fbpx

ต่างบทไหว้ครู

ข้าพเจ้าหายหน้าไปจากการเขียนบทความที่ the101.world พักใหญ่ กลับมาใหม่คราวนี้ขออนุญาตท่านผู้อ่านเปลี่ยนแนวการเขียนบทความให้เป็นไปตามที่อาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ เคยชวนไว้แต่แรกเมื่อหลายปีก่อน นั่นคือเป็นบทความเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อาจารย์ปกป้องบอกว่า ในบทความชุดก่อน ถ้าเดือนไหนข้าพเจ้าเขียนถึงวิธีอ่านเกี่ยวกับการระหว่างประเทศ บทความเดือนนั้นมีคนติดตามพอสมควร  ข้าพเจ้าเลยคิดว่าบทความรอบใหม่ ถ้าย้ายมาเขียนชวนอ่านงานวิชาการในสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งที่เป็นงานเก่าคลาสสิก สลับกับงานใหม่ ที่คงไม่ถึงกับใหม่ล่าสุด (เพราะตามอ่านใหม่ๆ จริงๆ ไม่ทัน) ก็น่าจะดี  เขียนในทำนองบันทึกแง่คิดและข้อสังเกตที่ได้จากการอ่านเหล่านั้น แทนที่จะเขียนตามความคิดของตัวเอง ตามแต่ที่นึกขึ้นได้ในแต่ละเดือน ซึ่งแบบนั้น นอกจากจะทำให้ตันเอาง่ายๆ ผลก็จะเป็นดังที่อาจารย์ปกป้องละไว้ ไม่พูดให้ข้าพเจ้าเสียใจ    

แต่ก่อนจะเริ่มงานบทความชุดใหม่ ข้าพเจ้าขอไหว้ครูตามธรรมเนียมก่อน

ข้าพเจ้าได้ครูจากหลายทาง ทั้งครูโดยตรง ครูโดยอ้อม หรือนิสิตที่เรียนกับข้าพเจ้า งานเขียนของพวกเขาก็เป็นครูให้ข้าพเจ้าได้ดีเช่นกัน รวมทั้งความผิดความถูกของตัวเองที่ผ่านเข้ามาในชีวิตแต่ละระยะ ก็เป็นครูที่ดีมาก อย่างเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ เกิดขึ้นหลายสิบปีมาแล้ว ตั้งแต่ก่อนที่ข้าพเจ้าจะออกไปเรียนต่อ แต่เขียนบันทึกไว้ เพราะเป็นเรื่องทำให้ได้ความเข้าใจขึ้นมาเป็นทีแรกว่า สิ่งที่ได้ประสบพบเห็นมาในแต่ละเรื่องในแต่ละจังหวะชีวิต ที่เหมือนว่าไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันนั้น ถ้าใส่ใจกับมันดีๆ และไม่เร่งรัดจังหวะชีวิตให้เร็วเกินไปนัก จะเห็นความเชื่อมโยงที่บทเรียนเรื่องหนึ่งจะส่งให้แก่อีกเรื่องหนึ่ง แล้วพาให้เห็นความหมายได้ความเข้าใจในสิ่งที่รู้มานั้นลึกขึ้น ทั้งที่ทีแรกมองไม่เห็นว่าแต่ละเรื่องที่รู้มาต่างที่ต่างทางกัน ความจริงมีเส้นสายลี้ลับที่รอเชื่อมร้อยเรื่องเหล่านั้นเข้าหากันจนทำให้เราได้ความรู้ขึ้นมาในตัว ในทางที่ส่งบทเรียนต่อเนื่องกันให้แก่เราได้ และอะไรที่ให้บทเรียนแก่เราได้ ก็เป็นครูของเราได้เสมอ

