fbpx

การประชุมสุดยอดผู้นำ G7 ที่ฮิโรชิมา ฉบับภาคประชาชน

ภาพปกจาก JACQUES WITTPOOL/AFP

รัฐบาลนายฟุมิโอะ คิชิดะ(文雄岸田)เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำ G7 ที่ฮิโรชิมาระหว่างวันที่ 19-21 พฤษภาคม 2023 เสร็จสิ้นลงอย่างเรียบร้อย

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพมาแล้วรวมหกครั้ง โดยมีการประชุมครั้งแรกที่ประเทศฝรั่งเศสในปี 1975 ต่อมาในปี 1979 จัดขึ้นที่โตเกียว ญี่ปุ่น เป็นครั้งแรก นายมาซาโยชิ โอฮารา (大平正芳1910-1980) นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในที่ประชุมผู้นำเจ็ดประเทศ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน แคนาดา อิตาลี และประธานสหภาพยุโรป (EU ซึ่งขณะนั้นคือ EC ประชาคมยุโรป) ร่วมประชุม มีหัวข้อสำคัญคือการรับมือกับวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันโลก (oil shock)

ครั้งที่สอง ปี 1986 จัดที่โตเกียว มีผู้นำเจ็ดประเทศเข้าร่วม นายยาสุฮิโร นากาโซเน(中曾根康弘 1918-2019) นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน หัวข้อการประชุมสืบเนื่องจาก ‘ข้อตกลงพลาซา’ (Plaza Accord プラザ合意) ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของห้าประเทศ คือสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส ร่วมประชุมกันในปี 1985 กดดันให้ค่าเงินของเยอรมันและญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นถึงกว่า 63% ภายในเวลาไม่นานหลังจากข้อตกลงการประชุม G7 ครั้งนี้ จึงเน้นเรื่องภาวะเศรษฐกิจโลกและนโยบายเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา และเห็นชอบให้มีการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศสมาชิกทุกปีตั้งแต่นั้นมา

ครั้งที่สาม ปี 1993 จัดขึ้นที่โตเกียว นายคิอิชิ มิยาซาวา(宮澤喜一 1919-2007)นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายสองปี ประเทศสมาชิกจึงเห็นชอบในการให้ความช่วยเหลือต่อรัสเซียและประเทศในยุโรปตะวันออกที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต และยังริเริ่มนโยบายการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ หลังการประชุมครั้งนี้ นายบอริส เยลต์ซิน ประธานาธิบดีรัสเซียได้ไปเยือนญี่ปุ่นจึงได้มี ‘การประชุม G7 + 1’ ด้วย

ในปีต่อมารัสเซียจึงเข้าร่วมประชุมเป็น ‘พาร์ตเนอร์’ ของการประชุม G7 และในปี 1998 รัสเซียจึงเข้าร่วมเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการของ ‘สุดยอดผู้นำ G8’

ครั้งที่สี่ ปี 2000 จัดขึ้นที่เกาะโอกินาวา(九州沖縄サミット)เป็นครั้งแรกที่จัดการประชุมที่ต่างจังหวัด ไม่ใช่กรุงโตเกียว นายเคโซ โอบุชิ(小渕恵三 1937-2000)นายกรัฐมนตรีขณะนั้นมุ่งหวังให้ผู้นำสหรัฐอเมริกาและผู้นำโลกได้เห็นโอกินาวาที่เคยเป็นสนามรบระหว่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง รำลึกถึงความสูญเสียมากมายและชีวิตของเหยื่อทั้งทหารและพลเรือนจำนวนมาก นายโอบุชิเสียชีวิตลงก่อนการประชุม นายโยชิโร โมริ(森喜朗 1937 – )นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม นายบิล คลินตัน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาแสดงท่าทีพยายามจัดระเบียบและลดขนาดของฐานทัพสหรัฐฯ ที่โอกินาวาลง

