fbpx
Freegan in Singapore ชีวิตฟรีๆ ที่ไม่ต้องเสียเงิน

Freegan in Singapore ชีวิตฟรีๆ ที่ไม่ต้องเสียเงิน

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

วันก่อนได้คุยกับ กรุณา บัวคำศรี เธอเล่าให้ฟังว่าเพิ่งไปทำรายการเกี่ยวกับ ‘ฟรีแกน’ ในสิงคโปร์มา

ฟังแล้วก็แทบตบโต๊ะ เพราะราวๆ ปี 2009 ผมเคยไป ‘ทัวร์ฟรีแกน’ ที่แมนฮัตตันอยู่คืนหนึ่ง มันคือคืนวันพฤหัส ที่กลุ่มฟรีแกนจะนัดหมายกัน แล้วใครที่สนใจใคร่รู้อยากเรียนรู้ ‘วิถีฟรีแกน’ ก็สามารถไปร่วมตระเวนทัวร์กับเขาได้

คือ ‘ทัวร์ดำขยะ’ หรือที่เรียกว่า Dumster Diving

แล้วทำไมเราต้องไป ‘ดำขยะ’ กันด้วยล่ะ?

คำว่า ‘ฟรีแกน’ หรือ Freegan มาจากคำว่า Free กับ Vegan ถ้าเป็นขบวนการหรือแนวคิด ก็เรียกว่า Freeganism

ถ้าพูดอย่างง่าย ขบวนการนี้คือขบวนการเก็บของฟรีมาใช้ ซึ่งของฟรีก็คือของที่เหลือใช้ คนอื่นไม่ใช้แล้ว ก็เลยนำมาทิ้ง แล้วคนเหล่านี้ก็เก็บมาใช้หรือเก็บมากินอีกทีหนึ่ง

แต่ถ้าพูดอย่างยากๆ หน่อย ขบวนการนี้มีแนวคิดจะ ‘จัดการ’ กับระบบบริโภคนิยมสุดโต่ง ประเภทที่ใช้ของแบบทิ้งขว้าง จึงเป็นขบวนการที่มีรากของแนวคิดฝังอยู่ในวิธีคิดแบบเศรษฐศาสตร์ นั่นคือจะทำอย่างไรไม่ให้ของเหลือเหล่านั้นต้องสูญเปล่า ถูกนำไปเผา หรือถูกทิ้งให้เน่าเปื่อยย่อยสลายไปโดยไม่มีการใช้ประโยชน์

เพราะฉะนั้น Freeganism จึงเป็นเหมือน ‘อุดมการณ์’ ที่มีการ ‘ปฏิบัติจริง’ คือผู้คนลุกขึ้นมาเก็บกวาด ‘ขยะ’ เหลือใช้ เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่หรือนำมาแจกจ่ายให้คนที่ขาดแคลนอีกทีหนึ่ง โดยฟรีแกนมีคนทุกแบบนะครับ ตั้งแต่หมอ ทนายความ พนักงานบริษัท ไปจนถึงคนจรจัดที่ใช้พื้นที่ที่ถูกทิ้ง (เช่นตึกร้าง) เป็นที่อยู่อาศัยก็มี

แต่ถ้าพูดเฉพาะเรื่องอาหาร ในแมนฮัตตันนั้นถือว่าหรูหรา มี Food Hall หรือร้านอาหารระดับสูงมากมาย ร้านอาหารเหล่านี้ หากอาหารไม่ได้คุณภาพแม้แต่นิดเดียว ก็ต้องทิ้ง เช่น ขนมปังที่เพิ่งหมดอายุ ผักที่ช้ำเล็กน้อย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถเสิร์ฟให้กับลูกค้าที่พิถีพิถันและใช้เงินในการจับจ่ายมากมายได้ จึงถูกทิ้งขว้าง

