fbpx
นิทรรศการ Future and the Arts : ศิลปะ x นวัตกรรม จะพามนุษย์ไปสู่จุดใดในวันพรุ่งนี้?

นิทรรศการ Future and the Arts : ศิลปะ x นวัตกรรม จะพามนุษย์ไปสู่จุดใดในวันพรุ่งนี้?

บทความชวนดูงานศิลปะและนวัตกรรมจากโลกที่หนึ่ง ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้สังคมและชีวิตคน ผ่านสายตานักออกแบบมัลติมีเดียจากโลกที่สามในนามกลุ่ม Eyedropper Fill

 

Eyedropper Fill เรื่อง

 

ในวันที่เทคโนโลยีมีผลต่อชีวิตมนุษย์มหาศาล AI คิดและตัดสินใจได้เฉียบคมกว่าเรา blockchain เปลี่ยนเงินตราที่จับต้องได้กลายเป็นเพียงรหัสข้อมูล พืช สัตว์ และสรรพชีวิตไม่จำเป็นต้องโตจากดินและกินนมแม่ เพราะ biotechnology กำลังทำให้มนุษย์สร้างชีวภาพได้ด้วยตัวเอง นั่นทำให้อาหาร ยารักษาโรค สิ่งแวดล้อม และการมีชีวิตอยู่ ตามนิยามที่เราเคยรู้จักกำลังเปลี่ยนไปด้วย หนังสือแห่งยุคสมัยอย่าง Homo Deus บอกว่าเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนมนุษย์ให้กลายเป็นพระเจ้า มีศักยภาพไร้จำกัดและชีวิตที่ยาวนาน แต่นั่นเติมเต็มความหมายของความเป็นมนุษย์ในใจเราจริงหรือ?

Future and the Arts: AI, Robotics, Cities, Life – How Humanity Will Live Tomorrow คือนิทรรศการใหม่เอี่ยมจาก Mori Art Museum เนื้อหาข้างในตรงตามชื่อนิทรรศการ ที่นี่รวบรวมและจัดแสดงนวัตกรรมที่กำลังพามวลมนุษยชาติไปข้างหน้า ผสานกับศิลปะที่พาเราเข้าไปสำรวจลึกถึงความหมายของชีวิต ราวกับเป็นสองฝั่งของไม้กระดานที่กำลังหาความบาลานซ์ อันจะเป็นคำตอบของชีวิตมนุษย์ในวันข้างหน้า

นิทรรศการนี้ หนึ่งในทีมของเรามีโอกาสไปชมความล้ำด้วยตาตัวเอง กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จึงขอเก็บภาพและเรื่องราวไฮไลต์ที่น่าสนใจ จากผลงานทั้งหมดกว่า 100 ชิ้น มาฝากผู้อ่าน

 

 

เนื้อหานิทรรศการแบ่งออกเป็น 5 ส่วน ส่วนแรกคือ New Possibilities of Cities นำเสนอเมืองในรูปแบบที่เรียกว่า ‘Metabolism cities’  เมืองในอนาคตจะไม่ใช่สิ่งคงทนถาวร แต่รอการพังทลายจากภัยพิบัติ แต่เมืองจะมีคุณสมบัติคล้ายสิ่งมีชีวิตนั่นคือสามารถเติบโต ปรับเปลี่ยน และเอาตัวรอดได้ด้วยตนเองผ่านแนวคิดการออกแบบ 

 

 

Oceanix City โดย Bjarke Ingels Group คือตัวอย่างของเมืองในแนวคิดนี้ เมืองลอยน้ำจากโครงสร้างหกเหลี่ยม สามารถปรับเปลี่ยนผังเมืองเพื่อรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติรูปแบบต่างๆ แนวคิดแบบโมดูล (หน่วยเล็กๆ ประกอบกันขึ้นเป็นโครงสร้างใหญ่) ทำให้แต่ละเกาะในเมืองสามารถเชื่อมต่อกันได้

 

 

เมืองที่คนส่วนใหญ่นึกถึงคงเต็มไปด้วยตึกสูงที่ปิดไม่ให้ชีวิตมนุษย์ภายในอาคารมีโอกาสเชื่อมต่อกับสิ่งแวดล้อมข้างนอก โปรเจ็กต์ PoroCity ชื่อนี้มาจากคำว่า porosity ที่แปลว่ารูพรุนและ city เข้าด้วยกัน โปรเจ็กต์ทดลองนี้ใช้วัสดุที่เรียบง่ายอย่างเลโก้ สร้างรูปแบบอาคารที่เปิดโลกข้างนอกและโลกข้างในเข้าหากัน

