fbpx
Digital Transformation : ทางรอดธุรกิจและแรงงานไทยอยู่ตรงไหน ?

Digital Transformation : ทางรอดธุรกิจและแรงงานไทยอยู่ตรงไหน ?

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

 

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในยุค Digital Transformation หนึ่งในประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายกันบ่อยครั้ง คือเรื่องผลกระทบต่อตลาดแรงงานจากการถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี คำถามที่พบบ่อยคืองานประเภทใดบ้างที่ตกอยู่ในความเสี่ยง งานประเภทใดที่จะอยู่รอด ความรู้และทักษะแบบไหนคือสิ่งจำเป็น มนุษย์กับ A.I. สามารถทำงานร่วมกันได้หรือไม่อย่างไร ฯลฯ

เมื่อขยับเข้ามาพิจารณาสถานการณ์ของประเทศไทย ยังมีหลายประเด็นที่น่าจับตาและต้องขบคิดกันอย่างจริงจัง ตั้งแต่ผลกระทบต่อตลาดแรงงาน โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ การปรับตัวของผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ไปจนถึงบทบาทของภาครัฐและเอกชนภายใต้ยุค Thailand 4.0

ในเวทีระดมสมองเพื่อสร้างชุมชนนโยบายด้าน Digital Transformation ครั้งที่ 1 หัวข้อ ‘Humanizing Digital Transformation : Digital Automation and the Future of Jobs’ จัดโดย มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประเทศไทย, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีนักวิชาการและตัวแทนผู้ประกอบการในภาคส่วนต่างๆ มาร่วมกันแลกเปลี่ยนมุมมอง ความรู้ และประสบการณ์ เพื่อหาแนวทางในขับเคลื่อนสังคมเศรษฐกิจไทยอย่างมีคุณภาพในยุค Digital Transformation

101 เก็บประเด็นสำคัญจากเวทีระดมสมองมาฝากกัน

 

รศ.ดร.ภวิดา ปานะนนท์

: ‘What we sellไม่สำคัญเท่ากับ ‘What we do’

 

ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจระหว่างประเทศ รศ.ดร.ภวิดา ปานะนนท์ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอว่า หากเรามองการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในบริบทที่เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก การพัฒนาศักยภาพการแข่งขันในยุคที่แรงงานมนุษย์กำลังจะถูกแทนที่ มี 3 ประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ (Rethinking) ด้านธุรกิจ

1. Rethinking industry positioning จากเดิมที่ผู้ประกอบการมักตั้งต้นจากโจทย์ที่ว่า ‘เราจะขายอะไร’ (what we sell) ถึงเวลานี้อาจต้องเปลี่ยนโจทย์ใหม่เป็น ‘เราจะทำอะไร’ (what we do)

อาจารย์ภวิดา หยิบยกข้อมูลจากรายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เรื่อง ‘Asean in transformation : The Future of Jobs at Risk of Automation’ ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อปี 2016 ชี้ให้เห็นว่า ประเทศอาเซียน 5 ประเทศ (ไทย เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์) มีความเสี่ยงสูงที่แรงงานจะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติ (automation) ในอีก 2-3 ทศวรรษข้างหน้า ถึงร้อยละ 56 ของการจ้างงานทั้งหมด โดยประเทศไทยเผชิญความเสี่ยงสูงน้อยที่สุด คือร้อยละ 44 ส่วนประเทศอื่นเผชิญความเสี่ยงสูงดังนี้ เวียดนาม (ร้อยละ 70) กัมพูชา (ร้อยละ 57) อินโดนีเซีย (ร้อยละ 56) และฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 49)

ในกรณีของประเทศไทย นอกจากอัตราเสี่ยงสูงจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 44 แล้ว ความเสี่ยงปานกลางอยู่ที่ร้อยละ 41 และความเสี่ยงต่ำอยู่ที่ร้อยละ 15

ทั้งนี้ ประเทศที่มีความเสี่ยงสูง คือประเทศที่ยังใช้แรงงานทักษะต่ำในภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก ซึ่งถ้ามองแง่นี้ ประเทศไทยถือว่ายังจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบกับบรรดาประเทศในกลุ่มอาเซียน

ทว่านอกเหนือจากความท้าทายในแง่การจ้างงานแล้ว อาจารย์ภวิดายังชี้ให้เห็นว่ามีความท้าทายแง่อื่นๆ ที่ต้องคำนึงถึงด้วย

