fbpx

ย่างก้าวจากท้องถนน ตรงสู่รัฐสภา : จากเส้นทางนักเคลื่อนไหว ไปสู่คนทำงานพรรคการเมือง

นักกิจกรรม พรรคการเมือง

การเลือกตั้งปี 2566 นี้น่าจะเป็นการเลือกตั้งที่มี ‘คนรุ่นใหม่’ ทยอยออกมาแนะนำตัวในฐานะสมาชิกเลือดใหม่ของบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ มากที่สุดครั้งหนึ่ง ซึ่งนอกจากคนที่เราคุ้นหน้าคุ้นชื่อกันดีอย่างทายาทตระกูลการเมืองชื่อดังแล้ว ยังมีพลพรรคนักกิจกรรมผู้ต่อสู้เรียกร้องประเด็นทะลุเพดาน ทะลุฟ้า ทะลุวัง ทะลุถึงขั้นโครงสร้างการเมือง วิพากษ์วิจารณ์กองทัพทหารและกระบวนการยุติธรรม เข้าร่วมทำงานกับพรรคการเมืองในจำนวนไม่น้อย

บางคนเปิดหน้าลงสมัครตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต บางคนก็อยู่เบื้องหลังการคิดค้นนโยบาย บางคนรับบทบาทช่วยหาเสียงตามเวทีประชันวิสัยทัศน์ — ซึ่งอันที่จริง ปรากฏการณ์ที่นักเคลื่อนไหวผันตัวกลายเป็นนักการเมืองหรือคนทำงานใต้สังกัดพรรคการเมืองอาจถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ ในบทความของจันจิรา สมบัติพูนศิริ เผยแพร่เมื่อปี 2563 ชี้ให้เห็นว่าเกิด ‘เทรนด์’ นี้ในสังคมการเมืองประเทศอื่นๆ มานักต่อนักแล้ว แม้แต่ประเทศไทยเองก็มีตัวอย่างที่น่าสนใจอยู่บ้าง เช่น ‘พรรคสามัญชน’ อันพัฒนามาจากขบวนการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ และ ‘รังสิมันต์ โรม’ อดีตสมาชิกของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่กลายเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในนามพรรคอนาคตใหม่และโฆษกพรรคก้าวไกลตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม หลังสังคมไทยผ่านแรงสั่นสะเทือนขนาดใหญ่จากการเคลื่อนไหวบนท้องถนนช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จนสามารถเปิดน่านฟ้าของการสนทนาและความเป็นไปได้ทางการเมืองใหม่ๆ คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่านักกิจกรรมผู้มีส่วนสร้างระลอกคลื่นความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นกลายเป็นบุคคลที่น่าจดจำ และน่าสนใจว่าอะไรคือแรงผลักดันให้พวกเขาพลิกบทบาทจากการต่อสู้ร่วมกับประชาชนบนท้องถนน ไปสวมหมวกคนทำงานพรรคการเมืองโดยมีเป้าหมายก้าวสู่รัฐสภา

หรือว่านี่คือภาพสะท้อนของการเมืองไทย ที่เราหวั่นเกรงสงสัยว่าลำพังการต่อสู้ด้วยการประท้วง ปราศรัย และสารพัดสันติวิธีไม่อาจส่งเสียงเรียกร้องของมวลชนไปถึงผู้มีอำนาจ?

101 ชวนสองตัวแทนนักกิจกรรมจากพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย สนทนาถึงเบื้องหลังการตัดสินใจเข้าร่วมกับพรรคการเมือง มุมมองต่อการเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่ผ่านมา ความฝัน ความหวัง และสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญเมื่อถึงเวลาลงสนามเลือกตั้งจริง

หมายเหตุ : บทสนทนาชิ้นนี้สัมภาษณ์เมื่อ 13 มีนาคม และ 21 มีนาคม 2566


จากทนายความสิทธิฯ สู่ผู้สมัคร ส.ส.หน้าใหม่
ด้วยความใฝ่ฝันในฐานะแม่


การเลือกตั้งครั้งนี้… ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ หรือ ‘ทนายแจม’ ลงสนามในฐานะผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นครั้งแรก


ภาพจาก ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ – ทนายแจม


แต่ก่อนที่เราจะเห็นเธอสวมหมวก ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต จากพรรคก้าวไกล หลายคนอาจได้ยินชื่อนี้มานักต่อนัก ในบทบาททนายแห่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, บทบาทผู้จุดประกายแคมเปญเรียกร้องสิทธิให้ทนายความหญิงสามารถสวมกางเกงไปศาล, บทบาทภรรยาของตำรวจผู้ถูกธำรงวินัยกว่า 9 เดือนจากการปฏิเสธเข้าร่วมกองบังคับการตำรวจมหาดเล็กรักษาพระองค์, บทบาทแม่ลูกสองที่ออกมาต่อสู้เพื่อสวัสดิการแม่และเด็ก ฯลฯ

หรือถ้าย้อนกลับไปไกลกว่านั้น — ก่อนจะมีพื้นที่สื่อบันทึกผลงานของเธอให้เราจดจำ ชีวิตของทนายแจมก็ผูกพันอยู่กับแวดวงการเมือง คดีการเมือง และเรื่องสิทธิมาแต่ไหนแต่ไร เธอเล่าให้ฟังว่าตนเองมักเข้าร่วมการชุมนุมของภาคประชาชนตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะชุมนุมคนเสื้อแดงช่วงปี 2552-2553 จนถูกเข้าใจผิดว่าเป็นพวก ‘ล้มเจ้า’ และเกือบโดนแจ้งจับด้วยมาตรา 112

