fbpx
'Futurising Thailand' โลกใหม่ ความท้าทายใหม่ : ยกระดับประเทศไทยในโลก 4.0

‘Futurising Thailand’ โลกใหม่ ความท้าทายใหม่ : ยกระดับประเทศไทยในโลก 4.0

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

โลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ไม่หยุดนิ่ง เกิดโอกาสใหม่ ความเสี่ยงใหม่ ความท้าทายใหม่ และความเป็นไปได้ใหม่มากมาย

Klaus Schwab ผู้ก่อตั้งและประธานสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) WEF ชี้ว่า ตอนนี้โลกกำลังเข้าสู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ อาทิ A.I. ควอนตัมคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (Internet of Things) ฯลฯ ซึ่งเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต วิถีการทำงาน รูปแบบการทำธุรกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ธุรกิจ รัฐ และทรัพยากรต่างๆ อย่างสิ้นเชิง

ในโลกใหม่ เราต้อง ‘คิดใหม่’ เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงเรื่องการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดงานสัมมนา Futurising Thailand สร้างอนาคตไทยให้ทันโลก ครั้งที่ 1 ‘โลกใหม่ ความท้าทายใหม่ : ยกระดับประเทศไทยในโลก 4.0’ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงตัวแทนจาก WEF มาร่วมกันอภิปรายในประเด็นดังกล่าว เพื่อตอบคำถามสำคัญที่ว่า แก่นของการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันในโลกใหม่คืออะไร และถ้าจะยกระดับประเทศไทยให้ทันโลกและพร้อมรับมือกับอนาคต ต้องทำอย่างไร

 

 

5 ความท้าทายใหญ่ ที่ทำให้โลกซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

 

ช่วงแรกของวงสัมมนา Justin Wood หัวหน้าฝ่ายวาระภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และคณะกรรมการบริหารของสภาเศรษฐกิจโลก (Head of Regional Agenda – Asia Pacific, World Economic Forum) ได้ให้เกียรติมากล่าวปาฐกถานำ ในหัวข้อ ‘Understanding Thailand’s competitiveness in changing world’

 

Justin Wood หัวหน้าฝ่ายวาระภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และคณะกรรมการบริหารของสภาพเศรษฐกิจโลก

 

สำหรับภาพกว้างในระดับโลก จัสตินชี้ว่าโลกทุกวันนี้ มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกๆ ด้าน โดยมี 5 ความท้าทายหลักที่เป็นตัวกำหนดความเป็นไปของโลก ได้แก่

1) โลกซับซ้อน บูรณาการ และเชื่อมโยงกันมากขึ้น 

หนึ่งในสาเหตุสำคัญคือ ประชาชนโลกกำลังเพิ่มขึ้นและปฏิสัมพันธ์มากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน จัสตินชี้ให้เห็นว่า ย้อนกลับไปเมื่อปี 1945 ซึ่งเป็นช่วงที่ระเบียบโลกแบบเสรีนิยมกำลังก่อต่อ โลกมีประชากรเพียงแค่ 2.5 พันล้านคนบนโลก แต่วันนี้เรามีประชากรมากกว่า 7.5 พันล้านคน โดย 1 พันล้านคนในจำนวนนี้เพิ่งเกิดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น

“การมีคนมากขึ้น หมายความว่าเรามีเรื่องที่ต้องจัดการร่วมกันมากขึ้น เช่น มูลค่าสินค้าและบริการที่ส่งออกในปี 1945 คิดเป็นเพียงแค่ 9% ของจีดีพีโลกเท่านั้น แต่วันนี้คิดเป็น 37% แล้ว นี่เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น โลกยังมีการเชื่อมโยงแบบอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นทุน ความคิด และผู้คน ดังนั้น การเชื่อมต่อระหว่างส่วนต่าง ๆ ของโลกจึงมีความลึกซึ้งมากขึ้นและกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว”