ในส่วนของประเทศไทย ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มของประเทศกำลังพัฒนา และยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมการผลิตเป็นหลัก ความท้าทายสำคัญคือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการพัฒนาศักยภาพการผลิต เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ

“ภาคอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ของเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นภาคการเกษตร หรืออิเล็กทรอนิกส์ มักเริ่มต้นจากการเป็นผู้ผลิต หรือเป็น supplier ก่อน โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่ว่า บริษัทไทยจะขยายตัวหรืออัพเกรดตัวเองอย่างไร ให้พ้นไปจากการเป็นแค่ผู้ผลิต และกลายเป็น supplier ที่สำคัญในอุตสาหกรรมนั้นๆ ได้”

“ในยุคไทยแลนด์ 4.0 สิ่งที่เราไม่ควรจะมองข้ามก็คือ อุตสาหกรรมในประเทศไทยยังตั้งอยู่บนพื้นฐานของ 1.0 และ 2.0 อยู่เป็นส่วนใหญ่ ความท้าทายคือจะใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริมอุตสาหกรรมเหล่านี้อย่างไร”

ต่อประเด็นนี้ เธอเสนอว่า ผู้ผลิตของไทยควรให้ความสำคัญกับการลงทุนเรื่อง product upgrading และ process upgrading มากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อทำให้ตัวเองสามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมระดับโลก ด้วยผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตที่ดีกว่า

“เราต้องพิจารณา industry positioning ใหม่ จาก what we sell เป็น what we do คือแทนที่จะมุ่งขายนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมใหม่ เราอาจต้องกลับมามองว่า เราจะใช้เทคโนโลยีมาทำอะไรได้มากขึ้น ในอุตสาหกรรมที่เราทำอยู่แล้ว”

2. Rethinking complementarity of technology and labor’ อาจารย์ภวิดาอธิบายว่า แทนที่เราจะกังวลว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาทดแทนแรงงานอย่างไร เราอาจต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ว่า จะสนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างเทคโนโลยีกับแรงงานได้อย่างไร

ในฐานะอาจารย์คณะพาณิชย์ฯ ที่ต้องบ่มเพาะนักศึกษาออกไปสู่ภาคธุรกิจต่างๆ เธอบอกว่าต้องทบทวนตัวเองอยู่เสมอ ว่าทักษะใดคือทักษะที่สำคัญและจำเป็นต่อการทำงานในภาคธุรกิจในอนาคต ซึ่งคำตอบที่ได้ก็คือทักษะ ‘Critical Thinking’

“ทักษะนี้คือทักษะที่แรงงานประเภทคอปกขาวของไทยค่อนข้างจะขาดมากที่สุด เพราะนี่คือสิ่งที่ทำให้คนกับเครื่องจักรสามารถทำงานประสานกันได้ดีมากขึ้น  ถ้าเราต้องการบัณฑิตที่จบออกไปทำงานเกี่ยวกับ Big Data แต่ไม่สามารถตั้งคำถามได้ ก็จบตั้งแต่ต้น”

3. ‘Rethinking public and private role in economic development’ คือการหันมาพิจารณาว่า ในการปรับตัวเข้าสู่ยุค Digital Transformation นอกจากบทบาทของภาครัฐที่เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงแล้ว ภาคเอกชนจะสามารถเข้ามามีบทบาทในแง่ไหนใดบ้าง ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้คือ สิ่งที่จำเป็นต้องลงมือทำแตกต่างกันไปตามแต่ละบริษัทและแต่ละอุตสาหกรรม

“เราควรจะต้องให้โอกาสเอกชนมีโอกาสส่งเสียงมากขึ้น ว่าเขาต้องการอะไร ขณะเดียวกัน การให้ความช่วยเหลือ SMEs ทั้งหลาย อาจใช้วิธีการแบบเดิมที่ให้ความช่วยเหลือเท่ากันทั้งหมดไม่ได้แล้ว แต่ควรจะแยกว่า SMEs ใดที่อยู่รอดและควรสนับสนุน กับ SMEs ใดที่ไม่มีศักยภาพ และจำเป็นต้องปล่อยไป มิฉะนั้นจะเป็นการทำให้สูญเสียทรัพยากรไปโดยใช่เหตุ”