บทเรียนจากครูที่ข้าพเจ้าจะเล่าในบันทึกนี้ เป็นบทเรียนที่มาช่วยจัดทัศนะของคนเพิ่งเรียนจบปริญญาตรีมาแบบที่ยังไม่รู้อีโหน่อีเหน่อันใดมากนักเกี่ยวกับวิธีวิทยาในทางวิชาการ ให้มีจุดเริ่มต้นในการเข้าหาความรู้ทางวิชาการได้ดีขึ้น และมากขึ้นกว่าการอ่านเอาเรื่อง การจับประเด็นสำคัญ และการเรียบเรียงประเด็นที่อ่านสรุปเป็นรายงานออกมาส่งคืนผู้สอน ข้าพเจ้าได้ความเข้าใจนี้มาทันเวลาที่จำเป็นต้องใช้พอดี เพราะการเรียนในระดับบัณฑิตศึกษาไม่ได้มีใครมาสอนว่า การเข้าหาความรู้มีจุดตั้งต้นที่ไหนได้บ้าง  ถึงเวลาเรียน คนสอนเขาก็จัดเรื่องที่ต้องอ่านหาความรู้หนึ่งโขยงใหญ่มาให้คนเรียนในแต่ละสัปดาห์ตะลุยอ่านเลย พร้อมกับความคาดหวังว่า คนเรียนในระดับนี้จะต้องรู้จักกับวิธีจัดการสกัดหาและสังเคราะห์ความรู้จากเรื่องที่ถูกกำหนดให้อ่านได้อยู่ก่อนแล้ว

การเล่าเรื่องนี้ต้องเริ่มที่จุดตั้งต้น ตอนที่เรียนปริญญาตรี ข้าพเจ้าเกิดความสนใจโหราศาสตร์ขึ้นมา แต่สนใจอย่างเห็นเป็นความรู้มากกว่าในทางการทำนาย โดยหาตำราอ่านจากห้องสมุดบ้าง ตำราของครูโหรที่มีราคาย่อมเยาจากร้านแถวเวิ้งนาครเขษมบ้าง  เวลาไปหาโหรตามที่ท่านผู้เคารพนับถือแนะนำไป ก็ไม่ได้ถามปัญหาชีวิตของตัวเองที่ไม่ได้ยุ่งยากอันใด เท่ากับสนใจไต่ถามท่านผู้ทำนายเกี่ยวกับหลักโหราศาสตร์บางอย่างที่ข้าพเจ้าอ่านจากตำราแล้วยังสงสัย  ครูโหรบางท่านนอกจากจะช่วยอธิบายเรื่องที่ข้าพเจ้าถามแล้ว ยังเล่าเกร็ดอะไรต่างๆ นอกเหนือจากเรื่องโหราศาสตร์ออกไปอีก

ตอนเรียนใกล้จบและจะออกไปเรียนต่อ ก็เป็นธรรมดาของคนสนใจโหราศาสตร์ ที่อยากทราบเรื่องที่ควรระวังไว้บ้าง ข้าพเจ้าจึงไปหาอาจารย์พร้อมกับลาไปเรียนต่อ คราวนั้นอาจารย์ทายให้อย่างไรข้าพเจ้าจำไม่ได้แล้ว จำได้แต่ความรู้โหราศาสตร์ที่ได้มา จากสมุดบันทึกที่จดไว้ ข้าพเจ้าถามปัญหาอาจารย์เกี่ยวกับเรื่องดาวเสวยอายุและดาวแทรก หลังจากเมตตาอธิบายให้ข้าพเจ้าพอเข้าใจ รวมทั้งหลักวิธีที่ใช้คำนวณอย่างคร่าวๆ แล้ว ท่านก็ยกตัวอย่างให้ฟังว่า เมื่อยาม “พระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก กระจกแตกกระจายเกลื่อน” นั้นร้ายแบบไหน หรือเมื่อพระพุธเสวยอายุ และเสาร์หรือพฤหัสแทรก เจ้าชะตาจะเป็นอย่างไร เป็นต้น ตอนให้ตัวอย่างนี้เอง ที่ข้าพเจ้าได้วิธีจากท่าน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเข้าหาความรู้ทางวิชาการแก่ข้าพเจ้าในภายหลัง แต่ตอนฟังทีแรกนั้น มองยังไม่ออกว่าเอาไปใช้ในทางวิชาการได้

