fbpx
จากสงครามการค้า สู่สงครามเทคโนโลยี และการช่วงชิงความเป็นผู้จัดระเบียบโลก

จากสงครามการค้า สู่สงครามเทคโนโลยี และการช่วงชิงความเป็นผู้จัดระเบียบโลก

ปิติ ศรีแสงนาม เรื่อง

 

เพื่อความเข้าใจเนื้อหาในบทความนี้ ผู้เขียนแนะนำให้อ่าน ’20 ข้อควรรู้ : โอกาสท่ามกลางวิกฤตของไทยและอาเซียน ในสงครามการค้าของสหรัฐฯ’ เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้น

สงครามการค้าระลอกที่ 2 (ระลอกแรกเมื่อ กรกฎาคม ปีที่แล้ว) ที่สหรัฐเป็นฝ่ายเริ่มยิงก่อน เปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากการเจรจาระหว่างจีนกับสหรัฐไม่สามารถหาข้อสรุปได้ตลอดช่วง 90 วันหลังจากสงครามการค้าระลอกแรก โดยสหรัฐปรับขึ้นอัตราภาษีศุลกากรในการนำเข้าสินค้าจาก 10% เป็น 25% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่ากว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมาตรการดังกล่าวถูกฝ่ายจีนยิงสวนในอีก 3 วันต่อมา โดยการประกาศว่าจีนจะปรับขึ้นภาษีการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์

แต่นั่นเป็นเพียงการระดมยิงระลอกแรก เพราะการโต้ตอบของสหรัฐในคราวนี้คือการที่ทรัมป์ใช้อำนาจในฐานะประธานาธิบดี ประกาศคำสั่งของประธานาธิบดี (Executive Order) เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2019 ห้ามการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารจากบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของจีน ซึ่งรวมถึงการสั่งห้ามธุรกิจอเมริกันทำการค้ากับบริษัทเทคโนโลยีของจีนมากกว่า 10 บริษัทที่อยู่ใน Entity List และหนึ่งในนั้นคือ Huawei ผู้ให้บริการระบบโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่เจ้าของเทคโนโลยี 5G แห่งอนาคต พร้อมขู่ว่าหากจีนยังไม่มีมาตรการในการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นจากสหรัฐ และยกเลิกมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการบังคับให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าอย่างไม่เป็นธรรมผ่านกิจการจีนที่เป็นวิสาหกิจของรัฐบาลจีน สหรัฐจะปรับขึ้นอัตราภาษีอีกระลอก และเที่ยวนี้จะปรับขึ้นภาษีสำหรับสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่ากว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะเดียวกัน ทรัมป์ก็ประกาศจะตั้งกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการตอบโต้ทางการค้าจากจีนมูลค่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าสงครามการค้าที่เป็นจุดเริ่มต้นได้ขยายวงลุกลามจนกลายเป็นสงครามเทคโนโลยี เรียบร้อยแล้ว

คำถามที่สำคัญคือ สถานการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นในระยะสั้น หรือจะเป็นปรากฏการณ์ที่อยู่คู่กับเศรษฐกิจและการค้าการลงทุนระดับโลกต่อไปอย่างต่อเนื่องยาวนาน คำตอบต่อคำถามสำคัญนี้ได้รับการอธิบายโดยศาสตราจารย์มาร์ค วู (Mark Wu) ศาสตราจารย์ทางด้านกฎหมายที่ดำรงตำแหน่ง Henry L. Stimson Professor of Law จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งมาบรรยายสาธารณะในหัวข้อ ‘The US-China Trade War’ หรือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ณ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2019

ศาสตราจารย์วูผู้นี้เคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงขององค์การการค้าโลก (WTO) เคยทำงานด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศทั้งกับ World Economic Forum และ The World Bank ที่สำคัญท่านยังเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการและนักเจรจาการค้าของสหรัฐอเมริกาในประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และยังมีประสบการณ์อื่นๆ อีกมากร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำและองค์การระหว่างประเทศ ด้านประสบการณ์การศึกษา ศาสตราจารย์วูจบจากทั้ง Yale, Oxford และ Harvard ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นภาคทฤษฎี หรือภาคปฏิบัติ เมื่อศาสตราจารย์คนนี้บรรยายเรื่องสงครามการค้า เราจำเป็นต้องฟังและคิดตามอย่างตั้งใจครับ

