fbpx

‘เรื่องที่ผ่อนปรนได้’ และ ‘เรื่องที่ผ่อนปรนไม่ได้’ ในการดำเนินคดีอาญาช่วงโควิด-19

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 มีผลกระทบต่อชีวิต ร่างกาย เศรษฐกิจ และสังคมทั่วโลกในหลายรูปแบบ รวมถึงสร้างผลกระทบกับการดำเนินคดีอาญาด้วยเช่นกัน

หากเป็นคดีแพ่งหรือคดีอื่น การที่ศาลเลื่อนคดีออกไปจนพ้นเวลาล็อกดาวน์หรือพ้นระยะเวลาโรคระบาดคงเป็นทางออกที่ดีและไม่น่าจะมีปัญหา แต่ในคดีอาญามีความซับซ้อนมากกว่านั้น เพราะคดีอาญามีมิติของความสงบเรียบร้อยของสังคม  ถ้าเลื่อนไปหมดก็จะกระทบทั้งความสงบเรียบร้อยของสังคมและกระทบสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ถูกคุมขังอยู่ระหว่างดำเนินคดี การเลื่อนคดีอาญาออกไปอาจไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสมนัก

ปีที่แล้ว (ค.ศ. 2020) ฝรั่งเศสเป็นประเทศหนึ่งที่เกิดการระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก รัฐบาลออกประกาศล็อกดาวน์ (confinement) เต็มรูปแบบ (ที่ไม่เคยมีในประเทศไทย) เพื่อควบคุมการระบาดและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในหลายรูปแบบ หลังจากนั้นรัฐบาลฝรั่งเศสได้ออกรัฐกำหนด (ordonnance)[1] เพื่อให้การดำเนินคดีอาญายังคงดำเนินการต่อไปได้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมและป้องกันมิให้ศาลอาญาเป็นคลัสเตอร์ของโรคระบาด รัฐกำหนดนี้มีชื่อเต็มๆ ว่า รัฐกำหนดหมายเลข 2020-303 วันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 2020 เกี่ยวกับการแก้ไขหลักเกณฑ์ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อเผชิญหน้ากับโรคระบาดโควิด-19[2] แปลตรงตัวแล้วชื่อยาว จึงขอเรียกสั้นๆ ว่า ‘กฎหมายการดำเนินคดีอาญาในช่วงโควิด-19’ ก็แล้วกัน โดยใช้กฎหมายนี้ชั่วคราวระหว่างภาวะฉุกเฉินโรคระบาด

กฎหมายการดำเนินคดีอาญาในช่วงโควิด-19 ใช้มาสักพัก จนโควิดระลอกแรกเริ่มบรรเทาลง ก็มีคนหยิบยกบางมาตราในกฎหมายดังกล่าวตั้งประเด็นให้ตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยอ้างว่าบางมาตราของกฎหมายนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาที่ถูกกระทบกระเทือนโดยกฎหมายดังกล่าว  

ตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส (ทำหน้าที่คล้ายศาลรัฐธรรมนูญ) มีคำวินิจฉัยที่น่าสนใจ 2 เรื่อง ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2021 ว่า บางมาตราของ กฎหมายการดำเนินคดีอาญาในช่วงโควิด-19 ขัดรัฐธรรมนูญในเรื่องสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา

เหตุการณ์การออกกฎหมายชั่วคราวและคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสในช่วงโควิดแพร่ระบาดเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจที่แสดงให้เห็นว่า การดำเนินคดีอาญามีทั้ง ‘เรื่องที่ผ่อนปรนได้ในสถานการณ์โรคระบาด’ และ ‘เรื่องที่ผ่อนปรนไม่ได้ แม้ในสถานการณ์โรคระบาด’

เรื่องที่ผ่อนปรนได้ในสถานการณ์โรคระบาด

เพื่อให้คดีอาญายังคงเดินต่อไปได้แม้ในสถานการณ์โควิด กฎหมายการดำเนินคดีอาญาในช่วงโควิด-19 ได้กำหนดหลายเรื่องที่ผ่อนปรนกฎเกณฑ์ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ใช้ในสถานการณ์ปกติ ดังต่อไปนี้  

