fbpx

จาก ‘ไดร์ฟเวอร์’ สู่ ‘ไรเดอร์’ กับการเมืองเรื่อง (บน) ท้องถนน – ตั้งคำถามเรื่องทุนนิยม กับ เคลาดิโอ โซปรานเซ็ตติ

ที่มาภาพ เคลาดิโอ โซปรานเซ็ตติ: Central European University

หากจะให้พูดถึงอะไรสักอย่างหนึ่งที่อยู่คู่ชีวิตคนไทยมานาน หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างหรือแท็กซี่ – โดยเฉพาะในเมืองเทพสร้างที่รถติดเสียยิ่งกว่าติดเช่นนี้ ภาพของแท็กซี่หรือวินมอเตอร์ไซค์ในเสื้อสีส้มที่ขับฉวัดเฉวียนลัดเลาะไปตามท้องถนนกลายเป็นภาพที่เราเห็นกันจนชินตา

อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพความปกติที่เราเคยเห็นเริ่มถูก ‘ดิสรัปต์’ ด้วยการเข้ามาถึงของแอปพลิเคชันมากหน้าหลายตาที่เสนอบริการรับ-ส่งให้คุณไม่ต่างจากวินมอเตอร์ไซค์หรือแท็กซี่ และแม้จะมาด้วยราคาที่แพงกว่า ทว่าการได้รับบริการที่สะดวกสบายและปลอดภัย ทำให้หลายคนเลือกที่จะโอบรับแอปพลิเคชันเหล่านี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน

แน่นอน นี่ย่อมกระทบกับรายได้และการทำงานของกลุ่มคนขับแท็กซี่และมอเตอร์ไซค์รับจ้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจึงเห็นข่าวการประท้วงแอปพลิเคชันเหล่านี้ หรือเห็นเรื่องเล่าของการต้องแอบหลบๆ ซ่อนๆ พี่วินเจ้าประจำเพื่อเดินไปขึ้นแกร็บที่เพิ่งเรียกมาผ่านตาอยู่เป็นระยะ และแม้นี่จะฟังดูเป็นเรื่องปกติในกลไกตลาดเสรีที่ผู้ให้บริการหลายเจ้าต้องแข่งขันกัน แต่ขณะเดียวกัน พลวัตที่เกิดขึ้นในกลุ่มเศรษฐกิจแพลตฟอร์มนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจและเปิดเผยให้เห็นโครงสร้าง ทั้งในระบบการเมืองและเศรษฐกิจได้อย่างแยบคาย

เคลาดิโอ โซปรานเซ็ตติ (Claudio Sopranzetti) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาที่ Central European University คือหนึ่งในคนที่สนใจและศึกษาเรื่องการเมืองและสังคมไทยมานาน ถ้าพูดให้เจาะจงกว่านั้น เขาเคยทำวิทยานิพนธ์เรื่องมอเตอร์ไซค์รับจ้างกับสังคมไทย ที่ต่อมาพัฒนากลายมาเป็นหนังสือ Owners of the Map: Motorcycle Taxi Drivers, Mobility, and Politics in Bangkok ซึ่งเปิดเผยภาพของการเมืองไทยผ่านสายตาของสิ่งที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันได้อย่างแหลมคม

ทว่าเคลาดิโอไม่ได้จำกัดการศึกษาของเขาอยู่เพียงเท่านั้น จากมอเตอร์ไซค์รับจ้างและแท็กซี่ การศึกษาของเขาได้ขยายขอบเขตไปถึงกลุ่มคนหน้าใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่วงการชีวิตบนท้องถนนในประเทศไทย เป็นกลุ่มคนที่มาพร้อมกับกระแสแพลตฟอร์มเดลิเวอรี หรือที่เรารู้จักกันในนาม ‘ไรเดอร์’ (rider)

เคลาดิโอมองภาพชีวิตบนท้องถนนประเทศไทยผ่านแว่นตาแบบนักมานุษยวิทยาอย่างไร อะไรคือความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนที่อยู่มาก่อนอย่างไดร์ฟเวอร์ (ในที่นี้หมายถึงคนขับแท็กซี่และคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง – driver) และไรเดอร์ อะไรคือความจริงที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังของแพลตฟอร์มเดลิเวอรีที่ขับเคลื่อนให้กลุ่มไรเดอร์เข้าสู่การประท้วงบนท้องถนน และการประท้วงของกลุ่มไรเดอร์สะท้อนภาพที่ใหญ่กว่าเรื่องปากท้องหรือเรื่องความขัดแย้งในการทำงาน

