fbpx

Fully Automated Luxury Communism: โลกอนาคตที่ไม่มีใครต้องทำงานอีกต่อไป (เป็นไปได้ไหม)?

ถ้าให้หลับตาแล้วจินตนาการถึงโลกที่ไม่มีใครต้องทำงานอีกต่อไปมันจะเป็นอย่างไรกันนะ? โลกที่ทุกคนเป็นอิสระอย่างแท้จริง โลกที่เราสามารถไล่ตามความสนใจและงานอดิเรกในฝันของตัวเองได้อย่างเต็มที่ โลกที่ผู้คนไม่ต้องตัดสินใจระหว่างการเฝ้าดูลูกๆ เติบโตขึ้นกับการทำงานเพื่อเลี้ยงดูพวกเขา โลกที่ปราศจากความยากจนและความกดดันในการหาเงิน โลกที่ไม่มีงานไร้สาระที่ไม่มีประโยชน์และจุดประสงค์ใดๆ โลกยูโทเปียที่ถูกเรียกว่า Fully Automated Luxury Communism หรือ ‘ลัทธิคอมมิวนิสต์หรูหราอัตโนมัติเต็มรูปแบบ’ มันคืออะไรกันแน่?

เมื่อการมีชีวิตอยู่เพียงเพื่อทำงานไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเป็น

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราได้เห็นกระแสตอบรับการพัฒนาของระบบอัตโนมัติที่มีต่อโลกแห่งการทำงานไปในด้านลบเสียเป็นส่วนใหญ่ บางทีถึงขั้นกลัวสิ่งที่จะเกิดขึ้นด้วยซ้ำ มีบทความมากมายเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ บางแห่งบอกว่า 20% ของงานจะถูกคุกคามโดยระบบอัตโนมัติ บางแห่งบอกว่าอาจจะมากกว่า 50% ด้วยซ้ำ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม โทนเสียงของบทความเหล่านี้ล้วนหันเหไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือบอกว่าอนาคตเป็นสิ่งน่ากลัว คนจะตกงานจำนวนมากและยากจนลงถ้าไม่รีบปรับตัวหางานใหม่ทำกัน ซึ่งค่อนข้างมืดมน เข้าขั้นดิสโทเปียที่ทุกอย่างหดหู่ สิ้นหวัง และน่ากลัว คำถามคือ แล้วมันจะเป็นแบบนั้นจริงๆ หรือเปล่า?

ในทางเศรษฐศาสตร์ มีปัญหาที่รู้จักกันดีในเรื่องความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ นายจ้างต้องการแรงงานราคาถูก แต่ในขณะเดียวกันก็อยากได้ลูกค้าที่มีกำลังจ่าย แต่สองอย่างนี้ขัดกันอยู่ด้วยตัวของมันเองและจะเกิดขึ้นพร้อมกันไม่ได้

ในปี 1950 Henry Ford II เจ้าของผู้ผลิตรถยนต์ Ford เคยถามหัวหน้าสหภาพยานยนต์ว่า “คุณจะให้พวกหุ่นยนต์เหล่านี้จ่ายค่าสมาชิกได้อย่างไร?” หัวหน้าสหภาพแรงงานตอบว่า “เฮนรี่ คุณจะให้พวกเขาซื้อรถของคุณได้อย่างไร” ทั้งคู่ไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้เลย

มีอีกประเด็นหนึ่งที่เริ่มชัดเจนมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ตอนนี้เราใช้พนักงานจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ ในการผลิตสินค้าและบริการให้กับลูกค้าในจำนวนที่มากขึ้น ค่าจ้างก็เพิ่มขึ้นและมีความต้องการที่มากขึ้นด้วย พนักงานรุ่นใหม่ๆ ไม่อยากพลีชีพเพียงเพื่อจะทำงานอีกต่อไป

