fbpx
จากเอไอถึงเอเลี่ยน: นี่คืออนาคตของพวกเราตลอดทศวรรษนี้

จากเอไอถึงเอเลี่ยน: นี่คืออนาคตของพวกเราตลอดทศวรรษนี้

เอกศาสตร์ สรรพช่าง เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพ

 

ในศตวรรษที่ 20 นักวิชาการแทบทุกสาย นักประวัติศาสตร์ นักชีวเคมี นักคอมพิวเตอร์ และอีกหลายต่อหลายนัก พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าศตวรรษที่ผ่านมาเป็นศตวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและบ้าคลั่งที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกมา ถ้าเปรียบไป คงเหมือนไก่ที่ถูกเลี้ยงให้โตไวเพื่อแปรรูปได้เร็ว

ฉะนั้น ก็ขอเรียกศตวรรษที่แล้วว่าเป็นศตวรรษแห่งการแปรรูป ส่วนดีไม่ดีอย่างไร ก็แล้วแต่คนที่ได้รับผล

ศตวรรษนี้ผ่านทศวรรษแรกไปอย่างรวดเร็ว จาก Y2K มาถึงโรคระบาด การเติบโตอย่างพรวดพราดของสมาร์ทโฟน อินเทอร์เน็ต วิกฤตทางการเมืองและโลกร้อน เรียกว่าเต็มไปด้วยความท้าทาย แล้วทศวรรษที่สองของเราล่ะ จะเจอกับอะไรบ้าง หัวข้อเหล่านี้เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของผม อาจตรงหรือไม่ตรงกับการคาดการณ์ของคนอื่นบ้าง ทว่าก็เป็นแนวโน้มที่เราน่าจะได้เจอ

 

AI กับการเมือง

 

มีคนพูดถึงความเก่งกาจของ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ในหลากหลายวงการ ในช่วงปลายทศวรรษที่ผ่านมาปัญญาประดิษฐ์ขยายขอบข่ายความสามารถของตัวเองออกไปไกลกว่าที่เราคิดไว้มาก ตอนนี้พวกมันสามารถอ่านฟิล์มเอ็กซ์เรย์ได้ดีกว่าหมอ เล่นหมากล้อมได้เก่งกว่ามนุษย์ เป็นทนายที่แม่นกฎหมาย และเริ่มมีบทบาทมากขึ้น ทศวรรษนี้เราน่าจะได้เห็นปัญญาประดิษฐ์ถูกนำออกมาใช้งานจริงมากขึ้นเรื่อยๆ

ทว่ามีงานหนึ่งที่ปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ยังไปไม่ถึง นั่นคืองานการเมือง แม้มีการพูดถึงประเด็นนี้ว่า งานออกแบบนโยบายหรือการปันส่วนงบประมาณเป็นงานที่ปัญญาประดิษฐ์น่าจะทำได้ดีกว่ามนุษย์ เพราะฐานข้อมูลถูกทำให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งข้อมูลการเสียภาษี สถิติการใช้งบประมาณของรัฐบาล การออกใบขับขี่ ทำพาสปอร์ต ข้อมูลเรื่องสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ตอนนี้เรามีทกุอย่างที่ปัญญาประดิษฐ์สามารถนำไปวิเคราะห์และช่วยในการจัดทำงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ เผลอๆ น่าจะทำงานได้ดีกว่านักการเมืองด้วยซ้ำ แต่อย่างที่รู้ว่า แวดวงการเมืองไม่ใช่เรื่องของการทำอะไรด้วยเหตุผลเสมอไป โดยเฉพาะเมื่อเข้าไปเกี่ยวข้องกับอำนาจ แต่ก็มีบางประเทศ เช่น เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เริ่มทดลองนำปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยในการออกแบบนโยบายสาธารณะ

