fbpx
เก็บตกงานไทยศึกษาที่เชียงใหม่: เมื่อนักวิชาการต่อจิ๊กซอว์การเมืองไทย

เก็บตกงานไทยศึกษาที่เชียงใหม่: เมื่อนักวิชาการต่อจิ๊กซอว์การเมืองไทย

ประจักษ์ ก้องกีรติ เรื่อง

 

งานประชุมวิชาการนานาชาติ “ไทยศึกษา” ที่เชียงใหม่เพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นับเป็นการชุมนุมนักวิชาการจากทั่วโลกที่ศึกษาเกี่ยวกับเมืองไทยที่ใหญ่ที่สุด ปกติจัดขึ้นทุก 3 ปี เวียนกันไปตามประเทศต่างๆ ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 13 แล้ว โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 1,000 คน พร้อมกับเวทีนำเสนอบทความวิชาการกว่า 200 เวที จะเรียกว่าเป็นมหกรรมเอ็กซ์โปทางวิชาการก็ย่อมได้

งานในปีนี้จัดได้อย่างมีสีสันน่าสนใจ เพราะนอกจากเวทีวิชาการตามปกติแล้ว ยังมีนิทรรศการภายในงานบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของผู้คนต่างอัตลักษณ์และวัฒนธรรมในสังคมไทย มีการเปิดตัวหนังสือใหม่หลายเล่มทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และที่เป็นไฮไลท์คือ กิจกรรมฉายภาพยนตร์และสารคดีซึ่งได้รับความสนใจอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

เวทีที่ผมมีโอกาสได้เข้าฟังคือ การฉายสารคดีเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ และการฉายหนังสั้นที่จัดว่าเป็น “หนังการเมือง” ประมาณ 6-7 เรื่อง คัดสรรโดยผู้กำกับชื่อดังอย่างอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ทั้งตัวหนังและบทสนทนาต่อเนื่องหลังหนังจบในทั้งสองเวทีมีประเด็นที่น่าสนใจมากมาย  สำหรับผมแล้ว สื่อศิลปะในแขนงต่างๆ อาจจะบอกเล่า “ความจริง” เกี่ยวกับสังคมการเมืองไทยในยุค “เปลี่ยน (ไม่) ผ่าน” ที่เราติดหล่มอยู่ร่วมกันได้ทรงพลังมากกว่าบทความวิชาการเสียด้วยซ้ำ ถ้ามีโอกาสจะหาเวลานำมาเล่าสู่กันฟัง

ถ้าจะให้เล่าเนื้อหาจากเวทีการประชุมทั้งหมดคงเล่ากันไม่ไหว จึงขอนำเนื้อหาเฉพาะในเวทีที่ผมเข้าร่วมสนทนาโดยตรงมาเล่าสู่กันฟัง

เวทีที่ผมได้รับเชิญให้เป็นผู้ดำเนินรายการและวิจารณ์บทความ ตั้งชื่อหัวข้อแปลเป็นไทยว่า “วิกฤตประชาธิปไตย กองทัพ และการเมืองแบบลูกผสมในประเทศไทย” (Crisis of Democracy, Military and Hybrid Politics in Thailand) โดยเวทีนี้ส่วนหนึ่งจัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงการจากไปของอาจารย์ลิขิต ธีรเวคิน นักรัฐศาสตร์คนสำคัญของไทย

เวทีนี้มีบทความนำเสนอ 5 ชิ้นโดยนักวิชาการหลายคน คือ ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี เปรียบเทียบการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในไทยและอินโดนีเซีย ดร.นฤมล ทับจุมพล (ซึ่งเป็นผู้จัดและเขียนบทความนี้ร่วมกับนักวิชาการหลายท่าน) เสนอเรื่องการเมืองแบบอำนาจนิยมและการเมืองของความไม่แน่นอนในไทย ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ นำเสนอเรื่องการขยายตัวของกองทัพในด้านกิจการพลเรือนหลังรัฐประหาร ดร.ณรุจน์ วศินปิยมงคล และดร.อรุณี สัณฐิติวณิชย์ วิเคราะห์เรื่องการใช้มาตรา 44 ในฐานะเครื่องมือทางการเมืองและกฎหมาย และสุดท้าย ดร.วุลแฟรม แชฟเฟอร์ เสนอบทความเรื่องขบวนการฝ่ายขวาของไทยกับการใช้โซเชียลมีเดีย

