fbpx
Futurising Thailand : โลกใหม่ เมืองแบบใหม่ พัฒนาเมืองอย่างไรในโลก 4.0

Futurising Thailand : โลกใหม่ เมืองแบบใหม่ พัฒนาเมืองอย่างไรในโลก 4.0

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ในขณะที่โลกกำลังเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี อีกเทรนด์หนึ่งที่นับเป็นเทรนด์แห่งศตวรรษที่ 21 คือ เทรนด์การเป็นเมือง (urbanization) ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

อย่างไรก็ดี ดอกผลของการขยายตัวของเมือง ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นอัตโนมัติ หากเราปล่อยไปตามยถากรรม นอกจากความเป็นอยู่ของเราที่จะย่ำแย่แล้ว เรายังเสียโอกาสที่จะใช้ศักยภาพของเมืองอย่างน่าเสียดาย

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับบริษัท ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์ ได้จัดงานสัมมนา Futurising Thailand สร้างอนาคตไทยให้ทันโลก ครั้งที่ 3 หัวข้อ โลกใหม่ เมืองแบบใหม่ : ชีวิตความเป็นอยู่คนไทยในโลก 4.0 โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมือง รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ มาร่วมกันอภิปรายในประเด็นดังกล่าว เพื่อตอบคำถามว่า เมืองจะมีบทบาทในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างไร และจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยพัฒนาไปสู่จุดนั้นได้

 

ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 

เมืองที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ให้เกียรติกล่าวปาฐกถานำ โดยชี้ประเด็นสำคัญว่า ความเป็นเมืองมักมาพร้อมกับโอกาสทางเศรษฐกิจ ตัวชี้วัดง่ายๆ คือยิ่งประชากรเมืองสูงขึ้น รายได้คนยิ่งสูงเพิ่มมากขึ้น โดยในกรณีของประเทศไทย การที่ประชากรเมืองขยับเพิ่มขึ้นจากราวๆ ร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 30 ทำให้รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น 4 เท่า

ดร.ปัทมา ขยายความต่อว่า ถ้าเราอยากเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในเศรษฐกิจโลก มีคนบอกว่าให้ลองหันไปดูว่า ภาคเอกชนกำลังปรับตัวอย่างไร โดยในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่กำลังเปลี่ยนกลยุทธ์ทางธุรกิจ โดยหันมาใช้ ‘เมือง’ เป็นฐานในการลงทุน จากเดิมที่ใช้ “ประเทศ” เป็นฐานในการลงทุนแบบเดิม

คำถามต่อมาคือการพัฒนาของเมืองนั้น เกี่ยวข้องกับเรื่อง ‘ความสามารถในการแข่งขัน’ อย่างไร

“เมืองเกี่ยวข้องกับความสามารถในการแข่งขันในหลายมิติ เพราะเมืองเป็นพื้นที่รูปธรรมที่เราอาศัยอยู่ ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เราพูดถึงกันทุกวัน เช่น นวัตกรรม เทคโนโลยี การเชื่อมต่อ ล้วนเกิดขึ้นในเมือง หรือเกี่ยวข้องกับเมืองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง” ดร.ปัทมากล่าว และเสริมว่า ในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เทคโนโลยีและนวัตกรรมทั้งหลายมักกระจุกตัวอยู่ในเมือง ดังนั้น เวลาเราพูดถึงสิ่งที่จำเป็นต่อความสามารถในการแข่งขันในโลกใหม่ ในแง่หนึ่ง เรากำลังพูดถึงการจัดการเมืองอยู่

อย่างไรก็ดี เมื่อพูดถึงโจทย์ความสามารถในการแข่งขัน ดร.ปัทมาชี้ว่าไม่ได้มีแค่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่หมายถึงความอยู่ดีกินดีของผู้คนในทุกมิติ ตั้งแต่เรื่องระบบสาธารณสุข ความสะดวกในการคมนาคม คุณภาพของสิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วมของประชาชน การต่อต้านคอร์รัปชั่น มิติเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการที่คนไทยเก่งขึ้นและมีชีวิตที่ดีขึ้นทั้งสิ้น พร้อมทิ้งท้ายว่า

“คำถามท้าทายสำหรับพวกเราคือ เราจะออกแบบและพัฒนาเมืองอย่างไร ให้เมืองในอนาคตนั้นมีความยั่งยืน ฉลาด และอัจฉริยะ เป็นเมืองที่นับรวมทุกคน ให้ทุกคนอยู่ได้ และสามารถมีส่วนร่วมกับเมืองได้อย่างกว้างขวางที่สุด”

 

ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC)

 

เมืองที่เดินได้ คือเมืองที่มีอนาคต

 

ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) เปิดประเด็นว่า โจทย์ที่ยากและสำคัญสุดในการพัฒนาเมือง คือการทำให้เมืองนั้นๆ เป็นเมืองที่ ‘เดินได้’ และ ‘เดินดี’ โดยขยายความว่า เมืองที่เดินได้และเดินดีนั้น คือเมืองที่ทุกอย่างอยู่ในระยะที่เดินถึง มีพื้นที่สีเขียวอย่างเพียงพอ มีย่านชุมชนเศรษฐกิจที่กระจายตัวไปหลากทิศ และมีศักยภาพที่จะเติบโตได้

ทั้งนี้ ดร.นิรมล ได้ยกตัวอย่างของประเทศสิงคโปร์ว่า เป็นประเทศที่เอาจริงเอาจังกับการออกแบบเมืองให้เดินได้เดินดี มีสภาพแวดล้อมที่ร่มรื่น ควบคู่ไปกับการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาได้อย่างมหาศาล

“สิงคโปร์สามารถออกแบบเมืองให้เดินได้ เดินดี ด้วยการใช้เรื่องพื้นที่สีเขียว และเรื่องการเดิน มาสร้างแบรนด์ให้ประเทศตัวเอง จนสามารถเปลี่ยนจากประเทศโลกที่สาม เป็นประเทศโลกที่หนึ่งได้ Tagline ของสิงค์โปร์คือ ‘Bring the bees and bowings’ และก็สามารถทำทั้งสองสิ่งควบคู่กันไปได้จริงๆ”

อย่างไรก็ดี คำถามที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ การจะพัฒนาให้เป็นเมืองเดินได้เดินดีนั้น ต้องทำอย่างไร

ดร.นิรมล ให้คำตอบไว้อย่างกระชับว่า เรื่องเมืองคือเรื่องของท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญ อย่างไรก็ดี ถ้ามีการส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐ ท้องถิ่นก็จะสามารถพัฒนาศักยภาพตัวเองได้มากขึ้น พร้อมยกตัวอย่างเมืองเชียงใหม่ ว่าเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ถือเป็นเมืองที่มีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นเมืองเดินได้เดินดีมากกว่ากรุงเทพฯ เพราะมีการวางแผนและพัฒนาอย่างเป็นระบบมากกว่า

“เมืองบางเมืองก็โชคดี ที่มีการวางแผน แต่บางเมืองก็ไม่เป็นเช่นนั้น สังเกตได้จากการเดินทางในเมืองนั้นๆ ที่ยากลำบาก เช่น กรุงเทพฯ สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือรถยนต์ เพราะบ้าน กับที่ทำงาน อยู่ห่างไกลกัน ระบบขนส่งสาธารณะไม่ตอบโจทย์”

อีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการเป็นเมืองเดินได้เดินดี คือการตอบโจทย์ด้านการท่องเที่ยว โดย ดร.นิรมลชี้ว่า คนทั่วไปอาจมองว่า นักท่องเที่ยวเป็นคนเลือกเมือง แต่ในความเป็นจริง เมืองต่างหากที่เลือกนักท่องเที่ยว โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น เป็นประเทศที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวสูงมาก ทว่าจุดน่าเสียดายคือ เมืองของเรายังไม่ตอบโจทย์การท่องเที่ยวในระดับพรีเมียม แต่เป็นได้แค่เมืองท่องเที่ยวระดับ non-premium เท่านั้น

ดร.นิรมล ยกตัวอย่างกรุงเทพฯ ที่ตอบโจทย์การเดินได้เดินดีในระดับที่ต่ำมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพของทางเท้า ทางข้าม ไปจนถึงสิ่งแวดล้อมภายในเมืองไม่เป็นมิตรกับผู้คน

“ราคาที่คนกรุงเทพฯ ต้องจ่ายจากการที่กรุงเทพฯ เดินไม่ได้ เดินไม่ดี มีตั้งแต่การสูญเสียโอกาสจากเวลาในการเดินทาง เชื่อมไปถึงภาระค่าเดินทางที่เพิ่มขึ้นมา โดยคิดเป็น 20% ของรายจ่าย นอกจากนี้ยังส่งผลต่อสุขภาพ โดยพบว่ามีคนกรุงเทพฯ ถึง 44% ที่เป็นโรคอ้วน” พร้อมเน้นย้ำว่า ทางเท้าเป็นเสมือนหน้าตาของเมือง

“ถ้าเมืองเดินไม่ได้ เมืองนั้นจะไม่ได้ความสามารถในการแข่งขัน เมืองนั้นจะไม่มีอนาคต”

 

ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

พัฒนาเมืองด้วยนวัตกรรม

 

ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่า เมื่อพูดถึงคำว่า Futurising Thailand หากมองในภาพใหญ่ เขานึกถึงคีย์เวิร์ด 3 คำ ดังนี้

  1. Innovation ทำอย่างไรเราถึงจะอยู่ในโลกของนวัตกรรมได้ และใช้ประโยชน์จากมันได้
  2. Disruption สืบเนื่องจากคำแรก คือนวัตกรรมที่กำลังเข้ามา disrupt หลายๆ อย่างในการดำรงชีวิตของเรา คำถามคือเราจะถูก disrupt อย่างไรบ้าง
  3. Sustainability เราจะปรับตัวและใช้ชีวิตถัดจากนี้อย่างไรให้มีความยั่งยืน และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ดร.ธัญญานุภาพ ขยายความว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พฤติกรรมของคนเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด โดยเขาใช้คำว่า ‘One moment in time’ ของมนุษย์เรานั้นเปลี่ยนไป กล่าวคือ เราใช้ชีวิตอยู่กับหน้าจอเป็นส่วนใหญ่ ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า ในระหว่างที่เขากำลังบรรยายและเปิดสไลด์อยู่ตอนนี้ หลายคนก็ยก smartphone ขึ้นมาถ่ายรูปเอาไว้ โดยหวังว่าจะเอามาดูในภายหลัง แต่เชื่อว่ามีไม่กี่คนที่จะเปิดมันขึ้นมาดูอีกครั้ง

“พลังของการใช้โซเชียลมีเดียในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า นอกจากมันจะเปลี่ยนช่องทางในสื่อสารของผู้คนแล้ว มันยังเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดการรวมตัวกันทางการเมือง และขยายผลจนสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้”

ในส่วนของการ Disruption ดร.ธัญญานุภาพ ยกตัวอย่างการถูก Disrupt ของธนาคารพาณิชย์ โดยชี้ว่า ทุกวันนี้แทบไม่มีใครไปเบิกเงินที่ธนาคารแล้ว กระทั่งตู้เอทีเอ็ม ก็ดูเหมือนจะมีความจำเป็นน้อยลงเรื่อยๆ ขณะที่ในภาพใหญ่ การขยายตัวของ Fintech ก็เข้ามา disrupt ระบบธนาคารมากขึ้น โดยเขายกคำพูดของผู้บริหารธนาคารแห่งหนึ่งต่อภาวะปัจจุบันว่า ถ้าแนวโน้มยังเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ อีก 3 ปีข้างหน้าเขาจะต้อง Lay off พนักงานราวๆ 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะการทำธุรกรรมทางการเงินไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานคนอีกต่อไปแล้ว

“อีกตัวอย่างหนึ่งคือเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า ที่หลายประเทศในยุโรปเริ่มใช้กันแล้ว ยังไงนับรถยนต์โซลาร์เซลล์ ที่กำลังอยู่ในการพัฒนา ดร.ธัญญานุภาพชี้ว่าในอนาคต หากรถประเภทนี้เป็นที่นิยมมากขึ้น สิ่งที่จะถูก disrupt ก็คือรถยนต์ที่น้ำมัน เชื่อมไปแหล่งพลังงานที่จะเคลื่อนไปสู่การใช้พลังงานไฟฟ้าและโซลาร์เซลล์มากขึ้น”

จากประเด็นที่ว่ามา เมื่อเชื่อมมาสู่การพัฒนาเมือง ดร.ธัญญานุภาพชี้ว่า เมืองที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือเมืองที่เป็นฐานการผลิตนวัตกรรม ไล่ตั้งแต่ Silicon Valley ในอเมริกา เมืองเสิ่นเจิ้นในจีน รวมถึงเมืองที่ปรับตัวเป็น Smart City อย่างสิงค์โปร์และอัมสเตอร์ดัม

ทั้งนี้ ดร.ธัญญานุภาพ เสริมว่า เหตุผลที่หลายๆ เมืองต้องปรับตัวให้เป็น Smart City นั้น ก็เพื่อต้องการยกระดับเศรษฐกิจให้ดีขึ้น จุดที่น่าสนใจคือ หลายเมืองใช้นวัตกรรมมาประยุกต์และส่งเสริมจุดเด่นที่ตัวเองมีอยู่แล้ว โดยในส่วนของไทย ดร.ธัญญานุภาพมองว่า เรามีขุมทรัพย์ล้ำค่าที่สามารถนำไปต่อยอดได้อีกมหาศาล ก็คือวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกทั้งหลาย โดยเฉพาะสมุนไพรพื้นถิ่น ที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจมาก

 

คุณสุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน

 

การพัฒนาเมือง กับการพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขัน คือเรื่องเดียวกัน

 

คุณสุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บอกเล่ามุมมองในฝั่งของผู้กำหนดนโยบายว่า แนวโน้มการพัฒนาเมืองในปัจจุบัน เป็นเทรนด์ที่สอดคล้องการพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

“ในอนาคต ยังไงเมืองก็ต้องโตขึ้น ความเป็นเมืองในไทยเพิ่มขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค ดังที่เราเห็นจากข้อมูลว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาคที่เติบโตอย่างมากคือภาคอีสานและภาคเหนือ ซึ่งเป็นภาคที่มีพื้นที่เยอะและขยายตัวได้อีกมาก”

อย่างไรก็ดี คุณสุริยนต์ชี้ว่าปัญหาสำคัญของการพัฒนาเมืองที่เราสั่งสมมาตั้งแต่อดีต คือการพัฒนาเมืองอย่างไรทิศทาง

“30 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นการเติบโตของเมืองที่ไร้ระเบียบ ไม่ว่าจะเป็น กรุงเทพ เชียงใหม่ ภูเก็ต หรือขอนแก่น เมืองเหล่านี้ขยายเหมือนตัวอะมีบา ผลที่ตามมาคือบริหารจัดการได้ยาก” พร้อมเสริมว่า วิธีการพัฒนาเมืองที่ควรจะเป็น คือการขยายเมืองก่อนที่ประชาชนจะเข้ามาอยู่อาศัย แต่ในทางกลับกัน สิ่งที่เป็นอยู่ในประเทศไทย คือการที่คนหลั่งไหลเข้าเมือง แล้วเมืองจึงขยายตาม

สำหรับวิธีการแก้ปัญหา คุณสุริยนต์บอกว่าตอนนี้สิ่งที่รัฐกำลังเร่งผลักดัน คือการพัฒนาเมืองขนาดกลาง เพื่อกระจายความมั่งคั่งและส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย

“ที่ผ่านมา จะเห็นว่าเมืองในประเทศไทย มีความแตกต่างกันค่อนข้างสูง กล่าวคือการเติบโตของเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ มีความต่างจากเมืองรองหรือเมืองเล็กเป็นร้อยเท่า นี่คืออุปสรรคสำคัญมากต่อการพัฒนา

“ในทางกลับกัน ถ้าเรามีเมืองใหญ่ และเมืองรองลงมา เป็นเมืองที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลากหลาย มีโครงสร้างพื้นฐานพร้อม มีประชากรในระดับหนึ่ง กิจกรรมการค้าทางธุรกิจต่างๆ จะเติบโตเร็ว จึงเป็นเหตุผลสำคัญว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองในขั้นต่อไปของประเทศไทย คือการมุ่งพัฒนาคือเมืองขนาดกลาง”

ประเด็นถัดมา คุณสุริยนต์พูดถึงปัญหาของเมืองที่มีความเปราะบาง สืบเนื่องจากการที่คนหลั่งไหลเข้ามามาก และเมืองมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วแบบไม่มีทิศทาง

“เมื่อคนอพยพเข้ามาในเมืองมาก มีความหนาแน่น มีการก่อสร้างเร็ว ปรากฏการณ์ที่เห็นชัดคือเรื่องน้ำท่วม ไม่ใช่เฉพาะในกรุงเทพ แต่รวมถึงอีกหลายเมืองใหญ่ๆ ที่ประสบภาวะน้ำท่วมอย่างไม่ควรจะเป็น เหตุผลก็เพราะการขยายตัวของเมืองที่ไร้ระเบียบ และหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ปัญหาที่จะตามมาก็คือเรื่องภัยพิบัติ”

จากปรากฏการณ์ที่ว่ามา คุณสุริยนต์เน้นย้ำว่า สุดท้ายแล้วการพัฒนาเมือง กับการพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขัน ความจริงแล้วเป็นเรื่องเดียวกัน สำหรับแนวทางในการพัฒนาเมืองนั้น ปัจจุบันกำลังมีการผลักดันเรื่อง Smart City ซึ่งแบ่งเป็น 6 แนวทาง คือ

1) Smart Economy มีการทำธุรกิจที่เน้นนวัตกรรม  2) Smart people ประชาชนต้องเข้าถึงความรู้ และมี Digital Skill  3) Smart governance หน่วยงานของรัฐมีบริการที่มีประสิทธิภาพ ไม่ล่าช้า และนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย 4) Smart mobilitiy การเข้าถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ ต้องง่าย และต้องมีต้นทุนที่ต่ำ 5) Smart Energy and Environment การบริหารพลังงานและสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพ และ 6) Smart Living คนจะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้สุขภาวะที่ดี

 

#sponsor #สภาพัฒน์ #futurisingthailand #สร้างอนาคตไทยให้ทันโลก

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save