ในทางกลับกัน หุ่นยนต์ทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ไม่ทำผิดพลาด ไม่มีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ไม่ต้องการขึ้นค่าจ้าง และไม่ต้องลาคลอดอีกด้วย หุ่นยนต์แท็กซี่และรถบรรทุกไร้คนขับคันแรกจะเริ่มวิ่งบนท้องถนนในอนาคตอันใกล้ ซูเปอร์มาร์เก็ตแบบอัตโนมัติกลายเป็นจริงแล้วอย่างที่เราเห็นตัวอย่างของร้าน ​Amazon Go ส่วนงานอื่นๆ อีกมากมายก็มีความเสี่ยงที่จะถูกแทนที่ด้วยโรบอตเช่นเดียวกัน และการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เองก็เป็นตัวเร่งทำให้แนวโน้มนี้เป็นจริงเร็วขึ้นอีกด้วย

Fully Automated Luxury Communism

ในปี 2019 นักเขียนชาวอังกฤษชื่อแอรอน บัสตานี (Aaron Bastani) แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ในหนังสือชื่อ Fully Automated Luxury Communism โดยเขามองว่าระบบอัตโนมัติไม่ใช่ภัยคุกคามต่อมนุษย์ และยังเสนอวิสัยทัศน์แบบยูโทเปียของสังคมในอนาคตว่าเครื่องจักรอัตโนมัติเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างความมั่งคั่งให้กับมนุษย์และทุกคนสามารถทุ่มเทให้กับสิ่งที่ตัวเองหลงใหล ไม่ว่าจะเป็นงานอดิเรก งานที่อยากทำ ครอบครัวและคนรักได้อย่างเต็มที่ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าเมชชีนเหล่านี้จะมาทำให้มนุษย์เป็นอิสระอย่างแท้จริงนั่นเอง

ถ้าว่ากันตามวิสัยทัศน์ของบัสตานีแล้ว ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยขจัดปัญหาการขาดแคลนแรงงานและความจำเป็นในการทำงาน ทุกคนจะใช้ชีวิตอย่างหรูหราและใช้เวลาตามต้องการ ไม่ว่าจะมีสถานะทางสังคมแบบไหนก็สามารถเข้าถึงการศึกษา การดูแลสุขภาพ และข้อมูลได้อย่างเท่าเทียมกัน ในที่สุดความก้าวหน้าของมนุษย์นานนับพันปีควรจะส่งผลให้เกิดความสุขและเสรีภาพมากขึ้น ในครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อคนที่ร่ำรวยเท่านั้น แต่คือเพื่อทุกคน

เพราะฉะนั้นถ้าใครสักคนมีความฝันอยากจะเป็นชาวประมง อาทิตย์ต่อไปอาจจะไปทำงานเป็นอาสาสมัครที่สถานสงเคราะห์คนชรา และอาทิตย์ต่อไปอาจจะไปสอนวิชาประวัติศาสตร์ให้กับนักเรียนบนพื้นที่ห่างไกล ทุกอย่างล้วนเป็นไปได้ทั้งสิ้น

จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เคยคาดการณ์เอาไว้ว่าคนรุ่นหลานของเขา (ซึ่งก็คือยุคนี้แหละ) ควรจะทำงานเพียงแค่ 15-20 ชั่วโมงต่ออาทิตย์เท่านั้น หรือพูดง่ายๆ คือทำงานแค่ 2 วันแล้วก็พัก 5 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งสำหรับหลายๆ คนโดยเฉพาะในประเทศไทยอาจจะห่างไกลจากความเป็นจริงอย่างมาก แต่เทรนด์ของการทำงานที่จำนวนวันลดลงในต่างประเทศนั้นเริ่มหันไปในทิศทางนั้นแล้ว

