fbpx

รัฐประหารในโลกเก่า กลไกเข้าสู่อำนาจที่บ่อนทำลายตัวเอง: อ่านประวัติศาสตร์อยุธยาด้วยแว่นเกมออฟโธรนส์

บทความนี้ได้ทำตารางการรัฐประหาร-กบฏ ที่เกิดขึ้นในกรุงศรีอยุธยาแนบไว้ตอนท้าย เพื่อร่างภาพใหญ่ให้ผู้เขียนได้เห็นร่วมกันและสามารถย้อนกลับไปเทียบเคียงลำดับเหตุการณ์ได้ และนำไปค้นคว้าต่อ มากกว่าจะแสดงให้เห็นว่า ข้อมูลเหล่านี้คือความจริงแท้ ชื่อของกษัตริย์อยุธยาจะอิงจาก อคิน รพีพัฒน์, สังคมไทยในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์พ.ศ.2325-2416, ประกายทอง สิริสุข และพรรณี ฉัตรพลรักษ์, แปล (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2527) , หน้า 12-14 เป็นหลัก ยกเว้นแต่บางชื่อที่ตัวสะกดไม่คุ้นเคยก็จะทำการปรับให้เข้าใจได้

19 กันยายนนี้ก็จะครบรอบ 15 ปีการรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค. ต่อมาเปลี่ยนเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ : คมช.) ที่ทำการยึดอำนาจปวงชนชาวไทยโดยการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ทิ้ง และขึ้นครองอำนาจแทนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คณะรัฐประหารไม่เพียงล้มทักษิณ ชินวัตร แต่เป็นการล้มล้างอำนาจอธิปไตยของประชาชนผู้เป็นเจ้าประเทศไปด้วย

บทความนี้จะชี้ให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของการรัฐประหาร แต่ไม่ใช่ในการเมืองร่วมสมัย เราจะย้อนกลับไปในสมัยอยุธยา ผู้เขียนใช้ข้อมูลจากวิทยานิพนธ์ของคุณปิยรัตน์ อินทร์อ่อน ที่ชื่อว่า รูปแบบการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองในสมัยอยุธยา พ.ศ.1893-2310[1] เป็นตัวยืนส่วนเนื้อหา

หากบัลลังก์เหล็กแห่งเวสเทอรอสในเกมออฟโธรนส์จะเป็นเป้าหมายของตระกูลต่างๆ แล้ว เศวตฉัตรแห่งกรุงศรีอยุธยาก็อาจพออุปมาได้ถึงบัลลังก์อันเป็นที่หมายปองของชั้นนำในยุคดังกล่าว ในวัฒนธรรมร่วมสมัย การฉายภาพการชิงอำนาจของกษัตริย์อยุธยาอาจผ่านตามาแล้วบ้างจากในหนังสุริโยไท หรือล่าสุดคือละครย้อนยุคที่กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์อย่างบุพเพสันนิวาส ที่ตอนท้ายเรื่องเล่าถึงการรัฐประหารของพระเพทราชา ฆ่าพระปีย์และคอนสแตนติน ฟอลคอน เรียกได้ว่าการรัฐประหารนั้นแฝงอยู่ในวัฒนธรรมบันเทิงร่วมสมัยไทยแบบที่เราอาจจะไม่ทันรู้ตัว

ข้อเขียนนี้จะชวนมองชนชั้นนำในฐานะมนุษย์ผู้มีเลือดมีเนื้อ และเป็นนักการเมืองผู้แสวงหาอำนาจภายใต้ความโลภ โกรธ หลงแบบปุถุชน มีการกระทำที่มีทั้งประสบความสำเร็จและความผิดพลาด บนสังเวียนของการชิงอำนาจในโลกการเมืองแบบหนึ่งที่อาจพอเทียบเคียงได้กับซีรีส์ชื่อก้องโลกอย่างเกมออฟโธรนส์ เพียงแต่เปลี่ยนสถานที่มาสู่ราชธานีที่เคยยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของสยาม นั่นคือ ‘กรุงศรีอยุธยา’

คู่มือรัฐประหารฉบับอยุธยา

การเมืองของราชบัลลังก์แสดงให้เห็นถึงการช่วงชิงอำนาจทั้งใช้ความรุนแรงแบบเลือดตกยางออก การต่อรองทางการเมือง และการทูตหลายรูปแบบ เหตุเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพระบรมราชาที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว 1913) ไปจนถึงพระเจ้าเอกทัศน์ (2301) ผู้เขียนพยายามประมวลว่ารัฐประหารเกิดขึ้นจำนวน 17 ครั้งในช่วงเวลาเกือบ 388 ปี ตกแล้ว 23 ปีจะมีรัฐประหารครั้งหนึ่ง (ต่างจากรัฐประหารสมัยใหม่นับตั้งแต่ปี 2476-2557 มีรัฐประหารแล้ว 13 ครั้ง เฉลี่ย 6 ปี จะมีรัฐประหารครั้งหนึ่ง) หากรัฐประหารคือความสำเร็จแล้ว ความล้มเหลวในการแย่งชิงอำนาจก็คือกบฏ กบฏในสมัยอยุธยาก็ใช่ย่อย นับที่ยกพลเข้าในเขตราชธานีนับได้ไม่น้อยกว่า 12 ครั้ง ที่สำคัญมีอย่างน้อย 3 ครั้งที่เป็นคนต่างชาติ ที่บุกเข้าไปถึงในเขตพระราชวัง แต่ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ ฉากจบของศึกแต่ละครั้งต่างเต็มไปด้วยการนองเลือด

การรัฐประหารแต่ละครั้ง ผู้ต้องการช่วงชิงอำนาจจะเฝ้ารอโอกาสช่วงสุญญากาศทางการเมือง นั่นคือ หลังจากกษัตริย์สวรรคต หรือการเกิดเหตุผิดปกติอย่างร้ายแรง ผู้ที่หมายปองในเศวตฉัตรต่างคุมเชิงและช่วงชิงจังหวะเพื่อไม่ให้บัลลังก์ว่างและเกิดความสูญเสียในงานราชการบ้านเมือง  

สำหรับเหตุผิดปกติทั้งที่มีอยู่จริงและสร้างขึ้นจะสอดคล้องกับกลยุทธ์การโจมตีและประณามให้ผู้นำไร้ความชอบธรรมทางการเมือง ผ่านการสร้างข่าวลือ กระจายข่าวในสังคม ‘เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา’ เป็นตัวอย่างที่ดี โดยเนื้อหาอ่านดูเผินๆ แล้วเหมือนคำพยากรณ์ถึงหายนะของกรุงศรีฯ หลังเสียกรุงครั้งที่ 2 แต่การณ์กลับเป็นว่า เพลงยาวนี้น่าจะแต่งในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ที่เชื่อว่าเป็นยุคทองยุคหนึ่งนั่นเอง[2] ช่วงดังกล่าวเป็นเวลาที่ฝรั่งเศสที่หนุนหลังโดยคอนสแตนติน ฟอลคอนเป็นใหญ่ คริสต์ศาสนามีพื้นที่ในการขยายอำนาจ ขณะที่พระเพทราชาเองก็มีสมัครพรรคพวกเป็นพระรูปสำคัญหนุนหลังอยู่ ดังนั้นเนื้อหาของเพลงยาวจึงมิพ้นจะเป็นการทำลายความชอบธรรมของผู้ปกครองในยุคนั้น ดังเห็นได้จาก

เทวดาซึ่งรักษาพระศาสนา        จะรักษาแต่คนฝ่ายอกุศล

สัปรุษย์จะแพ้แก่ทระชน           มิศตนจะฆ่าซึ่งความรัก

ภรรยาจะฆ่าซึ่งคุณผัว             คนชั่วจะมล้างผู้มีศักดิ์

ลูกสิทธิ์จะสู้ครูพัก                 จะหาญหักผู้ใหญ่ให้เป็นน้อย

ผู้มีศีลจะเสียซึ่งอำนาจ            นักปราชญ์จะตกต่ำต้อย

กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย           น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม

