fbpx
จาก Admissions สู่ TCAS: ข้อสังเกตบางประการ

จาก Admissions สู่ TCAS: ข้อสังเกตบางประการ

[et_pb_section bb_built=”1″][et_pb_row][et_pb_column type=”4_4″][et_pb_text _builder_version=”3.0.106″ background_layout=”light”]

พลอย ธรรมาภิรานนท์ เรื่อง

“การรับเด็กรูปแบบใหม่ชื่อใหม่ทีแคสนี้ เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อแก้ปัญหาวิ่งรอกสอบ กันสิทธิ์คนอื่น ลดปัญหาความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคนรวยกับคนจน และต้องการให้เด็กอยู่ในห้องเรียนจนจบการศึกษา” – ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 2 มิ.ย. 2560)

เมื่อต้นเดือนมิถุนายน ปี 2560 ทปอ. ได้ประกาศใช้ระบบการรับสมัครคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาระบบใหม่ หรือ TCAS ซึ่งเป็นระบบกลางที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 เป็นต้นไป  โดยมีหลักการสำคัญของการเปลี่ยนจากระบบ Admissions มาสู่ TCAS คือ เพื่อให้นักเรียนใช้เวลาในห้องเรียนจนจบชั้น ม.6[1] และเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างเด็กรวยกับเด็กจน

ปัญหาของ Admissions

ระบบ Admissions แบบเดิมที่ใช้ในปีการศึกษา 2553 จนถึงปี 2560 นั้น แบ่งรอบรับสมัครได้เป็น 2 รอบใหญ่ๆ คือรอบ Admissions และรอบ ‘รับตรง’  โดยสำหรับรอบ Admissions ซึ่งเป็นการรับสมัครผ่านระบบกลาง ผู้สมัครต้องยื่นคะแนน 4 ประเภทเพื่อใช้ในการพิจารณาคัดเลือก ได้แก่ GPAX (สัดส่วน 20%), O-NET[2] (สัดส่วน 30%), GAT (สัดส่วน 10-50%) และ PAT[3] (สัดส่วน 0-40%)  โดยผู้สมัครสามารถเลือกโครงการและมหาวิทยาลัยที่ต้องการสมัครได้ทั้งสิ้น 4 อันดับ และเปิดรับสมัครในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี

แต่เนื่องจากคณะ/มหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งเห็นว่า คะแนนทั้ง 4 ประเภทที่ใช้ในรอบ Admissions ไม่สามารถใช้วัดและสะท้อนคุณสมบัติของผู้สมัครได้ดีเท่าที่ควร  แต่ละคณะ/มหาวิทยาลัยจึงเปิดรับสมัครนักศึกษาเอง หรือที่เรียกว่ารอบ ‘รับตรง’ ด้วย  ในรอบนี้ คณะสามารถเลือกเกณฑ์การพิจารณาผู้สมัครได้เอง เช่น คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย A ใช้คะแนน GAT และ PAT  ส่วนคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย B ใช้คะแนนการสอบที่จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเอง  โดยคณะ/มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะเปิดรับสมัครและประกาศผลรอบรับตรงก่อนการสมัครรอบ Admissions

ระบบคัดเลือกดังกล่าวนำไปสู่ปัญหา 3 ประการหลัก ได้แก่  การไม่เข้าห้องเรียนของผู้ที่สอบติดในรอบรับตรงและของผู้ที่มีคะแนนสอบ GAT-PAT รอบแรก (กำหนดสอบเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน) สูง  การตระเวนสอบตรงเพื่อให้มีที่เรียน ซึ่งทำให้เด็กรวยมีโอกาสได้ที่เรียนมากกว่า เพราะมีทุนในการยื่นสมัครหลายที่มากกว่าเด็กจน และ “การกั๊กที่” ของผู้สอบติดหลายที่ในรอบรับตรงแต่ไม่สละสิทธิ์ ส่งผลให้ผู้สมัครคนอื่นเสียโอกาสในการได้ที่เรียน