ชวนหาคำตอบได้ในบรรทัดถัดจากนี้

หมายเหตุ: ถอดความบางส่วนจากการบรรยาย “From Motorcycle Taxi Drivers to Riders: Informality and Politics in the Era of COVID-19 by Assoc Prof Claudio Sopranzetti” โดย เคลาดิโอ โซปรานเซ็ตติ ณ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore: NUS) วันที่ 16 มีนาคม 2022

ไดร์ฟเวอร์ ไรเดอร์ และแพลตฟอร์มเดลิเวอรี

ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน หลายคนอาจยังจำได้ดีถึงภาพของกลุ่มคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือที่พวกเราเรียกกันติดปากว่า ‘พี่วิน’ ยกพวกตีกันบริเวณกลางกรุงเทพฯ ด้วยเรื่องแย่งลูกค้า พร้อมอาวุธครบมือตั้งแต่มีดไปจนกระทั่งถึงปืน ก่อนจบลงด้วยโศกนาฏกรรมที่มีผู้บริสุทธิ์ถูกลูกหลงจนเสียชีวิต

แน่นอน นี่ไม่ใช่เหตุการณ์ปกติที่ควรเกิดขึ้น โดยเฉพาะในระบบตลาดเสรีที่เปิดโอกาสให้ทุกคนใช้ความสามารถและทักษะในการทำงานหาเลี้ยงชีพ แต่ในอีกด้านหนึ่ง นี่คือภาพที่สะท้อน ‘ความจริง’ ที่จริงเสียยิ่งกว่าจริงของกรุงเทพฯ เปิดเปลือยเส้นสายโยงใยเบื้องหลังคำว่า ‘เสรี’ ที่มีอำนาจมืดและวิถีปฏิบัติที่ไม่เป็นทางการบางอย่างซ่อนอยู่ จนกลายเป็นภาพและข่าวที่แม้จะชวนเบือนหน้าหนีทุกครั้งที่ได้ยิน แต่ก็เป็นอะไรที่คนไทยเห็นและเสพจนเผลออาจกลายเป็นความชินชา

และนี่คือสิ่งที่เคลาดิโอนิยามว่าเป็น “จุดเด่นของชีวิตบนท้องถนนในกรุงเทพฯ” ถ้าขยายความให้มากกว่านั้น ภาพของคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ออกมาประท้วงหรือยกพวกตีกันกลายเป็นเสมือน ‘อาวุธเชิงวาทศิลป์’ (rhetorical weapon) อย่างหนึ่งที่ใช้อ้างสิทธิว่า ใครที่สามารถทำงานบนถนนในกรุงเทพฯ ได้ และใครที่ไม่สามารถทำได้

อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยการจราจรที่ติดขัดโดยเฉพาะในย่านธุรกิจกลางเมืองไปจนถึงสภาพถนนและตรอกซอกซอยในกรุงเทพฯ รวมถึงทักษะในการซอกแซกไปตามรถราที่ติดขัดและซอยแคบๆ ทำให้ไม่ว่าอย่างไร คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็เป็นปัจจัยที่หกของคนกรุงเทพฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทว่าหลายสิ่งหลายอย่างกำลังจะเปลี่ยนไป เมื่อพวกเราได้รู้จักกับแอปพลิเคชัน ‘แกร็บ’ (Grab) หรือ ‘อูเบอร์’ (Uber) ที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มและกำลังจะเข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าของเศรษฐกิจรวมถึงวิถีชีวิตของคนไทยไปอย่างสิ้นเชิง

“แอปพลิเคชันเหล่านี้มาพร้อมกับจุดขาย 3 ข้อ คือการที่คุณสามารถติดตามเส้นทางการเส้นขับขี่ได้ ประวัติที่โปร่งใสของไรเดอร์ ไปจนถึงการที่คุณสามารถอ่านรีวิวคนขับจากผู้โดยสารก่อนหน้าได้” เคลาดิโออธิบาย พร้อมทั้งสรุปว่า แอปพลิเคชันนี้ทำให้คุณสามารถไปถึงที่หมายได้อย่างปลอดภัย โดยไม่ต้องพึ่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างหรือแม้แต่แท็กซี่อีกต่อไป