ผู้มีตระกูลจะสูญเผ่า               เพราะจันทานมันเข้ามาเสพสม

ผู้มีศีลนั้นจะเสียซึ่งอารมณ์        เพราะสมัครสมาคมด้วยมารยา

พระมหากษัตริย์จะเสื่อมสิงหนาท ประเทศราชจะเสื่อมซึ่งยศถา

อาสัจจะเลื่องฦๅชา                พระธรรมาจะตกฦกลับ  

ผู้ต้องการชิงอำนาจจำต้องสร้างบุญญาบารมีของตนไปด้วย ทั้งในด้านการสั่งสมอำนาจทางเศรษฐกิจ ศาสนาและการเลี้ยงดูผู้คน จะเห็นว่าวัดเป็นพื้นที่ทางการเมืองในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเขตลี้ภัยทางการเมือง เช่น กรณีของพระเฑียรราชาซึ่งต่อมาได้สึกออกมาครองบัลลังก์ พระศรีศิลป์ที่เป็นพระมหาอุปราช เมื่อคราวพระเจ้าทรงธรรม แล้วทำการต่อสู้กับฝ่ายพระเชษฐาแต่พ่ายแพ้จนต้องออกผนวชเพื่อรักษาชีวิต[3] ส่วนพระอาทิตยวงศ์ที่ถูกถอดหลังรัฐประหารโดยพระเจ้าปราสาททองก็ถูกส่งไปอยู่วัด[4] หรือกรณีของตรัสน้อยโอรสของกรมหลวงโยธาเทพกับพระเพทราชาก็ต้องบวชเณร แม้จะสึกมาเมื่ออายุ 18 ปี แต่สุดท้ายต้องกลับไปบวชเพื่อลี้ภัยทางการเมืองจากพระเจ้าเสืออย่างถาวร[5] และที่รู้จักกันดีคือ กรณีพระเจ้าอุทุมพรที่ถวายราชสมบัติให้กับพี่ชายและออกผนวช ณ วัดประดู่ ก่อนที่จะถูกเชิญให้ลาสิกขามาช่วยรบกับศึกพม่า[6]

นอกจากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแล้ว ผู้ที่สลัดผ้ากาสาวพัตร์ออกมาครองเศวตฉัตรโดยตรงก็มีพระพิมลธรรมอนันตรปรีชา ผู้สั่งสมอำนาจผ่านบวชเรียน ณ วัดระฆังหรือวัดวรโพธิ์ ว่ากันว่ามีลูกศิษย์ญาติโยมทั้งหลายนับถืออยู่มาก แต่ช่วงหลังสมเด็จพระเอกาทศรถสวรรคต วังหลวงเกิดความวุ่นวายด้วยกบฏออกพระนายไวยไปจนถึงการบุกวังของทหารอาสาญี่ปุ่น ในที่สุด พระพิมลธรรมฯ ก็ได้รับการสนับสนุนให้ลาสิกขาออกมารวบรวมพลที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุก่อนจะเข้าโจมตีวังหลวง ข้อสังเกตคือ ครั้งนี้มีการรวมพลจำนวนมากในพระนครซึ่งอาจจะมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาเพื่อทำการรัฐประหาร พระศรีเสาวภาคย์ ที่น่าสนใจคือ ผู้สนับสนุนใหญ่ครั้งนี้คือ จมื่นศรีสรรักษ์ หัวหน้ามหาดเล็กของกษัตริย์ ในที่สุดก็ขึ้นครองเศวตฉัตรในนามพระเจ้าทรงธรรม[7]

พื้นที่วัดจึงเป็นพื้นที่ทางการเมืองอย่างยิ่ง เพราะเป็นได้ทั้งพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่ส่วนรวม สำหรับพื้นที่ส่วนตัวนั้น สามารถใช้ในการปลีกวิเวก ในนามของการสวดมนต์ ไหว้พระ ศึกษาธรรมะ และปฏิบัติธรรมถือเป็นกิจวัตรส่วนตัวที่อาจพ้นจากการควบคุมและสอดส่องได้มาก ในอีกด้าน วัดเป็นพื้นที่ส่วนรวมในแง่ โดยปกติแล้ว วัดเป็นพื้นที่รวมตัวของผู้คนยามมีกิจกรรมต่างๆ วัดบางแห่งยังเป็นพื้นที่ติดตลาดที่คนทั่วไปเข้ามาค้าขาย หรือกิจกรรมในแต่ละเดือนอย่างวันพระ รวมไปถึงวันสำคัญต่างๆ การเข้านอกออกในวัดของขุนนางจึงมีทั้งมิติทางศาสนา คือ การเข้าวัดทำบุญ ฟังเทศน์ฟังธรรม และมิติทางการเมืองไปพร้อมๆ กันได้

ภาพที่ 1 แผนที่แสดงจำนวนวัดส่วนหนึ่งในเกาะอยุธยาที่มีจำนวนมาก แนวเส้นสีเหลืองคือคลองประตูข้าวเปลือกที่เป็นแนวรบระหว่างกรมพระบวรสถานมงคล (วังหน้าที่ต่อมาจะเป็นพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) และเจ้าฟ้าอภัย ที่มา โครงการประวัติศาสตร์ไทย สังเขป ฉบับมติชน, 2563

อำนาจทางเศรษฐกิจและสิทธิประโยชน์ของชนชั้นนำและขุนนางก็เป็นฐานสำคัญ กล่าวกันว่าขุนนางอยุธยาได้ประโยชน์จากตำแหน่งที่เรียกว่า ‘กินตำแหน่ง’ หรือ ‘กินเมือง’ พวกเขาและครอบครัวบุตรหลานและบริวารได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงาน ไม่ต้องเสียภาษี มีไพร่ในสังกัดเพื่อควบคุมตามความสูงศักดิ์ ไม่ต้องไปศาลเอง มีสิทธิ์ใช้ทนายไปให้การในศาลแทน หากจะสืบสวนขุนนางต้องได้รับอนุญาตจากกษัตริย์ มีสิทธิ์ใช้เสมียนทนายรับใช้ใกล้ชิดติดตาม ได้รับเครื่องยศต่างๆ แสดงสถานะ เช่น หีบหมากเงิน หมากทอง อาจรวมถึงช้าง ม้า ข้าคนและที่ดิน แต่ต้องถวายคืนกษัตริย์เมื่อขุนนางตายหรือออกจากราชการ

ขุนนางนอกจากได้เบี้ยหวัดจากกษัตริย์แล้วยังสัมพันธ์กับหน้าที่การงาน บางกรมกองจะมีรายได้มากเช่น หน่วยงานที่เกี่ยวกับภาษีอากร ค่าธรรมเนียม การติดต่อการค้ากับต่างชาติ ขุนนางสามารถจัดเก็บรายได้ไว้ส่วนหนึ่งไว้แบ่งจ่ายเฉลี่ยกันเองในกรม และอีกส่วนก็เข้าท้องพระคลังหลวง ซึ่งง่ายต่อการปิดบังรายได้ที่แท้จริง รายได้อีกทีทางก็คือ จากไพร่ในสังกัดและผลผลิตจากการใช้แรงงานไพร่ในที่ดินของตน รวมถึงของบรรณาการต่างๆ จากพวกเขา ในคราวสงครามก็อาจได้พิเศษจากความดีความชอบหากรบชนะกลับมา[8] ดังนั้นขุนนาง หรือชนชั้นนำผู้กุมทรัพยากรคนและความมั่งคั่งได้มาก ก็มีโอกาสที่จะทำรัฐประหารมากขึ้นไปด้วย เห็นได้ชัดจากกรณีออกญากลาโหมที่จัดงานศพให้มารดาแล้วพบว่ามีขุนนางไปเข้าร่วมอย่างมาก จนเป็นที่หวาดระแวงของกษัตริย์[9]

ความสำเร็จของการรัฐประหารนั้นก็คือ การคุมกำลังพลไว้ได้มากพอที่จะเข้าไปยึดพื้นที่สำคัญอย่างวังหลวง ดังนั้น วังหลวงจึงเป็นเป้าหมายสำคัญของการยึดอำนาจ รวมไปถึงพื้นที่แห่งความรุนแรงที่จะต้องระวังการถูกลอบทำร้ายกันและกันไปด้วย เห็นได้จากการที่กรมขุนเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์) พยายามลอบทำร้ายกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ (เจ้าฟ้านเรนทร) วางอุบายให้มาเข้าเฝ้า พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศในยามวิกาลเมื่อสบโอกาสจึงลอบฟันด้วยดาบ โชคดีที่พลาดไป[10] พื้นที่วังไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย แม้แต่กองกำลังต่างชาติยังสามารถเข้ายึดวังหลวงได้ กองญี่ปุ่นอาสาสามารถบุกเข้ามาได้ถึงสองครั้งด้วยไพร่พลจำนวน 280 นายในสมัยพระศรีเสาวภาคย์ และ 500 นายในสมัยพระเจ้าทรงธรรม[11] หรือกบฏจีนจากคลองในไก่จำนวน 300 คนเศษที่เข้าวังหลวงได้เช่นกันในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเมื่อเดินทางไปลพบุรี[12]