“ช่วงที่เรามีโอกาสมาทำกิจกรรมทางการเมืองมากขึ้นเป็นช่วงที่เรามาฝึกงานในกรุงเทพฯ เราไปร่วมม็อบกับคนเสื้อแดง ปี 53-54 และแสดงความเห็นทางการเมืองในเฟซบุ๊กบ่อยๆ จำได้ว่าตอนนั้นเราไม่เข้ารับปริญญา เพราะปี 2554 มีวันเลือกตั้งตรงกับวันรับปริญญาของมหาวิทยาลัยมหิดล เราเลยไปเลือกตั้งแทน กลายเป็นประเด็นพูดถึงกันในมหาวิทยาลัยว่าเราไม่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ เพราะยุคนั้นคนเสื้อแดงโดนกล่าวหาอยู่แล้วว่าเป็นพวกล้มเจ้า พอคนอื่นเห็นว่าเราไปม็อบเสื้อแดง ชอบโพสต์เรื่องการเมือง ไม่ไปรับปริญญา เขาเลยประมวลผลออกมาแบบนั้น และมีการแบนเรา” เธอเล่าจากความทรงจำที่ยังคงแจ่มชัด

“ตอนนั้นเราก็เป็นแค่วัยรุ่นคนหนึ่ง คิดอะไรก็โพสต์ ก็ไปเขียนหน้าเฟซบุ๊กว่าค่าเทอมพ่อเราจ่าย ชุดครุยก็เงินเราเช่า เราเรียนจบเกียรตินิยมอันดับหนึ่งด้วยความสามารถของตัวเอง แล้วจะมายุ่งทำไม ปรากฏว่าเราโดนล่าแม่มด มีคนส่งข้อความมาเตือนว่าให้ปิดเฟซ เพราะสมัยนั้นมีกลุ่มลูกเสือชาวบ้านในโซเชียลกระจายตามมหาวิทยาลัย เขาเล็งแจ้งจับเราด้วย ม.112 อยู่ คนที่มาเตือนจึงแนะนำให้เราหายตัวไปก่อน”

ทนายแจมยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าเธอกลัวและรู้สึกไม่ปลอดภัย ทั้งจากการคุกคามทางโซเชียลมีเดียและบทลงโทษที่ไม่เป็นธรรมของมาตรา 112 แต่ขณะเดียวกัน ประสบการณ์ครั้งนั้นก็ปลูกเมล็ดพันธุ์บางอย่างลงในใจ

“เราเกี่ยวข้องกับมาตรา 112 มาตั้งแต่สมัยเรียนและเห็นภาพว่ามาตรานี้มีปัญหา มันไม่เป็นธรรมต่อเราและอีกหลายคน จึงรู้สึกว่าถ้าวันหนึ่ง เราสามารถใช้วิชาชีพของตัวเองช่วยเหลือคนอื่นได้ก็จะทำ แล้วเราก็มาอยู่ในศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน”

หลังรัฐประหาร 2557 ทนายความในศูนย์ทนายฯ ยังมีไม่มากนัก แต่คดีการเมือง โดยเฉพาะคดี 112 กลับมาให้ทำไม่น้อย ในช่วงแรกผู้ถูกดำเนินคดีส่วนใหญ่มักเป็นอดีตคนเสื้อแดง หรือผู้ที่เจ้าหน้าที่รัฐอ้างว่าป่วยทางจิต แต่ระยะหลัง กระทั่งเยาวชนคนธรรมดากลับเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างน่าใจหาย และเป็นเหล่าทนายผู้ต่อสู้เพื่อลูกความนี้เองที่เห็นภาพความไม่เป็นธรรมชัดเจนกว่าใคร

“มาตรานี้มีปัญหาค่อนข้างเยอะ ตั้งแต่ตัวกฎหมายเองที่อยู่ในหมวดของความมั่นคง ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐทำงานอย่างเข้มข้นมากกว่าคดีหมวดอื่น ถ้าเทียบกับเวลาเราแจ้งความหมิ่นประมาทใครสักคนหนึ่ง เราแจ้งความได้ยากนะ ตำรวจจะให้เราหาข้อมูลว่าคู่กรณีเป็นใคร มีตัวตนจริงไหม แต่ถ้าเป็นมาตรา 112 ข้อมูลทุกอย่างตำรวจหาได้เร็วมาก และฟ้องเร็วมาก” ทนายแจมอธิบาย

“ปัญหาต่อมาคือแม้จะอยู่ในหมวดความมั่นคง แต่ไม่ว่าใครก็ฟ้องมาตรานี้ได้ ทำให้มันถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองบ่อยครั้ง เวลาตีความก็กว้างเสียจนไม่มีขอบเขต ปกติเราทำงานทนาย ลูกความจะชอบถามว่าทำแบบนั้นแบบนี้ผิดหรือเปล่า ถ้าเป็นคดีอื่นเราก็ตอบได้ ฟันธงได้ว่าผิดไม่ผิด แต่พอเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง มาตรา 112 หรือ 116 เราตอบลูกความไม่ได้เลย เพราะว่าไม่รู้จริงๆ ว่าขอบเขตอยู่ตรงไหน จะชนะหรือแพ้คดีไหม เราไม่สามารถประเมินได้เลย”

ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นที่รู้กันดีว่ามาตรา 112 กำหนดบทลงโทษขั้นต่ำให้สั่งจำคุก 3-15 ปี ซึ่งเป็นอัตราโทษที่สูงเกินไปในสายตานักกฎหมาย ส่วนตัวทนายแจมเสริมว่า “กระทั่งคดีหมิ่นประมาทธรรมดาก็ไม่ควรเป็นคดีอาญาด้วยซ้ำ ควรปรับแค่ทางแพ่ง เพราะการขังใครสักคนหนึ่ง มันคือการละเมิดสิทธิ และถ้าพลาด มันชดเชยอะไรให้เขาไม่ได้ ชีวิตคนคนหนึ่งจะเปลี่ยนไปเลย ดังนั้นการตัดสินหรือกำหนดอัตราโทษจำคุกสักคดี ต้องมีการตีความแบบเคร่งครัดมาก”

น่าเศร้าที่ทุกวันนี้แม้จะยังไม่ทันรู้ผลตัดสินคดี กลับมีหลายคนถูกจองจำเพราะถูกแจ้งความด้วยมาตรา 112 เสียก่อนแล้ว การผลักดันให้แก้ไขมาตราดังกล่าวจึงเป็นเป้าหมายหนึ่งที่ทนายแจมอยากทำให้สำเร็จ และความตั้งใจดังกล่าวยิ่งชัดเจนขึ้น เมื่อเธอได้กลายเป็น ‘แม่’

“ตอนแรกที่เรามาทำงานศูนย์ทนายฯ มองว่าตัวเองได้ใช้วิชาชีพทำงานเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในสังคมได้ในระดับหนึ่ง เราก็แฮปปี้กับงานของเราพอสมควร” ทนายแจมเล่าด้วยรอยยิ้ม “แต่พอเรามีลูก เหมือนเราคิดไปไกลกว่าเดิม ไม่ได้คิดถึงแค่ชีวิตเรา มองอนาคตแค่ 10-20 ปีข้างหน้าแล้ว แต่มองเลยไปว่าลูกเราเพิ่งเกิดมา ต้องใช้ชีวิตอีก 60-70 ปีในสังคม ทำให้เรามองไปเผื่อสังคมที่ลูกจะอยู่ในอนาคต ถ้าเขาต้องสร้างครอบครัว แล้วเจอปัญหาแบบที่เราเจอ มันเหมือนเราส่งต่ออะไรบางอย่างให้ลูกเราโดยที่เราไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลง

“นอกเหนือจากเรื่องเกี่ยวกับคดี 112 ยังมีมิติของสวัสดิการที่เราอยากทำอะไรบางอย่างเพื่อการันตีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของลูกเราและเด็กๆ อีกหลายคนในอนาคต”

หนึ่งในสวัสดิการที่ทนายแจมพยายามเรียกร้องมาโดยตลอดคือสวัสดิการเกี่ยวกับแม่และเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างห้องให้นมในพื้นที่สาธารณะ สิทธิลาคลอดที่จะสนับสนุนการเลี้ยงดูมากขึ้น และอีกมากมายที่เธอมองว่าจะช่วยให้ผู้หญิงไม่ต้องตั้งครรภ์อย่างทุกข์ยากในประเทศนี้อีกต่อไป

“ช่วง 4-5 ปีก่อนที่เราเริ่มพูดถึงประเด็นเกี่ยวกับความลำบากของแม่ การให้นมในที่สาธารณะ สิทธิลาคลอด สิทธิเด็ก เราอยากให้มีกฎหมายมาแก้ไขเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของแม่และเด็ก ไม่อยากบ่นเรื่องนี้อยู่ในเฟซบุ๊กอย่างเดียวแล้วรอใครสักคนมาหยิบเรื่องนี้ไปทำ เลยมีคนจากพรรคก้าวไกลชวนเราว่ามาทำงานด้วยตัวเองไหม มันคือแพสชันของเรา และน่าจะมีพลังมากกว่าการให้คนอื่นพูดแทน

“พอคุยกับทางพรรคแล้วได้เห็นความคิดเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น สุดท้ายจึงมาสมัครเป็น ส.ส.เขต กรุงเทพมหานคร”

เขตเลือกตั้งที่ 11 หรือเขตสายไหมของกรุงเทพฯ คือพื้นที่ลงชิงชัยของทนายแจมในคราวนี้ ซึ่งแน่นอนว่าการเป็น ส.ส.หน้าใหม่ในสนามเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องง่าย

“แรกๆ เราโดนติจากน้องๆ ทีมงานเยอะว่าต้องทำตัวแบบไหนวางตัวแบบไหน ชีวิตนี้ไม่เคยต้องไหว้ใครเยอะขนาดนี้มาก่อน” เธอกล่าวติดตลก “แต่เราเข้าใจได้ว่าการไหว้เป็นพื้นฐานของการทักทาย ทำความรู้จักกัน และการเป็น ส.ส.ต้องเห็นประชาชนทุกคนจริงๆ ต้องไม่เดินผ่านไปโดยไม่เห็นใครในสายตา ดังนั้นลงพื้นที่ที่ไหนเราต้องไปรู้จักคนที่นั่นให้ได้ คุณจะเชียร์พรรคไหนไม่รู้ แต่อย่างน้อยอยากให้เห็นว่ามีเราอยู่ และเราตั้งใจจะทำเรื่องอะไร

