fbpx
อินเดียนอก / ก่อนอินเดีย

อินเดียนอก / ก่อนอินเดีย

ยุกติ มุกดาวิจิตร เรื่องและภาพ

เคยสนใจกันไหมครับว่า ‘อินเดีย’ และ ‘ฮินดู’ เกี่ยวข้องกันอย่างไร รู้ที่มาของสองชื่อนี้ไหม แล้วเคยได้ยินชื่อแม่น้ำ ‘สินธุ’ ไหมครับ รู้ไหมว่าชื่อนี้เกี่ยวอะไรกับอินเดียอย่างไร รู้ไหมว่าแม่น้ำนี้ปัจจุบันไม่ได้อยู่ในอินเดีย รู้ไหมว่าก่อนฮินดูและยุคพระเวท ดินแดนนั้นเป็นอย่างไร เคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับชาวอารยันลงมาครองอินเดียไหม รู้ไหมว่าทฤษฎีนี้น่ะหมดความน่าเชื่อถือไปนานแล้วหลังการค้นพบแหล่งอารยธรรมโบราณลุ่มน้ำสินธุ

ผมรับมรดกของคำถามเหล่านี้มาตั้งแต่ตอนไปศึกษาปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ที่ผมได้เรียนวิชาโบราณคดีเอเชียใต้กับศาสตราจารย์ โจนาธาน มาร์ค เคโนเยอร์ (Jonathan Mark Kenoyer) ผู้เชี่ยวชาญลุ่มน้ำสินธุ ที่หากใครเขียนถึงดินแดนนี้ก็ต้องอ้างงานเขา เรื่องราวของแหล่งโบราณคดีลุ่มน้ำสินธุยังติดตาตรึงใจผม จนทำให้คิดว่า สักวันหนึ่ง ผมต้องไปเยือนที่นั่นให้จงได้ จนได้ไปเยือนจริงเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง

ภาพแม่น้ำสินธุ
ภาพแม่น้ำสินธุ

การเดินทางไปลุ่มน้ำสินธุของผมที่จริงก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร ผมและคณะที่เดินทางไปด้วยกันขึ้นเครื่องบินจากกรุงเทพฯ ไปเมืองละฮอร์แห่งปัญจาบ ปากีสถาน แล้วบินต่อไปยังสนามบินเมืองซักเคอร์ (Sukkur) ซึ่งมีรถมารับเราไปยังเมืองลาร์คานา (Larkana) ที่ตั้งอยู่ใกล้โมเฮนโจ-ดาโร เมืองสำคัญของอารยธรรมสินธุ

เมื่อเครื่องบินบินเข้าไปยังเขตลุ่มน้ำสินธุ ผมมองลงมายังเบื้องล่างจึงได้เห็นถึงความกว้างใหญ่ไพศาลของแม่น้ำสินธุ ซึ่งแลดูเหมือนแทรกผ่านไร่นาสลับกับผืนทรายสุดลูกหูลูกตา ในวินาทีแรกๆ ที่ลงจากเครื่องบิน ประสบการณ์แรกเริ่มคือการได้สัมผัสความร้อนระดับ 45 องศาเซลเซียส ดินแดนนี้ได้ชื่อว่าร้อนที่สุดแห่งหนึ่งในปากีสถาน ผมจะต้องอยู่กับความร้อนแบบนี้ไปอีก 3 วันข้างหน้า นึกสงสัยว่าผู้คนที่นี่เขาอยู่กันได้อย่างไร แต่ความร้อนของที่นี่ก็มีความพิเศษตรงที่เป็นความร้อนแห้ง ซึ่งผมว่าทนได้มากกว่าความร้อนชื้นแบบเมืองไทย

