fbpx

อนาคตมานุษยวิทยา-มานุษยวิทยาอนาคต: มองก้าวต่อไป โลกใหม่ ‘มานุษยวิทยา’

คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า ห้วงเวลาที่เรากำลังดำรงอยู่ ณ ตอนนี้ เป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่สั่นคลอนและท้าทายความเป็นมนุษย์มากที่สุดช่วงหนึ่ง

มองไปในอนาคต โลกเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและพร้อมจะสั่นคลอนตลอดเวลา ความเป็นมนุษย์ถูกตั้งคำถาม และมานุษยวิทยาอาจเป็นหนึ่งในศาสตร์แห่งความหวังในโลกใหม่

101 ร่วมกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ชวนเปิดขอบฟ้ามานุษยวิทยาไปสู่อนาคตกับ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร รศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.ดร.จักรกริช สังขมณี ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ ภาควิชาสื่อศิลปะ และการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

มานุษยวิทยาที่ขึ้นชื่อว่ามีศักยภาพโดดเด่นในการใช้วาดภาพความเป็นมนุษย์อันหลากหลาย จะสามารถวาดภาพอนาคตของสังคมได้หรือไม่ และอนาคตของมานุษยวิทยาจะสรรค์สร้างได้อย่างไรโดยที่ยังมีคุณค่าและความหมายในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

บางครั้งคำตอบอาจซ่อนอยู่ในศาสตร์มานุษยวิทยาอยู่แล้ว เพียงแค่ต้องตั้งคำถาม

หมายเหตุ: เก็บความจาก 101 (mid)night round: อนาคตมานุษยวิทยา-มานุษยวิทยาอนาคต เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2564

มานุษยวิทยาอนาคต: หนทางแห่งการเปิดขอบฟ้าอนาคตมานุษยวิทยา – โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

ในสายตาของโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ สิ่งที่มานุษยวิทยาเผยให้เห็นเด่นชัดขึ้นในสถานการณ์การระบาดของโควิดมีอยู่ 4 ประการ

ประการแรก การดูแลเอาใจใส่ (care) ซึ่งยุคสมัยได้เปลี่ยนมุมมองและธรรมชาติของการดูแลเอาใจใส่จากการที่กระบวนการดูแลเอาใจใส่มีเพียงแค่มนุษย์เท่านั้นที่กระทำได้และเทคโนโลยีคือสิ่งที่ทลายการดูแลที่ดี ไปสู่การสลายความเชื่อมโยงระหว่างเทคโนโลยีและกระบวนการลดทอนความเป็นมนุษย์

ประการที่สอง ความไว้เนื้อเชื่อใจ (trust) ซึ่งย่อมมาพร้อมกับความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ (distrust)

ประการที่สาม อคติ (prejudice) ที่มาพร้อมกับความรังเกียจเดียดฉันท์และการเลือกปฏิบัติ

และประการที่สี่ ความหวัง (hope) ซึ่งกำลังทวีความสำคัญอย่างยิ่งในเวลาที่สังคมตกอยู่ในภาวะวิกฤต เพราะความหวังคือ ‘อนาคต’ ที่ทำงานอยู่ในห้วงเวลาปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังอันหลากหลายของสังคมที่ต้องการก้าวไปข้างหน้า การผูกขาดความหวัง หรือการให้ความหวังลมๆ แล้งๆ ต่อสังคม โดยโกมาตรมองว่าความหวังเกี่ยวพันกับ ‘มานุษยวิทยาอนาคต’ เป็นอย่างมาก

“เวลาที่เรามีความหวัง หมายความว่าเรากำลังมีภาพบางอย่างที่มองและฉายไปในอนาคต แต่ความหวังที่ว่านั้นเกิดขึ้น ณ ช่วงเวลาปัจจุบันที่เรากำลังมีชีวิตอยู่

“ในแง่หนึ่ง ความหวังกลายเป็นวิธีมองโลกแบบหนึ่งที่ทำให้กลับมามองและตั้งคำถามว่ามานุษยวิทยาจะเข้าไปเกี่ยวพันกับอนาคตได้อย่างไร หรือจะสร้าง speculative anthropology หรือ anthropology of the future ได้อย่างไร”

อย่างไรก็ตาม โกมาตรตั้งข้อสังเกตว่า ‘มานุษยวิทยาอนาคต’ ยังคงเป็นพื้นที่ที่แวดวงมานุษยวิทยายังลงมือสำรวจได้ไม่มากนัก เพราะการสังเกต-วิเคราะห์-สกัดคำอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ของนักมานุษยวิทยายังคงสัมพันธ์กับเวลาในอดีตและปัจจุบันมากกว่าที่จะสร้างข้อเสนอต่อไปยังอนาคต อย่างที่ระบุไว้ในหนังสือชื่อ Time and the Other ว่า งานเชิงมานุษยวิทยาเชื่อมโยงมิติเวลาจากอดีตมาสู่ปัจจุบันผ่านการจับสังคมท้องถิ่นหรือสังคมพื้นเมืองที่ลงไปศึกษาให้สัมพันธ์กับอดีตและเขียนเรื่องเล่าเหล่านั้นขึ้นมาในปัจุบัน ซึ่งนำไปสู่การสร้างความเป็นอื่นให้แก่สังคมท้องถิ่นและสถาปนาอำนาจของผู้เขียนและสังคมตะวันตก

“ในสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญกันอยู่ตอนนี้ นักมานุษยวิทยาน่าจะตั้งคำถามให้มากขึ้นว่า หากใช้มุมมองทางมานุษยวิทยามองสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน แล้วเราจะมีทางออกหรือจะทำอะไรกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นได้บ้าง” โกมาตรทดลองตั้งโจทย์ความท้าทายของ ‘มานุษยวิทยาอนาคต’ ที่ต้องทดลองแสวงหามุมมองใหม่ๆ ในการอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคม

ก่อนจะก้าวไปสู่อนาคต อนาคตของมานุษยวิทยายังคงต้องเผชิญต่อความท้าทายอีกหลายประการ

หนึ่งในจุดแข็งของมานุษยวิทยาคือการตรวจสอบอคติที่แฝงอยู่ในความรู้ วิธีการและเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา เพราะฉะนั้นการหมั่นตรวจสอบอคติคือจุดตั้งต้นสำคัญที่โกมาตรมองว่าจะช่วยให้มานุษยวิทยาเดินต่อไปในอนาคตได้ เพราะหากละเลยการตรวจสอบอคติ องค์ความรู้ที่ได้มาอาจเป็นเพียงการผลิตซ้ำความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมซึ่งส่งผ่านมาจากลัทธิจักรวรรดินิยม ซึ่งเป็นอำนาจที่องค์ความรู้มานุษยวิทยาเคยรับใช้ จนมานุษยวิทยาไม่สามารถขยายขอบฟ้าในการแสวงหาความรู้ได้

“อย่างกรณีที่ใช้วิธีการศึกษาแบบ soundscape เปิดให้เห็นชัดเจนว่าความรู้ที่ผลิตสร้างขึ้นมานั้นอาศัยผัสสะที่มากกว่าแค่การสังเกตด้วยสายตา การถ่ายรูป การสัมภาษณ์หรือบทสนทนาเท่านั้น เพราะโลกประสบการณ์ของผู้คนไม่ได้มีแต่สิ่งเหล่านี้เท่านั้น แต่ยังมีสรรพเสียงที่ดังอยู่ในโลกของเสียง อาจจะเป็นเสียงมอเตอร์ไซค์ที่วัยรุ่นขับ เสียงคนเลี้ยงช้างที่พาช้างกลับมาจากหมู่บ้าน หรือแม้แต่เสียงการประท้วงของคนเสื้อแดงที่ไม่ถูกควบคุมด้วยโครงสร้างที่มองเห็นด้วยสายตา” โกมาตรยกตัวอย่างความพยายามสลายอคติที่แฝงอยู่ในการใช้เครื่องมือแบบมานุษยวิทยา

ไม่เพียงแค่การตรวจสอบอคติเท่านั้น แต่การพามานุษยวิทยาไปสู่อนาคตยังต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ในการหาทางออกแบบวิธีวิทยาหรือวิธีการผลิตองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ไปไกลกว่าการสังเกตแบบมีส่วนร่วม (participatory observation) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมานุษยวิทยาต้องขยายปริมณฑลความรู้ในการทำงานร่วมกับศาสตร์อื่นๆ หรือสิ่งอื่นรอบตัวมนุษย์ อย่างการใช้เครื่องมือแบบมานุษยวิทยาไปทำงานร่วมกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ โกมาตรเล่าว่าไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะศึกษาปรากฏการณ์เชื้อดื้อยาปฏิชีวนะในฟาร์มส้มด้วยการลงไปฝังตัวอยู่ในไร่ส้มเป็นเวลานานๆ ได้ แต่ต้องใช้วิธีที่เรียก following method ติดตามไร่ส้มไปทั่วประเทศ หรือบางครั้งภาคสนามที่รอให้นักมานุษยวิทยาลงไปค้นหาข้อมูลอาจไม่จำเป็นต้องเป็นชุมชนห่างไกลอย่างเดียวเท่านั้น แต่อาจเป็นห้องสมุดอย่างที่ Claude Lévi-Strauss ใช้บันทึกและข้อมูลในห้องสมุดในการผลิตความรู้แบบมานุษยวิทยา

สำหรับโกมาตร ภาพอนาคตที่มานุษยวิทยาไทยควรก้าวไปให้ถึงคือ มานุษยวิทยาที่มีความหมายต่อสาธารณะ โดยเฉพาะต้องทำให้องค์ความรู้มานุษยวิทยากลายเป็นปฏิบัติการทางสังคม โดยการนำความสามารถในการสังเกตและเข้าใจความเป็นมนุษย์ของมานุษยวิทยาเข้ามาช่วยในการจินตนาการและออกแบบสถาบันบางอย่างที่พาสังคมไปสู่อนาคตได้

