“ถ้ารัสเซียหยุดรบ สงครามจะจบ แต่ถ้าเราหยุดสู้ เราจะหายไปจากโลกนี้” เรื่องเล่าจากพ่อ-ลูก ‘ทหารยูเครน’ ในสมรภูมิบักห์มุต

ไกลออกไปยังแคว้นโดเนตสก์ทางภาคตะวันออกของยูเครน สงครามได้เปลี่ยน ‘บักห์มุต’ (Bakhmut) เมืองเล็กๆ ที่แทบไม่มีใครรู้จักชื่อก่อนรัสเซียประกาศบุกโจมตียูเครนให้กลายเป็นหนึ่งในสมรภูมิรบที่นองเลือดและยืดเยื้อที่สุดแห่งหนึ่งนับตั้งแต่สงครามเริ่มในปลายฤดูหนาวปี 2022

นี่คือสมรภูมิที่ต่างฝ่ายต่างทุ่มสรรพกำลังทางการทหารอย่างไม่ลดละ – ขณะที่กองทัพรัสเซียบุกโจมตีและรุกคืบหมายมั่นจะปิดล้อมบักห์มุตและขยับแนวรบให้ได้ กองทัพยูเครนก็พยายามฝ่าวงล้อมและต่อสู้เพื่อปกป้องให้ทุกตารางเมตรของบักห์มุตยังคงดำรงอยู่ในฐานะแผ่นดินยูเครน

กลางเปลวเพลิงและควันไฟคละคลุ้งลอยมาจากอาคารที่มอดไหม้ กลางเสียงระเบิดและเสียงลั่นกระสุนปืนใหญ่ที่ดังสนั่นหวั่นไหวไปทั่วทุกสารทิศ E. และ A. คือสองทหารยูเครนพ่อลูกที่กำลังต่อสู้กับกองทัพรัสเซียในสมรภูมิบักห์มุต

ก่อนสงครามเริ่ม พวกเขาเป็นเพียงแค่ประชาชนคนธรรมดาเท่านั้น แต่เมื่อวลาดิเมียร์ ปูติน เปิดฉากสั่งบุกโจมตียูเครน พวกเขาตัดสินใจผันตัวไปเป็นทหาร ลุกขึ้นมาจับปืนด้วยจุดมุ่งหมายที่ไม่ต่างจากชาวยูเครนอีกหลายคน

ทั้งสองเข้าร่วมกองทัพยูเครนตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนปี 2022 ในช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมา E. ทหารผู้พ่อประจำการในหน่วยทหารปืนใหญ่บริเวณรอบเมืองบักห์มุต ปฏิบัติการห่างออกไปจากแนวรบประมาณ 10-15 กิโลเมตร ส่วน  A. ทหารผู้ลูกเข้าร่วมปฏิบัติหลายภารกิจในภูมิภาคดอนบาสในฐานะทหารกองพลร่ม และในสมรภูมิบักห์มุต เขาคือทหารราบที่รบอยู่ที่หน้าแนวรบ

เรื่องราวของคนธรรมดาที่ละทิ้งชีวิตสามัญเพื่อสมัครเข้าร่วมรบในกองทัพยูเครนอาจฟังดูเป็นเรื่องเหนือจริง แต่นี่คือความจริงที่ชาวยูเครนหลายคนตัดสินใจเผชิญหน้าด้วยความกล้าหาญ

The War that Brought Father’s and Son’s Faith into the Same Path

ก้าวแรกสู่สมรภูมิรบของ A. เกิดขึ้นก่อนที่รัสเซียจะบุกโจมตียูเครนอย่างเต็มรูปแบบ

ในปี 2014 หลังการปฏิวัติยูโรไมดานต่อต้านรัฐบาลวิกเตอร์ ยานูโควิช ที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดรัสเซียและมีแนวนโยบายเอนหารัสเซียกลายเป็นชนวนไปสู่สงครามในดอนบาสระหว่างกองทัพยูเครนและกองกำลังแบ่งแยกดินแดนที่สนับสนุนรัสเซีย A. ได้ตัดสินใจเข้าร่วมปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย (Anti-Terrorist Operation: ATO) ทางภาคตะวันออกในฐานะทหารประจำหน่วยต่อต้านอากาศยาน ก่อนจะออกจากกองทัพเพื่อไปทำงานในบริษัทสตาร์ตอัปแห่งหนึ่งในปี 2018 ซึ่งเป็นช่วงที่สงครามเริ่มแปรสภาพกลายเป็นความขัดแย้งแช่แข็ง และกระบวนการเจรจาสันติภาพเริ่มเดินหน้า