แต่เหล่าฟรีแกนเห็นว่า วิธีปฏิบัติแบบนี้ไม่ถูกต้องเท่าไหร่ เพราะสร้างขยะให้กับโลกโดยไม่จำเป็น ฟรีแกนจึงลุกขึ้น ‘ดำขยะ’ เพื่อเก็บของเหล่านี้กลับมาใช้ แต่การ ‘ดำขยะ’ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหลายร้านไม่อยากให้ใครมาคุ้ยค้นขยะของตัวเอง ดังนั้นเหล่าฟรีแกนในแมนฮัตตันจึงต้องรู้ที่รู้ทาง รู้ว่าตรงไหนสามารถ ‘ดำขยะ’ ได้บ้าง และมีการทำเป็นแผนที่ออกมาว่าในแต่ละวันของสัปดาห์ ควรต้องไปเก็บของที่บริเวณไหนบ้าง

วันที่ผมไปร่วม ‘ทัวร์ฟรีแกน’ นั้นเป็นวันพฤหัส แต่ต้องขออภัยที่จำรายละเอียดไม่ได้แล้วว่าไปที่ไหนมาบ้าง เนื่องจากเป็นตอนกลางคืน ต้องเข้าไปในตรอกซอกซอยเพื่อเก็บของต่างๆ ทำให้จำรายละเอียดเรื่องสถานที่ไม่ได้

ตอนนั้น ผมนึกอยากให้ไทยหรือประเทศทางตะวันออกมีขบวนการฟรีแกนแบบนี้บ้าง เพราะเราเองก็ใช้ข้าวของต่างๆ อย่างเปล่าเปลืองอยู่เหมือนกัน แต่อีกใจหนึ่งก็คิดว่าไม่น่าเป็นไปได้ เพราะคนตะวันออกนั้นมี ‘หน้า’ ที่ต้องรักษามากกว่าคนตะวันตกที่มีวิถีปัจเจก ถ้าเราเป็นพนักงานบริษัท เป็นหมอ เป็นทนายความ แล้วไป ‘ดำขยะ’ ก็อาจถูกครอบครัวหรือเพื่อนฝูงมองแปลกๆ ว่าไอ้นี่มันบ้าหรือเปล่า พอจะบอกว่านี่คือการทำเพื่อโลก เพื่ออุดมการณ์ ก็อาจฟังดูแปลกๆ เข้าไปอีก แถมอาหารในบ้านเราที่เป็นเมืองร้อนก็อาจจะเน่าเสียเร็วด้วย การไปรอเก็บอาจไม่ค่อยได้อะไรดีๆ สักเท่าไหร่ และเมื่อเวลาผ่านมาเป็นสิบปีแล้ว ยังไม่เห็นแม้แต่เงาของขบวนการฟรีแกน สุดท้ายผมก็เลยเลิกหวัง

แต่เมื่อได้ฟังว่ามีฟรีแกนในสิงคโปร์ ผมก็ตื่นเต้นขึ้นมาทันที

คนที่เป็นหัวหอกขบวนการฟรีแกนในสิงคโปร์มีชื่อว่า แดเนียล เทย์ (Daniel Tay) แต่จุดเริ่มต้นของเราไม่ได้มาจากอุดมการณ์ต่อต้านบริโภคนิยมตั้งแต่ต้นเหมือนฟรีแกนในแมนฮัตตัน

เรื่องของเขาเริ่มจากโรคซึมเศร้า

แดเนียล เทย์ เรียนจบด้านเคมีมา และเคยทำงานกับองค์กรไม่แสวงหากำไรแห่งหนึ่งในช่วงปี 2009-2010 แล้วอยู่ๆ เขาก็เกิดความกังวลเรื่องเงินขึ้นมา คือกังวลว่าตัวเองจะไม่มีเงินใช้หรือไม่สามารถหาเงินใช้ได้

เขาบอกว่า ความกังวลนี้มากมายมหาศาลเสียจนในที่สุดก็ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและต้องไปรักษาตัว แต่เมื่อหายจากโรคซึมเศร้าแล้ว เขาก็ยังคิดเรื่องการใช้เงินอยู่ตลอดเวลา เพราะสังคมสิงคโปร์กดดันมาก ทุกอย่างแพงไปหมด เขาไม่รู้เลยว่าจะหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวได้อย่างไร