จากเมืองที่ปรับเปลี่ยนได้ตามสภาพแวดล้อม ในส่วนที่สอง พาเราลงไปดูรายละเอียดของสถาปัตยกรรมที่มาพร้อมกับเมืองรูปแบบใหม่ Toward Neo-Metabolism Architecture ว่าด้วยสถาปัตยกรรมในอนาคตที่มาพร้อมแนวคิดการก่อสร้างใหม่ๆ ที่เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วย

ตัวอย่างที่น่ารักมากคือ H.O.R.T.U.S. XL Astaxanthin.g โดย ecoLogicStudio ประติมากรรมชีวภาพที่สร้างจากเทคโนโลยี 3D Printing ความพิเศษคือการทำให้ประติมากรรมเกิดการ ‘collaboration – ร่วมสร้างกับธรรมชาติ ทำให้พืชพรรณสามารถเติบโตแทรกซึมไปกับสิ่งก่อสร้างได้ ประติมากรรมนี้ทำให้เห็นความเป็นไปได้ว่า ถ้าหากในอนาคตเรานำแนวคิดและเทคโนโลยีเดียวกันมาใช้กับการสร้าง facade หรือพื้นผิวนอกอาคาร พื้นที่ของเมืองและพื้นที่สีเขียวสามารถผสานกันเป็นหนึ่งเดียวได้

 

 

จากเรื่องใหญ่อย่างเมืองและสถาปัตยกรรม สู่เรื่องใกล้ตัวยิ่งขึ้นใน ส่วนที่สาม Lifestyle and Design Innovations พาไปดูวิถีชีวิตแห่งอนาคตของมนุษย์ ตั้งแต่ข้าวของเครื่องใช้ ไปจนถึงอาหารการกิน

ซุ้มที่เห็นนี้ชื่อว่า Sushi Singularity โดย Dentsu ออกแบบล้อไปกับซุ้มขายข้าวปั้นที่คุ้นตาในญี่ปุ่น แต่ภายในซุ้มไม่ได้มีพ่อครัวยืนปั้นข้าว เพราะซูชิที่วางอยู่ด้านหน้าทั้งหมดผลิตโดยการพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ ใช่ในอนาคตเราจะสามารถพิมพ์อาหารกินได้แล้ว ยังสามารถทำให้คุณค่าทางโภชนาการใกล้เคียงอาหารดั้งเดิม (เช่น ส่วนสีส้มในซูชิสูตร Sushi Singularity นี้ มาจากการพิมพ์เนื้อเยื่อของปลาลงไป ส่วนสีขาวเป็นคาร์โบไฮเดรตที่พิมพ์อยู่ในรูปของเมล็ดข้าว) แถมเพิ่มเติมความล้ำของรูปลักษณ์เข้าไปเพื่อสร้างประสบการณ์การกินที่แตกต่าง

 

ที่มาภาพ: 3D-Printed Sushi & Other Glimpses Of The Future

นวัตกรรมยังทำให้เราสามารถเข้าถึงแหล่งอาหารใหม่ๆ ได้อีกมากมายในอนาคต แม้แต่สิ่งที่พวกเราไม่คิดจะกิน แม้จะเหลือเป็นอย่างสุดท้ายในโลกก็ตาม อย่างแมลงสาบ! โปรเจ็กต์ Pop Roach จาก MIT Media Lab อย่างที่บอกว่า แมลงสาบนั้นดูเหมือนจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่าจะหลงเหลือในโลกเป็นอย่างท้ายๆ เราจะสามารถดัดแปลงยีนของพวกมัน ให้น่ากินและกินดีสำหรับมนุษย์ได้มั้ย โปรเจ็กต์นี้จึงทดลองว่าเราจะสามารถเปลี่ยนอะไรในมันได้บ้าง ตั้งแต่สีที่อาจจะน่ารักน่าชังขึ้นกว่าต้นฉบับ นอกจากนี้เราอาจเติมกลิ่น รสชาติ และคุณค่าทางโภชนาการให้ตอบโจทย์ปากท้องมนุษย์ขึ้นได้

 

ในภาพนี้สีเขียวเป็นดีไซน์สำหรับกลิ่นมิ้นท์ ส่วนสีเหลืองแทนกลิ่นกล้วยหอม

ก็น่ารักดี แต่ถ้าเลือกได้ก็คงไม่กินอะจ้า

 

ในส่วนที่สี่ Human Augmentation and Its Ethical Issues ว่าด้วยส่วนขยายของมนุษย์ ตั้งแต่เทคโนโลยี robotics ที่เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพให้ร่างกาย นวัตกรรมอื่นๆ ที่เสริม เติม แต่ง และยับยั้งความเสื่อมสลาย ยืดเวลาชีวิตมนุษย์ให้ยาวขึ้น

