fbpx
รถยนต์ไฟฟ้า-แบตเตอรี่-การแข่งขัน

รถยนต์ไฟฟ้า-แบตเตอรี่-การแข่งขัน

วรากรณ์ สามโกเศศ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ใครที่กำลังคิดจะซื้อรถยนต์ที่ใช้น้ำมันหรือก๊าซคงต้องไตร่ตรองสักหน่อย  เพราะเทคโนโลยีหลากหลายที่ขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงโลกอย่างเร่งด่วนอยู่ในขณะนี้ ชี้ไปในทิศทางว่ารถยนต์ไฟฟ้ากำลังมาแรง และส่วนประกอบสำคัญก็คือแบตเตอรี่ จนก่อให้เกิดศึกใหญ่เพื่อแย่งชิงการครองตลาดโลก

รถยนต์ส่วนใหญ่ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันใช้น้ำมันเบนซิน ดีเซล และก๊าซเป็นตัวขับเคลื่อน เป็นเช่นนี้มานานถึง 130 ปี ถึงแม้จะมีความพยายามใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงานนับตั้งแต่ ค.ศ.1832 และพัฒนาเรื่อยมาจนถึง ค.ศ.1912 (Thomas Edison พยายามพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ในปี ค.ศ.1901) แต่ก็ต้องหยุดลง เพราะมีการค้นพบบ่อน้ำมันใหญ่ในรัฐเท็กซัส เกิดพลังงานราคาถูกจนทำให้คนเลิกสนใจรถยนต์ไฟฟ้าเกือบสิ้นเชิง

ที่ผ่านมามีการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (EV – Electric Vehicle) กันประปราย ท่ามกลางปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการเผาไหม้น้ำมันและก๊าซ ความสนใจเกิดขึ้นจริงจังในต้นทศวรรษ 1990 เมื่อ GM และ Toyota ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมาจริงจังในปี 1996 และ 1997 ส่วนที่เป็นข่าวดังในเวลาต่อมา ก็คือ Tesla ที่เปิดตัวในปี 2008 บริษัทรถยนต์ทุกทวีปเคลื่อนไหวกันครั้งใหญ่และฮือฮากันทั่วโลก เพราะมันสามารถวิ่งได้ไกลด้วยความเร็วเหมือนรถปกติ ค่าโสหุ้ยต่อวันต่ำ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สิ่งที่เป็นจุดอ่อนคือราคาเท่านั้น

ปัจจุบัน EV มีหลายประเภทดังนี้  (ก) hybrid คือเครื่องยนต์จะสลับใช้น้ำมันกับไฟฟ้าที่มาจากแบตเตอรี่ โดยการวิ่งคือการชาร์จไฟฟ้าเข้าแบตเตอรี่  (ข) plug-in คือการชาร์จไฟฟ้าจากบ้านหรือจุดสนับสนุนเข้าแบตเตอรี่เพื่อเก็บไฟฟ้าไว้ใช้ บางคันก็สลับกับการใช้น้ำมันด้วยในยามที่ไฟฟ้าหมดไปจากที่ชาร์จไว้  (ค) ใช้ hydrogen เป็นพลังงาน โดยเติมในถังของรถ เมื่อทำปฏิกิริยาทางเคมีกับออกซิเจนก็เกิดความร้อนและเปลี่ยนเป็นพลังงาน ญี่ปุ่นคือเจ้าของเทคโนโลยีซึ่งจะเปิดตัวจริงจังในปี 2020 ที่จัดกีฬาโอลิมปิก

เทคโนโลยีปัจจุบันทำให้ EV ประเภท plug-in วิ่งได้ไกลต่อการชาร์จไฟฟ้าหนึ่งครั้ง โดยวิ่งได้ไกลสุดถึง 539 กิโลเมตร และต่ำสุด 95 กิโลเมตร แตกต่างกันตามคุณภาพของแบตเตอรี่และเครื่องยนต์ ตัวเลขสูงสุดเป็นของ Tesla ที่กำลังเร่งผลิตตามคำสั่งซื้อที่ค้างอยู่ 500,000 คันอย่างทุลักทุเล เพราะมีปัญหาเรื่องกำลังผลิต จนเชื่อว่า CEO คือ Elon Musk อาจหลุดจากตำแหน่ง

EV ที่ขายดีที่สุดในโลก วิ่งได้ไกล 172 กิโลเมตร คือ Nissan รุ่น Leaf ขณะที่รุ่นอื่นๆ ที่ผลิตโดยนับสิบๆ บริษัท เฉลี่ยวิ่งได้ไกลกว่า 170 กิโลเมตร ขึ้นไปทั้งสิ้น

