fbpx

จากสยาม 1902 ถึงสหรัฐฯ 1619 : การเดินทางของความทรงจำของคนเล็กๆ

วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2445 (ค.ศ. 1902) เวลาเช้า เกิดเหตุการณ์ใหญ่ในเมืองแพร่ ซึ่งเป็นหัวเมืองประเทศราชของกรุงสยามขณะนั้น กลุ่มคนไทใหญ่หรือที่เรียกกันว่า ‘เงี้ยว’ ซึ่งมาทำงานและค้าในเมืองราวห้าร้อยคนรวมตัวกันก่อ ‘การจลาจล’ ด้วยการบุกจับข้าหลวงกำกับเมืองแพร่ ตำรวจและราษฎรชาวไทย (ภาคกลาง) ทั้งชายหญิงและเด็กฆ่าเสียอย่างทารุณ

ข้อน่าสังเกตคือพวกก่อจลาจลทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่เป็นคนไทยเท่านั้น แต่พวกก่อการไม่ทำร้ายเจ้านายและราษฎรคนเมือง และพื้นที่ของการก่อการก็เป็นสถานที่ราชการ เช่น สถานีตำรวจ จวนข้าหลวง เทศาภิบาล ที่ทำการไปรษณีย์ จนถึงแก่ความตาย เหตุการณ์แพร่กระจายไปทั่วเมืองและมีแผนการจะยกไปยึดหัวเมืองเหนือ อย่างเชียงใหม่ น่าน และเมืองอื่นๆ อย่างลำปาง ทำให้ผู้คนในเมืองเหล่านั้นพากันหลบหนีเป็นการใหญ่

หลังจากใช้กำลังเล่นงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยจนควบคุมการปกครองเมืองได้แล้ว พวกก่อจลาจลซึ่งต่อมาทางการสยามเรียกว่า ‘กบฏเงี้ยว’ ก็ไปเชิญเจ้าหลวงและบรรดาเจ้านายทั้งหลายให้มาทำหนังสือสัญญาเป็นพวกเดียวกัน ที่น่าสนใจคือหนังสือสัญญานั้นระบุว่า “เวนคืนอำนาจปกครองให้เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์” แสดงว่าฝ่ายกบฏเงี้ยวไม่ได้ต้องการยึดอำนาจปกครองแพร่ไว้กับพวกตนเอง แต่ต้องการให้เจ้าหลวงแพร่เป็นผู้มีอำนาจ สังเกตว่าบริเวณหัวเมืองเหนือสมัยนั้นเป็นดินแดนที่มีมหาอำนาจหลายฝ่ายกำกับและหาทางสถาปนาอำนาจสูงสุดของตนแต่ฝ่ายเดียว ได้แก่ สยาม อังกฤษ และฝรั่งเศส

หลังจากนั้นเมื่อทางกรุงเทพฯ ทราบข่าวก็ส่งกองทหารขึ้นไปปราบ ทำการสู้รบกัน ในที่สุดกองทัพสยามที่มีอาวุธสมัยใหม่เหนือกว่าก็เอาชนะกำลังกบฏได้ มีการลงโทษ ประหารชีวิต และอื่นๆ ตามมามากมาย ดังปรากฏในบันทึกประวัติศาสตร์ของฝ่ายสยามที่เขียนเล่าและอธิบายเหตุผลของการจลาจล ที่ทำให้ ‘กบฏเงี้ยว’ กลายเป็นผู้ร้ายในประวัติศาสตร์ไป ด้วยการเป็นคนไม่จงรักภักดีต่อกษัตริย์สยาม ต่อระบบการปกครองของกรุงเทพฯ ไม่รักชาติและความเป็นไทย ฯลฯ

