fbpx
72 ปี รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ทวนกระแส

72 ปี รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ทวนกระแส

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

72 ปี 'รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์' นักเศรษฐศาสตร์ทวนกระแส
บทอภิปรายของ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ในงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ ’72 ปี รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์’ ร่วมเสวนาโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ปกป้อง จันวิทย์ วันพุธที่ 27 มีนาคม 2562 ณ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ก่อนอื่นผมขอแสดงความยินดีกับอาจารย์รังสรรค์เนื่องในวาระครบหกรอบนักษัตร (บวกสอง) ทั้งอร่วมแสดงความปรารถนาดีและหวังว่าจะได้อ่านงานเขียนของอาจารย์ต่อไปเรื่อย ซึ่งแม้จะไม่อยู่ในรูปบทความตามหนังสือพิมพ์อีกแล้ว แต่เปลี่ยนไปอยู่ในรูปของโพสต์ความเห็นในเฟชบุ๊ก ที่ได้อรรถรสไปอีกแบบ

คงจะไม่เป็นการกล่าวเกินจริงแต่อย่างใด หากจะพูดว่าเมื่อนึกถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชื่ออาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ จะเป็นหนึ่งในไม่กี่ชื่อที่หลายคนนึกถึงทั้งในฐานะที่ “เป็นหน้าเป็นตา” ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และคณะเศรษฐศาสตร์ กับในฐานะที่เป็นตัวแทนของสปิริตธรรมศาสตร์ และหนังสือ 72 ปีรังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ก็คือประจักษ์พยานที่ยืนยันคำพูดดังกล่าวได้ดียิ่ง

หนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมข้อเขียนต่างๆ ท่ามกลางงานเขียนจำนวนมหาศาลของอาจารย์รังสรรค์ ย้อนไปตั้งแต่บทความสมัยที่อาจารย์เป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ในปี 2509 เรื่อยมาจนถึงปาฐกถาในโอกาสรับตำแหน่งกีรตยาจารย์สาขาสังคมศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2546

และงานเขียนอีกมากมายทั้งก่อนหน้านั้นและหลังจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นบทความหลายชิ้นที่เคยตีพิมพ์ในคอลัมน์ “จากท่าพระจันทร์ถึงสนามหลวง” ในหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการรายวัน  งานวิจัยชิ้นสำคัญของอาจารย์เรื่อง “จารีตรัฐธรรมนูญไทยกับสันติประชาธรรม” อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่อง เศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ ที่ได้รับทุนเมธีวิจัยอาวุโสจาก สกว. ในปี 2546  บทอภิปราย “รับ/ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550” บทปาฐกถาในวาระครบรอบ 60 ปีคณะเศรษฐศาสตร์ จาก “2492 ถึง 2552” เป็นต้น

แม้จะมิได้เป็นลูกศิษย์โดยตรงของอาจารย์รังสรรค์ เพราะเล่าเรียนมาคนละสายวิชากับอาจารย์ แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมมีความผูกพันเป็นพิเศษกับชื่อและงานของอาจารย์รังสรรค์ กล่าวคือสมัยที่ผมยังเป็นนักเรียนมัธยมในช่วง 2516 จนเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2519 จะได้เห็นบทความของอาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ในนิตยสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์เป็นระยะ ได้ยินได้ฟังนักศึกษารุ่นพี่พูดถึงอาจารย์ในฐานะอาจารย์หนุ่มหัวก้าวหน้า และเมื่อผมเริ่มเข้ามาเป็นอาจารย์ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงทศวรรษ 2530 ชื่อของอาจารย์รังสรรค์ก็เข้ามาในชีวิตผมอีกครั้ง ในฐานะผู้บริหามหาวิทยาลัยชุดดรีมทีม ที่มีอาจารย์ชาญวิทย์เป็นอธิการบดี มีอาจารย์รังสรรค์ อาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เป็นรองอธิการบดีฝ่ายต่างๆ  อีกทั้งในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น ผมก็ได้อ่านงานของอาจารย์รังสรรค์ในคอลัมน์ “จากท่าพระจันทร์ถึงสนามหลวง” เป็นประจำในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน

ชิ้นที่โด่งดังและคนพูดถึงกันมากในยุคนั้นคือ “มหาวิทยาลัยในทศวรรษ 2540” เขียนขึ้นเนื่องในโอกาสวันไหว้ครูประจำปีการศึกษา 2536 ตรงกับวันที่ 1 ก.ค. 2536 จำได้ว่าภาพประกอบบทความในหนังสือพิมพ์ คือรูปภาพเครื่องถ่ายเอกสารตั้งตระหง่านน่าเกรงขาม บทความชิ้นนี้เขียนในแนวโลกอนาคตหรือนวนิยายวิทยาศาสตร์แนวดิสโทเปีย ที่จินตนาการว่าเกิดอะไรขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2540 หลังจากที่มีการย้ายการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีไปอยู่รังสิต