ท่านอธิบายว่าวรรณคดีไทยอย่างรามเกียรติ์ มีนัยความหมายในทางโหราศาสตร์อยู่ด้วย จากตัวอย่างที่ท่านยก ว่าเมื่อดาวนั้นเสวยอายุ แล้วมีดาวนี้แทรก ตำราจะเปรียบให้ฟังว่า เหมือนตอนทศกัณฐ์ไปช่วยยกเขาพระสุเมรุที่เอียงเพราะฤทธิ์วิรุฬหกตีตุ๊กแก ให้กลับตั้งตรงได้เหมือนเดิม หรือเมื่อดาวนี้เสวยอายุแล้วดาวนั้นแทรก จะเหมือนตอนทศกัณฐ์ไปลักนางสีดามาไว้ที่กรุงลงกา แล้วท่านก็ถามข้าพเจ้าว่า รู้เรื่องไหมล่ะ

ข้าพเจ้าเรียนท่านว่ารามเกียรติ์นั้นพอรู้ เพราะเรียนมา แต่เพิ่งทราบในตอนนี้เองว่าครูบาอาจารย์ทางโหราศาสตร์ไทยแต่ก่อน ท่านฝากความรู้และเคล็ดการทำนายไว้ในวรรณคดีแบบนี้ด้วย ท่านเลยว่า ความหมายวรรณคดีมีหลายชั้น สุดแต่ใครจะเอาอะไรไปอ่านออกมา อ่านแบบฮินดูก็จะว่าไปทาง เอาพุทธไปจับในตอนเดียวกัน ดวงตาก็จะเห็นธรรมไปอีกแบบ ส่วนโหราศาสตร์ก็มีทางตีความทศกัณฐ์ยกเขาพระสุเมรุตามแบบของโหราศาสตร์อยู่ ว่าใช้ชีวิตอย่างเก่งกล้าสร้างประโยชน์ให้สมความสามารถได้ ก็ดีแล้ว แต่อย่าให้เกินตัว ความเมามัวไม่รู้ตัวจะกลายเป็นความโฉดเขลา แล้วท่านก็จ้องหน้าข้าพเจ้านิ่งอยู่ ก่อนจะถามว่า เข้าใจไหมล่ะ

ถามแล้ว ท่านก็บอกเพื่อจบการสนทนาวันนั้นว่า ถ้าเข้าใจดี อันนี้ก็เป็นพรจากพระผู้เป็นเจ้า แต่ถ้าไม่เข้าใจ ความเก่งมันก็เป็นคำสาป

คำพูดและท่วงทีของท่าน ข้าพเจ้าฟังในวันนั้นอย่างเห็นขลัง แต่ขลังในทางที่ได้เป็นคติธรรมเฉยๆ กลับมาแล้วก็จดบันทึกไว้ตามปกติที่เคยจด  ไม่ได้คิดว่าจะมีอะไรเกี่ยวข้องกับ Hans J. Morgenthau ที่ข้าพเจ้ามาอ่านพบทีหลังว่าเขาก็มีวิธีคิดวิธีเสนอมติที่ต่างออกไป แต่มาสู่ข้อสรุปเกี่ยวกับ hubris ที่ออกจะใกล้เคียงกับการตีความรามเกียรติ์ตอนทศกัณฐ์ยกเขาพระสุเมรุของโหราศาสตร์ไทย และไม่ได้คิดว่าที่ได้ฟังจากจากครูโหรในวันนั้นเหมือนว่าท่านให้เบาะแสวิธีการตีความ ที่เป็นวิธีวิทยาในการหาความรู้แบบหนึ่ง ซึ่งจะได้เจอเมื่อออกไปเรียนต่อ ตอนไปเรียน ข้าพเจ้าก็ไม่ได้เข้าเรียนวิชาการในสาขาที่เลือกเลยในทันที แต่ลงเรียนทักษะการอ่านและการเขียนงานวิชาการก่อน เพราะเห็นว่าเป็นทักษะที่น่าจะช่วยให้เอาตัวรอดได้ดีในการเรียนระดับบัณฑิตศึกษา ข้าพเจ้าไม่เพียงแต่จะพบว่าตัดสินใจไม่ผิด แต่ยังได้ครูดีทั้งที่ U Penn และที่ American U ในการเรียนอ่านเรียนเขียน