ครั้งที่ห้า ปี 2008 จัดขึ้นที่ฮอกไกโด เมืองโทยาโค(北海道洞爺湖サミット)เป็นความคิดของนายชินโซ อาเบะ(安倍晋三  1954-2022)ที่ต้องการอวดชาวโลกให้เห็น ‘ญี่ปุ่น ประเทศที่สวยงาม’ ทะเลสาบโทยา ริมฝั่งทะเลทางตะวันออกของซับโปโร แวดล้อมด้วยธรรมชาติสวยงาม นายอาเบะได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนถึงกำหนดการประชุม ผู้รับหน้าที่ประธานการประชุมคือนายยาสุโอะ ฟุคุดะ(福田康夫  1936- )หัวข้อสำคัญในการประชุมคือภาวะโลกร้อนและการรับมือกับความไม่โปร่งใสในการบริหารนโยบายการจัดการทางเศรษฐกิจ เป็นต้น และยังมีความเห็นร่วมกันในการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้กึ่งหนึ่งภายในปี 2050 กล่าวได้ว่าเป็นนโยบายระยะยาวของประเทศสมาชิก นอกจากนี้มีการประกาศ ‘ปฏิญญาผู้นำ’ กระตุ้นเตือนให้ระมัดระวังภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้นอีกด้วย

ครั้งที่หก ปี 2016 จัดขึ้นที่จังหวัดมิเอะ(伊勢志摩サミット)เป็นสถานที่ธรรมชาติสวยงามริมฝั่งทะเล แวดล้อมด้วยป่าเขา ในปี 2014 รัสเซียผนวกคาบสมุทรไครเมียเข้าเป็นของตนเอง ดังนั้นสมาชิกจึงประชุมกันโดยไม่มีรัสเซียเข้าร่วม เป็นกลุ่มผู้นำ G7 ดังเดิม นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรี ประธานการประชุม เดินทางมาต้อนรับผู้นำทุกคนที่ศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์ ‘อิเซะ’(伊勢神宮)ด้วยตนเองก่อนการประชุม เพื่อให้ผู้นำประเทศต่างๆ ได้สัมผัสและดื่มด่ำกับความงามของธรรมชาติและวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของญี่ปุ่น หัวข้อสำคัญของการประชุมคือการอัดฉีดเงินเข้าระบบเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน หลังจบการประชุม นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาแสดงความจำนงไปเยือนฮิโรชิมา จึงนับเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกาที่ไปเยือนอนุสรณ์สถานฮิโรชิมาขณะดำรงตำแหน่ง นายคิชิดะ รัฐมนตรีต่างประเทศในขณะนั้นเป็นผู้ให้การต้อนรับ

อดีตผ่านไปแล้ว ผู้นำของประเทศสมาชิกต่างก็เปลี่ยนไป การประชุมสุดยอดผู้นำ G7 วันที่ 19-21 พฤษภาคม 2023 ครั้งที่เจ็ดที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพมีนายฟุมิโอะ คิชิดะ(岸田文雄 1957- ) นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม จัดขึ้นที่ฮิโรชิมา ซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิดและฐานเสียงของนายคิชิดะ ในปี 2016 ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลนายอาเบะนั้น นายคิชิดะเป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ G7 จัดขึ้นที่ฮิโรชิมาเช่นกัน ขณะนั้นนายคิชิดะ เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่นคนแรกที่มีบ้านเกิดจากสถานที่อันเป็นความทรงจำของคนญี่ปุ่นจากรุ่นสู่รุ่น และเป็นประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

หัวข้อหลักๆ ของการประชุมครั้งนี้ เกี่ยวกับสถานการณ์ในยูเครน การแผ่ขยายอำนาจของจีนสู่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก การรับมือกับเกาหลีเหนือ การลดอาวุธนิวเคลียร์และไม่แพร่ขยายออกไป การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาความมั่นคงด้านพลังงานและอาหาร เป็นต้น

อย่างไรก็ตามครั้งนี้การประชุมผู้นำกลุ่มประเทศ G7 จัดขึ้นที่ฮิโรชิมา สถานที่ที่เคยคร่าชีวิตผู้คนไปมากมายจากระเบิดปรมาณู นายคิชิดะใช้โอกาสบนเวทีโลกประกาศเจตนารมณ์แน่วแน่ให้อาวุธนิวเคลียร์หมดสิ้นไป และเป็น ‘โลกที่ปลอดอาวุธนิวเคลียร์’(核兵器のない世界)นายคิชิดะเรียกร้องเกี่ยวกับเรื่องนี้มาโดยตลอดตั้งแต่เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ

สื่อต่างประเทศอาจให้ความสำคัญกับเรื่องการเมืองระหว่างประเทศและเศรษฐกิจ แต่สื่อหลักในประเทศญี่ปุ่นเสนอข่าวเกี่ยวเนื่องกับการส่งสารให้ทั่วโลกได้รับรู้ถึงความหายนะอันเกิดจากอาวุธนิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นเคยเผชิญเมื่อ 78 ปีก่อน และแน่นอนว่าไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก ไม่ว่ากับประเทศใดทั้งสิ้น