เพื่อแก้ปัญหาการกั๊กที่ สมาคมสถาบันอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (สอท.) จึงได้จัดทำระบบ Clearing house เพื่อรวบรวมรายชื่อผู้สอบติดจากรอบรับตรงไว้ที่ส่วนกลาง และให้ผู้ผ่านการคัดเลือกยืนยันสิทธิ์เข้าเรียนของตนได้เพียง 1 ที่  หลังจากนั้น ผู้ที่ยืนยันสิทธิ์แล้วจะถูกตัดสิทธิ์จากรอบ Admissions และจากคณะอื่นในระบบ Clearing house

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการเข้าร่วมระบบ Clearing house เป็นไปตามความสมัครใจ โครงการ/มหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยจึงยังไม่ได้เข้าร่วมระบบ Clearing house โดยในปีการศึกษา 2560 มีมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิก ทปอ. เข้าร่วมระบบ Clearing house ทั้งสิ้น 11 แห่ง จากทั้งหมด 27 แห่ง (ไม่นับรวมกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยที่เข้าร่วมเช่นกัน)  และในจำนวนนี้ ก็ไม่ใช่ทุกโครงการหรือทุกคณะที่เข้าร่วมในระบบ Clearing house   ผลก็คือ ถึงแม้ว่าจะมีระบบการยืนยันสิทธิ์แล้ว การกั๊กที่ก็ยังเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ผู้สมัครสอบติดในโครงการ/มหาวิทยาลัยที่ไม่ได้เข้าร่วมระบบ Clearing house[4]

 

สู่ระบบใหม่ TCAS: สมัครได้ 5 รอบ, รับตรงพร้อมกัน และ Clearing house ทุกโครงการ

ปัญหาดังกล่าวข้างต้นนำไปสู่การเปลี่ยนระบบจาก Admissions มาเป็น TCAS ซึ่งมีข้อเปลี่ยนแปลงหลักๆ ดังนี้

  • การสอบข้อสอบกลางทั้งหมดเลื่อนไปสอบหลังจากจบการศึกษาชั้น ม.6 แล้ว และมีจัดสอบเพียงครั้งเดียว เพื่อให้นักเรียนใช้เวลาในห้องเรียนจนจบชั้น ม.6
  • จัดระเบียบการสมัครให้ผู้สมัครยื่นคะแนนได้ทั้งหมด 5 รอบ โดยมีข้อเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ
    1. เพิ่มรอบ Portfolio ทำให้ผู้สมัครมีโอกาสสมัครหลายรอบมากขึ้น
    2. กำหนดให้มหาวิทยาลัย ‘รับตรงพร้อมกัน’ ในรอบที่ 3 โดยให้ผู้สมัครเลือกสมัครได้ 4 โครงการ/คณะเท่านั้น ซึ่งเท่ากับว่ามีการจำกัดจำนวนโครงการที่สมัคร การเปิดรอบ ‘รับตรงพร้อมกัน’ นี้จึงช่วยลดความได้เปรียบ-เสียเปรียบระหว่างเด็กรวย-จนที่เคยมีในระบบ Admissions จากการวิ่งรอกสอบตรง
  • หลังจากประกาศผลแต่ละรอบ ผู้ผ่านการคัดเลือกจะต้องยืนยันสิทธิ์ผ่านระบบ Clearing house ว่าจะตกลงเข้าเรียนที่คณะ/มหาวิทยาลัยนั้นหรือไม่ หากยืนยันสิทธิ์แล้ว ผู้สมัครจะถูกตัดสิทธิ์ในการสมัครรอบถัดไป โดยแต่ละคณะจะประกาศผลผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษาหลังจากกระบวนการยืนยันสิทธิ์เสร็จสิ้น  การเปลี่ยนแปลงนี้จึงช่วยลดปัญหาการ “จ่ายเงินกั๊กที่เรียน” ได้