A. ทวนความทรงจำเมื่อครั้งตัดสินใจเป็นทหารในครั้งแรก “เรื่องตลกคือ ตอนนั้นผมไปร่วมประท้วงไมดานไม่ได้เลยเพราะต้องทำงานไปด้วย คอยดูแลแม่กับน้องสาวไปด้วย แต่ปรากฏว่าแฟลตเราอยู่ใกล้รัฐสภายูเครนมาก ผมจำได้ว่าวันหนึ่งตอนที่นั่งอยู่ในครัวที่ทำงาน เห็นภาพข่าวในโทรทัศน์ว่าแฟลตข้างๆ บ้านเราไฟไหม้ ไฟไหม้ออกมาจากหน้าต่างเลย ผมเลยรีบกลับไปที่บ้าน นั่นคือวินาทีที่ผมบอกกับตัวเองว่าจะยอมทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำสองอีก เพราะอย่างนั้นผมเลยตัดสินใจเข้าร่วมกับกองทัพ ผมไม่เคยเสียใจเลย จริงๆ ก็อยากเป็นทหารอยู่แล้วด้วย

“ก่อนรัสเซียประกาศบุกโจมตี ผมเพิ่งเดินทางไปทำงานที่โปรตุเกสได้ไม่ถึงอาทิตย์ เช้าวันที่ 24 ผมบังเอิญตื่นขึ้นมาตอนตี 4 เลยหยิบมือถือมาเปิดเช็กข่าว เท่านั้นแหล่ะ ร้องเหี้*เลย สิ่งที่เกิดขึ้นมันแย่มากๆ ไม่ใช่ว่าไม่มีข่าวหรือการวิเคราะห์สถานการณ์อะไรมาก่อนนะ แต่ผมไม่คิดว่าสงครามครั้งนี้จะเป็นสงครามเต็มรูปแบบ ตอนแรกคิดว่าน่าจะเหมือนสงครามดอนบาสในปี 2014 มากกว่า

“แต่นั่นแหละ หลังจากเกิดสงคราม ผมรู้ทันทีว่าผมต้องกลับยูเครนให้ได้ 100% ต้องกลับไปทำอะไรสักอย่าง ผมมุ่งตรงไปสมัครเป็นทหารทันทีหลังจากหาทางกลับมาที่ยูเครนได้ ผมไม่มีโอกาส— ไม่อยากแม้แต่จะบอกครอบครัวกับญาติๆ ว่าจะไปเป็นทหารด้วยซ้ำ ผมไม่อยากให้ครอบครัวต้องเศร้าเลย ผมรู้แค่ว่าผมต้องสมัครไปรบให้ได้”

แต่สงครามก็ได้นำพาให้พ่อ-ลูกมุ่งสู่สมรภูมิรบเดียวกัน

E. ผู้เป็นพ่อ เริ่มต้นจากการเป็นอาสาสมัครพลเรือนนับตั้งแต่วันแรกหลังที่รัสเซียเริ่มปฏิบัติการทางทหาร บุกแบบสายฟ้าแลบ เปิดแนวรบจากภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้เพื่อบุกประชิดกรุงคีฟ ในช่วงเดือนแรกๆ ของสงคราม ทุกสัปดาห์เขาและภรรยาจะขับรถจากคีฟไปยังเชร์นิฮีฟ (Chernihiv) เมืองยุทธศาสตร์สำคัญทางภาคเหนือ สัปดาห์ละ 2-3 วันเพื่อคอยส่งเสบียงและของใช้จำเป็นที่กองทัพและพลเรือนต้องการ สำหรับ E. การต้องเห็นภาพเชร์นิฮีฟตกอยู่เป็นเป้าหมายการโจมตีเป็นเรื่องที่เจ็บปวดมาก เพราะภรรยาของเขาเกิดที่เชร์นิฮีฟและเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่นั่น การลุกขึ้นมาปกป้องเชร์นิฮีฟจึงเป็นภารกิจที่สำคัญและมีความหมายต่อเขามาก

อย่างไรก็ตาม จากนั้นไม่นาน E. เริ่มรู้สึกว่าการทำงานเป็นอาสาสมัครพลเรือนนั้นไม่เพียงพออีกต่อไปที่จะช่วยเหลือประเทศได้อย่างที่เขาต้องการ จึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมรบในกองทัพยูเครน แม้ว่าจะต้องใช้เวลาพอสมควรกว่านักธุรกิจวัย 54 ปีจะผ่านการทดสอบความพร้อมร่างกายเพื่อบรรจุเข้าเป็นทหาร

