fbpx

คิดใหม่โลกยุติธรรมแห่งอนาคต เมื่อหลักนิติธรรมถึงเวลาต้องก้าวพ้นขอบพรมแดน

แม้โลกเปลี่ยนไป หลักนิติธรรมต้องไม่เปลี่ยนแปลง

ในช่วงหลายปีมานี้ การเปลี่ยนแปลงของโลกเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนในหลายแง่มุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล ที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คน โดยทำให้พรมแดนระหว่างชีวิตมนุษย์ในโลกความเป็นจริงกับโลกเสมือนค่อยๆ เลือนลางลงเรื่อยๆ จนนำไปสู่โจทย์ใหม่ๆ ในวิถีชีวิตมนุษย์ที่เราต้องขบคิดตีความกันใหม่ในหลายประเด็น และหนึ่งในนั้นย่อมหนีไม่พ้นประเด็น ‘ความยุติธรรม’ เมื่อโลกดิจิทัลเป็นภาพใหม่ที่กำลังเคลื่อนเข้ามาซ้อนทับกับโลกความเป็นจริงทางกายภาพมากขึ้น จินตนาการจึงเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายว่า ความยุติธรรมในโลกเสมือนควรจะมีหน้าตาอย่างไร และเราจะทำอย่างไรให้มนุษย์ยังคงได้รับความเป็นธรรมเสมอกันได้อย่างไร้รอยต่อไม่ว่าจะกำลังอยู่บนโลกกายภาพหรือโลกดิจิทัลก็ตาม

ในงานเวทีสาธารณะนานาชาติครั้งที่ 11 ว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (The 11th TIJ International Virtual Forum on the Rule of Law and Sustainable Development) ซึ่งจัดโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับสถาบัน Institute for Global Law and Policy (IGLP) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ศ.โจธี่ ราจาห์ (Jothie Rajah) ศาสตราจารย์วิจัยจากสถาบันวิจัยอิสระด้านกฎหมาย American Bar Foundation ได้มีการบรรยายพิเศษหัวข้อ ‘หลักนิติธรรมและโลกอนาคต’ โดยชูแนวคิดสำคัญว่า แม้บริบทใดๆ ของโลกจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่หลักนิติธรรมยังคงต้องยึดใจความหลักเดิมอย่างไม่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการต้องทำให้คนได้เข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม โดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

ราจาห์อ้างถึงเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ซึ่งเป็นกรอบทิศทางการพัฒนาที่ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติร่วมลงนาม เพื่อร่วมกันบรรลุการพัฒนาทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภายในปี 2030 โดยชี้ว่า SDGs มีเนื้อหาที่ส่งเสริมหลักนิติธรรมอยู่ แม้ไม่ได้ปรากฏเป็นข้อความอย่างชัดเจน ซึ่งก็คือเป้าหมายที่ 16 ซึ่งว่าด้วย “การส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรมและสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผลรับผิดชอบและครอบคลุมในทุกระดับ” และมีการกล่าวถึงหลักนิติธรรมที่เฉพาะเจาะลงไปในเป้าหมายย่อย 16.3 ที่ว่า “ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม” นี่จึงเป็นเสมือนหลักประกันหนึ่งว่าหลักนิติธรรมยังคงเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อแนวทางการพัฒนาของโลกในอนาคตข้างหน้า

ราจาห์ให้ความเห็นต่อไปว่า หลักนิติธรรมและเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนมีการแบ่งปันแนวคิดสำคัญอย่างหนึ่งร่วมกัน นั่นคือ ‘การโต้ตอบต่อการครองอำนาจนำ’ (counter hegemony) เนื่องจากใจความสำคัญของหลักนิติธรรมคือการตรวจสอบและการจำกัดอำนาจ (scrutiny and restraint of power) ซึ่งนับว่าสอดคล้องกับ SDGs ในเป้าหมายที่ 16 ที่ก็มีแนวคิดในการโต้ตอบต่อการครองอำนาจนำ ผ่านการยืนหยัดหลักการในทำงานอย่างบูรณาการร่วมกันจากคนทั่วโลก โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ศ.โจธี่ ราจาห์ (Jothie Rajah)