นอกจากแกร็บและอูเบอร์แล้ว อีกแอปพลิเคชันหนึ่งที่คนไทยรู้จักกันดีคือ ‘ไลน์แมน’ (Lineman) ซึ่งได้เริ่มเข้าตีตลาดประเทศไทยในช่วงปี 2015-16 โดยเคลาดิโออธิบายว่าไรเดอร์ใหม่ไม่จำเป็นต้องสมัครหรืออยู่ภายใต้สัญญาใดๆ พวกเขาแค่ต้องมีสัญญาณอินเทอร์เน็ต เข้ารับการเทรนนิ่ง ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน และสามารถทำงานเป็นไรเดอร์ได้ทันที

“5 ปีนับจากที่ไลน์แมนเปิดตัว จำนวนไรเดอร์ของไลน์แมนเพิ่มขึ้นจากเดิม 18,000 คน เป็น 200,000 คน แต่ถ้าเราไม่นับแค่ไลน์แมน แต่ดูจากแอปพลิเคชันส่งอาหารที่มีอยู่มากมาย เราจะพบว่ามีไรเดอร์มากกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศเลยทีเดียว และนี่คือตลาดแรงงานที่ใหญ่มาก”

อย่างไรก็ดี ในปีช่วงปี 2016 แอปพลิเคชันเหล่านี้กลับถูกแบนจากหน่วยงานภาครัฐ โดยอ้างถึงเรื่องการฝ่าฝืนกฎระเบียบของทางการและอันตรายต่อความปลอดภัยและความมั่นคงของระบบคมนาคม เนื่องจากพวกเขามีระบบและมีคนขับเป็นของตัวเอง

“ประเด็นในเรื่องนี้คือ เหตุผลด้านความปลอดภัยและความมั่นคงที่แอปพลิเคชันใช้เป็นจุดขายหลัก กลับถูกรัฐนำมาใช้เพื่อต่อต้านพวกเขาเสียเอง”

จนกระทั่งในปี 2019 เกิดเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในแวดวงเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เมื่อกลุ่มคนขับแท็กซี่ได้รวมตัวกันประท้วงหน้าสำนักงานใหญ่ของแกร็บ ตัวแทนของผู้ประท้วงชี้แจงชัดเจนว่าพวกเขาไม่ได้มีปัญหาใดๆ กับแอปพลิเคชันแกร็บ แต่ต้องการให้แกร็บอยู่ภายใต้กฎหมาย พร้อมทั้งกล่าวว่าลำพัง มอเตอร์ไซค์รับจ้างและแท็กซี่ก็เพียงพอแล้วสำหรับการให้บริการ – นี่กลายเป็นดีเบตใหญ่ครั้งหนึ่งที่แบ่งคนออกเป็นสองฝั่ง ทั้งที่เห็นด้วยกับกลุ่มผู้ประท้วง และคนที่มองว่าภาครัฐควรหันมาจัดการกับคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างและแท็กซี่ที่ให้บริการไม่ดีมากกว่า

“การประท้วงครั้งนี้ทำให้เห็นภาพตลาดแรงงานที่ซับซ้อนและเหมือนจะย้อนกลับไปในช่วงก่อนปี 2003 ที่เรายังไม่มีบริการทางสังคมและขาดแคลนสิทธิแรงงาน พวกเขามองว่าบริษัทต่างชาติมาควบคุมและแย่งทรัพยากรของพวกเขาไป และนี่คือสาเหตุที่ทำให้คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างและแท็กซี่มีปฏิกิริยารุนแรงเช่นนี้”

“ถ้าพูดให้ชัดขึ้น ‘เทคโนโลยี’ ได้เข้ามาเป็นตัวเปลี่ยนเกมขนานใหญ่ มอบบริการที่สะดวกสบายและปลอดภัยกว่าให้ผู้โดยสาร และทำให้ชีวิตที่เคยง่ายกว่านี้ของคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างและแท็กซี่ไม่ง่ายอีกต่อไป” เคลาดิโอกล่าว “ขณะเดียวกัน ทางฝั่งไรเดอร์ของแอปพลิเคชันเหล่านี้ก็เริ่มทำอะไรบางอย่างกับเงื่อนไขที่พวกเขามองว่าไม่ยุติธรรมเช่นกัน”