ศาสตราจารย์วูบรรยายถึงสถานการณ์โดยย่อของภาวะสงครามการค้าตลอดปี 2018 และสิ่งที่เราต้องรู้ 3 ข้อเกี่ยวกับสงครามการค้าสหรัฐ-จีนในครั้งนี้ โดยมีประเด็นหลัก 3 ข้อ ได้แก่

  1. สถานการณ์และความพยายามของสหรัฐในการยับยั้งการเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของจีน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้วและจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไปในระยะยาว สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไปก็เพียงแค่รูปแบบของการดำเนินนโยบายเท่านั้น ส่วนหลักคิดและยุทธศาสตร์จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์วูยกเหตุผลให้เห็นว่าจีนคือภัยคุกคามทางเศรษฐกิจต่อสหรัฐ เนื่องจาก 1) จีนมีการใช้เงินอุดหนุนและมาตรการของรัฐอย่างมากมายมหาศาล เพื่อปกป้องธุรกิจและเศรษฐกิจจีน และอาจไปทำลายธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐ 2) จีนมีทรัพยากรธรรมชาติที่สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีมหาศาล โดยเฉพาะแร่ธาตุกลุ่ม rare earth แต่จีนก็มีมาตรการห้ามส่งออกทรัพยากรเหล่านี้ ทำให้ประเทศอื่นๆ ไม่มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากร 3) จีนมีการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Theft) ที่ซับซ้อนผ่านการควบรวมกิจการหลากหลายรูปแบบ 4) นโยบาย Made in China 2025 คือนโยบายที่เป็นรูปธรรมที่สุดที่จะสร้างโอกาสและสกัดกั้นประเทศอื่นๆ ในรูปแบบที่ไม่เป็นธรรม

จากนั้นศาสตราจารย์วูก็บรรยายว่า ความพยายามในการยับยั้งและจำกัดการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนมีมาก่อนหน้าสมัยของประธานาธิบดีทรัมป์แล้ว เช่น ในสมัยของประธานาธิบดีโอบามา เครื่องมือหลักที่ใช้คือข้อตกลงการค้า Trans-Pacific Partnership Agreement (TPP) แต่ในกรณีของทรัมป์เขาไม่ต้องการใช้ TPP เพราะเขาพิจารณาว่า ข้อตกลงที่มีหลายประเทศในระดับภูมิภาคเช่นนี้ มีความยุ่งยากและมีต้นทุนที่สูงเกินไปในการที่สหรัฐจะต้องไปเจรจาและยอมผ่อนปรน ลดหย่อน และให้สิทธิประโยชน์กับหลายๆ ประเทศ

ทรัมป์คือคนที่มองว่าการเจรจาแบบทวิภาคีระหว่างสหรัฐกับประเทศคู่ค้า จะสามารถทำได้ง่ายและมีต้นทุนที่ต่ำกว่า หรือแม้แต่การใช้นโยบายในลักษณะฝ่ายเดียว (Unilateral) ก็จะเป็นประโยชน์กับสหรัฐมากกว่า เราจึงเห็นการประกาศสงครามการค้า นั่นนำไปสู่ข้อที่ 2

  1. การดำเนินนโยบายทางการค้าของสหรัฐภายใต้รัฐบาลของทรัมป์ จึงเป็นการหวังผลทางยุทธศาสตร์เป็นอันดับหนึ่ง (ในขณะที่มีการหวังผลทางการเมืองเป็นผลอันดับรอง) โดยการดำเนินนโยบายนี้เป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ความมั่นคงที่จำเป็นต่อสหรัฐ โดยศาสตราจารย์วูยกตัวอย่างให้เห็นว่า ภาคการผลิตที่จีนมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษในนโยบาย Made in China 2025 (Information technology, Numerical control tools and robotics, Aerospace equipment, Ocean engineering equipment and high-tech ships, Railway equipment, Energy saving and new energy vehicles, Power equipment, New materials, Medicine and medical devices และ Agricultural machinery) มีหลายภาคการผลิตมากที่สามารถต่อยอดทางการทหาร โดยเฉพาะการผลิตอาวุธได้ ดังนั้นการออกนโยบายตอบโต้ Made in China จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของสหรัฐ และเป็นการป้องกันไม่ให้สหรัฐศูนย์เสียสถานะผู้จัดระเบียบโลกด้านความมั่นคง