“หากจะสร้างอนาคตของมานุษยวิทยาให้มีความหมาย นักมานุษยวิทยาต้องลงไปเกี่ยวพันกับหลากหลายปริมณฑล ต้องลงไปทำงานหลากหลายพื้นที่ หลากหลายศาสตร์ ต้องฝึกให้นักมานุษยวิทยามีทักษะ ออกแบบโครงสร้างสถาบันทางการเมืองที่ก้าวตามทันความเปลี่ยนแปลงของสังคม สร้างความเป็นประชาธิปไตยที่มากยิ่งขึ้น หรือไปทำงานกับภาคธุรกิจโดยใช้ประโยชน์จากความรู้มานุษยวิทยาในการเกื้อกูลการออกแบบระบบบริการ ออกแบบสินค้า ระบบงาน หรือสถาบันต่างๆ ให้คนทำงานอย่างมีศักดิ์ศรี ออกแบบนโยบายสาธารณะ ออกแบบวัตถุสิ่งของ หรือช่วยให้ศาสตร์อื่นมองโลกต่างไปจากเดิม

“นี่คือโลกที่เราฝันถึง แต่จะขับเคลื่อนอย่างไร คนในแวดวงมานุษยวิทยาก็ต้องลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ” โกมาตรทิ้งท้าย

มานุษยวิทยา + ความเป็นอื่น = สมการการออกแบบอนาคต – เก่งกิจ กิตติเรียงลาภ

เมื่อหัวใจสำคัญของมานุษยวิทยาคือการศึกษา ‘ความเป็นอื่น’ หรือ ‘สิ่งที่ไม่คุ้นเคย’ ในฐานะผู้สนใจศาสตร์มานุษยวิทยา เก่งกิจ กิตติเรียงลาภ เห็นว่าการเมืองไทยกำลังเผชิญต่อ ‘ความเป็นอื่น’ ครั้งใหญ่ในทุกอณูของความสัมพันธ์ในสังคม และเมื่อมีความต่างมากเกินกว่าที่ทั่วทั้งสังคมจะยอมรับได้ ความเป็นอื่นย่อมปะทุออกมาในรูปแบบของการถกเถียงกันระหว่างฝ่ายผู้ต่อต้านและผู้สนับสนุนรัฐบาลในแพลตฟอร์มออนไลน์ การปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนบนท้องถนน หรือกระทั่งการถกเถียงว่าด้วยชุดองค์ความรู้ทางการแพทย์ในการจัดการการระบาดของโควิดระหว่างแพทย์ที่อยู่ในอำนาจและภาคประชาชน

“สังคมกำลังอยู่ในสภาวะที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ความไม่ลงรอย ความอีหลักอีเหลื่อ ซึ่งการเมืองก็เป็นปริมณฑลหนึ่งที่เต็มไปด้วยความไม่ลงรอย ความอีหลักอีเหลื่อหรือความเป็นอื่นเหล่านี้

“หากพูดอย่างถึงที่สุด ตอนนี้เรากำลังเผชิญหน้ากับความเป็นอื่นที่กระทบกับคนทุกคน เพราะการเมืองคือสิ่งที่กระทบกับคนทุกคนในสังคม”

อย่างไรก็ตาม เก่งกิจไม่ได้มองว่าความเป็นอื่นหรือความไม่ลงรอยคือภัยหรืออุปสรรคที่ขัดขวางไม่ให้สังคมก้าวต่อไปข้างหน้า ในทางกลับกัน นอกจากจะเป็นสัญญาณว่าโครงสร้างและสถาบันทางการเมืองไม่ตอบโจทย์แห่งยุคสมัยอีกต่อไปแล้ว สิ่งเหล่านี้ยังเป็นทรัพยากรชั้นเลิศในการคิดและจินตนาการหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการออกแบบสังคมเพื่อพาสังคมก้าวไปสู่อนาคต และที่สำคัญ มานุษยวิทยาก็คือเครื่องมือในการเผชิญความเป็นอื่นและเครื่องมือในการคิดที่ให้ความหวังแก่สังคมได้เป็นอย่างดีในฐานะศาสตร์ที่ลงไปหาความรู้เกี่ยวกับการจัดสัมพันธ์ทางสังคมอันหลากหลายจากสังคมอื่นที่มีกลไกสถาบันสังคมต่างออกไป

“ศาสตร์มานุษยวิทยาให้ความหวังกับเรามาก เพราะมานุษยวิทยาทำให้เราเห็นว่าความเป็นไปได้ที่เราจะเรียนรู้วิธีการอยู่ร่วมกับความเป็นอื่นและความแตกต่างทางการเมืองจากสังคมอื่นหรือทรัพยากรที่อยู่ในสังคมเราแต่มักไม่ถูกกล่าวถึง