ทุกวันนี้เราได้เห็นบริบทของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในหลายด้าน ที่เห็นได้ชัดคือการเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ของโลกดิจิทัล รวมถึงการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีเมตาเวิร์ส ซึ่งกำลังส่งผลให้พรมแดนรอยต่อระหว่างโลกความเป็นจริงและโลกดิจิทัลยิ่งเลือนลางลง ทำให้มนุษย์ต้องมาจินตนาการกันใหม่ว่าเราจะสร้างหลักนิติธรรมอย่างไรให้ยังคงความเป็นธรรมสำหรับผู้คนแบบไร้รอยต่อ ไม่ว่าจะในโลกจริงหรือโลกเสมือน และไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใครก็ตาม อย่างไรก็ตาม ราจาห์ยืนยันว่านิติธรรมต้องยังคงมีหลักการไม่เปลี่ยนแปลง

แม้คนจำนวนมากจะให้ความสนใจไปที่ประเด็นการเติบโตของโลกดิจิทัล แต่ราจาห์ต้องการเน้นย้ำให้เห็นว่า ปัญหาช่องว่างความยุติธรรมที่เกิดขึ้นภายใต้ภาวะโลกไร้พรมแดน ไม่ได้มีแค่ในมิติพรมแดนระหว่างโลกจริง-โลกเสมือนจริงเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในมิติพรมแดน อันหมายถึงพรมแดนระหว่างประเทศที่เราคุ้นเคยกันดีในปัจจุบัน เพราะหลายประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งของโลกในทุกวันนี้ไม่ใช่เป็นปัญหาที่จำกัดอยู่แค่ภายในท้องถิ่นนั้นๆ แต่ยังอาจมีความซับซ้อนพัวพันกับประเด็นระหว่างประเทศด้วย และที่ราจาห์เน้นพูดถึงในมิตินี้ ก็เนื่องจากว่าเป็นมิติที่กำลังจับต้องได้ และมีกรณีตัวอย่างเกิดขึ้นให้เห็นจริงแล้ว

ปัญหาช่องว่างยุติธรรมบนโลกไร้พรมแดน
กรณีศึกษาการแย่ง-ยึดที่ดินในยูกันดา

ราจาห์ยกตัวอย่างกรณีศึกษาการแย่ง-ยึดที่ดิน (land grabs) ที่เกิดขึ้นในเขตมูเบนเด (Mubende) ประเทศยูกันดา (Uganda) ซึ่งถือเป็นกรณีที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างของความยุติธรรมที่เกิดขึ้นภายใต้บริบทโลกที่เปลี่ยนได้อย่างดี และยังเป็นกรณีที่ทำให้เห็นถึงโอกาสในการปรับใช้หลักนิติธรรมและสาระสำคัญของ SDGs ในเป้าหมายที่ 16 เพื่ออุดรอยรั่วดังกล่าวในอนาคต

ปัญหาที่ดินในเขตมูเบนเดเป็นผลสืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 2005 เมื่อพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ โดยมีการเปิดโอกาสให้เกิดการค้าคาร์บอนเครดิต (carbon credit trading) ซึ่งเป็นแนวทางบรรเทาวิกฤตทางสภาพภูมิอากาศรูปแบบหนึ่ง ต่อมาในปี 2006 บริษัท New Forests ได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลยูกันดาในการปลูกป่าในเขตมูเบนเดเป็นระยะเวลา 50 ปี เพื่อค้าคาร์บอนเครดิตให้กับประเทศที่มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง โดยบริษัท New Forests เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งได้รับการลงทุนจากบริษัททางการเงินระดับโลก และเป็นที่คาดการณ์ว่า New Forest จะได้กำไรจากการค้าคาร์บอนเครดิตมากกว่า 1.8 ล้านดอลลาร์ต่อปี

อย่างไรก็ดี ในเดือนกันยายน 2011 การแย่ง-ยึดที่ดินก็เริ่มเป็นที่พูดถึงในวงกว้างมากขึ้น เมื่อสื่อกระแสหลักของโลกรายงานข่าวเกี่ยวกับความขัดแย้งเรื่องที่ดินทำกินในพื้นที่เขตมูเบนเด ประเทศยูกันดา ระหว่างชาวบ้านมากกว่า 10,000 คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แต่ดั้งเดิม กับบริษัทค้าคาร์บอนอย่าง New Forests