รถยนต์พาคณะของเราวิ่งผ่านบ้านเรือนที่ปลูกท่ามกลางไร่นาและผืนทราย บ้านช่องแลดูคล้ายๆ กัน ไม่สูงชลูด กระจุกตัวกันเป็นหย่อมๆ ที่สำคัญคือรูปทรง วัสดุ และการก่อสร้าง ดูไปก็คล้ายๆ กับบ้านเรือนที่สร้างจากอิฐเผาที่ผมเคยเห็นจากรูปถ่ายฮารัปปาและโมเฮนโจ-ดาโร ระหว่างทางนอกจากจะเพลิดเพลินกับการเฝ้ามองงานศิลปะพื้นบ้านบนท้องถนน คือรถบรรทุกที่ตกแต่งด้วยโลหะตัดแล้ววาดรูปลงสีฉูดฉาดอย่างไม่ซ้ำกันสักคันหนึ่ง และหาจังหวะถ่ายภาพรถลากเทียมลาที่ทั้งชวนให้รู้สึกเอ็นดูปนเวทนา ผมก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมดินแดนที่แลดูแห้งแล้งแถมอากาศร้อนระอุราวอยู่ในเตาอบนี้จึงอุดมไปด้วยสวนผลไม้ สองข้างทางมีผลไม้ตามฤดูกาลขายมากมาย ทั้งพีช แตงโม มะม่วง และที่ยิ่งมีมากคืออินทผาลัม ซึ่งมีแหล่งผลิตหลักอยู่ที่นี่ สรุปแล้วดินทรายที่ดูแห้งแล้งนี้แท้จริงแล้วอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง น่าจะเพราะมีแม่น้ำสินธุไหลผ่านจากดินแดนไกลโพ้นทางเหนือ

สินธุเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดของปากีสถาน และนับว่าเป็นหนึ่งในแม่น้ำสายที่ยาวที่สุดในโลก ไหลเรื่อยลงมาจากทิเบต ผ่านส่วนเสี้ยวของอินเดียตอนเหนือ เข้าไปหุบเขาในแคชเมียร์ เข้าปากีสถานทางเหนือ ไหลเรื่อยลงมาตอนกลางค่อนไปทางตะวันตกของปากีสถาน พาดผ่านลงมายังดินแดนสินธุ แล้วไปลงทะเลอาหรับ สินธุคือสายน้ำที่เป็นใจกลางของประเทศปากีสถานในปัจจุบัน

ชื่อเรียก ‘สินธุ’ (Sindhu) เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่าแม่น้ำ ซึ่งโดยมากแล้วก็หมายถึงแม่น้ำสินธุนี่แหละ ชาวเปอร์เชียนเคยครองดินแดนนี้ในราว 500 ปีก่อนคริสตกาล แต่เปอร์เชียนเรียกดินแดนนี้เป็น ‘ฮินดู’ (Hindu) ซึ่งหมายถึงเฉพาะอาณาบริเวณในทางภูมิศาสตร์ ไม่ได้หมายถึงผู้คน จากนั้นไม่ว่าจะชาวกรีก โรมัน หรืออาหรับ ก็จะเรียกดินแดนนี้ว่า ‘ฮินดูสถาน’ (Hindustan) หรือ ‘อินโดสถาน’ (Indostan) ชื่อฮินดูกลายมาเป็นชื่อศาสนาได้อย่างไรนั้น เป็นความเข้าใจในยุคหลังๆ มาก เพราะในช่วงคริสต์สหัสวรรษแรก (ก่อน ค.ศ. 1000) นั้น ผู้คนในดินแดนนี้แบ่งแยกออกเป็นวรรณะต่างๆ จึงไม่มีใครถือว่าทุกคนเป็นฮินดูเหมือนกันได้

จนกว่าจะถึงสหัสวรรษที่ 2 (ก่อน ค.ศ. 2000) นั่นแหละที่ความหมายของคำนี้เริ่มใกล้เคียงกับความหมายปัจจุบัน มีการบันทึกชื่อฮินดูในภาษาอังกฤษเมื่อ ค.ศ. 1655 ว่าหมายถึง “คนที่อาศัยในอินโดสถาน ที่โดยมากไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์ โดยทั่วๆ ไปเรียกว่า ชาวฮินดู (Hindoes)” พอถึงศตวรรษที่ 18 ชื่อนี้ก็ขยายไปครอบคลุม ‘ความเชื่อแบบฮินดู’ (Hindooism) แล้วในศตวรรษที่ 19 ‘ศาสนาฮินดู’ (Hinduism) ก็กลายเป็นชื่อเฉพาะของศาสนา แยกต่างหากจากศาสนาอื่นๆ อย่างพุทธ เชน และซิกข์ (ดูหนังสือของ Andrew Robinson ชื่อ The Indus: Lost Civilizations หรือ ‘สินธุ : อารยธรรมที่สูญหาย’ พิมพ์ปี ค.ศ. 2017 หน้า 176-177) สรุปแล้วชื่อฮินดู อินเดีย ก็มาจากชื่อสินธุดั้งเดิมนี่เอง