อาจารย์ได้คาดการณ์ว่าธรรมศาสตร์จะบริหารมหาวิทยาลัยตามแนวนโยบายเสรีนิยมใหม่และกระแสโลกานุวัตร จนเกิดการแบ่งชนชั้นอย่างชัดเจนระหว่างแคมปัสท่าพระจันทร์กับแคมปัสรังสิต บทความจบลงพร้อมคำเฉลยว่าภาพเครื่องถ่ายเอกสารประกอบบทความ เกี่ยวข้องกับวันไหว้ครูอย่างไร

​​ผมตื่นจากภวังคเมื่อไดยินนักศึกษาเปลงเสียงไหวครู ผมสาวเทาเขาหอประชุม บนเวทีไรองรอยมนุษย มีแตตูกระจกขนาดใหญ 2 ใบ ผมเบียดฝูงชนไปจนถึงขอบเวที จึงไดพบวตูกระจกใบหนึ่งบรรจุ Super Chips อีกใบหนึ่งบรรจุ Human Chips ผมถอยหางจากขอบเวที และเดินออกนอกหอประชุมดวยความรูสึกอันยากแกการพรรณนา

​​ที่ทาพระจันทรนักศึกษาประณตนอมสักการะ Super Chips และ Human Chips ในวันไหวครู แตที่รังสิตนักศึกษายังคงกราบไหวเครื่องถายเอกสารอยู ผมอดสงสัยมิไดาอีกนานกี่ปรังสิตจึงจะไลกวดทันทาพระจันทร

บทความชิ้นนี้เป็นจุลจักรวาลย่อส่วนมหจักรวาลของความเป็นรังสรรค์ ธนะพรพันธ์ุ ได้ค่อนข้างดีทีเดียว ดังจะขอแจกแจงดังนี้

1. ความเป็นปัญญาชนสาธารณะ ลำพังชื่อคอลัมน์ “จากท่าพระจันทร์ถึงสนามหลวง” บ่งบอกถึงเจตนารมณ์ของอาจารย์รังสรรค์ที่จะนำหลักวิชาและความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์มาเผยแพร่ให้กับสาธารณชนโดยทั่วไป แม้ว่าโดยในทางภูมิศาสตร์แล้ว ท่าพระจันทร์กับสนามหลวงจะใกล้กันมาก เดินเพียงชั่วอึดใจหนึ่งก็ถึงแล้ว แต่ในเชิงเปรียบเปรยแล้วท่าพระจันทร์ในฐานะที่เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นหอคอยงาช้างนั้นห่างไกลอย่างยิ่งกับสนามหลวง ซึ่งในสมัยนั้นคือพื้นที่ของประชาชนคนทั่วไป (มิใช่นักท่องเที่ยวจีนเช่นในปัจจุบัน) ยิ่งกว่านั้นสนามหลวงในสมัยที่อาจารย์เป็นเด็ก เรื่อยจนถึงขณะที่เขียนคอลัมน์นี้ ยังเป็นพื้นที่เชิงสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ทั้งนี้เพราะสนามหลวงเคยเป็นพื้นที่ชุมนุมทางการเมืองของประชาชนเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ และความเป็นธรรม  

“จากท่าพระจันทร์ถึงสนามหลวง” จึงเป็นการเปรียบเปรยถึงความตั้งใจของอาจารย์ที่จะเชื่อมโยงพื้นที่เชิงสัญลักษณ์สองพื้นที่นี้เข้าด้วยกัน และนี่คือลักษณะเด่นที่เราสัมผัสได้ในงานของรังสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นบทความในหน้าหนังสือพิมพ์ บทความวิชาการ และงานวิจัยขนาดใหญ่ ล้วนแล้วแต่มุ่งนำความรู้มาสู่ประชาชน โดยมุ่งรังสรรค์ความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม

2. ด้านชั้นเชิงภาษาลีลาการเขียน บทความชิ้นนี้แสดงให้เห็นความสามารถทางด้านภาษาอันเป็นเลิศของอาจารย์รังสรรค์ ที่แปลกแตกต่างจากงานของนักเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไป ความสามารถด้านภาษาของอาจารย์รังสรรค์เห็นได้ตั้งแต่การบัญญัติศัพท์ต่างๆ ในงานของอาจารย์ที่มีสีสันและน่าตื่นตาตื่นใจเป็นส่วนใหญ่ เช่น อาจารย์แปลคำว่า Leisured Class ว่า “สำราญชน” เวลาพูดถึงโลก หรือโลกมนุษย์ อาจารย์ใช้คำว่า “มนุษยพิภพ” เหมือนกับจะให้ล้อไป “วานรพิภพ” อ่านแล้วหลายคนจะพลอยนึกไปว่าอาจารย์เป็นพวก Posthuman ที่พูดถึง anthropocene ก่อนใครในสังคมไทย หรืออาจารย์บัญญัติคำว่า “ยียาธิปไตย” เพื่อใช้เรียกการเข้ามามีอำนาจทางการเมืองของกลุ่มนักการเมืองอาชีพที่พัฒนาเป็นพันธุ์ยี้ เพื่อให้ล้อกันไปกับกลุ่ม “อำมาตยาธิปไตย” และกลุ่ม “ประชาธิปไตย”