“ผมคิดว่าโลกมีทรัพยากรที่ข้ามพ้นเวลาจำนวนมหาศาลที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการทดลองคิดว่าเราจะอยู่ร่วมกับความเป็นอื่นหรือความขัดแย้งอย่างไร หรือเราจะออกแบบสังคมการเมืองให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างไรบ้าง” เก่งกิจกล่าว

ในเมื่อการเมืองประชาธิปไตยไม่ใช่เพียงแค่การจัดความสัมพันธ์ของสถาบันทางการเมืองในระดับรัฐ การเลือกตั้ง พรรคการเมืองหรือรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงความสัมพันธ์ในระดับชีวิตประจำวันด้วย  เก่งกิจมองว่าการหาทางออกแบบสังคมการเมืองใหม่ให้สลายความตึงแย้งในสังคมได้นั้นจึงสามารถมองให้พ้นไปจากการจัดสถาบันทางการเมืองระดับรัฐและเรียนรู้จากระบบครอบครัวหรือเครือญาติในสังคมอื่นด้วยเลนส์มานุษยวิทยาได้

ในสายตาของเก่งกิจ เมื่อมองลงไปในความไม่ลงรอยของการเมืองไทยท่ามกลางความไร้ประสิทธิภาพในการจัดการโรคระบาดของรัฐ การเกิดขึ้นของ ‘กลุ่มคนดูแลกันเอง’ – กลุ่มที่ภาคประชาชนตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือแคมป์คนงานที่ไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจากรัฐในช่วงล็อกดาวน์นับว่าเป็นตัวอย่างที่ฉายให้เห็นความหวังและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการออกแบบสังคมการเมืองใหม่ในอนาคต

“เมื่อมองจากมุมมองของออกแบบสถาบัน เราสามารถเรียนรู้ได้ว่าทำไมกลุ่มเหล่านี้สามารถดูแลแคมป์คนงานได้มากถึง 850 แคมป์ หรือเขาจัดการสังคมต่างออกไปจากที่รัฐจัดการจนสร้างความเป็นส่วนรวมร่วมกันของผู้คนแบบแนวระนาบ (horizontal) ได้อย่างไร

“ที่น่าสนใจคือ บ่อยครั้งกลุ่มคนดูแลกันเองก็ตั้งคำถามเหมือนกันว่าในเมื่อรัฐไม่สามารถดูแลประชาชนได้ แล้วเรายังจำเป็นต้องมีรัฐหรือไม่

“เมื่อภาคประชาชนช่วยเหลือกันเองในวิกฤต สุดท้ายคำถามที่เกิดขึ้นมาไม่ใช่คำถามที่ว่าเราจะช่วยเหลือคนได้ดีขึ้นได้อย่างไร แต่กลับเป็นคำถามทางการเมืองที่ไปไกลกว่านั้นคือ รัฐมีหน้าที่อย่างไรกันแน่ และสังคมยังจำเป็นต้องมีรัฐหรือไม่ ซึ่งหากคำตอบออกมาว่าสังคมยังจำเป็นต้องมีรัฐ ก็นำไปสู่คำถามต่อไปว่า แล้วต้องออกแบบรัฐอย่างไรให้ตอบโจทย์สังคมมากขึ้น” เก่งกิจตั้งข้อสังเกตต่อความเป็นไปได้ในการเกิดสังคม ‘ไร้รัฐ’ ในอนาคต

มานุษยวิทยามีศักยภาพในการฉายภาพอนาคต แต่อีกคำถามสำคัญที่รออยู่ในอนาคตเช่นกันคือ อนาคตของมานุษยวิทยาจะเป็นเช่นไร

“ผมคิดว่ามานุษยวิทยามีความสามารถและศักยภาพในการนำเสนอวิถีการอยู่อาศัยร่วมกับคนอื่นหรือสิ่งอื่นในโลก” สำหรับเก่งกิจ มานุษยวิทยาเป็นศาสตร์ที่มีอนาคตที่สดใสรออยู่ เพราะมีจุดแข็งที่เป็นคุณต่อการจินตนาการให้สังคมไปสู่อนาคต

เก่งกิจแบ่งศักยภาพของมานุษยวิทยาในการสรรค์สร้างกระบวนการในการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และสิ่งอื่นๆ ในโลกออกเป็น 5 มิติด้วยกันคือ

หนึ่ง การออกแบบสถาบันการเมืองและสถาบันสังคม ซึ่งเก่งกิจมองว่ามานุษยวิทยาไทยมีศักยภาพที่จะคิดและเสนอการจัดความสัมพันธ์ระหว่ามนุษย์และสถาบันทางการเมืองและสังคม เช่น ระบบตลาดหรือระบบกฎหมาย เพราะจุดแข็งของมานุษยวิทยาคือการเข้าใจมนุษย์ อย่างไรก็ตาม มานุษยวิทยาไทยยังไม่ดึงสักภาพส่วนนี้ขึ้นมาใช้ในการร่วมออกแบบการเมืองและสังคมมากนัก

