fbpx
Frozen Youth : โกงความเยาว์ด้วยวัยสาวที่ถูกแช่แข็ง

Frozen Youth : โกงความเยาว์ด้วยวัยสาวที่ถูกแช่แข็ง

โสภณ ศุภมั่งมี เรื่อง

 

นี่คือความเป็นไปได้อย่างหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้น : วันหนึ่งในอนาคตไม่ไกลจากตอนนี้ หญิงสาววัยเยาว์เมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต สมมติว่าอาจจะสัก 21 ปี เข้าไปตรวจร่างกายตามปกติ ในเวลาเดียวกันนั้นก็ผ่านกระบวนการตัดเก็บเนื้อเยื่อบางส่วนของรังไข่ หลังจากนั้นคุณหมอจะแบ่งเนื้อเยื่อเหล่านี้ออกเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ ขนาดเล็กระดับไมครอนสักครึ่งโหล แช่แข็งเก็บเอาไว้ เผื่อเวลาที่ผู้หญิงคนนั้นต้องการมีลูก  รังไข่ของพวกเธอยังทำงานตามปกติต่อไป ประจำเดือนยังมาตามปกติ การตกไข่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่พวกเธอไม่ต้องห่วงอีกต่อไปคือการเร่งรีบตั้งครรภ์ตอนที่ยังไม่พร้อม ตารางชีวิตของพวกเธอไม่ต้องเดินตามที่ขีดไว้โดยนาฬิกาของธรรมชาติอีกต่อไป

 

เวลาผ่านไป…อาจจะอีก 10 – 20 ปี หลังจากทำงานและทำตามความฝันที่ตั้งใจไว้ ผู้หญิงเหล่านี้พร้อมแล้วในการเริ่มต้นชีวิตครอบครัว เธอนึกขึ้นได้ว่าขณะที่ถุงเก็บเซลล์ไข่ (follicle) ตามธรรมชาติในร่างกายของเธอสมบูรณ์น้อยลงเรื่อยๆ (เมื่อผู้หญิงอายุ 25 ปี มีถุงเก็บเซลล์ไข่เหลืออยู่ในรังไข่ประมาณ 60,000 หน่วย และจะลดลงเหลือ 8,000 หน่วย เท่านั้นเมื่ออายุ 40 ปี) เธอมีเนื้อเยื่อของรังไข่ในวัยสาวที่แช่แข็งเอาไว้ ในเนื้อเยื่อบางๆ ขนาดไม่กี่ไมครอนนั้นบรรจุถุงเก็บเซลล์ไข่หลายพันถุงที่ถูกเก็บรักษาเอาไว้ตั้งแต่ยังมีสภาพสมบูรณ์ที่สุดในห้องแลปถุงเก็บเซลล์ไข่ของพวกเธอถูกเก็บไว้เหมือนเวลาหยุดลงตั้งแต่ถูกแช่แข็งและไม่เสื่อมสภาพตามกาลเวลา

วันนี้เธอกลับไปหาคุณหมอแล้วแจ้งความจำนงต้องการละลายน้ำแข็งจากเนื้อเยื่อชิ้นเล็กๆ หนึ่งชิ้นแล้วฝังมันกลับไปในรังไข่อีกครั้ง เนื้อเยื่อชิ้นนั้นคืนกลับเข้าไปสู่ระบบของร่างกาย สร้างฮอร์โมนที่เข้มข้นอีกครั้งเหมือนวันวานในวัยเยาว์​ และเปลี่ยนถุงเก็บเซลล์ไข่ให้กลายเป็นไข่ที่สมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง ทุกๆ รอบเดือนก็จะได้ไข่ของหญิงสาววัย 21 ปีที่สมบูรณ์พร้อมสำหรับการปฎิสนธิ แน่นอนว่าในสถานการณ์ที่เหมาะเจาะมันจะกลายเป็นตัวอ่อนและเติบโตต่อไปเป็นเด็กที่แข็งแรงในที่สุด และตามทฤษฎีแล้วเนื้อเยื่อชิ้นนี้จะค่อยๆ ปล่อยฮอร์โมนและสร้างไข่ที่แข็งแรงออกมาเรื่อยๆ นานหลายปีพอที่จะให้ผู้หญิงคนนี้ ที่อาจจะอายุ 45 ปีหรือมากกว่านั้น สามารถตั้งครรภ์และมีลูกได้อีกหลายคน