ในเขตพระนครเองก็เคยมีการตั้งกองทัพประจันกันระหว่างสองฝ่ายเป็นสงครามกลางเมือง ตั้งแต่ยุคอ้ายพระยาและยี่พระยายกทัพมาหลังพระนครินทราธิราชสวรรคต[13] และในครั้งหลังคือ ระหว่างกรมพระบวรสถานมงคล (วังหน้าที่ต่อมาจะเป็น พระเจ้าอยู่บรมโกศ) และเจ้าฟ้าอภัยที่ยึดคลองประตูข้าวเปลือกเป็นเส้นแบ่งแดน เจ้าฟ้าอภัยตั้งมั่นในวังหลวงและฝั่งตะวันตกของคลอง ส่วนวังหน้าอยู่ในฝั่งตะวันออก ทั้งสองกองทัพปะทะกันหลายวันจนกว่าจะยุติ ชัยชนะเป็นของวังหน้า[14] และกรณีที่สุดขั้วก็คือการย้ายวังซึ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจกษัตริย์เสียเลย เห็นได้จากกรณีสมเด็จพระนารายณ์หลังจากทำการรัฐประหารแล้ว ประเมินว่าในวังหลวงที่อยุธยาอาจไม่ปลอดภัย จึงย้ายไปสร้างฐานที่มั่นของตัวเองใหม่ที่เมืองลพบุรี

ภาพที่ 2 แผนที่พระราชวังหลวง กรุงศรีอยุธยา (สีแดง เขตพระราชฐานชั้นนอก, สีน้ำเงิน ชั้นกลาง, สีเขียว ชั้นใน)
ที่มา เพจประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา

พงศาวดารของการรัฐประหารและการนองเลือดของใต้เศวตฉัตร

รัฐประหารครั้งแรก พี่เขยรักหักเหลี่ยมโหด

กล่าวได้ว่ากรุงศรีอยุธยานั้นเกิดจากพันธมิตรทางการเมืองลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง นั่นคือฝั่งตะวันออกที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ละโว้ และฝั่งตะวันตกที่มีศูนย์อำนาจที่สุพรรณภูมิ พระรามาธิบดีที่ 1 เป็นตัวแทนอำนาจจากละโว้ที่ได้ทำการย้ายเมืองหนีโรคระบาดข้ามฝั่งแม่น้ำมาสร้างเมืองใหม่บริเวณหนองโสนแบบที่เรารู้จักกันทุกวันนี้

ภาพที่ 3 แผนที่ที่ตั้งของสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) อยุธยา และละโว้ (ลพบุรี)
ที่มา มติชนสุดสัปดาห์

ปฐมรัฐประหารเกิดหลังจากพระรามาธิบดีที่ 1 สวรรคต โอรสคือพระราเมศวรที่ครองเมืองละโว้เดินทางเข้ามายังอยุธยาและขึ้นครองราชย์ แต่ก็เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ เพราะหลังจากนั้นขุนหลวงพะงั่วผู้มีศักดิ์เป็นพี่เขยของพระรามาธิบดีที่เป็นตัวแทนอำนาจจากฝั่งสุพรรณภูมิได้ยกกองทัพมา เมื่อประเมินแล้วว่าไม่อาจสู้ได้ พระราเมศวรจึงยอมยกเศวตฉัตรให้ขุนหลวงพะงั่วขึ้นครองราชย์นามพระบรมราชาที่ 1 (ปี 1913)[15] ในครั้งแรกยังไม่มีการนองเลือดใด ต้องรอจนพระบรมราชาที่ 1 สิ้นบุญ ราชสมบัติไปตกอยู่กับพระเจ้าทองลั่น แต่ครั้งนี้พระราเมศวรหวนกลับมาพร้อมกองทัพ แล้วจับพระเจ้าทองลั่นประหารเพื่อขึ้นครองราชย์ (1931) ฉากนองเลือดใต้เศวตฉัตรเริ่มจากครั้งนี้ หลังจากนี้ชนชั้นนำฝั่งตะวันออกจะไม่มีการส่งโอรสไปอยู่ที่ละโว้อีก[16]

พระอินทร์ผู้พิชิตละโว้ได้ แต่สองโอรสต้องตายเพราะแย่งบัลลังก์กันเอง

ชนชั้นนำจากสุพรรณภูมิอย่างพระอินทราชาได้รับความไว้วางใจจากเสนาบดีในอยุธยาเองปล้นเมืองถวาย (1952)[17] ขณะนั้นกษัตริย์อยุธยาสายละโว้อย่างพระรามราชาไม่ถูกฆ่าแต่ถูกส่งไปอยู่เมืองปทาคูจามแทน คุณสุจิตต์ วงษ์เทศเสนอว่า เมืองดังกล่าวตั้งอยู่ตอนใต้ของอยุธยาเป็นฐานอำนาจเดิมของพระรามาธิบดีที่ 1 ที่ชื่อเดิมเรียกกันว่า เวียงเหล็ก[18] จากการยึดอำนาจในครั้งนี้ชนชั้นนำสายละโว้จะหมดบทบาทและอิทธิพลลง 

แม้ฝ่ายสุพรรณภูมิจะครองอำนาจเป็นใหญ่แล้ว แต่ก็พบว่า การเปลี่ยนแผ่นดินหลังมรณกรรมของกษัตริย์ก็ยังตกอยู่ในช่วงสุญญากาศทางอำนาจและความไม่แน่นอน เจ้าอ้ายพระยายกทัพมาจากสุพรรณภูมิ เจ้ายี่พระยายกทัพมาจากแพรกศรีราชา (ปัจจุบันอยู่บริเวณ อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท) แล้วทำสงครามกัน ทั้งคู่ชนช้างแต่ก็เสียชีวิตในที่รบทั้งคู่ หลังสิ้นสงครามกลางเมือง ราชสมบัติตกเป็นของเจ้าสามพระยา (พระบรมราชาที่ 2) ที่ยกทัพมาจากเมืองชัยนาท (ปัจจุบันคือ พิษณุโลก) เข้าใจว่าจะรอจังหวะหลังจากที่ฝุ่นหายตลบแล้ว หลังจากนี้ไม่ปรากฏว่าส่งโอรสไปครองสุพรรณภูมิในฐานะเมืองลูกหลวงอีก

  

ช่วงว่างขนบรัฐประหาร 1 ศตวรรษ

หลังจากนี้ไปอยุธยาจะเว้นว่างจากขนบรัฐประหารไปอีก 110 ปี (1967-2077) หลังสิ้นพระบรมราชาที่ 4 หน่อพุทธางกูร) เป็นช่วงเวลาที่ไม่มีรัฐประหารยาวนานที่สุดที่อยุธยาเคยเป็น แสดงให้เห็นถึงความมั่นคงทางการสืบทอดราชบัลลังก์เป็นอย่างยิ่ง อยุธยาได้ขยายอำนาจไปทางตะวันออกเพื่อรบกับเมืองพระนคร (กัมพูชา) ที่สำคัญในยุคสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่ได้จัดระเบียบราชการใหม่โดยการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ความสงบนี้นับเป็นช่วงเวลา 1 ใน 4 ของอายุของอาณาจักรนี้เลย อย่างไรก็ตาม หากนับแล้วในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถก็กินเวลากว่า 40 ปีแล้ว การสืบราชสมบัติส่งถ่ายกันมาโดยไม่มีการนองเลือด สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นโอรสของพระบรมราชาที่ 2 ส่วนโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ก็สืบราชสมบัติต่อไป นั่นคือ พระบรมราชาที่ 3 (2031-2034) ตามมาด้วยพระรามาธิบดีที่ 2 (2034-2072) ที่กินเวลาถึง 38 ปี และต่อมาด้วยรัชสมัยสั้นๆ ของพระบรมราชาที่ 4 (หน่อพุทธางกูร 2072-2076) ที่เริ่มเกิดความไม่แน่นอนขึ้น

 

ภาพที่ 4 แผนที่กรุงศรีอยุธยา สีแดงหมายถึงบริเวณวังหลวง
ที่มา แผนที่กรุงศรีอยุธยา โดยพระยาโบราณราชธานินทร์ พ.ศ. 2469