ตอนนี้เริ่มมีการทดสอบ four-day workweek หรือการทำงานเพียงสี่วันต่อสัปดาห์ในหลายประเทศทางฝั่งอเมริกาและยุโรป การทำงานอาทิตย์ละ 30 ชั่วโมงกลายเป็นเรื่องที่ไม่ไกลเกินฝันอีกต่อไป เรากำลังเข้าสู่ยุคที่คนพยายามจะออกจากโลกของทุนนิยมและหนีแรงกดดันของการโปรดักทีฟตลอดเวลา ประเด็นที่คนรุ่นใหม่ถกเถียงกันออนไลน์มากที่สุดสองประเด็นก็คือเรื่องของการใช้ชีวิตอย่างมีอิสระโดยใช้เงินน้อยที่สุดและวิธีการหาเงินให้มากที่สุด เร็วที่สุด และเกษียณให้เร็ว แม้มันจะเป็นประเด็นที่แตกต่างกัน แต่ก็ชี้ให้เห็นว่าทุกคนอยากจะหนีออกไปจากการทำงานแบบเช้ายันค่ำให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

โลกในอนาคตจะเป็นอย่างไร? ยูโทเปียจะหน้าตาแบบไหนกัน?

สิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นตามแนวคิดของบัสตานีก็คือ เราจะเดินทางไปไหนต่อไหนด้วยระบบแท็กซี่แบบอัตโนมัติไร้คนขับ โดรนจะทำหน้าที่ส่งของและอาหารโดยใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที โรงงานต่างๆ ล้วนใช้แมชชีนทั้งสิ้น ซึ่งแมชชีนเหล่านี้ก็ถูกสร้างขึ้นมาโดยแมชชีนอีกต่อหนึ่ง บ้าน เฟอร์นิเจอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ จะถูกสร้างขึ้นโดยเครื่องปรินต์แบบสามมิติ ในชีวิตประจำวันของคุณก็จะมีผู้ช่วยที่เป็น AI คอยประสานงานเพื่อนัดพบเจอกับเพื่อนหรือเตรียมตัวสำหรับการพักผ่อนครั้งต่อไป คุณจะมีเวลานั่งอ่านหนังสือที่อยากอ่านมานาน ได้เขียนนิยายที่มีพล็อตอยู่ในหัวแต่ไม่เคยมีเวลาได้เขียน ได้นั่งเพ้อฝันและจินตนาการถึงสิ่งใหม่ๆ เรียนรู้สิ่งที่อยากรู้ อยากทดลอง ทำงานที่อยากทำ ได้เงินเพียงพอที่จะใช้ชีวิตได้แบบไม่ขัดสน ว่างๆ อาจจะออกไปเที่ยวในจักรวาลก็ได้ หรือบางทีใช้เวลาว่างเพื่อตรวจสอบดูแลโลกออนไลน์ให้เป็นระบบระเบียบ สอดส่องการทำงานของ AI ให้เป็นอย่างที่ควรจะเป็น

ไม่จำเป็นต้องมีการทำร้ายโลกเพื่อผลประโยชน์อีกต่อไป พืชผักผลไม้จะถูกปลูกโดยหุ่นยนต์ในสวนของส่วนรวมและแจกจ่ายอย่างเท่าเทียม เนื้อสัตว์จะถูกสร้างขึ้นมาในห้องแล็บโดยไม่จำเป็นต้องมีการฆ่าสัตว์หรือเลี้ยงในพื้นที่ฟาร์มขนาดใหญ่ที่เป็นต้นเหตุของมลภาวะทางอากาศอีกต่อไป ซอฟต์แวร์และโปรแกรมทุกอย่างจะเป็นแบบ open source ที่ทุกคนสามารถพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้ หลังจากนั้นก็จะมีการโหวตว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงควรเกิดขึ้นหรือไม่ ไม่มีบริษัท ไม่มีตลาดที่ชี้นำโดยผลกำไร ไม่มีเศรษฐีพันล้าน หมื่นล้าน ไม่มีประเทศโลกที่หนึ่ง สอง หรือ สาม เราทุกคนจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติบนโลกใบนี้โดยไม่มีการแก่งแย่งชิงดีและทำลายโลกอีกต่อไป พลังงานจากแสงอาทิตย์และลมจะทำให้พลังงานจากฟอสซิลกลายเป็นอดีตที่ไม่มีใครจำได้ และสงครามคืออดีตที่อยู่ในประวัติศาสตร์เพียงเท่านั้น

เป็นไปได้จริงๆ ไหม?