สิ่งที่ทำให้ EV เกิดความนิยมอย่างมาก ก็คือราคาแบตเตอรี่ที่ลดลงเป็นลำดับ ผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ความสามารถในการวิ่งได้ไกล นโยบายของภาครัฐประเทศต่างๆ รสนิยมของผู้บริโภค ฯลฯ อังกฤษและฝรั่งเศสประกาศว่าจะเลิกผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันและก๊าซก่อนปี 2040  อินเดียระบุอย่างท้าทายว่าจะผลิตเฉพาะ EV ก่อนปี 2030 หลายบริษัทรถยนต์ประกาศว่าทุกรุ่นที่ผลิตออกมา จะมีพลังงานไฟฟ้าร่วมอยู่ด้วยในการขับเคลื่อน

ที่น่าสนใจก็คือการแทรกแซงของรัฐบาลจีนในการส่งเสริมการผลิต EV ของจีนเอง และของบริษัทต่างชาติที่ผลิตในจีน ผ่านการใช้แต้มนับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นไป กล่าวคือจะได้แต้มหากผลิต EV มากกว่าเป้าหมายการผลิตที่ให้ไว้ รถวิ่งได้ไกลต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้ง ลักษณะของการเป็น EV เช่น plug-in, hybrid ฯลฯ

ตัวเลขพยากรณ์จากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้ คือจากจำนวน EV ทั่วโลกในปัจจุบันกว่า 2 ล้านคัน จะเพิ่มเป็น 40-70 ล้านคัน ในปี 2025 และเพิ่มเป็น 200 ล้านคัน ในปี 2030

ในปี 2040 ประมาณ 1 ใน 3 ของยอดขายรถยนต์ทั่วโลกจะเป็น EV ในยุโรปและสหรัฐอเมริกาจะเป็น 1 ใน 2 ส่วนจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย ตัวเลขจะลดหลั่นลงมาบ้างเล็กน้อย

ตัวเลขที่น่าตกใจเหล่านี้จะเป็นจริงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี ลักษณะของการเป็นเจ้าตลาดโลก และราคาของแบตเตอรี่สำหรับ EV

เรื่องต่อไปนี้จะชี้ให้เห็นว่าใครเป็นเจ้าโลกในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับ EV อนาคตของ EV จะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น แบตเตอรี่เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะหากไม่มีแบตเตอรี่ก็ไม่มี EV อย่างแน่นอน

รัฐบาลจีนมุ่งมั่นมายาวนานเกือบ 30 ปี ว่าจะต้องเป็นยักษ์ใหญ่ของการผลิตแบตเตอรี่สำหรับ EV เพราะเห็นพัฒนาการของ EV และแบตเตอรี่ซึ่งญี่ปุ่นเป็นผู้นำ อีกทั้งตระหนักดีว่าจีนจะเป็นตลาดใหญ่ของ EV ในอนาคต และต้องการเป็นผู้เล่นระดับโลกในการผลิต EV อีกด้วย

ในยุคแรกญี่ปุ่นเป็นผู้นำเรื่องพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับ EV คู่ไปกับเกาหลี แต่ปัจจุบันจีนกำลังมาแรง ในขณะที่ยุโรปก็เพิ่งตื่นตัว ส่วนสหรัฐอเมริกานั้นยังอยู่ห่างออกไป

เชื่อกันว่าก่อนปี 2021 จีนจะมีส่วนแบ่งในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับ EV ในโลก ประมาณร้อยละ 70 โดยยอดขายแบตเตอรี่ในโลกจะพุ่งสูงขึ้นจาก 10,000 ล้านเหรียญในปัจจุบันเป็น 60,000 ล้านเหรียญ ก่อนปี 2030

เทคโนโลยีของแบตเตอรี่ในโลกที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันก็คือ lithium-ion โดยใช้กันทั้งในโทรศัพท์มือถือ แล็บท็อป แบตเตอรี่สำหรับรถยนต์และการใช้งานอุตสาหกรรม การครอบงำของจีนในโลกผ่านการเป็นยักษ์ใหญ่ในการผลิตแบตเตอรี่เช่นนี้ ทำให้หลายประเทศหวั่นไหว เร่งรัดวิจัยผลิตแบตเตอรี่ที่อยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีใหม่

