดแบบล่าแม่มด ถึงแม้การทำร้ายเด็กเป็นพฤติกรรมที่เราไม่อยากให้เกิด แต่การสอดส่องหรือการหาคนมาประณามและประจานไม่ใช่ทางแก้ปัญหา ตรงกันข้าม อาจเป็นการผลิตซ้ำความคิดเดิมๆ เกี่ยวกับความรุนแรง คือคนผิดสมควรได้รับโทษ ไม่ได้ถูกนำมาใช้ในแง่การตั้งคำถามว่า อะไรทำให้คนคนหนึ่งกลายเป็นแบบนี้ ซึ่งหลายครั้ง ผมเข้าใจว่าครูเองก็ไม่มีความสุขด้วย

เมื่อเกิดเรื่องขึ้นในโซเชียลมีเดีย เราต้องตั้งคำถามให้ใหญ่กว่าการมองตัวบุคคล ถ้าล่าแม่มด ก็ได้แค่สะใจชั่วคราว จากนั้นก็เกิดซ้ำๆ อีกเพราะเราไม่ได้มองสาเหตุของปัญหาจริงๆ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จำเป็นกว่าการใช้โซเชียลมีเดียสอดส่อง คือการคุยเรื่องวัฒนธรรมอำนาจนิยมในทุกแง่มุม เพราะวัฒนธรรมดังกล่าวคือตัวขับเคลื่อนความรุนแรง และไม่ใช่เรื่องของคนคนเดียว

 

ถ้าเรายังต้องมีบทลงโทษเป็นส่วนประกอบหนึ่งของการศึกษา บทลงโทษแบบไหนที่สร้างประโยชน์ต่อนักเรียนมากกว่าที่เป็นอยู่

กานน : ต้องดูก่อนว่าการลงโทษมีจุดประสงค์ไปเพื่ออะไร ถ้าต้องการให้เด็กเปลี่ยนพฤติกรรม การลงโทษอาจไม่จำเป็นต้องทำให้เด็กรู้สึกแง่ลบ หรือรู้สึกไม่ดีกับพฤติกรรมตัวเอง แต่อาจเปลี่ยนเป็นการทำให้เด็กเข้าใจว่าพฤติกรรมของตัวเองสร้างผลกระทบต่อคนอื่นอย่างไร ทำให้คนอื่นรู้สึกอย่างไร และตัวเองรู้สึกอย่างไร

ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือต้องทำให้เด็กมี empathy รู้จักทำความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจคนอื่น ถ้าทำได้ เด็กจะไม่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมด้วยความกลัว แต่เปลี่ยนจากตัวเขาเอง และอย่างที่พูดไป เท่าที่ผมทำวิจัยมา สิ่งที่จะทำให้เด็กเปลี่ยนได้ดีที่สุดไม่ใช่บทลงโทษ แต่เปลี่ยนไปเพราะครูมีความสัมพันธ์ที่ดีด้วย

ดังนั้น การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี การสร้างความเห็นอกเห็นใจ เห็นผลของการกระทำของตัวเองว่าไม่ดีอย่างไรน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจกว่าการลงโทษ

 

สุดท้ายนี้ รัฐสามารถเข้ามีส่วนช่วยเหลือเรื่องความรุนแรงในโรงเรียนได้อย่างไนบ้าง ในเมื่อการออกกฎระเบียบมาควบคุมหลายครั้ง ก็ยังมีข้อยกเว้นว่าขึ้นอยู่ดุลยพินิจของแต่ละโรงเรียนอยู่ดี

กานน : คำถามนี้ตอบยาก เพราะการตีหรือความรุนแรงไม่ได้เกิดจากใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในสังคมมานานมาก มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดการตีและความรุนแรงขึ้นได้

ถ้าแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ผมคิดว่าต้องทำให้ครูเห็นว่ามีการจัดการชั้นเรียนแบบอื่นที่ได้ผล โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรงหรือทำให้เด็กต้องอับอาย รวมถึงอาจได้ผลดีกว่าในระยะยาวอีกด้วย รัฐสามารถจัดอบรมเรื่องการจัดการชั้นเรียนให้ครูได้

อย่างที่สอง เราต้องดูว่าสาเหตุที่เด็กมีพฤติกรรมไม่พึงปรารถนา เป็นเพราะเขาไม่มีระเบียบวินัย หรือเราจัดการเรียนการสอนผิด เด็กวัยหนึ่งอาจไม่ต้องการนั่งอยู่ที่โต๊ะและจดตามที่ครูบอก มันอาจเป็นวัยที่เหมาะกับการเรียนรู้แบบอื่น ลงมือทำจริง ได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรง หรือการที่เด็กไม่ตั้งใจ เพราะครูสอนแบบอ่านหนังสือให้ฟัง ทำให้เขาไม่รู้ว่าจะเรียนไปทำไม

การทบทวนการเรียนการสอนแบบนี้จะทำให้เราเข้าใจพฤติกรรมของเด็กมากขึ้น และย้อนกลับมาดูว่าครูเปลี่ยนวิธีการสอนได้หรือเปล่า และรัฐสามารถเข้าไปมีส่วนช่วยให้ครูจัดการเรียนการสอนใหม่ๆ ได้หรือไม่

อุฬาชา : เราอาจต้องทบทวนมาตรฐานที่เราคาดหวังจากเด็กด้วย ที่ผ่านมา ถ้าเด็กนั่งเงียบๆ เรียบร้อยไม่เถียง ครูอาจคิดว่านี่คือพฤติกรรมที่พึงประสงค์ ทั้งที่นั่นอาจเป็นพฤติกรรมจำกัดศักยภาพของเขาที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ผ่านการถกเถียง ใช้เหตุผลอธิบายเมื่อเขาเกิดความเห็นต่าง