เหตุการณ์กบฏของหัวเมืองสมัยนั้น ไม่ได้มีแต่ในภาคเหนือ ในช่วงเวลาเดียวกันยังเกิด ‘กบฏผีบุญ’ ในอีสาน และ ‘กบฏพระยาแขกเจ็ดหัวเมือง’ ในภาคใต้สุด ซึ่งทั้งหมดถูกปราบปรามลงหมดสิ้น เหตการณ์ของการกบฏทั้งหลายถูกสร้างขึ้นเป็นประวัติศาสตร์ของการสร้างชาติไทย ที่มีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง มีอำนาจอันสูงสุดและชอบธรรมในการดำเนินนโยบายรวมประเทศเข้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในขณะที่พวกหัวเมืองประเทศราชทั้งหลาย กลายเป็น ‘ผู้ร้าย’ ที่ไม่เข้าใจและไม่ยอมรับความเจริญก้าวหน้าเยี่ยงอารยประเทศที่สยามกำลังก่อสร้างขึ้นมา นี่เป็นข้อเท็จจริงและเป็นประวัติศาสตร์ของชาติไทยที่ใช้ในการสอนและเรียนกันมาอย่างต่อเนื่อง

ตัวบุคคลในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่เป็นกบฏและศัตรูของชาติไทยในภาคเหนือคือ เจ้าพิริยเทพวงศ์ เจ้าหลวงแพร่ที่ทำหนังสือสัญญากับกบฏเงี้ยว ส่วนในภาคใต้สุดคือ อับดุลกาเดร์ รายาปัตตานีคนสุดท้ายที่ถูกจับไปขังในพิษณุโลกและอีกคนที่มีคนนับถือมาถึงปัจจุบันคือ หะยีสุหลง ผู้นำการประท้วงต่อต้านรัฐบาลควง อภัยวงศ์และจอมพล ป.พิบูลสงคราม จนเกิดกบฏดุซงญอ

ในหลายปีที่ผ่านมาวาทกรรมประวัติศาสตร์ชาติไทยกระแสหลักนี้ได้รับการยอมรับและถ่ายทอดกันต่อมาจนกลายเป็น ‘ความจริง’ ในประวัติศาสตร์อันเดียวไปแล้ว จนกระทั่งในระยะใกล้นี้ นับจากการพังทลายของประเทศคอมมิวนิสต์และสงครามเย็นในการเมืองโลก ผลข้างเคียงอันหนึ่งคือการเปิดให้ผู้คนได้พูดและคิดได้โดยไม่ตกเป็นผู้ต้องหาการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ไปเสียก่อนได้ ควบคู่กับการเติบใหญ่ของแนวคิดและการปฏิบัติพหุนิยมวัฒนธรรมหรือการยอมรับอัตลักษณ์และความชอบธรรมของการดำรงอยู่ของคนกลุ่มน้อยหรือชายขอบ สิ่งที่เกิดตามมาคืออดีตหรือประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยมีการพูดถึงเลยของคนกลุ่มน้อยเหล่านี้ค่อยๆ ได้รับการเปิดเผยและนำมาสู่การตีความ จนถึงการสร้างและเขียนประวัติศาตร์ชาติเสียใหม่ที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน

ประวัติศาสตร์ของการกบฏเงี้ยวเมืองแพร่จึงเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่สำเร็จเสร็จสิ้น ในความหมายว่าข้อมูลและการตีความเหตุการณ์ไปถึงพฤติการณ์ของผู้กระทำการทุกฝ่ายยังไม่ถูกค้นคว้าเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาทั้งหมด เล่มล่าสุดที่พยายามเสนอข้อมูลและการตีความใหม่คือ กบฏเงี้ยว การเมืองของความทรงจำ: ประวัติศาสตร์ขบวนการเคลื่อนไหวของ “คนล้านนา” โดยชัยพงษ์ สำเนียง (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2564) ที่เสนอใหม่ว่า ‘กบฏเงี้ยว’ นั้นไม่ได้เกิดจากคนเงี้ยวฝ่ายเดียว หากแต่เป็นความต้องการของคนหัวเมืองเหนือหลายเมืองที่มีต่อนโยบายและการปฏิบัติของระบบรวมศูนย์อำนาจของกรุงเทพฯ ขณะนั้น แม้มีความพยายามของคนท้องถิ่นที่จะเสนอประวัติศาสตร์แพร่ด้วยการตีความให้เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ไม่ใช่กบฏแต่คือวีรบุรุษของคนเมืองแพร่ ที่ยังจงรักภักดีต่อกรุงเทพฯ และชาติไทย อันเป็นวาทกรรมของประวัติศาสตร์ชาติไทยกระแสหลัก