“เราอยากทำให้คนเห็นว่า ส.ส.ไม่จำเป็นต้องรวยถึงเป็นได้ บางคนบอกว่าลง ส.ส.แล้วเตรียมกู้เงินหลักล้านได้เลย มันไม่จำเป็นขนาดนั้น ส.ส.ควรรับฟังประชาชน แต่ไม่ใช่แก้ปัญหาให้ด้วยทรัพย์สินส่วนตัว เช่น ถนนไม่ดีก็ควักเงินทำถนนใหม่ให้ ทำสนามฟุตบอลแล้วเขียนชื่อตัวเอง เราไม่ชอบแบบนั้น เราเชื่อว่าถ้าประสานให้หน่วยงานหรือกลไกรัฐที่มีหน้าที่ดูแลมาทำงานตามระบบ จะทำให้ปัญหาระยะยาวน้อยลง แล้วเราไม่ต้องมานั่งแก้ปัญหายิบย่อยให้ประชาชนตลอดเวลา”

อีกเรื่องที่ทนายแจมอยากพิสูจน์ให้ทุกคนเห็น คือการทำงานการเมืองไม่จำเป็นต้องเสียสละชีวิตครอบครัว และนักการเมืองหญิงก็ไม่ควรถูกกีดกันตั้งแง่เพราะบทบาทแม่หรือภรรยา 

“คนในสังคมอาจมองว่างานการเมืองต้องเสียสละ ต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจทุกอย่าง ถ้าเป็นผู้หญิงเข้ามาทำงานการเมือง คุณจะไม่สามารถดูแลสามีและลูกได้ ตอนที่เราเข้าร่วมพรรคการเมืองใหม่ๆ ก็มีกรรมการถามเหมือนกันว่ามีลูกแล้วจะทำงานการเมืองยังไง เราก็ตอบว่าต่อให้ไม่ทำงานการเมือง ตอนทำงานอื่นเราก็มีลูกแล้วนะ ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไรเลย ขึ้นอยู่กับเราสามารถจัดการบริหารเวลาได้แค่ไหนมากกว่า

“เราจะทำให้เห็นว่าผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว ผู้หญิงที่มีลูก หรือกระทั่งกำลังท้องก็ตาม สามารถทำงาน มีบทบาทในสังคมได้ไม่ต่างกับผู้ชาย นักการเมืองเองก็เป็นอาชีพหนึ่ง เราสามารถมีเวลาให้ครอบครัว มีเวลาส่วนตัวของเราได้ มีคนเคยบอกว่าการเมืองคือการเสียสละ ถึงขั้นอาจเสียความสัมพันธ์ในครอบครัว แต่เรามองว่าถ้าคุณทำให้ครอบครัวตัวเองดีไม่ได้ คุณจะไปทำให้สังคมดีได้ยังไง”

ฟังถึงตรงนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือทนายแจมมีวิธีสอนการเมืองให้ลูกเล็กอายุ 6 และ 4 ขวบเข้าใจถึงการเลือกตั้ง อุดมการณ์และความฝันของแม่อย่างไร ซึ่งเธอให้คำตอบด้วยรอยยิ้มว่า “บางทีเราก็พาลูกลงพื้นที่นะ พาไปให้เห็นว่าเราทำงานแบบไหน ช่วงแรกที่เราบอกว่าแม่จะลงเลือกตั้ง ส.ส. เราก็ใช้วิธีเปิดคลิปให้ดูว่า ส.ส.ทำงานเป็นยังไง ในสภาเป็นยังไง เขาก็ว่ามี้(แม่)เท่มาก มี้จะได้พูดใส่ไมค์แบบนั้นใช่ไหม เวลาเราไปทำงาน ลูกก็จะรู้ว่าพ่อแม่หายไปทำอะไร” ทนายแจมยังสำทับเพิ่มเติมว่าการเลี้ยงลูกสำหรับเธอไม่ใช่เรื่องยาก หัวใจสำคัญอยู่ที่การจัดสรรเวลาให้เด็กและรักษาคำพูดเท่านั้นเอง

“ส่วนเรื่องการเมือง เขาเคยถามว่ามาตรา 112 คืออะไร เห็นชอบพูดกันช่วงที่เราออกไปช่วยม็อบนักศึกษาบ่อยๆ เราก็อธิบายว่าเป็นกฎหมายมาตราหนึ่ง ระบุเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ยังไง มี้ต้องไปช่วยพี่เขานะ เพราะพี่ๆ กำลังทำเพื่อพวกหนูในอนาคต บอกว่าการเมืองสำคัญกับเขายังไง ถ้าอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น ก็ต้องใช้การเมืองช่วยเปลี่ยนชีวิต เขาอาจจะไม่เข้าใจทั้งหมดหรอก แต่จะค่อยๆ เรียนรู้ด้วยกันไป”

แม้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้หลายคนอาจมองพรรคก้าวไกลเป็นมวยรอง มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลน้อยกว่าพรรคใหญ่พรรคอื่น และอาจประสบปัญหาเสียงในสภาไม่เพียงพอต่อการผ่านร่างกฎหมายที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ แต่ในสายตาของทนายแจม มองว่า “ไม่ว่าพรรคก้าวไกลจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาลก็ทำงานได้ไม่ต่างจากพรรคการเมืองอื่น

“ต่อให้ร่างกฎหมายของเราไม่ผ่านเพราะขาดเสียงในสภา แต่ถ้าประชาชนเห็นด้วยกับเรา เขาจะวิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบ ส.ส. เองว่าทำไมคนนั้นคนนี้ไม่ยกมือให้ผ่าน ตราบใดที่ข้างนอกสภายังคงตรวจสอบอยู่ นักการเมืองจะต้องทำงานกันอย่างระมัดระวัง เราถึงเชื่อว่าการเคลื่อนไหวนอกสภาเป็นสิ่งสำคัญ”