อีกไม่นานนัก เราอาจได้เห็นแพลตฟอร์มสำหรับการบริหารจัดการระบบรัฐ โดย AI เช่น การออกใบขับขี่ พาสปอร์ต การบริการสาธารณสุข แผนบำนาญ งานที่ต้องใช้การวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาลเหล่านี้เหมาะกับปัญญาประดิษฐ์ เพราะทุ่นเวลาได้มาก ลดการทุจริต และอุดรูรั่วต่างๆ ได้ เชื่อว่าหากนักการเมืองไม่หวงเก้าอี้จนเกินไป อีกไม่นานเราน่าจะได้เห็นบทบาทของปัญญาประดิษฐ์ในแวดวงการเมือง

 

รถพลังงานไฮโดรเจน

 

ผมเพิ่งกลับมาจากไต้หวัน ตอนนี้ที่นั่นเริ่มใช้รถสกู๊ตเตอร์พลังงานไฮโดรเจนอย่างเป็นจริงเป็นจังกันแล้ว มีการวางจำหน่ายถังเชื้อเพลิงไฮโดรเจนตามร้านสะดวกซื้อ (ลักษณะคล้ายๆ ถังแก๊สขนาดเล็ก ไซซ์เท่ากับกระติกน้ำ) ลูกค้าสามารถนำเอาถังเก่าที่เชื้อเพลิงหมดแล้วมาแลกถังใหม่ไปใช้ได้เลย

โครงการนี้ผมได้ยินมาตั้งแต่ต้นสหัสวรรษใหม่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉิงกุง (National Cheng Kung University) สามารถผลิตสกู๊ตเตอร์ต้นแบบที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนได้สำเร็จ ทั้งปลอดภัย ใช้งานได้จริง ตอนนี้มีการพัฒนาต่อเนื่องมาเรื่อยๆ รัฐบาลไต้หวันเข้ามาช่วยสนับสนุนบริษัทเอกชนในการพัฒนาการเก็บเซลเชื้อเพลิงไฮโดรเจนแบบความดันต่ำ กระทั่งตอนนี้ผลิตขายเชิงพานิชย์แล้ว และมีร้านที่เป็นเครือข่ายในการวางขายเซลเชื้อเพลิงกระจายตัวทั่วไต้หวัน บอกได้เลยว่าเขาเอาจริงเอาจังมาก คือถามใคร ใครก็รู้ ตั้งแต่คนขับแท็กซี่ ยันไกด์ ดูเหมือนคนไต้หวันภูมิใจกับนวัตกรรมนี้ของพวกเขามาก

ตอนนี้บริษัท Asia Pacific Fuel Cell Technologies, Ltd. (APFCT) ผู้ผลิตถังเชื้อเพลิง กำลังพัฒนาระบบขนส่งและสร้างธุรกิจการจัดการถังเชื้อเพลิงผ่านแอปพลิเคชัน อนาคตลูกค้าสามารถสมัครสมาชิกและสั่งซื้อได้ทางแอปฯ บริษัทยังมีเป้าหมายว่าจะพัฒนาระบบนี้ให้ดัดแปลงใช้กับรถยนต์ทั่วไป หรืออาจจะร่วมกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เพื่อต่อยอด แนวโน้มของรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนจะมาเป็นทางเลือกใหม่ของผู้ใช้รถยนต์ทั่วโลกแน่ๆ เพราะเป็นพลังงานสะอาดมากกว่ารถไฟฟ้า แต่ก็ยังมีคำถามเรื่องการจัดการแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพ และการได้มาซึ่งแร่หายากที่ต้องนำมาใช้เป็นส่วนประกอบแบตเตอร์รี่ว่าเป็นมิตรกับโลกจริงหรือไม่

คิดว่าไม่เกินต้นทศวรรษหน้าน่าจะเห็นรถพลังงานไฮโดรเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้ผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์ใหญ่ๆ เริ่มคิดเรื่องวางจำหน่าย  BMW ทำเรื่องนี้มาไม่น้อยกว่า 20 ปี โตโยต้าออกรถ Mirai มาแล้ว ซึ่งแม้ว่าจะมียอดจำหน่ายต่ำเตี้ยเพียง 5,400 คัน แต่เชื่อว่าไม่เกินทศวรรษนี้เราจะเห็นมันกลายเป็นกระแสของโลกแน่นอน

