คังคุไบ: ภาพสะท้อนปัญหาการค้ามนุษย์ของอินเดีย

ณ เวลานี้เรียกได้ว่าภาพยนตร์อินเดียอย่าง ‘คังคุไบ’ (Gangubai Kathiawadi) ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย จนเกิดเป็นปรากฎการณ์ควานหาชุดสาหรี่สีขาวมาแต่งตัวเลียนแบบกันทั่วฟ้าเมืองไทย ถือเป็นมิติใหม่ของตลาดภาพยนตร์อินเดียในประเทศไทยที่ไม่ค่อยได้เห็นเท่าไหร่นัก เพราะกระแสภาพยนตร์อินเดียในประเทศไทยค่อนข้างมีน้อย หรือมาเป็นช่วงๆ แตกต่างจากภาพยนตร์ฮอลลีวูด หรือซีรีส์เกาหลี ที่เรียกได้ว่าตีตลาดเมืองไทยแตกมานานแล้ว ฉะนั้น ‘กระแสคังคุไบ’ ในวันนี้ก็ถือเป็นเรื่องน่ายินดีของภาพยนตร์อินเดียที่ดูจะมีลู่ทางในเมืองไทย รวมถึงในต่างประเทศมากขึ้น หลังจากที่เน้นตลาดภายในประเทศมาตลอด

คังคุไบได้รับคำวิจารณ์อย่างหนาแน่นจากคนไทยว่าเปลี่ยนมุมมองของพวกเขาต่อภาพยนตร์อินเดียไปมาก แต่แท้จริงภาพยนตร์อินเดียเปลี่ยนไปนานแล้ว หลายเรื่องเล่นประเด็นทางสังคมได้น่าสนใจไม่แตกต่างไปจากคังคุไบ วันนี้หลายคนมองว่าหนังเรื่องนี้กำลังพูดถึงหรือถกเถียงประเด็น ‘โสเภณีถูกกฎหมาย’ แต่ในอีกทางหนึ่ง คังคุไบได้แอบแฝงประเด็นปัญหาเรื้อรังในสังคมอินเดียไว้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะปัญหาการค้ามนุษย์

 ‘คังคุไบ’ คือเหยื่อของการค้ามนุษย์

ในขณะที่กระแสวิจารณ์และมุมมองส่วนใหญ่ต่อภาพยนตร์เรื่องคังคุไบมุ้งเน้นไปที่การสนับสนุนการทำให้ Sex Worker ถูกกฎหมาย หรือชวนมองมิติต่างๆ ทางด้านสังคมวัฒนธรรมของอินเดียภายใต้กรอบยุคอาณานิคม ระบบชนชั้นวรรณะทางสังคม หรือการกีดกันทางสังคมต่ออาชีพโสเภณี จนเชิดชูให้คังคุไบเปรียบเสมือนตัวแบบสำคัญของผู้ที่ลุกขึ้นมาขับเคลื่อนเรื่องสวัสดิการให้กับโสเภณี แต่หากเราย้อนมองภาพยนตร์เรื่องนี้นับตั้งแต่เริ่มเรื่อง และตั้งคำถามกับมันง่ายๆ ว่า “ถ้าแฟนของคังคุไบไม่ขายเธอเข้าไปอยู่ในสถานเริงรมย์ ชีวิตของคังคุไบจะยังคงเป็นเช่นนี้หรือไม่”

อาจกล่าวได้ว่าจุดเริ่มต้นของคังคุไบคือการเป็น ‘เหยื่อ’ ในวงจรการค้ามนุษย์และค้าประเวณี ที่เรียกได้ว่าเป็นปัญหาสำคัญและเรื้อรังอย่างมาก ชีวิตของเธอไม่ได้แตกต่างไปจากเหยื่อคนอื่นๆ ที่เริ่มต้นด้วยความฝันที่อยากสร้างเนื้อสร้างตัว หรืออยากเป็นดาราโด่งดังในอุตสาหกรรมบอลลีวูดของอินเดีย สิ่งเหล่านี้ถือเป็นโอกาสที่ขบวนการการค้ามนุษย์ในอินเดียนิยมใช้เพื่อหลอกล่อวัยรุ่นหนุ่ม-สาวให้ตกกลายเป็นเหยื่อ