ยิ่งไปกว่านั้น ปรากฏการณ์ที่นักกิจกรรมทยอยเข้าร่วมพรรคการเมืองโดยหมายมั่นปั้นมือเข้ามาทำงานในสภาไม่ได้แปลว่าการเคลื่อนไหวบนท้องถนนช่วงที่ผ่านมาล้มเหลว ไม่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเสมอไป

“ตอนแรกนักกิจกรรมหลายคนคงไม่มีใครคิดทำงานการเมือง หรือคิดว่าอนาคตฉันจะเป็น ส.ส.หรอก” ทนายแจมกล่าวในฐานะที่เธอเป็นอดีตนักกิจกรรมคนหนึ่งซึ่งตัดสินใจลงสนามเลือกตั้ง “มันเป็นจังหวะและโอกาสของแต่ละคนมากกว่า ถ้าวันนี้ยังไม่มีพรรคก้าวไกลหรือยังไม่มีกระบวนการต่อสู้เพื่อเสรีภาพแบบนี้ คงไม่มีนักกิจกรรมมาทำการเมืองเยอะขนาดนี้ก็ได้ เราแค่อยากปรับเปลี่ยนสังคมในทางที่เราถนัดและทำได้เต็มที่ที่สุด หลายคนก็มองว่าการทำงานการเมืองเป็นทางเลือกที่ดี แถมยุคสมัยนี้ทุกคนสามารถเข้าสู่การเมืองได้ขอแค่มีแพสชัน”

เธอยังเน้นย้ำว่าการทำงานในสภาและการเคลื่อนไหวนอกสภาคือสิ่งที่ต้องทำคู่กัน “เราควรมีพันธมิตรอยู่ในทุกๆ ที่เพื่อทำงานร่วมกัน ทุกคนมีส่วนในการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง จะขาดส่วนใดไปไม่ได้” และ “การที่ประชาชนออกมาส่งเสียง เคลื่อนไหวทางการเมือง ทำให้คนในสภารับรู้ปัญหาและนำไปแก้ไข เราว่าเป็นการทำให้กระบวนการประชาธิปไตยสมบูรณ์ด้วยซ้ำ”

อย่างไรก็ตาม หลายประเด็นที่พรรคก้าวไกลเสนอในการเลือกตั้งคราวนี้ ทั้งการแก้ไขมาตรา 112 ปฏิรูปตำรวจและกองทัพ ไปจนถึงสวัสดิการแม่และเด็กของทนายแจมอาจเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องใช้เวลาปรับเปลี่ยนเกินวาระของ ส.ส. หนึ่งสมัย เราจึงถามว่าทนายแจมมองเส้นทางทางการเมืองของตนเองไว้อย่างไร

เธอตอบว่าอย่างน้อยจะพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นภายใน 10 ปี

“เราไม่ได้คิดจะทำการเมืองไปตลอด แต่อย่างน้อยใน 10 ปีต้องมีอะไรบางอย่างเป็นหมุดหมายที่เรารู้สึกว่าได้วางรากฐานไว้ให้แล้ว ตัวอย่างเช่นพื้นที่เขตสายไหมต้องมีอะไรเปลี่ยนแปลงไป มีรถเมล์เพิ่มขึ้น สวนสาธารณะเพิ่มขึ้น คุณภาพของศูนย์เด็กเล็กดีขึ้น หรือในสภา เราอยากร่างกฎหมายที่สนับสนุนแม่ทุกคน บังคับให้ทุกที่มีห้องให้นม มี พ.ร.บ.การให้นมในที่สาธารณะ

“ถึงแม้สวัสดิการเหล่านี้จะยังดูอีกไกล แต่ถ้าไม่เริ่มพูด แล้วเมื่อไหร่เราจะไปถึงจุดนั้น เราเห็นชีวิตของแม่และเด็กในต่างประเทศดูดี ที่ไต้หวันมีห้องให้นม ห้องเปลี่ยนผ้าอ้อมทุกที่ ทุกที่ซัพพอร์ตเราในการดูแลลูกและใช้ชีวิตได้ตามปกติ เราเริ่มเห็นพื้นที่เหล่านี้เยอะขึ้นในไทย แต่ส่วนใหญ่มักอยู่ในพื้นที่เอกชน พื้นที่ของรัฐยังไม่ค่อยมี เราจึงอยากทำสิ่งนี้ เริ่มแรกอาจจะยังล้มลุกคลุกคลาน แต่วันหนึ่งมันจะเข้ารูปเข้ารอยและดีขึ้นเอง”

แล้วสักวันหนึ่ง แม่จะส่งต่อสังคมที่ลูกออกไปใช้ชีวิตได้โดยไร้ซึ่งความกังวล “รัฐต้องเป็นที่พิงหลังให้ประชาชน เป็นทั้งกำแพงแข็งแรงหรือเบาะนุ่มๆ ให้ประชาชนพึ่งพิงเวลาล้ม มีสวัสดิการที่ดี ระบบต่างๆ ในประเทศดี” ทนายแจมกล่าวอย่างมุ่งมั่น

“เป็นประเทศที่ให้เราได้ออกไปทำความตามฝัน สร้างครอบครัวของตัวเอง และทำให้คนมีความสุขกันง่ายขึ้น”

สุดท้ายแล้ว ปลายทางความฝันของแม่ผู้ย่างก้าวเข้าสู่การเมืองก็แค่ภาพแสนเรียบง่าย แค่ให้ลูกได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในประเทศนี้เท่านั้นเอง