1. การไม่นับอายุความคดีอาญาในช่วงล็อกดาวน์

กฎหมายได้กำหนดให้ในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินให้ล็อกดาวน์ ไม่ให้นับอายุความในคดีอาญา และเมื่อปลดล็อกดาวน์เมื่อไหร่ ก็ให้อายุความคดีอาญายืดออกไปอีก 1 เดือน  ดังนั้นคดีอาญาใดที่จะขาดอายุความฟ้องคดีช่วงล็อกดาวน์โควิดก็จะไม่ขาดอายุความ ตำรวจและอัยการก็เอาคดีมาฟ้องศาลได้เมื่อปลดล็อกดาวน์ หลักกฎหมายฝรั่งเศสเขาเห็นว่า อายุความ คือ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งบังคับใช้ทันที[3] กฎหมายจึงขยายอายุความได้ แม้ผู้กระทำความผิดได้กระทำความผิดก่อนกฎหมายกำหนดให้ขยายอายุความ ไม่ใช่เรื่องกฎหมายอาญาสารบัญญัติย้อนหลังเป็นผลร้าย    

ประเทศไทยไม่มีบทบัญญัติขยายอายุความแบบนี้ในช่วงโควิด ตำรวจและอัยการไทยก็ยังคงต้องรีบทำสำนวนฟ้องคดีให้ทัน มิเช่นนั้นก็ขาดอายุความ

2. การให้ยื่นคำขอหรือยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาทางไปรษณีย์

3. การให้พิจารณาคดีอาญาแบบไม่เปิดเผยได้

โดยทั่วไป การดำเนินคดีอาญาจะต้องพิจารณาเปิดเผยต่อหน้าจำเลย มีข้อยกเว้นให้พิจารณาลับบางกรณี เช่น เกี่ยวกับความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือคดีเด็ก แต่ในช่วงโควิดกฎหมายกำหนดให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจพิจารณาลับได้เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ อย่างไรก็ดี เพื่อทดแทนสิทธิของจำเลยที่ลดลงไป กฎหมายกำหนดให้สื่อมวลชนยังคงมีสิทธิเข้าฟังการพิจารณาคดีลับในช่วงโควิด

4. การให้พิจารณาไม่ครบองค์คณะได้ในบางศาล

โดยทั่วไปผู้พิพากษาต้องนั่งพิจารณาครบองค์คณะ ซึ่งองค์คณะจะมี 3 คน เพราะเวลาเห็นต่างกันจะได้มีเสียงข้างมาก 2-1 แต่ในสถานการณ์โควิด กฎหมายกำหนดให้เฉพาะในศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีที่ไม่ใช่คดีอุกฉกรรจ์สามารถนั่งพิจารณาคนเดียวได้ 

5. การให้ผู้ต้องหาพบทนายความผ่านทางการสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์หรือทางโทรศัพท์

ผู้ต้องหาในคดีอาญามีสิทธิพบทนายความเพื่อให้ความช่วยเหลือตั้งแต่ชั้นสอบสวน แต่ช่วงโควิดการเดินทางมาพบคงลำบาก กฎหมายจึงกำหนดให้สิทธิพบทนายความยังคงมีอยู่ แต่ให้วิดีโอคอลหรือโทรศัพท์คุยกับทนายความแทนการเจอกันที่สถานีตำรวจ

6. การปล่อยนักโทษให้ไปรับโทษจำคุกต่อที่บ้าน

เพื่อลดความแออัดของเรือนจำ กฎหมายกำหนดให้นักโทษบางประเภทที่เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 2 เดือนกลับบ้านและอยู่ภายใต้เงื่อนไขห้ามออกจากบ้าน

ทั้ง 6 เรื่องที่กล่าวมา รัฐบาลได้ออกกฎหมายผ่อนปรนเพื่อป้องกันโรคระบาดและทำให้คดีอาญาดำเนินคดีต่อไปได้เพื่อรักษาความสงบของสังคม แม้บางเรื่องจะกระทบสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยไปบ้างก็ตาม แต่ก็พอยอมรับได้ อย่างไรก็ตาม มี 2 เรื่องที่เป็นสิทธิสำคัญของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ไม่อาจผ่อนปรนไม่ได้แม้ในสถานการณ์โรคระบาด