ที่สำคัญกว่าการบัญญัติคำ คืองานเขียนของอาจารย์รังสรรค์นั้นมีลีลาที่ชวนอ่าน มีความชัดเจน หมดจด และสละสลวย ผิดจากงานเขียนโดยทั่วไปของนักเศรษฐศาสตร์ ผมอยากแนะนำให้ลองกลับไปอ่านบทความชื่อ “ข้อคิดบางประการเกี่ยวกับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ที่เขียนตั้งแต่ปี 2509 สมัยอาจารย์เป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ ถ้าคำนวณไม่ผิดน่าจะเป็นชั้นปีที่ 3 จะพบว่าภาษาของอาจารย์นั้นดีกว่านักศึกษาปริญญาเอกปัจจุบัน หรือนักเขียนอาชีพมือรางวัลจำนวนมากด้วยซ้ำไป และยิ่งเมื่อเวลาผ่านไป ฝีมือด้านการเขียนของอาจารย์รังสรรค์ นับวันจะแก่กล้ามากขึ้นเป็นลำดับ มีทั้งความหนักแน่น จริงจัง และชัดเจนเชิงวิชาการ ขณะเดียวกันก็มีลีลาเสียดสี ประชดประชันอย่างนุ่มนวลในบางชิ้น และอย่างเชือดเฉือนในหลายชิ้น    

3. ความเป็นนักเศรษฐศาสตร์ทวนกระแส  งานเขียนชิ้นนี้และงานเกือบทั้งหมดแสดงตัวตนทางวิชาการของอาจารย์รังสรรค์ในฐานะ นักเศรษฐศาสตร์ทวนกระแส

ผมมองนิยามดังกล่าวของอาจารย์ในสองความหมาย คือ ทวนกระแสในแง่ที่มิได้สนใจแต่เรื่องเศรษฐศาสตร์ ตัวเลข เศรษฐกิจ แต่อย่างเดียว เหมือนที่นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากในประเทศไทยเป็นกัน แต่อาจารย์มีความสนใจที่หลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นการเมือง การศึกษา สังคม วัฒนธรรม และด้วยเหตุนี้และการวิเคราะห์เศรษฐกิจของอาจารย์ จึงมิได้ตีกรอบอยู่เพียงตัวเลข สถิติ สมการเท่านั้น แต่เป็นการนำมิติด้านการเมือง กฎหมาย สังคม และวัฒนธรรม เข้ามาร่วมพิจารณาในฐานะปัจจัยหนึ่งของการทำความเข้าใจเศรษฐกิจด้วย และในทางกลับกัน ในการพูดถึงประเด็นทางสังคม การเมือง หรือการศึกษา อาจารย์ได้นำเอาความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์เข้าไปร่วมพิจารณาด้วยเช่นกัน

ดังจะเห็นจากงานวิจัยชิ้นสำคัญเรื่อง เศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ ที่อาจารย์พยายามชี้ให้เห็นว่าเราสามารถนำวิธีการและเครื่องมือการวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์ มาวิเคราะห์นัยยะและผลกระทบของรัฐธรรมนูญ หรืองานที่เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาที่ดูเหมือนอาจารย์จะให้ความสนใจและต้องไปข้องแวะอยู่บ่อยๆ อาจารย์ก็จะใช้ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ไปอธิบายและเสนอแนะแนวทางในการปฏิรูปการศึกษาด้วย

แต่ผมอยากเสนอเพิ่มเติมด้วยว่า ความเป็นนักเศรษฐศาสตร์ทวนกระแสของอาจารย์รังสรรค์ ยังหมายรวมไปถึงการนำมิติด้านความเป็นธรรมในสังคมมาเป็นปัจจัยสำคัญ หรือกระทั่งเป็นปัจจัยชี้ขาดในการพูดถึงมิติเชิงเศรษฐศาสตร์ในสังคมเสมอ ซึ่งผมพบว่าผิดกับงานนักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปที่จะไม่นำมิติด้านความเป็นธรรมในสังคมมาพิจารณาเท่าใดนัก จะด้วยเพราะเห็นว่ามิใช่กิจของนักเศรษฐศาสตร์ ที่พึงพิจารณาปัญหาอย่างเป็นภววิสัย เน้นการศึกษาเชิงปริมาณเป็นสำคัญ เน้นการวิเคราะห์ตัวเลข สถิติ และสมการ