ต่อไปในอนาคตคอมโบความโหดร้ายของตารางเวลาของธรรมชาติจะไม่กระทบการเทือนการใช้ชีวิตของผู้หญิงอีกต่อไป

แน่นอนว่าการใส่เนื้อเยื่อกลับเข้าไปครั้งแรกอาจไม่ได้ผล ผู้หญิงคนนี้อาจยังไม่ตั้งครรภ์และฮอร์โมนก็หมดลงไปด้วย โชคดีที่เรามีเนื้อเยื่อสำรองอีกหลายชิ้น ซึ่งคุณหมอจะละลายน้ำแข็งแล้วฝังใหม่อีกครั้งหนึ่ง หรือบางทีผู้หญิงคนหนึ่งอาจจะไม่ได้ต้องการใช้เนื้อเยื่อเหล่านี้เพื่อการตั้งครรภ์ตั้งแต่แรก หรือบางทีเธออาจมีลูกเองแล้วตามธรรมชาติก่อนหน้านี้ เธอสามารถที่จะใช้เนื้อเยื่อแช่แข็งเหล่านี้เพื่อจุดประสงค์อื่น เช่นการเลื่อนการหมดประจำเดือนหรือวัยทองออกไปอีกหลายสิบปี ถ้าผู้หญิงคนนั้นอยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป เธอตัดสินใจเลือกที่จะละลายเนื้อเยื่อที่แช่แข็งออกมาชิ้นหนึ่ง ฝังมันลงไปใต้ผิวหนังที่บริเวณท้องแขน ต่อจากนั้นมันก็ค่อยๆ ปล่อยฮอร์โมนเอสโตรเจน  (ฮอร์โมนเอสโตรเจนมีหน้าที่สำคัญในการควบคุมลักษณะเพศหญิง) และฮอร์โมนทางเพศอื่นๆ ที่เลียนแบบวงจรการทำงานของร่างกายของหญิงวัยสาว ในทางทฤษฎีอีกเช่นกันที่การทำแบบนี้จะมีผลข้างเคียงที่น้อยกว่าการใช้ฮอร์โมนเทียมที่สร้างขึ้นมาทดแทน เธอจะยังมีประจำเดือนเหมือนเดิมทุกเดือน อาจจะยุ่งยากนิดหน่อย แต่ในเวลาเดียวกันก็ทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นโรคประจำตัวอื่นๆ ซึ่งมักตามมาหลังจากการหมดประจำเดือนอย่างโรคหัวใจและโรคกระดูกพรุนลดลง โรคเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากการลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายด้วยเช่นกัน

ต่อไปในอนาคตคอมโบความโหดร้ายของตารางเวลาของธรรมชาติจะไม่กระทบการเทือนการใช้ชีวิตของผู้หญิงอีกต่อไป ไม่จำเป็นอีกแล้วที่ต้องมีลูกก่อนอายุ 35 ปี ไม่ต้องเผชิญกับพายุอารมณ์ของการหมดฮอร์โมนและความเสี่ยงต่อสุขภาพในวัยหลัง 50 ปี อีกต่อไป มันจะเป็นการปลดปล่อยและเพิ่มทางเลือกให้ผู้หญิงทุกคนบนโลกใบนี้