สำหรับโจทย์เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ สิ่งสำคัญในโลกยุค Digital Transformation คือ การมองให้ไกลกว่ายุทธศาสตร์การส่งเสริมการส่งออกและการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งถูกท้าทายจากปัจจัยด้านดิจิทัล (การทดแทนแรงงานโดยเครื่องจักรอัตโนมัติ การเคลื่อนย้ายเงินทุนกลับประเทศ ความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยี) ปัจจัยด้านภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ (ความถดถอยทางเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว การฟื้นคืนชีพของลัทธิกีดกันการค้า) และปัจจัยด้าน Global Value Chains (GVC) (ประเทศกำลังพัฒนาติดอยู่ในกับดักมูลค่าต่ำของ GVC)

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาวิธีส่งเสริมให้ธุรกิจไทยสามารถเข้าร่วมและยกระดับคุณภาพใน GVC ซึ่งจะเป็นไปได้ก็ต้องมีการลงทุน ให้ความสำคัญที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่ระดับอุตสาหกรรม รวมถึงต้องพัฒนาศักยภาพเชิงสถาบันของธุรกิจไทยด้วย

ดร.วรประภา นาควัชระ

: A.I. ไม่ใช่ศัตรู แต่เป็นผู้ช่วย

 

ดร.วรประภา นาควัชระ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมานำเสนอแง่มุมของการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์กับ A.I. ในมุมที่เป็นความหวัง สวนทางกับข้อมูลที่ปรากฏออกมาตามสื่อต่างๆ ซึ่งสร้างความกังวลว่ามนุษย์จะถูก A.I. แย่งงาน

แม้ว่างานวิจัยหลายชิ้นและสื่อสารมวลชนจะชี้ไปทางเดียวกันว่า ในอนาคตกันใกล้นี้ อาชีพต่างๆ จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นผลให้คนทั่วไปเกิดความตระหนกว่าควรปรับตัวอย่างไรในยุคแรงงานมนุษย์ถูกทดแทน

ทว่าในมุมของเธอ เธอกลับมองว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อาจไม่ได้น่ากังวลอย่างที่หลายคนคิด เพราะหากเรามองย้อนไปในประวัติศาสตร์ มนุษยชาติเคยเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบอุตสาหกรรมมาหลายครั้ง ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม กระทั่งยุคเริ่มต้นของคอมพิวเตอร์  ซึ่งล้วนทำให้คนจำนวนมหาศาลต้องตกงาน ขณะเดียวกันก็เริ่มปรับเปลี่ยนตัวเองสู่งานประเภทใหม่ๆ โดยมีเครื่องยนต์กลไกต่างๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในระบบ

ทุกวันนี้ เมื่อโลกเคลื่อนมาถึงยุคดิจิทัล เธอมองว่ายังไงก็จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นแน่นอน แม้ตอนนี้จะยังมองไม่เห็นคำตอบหรือรูปแบบที่ชัดเจนก็ตาม

“แทนที่เราจะมานั่งคร่ำครวญว่างานกี่ล้านงานจะถูกแทนที่ หรืองานที่เราทำอยู่จะยังอยู่ได้อีกกี่ปี เราควรหันมามองทางออกกันดีกว่า ว่าที่ทางของมนุษย์อย่างเราๆ อยู่ตรงไหนในยุคนี้”

จากการศึกษาวิจัยของอาจารย์วรประภา เธอได้บทสรุปจากการปรับตัวขององค์กรธุรกิจต่างๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แบ่งออกเป็น 5 ข้อ ดังนี้

1. สอนทักษะใหม่ ทดแทนการไล่ออก เธอยกตัวอย่างการปรับตัวของบริษัท Amazon เมื่อช่วงเดือนกันยายน ปี 2017 ที่มีการใช้ระบบ automation มาทดแทนแรงงานคนในคลังสินค้าและโยกย้ายแรงงานกลุ่มนี้ให้ไปทำหน้าที่ใหม่ ฝึกฝนทักษะใหม่ให้เป็นผู้คุมระบบอีกที

เธอบอกว่าวิธีนี้เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจที่ภาคธุรกิจน่าจะนำไปปรับใช้ได้ แต่ขณะเดียวกันก็ตั้งข้อสังเกตว่า การฝึกฝนแรงงานให้ทำหน้าที่ใหม่ อาจใช้ไม่ได้กับทุกคน ทุกตำแหน่ง วิธีนี้จึงเป็นวิธีที่ไม่ได้ผล 100% และอาจเป็นวิธีที่เหมาะแก่การปรับตัวในระยะสั้นเท่านั้น