ชุมชนแรกเริ่มของอารยธรรมสินธุอายุราว 5,500 ปีที่แล้ว ยุครุ่งเรืองที่สุดอายุราว 4,600-3,900 ปีที่แล้ว แล้วเริ่มเสื่อมลงเมื่อ 3,900-3,700 ปีที่แล้ว ขอบเขตของอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุนั้นกว้างขวางมาก เฉพาะเมืองใหญ่สองเมืองที่ติดต่อกันใกล้ชิดในอดีต ได้แก่ เมืองฮารัปปา (Harappa) และโมเฮนโจ-ดาโร (Mohenjo-Daro) นั้น ก็ไกลกันถึง 600 กิโลเมตรแล้ว และยังกินอาณาบริเวณไปจนถึงปากแม่น้ำสินธุติดทะเลอาหรับ การเดินทางไปครั้งนี้ ผมจึงได้ไปแค่ส่วนเสี้ยวเดียว คือไปเยือนโมเฮนโจ-ดาโร

อารยธรรมลุ่มน้ำสินธุนี้นับว่าเป็นอารยธรรมยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติยุคโบราณ ซึ่งถูกค้นพบค่อนข้างล่าช้าเมื่อเทียบกับการค้นพบอารยธรรมอียิปต์บนลุ่มน้ำไนล์ และอารยธรรมเมโสโปเตเมียบนลุ่มน้ำไทกรีส-ยูเฟรทีส ที่เป็นที่รู้จักกันมาก่อนเนิ่นนานแล้ว แม้แต่อเล็กซานเดอร์มหาราชผู้นำทัพมายึดครองถึงปากีสถานและอินเดีย (300 ปีก่อนคริสตกาล) พระเจ้าอโศกกษัตริย์ผู้สร้างความยิ่งใหญ่ให้พุทธศาสนาในปากีสถานและอินเดีย (300-200 ปีก่อนคริสตกาล) หรือแม้แต่ชาวอาหรับและราชวงศ์โมกุลแห่งเอเชียใต้ (ค.ศ.16-19) ล้วนแล้วแต่ยังไม่เคยได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของอารยธรรมสินธุ จนกระทั่งราวปลายศตวรรษที่ 19 จึงได้ค้นพบแหล่งอารยธรรมแห่งนี้ และนั่นจึงทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับเอเชียใต้ที่เคยรู้กันมาต้องปรับแนวคิดกันยกใหญ่

ก่อนหน้าการพบอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ ความเข้าใจเกี่ยวกับความเจริญรุ่งเรืองของเอเชียใต้อยู่ภายใต้ทฤษฎี ‘อารยัน’ ที่ว่า ชาวอารยันเป็นผู้นำความเจริญที่เหนือกว่าชนพื้นเมืองเอเชียใต้ เข้ามาในดินแดนเอเชียใต้แล้วปกครองชนพื้นเมืองผิวคล้ำที่ด้อยความเจริญกว่า ทฤษฎีนี้นับเป็นมุมมองแบบคนซีกโลกตะวันตก ที่ลดทอนความสำคัญของท้องถิ่นในเอเชียใต้ ถือว่าคนซีกโลกตะวันตกเจริญกว่าคนซีกโลกตะวันออก แนวคิดนี้ตกทอดมากลายเป็นแนวคิดเหยียดเชื้อชาติ เหยียดชนพื้นเมืองในเอเชียใต้และชาวเอเชียทั่วไป แถมความคิดแบบนี้ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ไม่เว้นแม้คนไทยหลายคน ชาวยุโรป อเมริกันจำนวนมาก ก็ยังเข้าใจแบบนี้กันอยู่ ทั้งๆ ที่กว่าชาวอารยันจะเข้ามาในเอเชียใต้ ยุครุ่งเรืองของลุ่มน้ำสินธุเพิ่งจะเริ่มเสื่อมลง ซึ่งก็ไม่ใช่เสื่อมด้วยการเข้ามารุกรานของชาวอารยัน

ตราประทับแห่งอารยธรรมสินธุ จัดแสดงที่มหาวิทยาลัยชาห์ อับดุล ลาทิฟ
ตราประทับแห่งอารยธรรมสินธุ จัดแสดงที่มหาวิทยาลัยชาห์ อับดุล ลาทิฟ

หลังจากได้สัมผัสความร้อนและชีวิตในผืนทรายบ้างแม้เพียงผิวเผินผ่านตา ผมก็ได้ไปเยือนมหาวิทยาลัยชาห์ อับดุล ลาทิฟ แห่งไคร์เปอร์ (Shah Abdul Latif University, Khairpur) นอกจากคณาจารย์ระดับรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยนี้จะเลี้ยงอาหารกลางวันพร้อมร่วมรับประทานอาหาร คุณูปการสำคัญคือ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาและโบราณคดี ซึ่งเก็บสะสมและจัดแสดงโบราณวัตถุแห่งโมเฮนโจ-ดาโรอีกด้วย