ในขณะเดียวกัน ด้านเศรษฐกิจเอง จีนก็เป็นภัยคุกคาม เพราะอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนในเวทีโลกขยายตัวอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยในปีหลังๆ มานี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกขึ้นอยู่กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนอย่างยิ่ง และในภาคธุรกิจเอง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัย ธุรกิจจีนขยายตัวและมีอิทธิพลในตลาดอย่างยิ่ง

เมื่อพิจารณาทั้งในมิติทางเศรษฐกิจและมิติทางความมั่นคง ยิ่งทำให้ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐต้องสกัดกั้นจีน โดยไม่ต้องไปคำนึงถึงว่าต้นทุนในการสกัดกั้นครั้งนี้จะสูงเพียงใด (ทำให้นึกถึง Truman Doctrine ที่สหรัฐประกาศจะขัดขวางลัทธิคอมมิวนิสต์ในทุกพื้นที่ ทุกสถานการณ์ โดยไม่คำนึงถึงต้นทุน และ Plaza Accord 1985 ที่สหรัฐขัดขวางการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ ‘จาก Industry 4.0 ถึงสงครามการค้าสหรัฐ’) และนั่นนำไปสู่ข้อที่ 3

  1. กฎระเบียบขององค์การการค้าโลก ณ ปัจจุบัน ไม่สามารถเข้ามาจัดการหาทางออกให้กับปัญหาสงครามการค้า ณ ขณะนี้ได้ ประเด็นนี้ค่อนข้างมีความซับซ้อนทางกฎหมาย (ซึ่งผมเองไม่มีความถนัด) แต่สามารถสรุปคร่าวๆ ได้ว่า ในกรณีของเรื่องภายในประเทศ องค์การการค้าโลกไม่สามารถเข้าไปวางกฎเกณฑ์ในเรื่องบางเรื่องได้ โดยเฉพาะ 6 เรื่องของประเทศจีน ดังนี้ 1) รัฐบาลจีนเข้าไปเป็นเจ้าของ Holding Company ที่ทำการผลิตอุตสาหกรรมหลักๆ หลายอุตสาหกรรม  2) รัฐบาลจีนผ่านทาง Central Huijin Investment เป็นผู้ลงทุนที่สามารถควบคุมสถาบันการเงินหลักภายในประเทศจีนได้  3) National Development and Reform Commission (NDRC) หรือหน่วยงานวางแผนเศรษฐกิจของจีน มีอิทธิพลและสามารถควบคุมการดำเนินกิจการต่างๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชนได้อย่างกว้างขวาง  4) ภาคธุรกิจและภาครัฐมีสายสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น  5) รัฐบาลสามารถเข้าไปควบคุมการแต่งตั้งผู้บริหารและการบริหารงานของภาคเอกชนได้ และ 6) ผู้บริหารเอกชนของบริษัทขนาดใหญ่ เช่น แจ๊ค หม่า และอีกหลายๆ คน ก็เป็นสมาชิกระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และมีสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับรัฐบาล  ปัจจัยเหล่านี้ทำให้สหรัฐมองว่าการแข่งขันกับจีนคือการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เพราะไม่ใช่เอกชนแข่งกับเอกชน แต่เป็นเอกชนที่ต้องไปต่อสู้กับรัฐบาล ซึ่งกฎเกณฑ์ต่างๆ ขององค์การการค้าโลกยังไม่สามารถเข้ามาจัดการประเด็นเหล่านี้ได้

ท้ายที่สุด ศาสตราจารย์วูสรุปว่า นั่นหมายความว่าทุกฝ่าย ทุกประเทศ ต้องปรับตัวกับภาวการณ์เช่นนี้ ซึ่งถือเป็นความปกติในรูปแบบใหม่ (New Normal) ที่จะอยู่กับเราต่อไปอีกนาน

 

เมื่อรับรู้ข้อมูลทางฝั่งสหรัฐไปแล้ว คำถามที่สำคัญต่อมาก็คือ แล้วฝ่ายจีนล่ะ เขามีการเตรียมรับมือเตรียมความพร้อมกับเหตุการณ์เหล่านี้แค่ไหน อย่างไร เพราะต้องอย่าลืมว่า สงครามการค้าที่พัฒนาต่อเนื่องเป็นสงครามเทคโนโลยีในคราวนี้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นเพราะสหรัฐเองที่ต้องการกีดกันและปิดล้อมเพื่อไม่ให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจใหม่ ที่สามารถขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจไปทั่วโลกได้ภายใต้การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2010