ในช่วงกลางปี 2019 ธุรกิจเดลิเวอรีบนแพลตฟอร์มยังคงไม่ถูกกฎหมาย สวนทางกับตลาดบริการส่งอาหารแบบเดลิเวอรีที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งมาจากกลยุทธ์ในช่วงขวบปีแรกของบริษัทที่ให้บริการราคาถูก ดึงดูดไรเดอร์ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทว่าเมื่ออูเบอร์ออกจากเวทีเดลิเวอรีไป แกร็บก็ยิ่งขยายตัวมากขึ้น ทว่ากลับจ่ายค่าแรงให้กับไรเดอร์น้อยลง และนั่นมานำซึ่งการประท้วงที่เคลาดิโอมองว่า เป็นการประท้วงที่สมเหตุสมผล (reasonable) พอสมควร

“ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2019 ไรเดอร์ประมาณ 50 คนในพัทยาทำการสไตร์ก (strike) เพื่อประท้วงบริษัทเรื่องค่าแรง การประท้วงนี้เป็นเหมือนการส่งเสียงกลับไปยังบริษัทที่เคยสัญญาว่าจะให้พวกเขาเป็น ‘พาร์ตเนอร์’ มากกว่าจะเป็น ‘พนักงาน’ เพราะบริษัทไม่เคยถามไรเดอร์เกี่ยวกับค่าแรง แรงจูงใจ หรือสิทธิต่างๆ ที่จะได้รับเลย”

นอกจากปัญหาในตัวแพลตฟอร์มเองแล้ว ประเด็นปัญหาเก่าระหว่างกลุ่มไดร์ฟเวอร์และไรเดอร์ก็ยังไม่จบลง โดยในช่วงปลายปีเดียวกันนั้นเอง ความสัมพันธ์ระหว่างคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างและไรเดอร์ได้ตกต่ำลงถึงขีดสุด สองกลุ่มนี้ต่างมองอีกฝ่ายว่าเป็นผู้ที่ไม่สมควรจะอยู่บนท้องถนน ขณะที่ภาครัฐก็มองว่าแพลตฟอร์มยังเป็นสิ่งผิดกฎหมายและไม่ได้เข้ามาจัดการอะไรกับความขัดแย้ง ซ้ำร้าย บางครั้งกลับเป็นผู้มีอำนาจเสียเองที่เรียกเงินจากไรเดอร์ผ่านทางการปรับหรือเรียกสินบน ขณะที่บริษัทยังคงดำเนินงานต่อไปเสมือนหนึ่งว่าไม่ถูกรบกวนใดๆ

เคลาดิโอชี้ให้เห็นประเด็นว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดพยายามใช้ ‘ภาษา’ ของความไม่เป็นทางการในการกล่าวหาฝ่ายตรงข้าม อย่างไรก็ดี เคลาดิโอเน้นว่าเมื่อพูดถึง ‘ความไม่เป็นทางการ’ (informality) แต่ละฝ่ายต่างมีความหมายของตัวเอง สำหรับคนขับแท็กซี่และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คำนี้หมายถึงการไม่มีใบอนุญาต สำหรับไรเดอร์ ความไม่เป็นทางการคือการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม สำหรับบริษัทคือการควบคุมตลาดและเศรษฐกิจแบบปิด และสำหรับผู้ใช้ (user) คำนี้หมายถึงการขาดความแม่นยำและความสม่ำเสมอในแง่การบริการ

นอกจากนี้ ถ้าเรามองว่าเทคโนโลยีคือตัวเปลี่ยนเกมขนานใหญ่ในวงการเดลิเวอรี การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2020 เป็นต้นมา ก็คืออีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจแพลตฟอร์มนี้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัจจัยใด และทำให้หลายสิ่งหลายอย่างในวงการนี้เปลี่ยนแปลงไปด้วย