ณ ที่นี้เองที่ผมได้เห็นและได้สัมผัส ‘ตราประทับ’ ซึ่งเป็นโบราณวัตถุอันเลื่องชื่ออย่างหนึ่งของอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ เดี๋ยวผมจะขยายความเรื่องตราประทับนี้ภายหลัง จากนั้นเจ้าถิ่นก็พาพวกเราไปเยือนป้อมปราการของเจ้าครองนครหนึ่ง เรียกว่าป้อม ‘โกด ดิจิ’ (Kot Diji Fort) สร้างขึ้นเมื่อปลายศตวรรษที่ 18 ทำให้ได้เห็นความสืบเนื่องของการใช้อิฐก่อสร้างสถาปัตยกรรมที่แข็งแรง ใหญ่โต จนชวนให้นึกว่า เป็นไปได้ไหมว่าป้อมปราการแห่งนี้จะสืบทอดการก่ออิฐมาจากยุคโบราณหลายพันปีก่อน

เช้าวันรุ่งขึ้น พวกเราตื่นเต้นที่จะได้ไปเยือนโมเฮนโจ-ดาโร หรือ ‘เนินแห่งความตาย’ ตามความหมายในภาษาซินธ์ (Sindh) ที่พักของพวกเรา ซึ่งเป็นเกสต์เฮาส์ของทางการที่คุณภาพสามัญแต่บริการด้วยจิตวิญญาณชาวซินธ์ ชงชานมควายแสนอร่อยและทำอาหารเอเชียใต้รสชาติคมเข้ม อยู่ไม่ไกลจากใจกลางเมืองโมเฮนโจ-ดาโร เราออกจากที่พักแต่เช้า ใช้เวลาราวครึ่งชั่วโมง ก็มาถึงปากทางเข้าโมเฮนโจ-ดาโร ผมตื่นเต้นจนลืมความร้อน 46 องศาเซลเซียส ซึ่งนักโบราณคดีส่วนมากยืนยันว่าไม่ได้ร้อนไปกว่าในอดีตเมื่อหลายพันปีมาแล้วเลย นี่ยังไม่นับว่าหากเดินอยู่กลางแดดแล้วจะร้อนขึ้นอีกสักเท่าไหร่

โมเฮนโจ-ดาโรทั้งหมดมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลกว่าที่เห็นมากนัก พื้นที่ที่ขุดค้นเปิดออกมาให้เห็นนี้เป็นเพียงบางส่วนของพื้นที่ทั้งหมดของนครรัฐแห่งนี้ แต่เฉพาะที่เปิดให้ชมและเดินไปมาได้จริงๆ ก็ยังน้อยกว่าที่ขุดค้นและที่แลเห็นได้ด้วยตาด้วยซ้ำ จากทางเข้า ด้านขวาเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดค่อนข้างใหญ่ ติดกันคืออาคารสำนักงาน บริเวณทางเข้านี้ปลูกต้นไม้อย่างร่มรื่น พวกเราเดินผ่านหุ่นจำลอง ‘วัวเขาเดียว’ ‘นางระบำ’ ‘พระ-เจ้านคร’ ที่สร้างโดยขยายสัดส่วนขนาดใหญ่ราวกับอนุสาวรีย์ อยู่ก่อนถึงตัวเมืองโบราณ แล้วจึงก้าวเข้าไปสู่ตัวเมืองอันร้อนระอุ พื้นที่ทั้งหมดที่เห็นและเข้าไปเดินได้นั้น เป็นกลุ่มสถาปัตยกรรมที่อัดแน่นและเชื่อกันว่าเป็นใจกลางเมืองโมเฮนโจ-ดาโร