ข้าพเจ้าจำวันแรกสุดที่เรียนกับอาจารย์ Laura Oberdorfer ได้ก็เพราะวิธีสอนของอาจารย์ในวันนั้น เมื่อทักทายแนะนำตัวแนะนำการเรียนตามแบบแผนแล้ว อาจารย์เริ่มสอนบทเรียนแรกให้แก่นักเรียนต่างชาติที่มาจากหลากหลายประเทศโดยเขียนคำอันเป็นสากลที่สุดคำหนึ่งบนกระดาน คือคำว่า Love เขียนเสร็จก็หันมาบอกพวกเราว่า ให้ตั้งคำถาม 1 คำถามเกี่ยวกับ Love ใครสักคนในชั้นโพล่งขึ้นว่า “Oh-oh, what’s Love?” แล้วก็ร้องเป็นเพลงของ Tina Turner ออกมา พวกเราทั้งชั้นหัวเราะครืน อาจารย์ถามยิ้มๆ กลับมาว่า คุณไม่รู้หรือว่ารักคืออะไร?  ถ้าคุณไม่รู้ว่ารักคืออะไรและอยากจะรู้ เราควรถามอะไรกันอีกดีเกี่ยวกับความรัก? 

กิจกรรมต่อจากนั้น ทำให้ข้าพเจ้ากับเพื่อนร่วมชั้นรู้จักวิธีละ verb to be ที่อยากรู้ไว้ก่อน แล้วช่วยกันหาคำกริยาอื่นๆ มาช่วยไขและขยายความหมายความเข้าใจของ being ใน verb to be ซึ่งในที่นี้มีตั้งแต่ being in love, beloved, และแน่นอน what’s love? จาก “What’s love got to do, got to do with it?” ที่เพื่อนร้องทีแรกจากเพลงฮิตติดชาร์ต เราก็ได้คำถามพื้นๆ อย่างความรักทำอะไรได้บ้าง มีความรู้สึกแบบไหนผสมอยู่ในความรักบ้าง ความรักสร้างสรรค์อะไรขึ้นมา ความรักทำลายหรือทลายอะไรลงไป ไปจนถึงคำกริยาจากความเปรียบเชยๆ อย่างเปิดหัวใจ เยียวยารักษา ที่สมาชิกในชั้นช่วยกันเสนอขึ้นมาเพื่อตามหาความหมายของ Love ออกมาอภิปราย

ในที่สุดวันนั้นเราได้ข้อสรุปว่าตามหาไม่พบความหมายแท้จริงหนึ่งเดียวของ Love ที่จะมาตอบคำถาม What’s love? ที่เพื่อนในชั้นตั้งขึ้นมาทีแรกจากเพลงดัง เพราะคำกริยาหลากหลายที่เราช่วยกันคิดตั้งคิดถามต่อ Love ได้พาเข้าหาความเข้าใจ Love หรือพา Love ออกไปสู่ความหมายอื่นๆ อีกมาก สุดท้ายอาจารย์ Oberdorfer ถามว่าเราควรสรุปบทเรียนนี้ว่าอะไร? 

ในสมุดบันทึก ข้าพเจ้าจดลงว่า definition ต่างจาก meaning เราพบคำนิยามหรือ definition ของคำทั้งหลายได้ในพจนานุกรม แต่ในชีวิตประจำวัน เราพบกับคำที่มีความหมาย แต่ความหมายนั้นแปรเปลี่ยน สลับเลื่อน ไหวเคลื่อนไปได้เสมอ  ใน definition คุณสมบัติคือ definite แต่ใน meaning คุณสมบัติคือ indefinite  ใครอยากรู้นิยาม Love ก็เปิดในพจนานุกรมดู แต่ถ้าอยากรู้ความหมายของ Love ก็ต้องยอมรับความหมายที่มันจะมอบให้มา จากความสัมพันธ์ในชีวิตจริง และเมื่อเป็นแบบนั้น เมื่อเรากำลังอยู่กับ Love กำลัง falling in love ในความหมายหนึ่งและด้วยความคาดหวังตามความเข้าใจแบบหนึ่ง ก็ต้องเตรียมตัวพร้อมที่จะเห็นความหมายที่เป็นไปได้อื่นๆ เลื่อนเข้ามาแทน