รายงานของ Oxfam ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานขับเคลื่อนเพื่อบรรเทาความยากจนทั่วโลก ระบุว่าชาวบ้านในชุมชนหลายคนต้องถูกไล่ออกจากพื้นที่ เพื่อเปิดทางให้บริษัท New Forests ดำเนินการปลูกป่า โดยรัฐบาลยูกันดาและบริษัทกล่าวหาว่าชาวบ้านเป็นผู้บุกรุกพื้นที่อย่างผิดกฎหมาย จึงต้องออกจากพื้นที่โดยสงบ ขณะที่ Oxfam และ Uganda Land Alliance ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนด้านสิทธิที่ดิน เห็นต่าง และได้ร้องเรียนไปยังธนาคารโลก เนื่องจากธนาคารโลกและบริษัทการเงินระหว่างประเทศถือเป็นผู้ลงทุนหลักในบริษัทดังกล่าว

จากกรณีศึกษาในเบื้องต้นจะเห็นได้ว่ามีตัวละครที่เกี่ยวข้องอยู่หลากหลายระดับ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับโลก การแย่ง-ยึดที่ดินของบริษัท New Forests สะท้อนให้เห็นอำนาจการค้าแบบโลกาภิวัตน์ เห็นได้ชัดจากการที่บริษัทดังกล่าวได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรระดับนานาชาติอย่างธนาคารโลกและสหประชาชาติ สิ่งนี้จึงนำไปสู่การตั้งคำถามถึงความยุติธรรมในบริบทที่อำนาจไม่เท่าเทียมกัน เมื่อชาวบ้านในท้องที่ขาดอำนาจการต่อรองในพื้นที่ คนชายขอบต้องทรมานจากความยากจนและขาดแคลนโอกาส ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองต่อการค้าคาร์บอนในพิธีสารเกียวโต ซึ่งถูกมองว่าเป็น ‘ลัทธิล่าอาณานิคมคาร์บอน’ (Carbon Colonialism)

ราจาห์ชวนมองกรณีศึกษานี้ผ่านมุมมองใหม่ โดยอ้างอิงถึงแนวทางโลกคดีสังคมวิทยาของกฎหมาย (global sociolegal approach) ของอีฟ ดาเรียน สมิธ (Eve Darian Smith) ซึ่งเป็นแนวทางในการทำความเข้าใจเหตุการณ์ ด้วยการเพิ่มมุมมองในมิติด้านเวลา พื้นที่ และอำนาจ เพื่อเชื่อมโยงมุมมองทางกฎหมาย ภูมิศาสตร์ และองค์ความรู้เข้าด้วยกัน โดยแนวทางนี้ช่วยในการแสวงหาหนทางจัดการประเด็นปัญหาและความท้าทายข้ามพรมแดนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นความมั่นคงทางอาหารหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และในกรณีศึกษาการแย่ง-ยึดที่ดินในเขตมูเบนเดนี้ ก็สามารถใช้แนวทางนี้ได้เช่นกัน โดยราจาห์ชี้ว่าจะช่วยให้เราได้เห็นกรณีปัญหาดังกล่าวในมุมมองที่ไปไกลกว่าความเป็นเขตแดน อันรวมถึงการตีกรอบพื้นที่อำนาจศาลและอาณาเขตของรัฐชาติ

แนวทางของสมิธเป็นการโต้ตอบต่อการครองอำนาจนำ โดยให้ความสำคัญกับการศึกษาช่องว่างระหว่างกฎหมายในหนังสือและกฎหมายในเชิงปฏิบัติ รวมทั้งขยายแนวคิดด้านกฎหมายให้ไปไกลกว่ากฎหมายที่รัฐเป็นศูนย์กลางผ่านการเชื่อมโยงกฎหมายในประเทศกับประเด็นอื่นๆ บนโลก เพื่อจะนำไปสู่สันติภาพและสังคมที่มีความยั่งยืนในอนาคต ราจาห์จึงชี้ว่าแนวทางของสมิธสอดคล้องกับ SDGs เนื่องจาก SDGs พูดถึงการทำงานแบบบูรณาการแบ่งแยกไม่ได้ อีกทั้ง SDGs ก็ไม่ได้เชิดชูสังคมที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นหลัก แต่ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและไม่ทิ้งใครไว้ด้านหลัง

ในกรณีการแย่ง-ยึดที่ดินในเขตมูเบนเด แม้การกระทำของบริษัท New Forests จะได้รับการรองรับด้วยกฎหมายทั้งระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลก แต่ก็ยังสะท้อนถึงการใช้ความรุนแรงในทุกระดับ ทั้งระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลกเช่นกัน ผ่านการที่ชนชั้นสูงของรัฐเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับทุนระดับนานาชาติเพื่อยื้อแย่งผลประโยชน์จากคนในชนบท รวมไปถึงการใช้ความรุนแรงในชนบทผ่านการขับไล่โดยใช้กำลัง อีกทั้งยังได้เห็นความรุนแรงเชิงองค์ความรู้ระดับโลก (global epistemic violence) ผ่านการค้าขายคาร์บอนด้วย