2. การเรียนรู้แบบไม่รู้จบ ในปัจจุบันมีเว็บไซต์ที่เปิดให้เราสามารถลงเรียนคอร์สต่างๆ แบบออนไลน์อยู่มากมาย หลายคอร์สเป็นหลักสูตรจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก อาจารย์วรประภาชี้ให้เห็นว่าทุกวันนี้มีช่องทางที่ทำให้เราเข้าถึงองค์ความรู้ระดับสูงได้อย่างง่ายดาย ที่สำคัญคือหลายคอร์สยังเปิดให้ลงทะเบียนเรียนแบบฟรีๆ

ประเด็นสำคัญที่เธอบอกว่าเป็นคุณูปการของคอร์สออนไลน์เหล่านี้ก็คือ คนที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่และคิดว่าตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี สามารถใช้ช่องทางนี้ในการเสริมความรู้ใหม่ๆ ให้ตัวเอง เพื่อให้ทำให้ตัวเองอยู่รอดได้ แต่ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือการเปิดใจว่าตัวเองสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าคุณอายุจะมากแค่ไหนก็ตาม

3. Programing คือทักษะแห่งอนาคต อาจารย์ภวิดาชี้ว่าทักษะที่จำเป็นในอนาคต คือทักษะด้าน Programing ซึ่งเปรียบเสมือน ‘ภาษา’ ของโลกอนาคต

“คุณพ่อคุณแม่เคยบอกเราตอนเด็กๆ ว่าต้องฝึกภาษาอังกฤษให้เก่ง แล้วจะอยู่รอดได้ แต่ในอนาคตภาษาที่จะทำให้เราอยู่รอดได้คือ programing เพราะแทบทุกสายงานจะมี A.I. เข้าไปเกี่ยวข้อง ถ้าคุณไม่รู้เรื่อง programing คุณจะทำงานร่วมกับระบบเหล่านี้ได้อย่างยากลำบาก”

4. Gig Economy นับเป็นรูปแบบการทำงานแบบใหม่ที่กำลังมาแรงในยุคนี้ นับรวมตั้งแต่เหล่าฟรีแลนซ์ คนทำงาน part-time ทั้งหลาย ไปจนถึงคนที่รับจ้างทำงานต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ Uber, Lineman, BeNeat (แอพฯ สำหรับเรียกใช้บริการแม่บ้านฟรีแลนซ์)

ในยุคดิจิทัลซึ่งมีการคาดการณ์กันว่า อาชีพที่ใช้ทักษะแรงงาน เช่น แม่บ้าน คนขับรถ ช่าง ฯลฯ เป็นอาชีพกลุ่มแรกๆ ที่จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ ทว่าในอีกมุมหนึ่ง การเกิดขึ้นของแอพลิเคชั่นที่กล่าวไปข้างต้น กลับเป็นทางเลือกใหม่สำหรับคนที่ทำอาชีพประเภทนี้ได้ รวมไปถึงคนที่มีงานประจำอยู่แล้วและต้องการหารายได้เสริม

กรณีนี้ยังรวมไปถึงอาชีพแปลกๆ ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับโลกโซเชียล เช่น บล็อกเกอร์รีวิวเครื่องสำอาง, แม่ค้า-พ่อค้าขายของออนไลน์ หรือกระทั่งคนที่รับจ้างเล่มเกม Pokemon GO!

5. มนุษย์กับ A.I. แบ่งงานกันทำ แม้ว่าในอนาคตจะมีแนวโน้มที่ A.I. เข้ามาทำงานแทนมนุษย์มากขึ้น แต่อาจารย์วรประภามองว่า ท้ายที่สุดแล้วมนุษย์กับ A.I. น่าจะอยู่ในภาวะที่ ‘ร่วมกันทำงาน’ มากกว่า เธอยกตัวอย่างอาชีพอาจารย์ที่เธอเป็นอยู่ อาจมีการใช้ A.I. เข้ามาเป็นผู้ช่วยในบางหน้าที่ เช่น ตรวจข้อสอบ หรือบรรยายเนื้อหา โดยมีเธอเป็นผู้วางแผนการสอน แลกเปลี่ยนและปฏิสัมพันธ์กับนักศึกษา ไปจนถึงการทำวิจัยหรือการใช้ความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ซึ่ง A.I. ยังทำไม่ได้