แนวคิดใหม่นำเสนอว่าการเขียนประวัติศาสตร์ของคนกลุ่มน้อยหรือใหญ่ควรเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์และความเป็นพลเมืองของรัฐชาติ ทุกคนควรสามารถรู้ได้ว่าเขาแต่ละคนนั้นคือใครในประวัติศาสตร์และจะดำเนินต่อไปอย่างไรในอนาคต พูดสั้นๆ คือทุกคนสามารถจินตนาการถึงตัวเองในรัฐได้โดยไม่ต้องอาศัยกรอบและอุดมการณ์ของประวัติศาสตร์ชาติกระแสหลัก

ประเด็นที่ผมเสนอในการอภิปรายคือ ปัจจุบันนี้ทำไมทั่วโลกจึงต้องมาวิพากษ์วิจารณ์ประวัติศาสตร์ชาติกันอีก การที่ความทรงจำในประวัติศาสตร์ชาติ ที่มีการพรรณนาถึงความเป็นชาติหนึ่งเดียวที่ประกอบด้วยคนหลากหลายเชื้อชาติภาษาและศาสนานั้นและทุกคนยินยอมพร้อมใจกันรับเป็นคนชาตินั้นๆ โดยดุษณี เพราะเห็นประโยชน์และความเจริญอันเป็นความมีศิวิไลซ์เยี่ยงอารยประเทศนั้น บัดนี้กำลังถูกโต้แย้ง ท้าทายกระทั่งคนที่เคยเป็นคนกลุ่มน้อยหรือคนชายขอบทั้งหลาย ไม่ว่าในสยามหรือในสหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย จนถึงแคนาดาก็ตาม คนพื้นเมืองทยอยต่างออกมาเรียกร้องถึงความเป็นตัวของตัวเองและอัตลักษณ์ภาษาวัฒนธรรม รวมถึงการมีความเป็นคนที่เท่าเทียมกับคนส่วนใหญ่ของประเทศด้วย

ในกรณีของสหรัฐฯ การต่อสู้ที่ดุเดือดเข้มข้นและต่อเนื่องยาวนานกว่าใครเพื่อนไม่มีใครเกินกว่าคนแอฟริกัน-อเมริกันหรือคนผิวดำที่มีเชื้อสายมาจากแอฟริกานับแต่ยุคที่อเมริกายังเป็นอาณานิคมของอังกฤษอยู่ กล่าวได้ว่านอกจากคนอินเดียนพื้นเมืองแล้ว ก็มีแต่คนผิวขาวกับผิวดำเท่านั้นที่เข้ามาอาศัยและก่อตั้งรกรากในอาณานิคมอเมริกาเกือบจะพร้อมกัน เพียงแต่ว่าฝ่ายแรกเป็นเจ้านายและเจ้าของคนผิวดำนับแต่เริ่มต้น จนกระทั่งเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างภาคเหนือกับภาคใต้ โดยมีประเด็นของปัญหาระบบทาสเป็นกุญแจหรือปัญหาใจกลางทางเศรษฐกิจการเมือง จนในที่สุดยุติลงด้วยการประกาศให้ทาสทั้งหมดเป็นเสรี หลุดพ้นจากความเป็นทาส แต่เมื่อเป็นอิสรชนแล้วคนดำจะมีฐานะอะไร กลายเป็นปมเงื่อนของปัญหาทางการเมืองที่นำไปสู่การต่อสู้และปราบปรามกดขี่ระหว่างคนผิวขาวกับผิวดำต่อมาอีก คราวนี้ดุเดือดและรุนแรงโหดร้ายยิ่งกว่าสมัยที่ยังอยู่ในระบบทาสอย่างสมบูรณ์เสียอีก

ตอนนี้เองจากปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 การกดขี่และใช้กำลังปราบปรามคนผิวดำกระทำไปภายใต้อุดมการณ์ที่เรียกว่า ‘ลัทธิเหยียดเชื้อชาติ’ (racism) อย่างเป็นระบบ อีกด้านก็ยกย่องเชิดชู ‘ลัทธิคนผิวขาวเป็นเจ้า’ (white supremacy) เป็นศึกสีเสื้อระหว่างดำกับขาวที่ดำเนินมาอย่างยาวนานและแพร่กระจายไปทั่วทุกอณูของสังคม ไม่ว่าในปริมณฑลทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและศาสนา ไม่มีที่ไหนในสังคมอเมริกันที่ไม่มีอิทธิพลของการเหยียดผิว(ดำ)แทรกเข้าไปอยู่ จะมีมากหรือน้อย แรงหรือเบากว่ากันเท่านั้น