เรื่องที่ผ่อนปรนไม่ได้ แม้ในสถานการณ์โรคระบาด

เรื่องที่ผ่อนปรนไม่ได้ แม้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน คือสิทธิที่จะได้รับการตรวจสอบการจับกุมหรือคุมขังโดยศาลและสิทธิที่จะไม่ถูกคุมขังตามอำเภอใจ (arbitrary detention) ทั้งสองเรื่องนี้รัฐบาลฝรั่งเศสพยายามออกกฎหมายมาผ่อนปรน แต่สุดท้ายตุลาการรัฐธรรมนูญไม่เห็นด้วยที่จะผ่อนปรนให้

1. สิทธิที่จะได้รับการตรวจสอบการจับกุมหรือคุมขังโดยศาล

เมื่อเจ้าหน้าที่จับกุมคุมขังเพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้ต้องหาแล้ว กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 9.3[4] ได้กำหนดให้นำตัวผู้ต้องหาไปยังศาลโดยไม่ชักช้าเพื่อป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่กระทำมิชอบกับผู้ต้องหา[5] ศาลหรืออำนาจตุลาการซึ่งเป็นองค์กรที่อิสระ (independent) และเที่ยงธรรม (impartial)[6] อยู่ในสถานะเหมาะสมที่จะตรวจสอบการจับกุมและคุมขังโดยเจ้าพนักงานของรัฐที่เป็นองค์กรฝ่ายบริหาร  

ช่วงล็อกดาวน์ในฝรั่งเศส การพิจารณาคดีอุกฉกรรจ์ (crime) ที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องมาปรากฏตัวในศาลเหมือนปกติ แต่ถ้าไม่ใช่คดีอุกฉกรรจ์ (délit) เช่น คดีลักทรัพย์หรือทำร้ายร่างกาย กฎหมายการดำเนินคดีอาญาในช่วงโควิด-19 ได้กำหนดให้ศาลสามารถใช้การพิจารณาคดีอาญาทั้งหมดผ่านทางจอภาพได้ โดยศาลไม่ต้องฟังคำคัดค้านจากโจทก์และจำเลย การพิจารณาคดีทางจอภาพทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ต้องเดินทางมาศาล แต่อยู่หน้าจอที่เรือนจำหรือที่บ้าน

ตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส[7] ไม่ยอมให้มีการพิจารณาคดีอาญาทางจอภาพทั้งกระบวนการตามกฎหมายที่รัฐบาลเสนอ โดยให้เหตุผลว่า

  • กฎหมายการดำเนินคดีอาญาในช่วงโควิด-19 มีขึ้นเพื่อให้การดำเนินคดีอาญายังคงดำเนินการต่อไปได้แม้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญในเรื่องการคุ้มครองสุขภาพประชาชนและการรักษาความต่อเนื่องของกระบวนการยุติธรรม
  • อย่างไรก็ตาม การอนุญาตให้ดำเนินคดีอาญาทางจอภาพทั้งกระบวนการ[8] ทำให้ศาลมีอำนาจพิจารณาขังผู้ต้องหาหรือขยายเวลาขังผู้ต้องหาได้โดยผู้ต้องหาไม่ต้องมาศาล (ในไทยเราเรียกขั้นตอนนี้ว่า ‘การพาตัวผู้ต้องหามาศาลเพื่อฝากขังระหว่างสอบสวน’)  การพิจารณาฝากขังผู้ต้องหาทางจอภาพทุกคดีโดยผู้ต้องหาไม่ต้องมาศาลเป็นการพรากสิทธิของผู้ถูกคุมขังที่จะมาพบศาล เพื่อให้ศาลตรวจสอบทางกายภาพว่าเจ้าหน้าที่ได้กระทำมิชอบกับผู้ต้องหาระหว่างถูกควบคุมตัวหรือไม่ แม้กฎหมายการดำเนินคดีอาญาในช่วงโควิด-19 กำหนดว่า ศาลอาจใช้ดุลพินิจเลือกที่จะใช้การฝากขังทางจอภาพหรือใช้การฝากขังโดยการพบตัวผู้ต้องหาแบบเดิมก็ได้ แต่กฎหมายดังกล่าวก็ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการใช้ดุลพินิจของศาล
  • แม้มีความจำเป็นเพื่อป้องกันโรคระบาด แต่ความจำเป็นนั้นก็ไม่เพียงพอที่จะพรากสิทธิของผู้ถูกคุมขังที่จะมาพบศาล กฎหมายที่ให้ศาลใช้วิธีประชุมจอภาพโดยไม่ต้องพาผู้ถูกคุมขังมาพบศาลนั้นขัดรัฐธรรมนูญ ในเรื่องการแบ่งแยกอำนาจและสิทธิในการต่อสู้คดีของผู้ถูกดำเนินคดีอาญา

คำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสดังกล่าวสอดคล้องหลักการข้อ 37 ของ Body of Principles for the Protection of All Persons under Any Form of Detention or Imprisonment ที่ได้รับการรับรองโดยสมัชชาสหประชาชาติ ที่กล่าวว่า “การนำผู้ถูกคุมขังไปศาลต้องนำไปแบบปรากฏตัวทางกายภาพ (The physical presence of detainees at the hearing) เพื่อให้ศาลสามารถตรวจสอบได้ว่ามีการปฏิบัติที่ไม่ชอบกับผู้ถูกคุมขังหรือไม่”[9]

2. การขยายระยะเวลาขังระหว่างสอบสวน

ในฝรั่งเศส ศาลไต่สวน (juge d’instruction) จะเป็นผู้สอบสวนคดีอาญาบางประเภท โดยเฉพาะคดีอุกฉกรรจ์ และระหว่างนี้ผู้ต้องหาในคดีอาญาอาจถูกขังระหว่างสอบสวน (détention provisoire) ได้ภายในระยะเวลาไม่เกินที่กฎหมายกำหนด

ในช่วงโควิดระบาด กฎหมายการดำเนินคดีอาญาในช่วงโควิด-19 ได้ขยายระยะเวลาขังผู้ต้องหาระหว่างสอบสวนออกไปอีก 2 เดือน 3 เดือน หรือ 6 เดือน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของคดี เช่น คดีที่อัตราโทษรุนแรงมากให้ขยายเวลาขังไปเลย 6 เดือน  คดีอัตราโทษรุนแรงน้อยกว่าขยายเวลาขังไป 2 เดือน เป็นต้น ซึ่งเป็นการขยายเวลาโดยอัตโนมัติ ด้วยเหตุผลที่การสอบสวนในช่วงโควิดอาจติดขัด ยังไม่สมบูรณ์พอที่จะส่งฟ้องศาลได้ทัน   

ตุลาการรัฐธรรมนูญ[10] ไม่ยอมให้ขยายเวลาการขังระหว่างสอบสวน แม้เป็นช่วงโควิด ด้วยเหตุผลคือ

  • กฎหมายที่ขยายเวลาขังผู้ต้องหาออกไปในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมและหามุ่งพิสูจน์การกระทำความผิดของบุคคลในทางอาญา
  • อย่างไรก็ตาม การขยายเวลาขังผู้ต้องหาออกไปตามกฎหมายนั้นเป็นการขยายเวลาขังผู้ต้องหาไปอัตโนมัติ โดยไม่ได้พิจารณาถึงความจำเป็นในขยายเวลาการขังของผู้ต้องหาแต่ละรายเลย
  • ความจำเป็นในการขยายเวลาขังผู้ต้องหาแต่ละรายนั้นไม่เหมือนกัน ศาลไม่มีโอกาสเข้ามาตรวจสอบความจำเป็นในการขยายระยะเวลาขังผู้ต้องหาในแต่ละรายได้
  • การอ้างความจำเป็นในเรื่องสถานการณ์โควิดไม่อาจนำมาลดทอนบทบาทของศาลในการทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิของปัจเจกชน
  • ดังนั้น กฎหมายที่ให้ขยายเวลาการขังระหว่างสอบสวนไปโดยอัตโนมัติ โดยไม่ได้ให้ศาลเข้ามาพิจารณาความจำเป็นในการขยายเวลากับผู้ต้องหาแต่ละรายจึงขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 66 ที่บัญญัติว่า “ไม่มีใครถูกขังตามอำเภอใจ องค์กรตุลาการในฐานะผู้คุ้มครองเสรีภาพปัจเจกชน เป็นผู้รับประกันหลักการดังกล่าวภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย”