สำหรับคังคุไบอาจจัดอยู่ในกลุ่มที่ถือได้ว่าถูกหลอกและล่อลวงด้วยความรัก เพราะฐานะทางบ้านของเธอไม่ได้ย่ำแย่อะไรมากนัก เพียงแค่เธออยากเดินตามความฝันของตัวเอง แต่ดันไปตกหลุมพลางและกลายเป็นเหยื่อของขบวนการการค้ามนุษย์เท่านั้น ในทางกลับกันยังมีหญิงสาวอินเดียอีกมาก ที่กลายเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์และค้าประเวณีจากสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจที่บีบบังคับ หลายครอบครัวจำใจต้องขายลูกสาวออกไปเพื่อนำเงินมาจุนเจือฐานะทางเศรษฐกิจ ดังที่เราได้เห็นจากพื้นหลังของเพื่อนหลายคนของคังคุไบนั่นเอง

แต่ปัญหาหนักหนาสาหัสเข้าไปอีกเมื่อผนวกกับค่านิยมทางสังคมของอินเดีย ที่ทั้งกีดกันและลดทอนสถานะของเหยื่อจากปัญหาการค้าประเวณีเหล่า ประเด็นนี้สะท้อนผ่านบทสนทนามากมายของตัวละครในเรื่องเกี่ยวกับการกลับบ้าน หรือแม้กระทั่งช่วงที่คังคุไบโทรศัพท์กลับไปหาที่บ้าน ภาพยนตร์ยังคงตอกย้ำให้เราเห็นอย่างชัดเจนถึงการไม่ยอมรับและกล่าวโทษเหยื่อในปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับงานศึกษาหลายชิ้นในปัจจุบันที่ยังคงพบปัญหานี้อยู่

ในท้ายที่สุดแล้วแม้เหยื่อเหล่านี้จะได้รับการช่วยเหลือ หรือมีทางเลือกให้กลับไปทำอาชีพอื่นได้ แต่ด้วยสภาพสังคมที่ไม่ยอมรับ ส่งผลให้เหยื่อจากการค้ามนุษย์จำนวนมากสุดท้ายต้องจำใจอยู่ในอุตสหกรรมนี้ต่อไปอย่างไม่มีทางเลือก

เรื่องราวของคังคุไบและเพื่อนๆ ของเธอเองก็ไม่ต่างจากสภาพความเป็นจริงของปัญหาการค้าประเวณีในอินเดียที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่เริ่มจากการกลายเป็นเหยื่อ และถูกกดทับซ้ำซ้อนจากทั้งโครงสร้างทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ กลายเป็นวงจรแห่งความเลวร้ายที่ยากจะหลุดออกมาได้ ซ้ำร้ายไปกว่านั้นหลายคนเมื่อเติบโตขึ้นไปก็ผันตัวเองกลายเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการค้ามนุษย์เสียเอง และหนึ่งในนั้นก็คือคังคุไบ

การค้ามนุษย์: ปัญหาที่เป็นมากกว่าเรื่องอาชญากรรม

แม้เรื่องราวของคังคุไบจะผ่านมาเป็นเวลามากกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับคังคุไบยังไม่ได้เจือจางหรือเลือนหายไปจากสังคมอินเดียแต่อย่างใด ซ้ำร้ายดูเหมือนว่าปัญหาเหล่านี้จะเพิ่มขึ้น และถูกทำให้กลายเป็นสิ่งปกติในสังคมไปเสียด้วยซ้ำ แต่แน่นอนว่าสำหรับสังคมเอเชียใต้ ซึ่งรวมถึงอินเดียด้วยนั้น ปัญหาการค้ามนุษย์นั้นไปไกลกว่าเพียงเรื่องอาชญากรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ต้นสายปลายเหตุของปัญหามีความสลับซับซ้อนมากกว่าเพียงเรื่องการบังคับใช้แรงงาน การค้าประเวณีโดยไม่เต็มใจ หรือการขายอวัยวะ เพราะยังมีองค์ประกอบของปัญหาความยากจน ค่านิยมทางสังคมและศาสนา ความขัดแย้งในครอบครัว รวมไปถึงสภาวะความไม่สงบ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงและความเปราะบางให้กับทั้งเด็กและผู้หญิงต่อการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์