พระไชยราชา ฆ่ายุวกษัตริย์ ระลอกสองของการนองเลือดใต้เศวตฉัตร

รอยต่อของช่วงพระรามาธิบดีที่ 2 เป็นต้นมา เป็นฉากหลังของการดำเนินเรื่องในหนังสุริโยไทอันเป็นจุดเริ่มของระลอกสองของการทำรัฐประหารในอยุธยา ยุวกษัตริย์อย่างพระเจ้ารัษฎา (2076-2077) ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระบรมราชาที่ 4 ได้ไม่นาน ก็ถูกรัฐประหารโดยพระไชยราชาโอรสของพระรามาธิบดีที่ 2 ขึ้นเป็นพระไชยราชา (2077)[19] ความรุนแรงเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อยุวกษัตริย์ไม่ได้รับโอกาสให้มีชีวิตอยู่ต่อ กลิ่นคาวเลือดใต้เศวตฉัตรได้กลับมาอีกครั้ง ไม่ว่าจะเชื่อว่า พระไชยราชาจะถูกวางยาพิษแบบในหนังสุริโยไทหรือไม่ แต่การสวรรคตของกษัตริย์องค์นี้ได้ส่งมอบราชบัลลังก์ไปให้พระยอดฟ้า (2089) โอรสของพระไชยราชากับท้าวศรีสุดาจันทร์ อย่างไรก็ตาม พระยอดฟ้าถูกลอบปลงพระชนม์[20] ขุนวรวงษาได้ขึ้นเป็นกษัตริย์โดยมีความคลุมเครือว่า การเสียชีวิตของพระยอดฟ้าอาจเกี่ยวพันกับขุนวรวงษา แต่ถึงไม่เกี่ยวการขึ้นครองอำนาจของขุนวรวงษาก็ไม่ใช่เหตุการณ์ปกติ ผู้เขียนถือว่านี่คือหนึ่งในการรัฐประหารครั้งหนึ่ง

ส่วนพระเฑียรราชาเองก็พยายามหลบหนีราชภัยโดยการออกบวช ระหว่างนั้นก็มีการซ่องสุมกำลังทางการเมืองกับขุนนางสำคัญอย่างพระมหาธรรมราชา เจ้าเมืองพิษณุโลก และขุนนางคนอื่น ในที่สุด ขุนวรวงษาก็ถูกรัฐประหาร ขุนวรวงษาถูกดักซุ่มโจมตีทางเรือและสังหาร พระเฑียรราชาขึ้นครองเศวตฉัตรในนามสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ[21] ภารกิจใหญ่หลวงของกษัตริย์องค์นี้คือการรับศึกจากทัพหงสาวดี

ศึกนี้ อยุธยาอาจนับว่าพ่ายแพ้ถึงสองครั้ง ครั้งแรก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิปราชัยทางการทูต และต่อมาพระมหินทร์ (2111) ผู้ขึ้นครองราชย์หลังจากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิสวรรคต ก็พ่ายแพ้สงครามให้แก่พระเจ้าบุเรงนองแห่งหงสาวดีเมื่อปี 2112 การเปลี่ยนถ่ายอำนาจจึงเกิดขึ้น พระมหินทร์ถูกปลด และผู้ขึ้นครองราชย์แทนคือ พระมหาธรรมราชาเจ้าเมืองพิษณุโลก[22] ผู้อ่านอาจจินตนาการตามภาพในหนังตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชภาคแรกได้ไม่ยาก

รัฐประหารหลังมหาสงคราม

อยุธยาฟื้นกลับมาหลังจากสมเด็จพระนเรศวรตั้งตนเป็นอิสระจากหงสาวดีและจัดระบบการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ และกวาดต้อนผู้คนจากหัวเมืองเหนือลงมา หลังจากสมเด็จพระนเรศวรรและสมเด็จพระเอกาทศรถแล้ว ความวุ่นวายจากการชิงอำนาจก็กลับมาอีกครั้งหนึ่ง ต้องกล่าวด้วยว่าสุญญากาศหลังมรณกรรมของสมเด็จพระเอกาทศรถนำไปสู่โอกาสของความรุนแรง หลังจากนี้ไปกองกำลังต่างชาติจะเข้ามาพัวพันกับการเมืองเรื่องยึดอำนาจมากยิ่งขึ้น 

ขณะนั้นโอรสของสมเด็จพระเอกาทศรถครองราชย์ ในนามพระศรีเสาวภาคย์ ออกพระนายไวย ขุนนางผู้มีอำนาจพยายามชิงเศวตฉัตรแต่ไม่สำเร็จจนกลายเป็นกบฏ (2163)[23] หลังจากถูกจับสำเร็จโทษแล้ว ทหารอาสาญี่ปุ่นที่น่าจะมีความสัมพันธ์กับออกพระนายไวไม่พอใจ พยายามนำกำลังกว่า 280 เข้าวังจับกุมตัวกษัตริย์แล้วเสนอให้ประหารขุนนางที่เป็นต้นเหตุในการประหารออกพระนายไวย[24] เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นสถานะที่อ่อนแอเป็นอย่างยิ่ง ในที่สุดก็ถูกชิงราชสมบัติโดยพระพิมลธรรมอนันตรปรีชา การยึดอำนาจครั้งนี้ได้รับการประเมินว่าอาจเป็นการใช้กำลังพลมากที่สุดเพื่อรัฐประหารเท่าที่เคยมีมา[25] จากพระสงฆ์รูปสำคัญได้กลายมาเป็นพระเจ้าทรงธรรม (2163) ยุคนี้เองที่มีการสร้างพระพุทธบาทและสร้างอาคารรอบที่สระบุรี หัวเมืองสำคัญทางตะวันออกที่ไม่ไกลจากละโว้ ฝั่งตะวันออกเริ่มกำลังมามีความสำคัญอีกครั้ง ในรัชสมัยนี้เกิดกบฏกองทหารอาสาญี่ปุ่น 500 นายที่เข้าไปจับตัวกษัตริย์ได้ ยังดีที่ฝ่ายพระมหาอำมาตย์ใช้กำลังพลขับไล่ญี่ปุ่นและช่วยกษัตริย์เอาไว้ได้[26]

หลังจากสิ้นพระเจ้าทรงธรรม (2171) สถานการณ์ได้ปูทางไปสู่ความรุนแรงอีกครั้ง ขั้วการเมืองได้แบ่งเป็น 2 ฝ่ายนั่นคือ ฝ่ายพระเชษฐาและฝ่ายพระศรีศิลป์ พระมหาอุปราช หลังสวรรคต ฝ่ายแรกใช้ทหารคุมวังหลวง อาสาญี่ปุ่น 600 คน (ภายใต้การควบคุมของออกญาเสนาภิมุข-ยามาดะ นางามาสะ) และทหารอีก 4,000 คน ได้จับกุมและประหารขุนนางฝ่ายตรงข้าม ส่วนพระมหาอุปราชาออกผนวชเพื่อรักษาชีวิต ผู้ชนะขึ้นเป็นกษัตริย์[27]

ออกญากลาโหม ถูกระแวงว่าจะรัฐประหาร เลยยึดอำนาจจริงๆ 

ออกญากลาโหม ขุนนางผู้ใหญ่มากบารมีสูญเสียมารดาในเวลาที่การเมืองตึงเครียด เขาได้จัดงานศพอย่างยิ่งใหญ่มีขุนนางน้อยใหญ่ไปเข้าร่วมจำนวนมาก ปรากฏว่าพระมารดาของกษัตริย์ (พระเชษฐา) ไม่พอใจจึงยุยงให้กษัตริย์ระแวงว่าออกญากลาโหมจะทำการกบฏ จึงนำไปสู่แผนกำจัดออกญากลาโหม กษัตริย์ออกอุบายให้ขุนนางไปเชิญตัวมา แต่มีข่าวหลุดไปถึงออกญากลาโหมก่อน เมื่อทราบข่าวออกญากลาโหมจึงรวมไพร่พลกว่า 3,000 ล่องมาด้วยเรือ 100 ลำเข้าวัง องค์ราชาพยายามหนีแต่ก็ถูกจับตัวได้จึงถูกสำเร็จโทษพร้อมกับพระราชมารดาและพรรคพวก ออกญากลาโหมไม่รีบร้อนขึ้นครองราชย์เอง แต่อัญเชิญพระอาทิตยวงศ์ขึ้นเป็นกษัตริย์ ส่วนตนเองนั่งเป็นผู้สำเร็จราชการ ช่วงนี้กษัตริย์กลายเป็นหุ่นเชิดทางการเมือง นำไปสู่การจับกุมและประหารชีวิตขุนนางด้วยข้อหาต่างๆ