“ตามประวัติศาสตร์ ยูเครนเป็นชนชาติที่รักเสรีภาพและพร้อมจะลุกขึ้นสู้กับความรุนแรงและผู้ที่มากดขี่ข่มเหง การเป็นทหารเลยเหมือนกับว่ามันตอบความต้องการที่อยู่ลึกๆ ในใจผมด้วย”

“เมื่อ 35 ปีที่แล้ว ผมเคยถูกกองทัพโซเวียตเรียกเกณฑ์เตรียมไปรบที่อัฟกานิสถาน ตอนนั้นเราไม่มีทางเลือก การเกณฑ์ทหารเป็นข้อบังคับ เลี่ยงไม่ได้ แต่ครั้งนี้ผมเลือกตัดสินใจเข้าร่วมกับกองทัพยูเครนด้วยเจตจำนงของตัวเอง มันเป็นคนละเรื่องเลย”

Father and Son | Two Soldiers

เวลาล่วงมากว่า 9 เดือนแล้ว นับตั้งแต่วันแรกที่ E. เข้าร่วมรบในนามกองทัพยูเครน

หน้าที่ของ E. ในสมรภูมิรบคือควบคุมโดรนเล็งเป้าปืนใหญ่ให้กับหน่วย ทุกๆ วัน E. และทหารหน่วยปืนใหญ่จะต้องเดินทางจากฐานที่ตั้งรอบๆ เมืองบักห์มุตไปยังแนวรบเพื่อคอยระบุพิกัดยิง เขาไม่ได้เปิดเผยว่ากองทัพยูเครนใช้โดรนชนิดไหนบ้าง เนื่องจากเกรงว่าข้อมูลทางการทหารจะรั่วไหล เพียงแต่บอกว่าเป็นโดรนที่ใช้ง่ายและมีประสิทธิภาพในการสอดแนมและชี้เป้าสูง 

“เราลงพื้นที่กันทันทีที่ฟ้าเปิด ปฏิบัติภารกิจกันใกล้หน้าแนวรบมาก กลัวก็กลัว แต่ก็ต้องตั้งสติในทุกๆ วินาทีที่ทำหน้าที่ เรานั่งบังคับโดรนให้บินเข้าไปในเขตพื้นที่ยึดครองของรัสเซียลึก 20-30 กิโลเมตร บินโดรนไปมาเพื่อหาเป้าหมาย และส่งพิกัดให้หน่วยปืนใหญ่ที่หน้าแนวรบทำหน้าที่ยิงทำลายล้าง คอยปรับพิกัดยิงจนกว่าจะแม่น 100%”

“การยิงให้ตรงเป้าเป็นงานยากทีเดียว ปกติจะต้องใช้มากกว่าหนึ่งนัด เป็นงานหินเหมือนกันที่จะชี้เป้าหมาย ระบุพิกัด แล้วแปลงพิกัดเป็นชุดคำสั่งยิง นอกจากนี้ยังต้องดูสภาพอากาศ ทิศทางลม และระยะจากปืนถึงเป้าหมายด้วย”

“ปกติปืนใหญ่ยูเครนต้องใช้กระสุนประมาณ 5-6 นัดถึงจะยิงโดนเป้าหมาย แต่กระสุน 5-6 นัดที่ว่ามันไม่เหมือนในวิดีโอเกมหรอก ยังไงกระสุนก็คือกระสุน มันมีพลังทำลายล้างอยู่ ต่อให้ยิงไม่โดนยานเกราะ มิสไซล์ ฐานยิงจรวด หรืออะไรก็ตามแต่ที่เป็นเป้าหมายจริงๆ กระสุนก็ยิงไปโดนทหารรัสเซียที่อยู่ในพื้นที่รอบๆ อยู่ดี”

แต่เหรียญย่อมมีอีกด้าน ด้านกลับของการทำลายล้างศัตรูคือการปกป้องประเทศ ปกป้องเพื่อนร่วมชาติ – และสำหรับ E. นั่นคือการปกป้องลูกชายที่กำลังรบอยู่ที่แนวหน้า ใกล้ๆ แนวรบฝ่ายรัสเซียเช่นกัน

ในฐานะทหารราบกองพลร่ม ภารกิจส่วนหนึ่งของกองพันที่ A. สังกัดอยู่คือการปลดปล่อยเมืองหรือหมู่บ้านจากการยึดครองของรัสเซียและลดจำนวนทหารรัสเซียที่เข้ามาปฏิบัติการในแผ่นดินยูเครนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ – ก่อนจะเข้ามาปฏิบัติการในดอนบาส A. เคยเข้าร่วมปฏิบัติการยึดคาร์คีฟ (Kharkiv counteroffensive) คืนจากรัสเซียในเดือนกันยายน 2022 มาแล้ว