ผมขอไม่สรุปเนื้อหาการนำเสนอของแต่ละท่านโดยละเอียด แต่อยากพูดถึงประเด็นที่ผมได้เรียนรู้และคิดต่อจากการอ่านและฟังการนำเสนอบทความทั้ง 5 ชิ้น ซึ่งล้วนเป็นงานวิจัยที่เปี่ยมคุณภาพ ช่วยเปิดประเด็นและมุมมองใหม่ๆ มากมาย ฉะนั้นเนื้อหาต่อไปนี้จึงเป็นสรุปและตีความของผมเอง โดยผู้เขียนนักวิชาการทั้งหมดที่ผมเอ่ยนามไปข้างต้นไม่มีส่วนรับผิดชอบใดๆ กับสิ่งที่ผมกำลังจะกล่าวต่อไปนี้

สำหรับผม งานทั้ง 5 ชิ้นเปรียบเสมือนจิ๊กซอว์ที่เมื่อนำมาต่อรวมกันจะช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบันได้อย่างรอบด้านสมบูรณ์

ผมคิดว่าในการศึกษาการเมืองไทยปัจจุบัน เราต้องเริ่มจากปริศนาขั้นพื้นฐานที่สุดก่อนคือ เหตุใดประเทศไทยจึงกลายเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียที่ยังคงปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยมของกองทัพ (military authoritarianism) ทั้งที่มันเป็นระบอบการปกครองที่ทั่วโลกเลิกใช้แล้ว หากจะตอบคำถามนี้ได้ก็ต้องใช้มุมมองเชิงเปรียบเทียบและมุมมองทางประวัติศาสตร์

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากบทความทั้ง 5 ชิ้น คือ ระบอบอำนาจนิยมของไทยในปัจจุบันนั้นมีลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนกับระบอบอำนาจนิยมที่เราเคยประสบมาก่อน อีกทั้งยังครองอำนาจได้ค่อนข้างยาวนาน ทั้งที่ฝืนกระแสของโลกปัจจุบัน นั่นก็เพราะมีเครื่องมือและกลุ่มคนหลากหลายกลุ่มมารองรับและประคับประคองการใช้อำนาจ ตั้งแต่เครื่องมือในการออกแบบสถาบันทางการเมือง การขยายอำนาจของกองทัพผ่านการจัดตั้งพลเรือน เครื่องมือทางกฎหมาย (ม.44) ที่ประทับรับรองความชอบธรรมโดยฝ่ายตุลาการ ภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอบางส่วนที่เข้าไปทำงานเป็นส่วนหนึ่งของระบอบ รวมถึงบทบาทของพลเมืองไซเบอร์ที่ใช้การสื่อสารในโลกโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการไล่ล่าและกำจัดคนที่เห็นต่างจากรัฐ ทั้งหมดนี้คือโครงสร้างพื้นฐานที่เกื้อหนุนและค้ำจุนให้ระบอบอำนาจนิยมดำรงอยู่ในปัจจุบัน

ในประเด็นการออกแบบเชิงสถาบัน การเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียนั้นสำคัญ เพราะอินโดนีเซียเป็นประเทศที่เคยอยู่ภายใต้การเป็นรัฐทหารมาอย่างยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ แต่ตอนนี้เปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยได้สำเร็จ ในขณะที่ไทยยังคงวนเวียนอยู่กับระบอบอำนาจนิยมสลับกับประชาธิปไตย ติดหล่มอยู่ในสิ่งที่นักวิชาการเรียกว่า “วงจรอุบาทว์”