สำหรับจีน ทางการจีนตระหนักถึงภัยคุกคามต่ออธิปไตยของจีนบนโลกไซเบอร์ที่ไร้พรมแดนมาตั้งแต่ปี 1996 เมื่อระบบอินเทอร์เน็ตกลายเป็นเสมือนเครื่องมือสื่อสารใหม่ (ในเวลานั้น) ที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้  ทั้งนี้เพื่อรักษาอธิปไตยบนโลกไซเบอร์ (ความสามารถในการบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมต่างๆ ภายในประเทศของตน) ที่ง่ายต่อการแทรกแซงจากต่างประเทศ รัฐบาลจีนจึงเริ่มพัฒนาโครงการ ‘Golden Shield Project: GSP’ ภายใต้การกำกับดูแลของสำนัก Bureau of Public Information and Network Security Supervision มาตั้งแต่ปี 1997 และเริ่มควบคุมการเข้าถึงบริการต่างๆ บนโลกออนไลน์ของประชาชนจีนมาตั้งแต่ปี 1998 นั่นทำให้ประชาชนจีนที่ใช้ระบบอินเทอร์เน็ตในประเทศจีนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลบางแหล่งจากต่างประเทศได้ ไม่สามารถเข้าถึงเว็บไซต์และแอปพลิเคชันต่างๆ ในต่างประเทศได้อย่างอิสระ ซึ่งรวมถึงบริการชื่อดังระดับโลก อาทิ Google, Facebook, Twitter, Wikipedia, Youtube ฯลฯ

แน่นอนว่าการปิดกั้นระบบเหล่านี้ภายใต้ The Great Firewall (ชื่อเล่นของ GSP ที่ตั้งล้อกับ กำแพงเมืองจีน (The Great Wall)) ก็ทำให้ผู้ผลิตและผู้ให้บริการต่างๆ บนโลกออนไลน์ของจีนสามารถพัฒนาระบบของตนเองขึ้นมาได้

จากที่ในปี 2000 ผู้คนส่วนใหญ่เปรียบเทียบเสมอๆ ว่าเมื่อทั่วโลกมี Facebook, Amazon และ Google ในจีนก็จะมีแอปพลิเคชันคู่แฝด เช่น Tencent, Alibaba และ Baidu ขึ้นมา แต่นั่นคือการเปรียบเทียบเมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว

เพราะในปัจจุบัน หากคนจีนจะซื้อสินค้าและบริการจากบุคคลต่างๆ เช่นเดียวกับคนในโลกที่ใช้ eBay ในจีนก็จะมี Taobao.com เป็นแพลตฟอร์มในการทำธุรกิจแบบ C2C (Customer-to-Customer) หากคนจีนจะซื้อสินค้าและบริการจากภาคธุรกิจ (Business-to-Customer: B2C) พวกเขาก็สามารถเข้าถึงได้ด้วย Tmall.com  คนจีนสามารถสั่งซื้อของสดออนไลน์ได้จากซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ที่มีหน้าร้านจริง (On-line to Off-line: O2O) ที่สามารถสั่งให้ทางร้านต้ม ทอด ปิ้ง ย่างของสดเหล่านั้นแล้วนำมาส่งถึงบ้านด้วย Hema  จองตั๋วเครื่องบินและที่พักด้วย Feizhu เหมือนกับที่พวกเราใช้ Agoda, Expedia, Traveloka  คนจีนดูคลิปวิดีโอผ่าน Youku และ Tudou.com เพราะเข้า YouTube ไม่ได้ ในขณะที่ภาพยนตร์ Blockbuster ชื่อดังอย่าง Mission Impossible ภาคล่าสุด ก็ผลิตโดย Alibaba Pictures

