fbpx
Futurising Thailand : Chiang Mai Model พัฒนาเมืองอย่างไรให้ไม่ทิ้งราก

Futurising Thailand : Chiang Mai Model พัฒนาเมืองอย่างไรให้ไม่ทิ้งราก

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล และ ศุภิษฐา นาราวงศ์ เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เทรนด์การเป็นเมือง (urbanization) คือเทรนด์ที่ทรงพลังมากที่สุดในศตวรรษที่ 21 การขยายตัวของเมืองใหญ่-เล็กทั่วโลก ไม่เพียงแต่สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลเท่านั้น หากแต่ยังเป็นตัวเร่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในเชิงบวกอย่างสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ดอกผลของการขยายตัวของเมือง ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นอัตโนมัติ หากเราปล่อยไปตามยถากรรม นอกจากความเป็นอยู่ของเราที่จะย่ำแย่แล้ว เรายังเสียโอกาสที่จะใช้ศักยภาพของเมืองอย่างน่าเสียดาย

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับบริษัท ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์ ได้จัดงานสัมมนา Futurising Thailand สร้างอนาคตไทยให้ทันโลก ครั้งที่ 3 หัวข้อ “โลกใหม่ เมืองแบบใหม่ : ชีวิตความเป็นอยู่คนไทยในโลก 4.0” โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมือง รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ มาร่วมกันอภิปรายในประเด็นดังกล่าว เพื่อตอบคำถามว่า เมืองจะมีบทบาทในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างไร

เมืองที่ฉลาด ยั่งยืน และนับรวมทุกคน มีหน้าตาเป็นอย่างไร และจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยพัฒนาไปสู่จุดนั้นได้

หนึ่งในประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในงานสัมมนาครั้งนี้ คือการพูดถึงกรณีศึกษาของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ขณะเดียวกันก็มีแนวทางการพัฒนาเมืองที่น่าสนใจ ควบคู่ไปกับการพยายามรักษาอัตลักษณ์ดั้งเดิมของชุมชนไว้

ต่อไปนี้คือเนื้อหาบางช่วงบางตอนจากงานสัมมนา ว่าด้วยแนวคิดเบื้องหลังของการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ รวมถึงมุมมองและข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมือง

 

 

Smart City ที่ไม่ทอดทิ้งชนบท

 

ศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ชี้ให้เห็นถึงประเด็นที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ คือ การพัฒนาเมืองที่ทั้ง ‘คนที่อาศัย’ และ ‘คนที่มาเยือน’ ต้องมีความสุข โดยชี้ว่า โจทย์สำคัญอยู่ที่เรื่องของ connectivity (การเชื่อมต่อ) ตั้งแต่มิติของการพัฒนาระบบขนส่งภายในเมือง ไปจนถึงการผลักดันให้พืชผลของเกษตรกรในชนบท กลายเป็นความต้องการทางการตลาดมากขึ้น เพื่อกระจายโอกาสและรายได้ให้ทั่วถึงคนทุกกลุ่ม

“การเชื่อมต่อที่ว่านี้แสดงให้เห็นว่าการจะพัฒนาเมือง ไม่สามารถมองผ่านด้านใดเพียงด้านนึงได้ เช่น จะพัฒนาเมือง ก็ต้องพัฒนาทั้งความปลอดภัย การคมนาคม เรียกได้ว่าต้องมองในทุกๆ มิติ และมองอย่างเชื่อมโยงกัน” ศุภชัยกล่าว

เขาเน้นย้ำว่า เมื่อพูดถึงการพัฒนาเมือง เราไม่ควรให้ความสำคัญเฉพาะจุดศูนย์กลางของเมืองอย่างเดียว แต่พื้นที่อื่นๆ ที่อยู่รอบนอกตัวเมือง ตลอดจนชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ก็ต้องให้ความสำคัญด้วย และต้องพัฒนาทั้งสองส่วนนี้ควบคู่ไปด้วยกัน