แน่นอนว่าภาพฝันยูโทเปียของบัสตานีมีทั้งโอกาสที่เป็นจริงได้และเป็นไปไม่ได้ อาจเป็นความเพ้อฝันที่หวังว่าโลกของเราใบนี้จะหลุดพ้นจากสิ่งที่เรียกว่า ‘capitalism’ หรือ ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่เราคุ้นเคยกันดีในปัจจุบัน ที่เน้นการผลิตทุกสิ่งทุกอย่างออกมาอย่างมากมายล้นเหลือ แต่ผลผลิตของระบบนี้แม้จะเยอะขนาดไหน ก็ไม่ได้ถูกแบ่งปันกันอย่างเท่าเทียม ระบบทุนนิยมถูกสร้างขึ้นมาเพื่อผลกำไร ทรัพยากรถูกใช้เพื่อการันตีรายได้ที่จะกลับมามากกว่าเดิม เพื่อจะครอบครองทุกอย่างให้มากที่สุดผ่านหยาดเหงื่อของแรงงานมนุษย์พนักงานทุกคน ผลลัพธ์ปลายทางแล้วอาจจะเป็นจุดที่ทุกคนมีเท่าไหร่ก็ไม่พอ อยากมีมากขึ้นอีก ทรัพยากรถูกขุดถูกใช้อย่างฟุ่มเฟือยเพียงเพื่อสร้างความมั่งคั่งและโลกใบนี้ก็เลวร้ายลงเรื่อยๆ

เราเห็นคนรุ่นใหม่ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาไม่เพียงต้องการที่จะดูแลโลกใบนี้ให้คงอยู่ต่อไปเท่านั้น พวกเขาแคร์เรื่องของสภาพความเป็นอยู่ ความฝันที่อยากทำเมืองที่น่าอยู่ เมืองที่ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาแล้วเต็มไปด้วยมลภาวะทางอากาศที่สิ่งมีชีวิตแทบจะอาศัยอยู่ไม่ได้อีกต่อไป พวกเขาอยากจะมีอนาคตที่ดีขึ้นมากกว่ารุ่นก่อนๆ ที่ถูกทำร้ายและทำลายจนเสียหายยับเยิน พวกเขามีความสามารถและข้อมูลมากมายที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดีขึ้นได้ และควรได้รับการสนับสนุน

หลายคนอาจจะมองว่าบัสตานีฝันลมๆ แล้งๆไม่มีทางเกิดขึ้นได้หรอก มนุษย์มีความต้องการที่ซับซ้อน มีอีกหลายประเด็นที่ยังต้องถกเถียงอย่างเรื่องการรักษากฎหมาย เรื่องการดูแลรักษาโรค เรื่องระเบียบของสังคม ฯลฯ ทุกอย่างจะเป็นอย่างไรในโลกในอุดมคติแห่งนี้ ถ้ากลายเป็นลัทธิคอมมิวนิสต์หรูหราอัตโนมัติเต็มรูปแบบได้จริงๆ ผลเสียที่ตามจะเป็นอย่างไรกัน?

เราไม่มีทางรู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง สิ่งที่เขาคิดนั้นจะมีทางเป็นจริงไหม โลกที่ทุกคนมีอิสระ ได้ทำตามความฝันและงานอดิเรกที่ตัวเองอยากทำ โลกที่สมบูรณ์และทุกคนอยู่กันอย่างมีความสุข ดูเกินจริงและแทบจะนึกไม่ออกเลยว่าเราจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร แต่อย่างน้อยๆ ความฝันของเขาถ้าเป็นจริงได้ก็คงเป็นความฝันที่ดีไม่น้อยเลยทีเดียว


A Future Without Work: Fully automated luxury communism could give us our lives back.

The Future and the End of Planet Earth: What will happen in the next few billion years?

Keynes Predicted We Would Be Working 15-Hour Weeks. Why Was He So Wrong?

Thousands of employees are testing a 4-day workweek starting today: ‘It’s inevitable we’ll see bigger companies doing this’

The 4-day workweek: Who is trialing it and does it work?

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save