การกำจัดขุนนางที่จะต่อต้านออกญากลาโหม มีขุนนางชื่อดังคนหนึ่งคือ ออกญาเสนาภิมุข หรือยามาดะ นางามาสะที่มีกองทหารอาสาญี่ปุ่นอยู่ในมือ (กองทหารเหล่านี้เองที่เป็นภัยคุกคามต่อวังหลวงหลายครั้ง) ถูกส่งไปกินเมืองนครศรีธรรมราชในข้ออ้างปราบกบฏ พร้อมกับกองกำลังญี่ปุ่นทั้งหลายด้วย ในที่สุดก็ถูกวางยาพิษปลิดชีพ เชื้อพระวงศ์ถูกจำกัด เหลือเพียงแต่ผู้ไม่สำคัญและสตรี ส่วนพระอาทิตยวงศ์นั้น บ้างก็ว่าถูกประหาร บางก็ว่าถูกส่งไปอยู่วัด ตัวเองก็ขึ้นเป็นพระเจ้าปราสาททอง[28]

หลังพระเจ้าปราสาททองสวรรคต โอรสองค์โตขึ้นครองราชย์นามพระไชย (2199) แต่ก็อยู่ได้ไม่นานถูกรัฐประหารโดยพระศรีสุธรรมราชา (ผู้เป็นลุงของเจ้าฟ้านารายณ์) และเจ้าฟ้านารายณ์ จบลงที่พระไชยถูกประหาร ขึ้นเป็นพระเจ้าศรีสุธรรมราชา (2199) เวลาผ่านไปไม่ถึงปี พบว่ากษัตริย์ต้องการให้น้องสาวของพระนารายณ์มาเป็นสนม แต่เจ้าตัวไม่ยินยอมและมาขอให้พี่ชายช่วย เพราะเหตุดังกล่าวหรือไม่ก็ยังไม่สามารถตอบได้ แต่หลังจากนี้ พระนารายณ์ตัดสินใจทำการรัฐประหารอีกครั้ง[29] มีข้อสังเกตคือ รัฐประหารครั้งนี้ไม่มีค่อยมีขุนนางผู้ใหญ่เข้าร่วมด้วย พระนารายณ์ยกพลล้อมวัง ปะทะกับกองกำลังรักษาวังอย่างรุนแรง ว่ากันว่าทำให้สนามหลวงกลายเป็นสนามรบ พระเจ้าศรีสุธรรมราชาพ่ายแพ้จึงหลบหนีไปยังวังหลัง ผู้ชนะครองเศวตฉัตร 

รัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ยาวนานถึง 32 ปี (2199-2231) แต่ก็มิใช่ 32 ปีแห่งความสุขสงบ เพราะเกิดการชิงไหวชิงพริบทางการเมืองกันอย่างหนัก สมเด็จพระนารายณ์ย้ายฐานที่มั่นไปยังเมืองละโว้เดิม สร้างเมืองใหม่แบบยุโรปขึ้นมาเป็นป้อมปราการของพระองค์ ความชอบธรรมของสมเด็จพระนารายณ์ลดลงเมื่อปลายรัชสมัยเมื่อชาวตะวันตกมีบทบาททางการเมืองและศาสนามากขึ้น ดังที่กล่าวไปเบื้องต้นว่า ฉากของยุคนี้ปรากฏในละครบุพเพสันนิวาส อาจกล่าวว่าสมเด็จพระนารายณ์รัฐประหารได้ แต่ก็ปกครองอยุธยาไม่ได้ จำเป็นต้องสร้างฐานที่มั่นใหม่ที่ลพบุรี

พระเพทราชา-หลวงสรศักดิ์ อ้างภัยฝรั่ง รัฐประหารแล้วทิ้งเมืองลพบุรี

ตระกูลการเมืองสุดท้ายของอยุธยา

พระเพทราชาอยู่ในกลุ่มขุนนางเก่า เป็นลูกพระนมของสมเด็จพระพระนารายณ์ เข้ารับตำแหน่งเจ้ากรมคชบาลที่เป็นกำลังหลักทางการทหาร แสดงถึงอำนาจและการไว้วางใจ พระเพทราชาเคยบวชอยู่นานจนมีสายสัมพันธ์อันดีกับพระสงฆ์ โดยเฉพาะสังฆราชเมืองลพบุรี ความตึงเครียดทางการเมืองดำรงอยู่บนฐานผลประโยชน์ที่ขัดกันกับขุนนางต่างชาติที่ทวีอิทธิพลสูงอย่างมากในราชสำนัก ในวันรัฐประหารนั้นพระเพทราชาและออกหลวงสรศักดิ์นำกำลังเข้าคุมตึกพระเจ้าเหาและคุมขุนนางจำนวนมากที่นั่น และให้กำลังประจำรักษาทุกประตูทุกป้อม เมื่อฟอลคอนเข้าวังก็ถูกจับและประหาร หม่อมปีย์โอรสบุญธรรมก็ถูกสำเร็จ เจ้าฟ้าอภัยทศที่กรุงศรีอยุธยา ก็ถูกลวงให้มาลพบุรีและถูกออกหลวงสรศักดิ์กำจัด เมื่อสมเด็จพระนารายณ์สวรรคต พระเพทราชาก็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และขึ้นเป็นกษัตริย์ (2231-2246) และได้แต่งตั้งให้กรมหลวงโยธาทิพ (น้องสาวสมเด็จพระนารายณ์ คนเดียวกับที่พระศรีสุธรรมราชาต้องการไปเป็นสนม) ให้เป็นอัครมเหสีฝ่ายขวา และกรมหลวงโยธาเทพ (ธิดาสมเด็จพระนารายณ์) เป็นอัครมเหสีฝ่ายซ้าย[30]

ออกหลวงสรศักดิ์ที่ได้รับการอวยยศให้เป็นวังหน้า ถือเป็นผู้มีอำนาจไม่น้อยแต่กลายเป็นว่าเกิดคู่แข่งคนสำคัญขึ้น นั่นคือ เจ้าพระขวัญ โอรสของพระเพทราชาและกรมหลวงโยธาทิพ ความนิยมเจ้าพระขวัญเนื่องมาจากได้กลายเป็นตัวแทนการเชื่อมไมตรีของคนแผ่นดินเก่าและแผ่นดินใหม่ นั่นได้ทำให้เกิดการแบ่งขั้วเป็นสองกลุ่ม เมื่อพระเพทราชาประชวร ก็ยิ่งซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น ในที่สุดวังหน้าก็ตัดสินใจลวงเจ้าพระขวัญไปประหาร เมื่อพระเทพราชาทราบเรื่องก็ทรงพิโรธและสั่งมอบราชสมบัติให้กับเจ้าพระพิชัยสุรินทร์แล้วก็สวรรคตไป อย่างไรก็ตาม เจ้าพระพิชัยสุรินทร์ตระหนักดีว่านั่นคือ ทุกขลาภจึงถวายเศวตฉัตรให้แก่วังหน้า กษัตริย์องค์ใหม่นี้ เรารู้จักกันดีในนามพระเจ้าเสือ ส่วนอดีตอัครมเหสี ทั้งคู่ขอออกไปอยู่ตำหน้กข้างวัดพุทไธสวรรค์ตอนใต้ของอยุธยา[31]

พระเจ้าท้ายสระคือ กษัตริย์ที่สืบทอดราชสมบัติจากพระเจ้าเสือแบบปกติในฐานะโอรส หลังสิ้นพระเจ้าท้ายสระ ก็เกิดวิกฤตการณ์ขึ้นอีกครา ครั้งนี้เป็นสงครามกลางเมืองระหว่างเจ้าฟ้าอภัย โอรสและวังหน้า เนื่องจากวังหน้าเห็นว่า ควรให้เจ้านเรนทรขึ้นครองราชย์ ขณะที่เจ้าฟ้าอภัยเองก็ต้องการได้ราชสมบัติ ทั้งคู่ยกกองทัพมาประจันหน้ากันในเขตพระนครและวังหลวง โดยมีคลองประตูข้าวเปลือกเป็นเส้นแบ่งแดน ในที่สุดวังหน้ากำชัย และจับเจ้าฟ้าอภัยที่หนีทางเรือไปทางป่าโมกมาสำเร็จโทษ[32] วังหน้าขึ้นครองราชย์ในชื่อที่เรารู้จักกันภายหลังว่าพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ส่วนเจ้านเรนทรที่ถูกอ้างถึงนั้นบวชเป็นพระอยู่ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ น่าจะเห็นว่าการสึกออกมาเป็นกษัตริย์อาจจะเป็นทุกขลาภแก่ตนมากกว่า จึงปฏิเสธที่จะลาสิกขาออกมา