สอง การคิดจินตนาการว่าสังคมจะอยู่ร่วมกันบนหลักการหรือบรรทัดฐาน

สาม การคิดออกแบบโครงสร้างพื้นฐานรอบตัวมนุษย์ ซึ่งหมายรวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพหรือโครงสร้างทางวัฒนธรรมอย่างภาษาด้วย

สี่ การสร้างเรื่องเล่าใหม่ๆ ซึ่งอาจตัดข้ามไปสัมพันธ์กับศาสตร์อื่นและปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ในสังคม

และห้า การให้คำตอบว่า อะไรทำให้มนุษย์มีความเป็นมนุษย์ มนุษย์คือใครบนโลกใบนี้ และจะสรรค์สร้างความเป็นมนุษย์ได้อย่างไร

“ผมเห็นด้วยกับ Augustin Fuentes ที่เสนอว่ามานุษยวิทยาคือศาสตร์ที่ว่าด้วยการที่มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับสิ่งอื่นๆ รอบตัวเพื่อสร้างความเป็นมนุษย์ขึ้นมา หรือกล่าวอีกอย่างคือความเป็นมุนษย์ไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่ปฏิสัมพันธ์กับสิ่งอื่น”  

การสรรค์สร้างความเป็นมนุษย์ต่อไปในอนาคตจึงขึ้นอยู่กับว่าเงื่อนไขทางสังคมคืออะไร สถาบันทางสังคมแบบไหน บรรทัดฐานทางสังคมแบบไหน โครงสร้างพื้นฐานแบบไหน หรือเรื่องเล่าแบบไหน

มานุษยวิทยาข้ามพ้นมนุษย์: สู่อนาคตมานุษยวิทยาที่มนุษย์ไม่ใช่ศูนย์กลาง  – จักรกริช สังขมณี

ท่ามกลางสภาวะที่หลายสิ่งไม่เป็นไปตามความคาดหวังของผู้คนในสังคม ทั้งการเมืองที่ไร้สัญญาณบวกหรือความเปลี่ยนแปลง การจัดการโรคระบาดที่ปั่นป่วน และวิถีชีวิตประจำวันที่ผันผวนจากความ (ไม่) ปกติใหม่ อนาคตกลายเป็นสิ่งที่สังคมฝากความหวังไว้มากกว่าปัจจุบัน

ในทัศนะของ จักรกริช สังขมณี สภาวะเช่นนี้นำมาสู่การตั้งคำถามในสังคมว่า ‘เราคือใคร’ ‘เราอยู่ในสังคมแบบไหน’ และ ‘สิ่งที่มนุษยชาติสร้างขึ้นมาตลอดเวลาประวัติศาสตร์มนุษยชาติหลายหมื่นปีให้อะไรกับมนุษย์จริงหรือไม่’ เพราะไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่พาโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล องค์ความรู้ที่พัฒนาไปข้างหน้าหรือการพัฒนาของระบอบการปกครองก็ตาม ประดิษฐกรรมเหล่านี้ต่างก็สั่นคลอนและถูกตั้งคำถามในยุคโรคระบาด

“พอไวรัสระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว มนุษย์ตกเป็นเบี้ยล่างของสิ่งที่แม้แต่สายตาก็ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยซ้ำ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ต้องกลับมาตั้งคำถามและตระหนักมากขึ้นในฐานะมนุษย์ว่า มนุษย์ไม่ได้เป็นตัวแสดงหลักในโลกที่เราดำรงอยู่ทุกวันนี้ อย่างที่เราเชื่อว่าเรากำลังอยู่ในยุค Anthropocene ที่มนุษย์มีศักยภาพและควบคุมการเปลี่ยนแปลงในโลกอย่างมาก

“เราเริ่มรู้แล้วว่าไม่ใช่แค่มนุษย์ ไม่ใช่แค่นักการเมือง ผู้ลี้ภัย หรือแรงงานเท่านั้นที่กระทำบางอย่างจนเกิดปรากฏการณ์ทางสังคมหรือการเปลี่ยนแปลงสังคม แม้กระทั่งไวรัส การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือเทคโนโลยีก็เข้ามาเปลี่ยนชีวิตของมนุษย์ไปมาก” จักรกริชกล่าว

นี่คือโจทย์ของมานุษยวิทยาที่เคลื่อนจากการหาคำตอบจากมนุษย์ในสภาวะปัจจุบันเพื่อทลายอคติและสร้างพื้นที่ให้ผู้คนที่ไม่มีสิทธิมีเสียง ไปสู่โจทย์ว่าด้วยการดำรงอยู่ของมนุษย์ท่ามกลางความผันผวน