นี่คือความจริงที่เป็นอยู่ในเวลานี้ : ที่ Center of Human Reproduction ในเมืองนิวยอร์ก มีห้องที่เต็มไปด้วยกล่องสี่เหลี่ยมที่กำลังลดอุณหภูมิของเนื้อเยื่อของรังไข่ที่เก็บมาก่อนจะถูกย้ายไปยังกล่องเหล็กรูปทรงเหมือนหุ่นยนต์ R2-D2 ใน Star Wars เพื่อเข้าสู่กระบวนการแช่แข็ง ในกล่องเหล็กเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นตัวอ่อนเอมบริโอ ไข่และสเปิร์ม ไม่ใช่เนื้อเยื่อรังไข่เหมือนที่คาดคิด เหตุผลเพราะว่ากระบวนการผ่าตัดเก็บเนื้อเยื่อนั้นมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงและต้องนอนโรงพยาบาล ซึ่งถ้าเทียบกับการผ่าตัดเก็บเนื้อเยื่อของลูกอัณฑะของผู้ชาย ที่สามารถสอดกล้องแล้วตัดเก็บออกมาได้เลย ของผู้หญิงถือว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากกว่ามาก แต่ความคาดหวังคือในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีทางการแพทย์พัฒนาไปไกลขึ้น กระบวนการตัดเก็บเนื้อเยื่อของผู้หญิงจะถูกลงและรวดเร็วเหมือนกับผู้ชาย (แถมการฝังเนื้อเยื่อกลับเข้าไปในร่างกายของผู้หญิงก็ต้องใช้การผ่าตัดอีกเช่นกัน)

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้คือ เราอยู่ในโลกที่กระบวนการผ่าตัดเก็บเนื้อเยื่อรังไข่และแช่แข็งสามารถเกิดขึ้นได้จริงๆ และภายหลังยังสามารถฝังมันกลับเข้าไปในร่างกายได้อีกครั้งหนึ่ง แต่ถ้ามองเพียงผิวเผินแบบนี้มันก็ดูตื้นเขินจนเกินไป ที่จริงแล้วกระบวนการนี้ถูกคิดค้นขึ้นมาสำหรับผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง คนที่กำลังเข้าสู่กระบวนการรักษาเนื้อร้ายที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะทำให้พวกเธอหมดโอกาสตั้งครรภ์ได้อีก ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนี้สามารถให้กำเนิดเด็กทารกมาแล้วประมาณ 100 ชีวิต ตั้งแต่ปี 2004 แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามทีการเข้ารับการผ่าตัดเก็บเนื้อเยื่อรังไข่ยังคงถือว่าอยู่ในขั้นตอนทดลองและไม่แนะนำให้ทำในผู้หญิงที่สุขภาพแข็งแรงอย่างไม่จำเป็น

แต่ผู้เชี่ยวชาญอย่าง ​Sherman Silber ผู้อำนวยการของ Infertility Center of St.Louis บอกว่าอีกไม่นานการแช่แข็งเนื้อเยื่อรังไข่นั้นจะกลายเป็นรูปแบบใหม่ของสิ่งที่เรียกว่า “Social Freezing” (หรือบางคนก็เรียกว่า “AGE Freezing” ที่ AGE ย่อมาจาก Anticipated Gamete Exhaustion) ซึ่งในที่นี้คือผู้หญิงที่สุขภาพแข็งแรงดีพยายามที่จะยืดช่วงเวลาที่สามารถตั้งครรภ์ออกไปไม่ใช่เพราะสาเหตุทางการแพทย์แต่เพิ่มทางเลือกและให้เวลากับตัวเองสำหรับการมีลูกเมื่อพร้อมจริงๆ แล้วเท่านั้น ทางเลือกเดียวที่จะทำแบบนี้ได้ในเวลานี้คือการแช่แข็งไข่ของตนเอง ซึ่งผู้หญิงในอเมริกาจำนวนกว่า 6,200 คน เลือกที่จะทำในปี 2015