“ทั้งความกลัว มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม ไปจนถึงการสั่งห้ามนั่งทานอาหารในร้าน ทั้งหมดนี้คือปัจจัยที่เข้ามาควบคุมและรื้อถอนลำดับขั้นทั้งหมดที่เคยมีไป ถ้าพูดให้ชัดขึ้น บางคนถูกผลักออกจากระบบ บางคนถูกดึงดูดเข้าสู่ระบบ แต่ผลที่เห็นชัดเจนคือ ธุรกิจเดลิเวอรีขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อประเทศต้องเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจขนานใหญ่จนทำให้การหางานทำเป็นเรื่องยากเหลือเกิน”

ไม่ว่าจะเป็นไลน์แมน แกร็บฟู้ด (Grabfood) ที่ต่อยอดมาจากแกร็บแท็กซี่ (Grabtaxi) ในปี 2018 แอปพลิเคชัน Gojek ที่เปิดตัวในปี 2020 และปิดตัวลงในปีเดียวกัน ไปจนถึงแอปพลิเคชันน้องใหม่มาแรงอย่างโรบินฮู้ด (Robinhood) ของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งถือเป็นแอปพลิเคชันส่งอาหารเจ้าแรกของไทย ทั้งหมดนี้สะท้อนภาพของแพลตฟอร์มเดลิเวอรีที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งขยายตัวในช่วงโรคระบาด

อีกประการหนึ่งที่น่าสนใจและมาพร้อมกับการขยายตัวของแพลตฟอร์มเดลิเวอรีในช่วงโรคระบาดคือ การที่เส้นแบ่งระหว่างไดร์ฟเวอร์กับไรเดอร์เริ่มเบลอเข้าหากัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดเลยในยุคก่อนโควิด-19 และนั่นทำให้ความขัดแย้งระหว่างสองกลุ่มที่เคยมีมาตลอดเริ่มเบาบางและรุนแรงน้อยลง

“คนทั่วไปมักมองว่า สถานะของไดร์ฟเวอร์กับไรเดอร์เหมือนกัน คือเป็นแรงงานนอกระบบ ไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคมใดๆ และได้รายได้เป็นรอบๆ” เคลาดิโอกล่าว “แต่จากการที่ผมได้คุยกับกลุ่มไรเดอร์แล้วพบว่า จริงๆ คนกลุ่มนี้ต้องเจอกับอะไรมากมายตอนที่เขาตัดสินใจเปลี่ยนมาเป็นไรเดอร์ ทั้งการแข่งขันในตลาดแรงงานและรายได้ที่ลดลง แถมยังต้องเจอกับ ‘อัลกอริทึม’ ที่สร้างปัญหาให้กับพวกเขาอีก และเหตุผลเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพวกเขาด้วย”

เคลาดิโอเสนอประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือบทบาทของแพลตฟอร์มในฐานะ ‘นายหน้า’ ที่เป็นผู้ประสานระหว่างข้อเสนอกับความต้องการในตลาด ถ้าพูดให้ชัดขึ้น แพลตฟอร์มไม่ได้เป็นนายจ้างใคร พวกเขาแค่มอบพื้นที่ในตลาดซึ่งข้อเสนอและความต้องการจะมาบรรจบกัน ดังนั้น แม้การทำงานยาวนานอาจไม่ได้การันตีรายได้ที่แน่นอน แต่ด้วยระบบของอัลกอริทึมก็กระตุ้นให้เหล่าไรเดอร์เลือกที่จะทำงานหนักและต่อเนื่องยาวนานอยู่ดี

“ผมคิดว่านี่เป็นเหมือนพวกเจ้านายสมัยก่อนที่มีกลไกอยู่สองแบบ – ให้รางวัลหรือไม่ก็ลงโทษ แต่ด้วยตัวแพลตฟอร์ม รางวัลในที่นี้คือความแน่นอน และการลงโทษหมายถึงการเปลี่ยนแปลง ทั้งหมดนี้ทำให้เป็นเรื่องแย่มากที่ไรเดอร์จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรในระบบได้ เมื่อการมุ่งทำงานต่อไปอาจทำให้คุณได้เงินหรือวันหยุดเพิ่ม”

เคลาดิโอยกตัวอย่างประสบการณ์ของไรเดอร์คนหนึ่ง ซึ่งกลยุทธ์หลักในการทำงานของไรเดอร์คนนี้คือการมุ่งทำงานและเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ที่จะได้ระหว่างทาง อย่างไรก็ดี กลยุทธ์นี้อาจเป็นเรื่องยากสำหรับไรเดอร์หน้าใหม่มากกว่าคนที่มีประสบการณ์มาแล้ว และวิธีที่เคยใช้ได้ผลในวันหนึ่งก็อาจใช้ไม่ได้ในวันถัดไป