การรบอยู่แนวหน้าย่อมตามมาด้วยความเสี่ยงที่จะตกเป็นเป้าโจมตีของฝ่ายรัสเซีย แต่ทุกการชี้เป้าที่แม่นยำ กระสุนทุกนัดจากฝ่ายยูเครนที่ทำลายเป้าหมายฝ่ายรัสเซียลงได้ นั่นหมายความว่าผู้เป็นพ่อสามารถปกป้องและขจัดภยันตรายให้ลูกชายมีชีวิตอยู่รอดและต่อสู้ต่อไปได้

“มันเป็นเรื่องชวนให้อ่อนไหวมาก ทุกนาทีในสนามรบสามารถตัดสินความเป็นความตายได้เสมอ นี่เป็นเรื่องยากสำหรับผมจริงๆ แน่นอนว่าผมคือเทวดาผู้พิทักษ์ของลูก เขาที่รบอยู่แนวหน้าก็คอยพิทักษ์ผมอยู่เหมือนกัน เราต่างปกป้องกันและกันในสงคราม เราไม่มีทางรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในสงครามบ้าง ผมได้แต่ภาวนาให้เขาปลอดภัย”

On the Trench of the Eastern Frontline

นับตั้งแต่เริ่มเปิดแนวรบในบักห์มุตช่วงกลางฤดูร้อนปี 2022 เมืองทั้งเมืองต้องตกอยู่ในสภาพพังพินาศจากการระดมยิงจากทั้งฝ่ายรัสเซียและยูเครน และไม่มีท่าทีที่ความรุนแรงและความเสียหายในสมรภูมิจะลดลง แต่เมื่อบักห์มุตคือสมรภูมิที่ยอมปราชัยไม่ได้ ต่างฝ่ายจึงต่างต้องช่วงชิงความได้เปรียบในสนามรบ

ในความเห็นของ E. ความได้เปรียบของรัสเซียในสงครามปืนใหญ่อยู่ที่ทรัพยากรที่มีไม่จำกัด ไม่ว่าจะเป็นกระสุนหรือปืนใหญ่ก็ตาม ขณะที่ฝ่ายยูเครนจำเป็นต้องจำกัดปริมาณการยิง เพราะมีกระสุนและปืนใหญ่จำกัด แต่สิ่งที่ลดความเสียเปรียบของฝ่ายยูเครนคือขีดความสามารถและความหลากหลายของโดรน ระบบชี้เป้า รวมทั้งคุณสมบัติ ประสิทธิภาพและความแม่นยำของปืนใหญ่ ซึ่ง E. บอกว่าเหนือกว่ารัสเซียอยู่หลายขุม “ฉะนั้น พวกเราเลยต้องชี้เป้าและยิงให้แม่นเพื่อกลบความเสียเปรียบ”

“อาวุธหลายอย่างที่เราใช้อยู่ตอนนี้ได้รับมาจากประเทศพันธมิตรทั่วโลก แต่ส่วนมากจะมาจากนาโต อาวุธประสิทธิภาพสูงพวกนี้ช่วยให้เราพลิกสถานการณ์ได้ช่วงหลังฤดูร้อนที่ผ่านมา จากนั้นมาเราใช้กระสุนน้อยกว่ารัสเซียก็จริง แต่ก็ยิงแม่นกว่า แต่ผมจะไม่บอกว่าเราอยู่ในจุดที่เรียกได้ว่าสูสีหรอก ถ้าเรามีปืนใหญ่ มีกระสุนมากเท่าที่รัสเซียมี ผมว่าเราน่าจะปิดฉากสงครามได้ภายในสองสัปดาห์”

อย่างไรก็ตาม กองทัพยูเครนก็ต้องคอยรับมือต่อปฏิบัติการต่อต้านปืนใหญ่ของรัสเซีย E. เล่าว่า เมื่อไม่นานมานี้ รัสเซียนำโดรนพลีชีพ Lancet ซึ่งเป็นอาวุธต่อต้านปืนใหญ่ที่มีประสิทธิภาพสูงมากเข้ามาใช้