จาก Admissions สู่ TCAS

การพิจารณาระบบดังกล่าวโดยละเอียดนำไปสู่ข้อสังเกตเบื้องต้น 4 ประการ ซึ่งท้ายที่สุดชี้ให้เห็นว่า ระบบ TCAS ไม่สามารถทำให้เด็กอยู่ในห้องเรียนจนจบการศึกษา และไม่สามารถบริหารสิทธิ์ของผู้สมัครให้เกิดความเท่าเทียมได้ตามที่ ทปอ. ตั้งเป้าไว้

ข้อสังเกตที่ 1: ความได้เปรียบ-เสียเปรียบของเด็กรวย-จนยังอยู่

นักเรียนมัธยมจำนวนไม่น้อย ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย กลับพากันตั้งคำถามว่า TCAS จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษาได้จริงตามที่ ทปอ. กล่าวหรือไม่ เพราะทั้งค่าสมัครและค่าสอบรวมกันแล้วไม่ใช่เงินจำนวนน้อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าสมัครในรอบรับตรงพร้อมกัน หรือรอบที่ 3 ยิ่งไปกว่านั้น หากผู้สมัครต้องการเพิ่มโอกาสในการสอบติด โดยการสมัครหลายรอบ ยื่นสมัครหลายโครงการในแต่ละรอบ และสอบหลายวิชามากขึ้น ผู้สมัครก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงขึ้นตามไปด้วย

ตัวอย่างเช่น นางสาวเจนมีฐานะปานกลาง ต้องการเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ จึงยื่นคะแนนสมัครในรอบที่ 3 และรอบที่ 4 ซึ่งเป็นรอบพื้นฐานที่ทุกคนมีสิทธิ์สมัครได้  หากเจนยื่นสมัครเต็มจำนวน คือ 4 โครงการ เธอจะต้องเสียค่าสมัครในรอบที่ 3 เท่ากับ 900 บาท และค่าสมัครในรอบที่ 4 เท่ากับ 250 บาท รวมเป็นเงิน 1,150 บาท และยังต้องเสียค่าสอบข้อสอบกลางอีก 920 บาท รวมเป็นเงิน 2,070 บาท  แต่หากเจนมีฐานะไม่ดีนัก ไม่สามารถเสียค่าสมัครและค่าสอบเป็นเงินสองพันกว่าบาทได้ เธออาจจะต้องลดค่าใช้จ่ายในการสมัครโดยการเลือกยื่นคะแนนรอบ 3 หรือรอบ 4 เพียงรอบเดียว หรืออาจต้องลดจำนวนโครงการที่ยื่นสมัครในแต่ละรอบลง ซึ่งก็จะทำให้มีโอกาสได้ที่เรียนน้อยลงเช่นกัน  ในกรณีนี้ หากเจนยื่นคะแนนในรอบ 4 เพียงรอบเดียวและสมัครทั้งหมด 4 โครงการตามเดิม ค่าใช้จ่ายในการสมัครจะลดลงจาก 1,150 บาท เหลือเพียง 250 บาทเท่านั้น เนื่องจากค่าสมัครรอบ 3 ค่อนข้างสูงมากนั่นเอง

ทั้งนี้ ค่าสอบข้อสอบกลางจากตัวอย่างนั้นคิดจากกรณีที่นางสาวเจนสอบเฉพาะวิชาที่ใช้ยื่นคะแนนคณะเศรษฐศาสตร์  หากนางสาวเจนต้องการสมัครโครงการ/คณะที่ต้องใช้คะแนนวิชาอื่นยื่น หรือต้องการสอบวิชาอื่นเผื่อไว้ตามที่ผู้สมัครส่วนใหญ่ทำ ก็จะต้องเสียค่าสอบเพิ่มขึ้นอีก  โดยค่าสอบข้อสอบกลางสูงสุดอยู่ที่ 1,400 บาท สำหรับการสอบทั้งสิ้น 14 วิชา ทำให้ค่าสมัครและค่าสอบสูงสุดที่เป็นไปได้ในการยื่นคะแนนรอบ 3 และรอบ 4 คิดเป็นเงินสูงถึง 2,550 บาท