การดำเนินคดีอาญาไม่อาจสะดุดหยุดลงได้ในช่วงโรคระบาด เพราะการดำเนินคดีอาญาต้องต่อเนื่องเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม การผ่อนปรนการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกดำเนินคดีอาญาบางเรื่องสามารถทำได้ บางเรื่องก็ไม่สามารถทำได้ หากเป็นเรื่องที่กระทบสิทธิของผู้ถูกดำเนินคดีอาญา การออกกฎเกณฑ์ภายในของหน่วยงานต่างๆ คงไม่พอ รัฐบาลควรจะออกกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญามาใช้สถานการณ์ฉุกเฉินโรคระบาด


[1] กฎหมายที่ฝ่ายบริหารออกในสถานการณ์ฉุกเฉิน

[2] Ordonnance n° 2020-303 du 25 mars 2020 portant adaptation de règles de procédure pénale sur le fondement de la loi n° 2020-290 du 23 mars 2020 d’urgence pour faire face à l’épidémie de covid-19 – Légifrance (legifrance.gouv.fr)

[3] ดู ปกป้อง ศรีสนิท, “หลักการใช้บังคับทันทีของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” ใน ที่ระลึก 60 ปี พี่ใหญ่ ใจหาญ, หนังสือที่ระลึกเกษียณอายุราชการ 60 ปี ศาสตราจารย์ณรงค์ ใจหาญ, 2561, TU Digital Collections.

[4] ICCPR, Article 9.3 “Anyone arrested or detained on a criminal charge shall be brought promptly before a judge or other officer authorized by law to exercise judicial power and shall be entitled to trial within a reasonable time or to release. It shall not be the general rule that persons awaiting trial shall be detained in custody, but release may be subject to guarantees to appear for trial, at any other stage of the judicial proceedings, and, should occasion arise, for execution of the judgement.” ; (บุคคลผู้ถูกจับกุมหรือคุมขังในคดีอาญาจะถูกนำตัวไปปรากฏต่อหน้าศาลหรือเจ้าหน้าที่อื่นที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจตุลาการโดยไม่ชักช้า และจะได้รับสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีภายในเวลาที่สมเหตุสมผลหรือได้รับการปล่อยตัว ไม่ใช่กฎเกณฑ์ทั่วไปว่าบุคคลที่รอการพิจารณาคดีจะต้องถูกขัง แต่การปล่อยอาจอยู่ภายใต้หลักประกันเพื่อให้ผู้ถูกดำเนินคดีมาปรากฏตัวในการพิจารณาหรือเพื่อการบังคับการตามคำพิพากษา)

[5] Communication 1787/2008, Kovsh v. Belarus, CCPR/C/107/D/1787/2008, para. 7.3.

[6] ICCPR, Article 14.1 “All persons shall be equal before the courts and tribunals. In the determination of any criminal charge against him, or of his rights and obligations in a suit at law, everyone shall be entitled to a fair and public hearing by a competent, independent and impartial tribunal established by law”. (บุคคลทุกคนจะเสมอภาคกันต่อหน้าศาล ในการดำเนินคดีอาญาหรือการดำเนินคดีเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ตามกฎหมาย บุคคลทุกคนจะมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมโดยเปิดเผย โดยศาลที่มีอำนาจ อิสระ และเที่ยงธรรม ที่ตั้งขึ้นโดยกฎหมาย)

[7] คำวินิจฉัยตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส หมายเลข 2020-872 QPC วันที่ 15 มกราคม ค.ศ. 2021, Décision n° 2020-872 QPC du 15 janvier 2021 | Conseil constitutionnel (conseil-constitutionnel.fr)

[8] ในสถานการณ์ปกติ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฝรั่งเศส มาตรา 706-71 กำหนดให้การฝากขังผู้ต้องหาทางจอภาพโดยไม่ต้องมาศาลอาจทำได้ในบางสถานการณ์ ถ้าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายยินยอม หรือเป็นกรณีมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อป้องกันมิให้ผู้ถูกคุมขังหลบหนี

[9] Body of Principles for the Protection of All Persons under Any Form of Detention or Imprisonment, approved by the General Assembly in its resolution 43/173, Principle 37.

[10] คำวินิจฉัยตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส หมายเลข 2020-878/ 879 QPC วันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 2021, Décision n° 2020-878/879 QPC du 29 janvier 2021 | Conseil constitutionnel (conseil-constitutionnel.fr)

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save