ภายในตัวเมือง ให้ความรู้สึกเหมือนเรายืนรายล้อมไปด้วยสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่ต้องเพ่งพินิจตามคำอธิบายของไกด์ที่นี่ เราจึงจะพอมองออกได้ว่าอะไรเป็นอะไร อย่างตรงยอดเนินนั่นเป็นสถูปที่สร้างทับแหล่งโบราณคดีนี้ภายหลังจากที่เมืองนี้เสื่อมลงไปนับพันปีแล้ว หากแต่สิ่งก่อสร้างที่เหลือซึ่งยังคงแข็งแรงด้วยอิฐเผาขนาดพอๆ กัน ก่อเรียงรายเป็นกำแพงแบ่งแยกพื้นที่ส่วนต่างๆ แบ่งตามการใช้สอยที่ต่างกันไป เช่น ตรงที่เป็นห้องใหญ่ด้านหนึ่งนั้น เป็นที่เก็บธัญพืช ห้องที่ดูเป็นโถงลึกลงไปคือบ่ออาบน้ำในพิธีกรรมขนาดค่อนข้างใหญ่ ห้องเล็กๆ จำนวนมากนั่นเป็นที่พักอาศัย มีห้องน้ำห้องส้วมในตัว ข้างทางเดินมีรางน้ำ เป็นท่อส่งน้ำดีบ้าง ระบายน้ำทิ้งบ้าง ส่วนที่ดูคล้ายหอคอยไกลออกไป เป็นบ่อน้ำ ด้านหนึ่งเป็นที่พักอาศัยของชนชั้นสูง อีกฝั่งเป็นที่พักของคนชั้นล่างลงมา เมื่อนำเอาภาพปัจจุบันเหล่านี้ไปจินตนาการต่อกับภาพวาดในพิพิธภัณฑ์ ผมจึงมองเห็นภาพใจกลางของเมืองโบราณที่ถูกฝังกลบไว้นานกว่า 3,500 ปีมาแล้ว ความหนาแน่นของเมืองในยุคนั้น ไม่มีเมืองไหนเกินโมเฮนโจ-ดาโรแห่งนี้อีกแล้ว

โมเฮนโจ-ดาโร เมื่อมองจาก 'บ่ออาบน้ำ'
โมเฮนโจ-ดาโร เมื่อมองจาก ‘บ่ออาบน้ำ’

แทนที่จะเปิดเผยให้เห็นคำตอบ การค้นพบอารยธรรมสินธุกลับทิ้งปริศนาไว้มากมาย เช่นว่า ในด้านสังคมและการเมือง สังคมนี้ไม่มีร่องรอยของสงคราม ไม่พบอาวุธเหล็กอย่างจริงจัง ไม่มีการสร้างปราการป้องกันข้าศึก ข้อนี้จึงต่างจากอารยธรรมขนาดใหญ่ในยุคเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเมโสโปเตเมีย อียิปต์ จีน หรือแม้แต่ในเอเชียใต้เองที่ยุคหลังๆ เต็มไปด้วยสงคราม อารยธรรมสินธุจึงดูจะเป็นอารยธรรมโบราณที่ไม่มีหลักฐานของการเป็นรัฐรวมศูนย์ขนาดใหญ่

ด้านเศรษฐกิจ อารยธรรมสินธุวางอยู่บนระบบการเกษตร อุตสาหกรรม และการค้า ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของลุ่มน้ำสินธุ ซึ่งมีเมืองใหญ่สองเมืองคือฮารัปปาและโมเฮนโจ-ดาโร ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ จึงมีการใช้ประโยชน์จากลำน้ำอย่างเต็มที่ หากแต่อารยธรรมสินธุไม่ได้สร้างระบบชลประทานผันน้ำเข้ามาทำการเกษตร อาศัยเพียงการจัดการน้ำท่วมในช่วงฤดูน้ำหลากเป็นหลัก มีการเก็บกักน้ำ แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สร้างเขื่อนหรือคลองทดน้ำ ใช้แค่ที่วิดน้ำเข้านาด้วยแรงคน ธัญพืชที่ปลูกส่วนมากเป็นข้าวฟ่าง มีการบริโภคข้าวป่าที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ส่วนปศุสัตว์ มีการเลี้ยงวัวและควายไว้ใช้งานและบริโภค สัตว์อื่นที่น่าจะใช้บริโภคคือแพะและแกะ ที่ใช้งานน่าจะมีหมา ส่วนช้างพบในตราประทับและดินเผาขนาดเล็ก นอกจากนั้นยังมีสัตว์คล้ายลา แต่ไม่มีม้า เพราะม้ามาเอเชียใต้หลังจากอารยธรรมสินธุสลายไปแล้ว