เห็นได้ชัดว่า ถึงแม้ระบบ TCAS จะช่วยลดความได้เปรียบ-เสียเปรียบของเด็กรวย-จน ที่เกิดจากการวิ่งรอกสอบตรงและการกั๊กที่ไปได้ แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษาระหว่างเด็กสองกลุ่มดังกล่าวยังคงมีอยู่  เนื่องด้วยค่าสมัครและค่าสอบที่ค่อนข้างสูง จึงทำให้เด็กรวยซึ่งมีทุนทรัพย์ในการสมัครหลายโครงการ สมัครหลายรอบ และสอบหลายวิชามากกว่า มีโอกาสได้ที่เรียนมากกว่าเด็กที่มีฐานะไม่ดีนั่นเอง

ข้อสังเกตที่ 2: รอบ Portfolio เพิ่มโอกาสให้ใคร?

เมื่อพิจารณาเงื่อนไขที่แต่ละโครงการ/คณะกำหนดสำหรับการสมัครรอบ Portfolio พบว่า โครงการส่วนใหญ่จะรับเฉพาะผู้มีความสามารถทางวิชาการดีเด่น เช่น มีเกรดเฉลี่ยสูงถึงเกณฑ์ที่กำหนด เป็นเด็กโครงการโอลิมปิกส์วิชาการ หรือเป็นเด็กที่เคยผ่านการแข่งขันทางวิชาการ เป็นต้น  การเพิ่มรอบสมัคร Portfolio ขึ้นมาเป็นรอบแรกนั้น จึงไม่ได้เป็นการเพิ่มโอกาสให้เด็กทั่วไปอย่างเท่าเทียมกัน แต่เป็นการเพิ่มโอกาสให้เด็กเก่งยื่นสมัครได้มากรอบกว่า และเป็นการเพิ่มโอกาสให้แต่ละมหาวิทยาลัยได้เด็กที่มีคุณภาพตามที่ตนเองต้องการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้หากมองจากมุมของมหาวิทยาลัย (ไม่ได้หมายความว่าผู้เขียนเห็นด้วย) เพราะแต่ละโครงการ/คณะก็ล้วนอยากได้ “เด็กครีม” ทั้งสิ้น[5]

ปัญหาสำคัญที่ตามมาจากการเปิดรอบ Portfolio ก็คือ บางโครงการไม่ได้ตั้งเงื่อนไขเพื่อรับสมัครเด็กเก่งอย่างแท้จริง แต่กลับเอื้อให้เด็กรวยมีโอกาสได้ที่เรียนมากกว่าเด็กที่มีฐานะปานกลาง เห็นได้จากการรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษด้านภาษาอังกฤษโดยใช้เกณฑ์คะแนน IELTS หรือ TOEFL ที่ค่อนข้างต่ำ  บางโครงการกำหนดให้ผู้สมัครต้องมีคะแนน IELTS ขั้นต่ำเพียงแบนด์ 5 หรือ TOEFL iBT ขั้นต่ำที่ 53 คะแนน ซึ่งถือว่าเป็นผู้ใช้ภาษาอังกฤษในระดับพอใช้ (modest user) เท่านั้น คือสามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้บ้าง แต่ยังคงมีข้อผิดพลาดบ่อยครั้ง และไม่สามารถใช้ภาษาที่ซับซ้อนได้ดีนัก

การกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครรอบ Portfolio ในลักษณะนี้ ถือเป็นการปิดโอกาสเด็กที่ฐานะไม่ดีนักพร้อมกับสร้างความได้เปรียบให้เด็กฐานะดี เพราะค่าสมัครสอบ IELTS และ TOEFL แต่ละครั้งนั้นสูงกว่า 5,000 บาท ไม่นับค่าเรียนกวดวิชาสำหรับทำข้อสอบเหล่านี้โดยเฉพาะ ซึ่งหลายแห่งคิดราคาหลักหมื่นบาท[6]  ดังนั้น สำหรับบางโครงการ ต่อให้เด็กมีความสามารถด้านภาษาอังกฤษมากแค่ไหน หากไม่มีทุนสอบ IELTS หรือ TOEFL ก็ไม่สามารถยื่นสมัครรอบ Portfolio ได้  ในทางกลับกัน เด็กที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษมากนัก แต่มีทุนเรียนกวดวิชาและสมัครสอบภาษาอังกฤษ ก็จะมีโอกาสสมัครในรอบ Portfolio ได้ อีกทั้งยังอาจมีโอกาสสอบติดมากกว่า เพราะคู่แข่งในรอบ Portfolio มีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับรอบ 3 และรอบ 4 นั่นเอง

ข้อสังเกตที่ 3: เลื่อนและลดสอบ GAT-PAT ทำให้เด็กเข้าห้องเรียนจนจบชั้นจริงหรือ?

ในระบบ TCAS นั้น เด็กต้องสอบ GAT-PAT ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ และต้องสอบ 9 วิชาสามัญในช่วงกลางเดือนมีนาคม ซึ่งหมายความว่าเด็กต้องสอบข้อสอบกลางแทบจะทันทีหลังปิดภาคเรียน โดยต้องสอบทั้ง GAT, PAT และ 9 วิชาสามัญภายในระยะเวลาเพียง 3 สัปดาห์ ทั้งยังมีโอกาสสอบเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

กำหนดการสอบข้อสอบกลางดังกล่าวนำไปสู่คำถามว่า การเลื่อนสอบและลดจำนวนจัดสอบ GAT-PAT เหลือเพียงครั้งเดียว จะทำให้เด็กเข้าห้องเรียนจนจบชั้น ม.6 จริงหรือไม่  เพราะภายใต้กรอบเวลานี้ เด็กจะต้องเตรียมความพร้อมทั้งด้านวิชาการและจิตใจเป็นอย่างดี เด็กส่วนมากจึงน่าจะทำความเข้าใจเนื้อหาทั้งหมดด้วยตนเองก่อนที่โรงเรียนจะสอนจบ ในขณะที่เด็กซึ่งรอเรียนเนื้อหาในห้องเรียนจนจบก็น่าจะมีจำนวนน้อยมากเช่นกัน โดยเฉพาะช่วงก่อนปิดภาคเรียนที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงก่อนสอบ GAT-PAT นั้น ยิ่งมีความเป็นไปได้มากว่าเด็กจะไม่เข้าห้องเรียน แต่หันไปใช้เวลานอกห้องเรียนเพื่อทบทวนเนื้อหาด้วยตนเองแทน  ด้วยเหตุนี้ ภายใต้ระบบ TCAS ปัญหาการไม่เข้าเรียนจนจบชั้นของเด็กจึงน่าจะยังมีอยู่เช่นเดียวกับระบบ Admissions ทั้งยังอาจทำให้เด็กต้องเผชิญกับความเครียดและความกดดันมากขึ้นอีกด้วย

คำถามที่ ทปอ. ควรพิจารณาในการแก้ปัญหาดังกล่าวก็คือ สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เด็กไม่เข้าห้องเรียนคืออะไร  หากเป็นเพราะโรงเรียนไม่สามารถสอนเนื้อหาทั้งหมดได้จบก่อนสอบข้อสอบกลาง  ทปอ. ก็ควรหาวิธีให้โรงเรียนสามารถสอนเนื้อหาทั้งหมดได้โดยมีเวลาให้เด็กทบทวนวิชาก่อนสอบด้วย  แต่หากคำตอบคือคุณภาพการศึกษาในห้องเรียนที่ด้อยกว่าการเรียนกวดวิชาหรือการศึกษาด้วยตนเอง การเลื่อนสอบก็คงไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ตรงจุดนัก

 