ในประเด็นการเปรียบเทียบ มีงานวิชาการจำนวนมากพยายามตอบคำถามว่า เหตุใดอินโดนีเซียจึงสามารถหลุดพ้นออกจากกับดักอำนาจนิยมได้สำเร็จ ซึ่งคำตอบมีตั้งแต่ปัจจัยจากวิกฤตเศรษฐกิจ บทบาทของกลุ่มชนชั้นนำที่สร้างฉันทมติร่วมกันว่าการแข่งขันภายใต้กติกาประชาธิปไตยนั้นสร้างความเสียหายให้ประเทศชาติน้อยกว่า บวกกับให้ประโยชน์กับตัวชนชั้นนำเองมากกว่าการปกครองแบบผูกขาดรวบอำนาจของนายพลซูฮาร์โต แต่ปัจจัยที่สำคัญคือการออกแบบเชิงสถาบันผ่านการร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งของรัฐสภา พรรคการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน กับการปฏิรูปหน่วยงานด้านความมั่นคง (security sector reform) ซึ่งอินโดนีเซียประสบความสำเร็จในทั้งสองมิตินี้ แต่ไทยล้มเหลว

งานวิจัยที่นำเสนอในเวทีชี้ให้เห็นว่า ชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษนิยมของไทยประสบความสำเร็จในการออกแบบกติกาให้สถาบันและหน่วยงานที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนมีอำนาจแฝงอยู่ในโครงสร้างการเมืองอย่างเป็นทางการ องค์กรเหล่านี้ดูเผินๆ ตามตัวอักษรในรัฐธรรมนูญเหมือนทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลและเป็น “พี่เลี้ยง” ของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ในทางปฏิบัติกลับทำหน้าที่พิทักษ์อำนาจของชนชั้นนำเดิมและกัดกร่อนประชาธิปไตย การตรวจสอบรัฐบาลจากการเลือกตั้งขององค์กร “พี่เลี้ยง” มิได้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์สาธารณะแต่เพื่อมุ่งทำลายความชอบธรรมของตัวแทนประชาชน และปูทางให้กับการกลับเข้ามาครองอำนาจของชนชั้นนำอนุรักษนิยม

การออกแบบสถาบันการเมืองเพื่อสถาปนาการเมืองลูกผสมแบบ “เผด็จการครึ่งใบ” เช่นนี้ปรากฏตัวอย่างชัดเจนที่สุดในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อไม่นานนี้ ในกรณีของอินโดนีเซียนั้น เขาพ้นจากการเมืองแบบนี้ไปแล้ว ตั้งแต่หลังการล่มสลายของระบอบซูฮาร์โต ชนชั้นนำทุกกลุ่มที่อยากเข้าสู่อำนาจต้องเข้ามาแข่งขันกันภายใต้กติกาเดียวกัน มิใช่ทำตัวเป็นเงาอยู่หลังฉากและชักใยการเมืองอยู่เบื้องหลังโดยประชาชนตรวจสอบไม่ได้

นอกจากการออกแบบกติกาทางการเมืองที่จัดวางอำนาจไม่สมดุลแล้ว สิ่งที่ไทยต่างจากอินโดนีเซียคือ เราไม่เคยผลักดันให้เกิดการปฏิรูปหน่วยงานความมั่นคงทั้งตำรวจและกองทัพให้มีความเป็นมืออาชีพและเคารพกติกาประชาธิปไตย ตั้งแต่หลังพฤษภาคม 2535 ประเด็นนี้ไม่เคยเป็นนโยบายสำคัญ แม้กระทั่งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต่างก็ละเลยที่จะนำเรื่องนี้ขึ้นมาแสวงหาเสียงสนับสนุนจากสาธารณะ