 

Internet of Sense 

 

คำว่า IoT หรือ Internet of Things ถือเป็นคำฮิตของทศวรรษที่แล้วก็ว่าได้ IoT ใช้เรียกอุปกรณ์ที่สามารถติดต่อสื่อสาร หรือเชื่อมโยงการทำงานทุกอย่างด้วยกันได้ผ่านอินเทอร์เน็ต สำหรับทศวรรษนี้ซึ่ง 5G มาแน่ๆ จะยิ่งทำให้อุปกรณ์ IoT ทำงานได้ดีขึ้นกว่าเดิม

โครงข่าย 5G จะทำให้การรับส่งข้อมูลเร็วขึ้นกว่า 4G เป็นร้อยเท่า ด้วยความเร็วขนาดนี้ รูปแบบของการติดต่อ การปฎิสัมพันธ์ระหว่างอุปกรณ์ หรือการออกแบบการใช้งานก็จะเปลี่ยนไป IoT แต่เดิมจะเน้นไปที่เรื่องของฟังก์ชั่นมากกว่าการสร้างอารมณ์หรือสัมผัสที่ลึกซึ้ง แต่เทคโนโลยีสมัยใหม่จะเน้นไปที่เรื่องการรับรู้ประสบการณ์ ที่มากไปความสะดวกสบายในการใช้งานเท่านั้น สัมผัสที่ว่านี้จะออกมาแบบไหนบ้าง ก็เช่น รูปแบบของงานกราฟฟิกในเว็บจะทำได้ละเอียดขึ้น ภาพเคลื่อนไหวสามารถทำได้เร็วมากขึ้น หรือการออกแบบเกมจะสามารถเชื่อมต่อได้ไม่มีสะดุด ซึ่งให้ประสบการณ์ที่เหมือนจริงมากขึ้น ผู้ให้บริการระบบโครงข่ายอย่างอีริคสันฝันไปไกลกว่านั้นว่า 5G อาจทำให้เครื่องมือสื่อสารต่างๆ เข้าไปอยู่ในระดับเส้นใยบนเสื้อผ้าของเราได้แบบไร้รอยต่อ ซึ่งก็ไม่ใช่ฝันที่เป็นไปไม่ได้

 

ประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้น

 

ทศวรรษที่แล้วเป็นทศวรรษที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกกันมา และเชื่อว่าไม่มีทางลดลงง่ายๆ แต่ผมคิดว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงกว่าโลกร้อนก็คือ ประชากรโลกที่มากขึ้น แม้เราจะรับรู้ว่าคนเกิดน้อยลง แต่ข้อเทจจริงก็คือโลกก็ยังมีคนเกิดทุกวันและมากด้วย สหประชาชาติประมาณกันแล้วว่าในปี 2030 จำนวนประชากรโลกจะขึ้นไปแตะ 8,300 ล้านคน เมื่อเทียบกับปี 1960 โลกเรามีประชากรแค่เพียง 3,000 ล้านคนเท่านั้น

ข้อมูลของ Roland Berger Consultant บริษัทที่ปรึกษาการวางแผนกลยุทธที่ทำงานร่วมกับสหภาพยุโรป ประมาณการว่า การเพิ่มประชากรส่งผลต่อโลกของเราหลายอย่าง ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ อีกมาก ลามไปถึงว่า เราไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมหรืออะไรได้เลยหากว่าคนยังเพิ่มมากขนาดนี้ แถมยังอายุยืนมากขึ้นด้วย ความซับซ้อนของการ ‘คุม’ จำนวนประชากรโลกเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก และไม่มีใครที่จะกล้ายกมืออาสาเหมือนธานอสในภาพยนตร์ the avengers แน่นอน