ข้อสังเกตที่ 4: รับตรงร่วมกันทำให้ทั้งคณะและเด็กปั่นป่วน

 

ในการสมัครรอบรับตรงร่วมกัน หรือรอบที่ 3 ทปอ. ระบุให้ผู้สมัครเลือกโครงการ/คณะแบบไม่มีลำดับ โดยผู้สอบติดสามารถเลือกโครงการ/คณะที่ต้องการเรียนได้หลังจากมีการประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์แล้ว ทำให้โครงการ/คณะไม่รู้เลยว่าสุดท้ายแล้วจะมีเด็กจากรอบรับตรงร่วมกัน ตอบรับเข้ามาเรียนมากน้อยเพียงใด

จากเหตุผลดังกล่าว โครงการ/คณะจึงต้องประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์เกินจำนวนที่จะรับจริง เผื่อกรณีที่เด็กจะไม่เลือกเข้าเรียน โดยไม่สามารถประกาศรายชื่อ “ผู้สอบติดสำรอง” ได้เหมือนการสอบตรงในระบบ Admissions ทำให้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่โครงการ/คณะจะสามารถคาดเดาจำนวนผู้เข้าเรียนได้ถูกต้องตามความเป็นจริง  ผลกระทบสำคัญที่ตามมาก็คือ ความยุ่งยากและในการบริหารจัดการทรัพยากร ซึ่งอาจนำไปสู่การเรียนการสอนที่ไม่ได้ประสิทธิภาพตามที่ควรจะเป็น

ยกตัวอย่างเช่น หากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย A ตั้งเป้าว่าจะรับนักศึกษาจากรอบรับตรงร่วมกันเป็นจำนวน 300 คน  คณะอาจจะต้องประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์เป็นจำนวน 450 คน เผื่อเด็กที่จะไม่เลือกเข้าเรียน  หากมีผู้ตอบรับจำนวนสูงกว่า 300 คนมาก อาจเกิดปัญหาในการจัดการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาที่มีจำนวนมากเกินศักยภาพของคณะ (อาจเกิดกับคณะยอดนิยม เช่น แพทยศาสตร์ หรือวิศวกรรมศาสตร์) หรือหากผู้ตอบรับมีจำนวนต่ำกว่า 300 คนมาก ก็อาจทำให้คณะขาดเงินทุนในการดำเนินงานได้ (อาจเกิดกับคณะที่ไม่เป็นที่นิยมมากนัก) ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าคณะจะมีโอกาสรับเด็กเพิ่มในรอบ Admissions ซึ่งเป็นรอบที่ 4 แต่โดยส่วนมาก โครงการต่างๆ ล้วนประกาศจำนวนเด็กที่จะรับในแต่ละรอบไว้ก่อนแล้ว การเปลี่ยนแปลงจำนวนรับในรอบที่ 4 จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

นอกจากความปั่นป่วนต่อมหาวิทยาลัยแล้ว รอบรับตรงร่วมกันยังสร้างความปั่นป่วนต่อผู้สมัครอีกด้วย  การให้ผู้สมัครเลือกโครงการ/คณะแบบไม่มีอันดับ จะทำให้เด็กที่มีคะแนนสูงสอบติดในทุกคณะที่ตนเองเลือก รวมไปถึงคณะที่ตนเองเลือกเผื่อด้วย  ผลที่ตามมาก็คือ ผู้สมัครที่มีคะแนนในระดับกลางๆ อาจมีโอกาสสอบติดในคณะที่คะแนนไม่สูงมากน้อยลง