พวกเขาเล่นเกมส์ผ่าน 9Apps Gaming Platform  ฟังเพลงออนไลน์ผ่าน Ali Music  ใช้โซเชียลมีเดียที่ชื่อ Weibo  กู้เงินออนไลน์โดยสถาบันการเงิน Ant Financial Service ซึ่งเป็นเจ้าของระบบการชำระเงินที่ใหญ่ที่สุดในจีนที่พวกเรารู้จักกันในนาม AliPay  ด้านเจ้าของร้านโชว์ห่วยก็ไปซื้อสินค้าจากบริหารค้าส่ง LST.1688.com และผู้บริโภคก็เดินเข้าร้านสะดวกซื้อ Bailian  แต่ถ้าอยากช้อปปิ้งมากกว่าของร้านสะดวกซื้อ ก็เข้าไปที่ Intime Retail หรือร้านที่เป็นแหล่งรวมสินค้าวัยรุ่นเฟี้ยวๆ ก็ต้อง Koubei หรือซื้อของแบรนด์เนมผ่าน Yintai Center และสินค้าทั้งหมดนั้นก็จะถูกจัดส่งไปที่บ้านด้วยบริการโลจิสติกส์ Cai Niao  ที่สำคัญคือเขาไม่ได้เข้าเว็บไซต์บริการเหล่านี้ด้วย Google Chrome เหมือนที่พวกเราใช้กันในประเทศไทยนะครับ เพราะเขามี Web Browser ของตัวเองที่ชื่อ UCBrower

แต่ความมหัศจรรย์คือ ทั้งหมดที่ผู้เขียนกล่าวถึงไปนั้น เป็นเครื่องมือเพียงบางส่วนของบริษัทเพียงบริษัทเดียวเท่านั้น นั่นคือ Alibaba Group

ดังนั้นในปี 2019-2020 Alibaba จึงไม่ใช่คู่ชกที่เปรียบมวยกับ Amazon.com เท่านั้น และต้องอย่าลืมด้วยว่า Tencent, Baidu, JD ฯลฯ ต่างก็มี Eco-system หรือมีจักรวาลของตนเองที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ Alibaba และนั่นเป็นผลส่วนหนึ่งมาจากการที่จีนสร้าง The Great Firewall ขึ้นมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 เพราะเมื่อไม่สามารถใช้งานบริการของต่างชาติได้ คนจีนก็พัฒนาเทคโนโลยีของตนขึ้นมาใช้ และเผลอๆ จะแซงหน้าเทคโนโลยีของฝั่งตะวันตกได้ด้วยในบางกรณี

ดังนั้นการที่บริษัทเทคโนโลยีสหรัฐถูกสั่งไม่ให้ค้าขายกับบริษัทอย่าง Huawei ของจีน แน่นอนว่าในระยะสั้นมีผลกระทบ แต่ในระยะต่อๆ ไป จีนก็จะสามารถพัฒนาสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาทดแทนชิ้นส่วนและบริการที่ต้องนำเข้าได้อย่างแน่นอน นอกจากการปิดกั้นแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งที่จีนทำเรื่องเหล่านี้ได้ เพราะจีนมีตลาดภายในประเทศที่มีขนาดใหญ่เพียงพอ ต้องอย่าลืมว่าประชาชนจีนกว่า 1.4 พันล้านคน นอกจากจะเป็นตลาดขนาดใหญ่แล้ว นี่ยังเป็นแหล่งรวมของทรัพยากรมนุษย์ที่ใหญ่และหลากหลายที่สุดอีกด้วย

นโยบายของรัฐบาลจีนเองก็มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องการค้าและการลดการพึ่งพาสหรัฐและตะวันตกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังปี 2009 ซึ่งเป็นช่วงปลายของผู้นำรุ่นที่ 4 – Hu Jintao ก่อนที่จะส่งไม้ต่อให้ผู้นำรุ่นที่ 5 – Xi Jinping ช่วงนั้นเป็นช่วงที่จีนได้รับผลกระทบไปเต็มๆ จากวิกฤตเศรษฐกิจ Sub-Prime ในสหรัฐและในยุโรปที่ทำให้กำลังซื้อตกต่ำ และในเมื่อกว่า 80% ของ GDP ของจีนในขณะนั้นขึ้นกับการส่งออก และตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของจีนก็คือสหรัฐและยุโรป นั่นทำให้จีนเจอภาวะถดถอยในอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการส่งออก จนนำไปสู่การปฏิรูปเศรษฐกิจในปี 2009-2010 ภายใต้นโยบาย New Normal (新常态, Xīn chángtài)