อาจารย์บอกด้วยว่า ไม่เฉพาะแต่ Love ที่เรียนกันในวันนี้ แต่เป็นเรื่องธรรมดามากในชีวิตประจำวัน ที่เราจะเจอคนที่ใช้คำบอกใจความอย่างหนึ่ง แต่ให้มีความหมายเป็นอีกอย่างหนึ่ง เราเองก็ทำแบบนั้นเหมือนกัน และคำที่มีความสำคัญทั้งหลายที่ประจำอยู่ในชีวิตคนก็ไม่ตกจำนนที่จะยอมให้ความหมายเดียวมาขังมันไว้

ภายหลังต่อมา พอมาได้เรียนวิชาการ ข้าพเจ้าก็เห็นความพยายามในวิธีวิทยาของฝ่ายหนึ่งที่พยายามจัด definition และ operational definition สำหรับการวิจัยเพื่อให้ได้นิยามที่มีความชัดเจนออกมา และได้ความแม่นตรงในการวัดและจัดหลักฐานข้อมูล กับวิธีวิทยาของอีกฝ่าย ที่หาวิธีมาจัดการกับความหมายอันไหลเลื่อนแปรเปลี่ยนไปอย่างหลากหลาย ตามแต่ว่าจะเอาอะไรไปอ่านหาความหมายจากมันออกมา หรือว่ามันถูกนำไปใช้กำหนดความหมายเพื่อสร้างพลังในทางปฏิบัติการในภาคปฏิบัติอยู่แบบไหน แล้วเมื่อเจอกับการไม่ยอมจำนนให้ความหมายแบบเดียวของฝ่ายเดียวมาขังไว้ การพลิกมันมาใช้ในความหมายอื่นก่อเกิดผลเป็นความเข้าใจและการเปลี่ยนแปลงแบบไหนตามมา

เมื่อถูกความแตกต่างวิธีในการมองนิยามและความหมายในการสร้างความรู้ดึงไปมาในเวลาที่อ่านงานวิชาการอย่างนี้ ข้าพเจ้าก็ตั้งหลักแก้ปัญหาความสับสนให้ตัวเองด้วยวิธีของครูโหร และของอาจารย์ Oberdorfer นั่นคือ เริ่มด้วยการสังเกตก่อนว่า งานวิชาการที่อ่านนั้น คนเขียนใช้หลักอะไรเข้าไปจับความรู้เรื่องในเรื่องนั้นออกมาพิจารณา และคนเขียนงานวิชาการที่เราอ่าน เขาเล่นกับนิยามหรือความหมายของคำสำคัญในเรื่องนั้นอย่างไร

สมมุติว่าเป็นเรื่องชาตินิยม การจับความรู้เรื่องชาตินิยม จะจับโดยการศึกษาประวัติความคิดและสาแหรกความหมายของคำๆ นี้ หรือจะจับโดยการศึกษาเงื่อนไขที่เป็นรากฐานในการสร้างชาติและขบวนการชาตินิยมในพื้นที่หนึ่ง หรือว่าเปรียบเทียบข้ามภูมิภาคในช่วงเวลาหนึ่ง หรือจะจับโดยการศึกษาบทบาทหน้าที่หรือพลังทางสังคมของชาตินิยมในสังคมที่กำลังเปลี่ยนเข้าสู่สมัยใหม่ การลดพลังและการย้อนกลับคืนมาเป็นพลังของชาตินิยมในสังคมปลายสมัยใหม่ การจับความรู้ในแต่ละแบบ จะให้ความเข้าใจและเห็นความหมายของชาตินิยมในข้อสรุปที่ต่างกัน ส่วนคำสำคัญในการศึกษาชาตินิยม ไม่ว่าจะจับออกมาศึกษาแบบไหน ไม่พ้นที่จะต้องพิจารณาคำว่า community และองค์ประกอบในนิยามโด่งดังที่สุดนิยามหนึ่งของชาตินิยมก็คือข้อเสนอเรื่อง imagined community ของเบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน จนคำนี้ถูกอ้างประดับงานเขียนเรื่องชาตินิยมซ้ำมากที่สุดก็ว่าได้ มันบ่งถึงอิทธิพลของตัวงานของเขาได้ก็จริงอยู่ แต่มุมกลับของมันที่จะกลายเป็น cliché ก็ใช่ว่าจะไม่มี 