ฉะนั้น คำพูดที่พูดกันว่าอาชีพต่างๆ จะถูกทดแทนโดย A.I. นั้น จึงไม่ใช่คำพูดที่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะส่วนที่ A.I. จะเข้ามาแทนที่ อาจยังจำกัดอยู่เฉพาะ ‘บางหน้าที่’ เท่านั้น เหนืออื่นใดก็คือมันยังต้องอาศัยการควบคุมและป้อนคำสั่งจากมนุษย์อยู่ดี

 

ธีธัช จึงกานต์กุล

: SMEs ไทย เปรียบเหมือนกบในหม้อน้ำที่กำลังเดือด

 

ธีธัช จึงกานต์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท จาร์ตัน แอนด์ ซันส์ จำกัด ผู้ผลิตและนำเข้าอุปกรณ์ก่อสร้าง ภายใต้แบรนด์ Jarton Schlage Stanley คือตัวแทนภาคธุรกิจที่มาบอกเล่าประสบการณ์ในฐานะผู้ประกอบการ ตั้งแต่แง่มุมของการบริหารธุรกิจ ความท้าทายต่างๆ ไปจนถึงการปรับโครงสร้างองค์กรให้ตอบรับกับยุคดิจิทัล

ในฐานะผู้บริหารรุ่นลูกที่เข้ามารับช่วงกิจการต่อในยุคดิจิทัล ธีธัชบอกว่าเขาจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวทางในการทำธุรกิจพอสมควร เพื่อให้บริษัทไปต่อได้ แม้ทุกวันนี้กระแส Digital Transformation อาจยังไม่ส่งผลกระทบที่ชัดเจนต่อภาคธุรกิจโดยรวมมากนัก แต่ก็ไม่ควรชะล่าใจ

“เท่าที่ผมเคยแลกเปลี่ยนกับคนที่อยู่ในภาคธุรกิจมา หลายคนยังมองว่าเรื่องดิจิทัลยังเป็นเรื่องไกลตัวพอสมควร เพราะเขายังไม่ได้รับผลกระทบชัดเจนขนาดนั้น และเมื่อเขาไม่รู้สึกเดือดร้อนจริงๆ ก็เป็นเรื่องยากที่เขาจะลุกขึ้นมา transform ธุรกิจของตัวเอง แต่ผมกลับมองว่า สถานการณ์ของผู้ประกอบการไทยตอนนี้ คือกบที่ว่ายอยู่ในหม้อน้ำที่ค่อยๆ เดือด และไม่รู้ตัวว่ากำลังจะตาย…”

ธีธัชมองว่าโจทย์สำคัญของการทำธุรกิจในยุคนี้ คือการออกแบบองค์กรให้สอดรับกับยุคดิจิทัล โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการลงทุนด้านทรัพยากร ซึ่งแบ่งเป็นส่วนของการจ้างงาน และการจัดหาเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มผลผลิต

ในส่วนของบริษัท Jarton แม้จะดูเป็นธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบจาก Digital Transformation เท่าไหร่นัก แต่ธีธัชกลับบอกว่ายังไงก็เกี่ยว ทั้งในแง่ของเครื่องจักรใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลิต หรือแม้แต่เรื่องของการอัพเกรดผลิตภัณฑ์ให้มีความ ‘ไฮเทค’ มากขึ้นตามยุคสมัย ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาระบบเปิดปิดประตูที่ต้องการความปลอดภัยขั้นสูง ด้วยเหตุนี้ แรงงานกลุ่มใหม่ที่เขาจำเป็นต้องมองหา ก็คือแรงงานที่มีทักษะในด้าน software engineering

สำหรับ SMEs ขนาดเล็ก ธีธัชเสนอว่าวิธีหนึ่งที่น่าจะคุ้มค่า คือการลงทุนกับการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลแก่พนักงานที่มีอยู่ แทนที่จะลงทุนกับการจ้างพนักงานใหม่ เหตุผลก็คือการจ้างแรงงานในสายดิจิทัลนั้น มีต้นทุนค่อนข้างสูง และอาจต้องแบกรับความเสี่ยงจากการปรับตัวให้เข้ากับองค์กร แต่ในทางกลับกัน ถ้าเอาต้นทุนส่วนนี้ไปเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลให้กับพนักงานเดิม ไม่ว่าจะด้วยการเทรนงานใหม่ หรือส่งไปเรียนคอร์สต่างๆ น่าจะเป็นทางเลือกที่คุ้มค่า และมีความเสี่ยงน้อยกว่า สำหรับบริษัทเล็กๆ