2) ระเบียบโลกใหม่

ตอนนี้เรากำลังก้าวไปสู่ระเบียบโลกใหม่ และหลักการภูมิรัฐศาสตร์รูปแบบใหม่ในการบริหารโลก ภายใต้ 2 แนวคิดหลักๆ คือ การก้าวไปสู่โลกที่มีมหาอำนาจหลายขั้ว (Multipolar) จากในอดีตที่เรามีโลกมหาอำนาจสองขั้ว หรือโลกมหาอำนาจขั้วเดียว แต่ปัจจุบันเรากำลังก้าวเข้าสู่การกระจายและการแพร่หลายอำนาจที่กว้างขึ้น ตั้งแต่อำนาจทหาร อำนาจเศรษฐกิจ อำนาจวัฒนธรรม และอื่นๆ

“ตอนนี้มันไม่ใช่แค่อเมริกาและจีนแล้ว แต่เป็นหลายๆ ประเทศที่เริ่มแผ่อิทธิพลของตน ตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรป ที่กำลังคิดจะสร้างกองทัพสหพันธรัฐ หรือการเติบโตของอินเดีย รัสเซีย ญี่ปุ่น ที่กำลังพิจารณาการสร้างเรือรบหลังจากที่ไม่ได้สร้างมาหลายทศวรรษแล้ว ประเทศเหล่านี้เริ่มมีอิทธิพลขึ้นมา และพยายามตื่นตัวมากขึ้น”

อีกแนวคิดหนึ่งคือ โลกที่มีหลายแนวคิดปะทะกัน (Multiconceptual) กล่าวคือ ณ ปัจจุบันนี้ ไม่จำเป็นว่าทุกคน ทุกประเทศ จะต้องมีค่านิยมทางสังคม การปกครอง หรือหลักเศรษฐกิจเหมือนกันเสมอไป โดยแต่ละประเทศก็มีแนวคิดต่างกัน ในการบริหารกิจการระหว่างประเทศ

“เรากำลังก้าวสู่โลกที่มีแนวคิดหลากหลาย ซึ่งส่งผลให้ความไม่แน่นอนยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีก โดยความต้องการของประเทศ รัฐบาล และนโยบายที่แตกต่างกันนั้น ทำให้เราต้องมุ่งเน้นไปที่ความคล่องตัว ความสามารถในการปรับตัว และความยืดหยุ่น มากขึ้นกว่าในอดีต”

3) การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

เป็นสถานการณ์ที่ชุดเทคโนโลยีทั้งหมดแสดงออกมาพร้อมๆ กัน จนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในความเร็วที่เหลือเชื่อ และเปลี่ยนทุกมิติของการดำเนินชีวิต

“ผมอยากจะเน้นย้ำว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ไม่ใช่คอนเซ็ปต์เดียวกันกับ อุตสาหกรรม 4.0 เพราะหลายคนชอบเข้าใจผิดกัน อุตสาหกรรม 4.0 เน้นพูดถึงเฉพาะมิติการผลิตเท่านั้น แต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมคือ การที่เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น รูปแบบธุรกิจ โครงสร้างเศรษฐกิจ ระบบการเมือง วิธีที่สังคมบริหารตนเอง การปกครอง”

4) ความเหลื่อมล้ำ

ปัจจุบันความเหลื่อมล้ำขยายตัวทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศทั่วโลก ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนเห็นว่า ในขณะที่เศรษฐกิจขยายตัว แต่พวกเขากลับไม่ได้รับผลประโยชน์อะไร ในอนาคตสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำจะยิ่งถูกซ้ำเติมด้วยเทคโนโลยี และถ้าปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไข วิกฤตทางการเมืองก็จะตามมา ดังที่ได้เริ่มปรากฏในหลายที่ทั่วโลกแล้ว

“หากปัญหาความเหลื่อมล้ำยังไม่ได้รับการแก้ไข เราจะเห็นประชานิยมเพิ่มขึ้น เราจะเห็นความไม่พอใจของสังคมมากขึ้น ซึ่งเป็นความท้าทายที่ใหญ่มาก ดังนั้นรูปแบบการเติบโตในอนาคตจะต้องคำนึงถึงคุณภาพและความเสมอภาค รวมถึงผลิตภาพ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันโดยตรงเลย”