จนวันหนึ่ง เขาไปเข้าวงสนทนาประเภทกลุ่มบำบัด ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความกังวลเรื่องเงินเหมือนกันกับเขา วงนี้จัดขึ้นโดย PlayMoolah ซึ่งเป็นองค์กรที่ช่วยให้คนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเงิน คือรู้จักเก็บรู้จักใช้อะไรทำนองนั้น

เป็นที่นี่เอง ที่เขาได้พบกับคำว่า ‘ฟรีแกน’ เป็นครั้งแรก จากพี่เลี้ยงของเขาชื่อโคลิน ที่เป็นฟรีแกนมาก่อน

ครั้งแรกที่เทย์ไป ‘ดำขยะ’ เขาต้องประหลาดใจว่า มีร้านที่ทิ้งผลไม้ดีๆ จำนวนมาก ร้านหนึ่งทิ้งมากเสียจนเขาขนกลับบ้านมาไม่หมด ช่วงแรกๆ นั้น เทย์จะรู้สึกอายๆ นิดหน่อย เขาไม่ได้เก็บของมามากนัก แต่เอามาแค่พอกินพอใช้ เพื่อจะได้ไม่เป็นที่ผิดสังเกตของคนอื่นด้วย แต่โคลินบอกเขาว่า ถ้าเทย์เอามาไม่หมด ของที่เหลือก็จะถูกนำไปเข้าเตาเผาขยะอยู่ดี ดังนั้นในที่สุด เทย์ก็เลยค่อยๆ เก็บของมากขึ้น รู้สึกอายน้อยลง ความรู้สึกว่าตัวเองกำลังขโมยของของคนอื่น (ซึ่งที่จริงแล้วเขาไม่ได้ขโมยเลย) ก็เริ่มลดลงด้วย

เขาเก็บได้ตั้งแต่แตงโม มะละกอ สับปะรด พีช แอปเปิ้ล แพร์ ส้ม และผลไม้อื่นๆ มากมาย แล้วในที่สุด เขาก็ได้ไปพบกับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ชื่อ แอนดรูว์ ควิตเมเยอร์ (Andrew Quitmeyer) ซึ่งก็เคยเป็นฟรีแกนมาก่อนสมัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกา

ควิตเมเยอร์เชิญเขาไปสอนในมหาวิทยาลัย ในเรื่องของการจัดการกับปัญหาขยะหรือของเสียในรูปแบบของฟรีแกน ทำให้แนวคิดเรื่องนี้แพร่หลาย และเริ่มมีลูกศิษย์ลูกหาที่หันมาใช้วิธีปฏิบัติแบบฟรีแกนมากขึ้น

แต่เทย์ไม่ได้เก็บเฉพาะอาหารเท่านั้น พอเขา ‘ดำขยะ’ มากขึ้นเรื่อยๆ เขาก็พบว่าคนสิงคโปร์ไม่ได้ทิ้งแค่อาหาร แต่มีข้าวของมากมายที่ถูกทิ้งขว้างทั้งที่ยังใช้งานได้ดีอยู่ โดยเฉพาะของที่ผลิตขึ้นในศตวรรษที่ 20 ซึ่งส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้มีความคงทน ไม่เหมือนของยุคใหม่ๆ ที่ออกแบบมาให้เสียง่าย คนจะได้ซื้อของรุ่นใหม่ได้เร็วขึ้น

เทย์พบของอย่างเครื่องทำกาแฟเก่าที่ใช้งานได้ดี กล้องดูดาวที่ยังสมบูรณ์แบบ เขาพบแม้กระทั่งข้อมูลลูกค้าบริษัทประกันทั้งปึก รวมไปถึงข้อมูลผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมและต้องตัดหน้าอกทิ้ง ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ถือเป็นเรื่องอันตราย เพราะคือการทิ้งข้อมูลส่วนตัวของคนอื่น เท่ากับว่าระบบการจัดเก็บข้อมูลเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวยังไม่ดีพอ