ในแง่อุตสาหกรรมและการค้า ชาวสินธุโบราณผลิตเครื่องปั้นดินเผา ทำงานไม้ งานโลหะ และเครื่องประดับ มีระบบการชั่งและการวัดที่แน่นอน อารยธรรมสินธุโดดเด่นที่การค้า ทั้งทางบก ทางเรือ และทางทะเลซึ่งไปไกลถึงอ่าวเปอร์เชียและเมโสโปเตเมีย สินค้าหลักได้แก่บรรดาผลงานหัตถอุตสาหกรรม หลักฐานบิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นชัดเจนถึงการติดต่อค้าขายกับอารยธรรมใหญ่ในยุคเดียวกัน ได้แก่ตราประทับของชาวเมโสโปเตเมีย ที่จารึกอักษรลิ่ม (cuneiform script) ของสุเมเรียน อ่านได้ความว่า “ซู-อิลิสุ ผู้เป็นล่ามภาษาสินธุ” (ดูหนังสือของโรบินสันที่อ้างแล้ว หน้า 102)  นอกจากนั้นยังพบตราประทับ ลูกปัด และหินถ่วงน้ำหนักของชาวสินธุโบราณในดินแดนเมโสโปเตเมีย แต่ที่น่าประหลาดใจคือ มาร์ค เคโนเยอร์ (อาจารย์ผมคนนั้นแหละ) กล่าวไว้ว่า “ไม่เคยพบสิ่งใดเลยที่ผลิตในเมโสโปเตเมียในดินแดนสินธุ” (หนังสือของโรบินสัน หน้าเดียวกัน) เป็นไปได้ว่าสินค้าเหล่านั้นจะเป็นจำพวกขนสัตว์หรือแม้แต่ธูป หรือสินค้าใช้แล้วย่อยสลายอื่นๆ จึงไม่เหลือหลักฐานให้ค้นพบ

ด้านศิลปวิทยาการ นอกจากสถาปัตยกรรมแล้ว อารยธรรมสินธุเป็นอารยธรรมเดียวที่ไม่ได้ทิ้งมรดกด้านอักษรศาสตร์ไว้ให้เลย ข้อนี้ต่างกับทั้งอารยธรรมยุคเดียวกันและกับอารยธรรมเอเชียใต้ยุคต่อๆ มา สินธุมีเพียงปริศนาของอักษรที่มักปรากฏหลงเหลืออยู่บนตราประทับ ตราประทับนับได้ว่าเป็นวัตถุที่ถูกค้นพบแรกๆ และนำความตื่นตะลึงแรกๆ มาสู่การค้นพบอารยธรรมสินธุ ตราประทับแรกที่พบและเผยแพร่โดยอเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม (Alexander Cunningham) ชาวอังกฤษผู้เป็นผู้อำนวยการคนแรกของ ‘คณะสำรวจโบราณคดีอินเดีย’ นั้น มาจากฮารัปปา พบในปี ค.ศ. 1875 เป็นหินสลักรูปวัว ไม่มีหนอก แต่มีเขาเดียวพุ่งยาวออกมาจากหน้าผาก จึงมักเรียกกันว่า ‘unicorn’ ในตราประทับนี้ยังมี ‘อักษร’ ที่ไม่เคยมีใครรู้จักมาก่อน รูปสลักบนตราประทับดังกล่าวนี้ก็เหมือนกับที่ผมถ่ายมาจากพิพิธภัณฑ์ของมหาวิทยาหนึ่งนั่นเอง

ตราประทับที่พบมักจะมีขนาดเล็ก ส่วนมากเล็กกว่าฝ่ามือ บางครั้งขนาดใหญ่เท่าฝ่ามือ ทำจากหินคุณภาพดี มักสลักลายเป็นสองส่วนคือ เป็นรูปสัตว์หรือรูปสิ่งมีชีวิตในจินตนาการ และอีกส่วนเป็นสัญลักษณ์คล้ายอักษร ตราประทับที่ผมเห็นและได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งให้หยิบจับนั้น มีขนาดกว้างยาวสัก 3 เซนติเมตรเท่านั้น หนาประมาณครึ่งเซนติเมตร ด้านหนึ่งผิวเรียบแล้วสลักเป็นรูปวัวและอักษร อีกด้านผิวหยาบมีลักษณะนูนแล้วเจาะรูเหมือนเอาไว้ใช้ร้อยเชือก ดังนั้นจึงสันนิษฐานกันว่า คนใช้ตราประทับเหล่านี้อาจจะแขวนคอไว้แล้วใช้ประทับตราเมื่อแสดงความเป็นเจ้าของวัตถุหรือเอกสารบางอย่าง ในส่วนของรูปสัตว์ นอกจากวัวเขาเดียวแล้ว ยังมีช้าง ควาย วัวมีหนอก เสือ แรด