สมมุติให้คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย A เป็นคณะที่คะแนนสอบเข้าไม่สูงมากนัก คณะนี้ก็อาจจะเป็น “Safe choice” หรือตัวเลือกที่ปลอดภัยสำหรับผู้สมัครที่คะแนนสูงซึ่งตั้งใจจะเรียนที่คณะอื่น เช่น คณะแพทยศาสตร์ หรือคณะวิศวกรรมศาสตร์  เมื่อคณะคัดเลือกผู้สมัครจากคะแนนเท่านั้น เด็กคะแนนสูงกลุ่มนี้จึงกลายเป็นคนส่วนมากที่มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์ ซึ่งนอกจากจะทำให้คณะมีโอกาสขาดเงินทุนเนื่องจากมีนักศึกษาเข้าเรียนน้อยกว่าคาดแล้ว ยังเป็นการ ‘เบียดที่’ ผู้สมัครที่มีคะแนนระดับกลางด้วย กล่าวคือ ผู้สมัครกลุ่มนี้อาจสอบไม่ติดในระบบที่ไม่มีการเลือกลำดับโครงการ ทั้งที่อาจจะสอบติดได้ในระบบที่มีการเลือกลำดับ หรือระบบที่มีรายชื่อตัวสำรอง

 

TCAS: เรือใหม่ในอ่างเดิม?

 

ข้อสังเกตทั้งสี่ประการดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ระบบ TCAS อาจไม่ได้แก้ปัญหาความได้เปรียบ-เสียเปรียบระหว่างเด็กรวย-จน และปัญหาการไม่เข้าเรียนจนจบการศึกษาได้ดีตามที่ ทปอ. ตั้งใจ  ยิ่งไปกว่านั้น หากย้อนกลับไปดูการเปลี่ยนแปลงระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่ผ่านมา จะเห็นได้ชัดเจนว่า TCAS กลับเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ระบบการคัดเลือกนักศึกษาของไทยวนเวียนกลับไปกลับมาในอ่างเดิมไม่รู้จบ

เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนจากการสอบ Entrance เพียงครั้งเดียวมาเป็นการสอบสองครั้งในปีการศึกษา 2543 – 2548 โดยให้เหตุผลว่าการสอบสองครั้งจะช่วยลดความกดดัน เพราะเด็กมีโอกาสพัฒนาตนเองและเลือกคะแนนที่ดีที่สุดมาใช้ได้  แต่เนื่องจากระบบ Entrance มีข้อเสียคือทำให้เด็กกวดวิชาเกินความจำเป็น  ในปีการศึกษา 2549 – 2552 จึงได้เปลี่ยนไปเป็นระบบ Admissions แบบแรกซึ่งใช้คะแนน O-NET และ A-NET แทน

หลังจากนั้น ระบบ Admissions แบบ 2 ที่ใช้คะแนน GAT-PAT ร่วมกับ O-NET ก็ถูกนำมาใช้ในปีการศึกษา 2553 – 2560 ด้วยเหตุผลว่าการสอบ A-NET เพียงครั้งเดียวทำให้เด็กที่พลาดพลั้งไม่มีโอกาสแก้ตัว แต่ท้ายที่สุดแล้ว TCAS ก็กลับมาจัดสอบข้อสอบกลางเพียงครั้งเดียว ต้องสอบข้อสอบหลายชนิด ทั้งยังมีปัญหาการเบียดที่กันอีกด้วย

ในเมื่อระบบ TCAS ยังคงสร้างภาระและต้นทุนทางการเงินและทางสุขภาพให้กับเด็ก ทั้งจากการสอบมากครั้ง การเรียนกวดวิชา การหาข้อมูลและเตรียมความพร้อมสำหรับระบบรับสมัครที่เปลี่ยนแปลงไปมา ตลอดจนความไม่เท่าเทียมของโอกาสในการเข้าศึกษา  การเปลี่ยนระบบจาก Admissions มาสู่ TCAS จึงอาจไม่ใช่หนทางในการแก้ปัญหาสำคัญของระบบรับนักศึกษาที่มีมาตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน ซึ่งก็คือภาระการเตรียมตัวสอบอันหนักหน่วงของเด็ก ทั้งที่การสอบนั้นก็ไม่อาจชี้วัดความสามารถและความเหมาะสมของเด็กในการเข้าศึกษาในแต่ละโครงการได้ดีแต่อย่างใด