แรกๆ เทย์ก็เก็บมากินมาใช้เอง แต่หลังๆ เขาก็เริ่มแจกจ่ายออกไปให้คนอื่นๆ ด้วย เกิดชุมชนออนไลน์ที่ชื่อ freeganinsingapore.wordpress.com ขึ้นมาเพื่อให้ข้อมูลคนอื่นๆ เช่น บอกว่าการเป็นฟรีแกนนั้นมี 5 ระดับ คือ

  1. เริ่มที่ความตั้งใจของตัวเองก่อน คือต้องยินดีที่จะรับของฟรี บางคนอาจไม่ชอบของฟรี (ที่เป็นของเก่า) และคุ้นเคยแต่กับการซื้อของมาใช้ ก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิดเสียก่อน
  2. เลือกเก็บของที่คนอื่นไม่ต้องการ โดยลองเดินไปตามละแวกบ้าน ถ้าเห็นของอะไรที่คนทิ้งแต่ยังสภาพดีอยู่ ลองเก็บกลับบ้าน
  3. ลองถามเพื่อนๆ ว่า จะช่วยกำจัดขยะจากบ้านได้ไหม วิธีนี้เหมาะกับยุคนี้มาก เพราะหลายคนอยาก ‘เก็บบ้าน’ ด้วยวิธีแบบมาริเอะ คนโดะ ฟรีแกนสามารถถามเพื่อนๆ ได้ ว่าใครอยากเก็บกวาดบ้านบ้าง แล้วก็ไปรับของเหล่านั้นมา
  4. ถ้าลองทำมาถึงขั้นนี้แล้ว ก็อาจลองออกไป ‘ดำขยะ’ ดู
  5. ลองตระเวนไปในที่ที่ไกลขึ้น (เช่นทั่วสิงคโปร์) เพื่อทำทั้งสี่ข้อ และทำให้เป็นธุรกิจด้วยการขายของเหล่านั้นไปด้วย

 

ที่น่าสนใจก็คือ เทย์ทำมากกว่าฟรีแกนในแมนฮัตตันด้วยนะครับ เพราะเขาไปคุยกับเพื่อนบ้าน (ตามประสาคนตะวันออกที่มีความสัมพันธ์ในชุมชนใกล้ชิดกว่า) ว่าถ้าใครจะทิ้งของอะไร ก็ให้เอามาให้เขาแทน ซึ่งก็ปรากฏว่าได้ผลดี

ทั้งหมดนี้นอกจากจะทำให้ของต่างๆ ไม่เสียเปล่าแล้ว เทย์เองก็คลายกังวลเรื่องเงินด้วย เพราะค่าใช้จ่ายต่างๆ ของเขาลดลงไปมาก เขาใช้เงินน้อยมาก เนื่องจาก 90% ของข้าวของในชีวิต (รวมถึงอาหาร) มาจากสิ่งที่เหลือใช้ของคนอื่น และเขาก็ตระหนักว่า ผู้คนไม่ได้มองเขาด้วยสายตาหมิ่นหยามมากเท่าที่คิด ที่สำคัญก็คือ เริ่มมีสื่อจากที่ต่างๆ ไปสัมภาษณ์เขามากขึ้นเรื่อยๆ จากทั้งในและนอกสิงคโปร์

จากที่เคยคิดว่า ฟรีแกนไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในโลกตะวันออก ตอนนี้ขบวนการฟรีแกนดูจะปักหลักอย่างมั่นคงในสิงคโปร์แล้ว ก็ได้แต่หวังว่าอีกไม่นานน่าจะเกิดขึ้นได้ในไทยด้วย

ว่าแต่ว่า – ฟังเรื่องของแดเนียล เทย์ แล้ว คุณอยากลองมีชีวิตฟรีๆ ที่ไม่เสียเงินดูบ้างไหมครับ

จริงอยู่ว่าไม่ง่าย – แต่ถ้าตั้งใจจริง ก็ไม่น่าจะยากจนเกินไปหรอกนะครับ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save