แต่เนื่องจากระบบการปกครองของสหรัฐฯ เป็นประชาธิปไตยเสรีที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด รัฐบาลหลายชุดและรัฐสภาคองเกรสในอดีตจึงยอมรับความจริงของอคติทางเชื้อชาติ และหาทางแก้ด้วยการออกกฎหมายและนโยบายที่จำกัดการปฏิบัติที่เหยียดเชื้อชาติและส่งเสริมการให้สิทธิทางการเมืองแก่คนผิวดำบ้างเป็นลำดับขั้นมา แม้จะแก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมด แต่ช่วงที่ผ่านมาก็มีการปรับปรุง ยกเลิกกฎระเบียบจำนวนหนึ่งที่เป็นอุปสรรค เช่น การเปิดให้เข้าเรียนร่วมกันในโรงเรียนของรัฐได้ทั้งสองผิวสี แม้คนภาคใต้จะไม่ค่อยยอมปฏิบัติอย่างเต็มใจก็ตาม

คำถามว่าทำไมลัทธิเหยียดเชื้อชาติดังกล่าวนี้ถึงยั่งยืนและทำลายลงไปไม่ได้ในความคิดของคนผิวขาว คำตอบมีหลายสาเหตุและปัจจัย อันหนึ่งที่คนเชื่อว่ามีอิทธิพลค่อนข้างสูงคือการศึกษา โดยเฉพาะการเขียนและเรียนประวัติศาสตร์ชาติอเมริกัน ซึ่งก็เหมือนประวัติศาสตร์ชาติของทุกประเทศในโลก ที่มีวิธีการและอุดมการณ์เหมือนกัน คือการเล่าเรื่องและนำเสนอแต่เพียงจากจุดยืนและทรรศนะที่มุ่งไปสู่จุดหมายเดียวร่วมกัน คือการสร้างความเป็นชาติที่ต้องเป็นเอกภาพ ให้มีความแตกต่างหลากหลายน้อยที่สุด จนกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่มีเส้นตรงเส้นเดียวในการพรรณนาถึงอดีตของตนเอง

ในสองปีที่ผ่านมามีการเสนอการพรรณนาประวัติศาสตร์ชาติอเมริกาใหม่ ภายใต้ชื่อ ‘โครงการ 1619‘ แกนนำที่คิดและผลักดันโครงการนี้เป็นนักเขียนในนิตยสารนิวยอร์กไทมส์ชื่อ นิโคล ฮันนาห์-โจนส์ (Nikole Hannah-Jones) โครงการนี้เสร็จและตีพิมพ์ในนิตยสารดังกล่าวในปี 2019 อันเป็นวาระครบรอบ 400 ปีของการเริ่มระบบทาสผิวดำในอเมริกา โครงการระบุว่า “จุดหมายคือการสร้างกรอบของประวัติศาสตร์ประเทศเสียใหม่ ด้วยการนำเอาผลพวงของระบบทาสและคุณูปการของคนผิวดำอเมริกันไปไว้ ณ ศูนย์กลางของการพรรณนาประเทศของเรา” นับแต่นั้นมาโครงการ 1619 สร้างให้เกิดการวิวาทะ โต้แย้ง อภิปรายและขัดแย้งในวงการจากนักประวัติศาสตร์ไปถึงนักการเมือง รัฐบาลสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศให้แบนและจัดการกับโครงการนี้ไม่ให้เผยแพร่ต่อสาธารณชนต่อไป เพราะมองว่าเป็นการเสนอและตีความประวัติศาสตร์อเมริกาอย่างผิดๆ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดๆ ทำให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกระหว่างกลุ่มคนต่างๆ ในสังคมได้ (แนวคิดของโดนัลด์ ทรัมป์ช่างเหมือนกับของรัฐบาลอำนาจนิยมทุกแห่งในโลกจริงๆ อย่างไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นมาได้)