[/et_pb_text][et_pb_text _builder_version=”3.0.106″ background_layout=”light” background_color=”#eaeaea”]

ผู้สนใจปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา สามารถเข้าร่วมงานสัมมนาในหัวข้อ “หนึ่งความยินดีในร้อยความเศร้า: พิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำในการศึกษาไทย” โดยศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (Center of Research on Inequality and Social Policy: CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ ในวันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน 2561 เวลา 13.30 น. ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  วิทยากรนำโดย ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ คงเจริญ  ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค และ ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์

[/et_pb_text][et_pb_text _builder_version=”3.0.106″ background_layout=”light”]

เชิงอรรถ

[1] ภายใต้ระบบเดิม คณะ/มหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งใช้วิธีการ ‘รับตรง’  คือเปิดรับสมัครนักศึกษาเอง โดยแยกจากระบบ Admissions กลาง ซึ่งการรับตรงนี้มักจะเปิดรับสมัครและประกาศผลก่อนที่ผู้สมัครจะเรียนจบชั้น ม.6 จึงส่งผลให้นักเรียนจำนวนหนึ่งที่สอบติดโครงการรับตรงแล้ว ไม่มาเข้าห้องเรียน

[2] O-NET หรือ Ordinary National Education Test คือการทดสอบวัดผลการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับชาติ ซึ่งจัดโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ หรือ สทศ. เพื่อใช้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพทางการศึกษาของโรงเรียนและนักเรียน โดยสำหรับนักเรียนชั้น ม.6 นั้น ต้องสอบทั้งสิ้น 5 วิชา ได้แก่ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม (นับเป็น 1 วิชา) คณิศศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และวิทยาศาสตร์ และมีการจัดสอบเพียงปีละครั้งเท่านั้น

[3] GAT หรือ General Aptitude Test เป็นการสอบวัดความถนัดทั่วไป เช่น ความสามารถในการอ่าน คิด วิเคราะห์ ส่วน PAT หรือ Professional Aptitude Test เป็นการสอบวัดความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ มีข้อสอบทั้งหมด 7 วิชา เช่น ความถนัดทางคณิตศาสตร์ ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ และความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น  โดยมี สทศ. เป็นผู้จัดสอบปีละ 2 ครั้ง (ลดเหลือเพียง 1 ครั้งสำหรับ TCAS ปี 2561) ทั้งนี้ สัดส่วนคะแนนของ GAT-PAT ที่นำมาใช้คำนวณสำหรับการ Admissions นั้น จะแตกต่างกันไปตามคณะที่สมัคร

[4] ยกตัวอย่างเช่น นางสาวเจน สอบติดรอบรับตรงคณะเศรษฐศาสตร์ ทั้งมหาวิทยาลัย A, มหาวิทยาลัย B, และมหาวิทยาลัย C โดยคณะเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัย C ไม่ได้อยู่ในระบบ Clearing house   นางสาวเจนสามารถยืนยันสิทธิ์การเข้าเรียนในคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย A ผ่านระบบ Clearing house ได้ โดยจะถูกตัดสิทธิ์จากคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัย B และการ Admissions  แต่จะไม่ถูกตัดสิทธิ์จากคณะเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัย C

[5] คำถามที่ว่าเด็กซึ่งมีความสามารถทางวิชาการดีเด่นควรได้โอกาสในการสมัครมากกว่าผู้อื่นหรือไม่นั้น อยู่นอกขอบเขตของงานชิ้นนี้ อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวก็มีความสำคัญ และควรได้รับการถกเถียงและพิจารณาโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้าน เพื่อให้การรับสมัครเข้าศึกษามีความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายมากที่สุด

[6] บางโครงการอนุญาตให้ใช้คะแนน CU-TEP ยื่นได้ โดยค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบอยู่ที่ 900 บาท

[/et_pb_text][/et_pb_column][/et_pb_row][/et_pb_section]

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save