“Lancet นี่ตัวปวดหัวเลย อันตรายมาก ประเด็นคือพอมันแม่น แต่ไม่ได้มีพลังทำลายล้างมาก พวกรัสเซียก็เลยใช้กลยุทธ์ Firewall คือยิงปูพรมไปทั่ว ไม่ได้เล็งเป้าหมาย กลยุทธ์แบบนี้สามารถทำลายพื้นที่ให้ราบเป็นหน้ากลองได้เลย จะบอกว่านี่คือส่วนที่เลวร้ายที่สุดของสงครามปืนใหญ่ก็ว่าได้ บางทีเราก็เสียเพื่อนร่วมรบไปเพราะ Lancet

“เราต้องคอยระวังน่านฟ้าเอาไว้ตลอด แต่ก็มีข้อจำกัดหลายอย่างที่ทำให้รัสเซียใช้ Lancet ตลอดไม่ได้ อย่างสภาพอากาศหรือพิสัยการยิง อีกอย่าง Lancet ก็เหมือนๆ กับอาวุธทุกชนิดที่ย่อมมีจุดอ่อน ผมจะไม่เปิดเผยนะว่าเราป้องกันปืนใหญ่จาก Lancet อย่างไร แต่มันมีทางเลี่ยงไม่ให้ Lancet แผลงฤทธิ์ได้เต็มประสิทธิภาพอยู่

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสงครามตลอด 1 ปีที่ผ่านมา สารพัดความล้มเหลวที่ปรากฏออกมาในสมรภูมิแล้วสมรภูมิเล่า ไม่ว่าจะจากข่าวกรองที่ไร้ประสิทธิภาพ ทหารที่ไร้ฝีมือและความเป็นมืออาชีพ อาวุธยุทธวิธีที่ล้าสมัย ยังไปไม่พ้นจากยุคโซเวียต หรือการตัดสินใจทางยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดจนกำลังเริ่มถดถอย ถอยร่นกลายเป็นฝ่ายตั้งรับและแทบขยับแนวรบไม่ได้ตั้งแต่ปลายฤดูร้อน ได้เปลี่ยนภาพกองทัพรัสเซียที่หลายคนเคยเชื่อว่ามากล้นไปด้วยแสนยานุภาพและมีศักยภาพในการบุกยึดกรุงคีฟได้ภายในชั่วข้ามคืนไปอย่างสิ้นเชิง

แต่จากประสบการณ์ที่ E. และ A. เผชิญหน้าต่อกองทัพรัสเซียในสนามรบ พวกเขามองว่ากองทัพรัสเซียไม่ได้เป็นพวกโง่เง่าเต่าตุ่นและไร้น้ำยาอย่างที่เราเข้าใจ

“ทหารรัสเซียที่เราเจอในสนามรบจริงๆ เป็นศัตรูที่มีฝีมือและแข็งแกร่งมาก มีทรัพยากรการรบไม่อั้น ไม่ใช่พวกที่วันก่อนยังเป็นคนธรรมดาอยู่ แล้วจู่ๆ ก็ถูกเกณฑ์ทหารมารบ พวกมันโจมตีได้เฉียบมาก แม้จะสูญเสียทหารระดับหัวกะทิไป และก็คงจะหาทหารฝืมือดีมาทดแทนไม่ได้ในเร็วๆ นี้ หรือแม้ว่าจะจนตรอกจากการถูกคว่ำบาตรจนไม่มีทางหาอะไหล่มาเสริมอาวุธได้ แต่ผมรู้สึกว่าทหารรัสเซียที่เราเจอห่างไกลจากคำว่าพวกโง่เครมลินอยู่มาก พวกมันแข็งแกร่ง หยาบคาย ป่าเถื่อน เป็นอสูรกายติดอาวุธที่ไร้หนทางเยียวยา กระหายที่จะบรรลุเป้าหมายและยอมจ่ายทุกอย่างเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นได้” E. เล่า

นอกจากนี้ A. มองว่า หลังจากที่ก้าวพลาดรีบเปิดฉากบุกยึดพร้อมกันหลายพื้นที่ในช่วงต้นสงคราม กองทัพรัสเซียก็พัฒนาและปรับตัวตามสถานการณ์ไปเหมือนกัน โดยใช้ยุทธศาสตร์การรบที่ระมัดระวังขึ้น เน้นบุกเฉพาะพื้นที่เท่านั้น

“พวกทหารรัสเซียร้ายกาจมาก แม้ว่าบางส่วนจะรบด้วยวิธีล้าสมัยไปบ้าง ประมาทไม่ได้เลย พวกมันกระหายเลือดและคอยไล่ฆ่าเราอยู่ตลอด”