“นี่คือสิ่งที่นักวิชาการหลายคนเรียกว่า การนำกระบวนการของเกมมาใช้ในเรื่องการทำงาน (gamification of work)” เคลาดิโออธิบาย “ลองคิดภาพตอนคุณเล่นเกมบนโทรศัพท์ เกมอะไรก็ได้ที่คุณกำลังติดน่ะ กลไกหนึ่งที่จะทำให้คุณเล่นเกมไปเรื่อยๆ คือการทำให้คุณเชื่อว่า ถ้าคุณยังเล่นต่อไปเรื่อยๆ คุณจะได้รางวัลมากขึ้น ได้อัปเลเวล หรือได้อุปกรณ์เสริมอะไรสักอย่าง

“นี่แหละคือกลยุทธ์ที่พวกเขาใช้เพื่อให้ไรเดอร์ทำงานต่อไปเรื่อยๆ ส่งของอีกชิ้นหนึ่งหรือรับลูกค้าอีกสักรายหนึ่ง และบางครั้งแรงจูงใจก็อาจมาในรูปแบบของเงินด้วย เช่น แอปพลิเคชันอาจทำประกันอุบัติเหตุให้คุณถ้าคุณทำงานได้มากกว่า 350 รอบ (trips) ต่อเดือน เพราะฉะนั้น คุณจึงมีทางเลือกสองทาง คือ ‘ได้’ กับ ‘ไม่ได้’ ประกันอุบัติเหตุเท่านั้น”

แน่นอน การได้ประกันอุบัติเหตุไม่เหมือนกับการได้ดาวสักดวงหรือป้ายฮีโร่สักป้ายในเกม แต่เคลาดิโอชี้ให้เห็นว่า นี่เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการทำให้คุณพยายามเล่นเกมต่อไป และเมื่อนำมุมมองแบบเดียวกันนี้มาใช้ในโลกของการทำงาน นี่คือการเอารัดเอาเปรียบและการทำงานที่มากเกินไป

เคลาดิโอยังเล่าเรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง กล่าวคือในช่วงที่โควิดแพร่ระบาดเต็มที่ในปี 2020 และมีการประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ แอปพลิเคชันเจ้าหนึ่งประกาศลดชั่วโมงการทำงานลง พร้อมทั้งออกข้อกำหนดให้ไรเดอร์ต้องใส่หน้ากากอนามัย โดยมีระบบ AI คอยตรวจจับว่าไรเดอร์คนนั้นสวมหน้ากากอนามัยหรือไม่

“เมื่อเป็นเช่นนี้ วันหนึ่งคุณอาจจะตื่นขึ้นมา เปิดแอปฯ เพื่อที่จะเริ่มทำงานตามปกติ แต่กลับพบว่าตัวเองถูกล็อกไม่ให้เข้าระบบเพราะ AI ไม่สามารถตรวจจับการสวมหน้ากากอนามัยได้ และถึงจะมีคอลเซนเตอร์ที่เป็นมนุษย์จริงๆ คอยช่วยยืนยันการสวมหน้ากากอนามัยของไรเดอร์ แต่ผลจากการลดชั่วโมงการทำงานก็ทำให้คอลเซนเตอร์อาจจะไม่สามารถช่วยยืนยันตัวตนตรงนี้ได้อยู่ดี

“เมื่อเป็นเช่นนี้ ไรเดอร์คนนั้นก็อาจจะต้องเสียเวลาและเสียรายได้ไปทั้งวัน สุดท้าย เขาก็อาจจะยอมแพ้ เข้าคอร์สเทรนนิ่งออนไลน์ใหม่ เพื่อที่จะกลับไปทำงาน ยอมลบล้างข้อมูลและประวัติการทำงานทั้งหมดที่ผ่านมา” เคลาดิโอกล่าว พร้อมทั้งสรุปว่า “ไรเดอร์จำนวนมากเข้าสู่แพลตฟอร์มนี้เพราะถูกดึงดูดด้วย ‘อิสรภาพ’ แต่พวกเขาจะได้สิ่งนั้นมาอย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อพวกเขา ‘ปิด’ แอปพลิเคชันนั้นไป”