จากการ์ดแนวหน้า สู่คนทำงานนโยบายเบื้องหลัง
ด้วยพลังศรัทธาถึงความเป็นธรรม


การเลือกตั้งครั้งนี้… รัฐภูมิ เลิศไพจิตร หรือ ‘เติร์ด’ ทำงานเบื้องหลังร่วมกับพรรคเพื่อไทย ในฐานะสมาชิกทีมนโยบายใต้การนำของหมอมิ้ง – นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช


ภาพจาก รัฐภูมิ เลิศไพจิตร


แต่ก่อนหน้านั้น เติร์ดเคยเป็นที่รู้จักกันในนามโฆษกของกลุ่มการ์ดมวลชนอาสา หรือ We Volunteer ซึ่งคอยดูแลความปลอดภัยในพื้นที่การชุมนุมช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และร่วมขับเคลื่อนประเด็นการต่อสู้ ทั้งเรื่องการเมืองไทย เศรษฐกิจ รวมถึงการเมืองโลกอย่างการต่อต้านการยึดอำนาจโดยรัฐบาลทหารในพม่า

“ตอนที่เราทำงานกิจกรรมบนท้องถนนก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการทำงานเชิงนโยบายมากนัก” เติร์ดเริ่มต้นเล่า “แต่เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว (2564) พรรคเพื่อไทยจัดโครงการ ‘The Change Maker’ จุดประสงค์คือรับสมาชิก 100 คนมาร่วมคิดนโยบายผลักดันประเทศ เราก็สมัครโดยเสนอนโยบายเข้าไป แล้วโชคดีที่ได้รับคัดเลือกเข้าไปอบรม เรียนรู้ประเด็นทางการเมืองต่างๆ เป็นพื้นที่ที่ทำให้เราได้สัมผัสกับการทำงานการเมืองของพรรคการเมืองมากขึ้น เราถึงเริ่มเห็นว่าการทำงานเชิงนโยบายมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการทำงานบนท้องถนนเลย”

ในการสมัครโครงการครั้งนั้น นโยบายที่เติร์ดต้องการผลักดันคือนโยบายด้านการศึกษา “ผมเสนอให้มหาวิทยาลัยแต่ละจังหวัดมีสิทธิ์ในการออกหลักสูตรของตัวเอง เพราะแต่ละพื้นที่มีบริบทที่ต่างกัน อย่างเช่นผมเป็นจังหวัดเพชรบูรณ์ มีเรื่องเกษตรกรรมกับการท่องเที่ยวเป็นเรื่องสำคัญ เป็นไปได้ไหมที่จะให้มหาวิทยาลัยในเพชรบูรณ์สร้างหลักสูตรเพื่อรองรับการท่องเที่ยว การเกษตร มากกว่าถูกครอบงำตัดสินโดยส่วนกลาง ไม่อย่างนั้นคนก็จะโยกย้ายเข้ามาเรียนและทำงานในกรุงเทพฯ เราจะเสียทรัพยากรบุคคลที่มีค่าของพื้นที่ไป

“พอเสร็จโครงการ รุ่นพี่เขาก็ชวนมาทำงานในพรรคเพื่อไทยด้านนโยบายกับประสานงานในพรรค ผมเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ทำงานร่วมกับพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ก็คิดว่าควรจะลองดูสักครั้งหนึ่ง”

จากประสบการณ์การทำงานในนามกลุ่ม WEVO และเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองที่สำคัญหลายครั้ง ทำให้หน้าที่หลักของเติร์ดคือการให้คำปรึกษา อัปเดตข่าวคราวเกี่ยวกับประเด็นการเคลื่อนไหวภาคประชาชน มุมมองต่อระบอบประชาธิปไตยของกลุ่มคนรุ่นใหม่แก่ ผู้สมัคร ส.ส. หรือสมาชิกพรรคเพื่อไทยคนอื่นๆ เมื่อต้องออกสื่อหรือวางแผนนโยบาย

“ช่วงที่ผ่านมา มีนักกิจกรรมหลายคนถูกจับเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ผมและรุ่นพี่ในพรรคก็ใส่เสื้อพรรคลงพื้นที่ชุมนุม ไปรับฟังปัญหา พูดคุยกับพี่น้องประชาชน คุยเสร็จเราก็นำไปคุยกับผู้ใหญ่ภายในพรรคต่อ เล่าว่าประชาชนคิดเห็นอย่างไร อยากเห็นพรรคการเมืองออกมาทำอะไรบ้าง”

หากเล่าให้เห็นภาพ เติร์ดเปรียบจุดยืนของตนเองเป็นสะพานเชื่อมระหว่างขบวนการภาคประชาชนและพรรคการเมือง โดยเขายืนยันว่าแม้วันนี้จะสวมหมวกสมาชิกทีมนโยบายของพรรคเพื่อไทยเพิ่มขึ้นมา แต่ยังพร้อมเปิดหน้าสนับสนุนการต่อสู้บนท้องถนนเหมือนอย่างเคย