ตอนนี้ประเทศที่พัฒนาแล้ววางแผนจะปรับอายุและนิยามของ “วัยกลางคน” โดยเพิ่มอายุให้มากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับฐานข้อมูลประชากรใหม่ วัยกลางคนใหม่นี้อาจเป็นตัวเลข 44 แทนที่จะเป็น 34 อายุการทำงานก็อาจต้องปรับให้มากขึ้น หลายประเทศในยุโรปและญี่ปุ่นเริ่มคิดเรื่องการเพิ่มอายุการทำงานอย่างจริงจัง

ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นปัจจัยสำคัญมาก เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ การขยายตัวของเมือง ภาวะโลกร้อน การแย่งชิงทรัพยากร แต่การ ‘คุม’ จำนวนคนนั้นเป็นเรื่องยากและละเอียดอ่อนจริงๆ

 

Quantum Computer

 

หลังจากที่กูเกิลออกมาประกาศว่าพวกเขาสามารถสร้างควอนตัมคอมพิวเตอร์ได้เป็นผลสำเร็จ ทศวรรษต่อจากนี้เราก็จะได้เห็นพลานุภาพของควอนตัมคอมพิวเตอร์ ว่ามันจะเจ๋งขนาดไหน กูเกิลอ้างว่าควอนตัมคอมพิวเตอร์ของพวกเขาสามารถแก้ไขโจทย์หินๆ ที่ซปเปอร์คอมพิวเตอร์ปัจจุบันต้องใช้เวลาหมื่นปี แต่ควอนตัมคอมพิวเตอร์ใช้เวลาเพียง 200 วินาทีเท่านั้น ด้วยความเร็วขนาดนี้เมื่อคิดถึงการใช้งานกูเกิลของเราในหนึ่งวัน ซึ่งมีคนใช้งานกว่า 5,600 ล้านครั้ง หากควอนตัมคอมพิวเตอร์มีประสิทธิภาพอย่างที่กล่าวอ้างจริง ลองนึกภาพว่าการประมวลผลข้อมูลระดับบิ๊กดาต้าจะใช้เวลาเท่าไร

ข้อมูลมากมายมหาศาลนี้กูเกิลสามารถนำมาใช้ประโยช์ได้อย่างมากมาย หากพวกเขามีคอมพิวเตอร์ความเร็วสูงที่สามารถวิเคราะห์ แยกแยะ และกรองเอาแต่ส่วนที่พวกเขาต้องการมาใช้งานต่อ เหมือนกูเกิลกำลังสร้างแท่นขุดเจาะข้อมูลขนาดใหญ่ที่จะทำให้บริษัทอยู่ได้ไปอีกหลายสิบปี

อีกด้านหนึ่ง ควอนตัมคอมพิวเตอร์ก็จะสามารถช่วยเราในการเปิดโลกใหม่ๆ สำรวจดินแดนที่เราไม่สามารถเข้าถึง โดยเฉพาะการสำรวจอวกาศ  การออกแบบวิศวกรรมไฮเทค คำถามที่ตามมาก็คือ เราจะจัดการความเป็นส่วนตัวอย่างไร มีการพูดถึงว่ายุคนี้จะเข้าสู่ Post Privacy Era ซึ่งบางคนก็บอกว่า ลืมเสียเถอะ อย่างไรความเป็นส่วนตัวในโลกอนาคตอาจไม่มีอยู่จริง เพียงแต่ว่าในการเลือกระดับความเป็นส่วนตัว จะทำได้มากน้อยแค่ไหนอาจขึ้นกับสถานภาพทางสังคมของแต่ละบุคคลก็เป็นได้

 

เอเลี่ยนและการสำรวจอวกาศ

 