หากกล่าวเฉพาะอักษร ส่วนใหญ่เกินกว่า 60% จะพบบนตราประทับ มีการศึกษาอักษรสินธุโบราณกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นอักษรที่ไม่เคยมีใครพบมาก่อนเลย อักษรสินธุโบราณคงจะไม่ใช่อักษรเสียงแบบอักษรพรามี ที่เป็นรากของอักษรเอเชียใต้แล้วส่งผ่านมายังอักษรต่างๆ ในอุษาคเนย์และอักษรไทย แต่หากพิจารณาลักษณะของความเป็นอักษร อักษรสินธุก็ไม่ใช่อักษรภาพอย่างสมบูรณ์แบบ อักษรสินธุโบราณมีอยู่ 425 ± 25 สัญลักษณ์ จำนวนเท่านี้ย่อมมากเกินกว่าจะเป็นอักษรเสียงที่มักมีสัญลักษณ์เพียงหลัก 10 แต่ก็ไม่มากพอที่จะเป็นอักษรภาพที่อย่างน้อยมักมีเกินกว่า 600 อักษร (เช่น อักษรลิ่มของสุเมเรียน) ถึง 800 อักษร (เช่น อักษรภาพของชาวมายา) อักษรสินธุโบราณจึงน่าจะเป็นอักษรที่ผสมทั้งอักษรภาพและอักษรเสียง แล้วอักษรนี้ถ่ายทอดเสียงภาษาอะไรล่ะ ปัจจุบันค่อนข้างมีข้อยุติว่าชาวสินธุโบราณน่าจะพูดภาษาดราวิเดียนดั้งเดิมในถิ่นเหนือ ปัจจุบันภาษาดราวิเดียนที่เรารู้จักกันดีคือภาษาทมิฬ ที่ใช้พูดกันทางตอนใต้ของอินเดียและศรีลังกา

ด้านศาสนา ก็ไม่พบศาสนสถานขนาดใหญ่ พบเพียงที่ประกอบพิธีกรรม และรูปปั้นดินเผารูปคนบ้าง รูปวัว-ควายบ้าง บางส่วนถูกตีความว่าเป็นของเล่น บางส่วนก็อาจเป็นส่วนประกอบของพิธีกรรม แต่นั่นก็เป็นพิธีกรรมขนาดย่อม มากกว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของระบบศาสนาขนาดใหญ่ อย่างไรก็ดี มีการพบรูป ‘ผู้หญิงเต้นรำ’ ที่ทำจากสำริด ซึ่งมีขนาดเล็กแค่ 5 เซนติเมตร แล้วก็พบเพียงชิ้นเดียวเท่านั้น แต่หลักฐานที่แสดงให้เห็นร่องรอยของศาสนาส่วนใหญ่ จะมาจากรูปสลักในตราประทับขนาดเล็กที่พบเป็นจำนวนมากและมีความหลากหลายมากกว่า

ร่องรอยของศาสนาในตราประทับ ชวนให้มีผู้ตีความสร้างความเชื่อมโยงกับศาสนายุคหลังเช่นกัน มีรูปในตราประทับหนึ่งที่ชวนให้ตีความเชื่อมโยงกับศาสนาในยุค ‘ฮินดู’ คือรูปคนสามหรืออาจจะสี่หน้า สวมหมวกเขาสัตว์นั่งท่าสมาธิ วางมือพาดขนาน แต่ไม่ได้พาดมาตามท่อนขาถึงหัวเข่า มีช้าง เสือ แรด ควาย และวัว อยู่รายรอบ ด้านบนมีอักษร นอกจากนั้นยังพบตราประทับที่แสดงรูปคล้ายการประกอบพิธีกรรมการบูชายัญ ซึ่งอาจเป็นการบูชายัญคนหรือวัว หากแต่วัวถูกสลักเป็นหน้าคน แล้วมีคนยืนเข้าแถวเรียงรายอยู่

อารยธรรมนี้ส่งต่ออิทธิพลอะไรมายังอารยธรรมรุ่นหลังบ้างหรือไม่ ยังยากที่จะหาข้อสรุป หากแต่ข้อสรุปที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ เนื่องจากพระเวทกับฮินดูนั้น แทบจะไม่มีความสืบเนื่องกันเลย แอนดรู โรบินสัน ในหนังสือเล่มที่ผมอ้างถึงแล้วนั้นเสนอว่า เทพสำคัญของพระเวท ไม่ว่าจะเป็นวิรุณ สุริยะ อัคนี ยม ปรากฏต่อเนื่องมายังฮินดูยุคแรก หากแต่เทพสำคัญของฮินดูยุคต่อมาคือศิวะและวิษณุนั้น ไม่ปรากฏความเชื่อโยงกับพระเวทเลย ถ้าเช่นนั้น เป็นไปได้ไหมว่าฮินดูยุคแรกจะมีความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมสินธุโบราณมากกว่า เช่น แม้ว่างูและลิง สัตว์สำคัญของฮินดูจะไม่ปรากฏในวัฒนธรรมสินธุ แต่สัญลักษณ์สวัสดิกะ วัว และรูปบางรูปในตราประทับก็มีความเชื่อมโยงกับฮินดูได้บ้าง