“ชนบทก็เป็นอีกมิติหนึ่งที่ไม่สามารถละทิ้งได้ เมื่อไหร่ก็ตามที่สิ่งแวดล้อมดี เมืองก็จะดีด้วย เพราะแหล่งน้ำ ป่า อากาศ แหล่งธาตุต่างๆ ล้วนแล้วส่งผลต่อเศรษฐกิจในเมืองด้วยกันทั้งสิ้น กล่าวคือ หากเศรษฐกิจภาคท้องถิ่นดี คนมีเงินใช้ ก็จะนำไปสู่ cash flow ในสังคม”

“หากเราปล่อยให้ในเมืองเข้มแข็งอย่างเดียว และทอดทิ้งชนบท เท่ากับว่าเราได้ทอดทิ้งคนส่วนใหญ่ เพราะแปดสิบเปอร์เซ็นต์ของคนเชียงใหม่ยังอาศัยอยู่ในชนบท”

อีกแนวคิดหนึ่งที่กำลังเป็นเทรนด์ของการพัฒนาเมืองในโลกยุคใหม่ คือเรื่องของ ‘Smart City’ ซึ่งอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาเมืองในมิติต่างๆ ทว่าการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ ก็อาจไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูปเสมอไป หากไม่ได้มีการวางแผนและคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้คนในเมืองจะได้รับจริงๆ

ต่อประเด็นนี้ ศุภชัยให้ความเห็นว่า การจะพัฒนา smart city นั้นจะต้องตั้งโจทย์ที่ว่า ทำไปแล้วจะได้ประโยชน์หรือไม่ แล้วประโยชน์ที่ว่านั้นจะทำให้คนในชุมชน ทั้งที่อยู่ในเมืองและในชนบท มีความสุขได้จริงหรือเปล่า พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า การคงไว้ซึ่งความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน ก็สามารถทำให้เกิดความสุขและเป็น smart city ไปพร้อมๆ กันได้

ประเด็นต่อมา คือเรื่องการออกแบบเมืองให้ตอบโจทย์ทั้งผู้อยู่อาศัย และผู้ที่มาท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ โดยศุภชัยยืนยันว่า การออกแบบเมืองนั้นควรจะออกแบบตามอัตลักษณ์ของพื้นที่นั้นๆ ขณะเดียวกันก็ต้องตอบรับความต้องการของผู้คน

“คนเชียงใหม่เป็นนักออกแบบและมีแรงบันดาลใจเยอะอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะต้องมีกฏหมายและแรงจูงใจช่วยสนับสนุน การวางผังเมือง แบบ TOD (Transit Oriented Development) ก็เป็นหนึ่งส่วนสำคัญที่คนสามารถช่วยกันออกแบบได้ เชียงใหม่ในอนาคตจะมีรถไฟฟ้าสายสีแดงเกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือทุกคนจะต้องมาช่วยกันคิด ว่าจุดไหนที่รถไฟฟ้าจะผ่าน จุดไหนที่จะทำให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด และจุดไหนที่จะสนับสนุนการเดินได้เดินดีของตัวเมืองเชียงใหม่” ศุภชัยกล่าว และเสริมว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อจำกัดอย่างหนึ่งในการพัฒนาเมือง ก็คือเรื่องงบประมาณ ทว่าสิ่งที่สำคัญกว่านั้น ก็คือการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน

“การออกแบบ การร่วมมือกัน รวมถึงการกระจายอำนาจไปสู่คนในท้องถิ่น จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงกันในที่สุด เป็นการเชื่อมโยงระหว่าง คน งบ ระบบ และ งาน เราต้องรู้จักที่จะแก้ไขปัญหาเชิงรุกและรับ ปรับตัวรับปัญหา ปรับตัวกับสิ่งที่มีอยู่ และรุกที่จะสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ขึ้นมา”

 

ศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

 

เชียงใหม่เป็นเมืองที่เดินได้ แต่ยังเดินไม่ดี

 