“อย่างหนึ่งที่บอกได้คือ พวกมันเจ้าเล่ห์และเหี้ยมกว่าพวกเรามาก” A. เล่าต่อถึงกลยุทธ์โหดที่ทหารรัสเซียใช้ที่แนวรบบักห์มุต “อย่างที่คุณรู้ สมรภูมิที่บักห์มุตตอนนี้รบกันในสนามเพลาะใช่มั้ย ก็คือมีสนามเพลาะ 2 แนวคั่นกลางแนวรบระหว่างเรากับพวกรัสเซีย แล้วตรงกลางระหว่างสนามเพลาะนั่นก็มีป่าเล็กๆ อยู่ พวกรัสเซียจะเอาหมาไปล่ามโซ่ทิ้งไว้ตรงป่า แล้วก็ไม่ให้อาหาร พอมีใครไปป้วนเปี้ยนแถวๆ นั้นหมาก็จะเห่ากันแทบบ้า พวกทหารรัสเซียใช้เสียงเห่านี่แหละเป็นสัญญาณเตือน ซึ่งฝ่ายเราไม่มีทางใช้วิธีอะไรแบบนี้แน่นอน”

แต่ที่โหดเหี้ยมยิ่งไปกว่านั้น A. เล่าว่าทหารรัสเซียใช้ทหารยูเครนเป็นโล่มนุษย์

“อีกอย่างคือ พวกรัสเซียมักจะพานักโทษที่จับได้จากฝ่ายเราไปล่ามไว้กับต้นไม้แถวๆ ระยะทำการปืนใหญ่เรา บางทีระบบชี้เป้าก็แยกไม่ได้เสมอไปว่ากลุ่มคนที่ระบุพิกัดได้คือมิตรหรือศัตรู พวกมันรู้ว่าปืนใหญ่เราจะยิงมาทางไหน ฝ่ายรัสเซียเลยใช้วิธีแบบนี้จัดการพวกเรา อีกวิธีที่คล้ายๆ กันคือจับทหารบาดเจ็บไปนอนใกล้ๆ สนามเพลาะไม่ให้ฝ่ายเราโจมตี เพราะพวกรัสเซียรู้ว่าถ้าเราเห็นตอนใช้โดรนชี้เป้าระบุพิกัด เราจะไม่สั่งยิง”

ส่วนฝ่ายกองทัพยูเครน สปิริตในการต่อสู้เพื่อประเทศ อาวุธยุทโธปกรณ์และระบบข่าวกรองจากการสนับสนุนของโลกตะวันตกที่ทันสมัยกว่าเอื้อให้กองทัพเล็กๆ พลิกไปเป็นฝ่ายรุก โจมตีกลับ สกัดกองทัพรัสเซียนและยึดพื้นที่ในหลายเมืองคืนได้ อย่างคาร์คีฟทางตะวันออกเฉียงเหนือ หรือเคอร์ซอน (Kherson) ทางภาคใต้

สงครามครั้งนี้ ‘วิวัฒนาการ’ กองทัพยูเครนไปไม่น้อย หากเทียบกับในช่วงสงครามดอนบาสปี 2014 A. เล่าว่าแง่หนึ่งที่ทำให้กองทัพยูเครนเหนือกว่ากองทัพรัสเซียไม่ใช่ยุทธวิธีการรบที่เปลี่ยนจากแบบโซเวียตไปเป็นแบบตะวันตก แต่เป็นส่วนผสมระหว่างประสบการณ์การผ่านสงคราม วัฒนธรรมการรบแบบคอสแซกส์ (Cossacks) กับเทคโนโลยีทางการทหารระดับสูงต่างๆ หรือที่ A. เปรียบเทียบว่ากองทัพยูเครนคือ ‘คอสแซกส์ไฮเทค’ (Hi-Tech Cossacks)

“อย่างหนึ่งที่ผมอยากพูดถึงคือทหารระดับนายร้อยในกองทัพ พวกเขาพิเศษมากๆ มีความคิดสร้างสรรค์ในการริเริ่มทำอะไรสักอย่างเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ที่วาดหวังไว้ได้ และทุ่มเทอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ พูดชัดๆ คือ ทหารระดับล่างๆ ในสายบัญชาการมีอิสระในการตัดสินใจในสนามรบพอสมควร

“มันยากจริงๆ ครับที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ในสนามรบออกมาเป็นคำพูด ด้วยความเคารพอย่างมากต่อผู้เสียภาษีในประเทศสมาชิกนาโต แน่นอนว่าอาวุธและเทคโนโลยีจากนาโตมีส่วน แต่ผมรู้สึกว่าประสบการณ์ในสนามรบและการใช้ชีวิตผ่านสงครามได้เปลี่ยนและยกระดับกองทัพยูเครนไปอีกขั้น”