และที่สำคัญ ในสมการแห่งความเปลี่ยนแปลง มานุษยวิทยาอาจเป็น ‘ความหวัง’ ที่ช่วยพาไปสู่จินตนาการและคำตอบในอนาคตได้

“ในสภาวะที่สังคมเต็มไปด้วยความเปราะบาง ความสับสนวุ่นวาย ความไร้เสถียรภาพ ความล่มสลาย ความพร่าเลือน และความอึดอัดคับข้องใจ มานุษยวิทยาคือศาสตร์ที่สามารถตอบคำถามที่ว่ามนุษย์จะอยู่รอดต่อไปอย่างไรในอนาคต เพราะมานุษยวิทยาเปิดพื้นที่ในการศึกษาโลกใหม่ที่ไม่ได้ตั้งมนุษย์เป็นศูนย์กลางอีกต่อไป” จักกริชกล่าวถึง ‘มานุษยวิทยาอนาคต’

เพราะฉะนั้นในการทำความเข้าใจการดำรงอยู่ของมนุษย์และความเป็นไปได้ของโลกใหม่ในอนาคต นักมานุษยวิทยาต้องศึกษาสิ่งต่างๆ รอบตัวมนุษย์ที่ทำงานร่วมกับความเป็นมนุษย์ด้วย เช่น ระบบนิเวศ โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี ภาษา ความรู้สึก หรือบรรยากาศเพื่อสลายความพร่าเลื่อนของปรากฏการณ์ทางสังคมที่การทำความเข้าใจมนุษย์อย่างเดียวนั้นไม่สามารถไขความกระจ่างได้อีกต่อไป

เช่น หากจะศึกษาปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ จักกริชมองว่าการทำความเข้าใจแค่สถาบันทางการเมืองหรือตัวขบวนการนั้นไม่เพียงพออีกต่อไป แต่ยังต้องให้ความสนใจกับภาษา มีม อุปกรณ์เช่นเป็ดยาง หรือป้ายที่ใช้ในการเคลื่อนไหว รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานอย่างตู้คอนเทนเนอร์ด้วย หรือหากจะศึกษาความเป็นเมืองของกรุงเทพฯ ความล่มสลายของระบบคมนาคมในช่วงฤดูฝนก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ขับเน้นให้ภาพความเป็นเมืองและอารมณ์ขุ่นมัวของผู้คนกระจ่างชัดขึ้นได้

“มานุษยวิทยาควรเปลี่ยนชื่อเรียกศาสตร์ คือไม่ใช่เพียงแค่เป็น anthropology เท่านั้น แต่ต้องเป็น ’anthropomethodology’ หรือการศึกษาสิ่งอื่นรอบตัวมนุษย์ผ่านมนุษย์ และใช้มนุษย์เป็นเครื่องมือในการศึกษา”

นอกจากความท้าทายที่จะต้องทำให้ ‘มานุษยวิทยาอนาคต’ มีพลังในการทำความเข้าใจความเป็นไปของโลกในความผันผวนและคิดหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ แล้ว ‘อนาคต (ของ) มานุษยวิทยา’ ยังผูกอยู่กับการหาเครื่องมือและวิธีการศึกษาใหม่ๆ เพื่อสร้างคำอธิบายต่อความเป็นไปได้เหล่านั้น

“สิ่งที่นักมานุษยวิทยาต้องกลับมาตั้งคำถามคือ ในโลกที่พลิกผันอย่างรวดเร็ว เครื่องมือในการหาความรู้ที่นักมานุษยวิทยามีอยู่ใช้งานได้จริงหรือเปล่า หรือถ้าเครื่องมือที่มีอยู่ตอบคำถามได้ไม่กระจ่างชัด เราต้องทำอย่างไรให้เครื่องมืออยู่รอดและใช้งานได้ตลอด” การปล่อยมือจากเครื่องมือเดิมๆ ที่อาจไม่เหมาะต่อยุคสมัยแล้วอย่างการทำงานภาคสนามแบบสังเกตอย่างมีส่วนร่วมที่ต้องลงไปฝังตัวสังเกตสังคมหรือชุมชนเป็นเวลานาน และความพยายามในการสร้างเครื่องมือใหม่ๆ ในการศึกษาสังคมคือสิ่งที่จักรกริชมองว่ามานุษยวิทยาไทยยังขาดแคลน

เพื่อให้เครื่องมือของนักมานุษยวิทยาไล่ตามทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในโลก การทำงานร่วมกับเครื่องมือของศาสตร์อื่นคืออนาคตของมานุษยวิทยา

“นักมานุษยวิทยาต้องกล้าออกมาจากคอมฟอร์ตโซนไปเรียนรู้วิธีที่นักวรรณกรรม คนสร้างภาพยนตร์ นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ หรือคนที่มีเครื่องมือในการเข้าถึงองค์ความรู้ที่ต่างออกไปจากมานุษยวิทยาใช้ การหาเครื่องมือไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว และเป็นสิ่งที่นักมานุษยวิทยาต้องสำรวจร่วมกัน”