26 ปีในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่บรมโกศ (2275-2301) เป็นช่วงเวลาของการช่วงชิงอำนาจภายในหมู่เจ้านายอย่างเข้มข้นรวมไปถึงความจลาจลวุ่นวายในเขตราชธานี นับตั้งแต่กบฏจีนในไก่ที่จีนกว่า 300 ปล้นวังหลวง[33], เจ้าธรรมาธิเบศร์ลอบสังหารเจ้านเรนทรที่เป็นที่ชอบพอกันกับกษัตริย์ (แต่ไม่สำเร็จ)[34], กรณีประหารวังหน้า (เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์) เนื่องจากไปทำชู้กับเจ้าฟ้าสังวาลย์ แม้ทั้งคู่จะถูกโทษลงอาญาด้วยการโบยแต่ก็ทนความเจ็บปวดไม่ไหวจนสิ้นลม[35] จากเหตุดังกล่าวทำให้เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตดำรงตำแหน่งวังหน้าต่อจากเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ไม่เพียงเท่านั้นยังพบว่าเจ้าทรงกรม ได้แก่ กรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นจิตสุนทร และกรมหมื่นเสพภักดี[36] พยายามจะก่อกบฏด้วยกำลัง 100-200 คน แต่ทั้งสามไม่กล้าตัดสินใจลงมือ ทั้งยังถูกพระราชาคณะเกลี้ยกล่อมถ่วงเวลา จนในที่สุดวังหน้าได้ฉวยโอกาสชิงลงมือโดยจับคุมขังแล้วประหารชีวิต

ในเวลาต่อมาวังหน้า (เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต) ก็ได้ขึ้นครองราชย์ต่อจาก พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แต่กลายเป็นว่าพี่ชายอย่างเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีไม่พอใจ จึงยึดพระที่นั่งสุริยามรินทร์ไว้เป็นที่ประทับ แสดงนัยของการไม่ยินยอม กษัตริย์ไม่อยากก่อสงครามกลางเมือง จึงถวายราชสมบัติและออกผนวชที่วัดประดู่[37] เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีขึ้นครองราชย์ในนามพระเจ้าเอกทัศน์ (2301-2310) กษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา ระหว่างนั้นก็มีเหตุการณ์ที่เจ้าพระยาอภัยราชา พระยายมราช พระยาเพชรบุรี ไปเฝ้ากรมหมื่นเทพพิพิธที่ผนวชอยู่ที่วัดกระโจมเพื่อจะชิงราชสมบัติ แต่กรมหมื่นเทพพิพิธจึงได้ปรึกษาพระเจ้าอุทุมพรที่บวชอยู่วัดประดู่ การณ์กลับเป็นว่า พระเจ้าอุทุมพรได้นำความไปแจ้งพระเจ้าเอกทัศน์ แต่ได้ขอบิณฑบาตชีวิตทุกคนไว้ เรื่องจึงลงเอยที่ว่าได้จับตัวทุกคนมาลงโทษ และเนรเทศกรมหมื่นเทพพิธให้ไปเกาะลังกา ตัวกรมหมื่นเทพพิธนี้เองช่วงหลังกรุงแตก จะกลายเป็นเชื้อพระวงศ์ระดับสูงที่มีความชอบธรรมทางการเมืองกว่าใครในยุคการเมืองแบบชุมนุม เรื่องหลังจากนั้นก็น่าจะพอกันทราบอยู่ คือการนับถอยหลังไปสู่การเสียกรุงศรีในปี 2310

รัฐประหาร+รักษาบัลลังก์+ระบบราชการพังพินาศ บ้านเมืองล่มจม

ภาพที่ 5 แผนที่พระราชวังหลวง กรุงศรีอยุธยา ในเขตพระราชฐานชั้นใน
ที่มา เพจประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา

ระบบของอยุธยานั้นเป็นราชธานีที่รวมศูนย์อย่างช้าในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และชัดเจนมากขึ้นในสมัยสมเด็จพระนเรศวร ทำให้ไม่มีเมืองไหนสามารถเป็นคู่แข่งกับราชธานีได้ ดังนั้นจึงไม่มีการซ่องสุมกำลังจากหัวเมืองเข้ามายึดอำนาจได้แบบที่เคยเป็นในสมัยต้นกรุงได้อีก ไม่ว่าจะเป็นจากละโว้หรือสุพรรณภูมิ

กล่าวกันว่า ประสิทธิภาพในการรบของสมเด็จพระนเรศวรคือ อำนาจการควบคุมกำลังไพร่พลจนสามารถใช้ยุทธศาสตร์ป้องกันราชธานีโดยการยกทัพออกไปรบ ไม่ใช่การตั้งรับอยู่ในกำแพงเมือง กระนั้นยุทธศาสตร์เช่นนั้นจะได้ใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีระบบที่สามารถควบคุมไพร่ได้มีประสิทธิภาพมากพอ และนั่นหมายถึงการเพิ่มอำนาจอย่างรวดเร็วของเหล่าขุนนางด้วย ในส่วนไกลออกไปตามหัวเมืองก็ถูกกีดกันไม่ให้มีความเข้มแข็งทั้งด้านทางการเมืองและเศรษฐกิจเนื่องจากถูกระแวงว่าจะเป็นอันตรายต่อรัฐบาลกลาง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เหล่าขุนนางส่วนกลางจะแย่งชิงอำนาจกันรวมไปถึงชิงอำนาจกษัตริย์ไปด้วย[38] จะเห็นว่ายิ่งในช่วงท้าย ผู้ที่กุมอำนาจทำการรัฐประหาร ล้วนเป็นเจ้านายชั้นสูงในเขตวัง

เพื่อไม่ให้เป็นภัยคุกคามต่อราชบัลลังก์ ตั้งแต่พระเจ้าปราสาททองลงมาเป็นอย่างช้า ได้กวาดล้างขุนนาง และทำให้ระบบราชการอ่อนแอ หลังจากพระเพทราชาเป็นต้นมา ก็พบว่ารัฐบาลกลางเข้าควบคุมหัวเมืองสำคัญเพิ่มขึ้นหลังจากต้องเผชิญหน้ากับกบฏ ดังที่พบในการเดินทางไปบำเพ็ญกุศลในหัวเมืองต่างๆ ผ่านการสร้างวัด ชะลอพระพุทธรูป นมัสการพุทธเจดีย์สำคัญ รวมไปถึงขุดคลองเชื่อมระบบคมนาคมระหว่างเมืองหลวงและหัวเมือง ทำให้หัวเมืองและเจ้าเมืองถูกสอดส่องและกำกับอย่างใกล้ชิด สภาพของหัวเมืองในช่วงนี้ยังแสดงให้เห็นถึงระบบราชการที่อ่อนแอ ไม่ว่าจะเป็นกบฏในหัวเมืองใหญ่อย่างนครราชสีมาและนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะกรณีไพร่ที่หลบหนีมูลนายไปทั่ว ย่อมแสดงให้เห็นถึงอำนาจที่แท้จริงของราชธานีและชนชั้นนำ เห็นได้จาก ปี 2285 พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศให้สมุหนายกออกไป ‘เกลี้ยกล่อม’ มูลนายที่หลบหนีให้กลับเข้ากรมกองจำนวนหลายหมื่น ซึ่งไพร่เหล่านั้นก็มิได้อยู่ห่างไกลพระนครไปเลย นั่นคือ วิเศษไชยชาญ, สุพรรณบุรี, นครชัยศรี, พรหมบุรี, อินทบุรี, สิงคบุรี, สรรคบุรี, ชัยนาทบุรี, มโนรมย์, อุทัยธานี และนครสวรรค์[39] ยิ่งมีความอ่อนแอของการควบคุมกำลังคนและหัวเมืองมากเท่าใด ยิ่งหมายถึงระบบป้องกันตัวเองที่ไร้ประสิทธิภาพมากขึ้นไปด้วย ยังไม่ต้องนับว่า กองทัพอยุธยาไม่ได้รับศึกสงครามขนาดใหญ่มาเป็นเวลาหนึ่ง ปฏิบัติการทางทหารส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพื่อชิงอำนาจภายใน และปราบกบฏเสียมากกว่า