โครงการ 1619 ตีพิมพ์ในเดือนสิงหาคมเดือนเดียวกับที่บรรดาทาสแอฟริกันราว 20-30 คนถูกนำมาขายในอาณานิคมเวอร์จิเนียที่ผู้อพยพผิวขาวจากอังกฤษมาตั้งรกรากแต่ขาดแรงงานในการทำไร่เพาะปลูก บทนำเขียนโดยนิโคล ฮันนาห์-โจนส์ซึ่งเปิดฉากด้วยคำโปรยว่า “รากฐานอุดมคติประชาธิปไตยของเราผิดพลาดเมื่อมันถูกเขียนขึ้นมา คนอเมริกันผิวดำได้ต่อสู้เพื่อทำให้มันถูก” (Our democracy’s founding ideals were false when they were written. Black Americans have fought to make them true.) เล่าถึงกำเนิดและผลกระเทือนของการเอาคนผิวดำมาเป็นทาสว่าได้สร้างสภาพสังคมอเมริกันต่อมาอย่างไร แต่จุดที่ติดไฟอย่างรวดเร็วจนมีคนเข้ามาอภิปรายค้านและตอบโต้อย่างมากมาย กระทั่งนิตยสารยอมปรับข้อความในบทนำนั้นเสียให้ถูกต้องตามความเป็นจริงมากที่สุด ข้อความวรรคนั้นคือเมื่อผู้เขียนกล่าวว่า แรงจูงใจหลักที่ทำให้ชาวอาณานิคมทั้งปวงเข้าร่วมในการทำสงครามปฏิวัติต่อต้านอังกฤษนั้นก็คือผลประโยชน์ในการรักษาทาสของพวกเขาไว้ ตรงนี้เองที่ทำให้นักประวัติศาสตร์กระแสหลักและคนอเมริกันอนุรักษนิยมทั้งหลายนั่งไม่ติด ในที่สุดผู้เขียนและนิตยสารนิวยอร์กไทมส์ยอมแก้ไขคำพูดว่า “แรงจูงใจหลักในผลประโยชน์ของทาสสำหรับชาวอาณานิคม บางคน ไม่ใช่ทั้งหมด” 

น่าสนใจว่าเมื่อผลงานในโครงการ 1619 เป็นความริเริ่มและเผยแพร่ผ่านนิตยสาร แน่นอนว่ามันย่อมไม่ใช่งานเขียนแบบวิชาการและเต็มไปด้วยทฤษฎีมโนทัศน์และเชิงอรรถนับร้อย ทว่าบทความทั้ง 18 ชิ้นเขียนขึ้นโดยเอาทาสผิวดำเป็นแกนกลางของเรื่องที่ดำเนินไปจากปัจจุบันกลับไปยังอดีตแล้วหวนมาสู่ปัจจุบันที่จะไปสู่อนาคต อ่านง่ายเข้าใจก็ง่าย ข้อมูลสำคัญๆ ใหม่ๆ ที่ไม่เคยเห็นก็มีการนำเสนอออกมาเพื่อประกอบคำบรรยายของผู้เขียนให้เป็นรูปธรรมเด่นชัดขึ้น เช่น เมื่อพูดถึงบรรดาบิดาผู้สร้างประเทศสหรัฐอเมริกา the Founding Fathers เราไม่เคยได้ยินถึงความสัมพันธ์ของพวกเขากับทาสผิวดำเลย คนเดียวที่ถูกเปิดโปงมากสุดคือโทมัส เจฟเฟอร์สันว่าเขามีทาสผิวดำสตรี แซลลี เฮมมิงส์ เป็นเมียน้อยในบ้านตอนไปเป็นทูตในฝรั่งเศสจนเกิดลูกชายซึ่งต่อมาได้รับอิสระเมื่อโต ประวัติช่วงนี้กลายเป็นหนังฮอลลีวูดและหนังสือขายดีพักหนึ่ง