ความประทับใจของนิทรรศการส่วนนี้คือ รูปแบบการนำเสนอที่ตอบโจทย์กับชื่อ Future and the Arts  ซะเหลือเกิน ตั้งแต่โต๊ะวาดภาพพอร์เทรตที่ผู้ชมนิทรรศการสามารถไปนั่งเป็นแบบ โดยมีหุ่นยนต์รับบทเป็นศิลปิน แถมวาดภาพเราออกมาเป็นลายเส้นได้เหมือนไม่ใช่เล่น อีกชิ้นใกล้ๆ กัน นำเสนอเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์สามมิติที่สามารถพิมพ์อวัยวะทดแทนให้มนุษย์ เล่นกิมมิกด้วยการพิมพ์ใบหูของศิลปินเลื่องชื่ออย่าง Vincent van Gogh ศิลปินผู้ตัดใบหูของตัวเองทิ้ง

 

 

จากเรื่องใหญ่อย่างผังเมืองและสถาปัตยกรรม สู่ข้าวของเครื่องใช้ อาหารการกินและวิถีชีวิต จนถึงนวัตกรรมที่ขยายขอบเขตของร่างกาย ส่วนสุดท้ายของนิทรรศการว่าด้วย Society and Humans in Transformation – การเปลี่ยนแปลงของนิยามความเป็นมนุษย์และสังคม ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีเข้ามาครอบครองพื้นที่ชีวิต

Zoom Pavilion คืองานชิ้นท้ายของนิทรรศการที่ช่วยแสดงภาพความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และเทคโนโลยีได้อย่างเรียบง่าย และอิมแพ็ก

 

 

 

ในห้องสีขาว ผนังทุกด้านติดตั้งกล้องวงจรปิดที่มีความสามารถพิเศษกว่ากล้องทั่วไปที่เราเคยเห็น เช่น เมื่อเราหันไปสบตากล้องตัวไหน กล้องตัวนั้นจะจับภาพและซูมใบหน้าของเราฉายลงบนผนัง เมื่อมีใครในห้องสัมผัสตัวกัน ภาพจะโยงเส้นระหว่างคนสองคนนั้น และแจ้งว่ามีการสัมผัสเกิดขึ้นทันที

เมื่อออกจากห้องจะพบว่าใบหน้าของทุกคนใน Zoom Pavilion ถูกบันทึกแบบรายคน และฉายขึ้นบนผนังเรียบร้อยแล้ว การอยู่ภายใต้เทคโนโลยีกล้องวงจรปิดที่ติดตามเราทุกฝีก้าว มองเห็นเห็นทุกการกระทำ ในมุมหนึ่งก็ทำให้เรามั่นใจได้ถึงความปลอดภัย แต่ในอีกมุม ชีวิตภายใต้การจ้องมองของเทคโนโลยีก็ดูเหมือนจะเข้าถึงความเป็นส่วนตัวของเรามากจนคล้ายเป็นการคุกคาม

นิทรรศการจบ เราอดอิจฉาคนญี่ปุ่นไม่ได้ที่มีพื้นที่ของการเรียนรู้ที่สนุกและเป็นธรรมชาติ จัดสรรไว้กลางเมือง พร้อมให้ทุกคนเข้ามาพัฒนาตัวเองได้ตลอดเวลา

นิทรรศการนี้อาจไม่ได้มีคำตอบเบ็ดเสร็จให้ทุกคนสำหรับคำถามที่ว่า How Humanity Will Live Tomorrow? – มนุษยชาติจะอยู่กันอย่างไรในอนาคต? นิทรรศการทำหน้าที่เพียงพาเราไปรู้จักนวัตกรรมเหล่านี้ผ่านประสบการณ์ตรง และรู้จักมันในแง่มุมที่เป็นมนุษย์และกลมมากพอ ไม่ได้พาเราตื่นเต้นเตลิดเปิดเปิงไปกับความล้ำสมัย แต่ก็ไม่ได้ผลักให้เราหวาดกลัวจนแอนตี้มันออกไปจากตัว

คำตอบจึงไม่ได้อยู่ในนิทรรศการ แต่อาจเป็นหน้าที่ของเราเองที่จะต้องตอบว่า ในอนาคตเราจะบาลานซ์ให้นวัตกรรมมอบความสุขและชีวิตที่ดีกว่า โดยไม่ถูกมันครอบงำและบดบังความเป็นมนุษย์อย่างไร?

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save