fbpx
ฉันไม่อาจรักมหาวิทยาลัย ถ้ามหาวิทยาลัยไม่หวงแหนและปกป้องเสรีภาพ

ฉันไม่อาจรักมหาวิทยาลัย ถ้ามหาวิทยาลัยไม่หวงแหนและปกป้องเสรีภาพ

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา การแสดงความเห็นต่อสถานการณ์ทางการเมืองของผู้ที่มีความเห็นแตกต่างจากคณะรัฐประหารได้ถูกคุกคามอย่างกว้างขวาง ไม่เว้นแม้กระทั่งภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเองก็ตาม

ความข้อนี้คงเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป และก็พอจะเป็นที่เข้าใจกันได้อยู่บ้างว่าผู้ซึ่งมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบต่อสถาบันการศึกษาอาจหวั่นเกรงต่อการถูกปลด โยกย้ายหรือให้ออก ด้วยอำนาจไม่ปกติของคณะรัฐประหาร จึงทำให้ต่างต้องพากันพยายามยุติการแสดงความเห็นที่มีต่อผู้มีอำนาจซึ่งเกี่ยวเนื่องกับสถานที่ของมหาวิทยาลัย

แต่เมื่อสังคมไทยได้มีการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2562 ทำให้อำนาจการปกครองผันเปลี่ยนจากระบอบรัฐประหารมาสู่รัฐบาลที่บางส่วนยึดโยงกับการเลือกตั้ง การละเมิดต่อเสรีภาพในการแสดงความเห็นกลับยังปรากฏให้เห็นมาอย่างต่อเนื่อง การจัดกิจกรรมในหลากหลายรูปแบบกลับยังคงต้องเผชิญหน้ากับแรงกดดันจากผู้บริหารของแต่ละแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกิจกรรมที่เห็นได้ชัดว่ายืนอยู่คนละฝั่งกับรัฐบาล

การกระทำในลักษณะเช่นว่านี้อาจเป็นสิ่งที่ยากต่อการทำความเข้าใจและการยอมรับว่าเป็นบทบาทอันพึงกระทำของสถาบันการศึกษาระดับสูงเฉกเช่นมหาวิทยาลัย

 

‘ความเป็นกลาง’ ของหมู่คนดี

 

เหตผลสำคัญประการหนึ่งที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาในการห้ามมิให้มีการกระทำในลักษณะที่ตรงกันข้ามกับผู้มีอำนาจในขณะนี้ก็ด้วยการอ้างถึง ‘ความเป็นกลาง’ แม้จะฟังราวกับเป็นเหตุผลที่ดี แต่สิ่งที่ต้องตั้งคำถามต่อไปว่าความหมายของความเป็นกลางที่อ้างถึงนั้นคืออะไร และความเป็นกลางนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ (โดยยังไม่สนใจว่าสิ่งนั้นจะเป็นเจตจำนงที่แท้จริง หรือเป็นเพียงการ ‘อ้าง’ เหตุผลมารองรับต่อการกระทำของตนเองเท่านั้น)

เป็นที่ประจักษ์อย่างชัดเจนว่าเมื่อกล่าวถึงความเป็นกลางนั้น มักมีความหมายถึงการที่บุคคลหรือสถาบันจะไม่แสดงให้เห็นว่ามีจุดยืนหรือเข้าร่วมกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนออกหน้าออกตา ดังนั้น ความพยายามในการห้ามจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองก็คงเป็นไปเพื่อแสดงให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้ยืนอยู่หรือร่วมหัวจมท้ายกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

แต่การให้เหตุผลในลักษณะเช่นนี้ย่อมถูกโต้แย้งได้อย่างง่ายดาย เพราะเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าในช่วงก่อนการรัฐประหาร มีบุคลากรจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นของมหาวิทยาลัยที่อ้างว่าเป็นเสาหลักของแผ่นดิน, ปัญญาของแผ่นดิน, มหาวิทยาลัยที่สอนให้รักประชาชน, สอนให้เป็นคนดี ต่างแสดงออกอย่างชัดเจนทั้งภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย หรือในการเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนที่ต้องการล้มรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตยด้วยการแสดงตนมาจากสถาบันแห่งใดอย่างชัดเจน