อีกอย่างหนึ่ง แม้ว่าแวดวงมานุษยวิทยาไทยจะมีจุดแข็งในการใช้ความรู้ฉายภาพคนชายขอบ ความเหลื่อมล้ำ ความอยุติธรรม หรืออัตลักษณ์ของผู้คน แต่สิ่งที่จักรกริชชี้ให้เห็นว่ายังเป็นช่องว่างในมานุษยวิทยาไทยคือการมองข้อมูลที่ไปไกลกว่าข้อมูลเชิงประจักษ์จากการลงพื้นที่ กล่าวคือมานุษยวิทยาไทยต้องทำงานเชิงความคิดหรือเชิงทฤษฎีมากขึ้นเพื่อเปิดจินตนาการทางมานุษยวิทยาที่ไปไกลขึ้น

“อนาคตมานุษยวิทยาไทยต้องหาทางในการทำงานเชิงความคิดมากขึ้น แสวงหาเครื่องมือใหม่ๆ มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ละทิ้งงานเชิงชีวิตประจำวันที่ตอบโจทย์ของสังคมที่ต้องการความรู้เหล่านี้ด้วย” จักกริชกล่าว

 ปรับเครื่องมือ-ข้ามศาสตร์: เปิดขอบฟ้ามานุษยวิทยา – ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ

เมื่อมองสถานการณ์ปัจจุบันที่ทอดยาวไปสู่อนาคตผ่านสายตาแบบมานุษยวิทยาของ ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยคือ การทำงานร่วมกันระหว่างการไหลเวียนของเวลาและ ‘สำนึกร่วมสมัยในสังคม’ อันเกิดจากการพันเกลียวระหว่างปัญหาทางการเมือง ปัญหาการระบาดของโควิด และปัญหาสังคม

“สำนึกร่วมสมัยสัมพันธ์กับการไหลเวียนของเวลา ซึ่งสิ่งที่เรียกว่า ‘ร่วมสมัย’ ไม่ได้หมายความว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่หมายความว่าสิ่งนั้นมีศักยภาพที่จะอยู่ร่วมหรือเชื่อมต่อกับเวลา”

ศรยุทธอธิบายต่อว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในภูมิทัศน์การเมืองไทยคือ การกดทับจากโครงสร้างทางการเมืองที่เก่า ล้าหลัง ไม่เชื่อมโยงและสัมพันธ์กับกาลเวลา และการไม่เปิดให้การจินตนาการไปสู่อนาคตเกิดขึ้นได้นั้นคือสิ่งที่แปรเปลี่ยนไปเป็นสำนึกร่วมสมัยของคนรุ่นใหม่

“สิ่งเหล่านี้ผลักดันให้คนรุ่นใหม่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยบนท้องถนน และกลายเป็นสำนึกร่วมสมัยที่ไหลเวียนอยู่ในขบวนการ มุ่งไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในอนาคต”

มานุษยวิทยาไม่เพียงแค่ฉายภาพไปในอนาคตเท่านั้น แต่ยังนำมาใช้แสวงหาความรู้และออกแบบอนาคตต่อไปได้เช่นกัน หากแต่ต้องขยายพรมแดนของวิธีการมานุษยวิทยาออกไปให้กว้างกว่าเก่า

ในฐานะนักมานุษยวิทยาที่สนใจมานุษยวิทยาภาพและสื่อ (Visual and Media Anthropology) และลงไปทำงานด้านภาพ เสียง สื่อร่วมกับศาสตร์อื่น ศรยุทธมองว่ามานุษยวิทยาไม่สามารถทำงานศาสตร์โดดๆ และใช้วิธีการเดิมๆ อย่างการสังเกตอย่างมีส่วนร่วม (participatory observation) อย่างเดียวต่อไปได้ในอนาคต เพราะเครื่องมือที่สร้างศาสตร์มานุษยวิทยาขึ้นมาอาจกลับกลายเป็นโซ่ล่ามพันธนาการไม่ให้มานุษยวิทยาก้าวข้ามความท้าทายต่อไปในอนาคตได้

แน่นอนว่าการข้ามศาสตร์ไปทำงานร่วมกับศาสตร์อื่นของมานุษยวิทยา ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์ไหนก็ตาม ย่อมเป็นความท้าทายในการสลายวิธีการทำงานแบบเดิมๆ และขยายพรมแดนไปสู่วิธีการทำงานแบบใหม่ๆ ของศาสตร์มานุษยวิทยาเพื่อเปิดโลกความเข้าใจสังคมและสร้างความรู้ที่วิธีการมานุษยวิทยาแบบเดิมๆ ไม่สามารถพาไปได้

