fbpx
Galileo and Newton หนังสือเล่มเล็ก ของสองนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่

Galileo and Newton หนังสือเล่มเล็ก ของสองนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

 

หนังสือเล่มนี้หนาแค่ร้อยกว่าหน้า พูดได้ว่าเป็นหนังสือเล่มเล็ก อ่านไม่นานก็จบ แต่กลับบรรจุไว้ด้วยข้อเท็จจริงและการเปรียบเทียบที่มีมุมมองคมคายน่าสนใจอย่างยิ่ง

ใครๆ ก็รู้จักกาลิเลโอ และใครๆ ก็รู้จักเซอร์ไอแซ็ค นิวตัน

แต่มีใครรู้บ้างไหมครับ ว่าในปีที่กาลิเลโอตายนั้น คือปีที่นิวตันเกิด!

เรื่องนี้อาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องไม่สลักสำคัญอะไรเลย ฟังดูออกจะไสยศาสตร์เล็กๆ เสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะเรื่องวันเกิดวันตายอะไรทำนองนี้

แต่ผู้เขียน – คือวิลเลียม บิกซ์บี้ (William Bixby) หยิบจับเอาสองนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของโลกมา ‘เรียงต่อกัน’ แบบนี้ ก็เพราะตรงจุดนั้นของประวัติศาสตร์ คือจุดพลิกผันหักเหสำคัญ ในอันที่จะทำให้เกิด ‘วิทยาศาสตร์’ อย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบันไงครับ

และดังนั้น ความ ‘สืบเนื่อง’ ในอายุขัยของนักวิทยาศาสตร์ทั้งสองคน จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่ไม่มากก็น้อย, นี่คือความสืบเนื่องของ ‘โลกวิทยาศาสตร์’ ทั้งปวง ที่ผลักขับให้วงการวิทยาศาสตร์สร้าง ‘คนดี’ (ในความหมายแบบ ‘อยุธยาไม่สิ้นคนดี’ นะครับ ไม่ใช่คนดีมีศีลธรรม) ขึ้นมาไม่ขาดสายในช่วงเวลานั้น

โลกในยุคนั้น ไม่ได้มีแค่กาลิเลโอกับนิวตัน แต่เต็มไปด้วยนักวิทยาศาสตร์อื่นๆ อีกมากมาย บางคนก็หลงทางไปเป็นนักเล่นแร่แปรธาตุ บางคนก็หวาดกลัวและหลบซ่อนจนไม่ได้เปิดเผยความคิดของตัวเองออกมา แม้แต่นิวตันก็เกือบเป็นอย่างหลัง ถ้าไม่ใช่ด้วยนิสัยชอบขันแข่ง (แบบลับๆ) ของเขา

แต่เป็นกาลเลโอและนิวตัน ที่กลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้โดดเด่นของโลก ก็เพราะพวกเขาได้ค้นพบสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ยิ่งใหญ่เหนือการค้นพบทั้งปวง

มันคือการค้นพบที่ทำให้วิทยาศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์มาจนถึงทุกวันนี้!

นั่นก็คือการ ‘พิสูจน์’ ผ่านการทดลองนั่นเอง

หนังสือเล่มนี้แบ่งเป็นสองส่วนแยกขาดจากกัน ส่วนแรกคือชีวิตของกาลิเลโอ อีกส่วนหนึ่งของชีวิตของนิวตัน ซึ่งผู้อ่านอย่างเราๆ ท่านๆ ก็จะได้เข้าใจว่า ทั้งกาลิเลโอและนิวตันนั้น ‘ยืน’ อยู่ตรงไหนในโลกอันไพศาลของวิวัฒนาการแห่งความคิดและวิธีปฏิบัติทางวิทยาศาสตร์ของยุคนั้น

ส่วนแรกของหนังสือว่าด้วยชีวิตของกาลิเลโอ ผู้ดิ้นรนต่อสู้เพื่อพิสูจน์และยืนยัน ‘ความเชื่อ’ ของโคเปอร์นิคัส ที่ว่าโลกไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล

เวลาถามว่า กาลิเลโอค้นพบอะไร สำคัญอย่างไร คนกว่าร้อยละแปดสิบจะตอบว่า กาลิเลโอค้นพบว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ ก็เลยทำให้พระสันตะปาปาไม่พอใจ จับเขาไปทรมานจนถึงแก่ความตาย

แต่นอกจากเรื่องนี้จะ ‘ผิด’ แล้ว เรื่องก็ไม่ได้ ‘ง่าย’ อะไรอย่างนั้นด้วย

ที่จริงแล้ว กาลิเลโอไม่ใช่คนที่เสนอว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ (หรือเป็นแนวคิดที่เรียกว่า Heliocentrism) เป็นคนแรก คนแรกที่เสนอเรื่องนี้ คือ โคเปอร์นิคัส ที่เกิดและตายก่อนกาลิเลโอนะครับ

แล้วโคเปอร์นิคัสก็ไม่ได้ถูกพระสันตะปาปาจับไปตัดหัวคั่วแห้งอะไร เพราะแนวคิด Heliocentrism นี่ ไม่ได้เป็นเรื่องต้องห้ามอื้อฉาวอะไรเลย แถมพระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่สิบสาม ยังเอาแนวคิดของโคเปอร์นิคัสไปทำปฏิทินอีก (เรียกว่าปฏิทินเกรกอเรียน อันเป็นปฏิทินที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี่เอง)

แต่ ‘ความผิด’ ของกาลิเลโอเกิดขึ้นเมื่อ ‘พิสูจน์’ คำพูดของโคเปอร์นิคัสได้ต่างหากครับ กาลิเลโอประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ แล้วการเอากล้องไปส่องดูการเคลื่อนที่ของ ‘ดวงจันทร์’ ของดาวพฤหัส จนเห็นว่าวันหนึ่งเห็นดวงจันทร์อยู่ข้างหนึ่งของดาวพฤหัส วันถัดไปไม่เห็น แล้วถัดไปก็เห็นอยู่อีกข้าง ซึ่งแปลความได้ว่ามันโคจรเป็นวงอ้อมไปด้านหลัง แต่เมื่อถูกบังเราเลยไม่เห็น นั่นคือการบอกว่าเทหวัตถุโคจรเป็นวง ตามมาด้วยการศึกษาอื่นๆ อีกเยอะแยะ รวมทั้งการศึกษา Sunspot หรือจุดดับบนดวงอาทิตย์ และกระทั่งทางช้างเผือก ดาวศุกร์ ดาวเสาร์ ดาวเนปจูน (ซึ่งอันหลังนี่เขาไม่คิดว่าเป็นดาวเคราะห์) ทำให้กาลิเลโอเชื่อและสนับสนุน Heliocentrism

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ กาลิเลโอไม่เหมือนโคเปอร์นิคัส (หรือนิวตัน) เขาไม่ได้เก็บเนื้อเก็บตัวเงียบๆ แต่เป็นคนชอบโวยวายป่าวประกาศ พูดอีกอย่างคือเป็นคน ‘เล่นใหญ่’ (ซึ่งเรื่องนี้ถ้าไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ หลายคนอาจไม่รู้ เพราะนึกภาพกาลิเลโอเป็นนักวิทยาศาสตร์ขรึมๆ เท่านั้น) และด้วยความเล่นใหญ่ ยอมใครไม่ได้ ชอบโต้เถียงก้าวร้าวนี่แหละ ที่ทำให้เขาขัดแย้งกับศาสนจักร และที่จริงก็ไม่เกี่ยวกับศาสนจักรเท่าไหร่หรอกนะครับ เรื่องจะลงโทษใครไม่ลงโทษใครนี่ ขึ้นอยู่กับพระสันตะปาปาเสียมากกว่า