5) การพังทลายของสิ่งแวดล้อม

ปัญหาโลกร้อนคือรูปธรรมที่สำคัญสุดของความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม ความรุนแรงของปัญหาสิ่งแวดล้อมทำให้เรื่องความสามารถในการแข่งขัน ผลิตภาพ รูปแบบการเติบโตในอนาคต ไม่ใช่แค่เรื่องของการทำให้การเติบโตเป็นธรรมมากขึ้น แต่มันเป็นเรื่องของความยั่งยืนด้วย

“ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า ความเปลี่ยนแปลงของระดับอุณหภูมิที่เรายังพอสามารถควบคุมไม่ให้ผลกระทบร้ายแรงตามมา คือ 1.5 องศาเซลเซียส แต่ตอนนี้โลกอุณหภูมิสูงขึ้นแล้ว 1 องศาเซลเซียส เห็นได้ชัดในทุกด้านว่า สิ่งแวดล้อมกำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญอย่างยิ่ง”

 

การแข่งขันในโลกยุคใหม่ ไม่ใช่ ‘Zero-sum game’

 

ในปี 2018 สภาเศรษฐกิจโลกตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีคิดในเรื่องความสามารถในการแข่งขันและผลิตภาพ โดยเสนอตัวชี้วัดใหม่ทั้งชุดที่ช่วยนิยามความสามารถในการแข่งขันและผลิตภาพในโลกใหม่ได้ ซึ่งครอบคลุมทั้งประเด็นใหม่ๆ หลายประเด็น อาทิ ทุนมนุษย์ ทักษะในการคิดเชิงวิพากษ์ ความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล ความยืดหยุ่น และความคล่องตัว รวมไปถึงนวัตกรรมก็สำคัญนะครับ ความยืดหยุ่นและความคล่องตัว ในขณะเดียวกันตัวชี้วัดใหม่นี้ยังให้ความสำคัญกับปัจจัยดั้งเดิมอย่าง โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ สถาบัน การศึกษา เป็นต้น

จัสตินขยายความว่า Global Competitiveness Index 4.0 (GCI 4.0) เป็นเครื่องมือที่จะช่วยในการคิดวิเคราะห์เรื่องขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งหากมองเผินๆ คนอาจเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องการแข่งขันระหว่างประเทศล้วนๆ ทว่าอันที่จริงแล้ว หัวใจของคือเรื่องของการเพิ่ม ‘ผลิตภาพ’ (Productivity) ของประเทศนั้นๆ

“ทุกคนคงทราบดีว่า ผลิตภาพคือพื้นฐานของการเติบโตทางเศรษฐกิจ คือพื้นฐานของรายได้ และถ้าคุณสามารถเพิ่มผลิตภาพได้ คุณก็กำลังเพิ่มรายได้ ดัชนีที่เราทำขึ้นมาคือการหาคำตอบว่า ส่วนประกอบต่างๆ ที่ทำให้ประเทศหนึ่งมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น หรือเพิ่มผลิตภาพได้มากขึ้น คืออะไรบ้าง โดยเราเชื่อว่า ถ้าสามารถระบุและแยกปัจจัยต่างๆ ออกมาได้แล้ว และพัฒนาสิ่งเหล่านั้น เท่ากับว่าคุณกำลังพัฒนาผลิตภาพ ซึ่งแน่นอนว่ารายได้ของประเทศก็จะเพิ่มขึ้นด้วย”

จากสถานการณ์ที่ว่ามา จัสตินเน้นย้ำว่า เมื่อเราพูดถึงขีดความสามารถในการแข่งขันในปัจจุบัน มันไม่ใช่เกมที่จะต้องมีผู้แพ้ผู้ชนะ หรือ Zero-sun game เสมอไป ประเทศหนึ่งสามารถพัฒนาความสามารถในการแข่งขันได้โดยที่ไม่ต้องเอาเปรียบประเทศอื่นๆ

“มันเป็นเรื่องการพัฒนาผลิตภาพของประเทศ ทุกประเทศสามารถมีผลิตภาพมากขึ้นพร้อมๆ กันได้ ไม่ใช่การแข่งขันระหว่างประเทศใดประเทศหนึ่ง”

 

โอกาสและความท้าทายของประเทศไทย

 

จัสตินชี้ว่า ผลการจัดอันดับของไทยใน The Global Competitiveness Report 2018 ประเทศไทยมีผลคะแนนและอันดับดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยไทยอยู่อันดับที่ 38 (67.5 คะแนน) จาก 140 ประเทศ