เมื่อเป็นแบบนั้น วิธีของอาจารย์ Oberdorfer คือการมองหาว่า แทนที่จะดูเป็น “imagined” community  เราจะหาคำกริยาอะไรอื่นมาวางแทนลงตรงนี้ได้อีก เพื่อขยายความหมายความเข้าใจชาตินิยมต่อออกไปจากที่ศาสตราจารย์แอนเดอร์สันเสนอไว้  หรือเมื่อพลิกงานเขียนเรื่องชาตินิยมของใครขึ้นมาพิจารณา ก็สามารถใช้จุดนี้เป็นที่สังเกตได้ก่อน ว่างานนั้นมีอะไรใหม่ๆ ในการพิจารณา community นอกเหนือหรือต่อออกไปจาก imagined community ของแอนเดอร์สันบ้างหรือไม่

ข้าพเจ้าก็คงจะผ่านงาน “In the Mirror of Urdu” ของ Aijaz Ahmad (2000) ไปแล้ว และคงพลาดความรู้ที่น่ารู้อีกมากในบทความนั้น ถ้าไม่ทันเห็นว่าเขาตั้งใจเสนอความหมายของ community ในทางที่ไม่ใช่เพียง imagined community  แต่พอข้าพเจ้าเห็นย่อหน้านี้เข้า ก็เลยตั้งต้นอ่านบทความ “In the Mirror of Urdu” ด้วยความสนใจตั้งแต่ต้นจนจบ  Ahmad เสนอว่า

The term ‘community’, as I use it here is … not something merely imagined. This word signifies, first, a very considerable degree of historical sedimentation; second, something that human beings actually choose to become, thus in its own way not just a determined entity but a praxis. Communities not only endure, they are frequently recomposed, and in certain sorts of crises they simply fall apart.  In the broadest sense at least one meaning of the word ‘community’ converges with that very complex thing that Raymond Williams calls a ‘structure of feeling’, even though at times Williams tends to associate that phrase, ‘structure of feeling’, with what a generation within a given culture might come to share, perhaps imperceptibly, at a given time. (เน้นคำตามต้นฉบับ)

เมื่ออ่านบทความนี้ของ Ahmad ข้าพเจ้ายังเห็นความเชื่อมโยงระหว่าง Urdu literary community กับการใช้ mirror มาเป็นความเปรียบ เคยยังนึกอยากได้เรื่องเหมาะๆ ที่จะใช้กระจกแก้วหรือกระจกตะกั่วสะท้อนแสงเงาได้เลื่อมพรายมาเป็นความเปรียบตามเขาดูบ้าง ว่ามันจะเปลี่ยนชุมชนที่ถูกสะท้อนออกมา ให้เห็นในความระยิบระยับหรือหักเหไปจากของจริงได้ถึงเพียงไหน


ก่อนย้ายมาที่ American U ที่จะได้เรียนกับอาจารย์ Oberdorfer ข้าพเจ้าลงเรียนวิชาการเขียนเชิงวิชาการในภาคฤดูร้อนที่ U Penn มาก่อน ถึงตอนนี้ ข้าพเจ้าลืมชื่ออาจารย์ผู้สอนไปแล้ว แต่ยังมีความทรงจำที่ดีต่ออาจารย์และเมืองฟิลาเดลเฟีย  อาจารย์เป็นคนแนะนำให้เราหา The Elements of Style ของ Strunk and White (1979) มาเป็นคู่มือติดตัว  ไม่แนะนำเปล่า แต่ยังชี้ให้เห็นความแตกต่างหลายอย่างในลักษณะของภาษาที่ใช้ในแต่ละแวดวง โดยใช้ตัวอย่างที่มีในหนังสือคู่มือการเขียนของ Strunk and White นั้นเองมาเป็นจุดตั้งต้น Strunk and White ใช้ตัวอย่างจากฝีมือล้อเลียนอันไม่มีใครเปรียบของ Orwell ที่แปลงภาษาในพระคัมภีร์ฉบับคิงเจมส์ อันเขียนด้วยภาษามีภาพพจน์กระจ่าง ให้กลายมาเป็นภาษาวิชาการสังคมศาสตร์ในแบบที่ข้าพเจ้าจะได้อ่านได้เรียนต่อไป อาจารย์แนะนำพวกเราตอนนั้นด้วยว่า อย่าอ่านงานวิชาการมากเกินไปนัก  ยิ่งเขียนด้วยแล้ว ถ้าไม่ใช่ต้องเขียนส่งวารสารวิชาการ อย่าไปติดการเขียนภาษาวิชาการอย่างนั้นมาใช้ในที่อื่นๆ  