“เมืองไหนเดินไม่ได้ เมืองนั้นไม่มีอนาคต” คือสิ่งที่ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) เน้นย้ำตั้งแต่เริ่มต้นการสัมมนาครั้งนี้ ว่านี่คือหัวใจสำคัญ ขณะเดียวกันก็เป็นโจทย์ที่ยากที่สุดของการพัฒนาเมือง

ดร.นิรมล ขยายความว่า เมืองที่เดินได้และเดินดีนั้น คือเมืองที่ทุกอย่างอยู่ในระยะที่เดินถึง มีพื้นที่สีเขียวอย่างเพียงพอ มีย่านชุมชนเศรษฐกิจที่กระจายตัวไปหลากทิศ และมีศักยภาพที่จะเติบโตได้

สำหรับเมืองเชียงใหม่ ดร.นิรมลมองว่าเป็นเมืองที่ศักยภาพในระดับหนึ่ง ถือว่าเป็นเมืองที่ ‘เดินได้’ แต่ยัง ‘เดินไม่ดี’

“เมื่อเทียบกับกรุงเทพฯ ดิฉันคิดว่าเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีศักยภาพมากกว่า ถึงแม้เชียงใหม่จะเป็นเมืองที่พอเดินได้แล้ว แต่ก็ยังเดินได้ไม่ดีพอ อย่างถนนนิมมานเหมินท์ ที่เรียกได้ว่าเป็นถนนคนเดิน ก็ยังมีปัญหาเดิมๆ เช่น ทางเท้าไม่ต่อเนื่อง ไม่มีทางข้าม เป็นต้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากที่เชียงใหม่จะต้องพัฒนาระบบทางเดินเท้าให้ดีขึ้น เพื่อประโยชน์ของทั้งคนในสังคมและนักท่องเที่ยวที่จะมาเยือน”

ด้าน ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสริมจากประเด็นที่ว่าเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีศักยภาพในการพัฒนาว่า ความน่าเสียดายอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ โดยเชียงใหม่จัดจ่ายรายได้ให้ทางภาครัฐ สูงกว่าภาคประชาชนอยู่มาก เกิดเป็นความไม่เท่าเทียมกันทั้งในและนอกเมือง

ทั้งนี้ ดร.ธัญญานุภาพ ชี้ว่าแม้เชียงใหม่จะเป็นเมืองที่มีศักยภาพในหลายๆ ด้าน แต่การมุ่งเน้นในทุกด้านนั้นอาจเป็นเรื่องยากเกินไป สิ่งที่ควรทำคือการโฟกัสเฉพาะบางด้านที่เป็นจุดเด่น และมองเห็นศักยภาพในการพัฒนาต่อ

“เชียงใหม่มี everything แต่เราทำ everything ไม่ได้ ที่เราทำได้คือ ‘something’ แล้ว something ที่ว่านั้นคืออะไร อย่างแรกสุดเชียงใหม่สามารถเป็น start up tech city ได้ เพราะทุกวันนี้เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีพื้นที่ co-working space, start up space มากรองเป็นอันดับสองจากกรุงเทพฯ”

ดร.ธัญญานุภาพ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในเชียงใหม่มีบริษัทสตาร์ทอัพอยู่ราวๆ 90 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่มี CEO อายุ 20-30 ต้นๆ บริษัทเหล่านี้สามารถสร้างรายได้มากกว่า 30 ล้านบาทให้แก่เชียงใหม่ หากจำนวนตัวเลขของสตาร์ทอัพเพิ่มขึ้นจากนี้ไปเรื่อยๆ ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางรายได้ก็จะลดน้อยลง

นอกจากเรื่องการส่งเสริมสตาร์ทอัพ อีกสิ่งหนึ่งที่เชียงใหม่สามารถสร้างได้คือ ‘Paradise for food innovation’ ดร.ธัญญานุภาพชี้ว่า อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรกรรมในเขตเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ขยายตัวอย่างรวดเร็ว การว่าจ้างงานในส่วนนี้ก็เพิ่มตัวขึ้นตามเช่นกัน โดยรายได้จากอุตสาหกรรมอาหารของสามจังหวัด นับเป็นตัวเลขสูงถึงสามพันล้าน