ในส่วนของรายละเอียดนั้น พบว่าไทยมีจุดแข็งหลายประการ ตั้งแต่เรื่องเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค (90 คะแนน) ระบบสาธารณสุข (87 คะแนน) และระบบการเงิน (84 คะแนน) โครงสร้างพื้นฐาน (70 คะแนน) ขนาดตลาด (75 คะแนน) และพลวัตภาคธุรกิจ (71 คะแนน) ซึ่งนับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้

อย่างไรก็ดี ไทยยังมีช่องว่างให้พัฒนาได้อยู่มากในหลายประเด็น เช่น สถาบัน (55 คะแนน) การปรับตัวตามเทคโนโลยีสารสนเทศ (57 คะแนน) ตลาดสินค้า (53 คะแนน) และสมรรถนะด้านนวัตกรรม (42 คะแนน) เป็นต้น ซึ่งไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาเสาหลักเหล่านี้ เนื่องด้วยการแข่งขันในโลกใหม่ เป็นปฏิสัมพันธ์ของปัจจัยอันหลากหลาย ไม่สามารถมุ่งพัฒนาเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้

ในช่วงท้าย จัสตินได้ทิ้งประเด็นที่ควรตระหนัก 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ

1) การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 กำลังเป็นไปอย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้สูงขึ้นที่จะมีประเทศที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง นี่จึงไม่ใช่ปรากฏการณ์เฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วอีกต่อไป ในขณะเดียวกัน ประเทศที่พัฒนาน้อยกว่า ก็ไม่ควรพึ่งพาแค่การนำแนวคิดมาใช้ แต่ควรจะเริ่มคิดค้นและพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาด้วยตัวเองเช่นกัน”

2) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นความท้าทายที่ทุกประเทศกำลังเผชิญ  จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลโดยตรงต่องานหลายประเภทที่กำลังจะถูกแทนที่

“เราเห็นแล้วว่าระบบเครื่องจักรอัตโนมัติเป็นงานที่ท้าทาย ปัญญาประดิษฐ์เป็นงานที่ท้าทาย ถ้าคุณเป็นประเทศที่แข่งขันโดยการใช้แรงงานและการผลิตต้นทุนต่ำ คุณจะใช้กลยุทธ์นี้ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว แน่นอนว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จะทำลายหลายๆ อาชีพ แต่ก็ได้สร้างอาชีพใหม่ๆ ขึ้นมาเช่นเดียวกัน คุณต้องมอบทักษะใหม่ๆ ให้ผู้คน เพื่อที่จะสามารถปฏิบัติงานประเภทใหม่ๆ ได้”

 

ตราบใดที่เรายังยอมรับคุณภาพชีวิตที่ต่ำ นวัตกรรมก็ไม่เกิด

 

ช่วงที่สองของวงสัมมนา เป็นการเปิดเวทีอภิปรายโดยผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่างๆ ประกอบด้วย ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน)  ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ นายเจน นำชัยศิริ ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

ด้าน ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งข้อสังเกตว่า การจะยกระดับรายได้หรือความเป็นอยู่ของคนได้อย่างยั่งยืน สิ่งที่ควรโฟกัสจริงๆ ก็คือเรื่อง Productivity ภายใต้โจทย์สำคัญที่ว่า จะทำอย่างไรให้รายได้ต่อหัวของแรงงานเพิ่มขึ้น โดยพิพัฒน์มองว่าทำได้สองวิธีหลักๆ คือ การเพิ่มการลงทุน และการพัฒนาคุณภาพของแรงงาน ซึ่งต้องตั้งต้นจากการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

นอกจากนี้ ดร.พิพัฒน์ยังชี้ว่า ในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่แรงงานมนุษย์จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ แต่การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้จะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้เปลี่ยนแบบฉับพลันทันใด โจทย์สำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันคิด คือจะทำอย่างไรแรงงานของเรามีทักษะที่เหมาะสมกับเทคโนโลยีและโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“หลายๆ ธุรกิจในตอนนี้ เช่น ธุรกิจสิ่งพิมพ์ เราเริ่มเห็นภาพชัดขึ้นแล้วว่ามันกำลังเปลี่ยน ซึ่งถ้าเรายังทำแบบเดิมไปเรื่อยๆ เราก็จะอยู่ยากขึ้น เพราะนับวันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีก็ยิ่งเร็วขึ้นเรื่อยๆ”