ในวันแรกมีกำหนดการให้ผู้นำประเทศสมาชิก และผู้นำประเทศที่ได้รับเชิญเข้าเยี่ยมชมหอจดหมายเหตุระเบิดปรมาณู(原爆資料館)ซึ่งเริ่มเปิดให้เข้าชมปี 1955 จัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้และภาพถ่ายที่บอกเล่าความทุกข์ทรมานแสนสาหัสของเหยื่อ มีจำนวนรวมกว่า 22,000 ชิ้น ผู้นำประเทศมีโอกาสฟังคำบอกเล่าของผู้มีประสบการณ์จริงในวันที่ระเบิดปรมาณูถูกทิ้งลงมาที่ฮิโรชิมา แต่สื่อมวลชนไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ารายงานข่าว

นางเคโกะ โอกุระ วัย 85 ปี คือผู้ที่มีโอกาสถ่ายทอดเรื่องราวของตนเองเมื่ออายุ 8 ขวบ ต่อเหล่าผู้นำประเทศ เธอให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่าสิ่งที่จัดแสดงไม่ว่าภาพถ่าย ข้อมูล หรือสิ่งของต่างๆ ไม่อาจบรรยายได้ถึงบาดแผลทางใจ และความทุกข์ระทมอันยาวนานของเหยื่อและครอบครัว ความหวาดกลัวสุดขีดของผู้เสียชีวิตในวันนั้น หรือความกลัวที่เกาะกินใจผู้รอดชีวิตถึงความโหดร้ายจากมหันตภัยของระเบิดปรมาณูมาจนถึงวันนี้

ประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครน เดินทางมาร่วมประชุมในวันที่สองและได้เข้าชมหอจดหมายเหตุระเบิดปรมาณูเช่นกัน  นางโอกุระ เล่าว่านายเซเลนสกีมีสีหน้าโศกเศร้าราวกับจะร้องไห้ขณะฟังการบรรยาย และเมื่อได้ชมภาพวิดิทัศน์ เธอได้ชี้จุดที่เธอยืนอยู่ห่างจากจุดที่ระเบิดถูกทิ้งลงมาเพียง 2.4 กิโลเมตร เธอชี้ให้ท่านดูเมืองฮิโรชิมาขณะนี้ อาคาร สิ่งก่อสร้างอาจสร้างขึ้นมาใหม่ได้ แต่ชีวิตที่สูญเสียไปจำนวนมาก ไม่อาจเรียกกลับคืนมาได้ ท่านมีสีหน้าเคร่งเครียดตลอดเวลา ในใจคงนึกเปรียบเทียบสภาพของยูเครนขณะนี้

สื่อญี่ปุ่นได้เผยแพร่ข้อความที่เหล่าผู้นำประเทศได้บันทึกไว้ในสมุดลงนาม หลังการเข้าชมหอจดหมายเหตุระเบิดปรมาณู  อาทิ เช่น นายฟุมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น “ข้าพเจ้าในฐานะประธานการประชุมสุดยอดผู้นำ G7 ที่จะจารึกในประวัติศาสตร์ และผู้นำทุกประเทศได้มารวมกัน ณ ที่นี้ เพื่อมุ่งหวังให้ ‘โลกปลอดอาวุธนิวเคลียร์’ ”

นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกา “สิ่งที่บอกเล่าจากหอจดหมายเหตุแห่งนี้ จะเตือนให้พวกเราทุกคนถือเป็นหน้าที่ในการสร้างสันติภาพในอนาคต พวกเราร่วมกันเดินหน้าไปจนถึงวันที่ทำให้อาวุธนิวเคลียร์หมดไปจากโลกนี้ชั่วนิรันดร์ มาร่วมกันทำให้สัมฤทธิ์ผลให้ได้”

นายแอมานุแอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส “การทำให้เกิดสันติภาพเท่านั้น คือประกาศิตให้พวกเราถือเป็นหน้าที่ที่ต้องทำเพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงความอาลัยด้วยความรู้สึกร่วมต่อบรรดาเหยื่อทั้งหลายที่ฮิโรชิมา”