ศรยุทธยกตัวอย่างจากการทำงานภาคสนามที่กัวลาลัมเปอร์ให้เห็นว่าหากใช้เพียงแค่แผนที่เชิงกายภาพและสายตาในการสังเกตและจดบันทึกภูมิทัศน์ที่เห็นได้ด้วยตา ความรู้ที่ได้มาส่วนหนึ่งย่อมเลี่ยงการผลิตซ้ำอำนาจของเจ้าอาณานิคมที่ยังหลงเหลืออยู่ในพื้นที่ผ่านการออกแบบผังเมืองไม่ได้ ดังนั้น การใช้ผัสสะอื่นอย่างการฟัง หยิบยืมวิธีการเข้าถึงความรู้จากมานุษยวิทยาดนตรี (Ethnomusicology) เพื่อทำงานกับภูมิทัศน์ที่สร้างขึ้นด้วยเสียงในพื้นที่ (soundscape) จะช่วยตัดผ่านสิ่งที่สร้างโดยอำนาจอาณานิคม เพราะเสียงของผู้คนไม่เคยถูกจำกัดโดยเจ้าอาณานิคม

นอกจากสายตาและเสียง ผัสสะอื่นๆ อย่างการสัมผัสหรือกลิ่นก็อาจเป็นเครื่องมือที่พาศาสตร์มานุษยวิทยาไปสู่อนาคตได้

“ผมไม่ได้บอกว่าวิธีการดั้งเดิมผิด เพียงแต่ว่าบางครั้งการมองด้วยสายตาเพียงอย่างเดียว เราก็ใช้อำนาจทางสายตาในการเลือกสรร รับรู้ความจริงบางอย่าง ในขณะเดียวกัน ก็จะกีดกันความจริงหลายส่วนที่เราต้องการเปิดโลกอีกใบหนึ่งให้เห็นออกไป” ศรยุทธกล่าว

การพาวิธีการหรือเครื่องมือของมานุษยวิทยาไปให้ไกลกว่าเก่าไม่ใช่เพียงความท้าทายเดียวเท่านั้น แต่ศรยุทธยังเห็นอีกว่า มานุษยวิทยาไทยต้องไม่เพียงรับใช้สังคมและประชาชนเท่านั้น แต่ต้องยกระดับงานมานุษยวิทยาไปสู่การถกเถียงทางทฤษฎีและให้ความสนใจต่อมิติเชิงปรัชญาให้มากขึ้น กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ มานุษยวิทยาไทยต้องทำงานแบบ ‘หอคอยงาช้าง’ ให้มากกว่าเดิมเพื่อเปิดขอบฟ้ามานุษยวิทยาไทยให้กว้างขึ้น

อีกสิ่งหนึ่งที่จะพามานุษยวิทยาไทยไปไกลมากขึ้นคือความกล้าหาญ ศรยุทธมองว่างานมานุษยวิทยาไทยต้องมีความกล้าหาญมากกว่านี้ ในการปะทะกับเรื่องเล่าที่อ่อนไหวพร้อมนำเสนอการวิพากษ์ปัญหาเชิงโครงสร้างสังคมและความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เป็นธรรมอย่างแหลมคมไปในเวลาเดียวกัน อย่างที่งานเขียนเรื่อง Death without Weeping: The Violence of Everyday Life in Brazil (1992) โดย Nancy Scheper-Hughes ซึ่งบอกเล่าความเศร้าโศกเสียใจเล็กๆ น้อยๆ ของผู้เป็นแม่เมื่อลูกเล็กตาย ว่าเป็นการปลดปล่อยชีวิตของเด็กให้รอดจากความลำเค็ญของสังคมบราซิลที่มีความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง ในขณะที่ฉายภาพความรักของแม่ที่งดงามไปพร้อมกับการวิพากษ์อำนาจรัฐที่ฉ้อฉล คอร์รัปชัน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และปัญหาสาธารณสุข

“อย่างถ้าจะศึกษาปรากฏการณ์ในช่วงโควิดที่แม่รมควันฆ่าตัวตายไปพร้อมกับกอดลูกไว้ในอก คำถามคือเราจะปะทะกับเรื่องราวเช่นนี้อย่างไร จะเล่าเรื่องราวอย่างไรไม่ให้กลายเป็นเรื่องเศร้าอย่างเดียว แต่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างในสังคมไทยช่วงโควิดไปพร้อมกันได้ด้วย”

“เรามักมองว่างานชาติพันธุ์วรรณาเป็นเพียงงานข้อมูล แต่แท้จริงแล้วงานชาติพันธุ์วรรณาที่ดีจำเป็นต้องมีภูมิหลังทางทฤษฎีที่หนักแน่น ในขณะเดียวกัน ข้อมูลและการลำดับข้อมูลต้องไปพร้อมกับการเล่าและวิเคราะห์ไปพร้อมๆ กัน เรื่องเล่าที่เกิดขึ้นจึงสามารถที่จะเปิดโปงแบบแผนความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เป็นธรรมทางสังคมไทยได้” ศรยุทธทิ้งท้าย


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และ The101.world

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save