 

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน)

 

ในส่วนของการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ดร.พิพัฒน์ชี้ว่าแม้ไทยพัฒนาอย่างต่อเนื่องในรอบ 30-40 ปี แต่ส่วนใหญ่คือการพัฒนาจากการเป็นผู้รับจ้างผลิต (OEM) เนื่องจากเรามีโครงสร้างพื้นฐานดี แรงงานราคาถูก แต่ปัญหาคือเราแทบไม่ได้เป็นผู้สร้างนวัตกรรมเลย จุดที่น่ากังวลคือ ถ้าเรายังไม่ข้ามจุดที่ยืนอยู่ในปัจจุบัน คนอื่นจะแซงเราไปเรื่อยๆ

ขณะเดียวกันในภาพใหญ่ จะพบว่าการพัฒนาแบบโลกาภิวัฒน์ (Globalization) เริ่มไม่ตอบโจทย์ผู้คนอีกต่อไป สังเกตได้จากการที่เหล่าผู้แพ้จากกระแสโลกาภิวัฒน์ เริ่มส่งเสียงดังมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาแบบนี้เท่าที่ควร

“ภาพแบบนี้สะท้อนว่าเศรษฐกิจที่มันโตขึ้น มันไม่ได้ถูกกระจายไปอย่างทั่วถึง ทำให้หลายคนรู้สึกว่าไม่ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนา ส่งผลให้เกิดประเด็นทางสังคมการเมืองตามมา ถ้าเราย้อนไปในช่วงทศวรรษ 90 ที่ทุกคนพูดถึง globalization ทุกคนเชื่อว่าถ้าเราแชร์ทุกอย่างร่วมกัน เราก็จะเจริญเติบโตไปด้วยกัน แล้วโลกก็จะมีสันติสุข แต่วันนี้เราเริ่มเห็นกระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์มากขึ้น”

อีกปัจจัยที่ทุกภาคส่วนหันมาให้ความสำคัญ ก็คือเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากการพัฒนา โดยกรณีของไทยนั้นเริ่มผลอย่างชัดเจนแล้ว จากกรณีหมอกฝุ่นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ดังนั้นกระแสของการพัฒนาในยุคปัจจุบัน จึงให้ความสำคัญกับการตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เพราะนี่คือปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบไปทั้งโลก

อย่างไรก็ดี ดร.พิพัฒน์ ได้เสนอแนวทางที่รัฐควรทำ 4 ข้อ ที่จะช่วยยกระดับการพัฒนาของไทย ได้แก่ 1) ลดกฎระเบียบและขั้นตอนที่วุ่นวาย 2) ส่งเสริมการแข่งขัน 3) กำหนดกฎกติกาที่เป็นธรรม 4) พัฒนาการศึกษา ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพแรงงาน

ด้าน ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ได้ให้แง่มุมเกี่ยวกับเทรนด์โลกยุคใหม่ไว้อย่างน่าสนใจ โดยชี้ว่า ‘ข้อมูล’ (Data) คือสิ่งล้ำค่าสำหรับโลกยุคนี้ ทั้งในมิติของการซื้อขายสินค้าต่างๆ การนำข้อมูลไปต่อยอดหรือใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ อีกมากมาย โดยกรณีของไทย ประเด็นหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ที่ผ่านมาเราใช้เงินจำนวนมหาศาลไปกับการนำเข้าเทคโนโลยีต่างๆ  ทว่ากลับผลิตเองได้น้อยมาก ดังนั้นหนึ่งในโจทย์สำคัญที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ก็คือการหาวิธีว่าเราจะสามารถเป็นผู้สร้างเทคโนโลยีด้วยตัวเองได้อย่างไร

 

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

 

ในที่นี้ เขาได้ให้ข้อเสนอว่า ประเทศไทยควรใช้ความได้เปรียบจาก ‘ความหลากหลายทางชีวภาพ’ ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ขณะเดียวกันการที่ไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ก็สามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสได้ ในแง่ของการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ซึ่งแน่นอนว่าประชากรกลุ่มนี้ของไทยจะเป็นตลาดใหญ่ในอนาคต