ความรุนแรงที่เขตมูเบนเดได้รับการรายงานในปี 2009 จากการที่พนักงานบริษัทเข้าไปทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงทำกิริยาล่วงละเมิด คุกคามข่มขู่ชาวบ้านมูเบนเด นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ป่าไม้แห่งชาติของรัฐบาลยูกันดายังมีส่วนร่วมในกระบวนการเหล่านี้ด้วย

จากความรุนแรงดังกล่าว ชาวบ้านจึงร้องเรียนไปยังศาล โดยต่อมาศาลสูงสุดมีคำสั่งให้ยับยั้งการไล่ที่เพื่อรอการพิจารณาคดีโดยสมบูรณ์ แต่แล้วคำสั่งศาลก็ถูกละเมิดในท้ายที่สุด ถัดมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2010 ก็มีทั้งกองทัพ ตำรวจ และบุคคลที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นตัวแทนบริษัท ได้ถูกส่งตัวไปในพื้นที่เพื่อบังคับชาวบ้านออกจากพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านถูกทุบตี บ้านเรือนถูกเผา พืชผลถูกทำลาย ปศุสัตว์ถูกฆ่า รวมถึงเกิดโศกนาฏกรรมน่าสลดเมื่อเด็กอายุ 8 ปีที่กำลังป่วยและนอนพักอยู่ในบ้านต้องถูกไฟคลอกจนตาย แต่หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว พนักงานบริษัท New Forests กลับแถลงการณ์ว่าชาวบ้านออกจากพื้นที่ด้วยความสมัครใจ ทั้งยังบอกว่าพนักงานบริษัทอยู่ในพื้นที่เพื่อสังเกตการณ์เท่านั้น โดยไม่ได้มีบทบาทในการจัดการที่ดิน และบริษัทก็ยังยืนยันว่าสำนักงานป่าไม้แห่งยูกันดาเป็นผู้มีอำนาจเพียงผู้เดียวในการจัดการกับผู้บุกรุก นี่จึงนับได้ว่าเป็นการปฏิเสธความรับผิดชอบโดยตรงของบริษัท

ราจาห์วิเคราะห์เหตุการณ์ดังกล่าวว่า การที่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบหันหน้าเข้าหาศาล เพื่อทวงความยุติธรรมและความปลอดภัย สะท้อนให้เห็นนิติสำนึก (legal consciousness) และตั้งข้อสังเกตว่า บริษัท New Forests ได้มองพื้นที่ดังกล่าวเป็นดินแดนที่ไม่มีเจ้าของ (terra nullius) เมื่อบริษัทได้รับใบอนุญาตที่ดินที่ชอบด้วยกฎหมายในระดับชาติโดยตรงจากรัฐยูกันดา แต่เพิกเฉยต่อกฎหมายระดับท้องถิ่น

ราจาห์หยิบยกแนวคิดของแอนโทนี แองจี (Antony Anghie) นักวิจารณ์กฎหมายระหว่างประเทศชื่อดัง มาช่วยอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลสืบเนื่องจากประวัติศาสตร์ในช่วงศตวรรษที่ 19 การขยายตัวของจักรวรรดินิยมก่อให้เกิดสำนักปฏิฐานนิยม (positivism) ซึ่งได้ถูกนำมาปรับใช้เป็นแนวคิดในกฎหมายระหว่างประเทศ โดยแนคิดปฏิฐานนิยมยืนยืนว่า รัฐเป็นผู้สร้างกฎหมายแต่เพียงผู้เดียว และไม่สามารถถูกผูกมัดโดยกฎหมายใดๆ เว้นแต่จะได้รับการยินยอม ขณะเดียวกันนักกฎหมายปฏิฐานนิยมได้ออกแบบหลักเกณฑ์ที่ใช้เกณฑ์เชื้อชาติและวัฒนธรรม เพื่อแยกระหว่างรัฐซิวิไลซ์ที่มีอธิปไตย กับรัฐอนารยะ ทำให้รัฐอื่นที่ไม่ได้อยู่ในยุโรปถูกผลักออกจากขอบเขตกฎหมายระหว่างประเทศ และยังไม่สามารถคัดค้านได้ กฎหมายดังกล่าวจึงทำให้การครอบครองที่ดินของผู้มีอำนาจเป็นสิ่งถูกกฎหมาย และกำหนดให้ดินแดนที่มีผู้อาศัยซึ่งมีสถานะด้อยกว่า เป็นที่ดินเปล่า