กระบวนการนี้ยังคงมีค่าใช้จ่ายสูง แถมมาพร้อมความไม่แน่นอนอีกด้วย จากตัวเลขตามรายงาน ไข่ที่ถูกเก็บก่อนอายุ 38 ปี มีโอกาสเพียง 2-12% เท่านั้นที่จะกลายเป็นเด็กที่สมบูรณ์ในอนาคต แถมผู้หญิงเหล่านี้ยังต้องฉีดยาเพิ่มฮอร์โมนเพื่อสร้างปริมาณไข่ที่มากกว่าเดิมถึง 10 เท่า ซึ่งจะทำให้พวกเธอมีอารมณ์แปรปรวน เวียนหัว ปวดท้อง และมีโอกาสจะมีอาการรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป (Ovarian Hyperstimulation Syndrome) แถมยังพ่วงมาด้วยโอกาสในการเกิดมะเร็งรังไข่และมะเร็งเต้านมอีกด้วย

ยิ่งอยู่ในช่วงวัยทองนานเท่าไหร่ยิ่งทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุน โรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น การใช้เนื้อเยื่อรังไข่ที่เก็บมาเพื่อการนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่มีเหตุผลที่หนักแน่นพอสมควร

ในตอนนี้ผู้หญิงเลือกมีลูกช้าลงมากขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2016 มีผู้หญิงเลือกเป็นแม่คนเป็นครั้งแรกเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ถึง 26,000 คน ซึ่งถือมากขึ้นกว่าอัตราปี 2001 ถึง 30%

นี่เป็นตัวเลขที่จะทำให้บริษัทที่อยู่ในธุรกิจนี้ตาโต ทุ่มเงินวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีตัดเก็บเนื้อเยื่อรังไข่ให้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากกว่าการแช่แข็งไข่โดยตรง อย่างน้อยๆ ผู้หญิงเหล่านี้ก็ไม่ต้องฉีดฮอร์โมนกระตุ้นที่รุนแรงอีกต่อไป เพราะตามทฤษฎีแล้วเนื้อเยื่อรังไข่เมื่อใส่กลับเข้าไปจะเริ่มทำงานภายใน 4-5 เดือน และสุดท้ายก็ตั้งครรภ์ด้วยวิธีแบบดั้งเดิมที่คุ้นเคย

Roger Gosden ผู้พัฒนาเทคโนโลยีแช่แข็งเนื้อเยื่อรังไข่ของแกะในช่วงปี 90’s บอกว่าเขาเป็นห่วงว่า social freezing นั้นจะถูกต่อต้านเหมือนกับที่กระบวนการแช่แข็งไข่ในตอนนี้เจอ เพราะอย่างที่รู้กันดีว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ได้จำเป็นทางการแพทย์ มันเป็นแค่สิ่งที่ทำให้ชีวิตสะดวกสบายโดยมีความเสี่ยงเพียงเล็กน้อย และแถมไม่พอมันอาจจะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าอื่นๆ อย่างการกำเนิดเด็กด้วยเสต็มเซลล์เมื่อไหร่ก็ตามที่ต้องการ (ลองหาอ่านกันได้นะครับ ประเด็นการให้กำเนิดเด็กโดยไม่ใช้ทั้งไข่และสเปิร์มนี้สนุกดี)

 

แต่ก็ต้องยอมรับว่าสุดท้ายแล้วผลประโยชน์ของการผ่าตัดเก็บเนื้อเยื่อของรังไข่นั้นอาจเป็นเรื่องสุขภาพช่วงหมดวัยประจำเดือน เพราะยิ่งอยู่ในช่วงวัยทองนานเท่าไหร่ยิ่งทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุน โรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น การใช้เนื้อเยื่อรังไข่ที่เก็บมาเพื่อการนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่มีเหตุผลที่หนักแน่นพอสมควร แต่ก็อีกนั่นแหละผู้หญิงที่ต้องการมีลูกเมื่ออายุเกินวัย 40 ไปแล้วก็คงต้องการมีกระดูกที่แข็งแรง หัวเข่าและหลังที่พร้อมลุกนั่ง หัวใจที่ปั้มเลือดได้อย่างไม่มีปัญหา เพื่อเลี้ยงดูและอุ้มลูกตัวน้อยๆ ที่รอคอยมานานเช่นกัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save