“ถ้าเราสามารถเชื่อมโยงระหว่าง ความสามารถในการแข่งขัน กับความได้เปรียบในเชิงยุทธศาสตร์และทรัพยากรที่เรามี ผมเชื่อว่าเราสามารถพลิกไปในมิติใหม่ๆ ซึ่งต่างจากวิธีคิดของประเทศอื่นได้”

ต่อเนื่องจากประเด็นนี้ ดร.ณรงค์ขยายความต่อยอดว่า นวัตกรรมคือปัจจัยที่นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ตราบที่เรายังยอมรับคุณภาพชีวิตที่ต่ำ นวัตกรรมก็ไม่เกิด

“ถ้ามาตรฐานของคุณภาพชีวิตเรายังต่ำ เราก็ไม่จำเป็นต้องลงทุนกับการพัฒนานวัตกรรม เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตสูงขึ้น ยกตัวอย่างเปรียบเทียบว่า ถ้าเราตั้งเป้าว่าอยากขับรถที่ความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากที่เคยขับกันอยู่ที่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คุณภาพถนนจะต้องเปลี่ยน ทุกอย่างจะต้องเปลี่ยนใหม่หมด ไม่งั้นคุณจะไม่มีทางขับรถที่ความเร็วระดับนั้นได้ ทำนองเดียวกัน ถ้าเรายังยอมรับมาตรฐานแบบเดิมๆ ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม คุณภาพก็ย่อมไม่ถูกยกระดับ”

“สมมติผมลองตั้งโจทย์เล่นๆ ว่า คนไทยต้องมีความสุขที่อายุเฉลี่ย 100 ปี หมายถึงว่าอายุ 100 นี่ยัง active อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขนะครับ ไม่ใช่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ผมเชื่อว่าเราจะมีโจทย์อีกมโหฬารที่ต้องคิดต้องทำ ตั้งแต่โจทย์เรื่องอาหาร ทำอย่างไรให้เรามีอาหารเพียงพอกับประชากรจำนวนเท่านี้ ในช่วงอายุขนาดนี้ โจทย์เรื่องสาธารณสุข ทำอย่างไรที่จะลดอัตราการตาย เพื่อไม่ให้อายุเฉลี่ยของคนลดลง โจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมแบบไหนที่จะทำให้คนมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น กระทั่งเรื่องความบันเทิง ไปจนถึงเรื่องศิลปวัฒนธรรม จากโจทย์ใหญ่โจทย์เดียว มันจะนำไปสู่โจทย์ใหม่ๆ และกระบวนการแก้ปัญหาใหม่ๆ อีกมากมาย ซึ่งสุดท้ายแล้วจะตั้งอยู่บนพื้นฐานทรัพยากรที่เรามี”

 

นายเจน นำชัยศิริ ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

 

เท่าทันตัวเอง เท่าทันโลก

 

นายเจน นำชัยศิริ ตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรม ชี้ว่าตอนนี้ไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ทั้งในแง่เศรษฐกิจและสังคมการเมือง โดยเขามองว่า แม้การพัฒนาด้านเทคโนโลยี จะมีส่วนสำคัญมากในโลกยุคนี้ก็จริง ทว่าสิ่งที่ควรพัฒนาเป็นลำดับแรก ก็คือทรัพยากรมนุษย์ ผ่านการปฏิรูประบบการศึกษา โดยเน้นย้ำสองประเด็นสำคัญ คือเรื่อง ‘Life-Long Learning’ และ การพัฒนาการเรียนการสอน ‘ภาษาที่สอง’ หรือภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง ในฐานะที่เป็นภาษาสากลที่ใช้กันทั่วโลก

นอกจากนี้ เขามองว่าปัจจัยสำคัญอีกอย่างที่จะทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างราบรื่น ก็คือกลไกและกฎระเบียบต่างๆ ของภาครัฐ ที่ต้องปรับให้สอดคล้องและเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงด้วย ขณะเดียวกันก็ตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่ทั้งภาครัฐและเอกชนควรตระหนัก ก็คือการประเมินศักยภาพของตัวเองตามความเป็นจริง รู้ว่าความสามารถของตัวเองอยู่ในระดับไหนเมื่อเทียบกับในระดับสากล