อย่างไหนหรือ? ก็อย่างที่ Orwell นำมาล้อให้เห็นแบบนี้ :

ระหว่างภาษาในพระคัมภีร์อันมีภาพพจน์กระจ่าง

ก. I returned, and saw under the sun, that the race is not to the swift, nor the battle to the strong, neither yet bread to the wise, nor yet riches to men of understanding, nor yet favor to men of skill; but time and chance happeneth to them all.

กับภาษาวิชาการที่เขียนให้ดูขลัง คนที่ยังไม่ได้ผ่านการครอบครูรับเข้าสำนัก อ่านแล้วอาจมึนงงไม่สู้เข้าใจ

ข. Objective consideration of contemporary phenomena compels the conclusion that success or failure in competitive activities exhibits no tendency to be commensurate with innate capacity, but that a considerable element of the unpredictable must inevitably be taken into account.

[พอข้าพเจ้ามาอ่านงานของพวก postmodern บางคนในภายหลัง ข้าพเจ้าก็เข้าใจว่าอาจารย์กำลังเตือนล่วงหน้าว่ากำลังจะมาเจอกับอะไร โดยเฉพาะเมื่อได้อ่านงานในสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ใช้งานของนักทฤษฎีอย่าง Derrida เป็นต้น]

อาจารย์ยกตัวอย่างอื่นๆ จากงานที่เป็นบทความวิชาการทั้งในสาขาวิชาการเดียวกัน แต่ต่างกระบวนทัศน์ในการหาความรู้ และจากต่างสาขา กับบทความที่เป็น essays / non-fiction รูปแบบต่างๆ มาเทียบให้เห็นลักษณะภาษาและแบบแผนการนำเสนอความคิด/แนวคิด และหาทางให้พวกเราคนเรียน รู้จักแยกความแตกต่างระหว่าง obscurity ในภาษาที่ใช้กับ profundity ในความคิดที่ต้องการเสนอ ระหว่างภาษาเร้าอารมณ์กระทบความรู้สึกที่สร้างการผลักไสหรือดึงเข้าหา กับภาษาสื่อสารข้อมูลความรู้แบบตั้งใจให้ปลอดจากอารมณ์และเป็นทางการให้มากเข้าไว้เท่าที่จะทำได้ และระหว่างภาษาที่จะเข้าใจได้ต้องรู้ความหมายของ jargons กับภาษาที่จะเข้าใจได้ต้องรู้ความหมายแฝงนัย ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายลักษณะและมีกุญแจหลายแบบสำหรับไขเข้าหาความหมายเหล่านั้น  

ข้าพเจ้ามาตระหนักในภายหลังว่า ในแง่นี้ ทั้งอาจารย์,  Strunk and White, และ Orwell กำลังยกกระจกสะท้อนให้เห็นความสำคัญของลักษณะการใช้ภาษามาเป็นตัวจำแนกว่าจะนับงานไหนว่าเป็นงานของชุมชนวิชาการ ของชุมชนกระบวนทัศน์ หรือชุมชนนโยบาย และงานไหนไม่เข้า ไม่ใช่ ไม่อาจนับว่าเป็น ข้าพเจ้าเลยรู้จักกับวิธีจัดชุดภาษาออกมาใช้ที่จะให้เหมาะกับชุมชนไหนก็ในคราวนั้นเอง  ตอนที่เกิดเรื่องหลอกหยอกล้อกันแรงๆ ต่อพวก postmodern จากคนสายวิทยาศาสตร์ในกรณี The Sokal’s Hoax ข้าพเจ้ายังนึกว่า ถ้าหากอาจารย์ยังสอนการเขียนอยู่ ก็คงได้ใช้กรณีนี้มาเป็นอุปกรณ์การสอนอย่างสนุกมากแน่ๆ    