นายโอลัฟ ช็อลทซ์ นายกรัฐมนตรีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี “สถานที่แห่งนี้ทำให้เรารำลึกถึงความทุกข์ทรมานที่ไม่อาจบรรยายได้ พวกเราสมาชิกทุกคนในวันนี้ร่วมกันให้คำมั่นสัญญาสำคัญจะรักษาสันติภาพและเสรีภาพ ไม่ให้เกิดสงครามอาวุธนิวเคลียร์ซ้ำรอยอีกอย่างเด็ดขาด”

เมื่อได้รับทราบปณิธานอันแรงกล้าของท่านผู้นำกลุ่มสมาชิก G7 ที่บันทึกไว้ในสมุดลงนาม มีเสียงจากภาคประชาชนผู้เป็นเหยื่อของระเบิดปรมาณูที่ยังมีชีวิตอยู่วิงวอนผู้นำประเทศต่างๆ ไม่เฉพาะกลุ่ม G7 เท่านั้น

นางชิเอโกะ คิริอาเคะ วัย 93 ปี ผู้เคลื่อนไหวคัดค้านอาวุธนิวเคลียร์มาอย่างต่อเนื่อง ขณะนั้นเธอเป็นนักเรียนมัธยม อายุ15 ปี ได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลที่ศีรษะและคอ เธอไปร่วมงานเผาศพเพื่อนนักเรียนและรุ่นน้องจำนวนมาก เธอกล่าวว่า “อายุขนาดนั้น ฉันจำเรื่องราวทุกอย่างได้แม่นยำ ไม่อยากให้คนรุ่นหลังต้องมีความทรงจำอันโหดร้ายอย่างฉัน ไม่อยากให้ทุกข์ทรมานอย่างฉัน อยากวิงวอนผู้นำทั้งหลาย ท่านมาเยือนฮิโรชิมา ได้เห็นได้ฟังคำบอกเล่าจากปากของเหยื่อที่มีชีวิตอยู่จนวันนี้ ขอให้เป็นเพียงก้าวแรกก็ยังดี ทำให้ทุกคนรับรู้ว่าอาวุธนิวเคลียร์ร้ายแรงเพียงใด และอย่าเบื่อที่จะฟังเสียงเรียกร้องนี้ต่อไปอีก”

นายฮิโรชิ โมริชิตะ วัย 92 ปี ชาวเมืองฮิโรชิมา ผู้มีอายุ 14 ปี ในวันที่ระเบิดปรมาณูถูกทิ้งลงมา มีบ้านอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางไม่กี่กิโลเมตรและสูญเสียคุณแม่ไปในวันนั้น แต่เขากลับรอดชีวิตมาได้ ให้ความเห็นว่า “ทุกๆ ท่าน รวมทั้งผู้นำประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ด้วย ล้วนเขียนบันทึกด้วยถ้อยคำอันเป็นอุดมคติและสวยหรู ปัญหาคือต่อจากนี้ไปจะทำให้เป็นจริงได้อย่างไร แน่นอนว่าอยากให้ท่านทำให้ได้”

นายซาดาโอะ ยามาโมโต วัย 91 ปี กล่าวว่า “แม้ยังไม่มีนโยบายที่เป็นรูปธรรมที่จะนำไปสู่การปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในขณะนี้ แต่อยากวิงวอนให้ทุกประเทศรวมทั้งประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์อยู่ ให้ถือว่าการประชุมครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นและพยายามทำให้บรรลุเจตนารมณ์ตามที่ทุกท่านประกาศไว้ ขออย่าได้ล้มเลิกกลางคันเลย”

ญี่ปุ่นทำหน้าที่กระตุ้นเตือนให้ชาวโลกได้รับรู้ถึงพิษภัยจากสงครามอาวุธนิวเคลียร์ ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศและการแสดงแสนยานุภาพของอาวุธทันสมัยของมหาประเทศในปัจจุบัน ขณะเดียวกันยังมีชาวเมืองฮิโรชิมา และนางาซากิอีกหลายคนผู้รอดชีวิตในวันนั้นทำหน้าที่เป็นประจักษ์พยานสำคัญของความโหดร้ายและความหวาดกลัวที่กัดกินใจมาเกือบชั่วอายุขัย             

การประชุมสุดยอดผู้นำ G7 เสร็จสิ้นลงแล้ว…

แต่เสียงของภาคประชาชน คุณปู่ คุณทวด ชาวฮิโรชิมาและนางาซากิยังคงดังก้องอยู่…

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save