ดังนั้น เรายังคงพบเห็นการส่งเด็กผู้หญิงอายุน้อยๆ ออกไปจากครอบครัวในนามของการแต่งงาน การทำงาน ความรัก และอาชีพที่ตนเองคาดหวัง (คังคุไบก็เป็นหนึ่งในนั้น) แม้เวลาผ่านไปหลายสิบปี ข้อมูลการศึกษาการค้ามนุษย์ในอินเดียยังคงยืนยันเช่นเดิมว่าบรรดาเด็กหญิงและผู้หญิงที่ออกจากบ้านไปด้วยเหตุผลข้างต้น แทบไม่มีใครได้กลับบ้านเลย[1] และอาชญากรรมที่แปลกประหลาดเหล่านี้นับวันจะกลายเป็นเรื่องปกติที่แทรกซึมเข้ามาในชีวิตและสังคมอินเดีย กลายเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่ง

ข้อมูลการรายงานข่าวสารเกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์ การค้าประเวณี การข่มขืน และการละเมิดสิทธิสตรี ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติอย่างยิ่ง ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติ อินเดียเป็นประเทศที่น่าสนใจประเทศหนึ่ง เพราะในขณะที่ผู้คนจำนวนมากบูชาเทพเจ้าสตรี ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศกลับเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้นหลายครอบครัวยังบังคับให้ลูกสาวประกอบอาชีพค้าประเวณีโดยมีบรรดาญาติๆ รับหน้าที่หาลูกค้ามาให้[2] ที่น่าเศร้าไปกว่านั้น เด็กสาวเหล่านี้กับถูกกีดกันออกไปจากสังคม ซึ่งรวมถึงครอบครัวของเธอด้วย

ความเลวร้ายของการค้ามนุษย์ในอินเดีย นอกจากจะเป็นปัญหาความบกพร่องทางข้อกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายในลักษณะที่ไม่แตกต่างไปจากประเทศอื่นๆ แล้ว อินเดียยังเผชิญกับค่านิยมและวัฒนธรรมบางประการที่ส่งเสริมให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น โดยเฉพาะการแต่งงานในวัยเด็กซึ่งถูกมองว่าเป็นเรื่องทางวัฒนธรรมมากกว่าเป็นการค้ามนุษย์ และผู้หญิงอินเดียจำนวนมากอยู่ในสภาพจำยอมที่ต้องแบกรับมรดกทางวัฒนธรรมและค่านิยมดั้งเดิมเหล่านี้

ยังไม่นับรวมว่าเหยื่อจำนวนมากในปัญหาการค้ามนุษย์และค้าประเวณียังต้องเผชิญกับแรงกดดันทางสังคมที่ไม่ยอมรับต่อสิ่งที่เกิดขึ้น แม้ว่าพวกเขาและเธอจะถูกบีบบังคับให้ต้องค้าประเวณีก็ตาม สังคมอินเดียยังคงไม่เปิดรับต่อสิ่งเหล่านี้ จนเป็นเหตุให้สุดท้ายแล้วเหยื่อจำนวนมากในกระบวนการค้าประเวณีกลับเข้าสู่วงจรดังกล่าวในสภาพที่ถูกบีบให้ต้องเต็มใจกระทำเพื่อความอยู่รอด ซึ่งเรื่องราวของคังคุไบได้เปิดด้านมืดนี้ของอินเดียให้เราได้เห็นอย่างเด่นชัด

แต่ภายใต้ความดำมืดของปัญหาเหล่านี้ ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาเหล่าได้เห็นพยายามของหลายภาคส่วนภายในอินเดียที่จะแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการค้าประเวณี รวมถึงการเพิ่มโอกาสให้ผู้หญิงได้เข้าถึงการศึกษา และยกเลิกการแต่งงานในวัยเด็ก

อินเดียกับความพยายามในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์

แน่นอนว่ารัฐบาลอินเดียตระหนักดีถึงปัญหาดังกล่าว และตลอดหลายปีที่ผ่านมามีความพยายามอย่างมากจากบรรดาฝ่ายการเมืองและภาคประชาสังคมในการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขปัญหาการค้าประเวณีและการยกเลิกประเพณี รวมถึงวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการแต่งงานในวัยเด็ก ยิ่งไปกว่านั้นยังมีความพยายามอย่างมากจากทุกภาคส่วนให้มีการยกปัญหาเหล่านี้เป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องได้รับการผลักดันอย่างจริงจังในระดับนโยบาย เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาเรื่องเด็กและสตรีภายในอินเดียมากยิ่งขึ้น

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ได้รับแรงสนับสนุนอย่างล้นหลามและกลายเป็นที่มาของการก่อตั้งกระทรวงการพัฒนาเด็กและสตรี (Ministry of Women and Child Development) ในปี 2006 ซึ่งกระทรวงนี้มีบทบาทและหน้าที่สำคัญในการพิจารณาออกข้อบังคับและกฎหมาย รวมถึงให้การสนับสนุนหน่วยงานด้านความมั่นคงในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อพิทักษ์สิทธิและสวัสดิภาพของเด็กและสตรี รวมถึงการให้ความช่วยเหลือเหยื่อจากขบวนการค้ามนุษย์และค้าประเวณีด้วย

ยิ่งไปกว่านั้นหน่วยงานนี้ยังรับบทบาทหน้าที่ในการประสานการทำงานร่วมกับองค์การอื่นนอกภาครัฐที่ทำงานให้ความช่วยเหลือบรรดาโสเภณี ตลอดจนเหยื่อจากการค้ามนุษย์ ซึ่งอินเดียมองว่าบางครั้งการที่รัฐเข้าไปมีบทบาทในส่วนนี้โดยตรงอาจทำให้ปัญหามีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น จึงอาศัยการทำงานผ่านองค์การตัวแทนเหล่านี้ทดแทน โดยมีระบบงบประมาณและกฎระเบียบที่มีความยืดหยุ่นในการประสานงาน และทำงานร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการค้าประเวณีไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะมีความพยายามจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมที่บูรณาการการทำงานร่วมกัน แต่ด้วยขนาดพื้นที่และประชากรของอินเดีย ปัญหายังคงไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่ก็ใช่ว่าจะสูญเปล่าไปเสียทั้งหมด ความพยายามหลายอย่างของรัฐบาลอินเดียที่เข้าไปแก้ปัญหาอย่างตรงจุด ทั้งการแก้ไขปัญหาความยากจน การยื่นสวัสดิการเข้าไปในระดับครัวเรือน รวมถึงการประสานภาคประชาสังคมให้ร่วมดูแลสวัสดิการและป้องกันอาชญากรรมจากการบังคับค้าประเวณี

ความพยายามเหล่านี้ล้วนมีส่วนลดทอนกำลังของเครือข่ายการค้ามนุษย์ที่แต่เดิมนั้นแข็งแกร่งจนเป็นระดับมาเฟียในหลายท้องถิ่นลงได้ ที่สำคัญยังช่วยลดจำนวนการแต่งงานในวัยเด็กของผู้หญิงได้อย่างมหาศาล เพิ่มโอกาสให้เด็กหญิงได้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษา หลายรัฐของอินเดียอัตราส่วนผู้หญิงที่สามารถอ่านออกเขียนได้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ถ้ามองดีๆ นี่คงเป็นสิ่งที่คังคุไบคงอยากเห็นมากที่สุด ดังที่เธอพยายามอย่างมากให้บรรดาลูกสาว ลูกชายของโสเภณีได้รับโอกาสในการศึกษา เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขาให้ไปไกลกว่าการอยู่ในวงจรดำมืดอย่างการค้ามนุษย์และค้าประเวณี

เอาเข้าจริงแล้วสิ่งที่คังคุไบกำลังสู้อาจไม่ใช่เพียงเรื่องการค้าประเวณีถูกกฎหมาย แต่เป็นการหยุดยั้งการค้ามนุษย์และการค้าประเวณีต่างหาก


[1] Dutta, M. (2011). Cultural dimensions of human trafficking in India. International Journal of Arts & Sciences4(13), 93.

[2] Sarkar, S. (2014). Rethinking human trafficking in India: Nature, extent and identification of survivors. The Round Table103(5), 483-495.

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save