อาจารย์รังสรรค์ กล่าวไว้ในปาฐกถาครบรอบ 60 ปี คณะเศรษฐศาสตร์ว่า ในอดีตเมื่อวิชาเศรษฐศาสตร์เริ่มเข้ามาในสังคมไทย “ในสายตาชนชั้นปกครองไทย เศรษฐศาสตร์เป็น ‘อัปรียศาสตร์'” เพราะเป็นศาสตร์ที่วิเคราะห์และอภิปรายเรื่องความแตกต่างระหว่างชนชั้น จนถึงกับมีการออกกฎหมายห้ามเผยแพร่ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ แต่ในปัจจุบันเราจะพบว่าเศรษฐศาสตร์กระแสหลักนั้นมิได้เป็น “อัปรียศาสตร์” สำหรับชนชั้นปกครองอีกต่อไปแล้ว เพราะได้กลายมาเป็น “เศรษฐบริกร” ให้กับชนชั้นปกครองเป็นส่วนใหญ่  

เราอาจกล่าวได้ว่า ความเป็นนักเศรษฐศาสตร์ทวนกระแสในงานของอาจารย์รังสรรค์ จึงเป็นความพยายามที่จะทำให้เศรษฐศาสตร์กลับไปเป็น “อัปรียศาสตร์” สำหรับชนชั้นปกครอง

หรือถ้าจะยืมคำพูดของสาย สีมา ในนวนิยายอมตะ ปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงศ์ ก็ต้องบอกว่าอาจารย์รังสรรค์พยายามทำให้วิชาเศรษฐศาสตร์เป็น “ปีศาจ” ที่คอยหลอกหลอนคนในโลกเก่า

4. ห้องสมุด ขุมทรัพย์ทางปัญญา  เมื่อผมกลับมาอ่านบทความเรื่อง “มหาวิทยาลัยในทศวรรษ 2540” สิ่งที่สะดุดใจผมเรื่องหนึ่งคือ หนึ่งในตัวบ่งชี้ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นระหว่างธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์กับธรรมศาสตร์รังสิต คือห้องสมุด และเมื่ออ่านงานชิ้นอื่นๆ ของอาจารย์รังสรรค์ ก็จะพบว่าอาจารย์ให้คุณค่ากับเรื่องห้องสมุดเป็นพิเศษ เช่น อาจารย์ระบุว่า ห้องสมุดคณะเศรษฐศาสตร์ เป็นหนึ่งในมรดกสำคัญที่อาจารย์ป๋วยทิ้งไว้ให้ธรรมศาสตร์ หรือหากย้อนกลับไปอ่านบทความที่อาจารย์เขียนไว้ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา ก็จะพบเช่นกันว่าห้องสมุดและจำนวนหนังสือในห้องสมุด เป็นหัวข้อสำคัญในข้อเขียนดังกล่าว

อาจารย์รังสรรค์น่าจะมีความผูกพันมากเป็นพิเศษกับห้องสมุด ทั้งในฐานะแหล่งเรียนรู้อันไม่รู้จบ และในฐานะเป็นที่ปลีกวิเวกเพื่อความสำราญปัญญา ดังที่อาจารย์เคยเล่าไว้ในข้อเขียน “ชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในยุคสมัยที่อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นคณบดี” ว่า สมัยที่เป็นนักศึกษา เนื่องจากอาจารย์ไม่ร่ำรวยพอจะไปเล่นโบว์ลิ่ง หรือจะเล่นบิลเลียดก็เล่นไม่เป็น เวลาว่างของอาจารย์จึงหมดไปกับการอ่านหนังสือในห้องสมุด มากกว่าจะตามเพื่อนไปเล่น “กีฬา” ทั้งสองดังกล่าว

หรือที่อาจารย์เขียนในคำนำงานวิจัยเรื่องเศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญว่า งาน Magnum Opus ชิ้นนี้เกือบทั้งหมด เขียนที่ ห้อง Study Room No.6 ที่สำนักหอสมุดปรีดี พนมยงค์ น่าสงสัยว่าอาจารย์คงจะพยายามเดินตามรอยคาร์ล มาร์กซ ที่ใช้ Reading Room ของ British Public Library เขียนงานชิ้นสำคัญของเขาได้แก่ Das Kapital

ฉะนี้แล้ว จึงเป็นเรื่องสมควรอย่างยิ่งที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเลือกพิมพ์หนังสือ 72 ปี รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เพื่อเป็นการแสดงมุทิตาจิตต่ออาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ผู้เป็นหน้าเป็นตาของคณะและมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ไม่ด้อยไปกว่าท่านผู้ประศาสน์การอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save