What They Fight For

การสู้รบที่บักห์มุตยืดเยื้อและกินเวลามาร่วม 8 เดือนจนกลายเป็นสงครามพร่ากำลัง ความโหดเหี้ยมที่เกิดขึ้นสมรภูมินั้นนองเลือดในระดับที่บักห์มุตได้รับการขนานนามว่า ‘เครื่องบดเนื้อ’ (meat grinder) ต่างฝ่ายต่างสูญเสียกำลังพลไปมากในสมรภูมิ อย่างไรก็ตาม หากประเมินในทางการทหาร บักห์มุตเป็นเพียงเมืองเล็กๆ ที่ไม่ได้มีความสำคัญในทางยุทธศาสตร์มาก นอกจากว่าเป็นสมรภูมิเพื่อตัดกำลังกองทัพรัสเซียให้อ่อนแอลง หรือเป็นหน้าด่านก่อนไปถึงครามาทอร์สก์ (Kramatorsk) และสลอวิยันสก์ (Sloviansk) – สองเมืองที่อาจมีโอกาสกลายเป็นประตูในการบุกลึกเข้าไปในแคว้นโดเนตสก์

คำถามคือ เหตุใดบักห์มุตจึงเป็นสมรภูมิที่ยูเครนและรัสเซียต่างยอมแพ้ไม่ได้

รายงานของ BBC ชี้ให้เห็นว่า สมรภูมิที่บักห์มุตมีนัยสำคัญทางการเมืองสำหรับทั้งสองฝ่าย สำหรับยูเครน ชัยชนะที่บักห์มุตจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของพลังแห่งการต่อต้าน ส่วนฝ่ายรัสเซีย ชัยชนะที่บักห์มุตจะกลายเป็นโฆษณาชวนเชื่อที่ขายได้ ซึ่งตรงกับความเห็นที่ E. ให้ไว้ว่า รัสเซียต้องเอาชนะในสมรภูมิบักห์มุตให้ได้ เพราะที่ผ่านมากองทัพรัสเซียแทบไม่มีผลงานใหม่ๆ ไปโชว์ทหารระดับสูงและโชว์ในโฆษณาชวนเชื่อ

“กองทัพรัสเซียเลยต้องบุกยึดเมืองจริงๆ ให้ได้สักเมืองสองเมือง ไม่ใช่แค่หมู่บ้าน ทุ่งเปล่าๆ หรือป่า กองทัพรัสเซียต้องการมีผลงานไปโชว์ว่า เรายึดบักห์มุตได้แล้ว เรายึดอาฟดีฟกา (Avdiivka) ได้แล้ว แต่สองเมืองนี้ขนาดเล็กนิดเดียว อยู่ไกลลับหูลับตาออกไปทางตะวันออก มีแต่คนงานเหมืองถ่านอาศัยอยู่ ไม่ใช่เมืองใหญ่ๆ เหมือนคาร์คีฟ หรือเล็กลงมาอีกหน่อยก็อย่างเคอร์ซอน ที่สุดท้ายแล้วกองทัพรัสเซียก็แตกพ่ายถอยทัพออกไป หรือโอเดสซา (Odesa) มิโคลาเยฟ (Mykolaiv) ซึ่งกองทัพรัสเซียก็ไม่เคยยึดได้

“ผมว่ารัสเซียหมกมุ่นกับความคิดที่ว่าจะผนวกยึดดอนบาส ทั้งโดเนตสก์และลูฮานสก์ให้เข้าไปอยู่ภายใต้รัฐป่าเถื่อน บักห์มุตกับอาฟดีฟกาด้วย เพราะฉะนั้น กองทัพรัสเซียเลยยอมจ่ายด้วยราคาที่แพงมาก แพงเสียจนไม่สมเหตุสมผลในทางยุทธศาสตร์เพื่อให้ได้ความสำเร็จมา และไม่คุ้มด้วยที่จะได้ชัยชนะมาพร้อมกับซากปรักหักพัง

“นี่เป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ได้เลย แต่นับตั้งแต่รัสเซียตัดสินใจบุกยูเครนเมื่อปีที่แล้ว ความเป็นมนุษย์ คุณค่าความเป็นมนุษย์หรือการคิดด้วยเหตุผลไม่หลงเหลืออยู่ในรัสเซียอีกต่อไปแล้ว”