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่กำลังพยายามกลับมาเป็นผู้นำอีกครั้ง โดยมี Toyota ซึ่งมีประสบการณ์ยาวนานเป็นหัวหอกวิจัยเทคโนโลยีที่เรียกว่า solid-state battery ซึ่งรู้จักกันมานาน เทคโนโลยีนี้ไม่ใช้สารเหลวร่วมอีกต่อไป หากใช้ประโยชน์จากวงจรไฟฟ้าเล็กๆ ร่วมกันเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้า การแข่งขันในเทคโนโลยีนี้เข้มข้นมากในระดับโลก เพราะมีศักยภาพสูงในการผลิตพลังงานไฟฟ้า อีกทั้งยังเสถียรและมีโอกาสเกิดการไหม้ต่ำอีกด้วย  ประการสำคัญคือทำให้ EV วิ่งได้ไกลขึ้นอีกมาก (ไปได้ไกลถึง 700-800 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง) และทำให้ราคาของแบตเตอรี่ถูกลงได้มาก ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีการทดลองใช้จริงแล้ว แต่คาดว่าจะไม่มีการใช้อย่างกว้างขวางในเชิงการค้าก่อนปี 2030

ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยทำให้ผู้คนหันไปใช้ EV ก็คือราคาของแบตเตอรี่ และถ้าจะลงลึกไปในใจ ก็คือเมื่อสรุปทั้งหมดแล้วมันแพงกว่ารถที่ใช้น้ำมันปกติ เมื่อคำนึงถึงราคาขายและค่าโสหุ้ยวันต่อวันหรือไม่

ในปี 2007 ต้นทุนของแบตเตอรี่ lithium-ion ตกประมาณ 1,300 เหรียญต่อหนึ่ง kWh (kilowatt hour คือหน่วยวัดปริมาณพลังงานไฟฟ้า เวลาที่เราจ่ายค่าไฟฟ้า จะใช้หน่วยนี้ในการคิดเงิน) และลดลงเป็นลำดับจนถึง 500 เหรียญ ในปี 2012 / 300เหรียญในปี 2015 / 145 เหรียญ ในปี 2017 และคาดว่า จะเหลือ 125 เหรียญ ในปี 2020 หรือ 100 เหรียญ ก่อนปี 2021 ทั้งหมดเป็นผลพวงจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีของ lithium-ion ทั้งหมด

ในปัจจุบัน EV มีราคาขายสูงกว่ารถใช้น้ำมัน แต่ถูกกว่ามากสำหรับค่าโสหุ้ยต่างๆ ในการใช้ งานวิจัยในปี 2017 พบว่า EV กับรถใช้น้ำมัน จะมีต้นทุนเฉลี่ยต่อกิโลเมตรเมื่อคำนึงถึงทุกอย่างแล้วใกล้เคียงกัน เมื่อแบตเตอรี่ของ EV มีราคาประมาณ 100 เหรียญต่อหนึ่ง kWh

เพื่อให้เห็นภาพ ขอยกตัวอย่างตัวเลขของต้นทุนรถยนต์กับราคาแบตเตอรี่ในรูปของ kWh ดังนี้

ในปี 2010 รถ Nissan Leaf มีต้นทุนแบตเตอรี่ทั้งชุดอยู่ที่ 18,000 เหรียญ (600,000 บาท) ดังนั้นจึงตก 750 เหรียญต่อหนึ่ง kWh ถ้าสามารถลดลงไปได้ถึง 100 เหรียญ ก็หมายความว่าราคาแบตเตอรี่จะลดลงอีกมาก จนสามารถแข่งกับรถใช้น้ำมันได้อย่างสบาย ซึ่งปัจจุบันก็เข้าไปใกล้ระดับต่ำกว่า 145 เหรียญต่อหนึ่ง kWh แล้ว

การสามารถเป็นเจ้าโลก EV  ขึ้นอยู่กับความสามารถในการผลิตแบตเตอรี่ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อลดต้นทุน ตลอดจนบทบาทของภาครัฐในการให้เงินอุดหนุนวิจัย ให้เงินอุดหนุนเพื่อจูงใจในการผลิตและการใช้ (รัฐบาลจีนสนับสนุนเรื่องเหล่สนี้นี้รุนแรงมาก)

เมื่อ “ช้างสารชนกันหญ้าแพรกก็แหลกราญ” อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ชนิดใช้น้ำมันซึ่งมีขนาดใหญ่มากในเศรษฐกิจไทย อยู่ในภาวะต้องรีบปรับตัว เพราะ EV มาแรงมากในโลก ถึงแม้อาจเชื่อว่าบริษัทแม่อย่างญี่ปุ่นจะไม่นำ EV เข้ามาเพื่อ “ฆ่าลูก” แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าจีนและยุโรปก็กำลังผลิต EV ออกขาย และความนิยม EV ของผู้บริโภคก็กระจายสู่ทุกภูมิภาคของโลกเช่นกัน

ถ้าเราทำให้ Disruptive Technology นี้กลายเป็น Disruptive Opportunity ด้วยการวางแผนและเปลี่ยนแปลงปรับตัวอย่างเป็นขั้นตอน ก็จะก่อให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ขึ้นมาได้ในหลายลักษณะ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save