ฝ่ายกองทัพพม่าที่ยกทัพมามียุทธศาสตร์คือ ยกทัพไปตีกระหนาบสองทางคือ มาจากทางเหนือและทางใต้ ทางเหนือนำโดยเนเมียวสีหบดี และมังมหานรธานำทัพมาทางใต้[40] ตอนเหนือได้วางยุทธศาสตร์ด้วยการเคลื่อนทัพอย่างรวดเร็ว ให้เว้นเมืองใหญ่ทางเหนือไว้เพื่อไม่ให้เสียเวลานั่นคือ พิษณุโลกกับพิจิตร รวมถึงหัวเมืองห่างไกลอย่างพิชัยและสวางคบุรี ต้องเข้าใจว่าหัวเมืองเหล่านี้ถูกวางระบบไว้ไม่ให้รวมตัวติดต่อกันได้ กฎหมายห้ามมิให้ติดต่อกันเองเพราะเกรงจะเป็นกบฏต่อพระนคร ซึ่งเป็นผลดีต่อการรักษาความสงบภายใน แต่กับการรับศึกใหญ่เช่นนี้มันคือความหายนะ[41] อีกยุทธวิธีในการปราบหัวเมืองคือ หากเมืองใดสู้ก็จะปล้นสะดมริบทรัพย์จับเป็นเชลย แต่ถ้าอ่อนน้อมก็จะไม่ลงโทษเพียงแต่เกณฑ์ผู้คนและเสบียงอาหาร บางหลักฐานชี้ว่าด้วยเหตุนี้ทำให้กองทัพพม่าเต็มไปด้วยชาวสยามที่ประสบความเดือดร้อน หายนะของกรุงศรีอยุธยาจึงมิได้อยู่ๆ ก็เกิดขึ้นเพราะ ‘ทวิราช’ อย่างพระเจ้าอุทุมพร-พระเจ้าเอกทัศน์เท่านั้น แต่มันคือระบบที่เน่าเฟะอยู่ภายในมาก่อนหน้านั้นแล้ว ดังที่ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้กล่าวว่า[42]

“อันที่จริงแล้วราชอาณาจักรอยุธยาได้พังสลายลงก่อนหน้าที่กำแพงเมืองอยุธยาจะถูกทำลายลงแล้ว…ส่วนที่สำคัญที่สุดคือ ความล้มเหลวของระบบการเมืองและสังคมของอยุธยาเองในอันที่จะป้องกันจากศัตรูภายนอก” 

ภาคผนวก ตารางแสดงรัฐประหารในสมัยอยุธยา

ครั้งที่ ปี พ.ศ.[43]ผู้ทำรัฐประหารผู้ถูกรัฐประหารรายละเอียด
1[44]1913ขุนหลวงพะงั่ว (พระบรมราชาที่ 1)พระราเมศวรเหตุหลังพระรามาธิบดีที่ 1 สวรรคต-พระราเมศวรถวายราชสมบัติ กลับไปอยู่ลพบุรี
2[45]1931พระราเมศวร เจ้าทองลั่นเหตุหลังสมเด็จพระบรมราชาที่ 1 สวรรคต-เจ้าทองลั่นถูกประหาร หลังจากนี้ไม่พบว่ามีการส่งพระราชโอรสไปที่ลพบุรีอีก
3[46]1952พระอินทราชา (พระนครินทราชาธิราช)พระรามราชาเจ้าเสนาบดีสนับสนุนสมเด็จพระนครินทราชาธิราช ด้วยการ “ปล้น” เมืองถวาย-สมเด็จพระรามราชาธิราช ถูกส่งไปอยู่เมือง ปทาคูจาม
4[47]1967เจ้าอ้ายพระยา (สุพรรณภูมิ), เจ้ายี่พระยา (แพรกศรีราชา), เจ้าสามพระยา (พระบรมราชาที่ 2) (ชัยนาท-พิษณุโลก)เหตุหลังพระนครินทราชาธิราชสวรรคต-เจ้าอ้ายพระยา, เจ้ายี่พระยา ยกทัพเข้าอยุธยา ชนช้างกันจนพิราลัย เจ้าสามพระยาได้ราชสมบัติ-เมืองสุพรรณภูมิมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง แต่หลังจากเหตุนี้ก็ไม่ปรากฏว่า พระราชโอรสไปครองสุพรรณภูมิอีก
5[48]2077พระไชยราชาพระรัษฎา พระรัษฎาถูกประหาร
6[49]2091ขุนวรวงษาพระยอดฟ้าพระยอดฟ้าถูกลอบปลงพระชนม์
7[50]2091สมเด็จพระมหาจักรพรรดิขุนวรวงษาขุนวรวงศาธิราชถูกดักซุ่มโจมตีขบวนเรือ 
8[51]2112พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง และพระมหาธรรมราชาพระมหินทร์หลังจากเสียกรุงครั้งที่ 1
9[52]2163พระพิมลธรรมอนันตรปรีชา (ต่อมาเป็นพระเจ้าทรงธรรม)  พระศรีเสาวภาคย์ระหว่างบวชมีลูกศิษย์ญาติโยมทั้งหลายนับถือมาก หลังสมเด็จพระเอกาทศรถสวรรคต เกิดความวุ่นวายด้วยกบฏออกพระไวยและทหารอาสาญี่ปุ่น รวมพลที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุแล้วเข้าโจมตีพระราชวัง ถือว่าเป็นการใช้กำลังพลจำนวนมากในเขตพระนครที่ถืออาจจะมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ได้รับการสนับสนุนจาก จมื่นศรีสรรักษ์ (หมื่นศรีสรรักษ์) หัวหน้าหมาดเล็กของกษัตริย์
10[53]2171พระเชษฐา พระเจ้าทรงธรรมสวรรคตหลังพระเจ้าทรงธรรมสวรรคต ได้มีขุนนาง 2 กลุ่มสนับสนุนฝ่ายของตนให้เป็นกษัตริย์ ฝ่ายพระเชษฐามีออกญาศรีวรวงศ์และออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาสะ) สนับสนุน อีกฝ่ายสนับสนุนพระศรีศิลป์ที่เป็นพระมหาอุปราช ได้แก่ ออกญากลาโหม ออกพระท้ายน้ำ ออกพระศรีเสาวราช ออกพระจุฬา และออกหลวงธรรมไตรโลก ฝ่ายหลังแพ้พบว่า หลังสวรรคตฝ่ายแรกใช้ทหารคุมวังหลวง  อาสาญี่ปุ่น 600 คน และทหารอีก 4,000 คน จับกุมและประหารขุนนางฝ่ายตรงข้าม ส่วนพระมหาอุปราชาออกผนวชเพื่อรักษาชีวิต
11[54]2173ออกญากลาโหม (สมเด็จพระเจ้าปราสาทอง)พระอาทิตยวงศ์ออกญากลาโหมจัดงานศพให้มารดาตน มีขุนนางไปเข้าร่วมจำนวนมาก พระราชมารดากษัตริย์ไม่พอใจจึงยุยงให้กษัตริย์ระแวง จึงวางแผนกำจัด โดยให้ชาวป้อมล้อมพระราชวัง แล้วให้ขุนมหามนตรีไปเชิญตัวมา แต่หมื่นสรรเพชญภักดีส่งหนังสือไปแจ้งเตือนล่วงหน้าว่าเป็นกลอุบาย เมื่อขุนมหามนตรีและพวกไปถึงก็ถูกคุมตัว หลังเสร็จงานศพจึงรวบรวมคน 3,000 เศษ ล่องเรือมา 100 ลำแล้วเข้าวัง กษัตริย์หนีลงเรือ แต่ถูกตามจับได้จนถูกประหาร เช่นเดียวกับพระราชมารดา และพรรคพวก แล้วก็อัญเชิญพระอาทิตยวงศ์ขึ้นครองราชย์แล้วตั้งตนเป็นผู้สำเร็จราชการ ระหว่างนั้นก็ใช้กษัตริย์เป็นหุ่นเชิดโดยให้จับกุมและประหารชีวิตออกญากำแพงในฐานะเป็นต้นเหตุให้กษัตริย์ถูกประหารชีวิต และให้ส่งออกญาเสนาภิมุขไปเป็นออกญานครศรีธรรมราช โดยอ้างกบฏนครศรีธรรมราช โดยนำกองอาสาญี่ปุ่นทั้งหมดไปด้วย เหตุดังกล่าวทำให้ไม่มีขุนนางที่คัดค้าน แล้วส่งพระอาทิตยวงศ์ไปอยู่วัด บางแหล่งว่าถูกประหาร บางแห่งไม่ยืนยัน จากนั้นก็ยืมมือขุนนางท้องถิ่นวางยาพิษออกญานครศรีธรรมราช และขับไล่ญี่ปุ่นออกไปจากกรุงศรีอยุธยา ซึ่งได้หนีไปกัมพูชา กำจัดเชื้อพระวงศ์เก่าๆ เหลือแต่ผู้ไม่มีความสำคัญและสตรี
12[55]2199พระศรีสุธรรมราชาและเจ้าฟ้านารายณ์เจ้าฟ้าไชยหลังพระเจ้าปราสาททองสวรรคต เจ้าฟ้าไชยพระราชโอรสองค์ใหญ่เสวยราชย์ เจ้าฟ้านารายณ์กับสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา (พระปิตุลา) บุกวังจับกุมเจ้าฟ้าไชยสำเร็จโทษแล้วอัญเชิญพระศรีสุธรรมราชาขึ้นเป็นกษัตริย์
13[56]2199พระนารายณ์และพระอินทราชาพระศรีสุธรรมราชารัฐประหารโดยไม่ค่อยมีขุนนางผู้ใหญ่เข้าร่วมด้วย พระนารายณ์ยกทัพมาทางวัดพลับพลาไชยเข้าล้อมวัง ทำให้สนามหลวงกลายเป็นสนามรบ พระศรีสุธรรมราชาหนีไปยังวังหลัง
14[57]2231พระเพทราชาสมเด็จพระนารายณ์สวรรคตพระเพทราชาอยู่ในกลุ่มขุนนางเก่า เป็นลูกพระนมสมเด็จพระนารายณ์ ตำแหน่งเจ้ากรมคชบาลที่เป็นกำลังหลักการทหารแสดงถึงอำนาจและการไว้วางใจ และเคยบวชอยู่นานจนมีสายสัมพันธ์อันดีกับพระสงฆ์ โดยเฉพาะสังฆราชเมืองลพบุรี พระเพทราชาและออกหลวงสรศักดิ์นำกำลังเข้าคุมตึกพระเจ้าเหาและคุมขุนนางจำนวนมากที่นั่น และให้กำลังพประจำรักษาทุกประตูทุกป้อม เมื่อฟอลคอนเข้าวังก็ถูกจับและประหาร หม่อมปีย์โอรสบุญธรรมก็ถูกประหาร เจ้าฟ้าอภัยทศที่กรุงศรีอยุธยา ก็ถูกลวงให้มาลพบุรีและถูกออกหลวงสรศักดิ์ประหารชีวิต เมื่อพระนารายณ์สวรรคต พระเพทราชาก็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้
15[58]2246พระเจ้าเสือเจ้าพระพิชัยสุรินทร์เจ้าพระขวัญเกิดจากพระเพทราชากับกรมหลวงโยธาทิพเป็นที่รักใครและความหวังว่าจะตัวแทนคนแผ่นดินเก่าแผ่นดินใหม่ หลังจาก 13 ปี เข้าพิธีโสกันต์ พระเพทราชาก็ประชวร ทำให้เกิดการแบ่งข้างระหว่างฝ่ายวังหน้า กับ ฝ่ายที่สนับสนุนกันของเจ้าพระขวัญ วังหน้าลวงเจ้าพระขวัญไปประหาร กรมหลวงโยธาทิพทราบก็ทูลพระเพทราชา จึงพิโรธสั่งมอบราชสมบัติให้เจ้าพระชัยสุรินทร์ แล้วก็สวรรคต ส่วนเจ้าพระชัยสุรินทร์ไม่กล้ารับ จึงถวายแกวังหน้า ส่วนกรมหลวงโยธาทิพและกรมหลวงโยธาเทพที่มีโอรสนามว่าตรัสน้อยขอออกไปอยู่ตำหนังข้างวัดพุทไธสวรรย์ จากนั้นก็ให้บวชเณรและสึกเมื่ออายุ 18  แต่ก็กลับมาบวชไม่สึกเพื่อลี้ภัยทางการเมืองอย่างถาวร หลักฐานตะวันตกชี้ว่า เจ้าพระขวัญถูกประหารในฐานะกบฏต่อพระเจ้าเสือตอนต้นรัชกาล
16[59]2275วังหน้า (พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ)เจ้าอภัยโอรส พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระเจ้าฟ้าอภัยเห็นความไม่พอใจของวังหน้าเนื่องจากต้องการให้เจ้านเรนทรขึ้นครองราชย์  จึงตั้งมั่นในวังหลวงและฝั่งตะวันตกของคลองประตูข้าวเปลือก ส่วนวังหน้าตั้งค่ายตลอดฝั่งตะวันออก เมื่อพระเจ้าท้ายสระสวรรคตจึงเกิดสงครามกลางเมือง ในที่สุดวังหน้าก็ชนะ เจ้าฟ้าอภัยหนีลงเรือไปทางป่าโมก แต่ก็จับเจ้าฟ้าอภัยได้ นำเข้ามาพระนครและประหารชีวิต เป็นครั้งแรกที่ตั้งค่ายเรียงรายในเขตกำแพงพระนครและปะทะกันหลายวันกว่าจะยุติ ถือเป็นการรบแบบ “สงครามกลางเมือง” 
17[60]2301เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี (พระเจ้าเอกทัศน์)พระเจ้าอุทุมพรหลังปราบกบฏ วังหน้าขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าอุทุมพร แต่พระเชษฐาคือ เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี (ต่อมาคือ พระเจ้าเอกทัศน์) ไม่พอใจ จึงยึดพระที่นั่งสุริยามรินทร์ไว้เป็นที่ประทับ กษัตริย์ไม่อยากก่อสงครามกลางเมือง จึงถวายราชสมบัติและออกผนวชที่วัดประดู่