“การสร้างนวัตกรรมนี้ไม่ได้เพียงแต่สร้างรายได้ให้กับตัวเมืองและชาวบ้าน แต่ยังทำให้เกิด inclusive growth กล่าวคือเศรษฐกิจต้นน้ำถูกพัฒนาไปโดยปริยาย เพราะเมื่อใดเกษตรกรรมถูกพัฒนา ต้นน้ำก็จะถูกพัฒนาไปด้วย”

 

ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC)

 

อัตลักษณ์ล้านนา คุณค่าที่ประเมินค่าไม่ได้

 

อีกสิ่งหนึ่งที่เชียงใหม่ควรเห็นคุณค่า และจะเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาศักยภาพเมือง ก็คือ ‘อัตลักษณ์ล้านนา’

ดร.ธัญญานุภาพ ชี้ว่านี่คือสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้ และเชียงใหม่สามารถนำอัตลักษณ์มาช่วยสร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ได้อีกมหาศาล โดยใช้การออกแบบเข้ามาช่วย

“เชียงใหม่ไม่จำเป็นต้องมี high tech แต่สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญหลักมากกว่าคือ high touch เรามีทั้ง งานฝีมือ วัดเก่าแก่ เกษตรกรรม และที่ขาดไม่ได้เลยคือร้านกาแฟมากกว่าสองพันร้านที่กระจายทั่วตัวเมือง” ดร.ธัญญานุภาพ กล่าว และเสริมว่า โดยส่วนตัวเขาหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สักวันกาแฟอาราบิก้าของเชียงใหม่ จะสามารถเข้าไปติดอยู่ในแผนที่โลกกาแฟได้เช่นกัน

ด้านศุภชัย ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัด มีความเห็นในทำนองเดียวกันว่า เชียงใหม่ยังมีหลายจุดที่สามารถพัฒนาได้ และขณะนี้หลายๆ โครงการก็กำลังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาพัฒนา อย่างไรก็ตาม เขาเน้นย้ำว่าทุกอย่างต้องอาศัยกระบวนการตกผลึกความคิด ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน

“ลำพังภาครัฐเดี่ยวๆ เอกชนเดี่ยวๆ สถาบันเดี่ยวๆ มันต่างคนต่างคิด การผนวกความคิดเข้าด้วยกันจะช่วยทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้น” ศุภชัยกล่าว

ทั้งนี้ เขามองว่าสิ่งที่ภาครัฐควรเข้ามาสนับสนุน คือการสร้างเวทีรับฟังความเห็น เพื่อตอบสนองความต้องการของคนในท้องถิ่นมากขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบราชการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การนำ big data เข้ามาใช้

“แต่ก่อนนี้เราต้องบริหารเวลา บริหารอุตสาหกรรม แต่เดี๋ยวนี้สิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญ คือการบริหารความคาดหวังของประชาชน”

“การปรับปรุงสนามบิน การเชื่อมโยงเส้นเชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง การทำวงแหวน การออกแบบผังเมือง ล้วนแล้วแต่สร้างจากความคาดหวังของประชาชนทั้งสิ้น สิ่งสำคัญที่เชียงใหม่ต้องยึดถืออยู่เสมอคือ ‘เขียว สวย สะอาด’ คนเชียงใหม่จะต้องร่วมด้วยช่วยกันให้เกิดสิ่งนี้ ไม่ใช่เพียงแต่ภาครัฐเท่านั้น” ศุภชัยกล่าว และทิ้งท้ายว่า

“ถ้าคนเชียงใหม่ช่วยกันทำ เราทำได้ เริ่มจากเรื่องง่ายๆ เช่น ถนนสักเส้นที่จอดรถตามกติกา คำถามคือว่าวันนี้เราเริ่มแล้วหรือยัง”

 

ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

#sponsor #สภาพัฒน์ #futurisingthailand #สร้างอนาคตไทยให้ทันโลก

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save