ผลจากเหตุการณ์การขับไล่ที่ดินในเขตมูเบนเด ทำให้ชาวบ้านต้องเผชิญความยากจนและสิ้นหวัง อย่างไรก็ดีในปี 2017 ผู้พิพากษาชาวยูกันดาแคทเธอรีน บามุเกเมเรีย (Catherine Bamugemereire) ซึ่งเป็นประธานกรรมการสอบสวนที่ดิน (the chairperson of the Land Inquiry Commission) ได้ออกมายืนยันว่าเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และนักการเมืองได้ร่วมมือกันขับไล่ชุมชนทั้งหมดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนกลายเป็นสังคมที่ไร้ที่อยู่อาศัย แม้การออกมายืนยันของบากุเกเมเรียในช่วงเวลาดังกล่าวอาจถือว่าสายเกินไป แต่อย่างน้อยที่สุด ผู้พิพากษาก็ได้แสดงออกถึงการยืนหยัดเพื่อปกป้องคนชายขอบและวิพากษ์วิจารณ์ผู้ทรงอำนาจในยูกันดา และต่อมาในปี 2018 ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของชาวนาและบุคคลอื่นในชนบท ถึงได้เกิดขึ้นบนโลก

ปรับแนวคิด เปลี่ยนมุมมองใหม่
ให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นได้อย่างไร้พรมแดน

เหตุการณ์แย่ง-ยึดที่ดินที่มูเบนเด ถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่สะท้อนว่า ประเด็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งของโลกอาจไม่ได้มีความเกี่ยวข้องที่จำกัดแค่ในระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงถึงระดับระหว่างประเทศ ท่ามกลางภาวะที่เส้นพรมแดนระหว่างประเทศที่เจือจางลงเรื่อยๆ และกรณีนี้ยังทำให้เห็นว่า ช่องว่างทางความยุติธรรมได้เกิดขึ้นในรอยต่อระหว่างกฎหมายท้องถิ่นและนานาชาติ ราจาห์ได้มองแนวทางที่จะแก้ปัญหาในประเด็นลักษณะนี้ โดยหยิบยกบทวิเคราะห์ของเฮนเรียตตา เซฟเฟิร์ต (Henrietta Zeffert) ผู้ที่ศึกษาบทบาทของธนาคารโลกกับการแก่งแย่งที่ดินในกัมพูชา ราจาห์ชี้ว่าผลการศึกษาของเซฟเฟิร์ตได้ให้แนวคิดว่า มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่กฎหมายจะต้องหันมาให้ความสำคัญกับแนวคิดความเป็น ‘บ้าน’

ราจาห์ขยายความว่า บ้านอาจหมายถึงสถานที่ และอาจรวมถึงชีวิตของผู้คน ที่เต็มไปด้วยประสบการณ์ ความสูญเสีย การดิ้นรน ความทุกข์ทรมาน หรือการมีส่วนร่วม ดังนั้นบ้านจึงต้องไม่ใช่แค่ที่ดินที่เสี่ยงต่อการถูกยึดครองเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ราจาห์มองว่าแนวคิดเรื่องบ้านลักษณะนี้ต้องเป็นที่จับต้องได้ในบริบทกฎหมายระหว่างประเทศด้วย

ท้ายสุด ราจาห์ยังตั้งความหวังว่า SDGs โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 16 จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการแย่ง-ยึดที่ดินดังเช่นโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นที่เขตมูเบนเด และจะช่วยไม่ให้เกิดการตีความกฎหมายในลักษณะที่รับใช้เงินและอำนาจ มากกว่าช่วยปกป้องคนจนและคนชายขอบ รวมถึงจะช่วยส่งเสริมให้คนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียม โดยราจาห์ได้ยกตัวอย่างถึง 2 ร่างกฎหมายที่สอดคล้องกับ SDGs ได้แก่ ร่างกฎหมายว่าด้วยการลงทุนที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และร่างปฏิญญาว่าด้วยสิทธิในการปรองดองระหว่างประเทศ (Draft Declaration on the Right International Solidarity) ซึ่งทั้ง 2 ร่างกฎหมายนี้มุ่งเน้นการทำงานบูรณาการข้ามพรมแดนระหว่างประเทศร่ำรวยและประเทศยากจนเพื่อดำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save