นอกจากวิธีเขียนงานวิชาการ ซึ่งเป็นทักษะที่การเรียนเพียงหนึ่งภาคฤดูร้อนฝึกเราไม่ทันที่จะเขียนได้ดี สิ่งที่ข้าพเจ้าได้จากอาจารย์และมีประโยชน์ในการเรียนต่อมาจนทุกวันนี้ ยังได้แก่วิธีการสังเกตความแตกต่างในลีลาวิธีคิดและการนำเสนอความคิด แต่คงต้องเก็บไว้นำเสนอในโอกาสอื่น ข้าพเจ้าจะขอปิดบันทึกต่างบทไหว้ครู เพื่อเปิดงานเขียนชุดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนี้ ด้วยข้อสังเกตต่อไปนี้ของอาจารย์

จากสมุดบันทึก ข้าพเจ้าจดว่า อาจารย์ยกบทสนทนาระหว่าง Alice กับ Humpty-Dumpty จาก Through the Looking Glass ของ Lewis Carroll นี้มา

“I don’t know what you mean by ‘glory,’ ” Alice said. 
Humpty Dumpty smiled contemptuously. “Of course you don’t—till I tell you. I meant ‘there’s a nice knock-down argument for you!'”
“But ‘glory’ doesn’t mean ‘a nice knock-down argument’,” Alice objected.
“When I use a word,” Humpty Dumpty said, in rather a scornful tone, “it means just what I choose it to mean—neither more nor less.”
“The question is,” said Alice, “whether you can make words mean so many different things.”
“The question is,” said Humpty Dumpty, “which is to be master—that’s all!”

ตัวบทข้างต้นได้รับการอ้างถึงอย่างกว้างขวาง รวมทั้งในคำตัดสินวินิจฉัยแย้งอันเป็นที่เคารพของ Lord Atkin ต่อการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารในสถานการณ์พิเศษ  แต่ในสมุดบันทึกจากชั้นเรียนการเขียนกับอาจารย์ ที่ข้าพเจ้าจดมา อาจารย์ใช้บทสนทนานี้แสดงให้เห็นว่า ในงานเขียนทางสังคมศาสตร์ นักวิชาการต่างฝ่ายต่างติดตามหาสิ่งที่คิดว่าจะเป็น “a nice knock-down argument” ออกมานำเสนอเพื่ออธิบายว่า X คืออะไรได้อย่างมีน้ำหนักไม่มีข้อที่จะโต้แย้งได้ นี่เป็นเกมแบบหนึ่งที่เล่นกันเป็นปกติ  อีกส่วนหนึ่ง คือ เกมวางเกณฑ์สำหรับพิจารณาว่าในระหว่าง arguments ที่อยู่ในสนามเหล่านั้น “Which is to be master” ซึ่งอาจสัมพันธ์กับ “Who is the master?” คำถามข้อหลังนี้ข้าพเจ้าเติมเข้ามาเอง

และอีกเกมหนึ่ง คือเมื่อมันมีทางเป็นไปได้ที่ทำให้ X มีความหมายต่างกันไปได้หลายแบบ คำถามจึงเป็นว่า เราจะเปลี่ยนเกมเกี่ยวกับ X อย่างไร ที่ไม่เพียงแต่จะอธิบาย X ไม่เหมือนคนอื่นในโจทย์แบบเดียวกัน แต่ตั้งโจทย์ขึ้นมาพิจารณาใหม่จากความหมายของ X ที่คนอื่นๆ ไม่ได้มอง

สมุดจดเล่มนี้ปิดท้ายว่า “… the bewitchment of our intelligence by means of language.”

ข้าพเจ้าคิดอย่างขำๆ ตอนเปิดสมุดบันทึกเพื่อเขียนบทความนี้แล้วเจอกับ quote ข้างต้นของ Ludwig Wittgenstein ว่าเขาช่างมีวิถีลี้ลับในการส่งความคิดมาหานักเรียนต่างชาติผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่อันใด นอกจากความพยายามในการจดบันทึกตามคำบรรยายไม่ให้ตกหล่น.        

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save