เราควรตั้งคำถามว่าจำเป็นไหมที่เด็กต้องเป็นเหมือนกัน ต้องตั้งใจเรียน เก่งวิทย์ คณิต อังกฤษ เหมือนกัน ทั้งที่ในความเป็นจริงเด็กมีความเก่งที่หลากหลาย สิ่งที่ครูหลายคนสะท้อนว่าได้เรียนรู้จากการเลิกใช้วิธีลงโทษ และเปลี่ยนชั้นเรียนให้สนุกมากขึ้น คือได้เห็นว่าเด็กมีความหลากหลาย เปิดใจว่าถ้าบางคนไม่เก่งวิชาไหนก็ไม่เป็นไร ขอให้ตั้งใจเรียนพอ และตัวครูเองมีหน้าที่ช่วยเหลือสิ่งที่เด็กต้องการ ช่วยให้เด็กมีความรู้พื้นฐาน ไม่ใช่ขับเคี่ยวให้เด็กที่ไม่ถนัดต้องเป็นเลิศวิชานั้น ซึ่งเรามองว่าความเข้าใจตรงนี้จะช่วยลดความคาดหวังและการลงโทษเด็ก หากเด็กไม่ได้ทำหรือเป็นอย่างที่ครูต้องการ

กานน : การจะทำแบบนั้นได้ ก็ต้องเปลี่ยนความคาดหวังที่รัฐมีต่อครูเช่นกัน เพราะครูบางคนอาจไม่ได้ต้องการเคี่ยวเข็ญเด็ก แต่เขากลับมีตัวชี้วัดบางอย่างที่มาควบคุมกดดัน เช่น คะแนน O-NET ของโรงเรียนต้องดี

อีกประเด็นหนึ่งคือการมอบอำนาจในการตัดสินใจของครูให้มากขึ้น เพราะจากการสัมภาษณ์ ครูส่วนใหญ่ โดยเฉพาะครูรุ่นใหม่ไม่เชื่อในการใช้ความรุนแรงแล้ว แต่หลายพื้นที่ในโรงเรียนยังไม่เปิดโอกาสให้เขาทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อได้ เช่น เขาไม่เห็นด้วยกับการกร้อนผมเด็ก แต่ถ้าไม่ทำ จะถูกผู้บริหารเรียกพบ ฉะนั้น การลดความรุนแรงในโรงเรียนจึงหมายถึงลดความรุนแรงที่ครูถูกกระทำลงด้วย

อุฬาชา : เราต้องช่วยกัน empower ครู ให้ครูมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะกับกฎระเบียบที่ครูไม่เห็นด้วย ถ้าเรามอบอำนาจให้ครูสามารถตัดสินใจทำหรือไม่ทำในบางเรื่องได้ มันจะขยายไปสู่การที่ครูออกมาส่งเสียงว่าการกระทำแบบไหนที่เขาไม่โอเค การกระทำแบบไหนที่ทำกับเด็กแล้วไม่ดี เป็นการสะท้อนฟีดแบ็กกลับไปหาผู้ออกนโยบายว่าสิ่งที่คุณสั่งมา คนหน้างานคิดว่าไม่เวิร์ก และเสนอสิ่งที่คนหน้างานคิดว่าเวิร์ก ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีช่องทางแบบนั้น

นอกจากนี้ เรื่องสวัสดิการครูก็เป็นสิ่งจำเป็นต้องได้รับการพัฒนา สิ่งหนึ่งที่สังเกตว่าเพจเฟซบุ๊กเพจหนึ่งซึ่งครูมักจะมาแชร์ปัญหากัน คือเรื่องบ้านพักครู นึกภาพเราเป็นครูในต่างจังหวัดห่างไกล ไม่มีทางที่เราจะไปหาหอพักดีๆ อาศัย ทำให้ต้องไปอยู่บ้านพักครู แต่ปัญหาคือบ้านพักครูทั้งเก่าทั้งโทรม ไม่ปลอดภัย บางวันก็มีโจรขึ้นบ้าน ถ้าชีวิตเราไม่ปลอดภัย แล้วเราจะมีความรู้สึกมั่นคงทางอารมณ์ได้อย่างไร เราคงรู้สึกกลัวและโกรธว่าทำไมต้องเจออะไรแบบนี้ ทำไมต้องมาอยู่ที่นี่ ดังนั้น การดูแลครูให้มีชีวิตที่ปลอดภัยและคุณภาพชีวิตดีจะทำให้ครูมั่นคงทางอารมณ์แล้วรับมือกับเด็กนักเรียนได้ดีขึ้น ไม่ระเบิดอารมณ์ออกมา ซึ่งจะส่งผลดีต่อเด็กด้วย

กานน : สิ่งที่อยากทิ้งท้ายและเน้นย้ำไว้มากๆ คือครูเองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง มีอารมณ์โกรธได้ เสียใจได้ และเราเชื่อว่าครูส่วนใหญ่ใช้ความรุนแรงเพราะลึกๆ มาจากความหวังดีจริงๆ แต่จะทำอย่างไรให้เขาเห็นว่ามีวิธีการที่ไม่ทำให้ทุกฝ่ายเป็นทุกข์ เพราะระบบการศึกษาที่เราเป็นอยู่เป็นทุกข์กันแทบทุกคน ทั้งเด็กและครู และที่สำคัญ ทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะที่ผ่านมา เราเห็นว่าเมื่อครูทุกคนรู้ว่าวิธีการที่ทำอยู่ไม่ดี มีวิธีการใหม่ที่ดีกว่า หลายคนก็พยายามเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save