ภายใต้การปฏิรูปเศรษฐกิจดังกล่าว จีนตั้งเป้าหมายไว้ 2 เป้าหมาย นั่นคือ 1) การลดการพึ่งพาการส่งออก และกำหนดเป้าหมายให้มากกว่า 60% ของผลผลิตที่ผลผลิตในจีน (GDP) ต้องถูกบริโภคภายในประเทศ และ 2) จีนต้องหาคู่ค้าใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง ไม่พึ่งพาแต่เฉพาะสหรัฐและยุโรป โดยข้อที่ 2 ทำให้เกิดการเชื่อมโยงภายใต้ยุทธศาสตร์ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) เพื่อเชื่อมจีนสู่ตลาดและแหล่งทรัพยากรในเอเซีย แอฟริกา และยุโรป

สำหรับเป้าหมายข้อ 1 ก็เพื่อเสริมสร้างให้การบริโภคภายในประเทศกลายเป็นพลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จีนต้องทำ 2 เรื่อง นั่นคือ 1) ต้องทำให้คนจีนรวยขึ้น ซึ่งทำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2009 (และนั่นทำให้ไทยได้อานิสงส์นักท่องเที่ยวจีนจำนวนมากเข้ามาท่องเที่ยวในไทย) และ 2) คนจีนที่รวยขึ้นเหล่านั้นจะกินของจีน ใช้ของจีน ก็ต่อเมื่อพวกเขาเห็นว่าสินค้าจากจีนเป็นสินค้าคุณภาพสูง นั่นทำให้เกิดนโยบาย Made in China 2025 ที่ทางการจีนพยายามยกระดับ ล้างภาพลักษณ์ของสินค้าจีน ที่เคยถูกมองว่าเป็นสินค้าคุณภาพต่ำ เป็นสินค้าปลอม ให้สินค้าจีนกลายเป็นสินค้าคุณภาพสูงให้ได้สำเร็จในปี 2025 ผ่านการสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ โดยทางการจีนให้สิทธิพิเศษทางการลงทุนในเงื่อนไขที่ดีที่สุดกับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุน โดยทำตามนโยบายของจีนที่ต้องการการพัฒนาคนและการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับจีน

นั่นทำให้เราได้เห็นนวัตกรรมใหม่ๆ หลายอย่างเกิดขึ้นในจีนและจับตาจับใจผู้บริโภคอย่างยิ่ง อาทิ โทรศัพท์มือถือ Huawei P30 Pro ที่ซูมได้ 50 เท่า ด้วยอุปกรณ์ของ Sony (ญี่ปุ่น) ผนวกกับเทคโนโลยีของ Leica (เยอรมัน) และในปัจจุบันสินค้าแบรนด์เนม สินค้าคุณภาพสูงจำนวนมากก็ผลิตจากประเทศจีน

อ่านมาถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านคงเข้าใจแล้วว่าสงครามการค้าที่ขยายผลลุกลามกลายเป็นสงครามเทคโนโลยี ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่คือความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่ว่าใครขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ก็ต้องเร่งควบคุมการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน แต่ผู้นำคนไหนจะเลือกใช้วิธีการอย่างไรก็เท่านั้นเอง จะใช้วิธีการเจรจาเพื่อวางกฎระเบียบการค้าการลงทุนในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างโอบามา หรือจะทำสงครามใช้มาตรการกีดกันทางการค้าอย่างกรณีของทรัมป์ ก็เป็นเรื่องนี้สหรัฐต้องทำ เพื่อรักษาสถานะมหาอำนาจผู้ควบคุมระเบียบโลกของตน

ในขณะที่จีนเอง คุณผู้อ่านก็คงจะเห็นแล้วว่า การรับมือของจีนก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า หากแต่จีนก็เตรียมตัวมานานจนมีความพร้อมระดับหนึ่งแล้ว เช่นเดียวกับเวทีความสัมพันธ์ทางภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจที่ซับซ้อนและขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือด

คำถามสำคัญคือ แล้วไทยเราซึ่งถูกดึงเข้าไปพัวพันในสงครามการค้า และสงครามเทคโนโลยีในครั้งนี้อย่างแน่นอน ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประเทศไทยจะเป็นอย่างไร คำตอบต่อคำถามนี้ ผมเคยวิเคราะห์ไปแล้ว และสามารถติดตามอ่านได้ที่ ‘ประชาคมอาเซียนท่ามกลางสงครามการค้า : 5 ผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นในปี 2019’ 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save