เคลาดิโอชี้ให้เห็นวัตถุประสงค์ของแพลตฟอร์มเดลิเวอรีว่า คือการช่วงชิงส่วนแบ่งของตลาดมามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นั่นหมายถึงการดึงดูดไรเดอร์จำนวนมากเข้าสู่ห่วงโซ่ระดับนานาชาติโดยมอบข้อเสนอต่างๆ ให้ในช่วงแรก และในอีกทางหนึ่ง แพลตฟอร์มเดลิเวอรีเหล่านี้ก็มอบบริการในราคาที่สมเหตุสมผลให้กับผู้ใช้เช่นเดียวกัน

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เคลาดิโอยกตัวอย่างแอปพลิเคชันเจ้าหนึ่งที่ดึงดูดไรเดอร์ด้วยการเสนอค่าส่งแบบตายตัวจำนวน 62 บาทต่อรอบ สำหรับ 5 กิโลเมตรแรก และได้อีก 10 บาทต่อกิโลเมตรต่อมา นั่นหมายความว่าแพลตฟอร์มต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าคอมมิชชัน (commission) จำนวน 15% ขณะเดียวกัน แพลตฟอร์มกำหนดให้ร้านอาหารต้องจ่ายค่าคอมมิชชัน 30-35%

“ผลจากกลยุทธ์นี้คือ ในปี 2019 แอปพลิเคชันดังกล่าวต้องสูญเสียเงินไปเกือบ 49.9 ล้านบาท ทว่าได้ส่วนแบ่งในตลาดในปีถัดมาถึง 20%”

ต่อมา แพลตฟอร์มดังกล่าวเปลี่ยนนโยบายและลดค่าส่งจาก 62 บาทเป็น 50 บาท โดยอ้างว่าค่าส่งจำนวนนี้ยังเป็นจำนวนมากที่มากกว่าแพลตฟอร์มเดลิเวอรีอื่นๆ ก่อนจะลดจาก 50 บาทเหลือ 41 บาทในช่วงต้นปี 2020 นำมาซึ่งการประท้วงของไรเดอร์ ซึ่งต่อมากลายเป็นการรวมตัวกันที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘สหภาพไรเดอร์’ (Freedom Rider Union)

ส่วนเรื่องของแอปพลิเคชันดังกล่าว เคลาดิโอสรุปว่าสิ้นปี 2020 แอปพลิเคชันนั้นได้สูญเสียเงินไปอีกเกือบสามเท่า หรือคิดเป็น 157 ล้านบาท ทว่าส่วนแบ่งในตลาดของแอปพลิเคชันดังกล่าวขยายตัวจาก 20% เป็น 30%

สหภาพไรเดอร์: เมื่อแรงงานเริ่มตั้งคำถามกับทุนนิยม

ในเดือนพฤษภาคม ปี 2021 ที่เกิดการล็อกดาวน์ครั้งใหม่ขึ้น ภาครัฐไทยได้เข้ามาควบคุมแพลตฟอร์มโดยการกำหนดอัตราที่ธุรกิจแพลตฟอร์มจะเรียกเก็บจากร้านอาหารได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ แอปพลิเคชันที่เคลาดิโอยกตัวอย่างจึงลดอัตราที่เรียกเก็บจากร้านอาหาร จาก 35% เป็น 25% ภาระจึงตกกลับไปอยู่ที่ไรเดอร์อีกครั้ง โดยเฉพาะบริเวณรอบนอกกรุงเทพฯ ทำให้ไรเดอร์จากต่างจังหวัดเดินเข้ามาที่กรุงเทพฯ เพื่อประท้วงที่หน้าสำนักงานใหญ่ของแพลตฟอร์ม พร้อมกับการมีบทบาทมากขึ้นของสหภาพไรเดอร์

“ถ้าคุณไปดู Facebook page ของสหภาพไรเดอร์ จะเห็นว่าพวกเขามีผู้ติดตามจำนวนมาก และกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งการประท้วงที่เกิดขึ้นยังเป็นครั้งแรกที่ทำให้สมาชิกกลุ่มได้เห็นหน้าค่าตากันจริงๆ นี่เป็นอะไรที่น่าสนใจมากนะครับ เพราะไรเดอร์ไม่ได้รวมตัวกันตามหัวมุมถนนอีกต่อไป แต่พวกเขาสามารถนั่งรออยู่ในร้านกาแฟสักแห่งได้ นี่คือผลจากโลกาภิวัตน์ที่ทำให้พวกเขามีพื้นที่เคลื่อนไหวจำนวนมาก”

“ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์ออนไลน์คนในสหภาพไรเดอร์ เขาอธิบายว่าการออกมาประท้วงเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น การแบนไรเดอร์โดยไม่ได้มีการสืบสวนใดๆ หรือการที่ไรเดอร์ใหม่ๆ เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ และอาจส่งผลกระทบกับไรเดอร์หน้าเก่า และถ้าพูดให้ถึงที่สุด คนจากสหภาพไรเดอร์บอกผมว่า แพลตฟอร์มไม่ได้มองเราว่าเป็นคนที่มีเลือดเนื้อ แต่มองว่าเป็นคนที่จะสร้างกำไรให้แพลตฟอร์มได้ และนี่คือสาเหตุที่ทำให้พวกเขาลุกขึ้นสู้ตั้งแต่แรก และพยายามที่จะสู้ต่อไป”

นี่นำมาซึ่งการยื่นจดหมายประท้วงของกลุ่มไรเดอร์ในช่วงกลางปี เรียกร้องค่าส่งไม่น้อยกว่า 40 บาทสำหรับ 2 กิโลเมตร และให้บริษัทต้องปรึกษากับไรเดอร์ก่อนที่จะขยายพื้นที่การทำงานออกไป รวมถึงจัดหาประกันหรือคุ้มครองไรเดอร์พาร์ตไทม์ ทว่าบริษัทปฏิเสธที่จะรับจดหมายเรียกร้องนั้นทำให้ไรเดอร์เริ่มทำการสไตร์กในหลายจังหวัด จนกระทั่งบริษัทต้องลงมารับจดหมายเรียกร้องจากกลุ่มไรเดอร์ในที่สุด

ที่น่าสนใจคือ การประท้วงครั้งนี้ไม่ได้เป็นแค่การประท้วงเรียกร้องสิทธิหรือความเป็นธรรมอย่างที่ผ่านมา แต่ยังดึงดูดความสนใจของกลุ่มประท้วงกลุ่มอื่นๆ ทางการเมือง เช่น กลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free Youth Movement) นำมาซึ่งการที่สหภาพไรเดอร์เข้าเป็นแนวร่วมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งเคลาดิโอนิยามว่า เป็นการเติบโตครั้งยิ่งใหญ่ของขบวนการทางสังคมในประเทศไทยที่ร่วมกับผู้ให้บริการด้านการขนส่งและการเดินทาง

“ผมมองว่านี่เป็นเรื่องใหม่ในการเมืองไทยนะ เพราะเราไม่ค่อยเห็นชนชั้นแรงงานลุกขึ้นวิจารณ์ทุนนิยมอย่างเปิดเผย ที่ผ่านมา พวกเขามีแนวโน้มจะขอให้รัฐบาลช่วยเสียมากกว่า แต่ตอนนี้ เราเห็นแล้วว่ามีกลุ่มชนชั้นแรงงานกลุ่มหนึ่งที่เข้าใจเรื่องทุนนิยมอย่างลึกซึ้งและพร้อมที่จะจัดการเรื่องนี้”

ในตอนท้าย เคลาดิโอกล่าวไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า การกระทำของไรเดอร์ก่อให้เกิดภาษาและการเคลื่อนไหวรูปแบบใหม่ กล่าวคือพวกเขาไม่ได้ขอมีส่วนร่วมในระบบทุนนิยม แต่พวกเขาเริ่มตั้งคำถามกับตรรกะของระบบทุนนิยม

ถ้าพูดให้ถึงที่สุด การกระทำของไรเดอร์เป็นทั้งการสร้างอำนาจต่อรองกับแพลตฟอร์ม และยังเป็นการวิพากษ์วิจารณ์รวมถึงสะท้อนระบบเศรษฐกิจในภาพรวม

…เป็นเสมือนการเปิดเผยอีกหนึ่ง ‘ความจริง’ ที่เคยซ่อนอยู่ในที่แจ้งออกมาให้ประจักษ์ชัดกว่าเดิม

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save