“ในพรรคเพื่อไทยเองก็มีอดีตนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเยอะ ไม่ว่าจะเป็นคนเดือนตุลาอย่างหมอมิ้ง คุณอ้วน ภูมิธรรม (ภูมิธรรม เวชยชัย) หรือว่าแกนนำคนเสื้อแดง ตัวผมที่เป็นนักกิจกรรมมาก่อนจึงไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่หรือเป็นจุดอ่อนให้คนโจมตีพรรค ในมุมหนึ่งผมมองว่ามันเป็นจุดแข็งด้วยซ้ำ การที่ผมเคลื่อนไหวทางการเมืองในบริบทปัจจุบัน ทำให้ผมเข้าใจว่าคนรุ่นใหม่ต้องการอะไร รู้จักคนเยอะพอสมควร ดังนั้นผมสามารถสื่อสารกับพรรคการเมืองได้ถูกต้อง หรือแนะนำให้พรรคการเมืองคุยกับนักกิจกรรมคนอื่นๆ ได้”

ถ้าจะมีอะไรสักอย่างที่เปลี่ยนไปหลังได้ชื่อว่าเป็นคนของพรรคการเมือง สิ่งนั้นอาจเป็นความคาดหวังที่ผู้คนส่งมาถึงเติร์ดว่าเขาสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้มากกว่าการทำงานในฐานะการ์ด “เวลาลงพื้นที่ชุมนุมในฐานะคนจากพรรคเพื่อไทย คนก็มาคุยกับเราเยอะขึ้นในเรื่องประเด็นสำคัญๆ มากกว่ามาถามเรื่องสารทุกข์สุกดิบเหมือนที่ผ่านมา”

แต่เมื่อมีคนหยิบยื่นดอกไม้ให้ ก็ต้องมีฝ่ายที่ (เกือบ) ขว้างปาก้อนหินใส่เช่นเดียวกัน

“เราเคยไปร่วมชุมนุมยืนหยุดขัง เผอิญวันนั้นใส่สูทเพราะเราไปสภามา ลุงคนหนึ่งเห็นเราเป็นคนรุ่นใหม่ก็เข้ามาถามว่าทำงานพรรคก้าวไกลเหรอ พอเราตอบเปล่าครับ อยู่เพื่อไทย เขาก็ด่าว่า โอ๊ย! ไม่เอาพรรคนี้ พรรคขี้ขลาด เพื่อไทยไม่ยอมออกมาพูดถึงประเด็นที่คนอยากผลักดันเลย” เติร์ดเล่าเสียงอ่อนใจ

“เราก็ยืนฟังนะ หน้าชาเหมือนกัน แต่ไม่โต้แย้งอะไร ในฐานะที่เราเป็นตัวแทนของพรรคเพื่อไทยตอนนั้นก็ต้องรู้เหตุผลว่าทำไมเขาไม่พอใจ เราทำผิดพลาดตรงไหน คงไม่เอาผ้าไปอุดปากหรือให้คนลากเขาออกไปเหมือนที่บางพรรคทำ”

เมื่อเข้าสู่ฤดูกาลหาเสียงเลือกตั้ง ยิ่งเห็นได้ชัดว่าหนึ่งในประเด็นที่คนอยากผลักดัน แต่พรรคการเมืองส่วนใหญ่ รวมถึงพรรคเพื่อไทยหลีกเลี่ยงจะพูดถึง คือการแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งเติร์ดเองเข้าใจว่าการพูดถึงประเด็นดังกล่าวในพื้นที่การเมืองบนท้องถนนมีอิสระกว่าพรรคการเมืองพูดในสนามเลือกตั้งอยู่แล้ว โดยเฉพาะในบรรยากาศการเมืองที่ฝ่ายผู้มีอำนาจเดิมพร้อมจับจ้องเล่นงานศัตรูทางการเมืองด้วยข้อหาต่างๆ ตลอดเวลา ทำให้หลายพรรคต้องระมัดระวังตัวเป็นพิเศษ

“ผมคงไม่สามารถตัดสินได้ว่าวิธีของพรรคการเมืองถูกหรือผิด แต่อย่างน้อยพรรคเพื่อไทยก็มีพื้นที่ในการพยายามพูดคุยกันเรื่องนี้ภายใน” อย่างไรก็ตาม เติร์ดยอมรับว่าในสายตาของนักกิจกรรมเก่าอย่างเขา ก็คาดหวังให้ทางพรรคออกมาพูดประเด็นทางสังคมที่ภาคประชาชนพยายามต่อสู้มากขึ้นกว่านี้

“เราอยากเห็นพรรคเพื่อไทยพูดถึงปัญหาสังคมหรือกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมมากกว่านี้หน่อย เพราะมีเพื่อนๆ จำนวนมากที่เคลื่อนไหวทางการเมืองถูกดำเนินคดีมาตรา 112 แล้วไม่ได้รับการประกันตัว อย่างน้อยถ้าไม่พูดเรื่องแก้ไขมาตรา 112 ก็อยากให้พูดเรื่องสิทธิประกันตัวซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยมีพูดอยู่บ้าง แต่ยังน้อยเมื่อเทียบกับปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหายาเสพติดที่ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อน  

“ปัญหาที่นักเคลื่อนไหวเจออาจจะเป็นเรื่องที่ไกลตัวใครหลายคน แต่ผมอยากให้เวทีปราศรัยขอคะแนนของเพื่อไทยมีพื้นที่ให้ความรู้ประชาชนเรื่องนี้ด้วยได้ไหม”

ทั้งนี้ เติร์ดกล่าวว่าหนทางผลักดันให้พรรคการเมืองออกมาสนับสนุนหรือนำข้อเรียกร้องจากขบวนการภาคประชาชนบนท้องถนนไปขับเคลื่อนต่อในสภา คงมีแต่การรวบรวมมวลชนให้เปล่งเสียงดังกึกก้อง จนพรรคการเมืองมิอาจมองข้ามได้อีกต่อไป