อย่างโคเปอร์นิคัสนั้น นอกจากจะไม่โผงผางแล้ว ยังโชคดีได้เจอพระสันตะปาปาที่มีเหตุผลด้วย เลยเกิดความก้าวหน้าทางปฏิทินกันไป แต่กาลิเลโออยู่ในยุคของพระสันตะปาปาคนละยุคกัน จึงถูกพระสันตะปาปาถึงสององค์สั่งให้เลิกความเชื่อเรื่อง Heliocentrism เสีย (คือต่อสู้กันยาวนานจนพระสันตะปาปาสิ้นพระชนม์ไปหนึ่งองค์) แต่เขาไม่ยอม ทว่าแค่ไม่ยอมนั้นยังไม่เกิดผลอะไรมากนัก เพราะเรื่อง Heliocentrism ยังเป็นแค่ ‘ความเชื่อ’ ที่ไม่ได้ส่งผลสะเทือนต่อศาสนจักรมากนัก

จนเมื่อกาลิเลโอ ‘พิสูจน์’ ได้นี่แหละครับ ว่าดาวเคราะห์มันมีการโคจรกันไปต่างๆ นานา เรื่องนี้จึงสั่นคลอนศาสนจักรอย่างรุนแรง ประกอบกับกาลิเลโอเป็นคนโผงผาง ไม่ยอมคน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ‘อยู่ไม่เป็น’ หรือ ‘ไม่รู้จักอยู่ให้เป็น’ พระสันตะปาปาในยุคนั้นเลยยอมไม่ได้

ที่จริงแล้ว พระสันตะปาปาที่สั่งลงโทษกาลิเลโอ คือพระสันตะปาปาเออร์แบน (Urban) ที่แปด ก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกล แต่เป็น ‘เพื่อนเก่า’ ของกาลิเลโอนี่เอง ทั้งคู่รู้จักกันตั้งแต่ยังหนุ่ม ตั้งแต่กาลิเลโอยังไม่ได้ค้นพบอะไร และตั้งแต่เขายังไม่ได้เป็นพระสันตะปาปา แต่เมื่อเป็นพระสันตะปาปาแล้ว และเกิดเหตุการณ์ซับซ้อนหลายอย่างขึ้น ที่สุดเขาก็ต้องสั่งลงโทษกาลิเลโอ

เขาบอกว่า – พออยู่ในวาติกัน ก็ต้องทำแบบนี้

อีกส่วนหนึ่ง การที่กาลิเลโอถูกลงโทษนี่ เป็นเรื่องการเมืองด้วย โดยมีคนที่ขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลัง คือ ไทโช บราห์ (Tycho Brahe) ซึ่งจริงๆ เป็นศิษย์ของโคเปอร์นิคัส แต่มีความเห็นตรงข้ามกับอาจารย์ ไทโช บราห์ เชื่อแบบอริสโตเติล เช่น เขาเถียงว่าถ้าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์จริง ก็ต้องเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Stellar Parallax คือเวลาโลกอยู่ตรงตำแหน่งหนึ่ง ก็ต้องเห็นดาวดวงหนึ่งแบบหนึ่ง อยู่อีกที่ก็ต้องเห็นอีกแบบ (เนื่องจากมุมที่มองต่างกันต้องเห็นต่างกัน) แต่โคเปอร์นิคัสบอกว่ามันไกลมาก ไม่เห็นความต่างได้หรอก ทว่าบราห์ก็ไม่เชื่อ แต่บราห์เป็นคนที่มีอิทธิพลทางการเมืองสูง เขาจึงผลักดันขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลัง จนพระสันตะปาปาต้องสั่งลงโทษกาลิเลโอ

ส่วนที่สองของหนังสือหันมาโฟกัสกับเรื่องของไอแซค นิวตัน กับบทบาทของเขาในด้านคณิตศาสตร์ ที่เขาได้ชื่อว่าเป็นคนคิดค้นแคลคูลัสขึ้นมา แต่ประเด็นสำคัญก็คือ นิวตันเป็นพวกอมพะนำ คิดค้นอะไรได้ก็เก็บเงียบ ไม่โพนทะนาให้ใครรู้ เพราะกลัวว่าเดี๋ยวคนอื่นจะมารู้เท่าฉัน จนมารู้ว่า ลีบนิซ (Gottfried Wilhelm Leibniz) ก็คิดคำนวณแบบเดียวกันได้ เลยต้องออกมาแย่งชิงความเป็นเจ้าของกัน ซึ่งก็แสดงให้เราเห็นว่า ความก้าวหน้าในทางวิทยาศาสตร์นั้นมันเป็นเรื่องมหัศจรรย์ เพราะ ‘ขับเคลื่อน’ กันไปเป็นระลอกๆ ทั้งมวลหมู่ผู้คน ไม่ได้เป็นเรื่องของอัจฉริยะเพียงคนเดียวที่จู่ๆ ก็ผุดบังเกิดขึ้นมา นั่นทำให้มีโอกาสสูง ที่คนเราจะคิดค้นอะไรออกมาเหมือนๆ กัน หรือเกิดการทดลองในเรื่องเดียวกัน โดยที่ไม่เคยพูดคุยรู้จักกันมาก่อน

อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้ยังแสดงให้เราเห็นด้วยว่า พอมี ‘อำนาจ’ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ‘ความรู้’ ก็ไม่ได้แพร่หลายได้ง่ายๆ หรอกนะครับ กาลิเลโอนั้นมีศาสนาเป็นอุปสรรค ส่วนนิวตันมีบางคนในสมาคมวิทยาศาสตร์ (ที่เกิดขึ้นเพื่อคัดคานกับองค์กรศาสนา) เป็นอุปสรรค กาลิเลโอเป็นคนตรงๆ เลยต่อสู้ไป แต่นิวตันเป็นคนเงียบๆ พอถูกโต้ ก็เลยไม่นำเสนออะไร ไม่เขียนอะไร ประมาณว่างั้นพวกแกไม่ต้องรู้สิ่งที่ฉันคิดได้ก็แล้วกัน

ถ้าไม่มีฮัลเลย์ (Edmund Halley คนที่เป็นชื่อของดาวหาง) มาช่วยเจรจาให้นิวตันยอมนำเสนอและเผยแพร่ความคิดของเขา ก็อาจไม่มีหนังสืออย่าง Principia และกฎการเคลื่อนที่ของนิวตันออกมาให้เรารับรู้ก็ได้

ความเชื่อมต่อระหว่างกาลิเลโอกับนิวตันก็คือ กาลิเลโอค้นพบปรากฏการณ์ คือเป็นคนพิสูจน์ได้ว่า ‘ความเชื่อ’ แบบ Heliocentrism นั้นเป็นจริง คือเทหวัตถุมีการโคจรจริงๆ แต่กฎการเคลื่อนที่ของนิวตัน คือการ ‘อธิบาย’ ได้ว่า แล้วมันเคลื่อนที่ ‘อย่างไร’

นั่นแปลว่าในสองชั่วอายุคน มนุษย์สองคนนี้ได้ทำงานยิ่งใหญ่ออกมาให้เราเห็น รับรู้ และนำพาพวกเราก้าวกระโดดมาสู่วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในแบบที่มนุษย์ไม่เคยคิดถึงมาก่อน นั่นจึงทำให้วิทยาศาสตร์แยกตัวออกมาจากปรัชญา และกลายเป็นวิทยาศาสตร์อย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้

แต่กระนั้น หนังสือเล่มนี้ก็บอกเราด้วยว่า ทั้งกาลิเลโอและนิวตันนั้น เป็นคน ‘เคร่งศาสนา’ ทั้งคู่ พวกเขาไม่ได้เป็นเหมือนนักวิทยศาสตร์ปัจจุบันหลายคน (เช่น ริชาร์ด ดอว์กินส์ หรือสตีเฟน ฮอว์กิง) ที่ประกาศตนว่าเป็นพวก ‘อเทวนิยม’ หรือไม่เชื่อว่ามีพระเจ้า

จะเห็นได้ว่า ทั้งสองคนต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อออกมาจากอิทธิพลของความเชื่อที่ตัวเองก็ยังศรัทธา ซึ่งทำให้การคิด การทดลอง การพิสูจน์ เพื่อ ‘หลุด’ ออกมาจากกรอบความคิดเดิมที่ถูกขังอยู่ในโลกของศาสนา – ยิ่งยากเย็น และยิ่งน่านับถือในหัวจิตหัวใจของทั้งคู่เข้าไปอีก

นี่เป็นหนังสือที่อ่านสนุกมาก และควรหามาอ่านต้อนรับปีใหม่นี้เป็นที่สุด

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save