ส่วน A. ให้ความเห็นว่า การรบในบักห์มุตของกองทัพรัสเซีย – และการทำสงครามบุกยูเครนนั้นล่องลอยและไร้จุดมุ่งหมาย

“สิ่งที่รัสเซียกำลังทำอยู่ตอนนี้คือพยายามไม่ให้ตัวเองคว้าน้ำเหลว พยายามยึดดินแดนไปเรื่อยๆ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ก่อนการเจรจาจะเริ่ม เผื่อว่าจะได้มีอำนาจต่อรอง

“แต่ไม่ว่าจะทหารระดับไหนในกองทัพรัสเซีย ก็ไม่มีใครตระหนักจริงๆ ว่าจะรบไปเพื่ออะไร”

What We Fight For

เช้ามืดวันหนึ่งในช่วงต้นเดือนกันยายน 2022 หลังจากที่กองพลร่มที่ A. สังกัดได้รับสัญญาณแจ้งให้เริ่มปฏิบัติการรุกตอบโต้-ปลดปล่อยคาร์คีฟ ชั่วเวลาหนึ่งที่เริ่มเคลื่อนพลออกจากป่าที่เป็นฐานที่มั่น A. เล่าว่านั่นคือจังหวะชีวิตที่วิเศษที่สุด

“ที่รู้สึกอย่างนั้นไม่ใช่เพราะว่ากำลังจะเริ่มปฏิบัติการครั้งใหญ่นะ ความรู้สึกที่พวกเราทุกคนรู้สึกเหมือนกันตอนนั้นมันเหมือนกับว่ากำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง ชีวิตที่ใช้มาทั้งหมดก่อนหน้านี้ก็เพื่อวินาทีนี้ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตก่อนหน้านี้กลายเป็นเรื่องเล็กๆ ไปหมดถ้าเทียบกับสิ่งที่กำลังจะทำ

“ตอนที่เข้าไปปลดปล่อยหมู่บ้านแรกๆ จากพวกรัสเซีย สภาพที่ผมเห็นมันแย่มาก พื้นที่บริเวณนั้นพังพินาศหมด ผู้คนก็กำลังคอยให้พวกเราไปปลดปล่อย พอเราไปถึงก็ดีใจมากที่เรามาสู้กับพวกรัสเซีย ทุกๆ โมเมนต์ที่เจอมันย้ำสิ่งที่อยู่ในใจผมว่า เรากำลังทำสิ่งที่ถูกต้องอยู่

“สิ่งที่ทำให้เราต่างจากรัสเซีย ง่ายๆ เลยคือ มันเหมือนขาวกับดำ ดีกับชั่ว เรามีจุดมุ่งหมาย เราลุกขึ้นมาสู้เพื่อปกป้องประเทศ ปกป้องความคิดที่เราเชื่อ ปกป้องบ้าน ปกป้องครอบครัว ปกป้องคนที่เรารัก ปกป้องคนรุ่นต่อๆ ไปที่จะเติบโตขึ้นมาจากความเลวร้าย เราสู้เพื่อเอาชีวิตรอด แต่รัสเซียไม่มีจุดมุ่งหมายอะไรทั้งนั้น ไม่ได้สู้เพื่ออะไรทั้งนั้น

“เราสู้เพื่อให้คนรุ่นต่อไปและโลกรู้ว่า เรื่องเล่าธรรมดาๆ ที่เราคุ้นเคยอย่างธรรมะย่อมชนะอธรรมคือเรื่องจริง เมื่อยืนอยู่ฝ่ายที่ถูกต้อง คุณจะเปลี่ยนโลกให้เป็นอย่างที่หวังได้ และในโลกใหม่ จะต้องไม่มีที่ยืนให้ทรราชย์ที่ใช้สงครามและความรุนแรงในการแก้ไขความขัดแย้ง

“ถ้าเราแพ้ ความพ่ายแพ้ของเราจะกลายเป็นสัญญาณว่า การรุกรานประเทศอื่นในโลกเป็นเรื่องที่เป็นไปได้

“ถ้ารัสเซียหยุดรบ สงครามจะจบ แต่ถ้าเราหยุดสู้ เราจะหายไปจากโลกนี้”


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง The101.world และ ThaiArmedForce.com โดยได้รับความช่วยเหลือจาก Oksana Sobolevska ตัวแทนชุมชนชาวยูเครนในประเทศไทย สัมภาษณ์โดย อนาลโย กอสกุล เว็บมาสเตอร์ TAF และ ดนย์ ปลูกสวัสดิ์ นักประวัติศาสตร์อิสระผู้เชี่ยวชาญยูเครน

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save