“ผมคิดว่าพรรคเพื่อไทยทำตามเสียงของประชาชนอยู่แล้ว หากเสียงของประชาชนสะท้อนมากพอ ชัดเจนมากพอ” อดีตการ์ดแสดงความเห็น “เสียงของเราเคยมากพอนะครับ แต่เราอาจไม่สามารถรักษาระดับของมันได้เหมือนช่วง 2-3 ปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเพราะการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ไม่ใช่อาชีพหลักของเรา ไม่ใช่ความถนัดของเรา หลายคนก็เพิ่งเรียนรู้ ฉะนั้นถ้าเราจะพัฒนา กดดันให้พรรคออกมาพูดได้ ในฐานะคนที่มีส่วนรับผิดชอบในการเคลื่อนไหวอย่างเราก็อาจจะต้องทำงานให้หนักขึ้น รวบรวมมวลชนให้มากขึ้น”

ในแง่หนึ่ง เติร์ดมองว่าการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างเป็นรูปธรรมไม่อาจพึ่งพาแต่การต่อสู้บนท้องถนนเพียงอย่างเดียว “ก่อนหน้านี้ผมอาจจะเชื่อว่าการเคลื่อนไหวบนท้องถนนสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งแน่นอนว่ามันสร้างความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของประชาชน แต่หากต้องการทำให้เกิดสิ่งที่เป็นรูปธรรม ทำให้ชีวิตของประชาชนดีขึ้นจริงๆ ก็หนีไม่พ้นการทำงานเชิงนโยบาย การผลักดันกฎหมายในรัฐสภา”

ดังนั้น สถาบันพรรคการเมืองจึงควรทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ที่นักกิจกรรมทยอยตบเท้าเข้าทำงานในพรรคการเมืองผู้ประกาศตัวอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยก็ถือว่าเป็นพัฒนาการที่ดีของการเมืองไทยในมุมมองของเติร์ด แต่ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ยังมีข้อจำกัดที่ทำให้ประชาชนและพรรคการเมืองห่างไกลต่อกัน

“การรัฐประหาร 2557 และรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 คือความพยายามย้อนหลังประเทศไทยไปก่อนช่วงปี 2540 เขาพยายามดึงอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ลดประสิทธิภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ลดความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมือง นักการเมืองและประชาชน เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เรามีการกระจายอำนาจ ทำให้นักการเมืองท้องถิ่นต้องยึดโยงกับประชาชน มีการเชื่อมโยงระหว่างภาคประชาสังคมกับพรรคการเมือง อีกทั้งการมีรัฐบาลที่เข้มแข็งจากพรรคไทยรักไทย ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นกับพรรคการเมืองพอสมควร บรรยากาศแบบนี้ไม่มีในรัฐธรรมนูญปี 2560 เลย อาจจะเป็นความต้องการของผู้ที่ร่างด้วยซ้ำว่าไม่ต้องการให้ภาคประชาสังคมใกล้ชิดกับพรรคการเมือง

“นอกจากนี้ กฎหมายยังไม่เอื้อให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองมากพอ เช่นการสมัครสมาชิกพรรค ปัจจุบันมีค่าสมัคร 100 บาท หากเป็นคนรากหญ้าคงยากที่จะสละเงินส่วนนี้เข้าถึงพรรคการเมือง ผมจึงคิดว่าค่าสมัครควรต่ำกว่านี้ ทำให้คนสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองได้ง่ายที่สุด”

ท้ายที่สุดนี้ ความฝันที่ผลักดันให้เติร์ดเข้ามาทำงานในพรรคการเมือง คือสิ่งที่เขาและเพื่อนนักกิจกรรมอีกหลายคนพยายามต่อสู้มาตลอด – ว่าต้องการให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยและทุกคนเสมอภาคเท่าเทียมกัน

“เราอยากเห็นรัฐบาลที่เป็นพรรคฝั่งประชาธิปไตย ให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ควรมีใครออกมาเคลื่อนไหวภายใต้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแล้วต้องโดนคดีความ หรือการคุยในประเด็นต่างๆ เช่น เราปราศรัยเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ หากการกระทำไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาทหรืออาฆาตมาดร้าย ก็ไม่ควรถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112

“เราอยากเห็นความแฟร์ของกฎหมาย อยากเห็นการบังคับใช้กฎหมายที่เสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ว่าเป็นอีลีท มีต้นทุนทางด้านกฎหมายสูงกว่าชาวบ้าน มีเงินมากกว่าถึงได้สิทธิประกันตัว หรือมีการเลือกบังคับใช้กฎหมายต่างจากคนอื่น ไม่ใช่ว่าเพราะนักเคลื่อนไหวทางการเมืองถึงไม่ได้ประกันตัว เราไม่อยากเห็นเพื่อนๆ ของเรา ลูกหลานของเราที่จะเกิดมาต้องเจออะไรแบบนี้อีก

“สรุปปลายทางของเราคืออยากเห็นกฎหมายที่เป็นสากล เราไม่ได้เรียกร้องอะไรที่แปลกประหลาดหรือก้าวล้ำไปมากกว่าประเทศอื่นเลย การชุมนุม สิทธิเสรีภาพ การบังคับใช้กฎหมายที่เท่าเทียมเป็นสิ่งที่ประเทศไหนก็ทำกัน ที่สำคัญคือเราอยากให้พรรคการเมือง รัฐบาลแก้กฎหมายที่สร้างประโยชน์ให้ประชาชน ไม่ใช่ใช้กฎหมายเพื่อทำร้ายหรือทำลายประชาชน”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save