แต่ในส่วนของบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ อาจให้ความสำคัญกับการลงทุนซื้ออุปกรณ์หรือเครื่องจักรที่ทันสมัยขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิต ควบคู่ไปกับการเลิกจ้างแรงงานในส่วนที่ไม่จำเป็น

“หัวใจสำคัญอยู่ที่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ซึ่งอาจเป็นเครื่องจักร เป็นคน หรือเป็นอะไรก็ได้ ที่สามารถตอบโจทย์ธุรกิจคุณ และเพิ่มผลผลิตให้คุณได้”

นอกจากนี้ เขายังมีข้อเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องด้วยว่า ควรจะสร้าง ‘Digital job market platform’ ขึ้นมา เพื่อให้เป็นตัวกลางสำหรับนายจ้าง-ลูกจ้าง ในสายงานที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล

“ธรรมชาติของคนทุกวันนี้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ๆ ไม่ค่อยมีใครอยากทำงานประจำกันแล้ว แต่อยากเป็นฟรีแลนซ์ อยากเป็นนายตัวเอง ฉะนั้นการตั้งแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางขึ้นมา อาจเป็นทางหนึ่งที่จะทำให้อุปสงค์กับอุปทานในการจ้างงานประเภทนี้ตรงกันมากขึ้น คนที่อยากสมัครงานก็เข้าไปกรอกว่าต้องการงานประเภทไหน ภายใต้เงื่อนไขแบบไหน ส่วนบริษัทต่างๆ ที่มองหาคนทำงาน เช่นบริษัทของผม ก็เข้ามาหาในนี้

“ที่สำคัญ แพลตฟอร์มที่ว่านี้ควรมีการกำหนดอัตราค่าจ้างหรือค่าใช้จ่ายที่เป็นมาตรฐานไว้ด้วย เพราะผมสังเกตว่าในสายงานดิจิทัล ยังมีงานอยู่หลายประเภทที่ไม่มีการกำหนดราคามาตรฐาน ซึ่งถ้ามองในมุมของคนทำธุรกิจ ถือเป็นภาวะที่น่ากลัวมาก เพราะถ้าคุณไม่รู้ว่าสิ่งได้มาจะคุ้มกับสิ่งที่จ่ายไปหรือไม่ หรือต้องกังวลว่าจะถูกหลอกไหม มันอาจเป็นปัจจัยเล็กๆ ที่ทำให้ธุรกิจของคุณหยุดชะงัก และไม่ได้ไปต่อ”

 

ธนกิจ สาโสภา

: เสียงสะท้อนจากแรงงาน

 

ในช่วงสุดท้ายของวงประชุม คุณธนกิจ สาโสภา ประธานสมาพันธ์แรงงานฮอนด้าประเทศไทย และรองประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย บอกเล่าปัญหาในมุมของแรงงาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งถือเป็นภาคการผลิตขนาดใหญ่ของประเทศ

“ทุกวันนี้ สถานประกอบการมีอยู่ประมาณ 400,000 แห่ง แต่มีสหภาพแรงงานอยู่แค่ประมาณ 1,300 แห่ง และไม่ใช่ทุกแห่งที่เข้มแข็งหรือทำงานได้จริง ปัญหาที่ตามมาก็คือ ผู้ใช้แรงงานจะไม่มีคนที่ช่วยเป็นหูเป็นตา ทำให้พวกเขาไม่สามารถสะท้อนปัญหาไปยังรัฐบาลได้”

ธนกิจเริ่มต้นด้วยการชี้ไปที่หัวใจของปัญหา จากประสบการณ์ตรงของตัวเอง การทำงานในสหภาพแรงงานฮอนด้า เรื่อยมาจนถึงการเป็นประธานสมาพันธ์ฯ นี่คือปัญหาใหญ่ที่ผลักดันให้เขามุ่งมั่นทำงาน เพื่อเป็นหูเป็นตา เป็นปากเป็นเสียง ให้กับแรงงานที่ประสบปัญหาต่างๆ