ในแง่เนื้อหา ชีวิตในคัมภีร์พระเวทช่างแตกต่างจากชีวิตในยุคสินธุโบราณ เช่น พระเวทมักกล่าวถึงหมู่บ้าน แทบไม่กล่าวถึงเมืองใหญ่ พระเวทไม่ค่อยกล่าวถึงการเดินทางไกล เรือหรือเรือเดินทะเล นอกจากในเชิงเปรียบเปรยเท่านั้น และไม่เอ่ยถึงการค้าขายเลย พระเวทเอ่ยถึงสงครามและม้า ซึ่งไม่ปรากฏในสินธุโบราณ แต่พระเวทก็อาจจะรับอะไรบางอย่างหรือแลกเปลี่ยนอะไรกับสินธุ เช่นการพนัน ที่น่าจะปรากฏทั่วไปในสินธุโดยดูจากของเล่นคล้ายหมากรุกของชาวสินธุโบราณ ทั้งภาษาดราวิเดียนก็มีร่องรอยในวัฒนธรรมพระเวท ข้อสรุปที่ดีจึงควรกล่าวว่า ไม่ว่าจะคนกลุ่มไหนหรือวัฒนธรรมยุคใด ต่างก็ส่งอิทธิพลต่อกันไม่มากก็น้อยทั้งสิ้น

แล้วอารยธรรมสินธุสลายได้อย่างไร บางแนวคิดในอดีตเสนอว่า อารยธรรมสินธุน่าจะล่มสลายไปเพราะการรุกรานของพวกอารยัน หากแต่ไม่มีหลักฐานการรบรากันในดินแดนแห่งนี้ สาเหตุจากมนุษย์อีกประการที่เป็นไปได้คือ การเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่เสื่อมลงของเมโสโปเตเมียซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของชาวสินธุ จึงมีส่วนต่อความเสื่อมลงของสินธุ แต่เหตุสำคัญของการเสื่อมลงของสินธุโบราณน่าจะมาจากการเปลี่ยนทิศทางของแม่น้ำสินธุ นอกจากนั้น การเผาอิฐเพื่อก่อสร้างสถาปัตยกรรม อันเป็นประดิษฐกรรมสำคัญของอารยธรรมสินธุ อาจส่งผลให้เกิดการใช้ไม้จำนวนมากจนทำลายป่าไม้และส่งผลให้เกิดความเสื่อมโทรมต่อสิ่งแวดล้อมของสินธุเองอีกทางหนึ่ง

อุษาคเนย์ไม่เคยเป็นภูมิภาคที่ปิดหรือตัดขาดจากโลกภายนอก ทฤษฎีที่ว่าด้วยพัฒนาการของสังคม-วัฒนธรรมอุษาคเนย์ที่เก่าแก่ทฤษฎีหนึ่งได้แก่ทฤษฎี Indianization หรือ ‘อินเดียภิวัตน์’ ของปรมาจารย์อุษาคเนย์ศึกษา ชื่อยอร์จ เซเดส์ (George Cœdès) ไม่ว่าใครจะเถียงเซเดส์อย่างไร เราก็ปฏิเสธอิทธิพลอินเดียไม่ได้อยู่ดี หากแต่ว่า การรู้จักอินเดียโดยไปไม่ถึงสินธุ ยังถือว่าไปไม่ถึงดินแดนต้นกำเนิดของความเป็นอินเดียซึ่งมีที่มาอยู่นอกประเทศอินเดียปัจจุบัน

สำหรับผม ถึงใครจะว่าก่อนตายต้องไปเห็นที่นั่นที่นี่ที่ไหนก็ตาม แต่ผมเองเคยคิดว่าก่อนตายต้องไปเห็นฮารัปปาหรือโมเฮนโจ-ดาโรสักครั้ง เมื่อได้เห็นแล้ว บัดนี้ก็คิดว่าตายตาหลับแล้วล่ะ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save