จะอธิบายบทบาทในลักษณะเช่นนี้อย่างไร ก็ในเมื่อเห็นได้อย่างเต็มตาว่ายืนอยู่ฝ่ายหนึ่งแบบออกนอกหน้า และโดยที่ไม่มีการออกมาสั่งห้ามหรือปรามจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยในแบบที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

หรือกับการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ‘ใหญ่ๆ’ หรือการเป็นส่วนหนึ่งของการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งก็ถูกแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร กรณีเช่นนี้จะสามารถนับว่าเป็นการวางตัวเป็น ‘กลาง’ ทางการเมืองใช่หรือไม่

หรือความเป็นกลางมีความหมายเพียงคือการห้ามแสดงออกในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่เมื่อออกไปนอกพื้นที่ของมหาวิทยาลัยแล้วก็สามารถให้การสนับสนุนหรือเข้าร่วมกับฝ่ายที่ตนมีความเห็นด้วยได้อย่างเต็มที่ การกระทำแบบนี้ไม่ถูกนับว่าฝ่าฝืนต่อความเป็นกลางทางการเมืองใช่หรือไม่

 

พื้นที่แห่งเสรีภาพที่ไม่ต้องเป็นกลาง

 

สำหรับผู้เขียนแล้วไม่ได้ต้องการที่จะอธิบายว่าอะไรคือความหมายของความเป็นกลางกันแน่ หรือแม้กระทั่งข้อถกเถียงว่าความเป็นกลางแท้จริงนั้นมีอยู่จริงหรือ แต่ประเด็นที่อยากจะนำเสนอก็คือ สิ่งที่เรียกว่าความเป็นกลางของมหาวิทยาลัยอาจจะไม่ได้มีความหมายสำคัญเท่ากับการเป็นพื้นที่แห่งเสรีภาพในการแสดงออกของผู้คนกลุ่มต่างๆ

ต้องไม่ลืมว่ามหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการแสวงหาและถ่ายทอดความรู้ไปสู่สังคม ปัจจัยพื้นฐานประการหนึ่งที่จะทำให้การค้นหาความรู้บังเกิดขึ้นได้อย่างกว้างขวางก็คือเสรีภาพในอันที่จะแสดงความเห็นที่แตกต่างไปจากความรู้ของอำนาจที่ครอบงำอยู่ในขณะนั้น ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติได้แสดงให้เห็นในหลายครั้งว่าความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญล้วนสืบเนื่องจากการค้นพบความรู้ที่แตกต่างไปจากชุดของความรู้ที่ครอบงำอยู่ในขณะนั้น

การเข้าถึงความรู้ใหม่ที่ดีกว่าเดิมจึงอาจไม่ใช่เพียงการขยายหรือสืบเนื่องจากระบบความรู้แบบเดิม แต่รวมถึงการปะทะ โต้แย้ง หักล้าง กับระบบความรู้ที่ครองอำนาจอยู่ เสรีภาพในการแสดงความเห็นที่แตกต่างจึงมีความสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่ง การขยายตัวของวิทยาศาสตร์ภายหลังยุคกลางก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการต่อสู้กับระบบความรู้ที่สถาปนาอำนาจนำในขณะนั้น ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวควรเป็นสิ่งเตือนใจให้เห็นถึงความสำคัญของเสรีภาพในการแสดงความเห็นได้เป็นอย่างดี

เป็นที่น่าแปลกใจอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งต่างพากันสยบยอมต่ออำนาจอย่างไม่รู้สึกรู้สาแต่ในขณะเดียวกันกลับกล้าที่จะประกาศว่าต้องการเป็นเลิศในทางปัญญา ราวกับว่าการกระทำทั้งสองด้านนี้ไม่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน

ตรงกันข้ามกับการพยายามประกาศถึง ‘ความเป็นกลาง’ สิ่งที่ควรจะต้องทำโดยผู้เกี่ยวข้อง (อันหมายถึงตั้งแต่ผู้บริหารระดับมหาวิทยาลัย ผู้บริหารระดับคณะ บรรดาครูบาอาจารย์ทั้งหลาย) ก็คือทำให้มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่แห่งเสรีภาพทางปัญญา โดยต้องตระหนักว่าเป้าหมายของเสรีภาพทางปัญญาไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อโอบอุ้มผู้มีอำนาจหรือเป็นเครื่องมือในไต่เต้าสถานะทางสังคม แต่เป้าหมายสำคัญก็คือการนำมาซึ่งความงอกงามทางปัญญาหรือการสร้างความรู้ให้กับสังคม

หลายคนอาจถูกกล่อมเกลาว่าการแสดงความเห็นที่แตกต่างจะนำไปสู่การสร้างขัดแย้งระหว่างผู้คนให้เกิดขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการควบคุมการแสดงความเห็นอย่างเข้มงวด อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคิดว่าบทบาทที่มหาวิทยาลัยควรต้องดำเนินการก็คือ การทำให้การแสดงความเห็นของฝ่ายต่างๆ เกิดขึ้นอย่างเปิดกว้างและสันติ ความคิดเห็นไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับประเด็นปัญหาต่างๆ ต้องสามารถกระทำได้อย่างเสรี

เช่น จะมีการจัดงานวิ่งไล่ลุงหรือเดินเชียร์ลุง, จัดอภิปรายสนับสนุนหรือคัดค้านรัฐบาล ก็ควรเป็นสิ่งที่ต้องกระทำได้ หน้าที่ของมหาวิทยาลัยคือการทำให้กิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างสันติและไม่เกิดความรุนแรงเท่านั้น

เฉพาะการแสดงความเห็นที่เห็นได้ว่าจะนำไปสู่ความรุนแรงหรือการตอบโต้ด้วยกำลังที่มีผลต่อชีวิตผู้คนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง เช่น การลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนที่เห็นต่าง, การใช้อาวุธเป็นเครื่องมืออย่างชัดเจน กรณีเช่นนี้เท่านั้นที่จะสามารถถูกห้าม ไม่ใช่เพียงแค่เห็นว่าถ้าเป็นกิจกรรมที่อยู่ตรงกันกับฝ่ายผู้มีอำนาจหรือจุดยืนทางการเมืองของตนเองก็สามารถสั่งห้ามได้ทันที

ยิ่งในห้วงเวลาที่สังคมต้องเผชิญหน้ากับระบอบอำนาจนิยมซึ่งมีความเข้มข้น มหาวิทยาลัยก็ควรต้องแสดงบทบาทการเป็นผู้นำในการปกป้องเสรีภาพในการแสดงความเห็น แน่นอนว่าการกระทำในลักษณะนี้อาจเป็นที่ขวางหูขวางตาของผู้มีอำนาจ แต่จะให้ทำอย่างไรได้ก็ในเมื่อ ‘มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร’ การสร้างสรรค์ทางปัญญาย่อมเป็นเป้าหมายสูงสุดของสถาบันการศึกษาในระดับนี้มิใช่หรือ

กล่าวมาเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่าเฉพาะเสรีภาพในการแสดงความเห็นในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเท่านั้นที่ควรได้รับการปกป้อง เสรีภาพเหล่านี้ควรเป็นสิ่งที่ได้รับการปกป้องให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างเสมอภาคและกว้างขวาง ยิ่งในห้วงเวลาที่มีการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกเกิดขึ้นมาอย่างรุนแรง มหาวิทยาลัยควรเป็นสถาบันที่ออกมายืนยันและยืนหยัดกับการเผชิญหน้ากับอำนาจมากกว่าองค์กรอื่นใด

การแสดงออกในฐานะของผู้ที่หวงแหนและปกป้องเสรีภาพในการแสดงความเห็น จะเป็นบทบาทสำคัญอีกประการหนึ่งที่ช่วยให้มหาวิทยาลัยกลายเป็นสถาบันที่ได้รับการเคารพรักมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

และอาจเป็นบทบาทซึ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าการไต่เต้าอันดับมหาวิทยาลัยในระดับโลกที่ได้มีการทุ่มเทกันในหลายมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยขณะนี้

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023