นิโคล ฮันนาห์-โจนส์เขียนถึงเจฟเฟอร์สันตอนร่างคำประกาศเอกราชอยู่ในเมืองฟิลาเดลเฟียว่า ใครรู้บ้างว่าคนรับใช้ผิวดำที่คอยดูแลเขาอยู่ระหว่างนั้นคือใคร เขาคือโรเบิร์ต เฮมมิงส์ ซึ่งเป็นน้องชายต่างแม่ของมาร์ธาผู้เป็นภรรยาของเขา หมายความว่าโรเบิร์ตเป็นลูกชายที่พ่อของมาร์ธามีกับทาสสตรีในคฤหาสน์และมาอยู่บ้านเจฟเฟอร์สันเมื่อมาร์ธาแต่งงานและนำเอาพวกทาสนับร้อยคนที่เป็นของขวัญจากพ่อมาด้วย ทำให้เจฟเฟอร์สันกลายเป็นนายทาสระดับใหญ่ขึ้นมาทันที เมื่ออ่านคำประกาศวรรคทองที่ว่า “เรายึดถือสัจธรรมเหล่านี้ว่าเป็นความจริงเชิงประจักษ์ ว่าคนเราเกิดมาเท่าเทียมกัน ว่าพวกเขาได้รับจากพระเจ้าในบรรดาสิทธิที่ละเมิดไม่ได้ อันได้แก่สิทธิในชีวิต เสรีภาพและการแสวงหาความสุข” ใน 243 ปีที่ผ่านมาคำอ้างดังกล่าวนี้ได้ทำให้ชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกาในโลกว่าเป็นดินแดนของเสรีภาพ แต่ระหว่างที่เจฟเฟอร์สันเขียนข้อความเหล่านี้นั้น เด็กวัยรุ่นผิวดำที่ทำหน้าที่รับใช้เขาอยู่และเป็นญาติทางเมียด้วยกลับถูกปฏิเสธในสิทธิทุกอย่างที่เขาเขียนถึง

เธอเขียนต่อไปว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีการสอนเลยว่า การที่ชาวอาณานิคมตัดสินใจประกาศเอกราชจากอังกฤษนั้น เหตุผลหลักประการหนึ่งคือการรักษาผลประโยชน์ในพวกทาสของเขา เพราะอังกฤษมีแนวโน้มจะจำกัดการใช้ทาสและเลิกทาสต่อไป ถามว่า ในจำนวนของประธานาธิบดีสหรัฐฯ 12 คนแรกนั้นเป็นเจ้าของทาสกี่คน ตอบ 10 คน ตั้งแต่จอร์จ วอชิงตัน เจฟเฟอร์สัน เจมส์ แมดิสัน และเจมส์ มอนโรซึ่งนักประวัติศาสตร์ล้อเลียนว่าเป็นพวก ‘ราชวงศ์เวอร์จิเนีย’ มาถึง แอนดรูว์ แจ็กสัน เป็นต้น  ดังนั้นถ้าใครเถียงว่าประเทศนี้ถูกก่อตั้งขึ้นมาไม่ใช่บนหลักการประชาธิปไตยหากแต่เป็นระบบทาสต่างหาก ก็อาจรับฟังได้

ผมอ่านโครงการ 1619 แล้วด้วยความสนุกสนานอย่างยิ่ง ได้ข้อมูลใหม่และการตีความที่ไม่เป็นเส้นตรงแบบตำราประวัติศาสตร์อเมริกากระแสหลัก หากแต่เปิดมุมมองและความเข้าใจในความหมายและความเป็นชาติของประเทศเสียใหม่ ว่ามันไม่ใช่โครงการของคนกลุ่มเดียว ซึ่งในอดีตมักได้แก่ชนชั้นนำขณะนั้นเพียงฝ่ายเดียวที่เป็นคนสร้างและให้ความหมายแก่ชาติ หากแต่ต้องเปิดพื้นที่และบทบาทให้แก่คนเล็กคนน้อยต่างๆ ทั้งหลายเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับการสร้างประวัติศาสตร์ชาติด้วย ดังที่โครงการ 1619 ประกาศว่า หากไม่ใช่คนดำที่ต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพมาโดยตลอด ประชาธิปไตยในอเมริกาก็คงจะไม่ได้สถาพรมั่นคงยั่งยืนมาถึงทุกวันนี้ได้

 เป็น คำประกาศเอกราช ที่ท้าทายยิ่ง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save