อินโดนีเซียสามารถปฏิรูปหน่วยงานความมั่นคงได้สำเร็จ ทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยมีเสถียรภาพ กองทัพกลับเข้ากรมกอง ไม่แทรกแซงยุ่งเกี่ยวทางการเมือง การเข้าไปแทรกแซงกิจกรรมต่างๆ ทางสังคมและธุรกิจก็ลดน้อยถอยลง กระทั่งถูกปรับปรุงและตรวจสอบขอบเขตอำนาจและงบประมาณให้สอดรับกับภารกิจของการเป็นหน่วยงานด้านรักษาความมั่นคงของประเทศอย่างแท้จริง มิใช่การเป็นองค์กรที่มีบทบาททางการเมืองและเศรษฐกิจ

สิ่งที่เกิดขึ้นในไทยกลับดำเนินไปในทิศทางตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง ตั้งแต่หลังการรัฐประหารในปี 2557 นักวิชาการบนเวทีบางท่านอธิบายว่ากองทัพไม่เพียงแต่เข้ามาควบคุมพื้นที่ทางการเมืองเท่านั้น แต่กองทัพเปลี่ยนสังคมไทยให้กลายเป็นสังคมแบบทหาร (militarized society) ที่มองปัญหาทุกอย่างผ่านเลนส์ความมั่นคง ประชาชนไทยถูกลดสถานะจากการเป็นพลเมืองที่มีสิทธิเสรีภาพกลายเป็น “ราษฎรในบังคับของรัฐ” ที่ต้องถูกควบคุม กล่อมเกลา และปลูกฝังวินัย สื่อมวลชนถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ ในขณะที่พลเมืองกลุ่มต่างๆ ที่มีปัญหาก็ไม่สามารถรวมกลุ่มและทำกิจกรรมเพื่อส่งเสียงและบอกเล่าความทุกข์ร้อนของตนเองได้ นอกจากไปยื่นจดหมายร้องเรียนกับหน่วยงานราชการที่รัฐจัดไว้ให้ ประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐถูกนำตัวเข้า “อบรมปรับทัศนคติ” ในค่ายทหารจนแทบจะกลายเป็นเรื่องปกติ

นักวิชาการยังชี้ให้เห็นว่าเครื่องมือทางกฎหมายอย่างมาตรา 44 ถูกนำมาใช้ในลักษณะครอบจักรวาลราวกับเป็นยาสารพัดนึก และใช้ในปริมาณที่ถี่และกว้างขวางกว่าการใช้มาตรา 17 ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของ ม.44) เสียด้วย กล่าวคือ มิใช่เพียงใช้จัดการกับปัญหาความมั่นคงแบบในยุคสฤษดิ์ แต่ยังถูกนำไปใช้ในการปลดและโยกย้ายข้าราชการ แก้ไขปัญหาสังคม และเร่งรัดผลักดันโครงการทางเศรษฐกิจอีกด้วย

นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่าการใช้มาตรา 44 มีปัญหาหลายประการ หนึ่ง สร้างวัฒนธรรมการใช้กฎหมายที่ขัดกับหลักนิติรัฐ ซึ่งหลายเรื่องจะกลายเป็นปัญหาทางกฎหมายในภายหลัง สอง ขัดกับหลักธรรมาภิบาลเรื่องความโปร่งใส และสร้างวัฒนธรรมการใช้อำนาจที่ขัดกับหลักปฏิบัติของราชการตามปกติ สาม ประชาชนและสื่อวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบไม่ได้ ทำให้เมื่อเกิดผลกระทบทางลบ ก็ย่อมยากที่จะแก้ไข

นอกจากนั้น รัฐไทยยังรื้อฟื้นกิจกรรมแบบที่เคยทำสมัยยุคสงครามเย็น คือ การจัดตั้งมวลชนทั้งพลเรือนและกึ่งทหารกึ่งพลเรือนขึ้นในจังหวัดต่างๆ ผ่านหน่วยงานด้านความมั่นคง มีการเพิ่มทั้งงบประมาณ ขอบเขตอำนาจหน้าที่ พื้นที่ปฏิบัติการ และกำลังคน มวลชนจัดตั้งของรัฐเหล่านี้ถูกใช้ให้ทำหน้าที่สอดส่องประชาชนด้วยกันเองและคอยเป็นหูเป็นตาให้กับรัฐ กระทั่งในบางกรณีเข้าไปก่อกวนและคุกคามประชาชนกลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล

โดยสรุป รัฐไทยในปัจจุบันแปรเปลี่ยนสถานะของประชาชนที่เห็นต่างให้กลายเป็นศัตรูของรัฐ รวมทั้งเป็นภัยความมั่นคง ในขณะเดียวกันก็จัดตั้งมวลชนอีกกลุ่มหนึ่งให้กลายเป็นแขนขาเครื่องมือการปกครองของรัฐ จากภารกิจต่อต้านคอมมิวนิสต์สมัยสงครามเย็นก็กลายมาเป็นการต่อต้านประชาธิปไตยและค้ำจุนระบอบอำนาจนิยมในปัจจุบัน

ที่น่าประหวั่นพรั่นพรึงคือ ปรากฏการณ์ที่นักวิชาการอีกท่านหนึ่งชี้ให้เห็นว่า นอกจากมวลชนที่รัฐสนับสนุนและจัดตั้งขึ้นผ่านกลไกด้านความมั่นคงแล้ว ยังมีประชาชนบางกลุ่มตั้งตนขึ้นมาเป็น “ลูกเสือไซเบอร์” ปฏิบัติการอย่างเข้มแข็งในโลกออนไลน์ เผยแพร่ hate speech และใช้พื้นที่การสื่อสารสมัยใหม่ แทนที่จะสนับสนุนการถกเถียงแลกเปลี่ยนความรู้อย่างเสรี กลับใช้เป็นเครื่องมือในการข่มขู่ คุกคาม และไล่ล่าคนเห็นต่างที่มีแนวคิดไม่เหมือนพวกตนและไม่เหมือนรัฐ กระทั่งลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนอื่นด้วยการใช้คำว่า “ขยะ” เป็นต้น

ฉะนั้น ในยุคสมัยปัจจุบัน นอกจากพื้นที่บนท้องถนนและโลกออฟไลน์จะถูกปิดกั้นและควบคุมอย่างเข้มงวดแล้ว พื้นที่ในโลกออนไลน์ก็ถูกจับจ้องและสอดส่องอย่างเข้มข้น ไม่ใช่เพียงจากเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น แต่จากประชาชนด้วยกันที่สถาปนาตนเองเป็นตำรวจศีลธรรมในโลกไซเบอร์

สำหรับผม บทความวิชาการทั้ง 5 ชิ้นช่วยต่อจิ๊กซอว์ปะติดปะต่อภาพให้เราเห็นสังคมและการเมืองในยุคปัจจุบัน แม้จะยังไม่ใช่ภาพที่สมบูรณ์ แต่ก็ช่วยตอบคำถามสำคัญหลายประการว่าเราเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

ส่วนคำถามที่ว่าแล้วเราจะไปอย่างไรต่อ กระทั่งจะออกจากกับดักอำนาจนิยมได้อย่างไร ยังคงเป็นคำถามสำคัญ … ที่ยังไม่มีใครมีคำตอบ

 

อ้างอิง

1. Siripan Nogsuan Sawasdee, “A Tale of Two Hybrid Regimes: a Study of Cabinets and Parliaments in Indonesia and Thailand”

2. Puangthong Pawakapan, “Civilian Affairs Projects as the Thai Military’s Political Endeavour”

3. Wolfram Schaffar, and Naruemon Thabchumpon, “Social Media-Based Far Right Movements in Thailand”

4. Naruemon Thabchumpon, Jakkrit Sangkamanee, Carl Middleton, and Weera Wongsatjachok, “The Concentration of Authoritarianism and Politics of Uncertainty in Thailand”

5. Narut Wasinpiyamongkhon, and Arunee Santhitiwanich, “Article 44 and the Thai Military Regime”

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save