สหรัฐอเมริกาเพิ่งประกาศแต่งตั้งกองกำลังอวกาศและผู้บัญชาการสูงสุดของกองทหารหน่วยที่ 6 พล.อ.จอห์น เรย์มอนด์ พร้อมทหารจำนวน 16,000 นาย และเงินอีก 40 ล้านดอลลาร์ในช่วงตั้งไข่เพื่อให้กองทัพอวกาศแข็งแกร่งขึ้น แม้ว่าตอนนี้นโยบายของกองทัพจะยังไม่ไปถึงการส่งทหารขึ้นไปประจำการบนอวกาศ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกอย่างได้เตรียมความพร้อมเพื่อสิ่งเหล่านี้

สหรัฐอเมริกามีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะเป็นผู้บุกเบิกการสำรวจอวกาศ สร้างและรักษาผลประโยชน์ของตัวเองอย่างแข็งขัน ซึ่งเชื่อกันว่าทศวรรษนี้เราจะได้เห็นภารกิจบนอวกาศหลายต่อหลายอย่าง ตั้งแต่การท่องเที่ยวรอบดวงจันทร์ โรงแรมที่พัฒนาจากสถานีอวกาศ และการเดินทางเพื่อสำรวจดาวอังคาร โดยมีมนุษย์โดยสารไปด้วย (และอาจไปแบบเที่ยวเดียวไม่มีตั๋วกลับ) และที่สำคัญ เมื่อเทียบว่าเรามีวิทยาการที่ก้าวหน้ากว่าเมื่อร้อยปีที่ผ่านมา นี่อาจถึงเวลาแล้วที่เรา ‘อาจ’ มีโอกาสได้รู้ความจริงเสียทีว่า สิ่งมีชีวิตทรงปัญญานอกโลกนั้นมีอยู่จริงหรือไม่

ในทศวรรษนี้ ผมเคยอ่านบทสัมภาษณ์ของ แดน แลงฟอร์ด ประธานบอร์ดของโครงการเซติ (SETI-Search for Extra-Terrestrial Intelligence โครงการค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาจากต่างดาว) ที่บอกว่า มันออกจะเป็นเรื่องประหลาดมากที่เรายังไม่สามารถติดต่อกับสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาจากต่างดาวได้ และหากสิ้นครึ่งศตวรรษใหม่นี้ (ค.ศ. 2050) เรายังไม่เจอ เขาเชื่อว่าต้องมีอะไรผิดปกติสักอย่าง

หากวัดจากสมการที่โด่งดังของเดรก (Drake equation) และบทความของเขาที่เคยเขียนไว้ในนิตยสาร WIred เมื่อปี 2547 เขาเชื่อว่าน่าจะมีอารยธรรมต่างดาวที่สามารถติดต่อกันได้ทางคลื่นวิทยุ (ตัวกลางที่โครงการเซติใช้ในการติดต่อสื่อสารกับอารยธรรมอื่น) และน่าจะมีอยู่ราว 10,000 อารยธรรมทั่วจักรวาล เราไม่รู้จริงๆ ว่ามันมากหรือน้อยเพราะไม่รู้ว่าจักรวาลนั้นกว้างใหญ่ขนาดไหน แต่มันก็ตื่นเต้นทุกครั้งที่รู้ว่าข้างนอกนั้นมีอะไรนอกเหนือจากเราอยู่ และอาจเกี่ยวข้องกับจุดกำเนิดของเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ถ้าถามว่าเรื่องไหนที่ผมอยากรู้ที่สุดก่อนตาย เรื่องนี้แหละเป็นหนึ่งในลิสต์ของผม

 

 

อ้างอิง

https://www.iss.europa.eu/sites/default/files/EUISSFiles/ESPAS_Report.pdf

https://www.tceb.or.th/uploads/press_media/file/190903-file-Ac1c8ccxh.pdf

https://www.nytimes.com/interactive/2019/12/26/opinion/2020s-future-predictions.html

https://www.ericsson.com/en/reports-and-papers/consumerlab/reports/10-hot-consumer-trends-2030#trend8post-privacyconsumers

https://www.wired.com/2004/12/life-2/

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save