“ผมสังเกตว่าผู้ประกอบการบางราย ที่ไม่ค่อยได้ปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก มักคิดว่าตัวเองไม่จำเป็นต้องพัฒนาอะไรมากมายนัก เพราะเห็นว่าสิ่งที่ทำมาก็ดีอยู่แล้ว แต่พอเขาเริ่มออกไปข้างนอก เขาถึงเห็นว่าเขาไม่ได้แข่งขันอยู่คนเดียวในโลก ยกตัวอย่างในภาคส่วนที่ผมทำงานอยู่ ก็มีบางกลุ่มที่มีความรู้สึกว่า ประเทศไทยเก่งเหลือเกิน เป็นเลิศเหลือเกิน ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ใช่เลย” นายเจนกล่าว พร้อมทิ้งท้ายว่า การสร้างความตระหนักรู้ที่ว่ามานี้ ควรปลูกฝังกันตั้งแต่ในระดับเยาวชน เพื่อให้คนไทยสามารถหลุดพ้นจากกรอบของตัวเอง และเข้าใจภาพรวมของประเด็นต่างๆ ในระดับสากลมากขึ้น

 

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

 

ด้าน ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ในฐานะตัวแทนจากภาครัฐ ยอมรับว่า จากการพิจารณาจุดอ่อนของไทยที่ปรากฏใน GCI 4.0 นั้น เขาเห็นว่าส่วนใหญ่ตรงกับสิ่งที่ภาครัฐประเมินตัวเองเช่นกัน และได้มีการดำเนินการแก้ไข รวมถึงวางแผนสำหรับอนาคตไว้แล้วในหลายส่วนด้วยกัน อาทิ การลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (EEC) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ

อย่างไรก็ดี ดร.ทศพรชี้ว่าเรื่องนี้มิใช่ภารกิจที่ภาครัฐจะจัดการได้ด้วยตัวคนเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนอื่นๆ ด้วย โดยสิ่งที่ต้องช่วยกันคิด ก็คือเมื่อเรารู้จุดอ่อนและปัญหาของตัวเองจากตัวชี้วัดต่างๆ แล้ว เราจะแก้ปัญหานั้นอย่างไร โดยยกตัวอย่างหลายๆ โครงการที่ภาคเอกชนยื่นมือเข้ามาช่วย แล้วได้ผลลัพธ์ที่ดี เช่น การจัดการป่าไม้ของจังหวัดน่าน หรือการสร้างรถไฟฟ้าและ Smart City ของขอนแก่น โดยเน้นย้ำว่าสิ่งที่ต้องทำตอนนี้ คือการนำปัญหาที่ปรากฏจากตัวชี้วัดต่างๆ มาเข้าสู่กระบวนการแก้ไขอย่างจริงจัง

“ถ้าเทียบกับร่างกาย ตอนนี้เราไปตรวจร่างกายมาแล้ว เรารู้แล้วว่าเราเป็นคนอ้วน เราต้องออกกำลังกาย แต่ประเด็นคือจะทำอย่างไรให้เราสามารถจูงใจตัวเองให้ลุกมาออกกำลังกายได้จริง”

 


 

ชมคลิปเสวนาฉบับเต็มได้ ที่นี่ :

MOST READ

Projects

16 Nov 2021

‘เติมนักเรียนในช่องว่าง’ 4 หนังสั้นคนรุ่นใหม่ที่ไม่อยากให้ผู้ใหญ่พูดแทน

ถ้าเรามองว่า School Town King คือสารคดีที่เคยเล่าเรื่องราวของของเยาวชน การศึกษาและความเหลื่อมล้ำผ่านสายตาของผู้ใหญ่ เรื่องสั้นจาก ‘เติมนักเรียนในช่องว่าง’ ก็ไม่ต่างกันนัก เพียงแต่มันสื่อสารโดยตรงมาจากกลุ่ม ‘นักเรียน’ ผู้เป็นคำตอบของหลายๆ ช่องว่างในสังคมนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Nov 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save