[1] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, รูปแบบการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองในสมัยอยุธยา พ.ศ.1893-2310 วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539

[2] สุจิตต์ วงษ์เทศ. “เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา”. สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2564 จาก https://www.matichonweekly.com/sujit/article_287803 (19 มีนาคม 256)

[3] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 38-39

[4] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 41-46

[5] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 69-71

[6] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 86

[7] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 33-35

[8] มานพ ถาวรวัฒน์สกุล, ขุนนางอยุธยา (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2536), หน้า 114-116

[9] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 41-46

[10] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 79-81

[11] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 33-37

[12] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 78-79

[13] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 10

[14] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 73-74

[15] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, รูปแบบการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองในสมัยอยุธยา พ.ศ.1893-2310 วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539, หน้า 9

[16] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 9

[17] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 10

[18] สุจิตต์ วงษ์เทศ. “จาม ‘ปท่าคูจาม’อยู่เวียงเหล็ก ขุมกำลังของพระเจ้าอู่ทอง (สุพรรณภูมิ)”. สืบค้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2564 จาก https://www.matichonweekly.com/sujit/article_425637 (16 พฤษภาคม 2564)

[19] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 13-14

[20] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 15-16

[21] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 16-19

[22] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 25

[23] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 33

[24] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 33

[25] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 33-35

[26] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 36-37

[27] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 38-39

[28] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 41-46

[29] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 48-54

[30] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 56-62

[31] อนึ่ง บางหลักฐานชี้ว่า เจ้าพระขวัญถูกประหารในฐานะกบฏ หลังจากพระเจ้าเสือครองราชย์แล้ว ดูใน ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 69-71

[32] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 73-74

[33] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 78-79

[34] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 79-81

[35] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 79-82             

[36] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 83-86

[37] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 86

[38] นิธิ เอียวศรีวงศ์, การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี (พิมพ์ครั้งที่ 8, กรุงเทพฯ : มติชน, 2548), หน้า 7

[39] นิธิ เอียวศรีวงศ์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 7-9

[40] นิธิ เอียวศรีวงศ์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 15

[41] นิธิ เอียวศรีวงศ์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 19

[42] นิธิ เอียวศรีวงศ์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 20-21

[43] ปี พ.ศ.ที่ขึ้นครองราชย์/รัฐประหารมาจาก อคิน รพีพัฒน์, สังคมไทยในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2325-2416, ประกายทอง สิริสุข และพรรณี ฉัตรพลรักษ์, แปล (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2527) , หน้า 12-14

[44] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, รูปแบบการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองในสมัยอยุธยา พ.ศ.1893-2310 วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539, หน้า 9

[45] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 9

[46] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 10

[47] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 10

[48] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 13-14

[49] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 15-16

[50] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 16-19

[51] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 25

[52] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 33-35

[53] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 38-39

[54] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 41-46

[55] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 47-48

[56] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 48-54

[57] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 56-62

[58] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 69-71

[59] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 73-74

[60] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 86

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save