“สิ่งที่ลูกจ้างกลัวที่สุด และต้องการมากที่สุด คือความมั่นคงในการทำงาน วันนี้คุณได้รับรางวัลพนักงานดีเด่น แต่วันรุ่งขึ้นนายจ้างก็ไล่คุณออกได้ ไม่มีอะไรแน่นอน” เขาเล่าย้อนไปถึงช่วงที่ก่อตั้งสมาพันธ์ขึ้นมา เมื่อราวๆ 7 ปีก่อน เพราะเห็นบทเรียนจากในอดีตว่าลูกจ้างจำนวนมาก แทบไม่มีช่องทางในการสะท้อนปัญหา หรือเรียกร้องความเป็นธรรม โดยเฉพาะในกรณีที่ถูกเลิกจ้างอย่างกะทันหัน

ทั้งนี้ หากมองย้อนไปในอดีต ภาวะการเลิกจ้างครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประเทศต้องเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ ทว่าในยุคสมัยนี้ นอกจากภาวะเศรษฐกิจแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลสูงก็คือการเข้ามาแทนที่ของเทคโนโลยี

“คำถามคือ อะไรจะเป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันความมั่นคงในการทำงานของลูกจ้าง เพราะแม้กระทั่งบทบัญญัติในกฎหมาย ก็ยังระบุไว้ว่านายจ้างสามารถบอกเลิกจ้างเมื่อไหร่ก็ได้ เพียงแค่จ่ายค่าชดเชย” (มาตรา 118 และ 119 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541)

อุตสาหกรรมรถยนต์ในปัจจุบัน มีงานหลายประเภทที่เริ่มใช้เครื่องกลแทนมนุษย์ เช่น การประกอบชิ้นส่วนเครื่องยนต์ หรือการพ่นสี ซึ่งถือว่าเป็นผลดีต่อบริษัทในแง่ที่ทำให้ได้ผลผลิตที่รวดเร็วและแม่นยำขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นผลดีต่อลูกจ้างเองด้วย ที่ไม่ต้องเสี่ยงกับการทำงานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

“ถ้าเป็นกรณีแบบนี้ เราต้องปล่อย เพราะแง่หนึ่งเราก็ต้องคำนึงถึงสวัสดิภาพของแรงงานด้วย ดีกว่ายื้อให้เขาทำต่อแล้ววันหนึ่งเขาต้องเจ็บป่วย ขณะเดียวกันเราก็ต้องหาทางให้เขาได้ทำงานในแผนกที่ดีขึ้น สบายขึ้น สุดท้ายแล้วผมยังเชื่อว่า บรรดาเครื่องไม้เครื่องมือสมัยใหม่ ควรเป็นส่วนที่เข้ามาเสริมให้มนุษย์ทำงานได้สะดวกสบายขึ้น ไม่ใช่มาทำอันตราย หรือมาทำให้เราตกงานด้วยซ้ำ”

แม้สถานการณ์ตอนนี้จะยังไม่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่ แต่ธนกิจบอกว่าอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า เมื่อรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มเป็นที่แพร่หลาย และเข้าสู่ไลน์การผลิตแบบเต็มตัว จะส่งผลให้คนตกงานอีกจำนวนมาก เพราะรถยนต์ไฟฟ้าจะประกอบด้วยชิ้นส่วนที่น้อยลงกว่าเดิมมาก ส่งผลให้ supplier จำนวนมากต้องยุติการผลิตและเลิกจ้างแรงงานในสังกัด

ประเด็นที่น่าคิดต่อคือ ภาครัฐได้เตรียมแผนหรือมาตรการรองรับปัญหาเหล่านี้ไว้มากน้อยแค่ไหน ภายใต้การป่าวประกาศนโยบาย Thailand 4.0

“สำหรับผม ยุคนี้แทบไม่ต่างจากยุค 1.0 ที่มีการประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ พ.ศ. 2504 คุณเคยได้ยินเพลง ‘ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม…’ ไหมครับ ทั้งผู้นำ ผู้ตาม ไม่มีความรู้เลย รัฐบาลไม่ได้เตรียมการ ไม่ให้ความรู้ประชาชนก่อนเลย ว่าต้องรับมือกับเทคโนโลยีอย่างไร คำว่าดิจิทัล คำว่า 4.0 ประชาชนยังเข้าไม่ถึง ระบบการศึกษาก็ยังไม่สอดรับ ซึ่งต่างจากที่ญี่ปุ่นมาก เพราะเขาเริ่มพูดถึงเรื่องนี้และเตรียมการรับมืออย่างเป็นระบบไว้ตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว…”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018