fbpx
Digital Transformation แบบไทยๆ : สิทธิเสรีภาพ ความปลอดภัย และความมั่นคง

Digital Transformation แบบไทยๆ : สิทธิเสรีภาพ ความปลอดภัย และความมั่นคง

สมคิด พุทธศรี เรื่อง

 

Digital Transformation หรือการเปลี่ยนผ่านดิจิทัล เป็นกระบวนการที่ส่งผลต่อสังคมอย่างลึกซึ้งในแทบทุกมิติ แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าความเห็นและข้อเสนอส่วนใหญ่ในเรื่องนี้มักสนใจแต่มิติเชิงเศรษฐกิจเท่านั้น โดยละเลยมิติด้านอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่อง ‘สิทธิเสรีภาพ’ ซึ่งเป็นคุณค่าพื้นฐานที่สำคัญของมนุษย์

การละเลยมิติด้านสิทธิเสรีภาพย่อมส่งผลต่อวิธีคิดด้านการกำกับดูแลความปลอดภัยและความมั่นคงในโลกออนไลน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนักที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 หรือ “พ.ร.บ.คอมฯ 2560” ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560 จะถูกวิจารณ์ว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการ ‘ปิดปาก’ ประชาชน แม้จะมีส่วนที่ปกป้องและคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม การตอบคำถามเรื่อง ‘สิทธิเสรีภาพและความปลอดภัย’ ในโลกดิจิทัลไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากเป็นเรื่องใหม่แล้ว พลวัตและข้อถกเถียงในประเด็นนี้ยังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ต่อให้ยอมรับว่า รัฐมีเจตนาที่จะสร้างสมดุลระหว่างเสรีภาพและความปลอดภัยจริง แต่หากยังใช้วิธีคิดและองค์ความรู้ที่ล้าสมัยในการออกแบบกฎกติกา ผลลัพธ์ที่ตามมาย่อมไม่ตอบโจทย์ที่ตั้งไว้

ชุดกฎหมายที่อยู่ในกระบวนการร่างด้วยหวังว่าจะออกมาสร้างความปลอดภัยและความมั่นคงด้านไซเบอร์ของไทย ไม่ว่าจะเป็น ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ล้วนติดอยู่ในกับดักดังกล่าวนี้ และไม่มีทีท่าว่าจะหลุดพ้นไปได้ง่ายๆ

คงมีแต่การกลับไปทบทวนคุณค่าพื้นฐานด้านเสรีภาพ พร้อมกับการมองเห็นขอบฟ้าของความรู้เท่านั้นที่จะทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ

 

4 คำถามพื้นฐานว่าด้วย ‘สิทธิเสรีภาพ’ ใน Digital Transformation

 

จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ให้ความเห็นว่า การถกเถียงเรื่องสิทธิเสรีภาพภายใต้กระแส Digital Transformation มีคำถามที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมอย่างน้อย 4 คำถาม

คำถามที่หนึ่ง การเปลี่ยนผ่านดิจิทัลทำให้สิทธิเสรีภาพเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร?

ในด้านหนึ่ง โลกดิจิทัลเปิดโอกาสให้คนกลุ่มใหญ่และกลุ่มใหม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ใหม่ และส่งเสียงถึงความต้องการ รวมถึงข้อมูลข่าวสารของตัวเองได้ ในแง่นี้จึงดูเหมือนว่า โลกดิจิทัลทำให้สิทธิเสรีภาพเพิ่มมากขึ้น

แต่ในอีกด้านหนึ่ง โลกดิจิทัลได้สร้างกับดักเรื่องพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัวขึ้นมา เพราะในโลกดิจิทัล ไม่ว่าเราจะเดินไปทางไหนก็ต้องทิ้ง ‘รอยเท้าดิจิทัล’ (digital footprint) ไว้เสมอ การถูกจับจ้องโดยที่ประเด็นสาธารณะและประเด็นส่วนตัวไม่มีความชัดเจน อาจเป็นข้อจำกัดที่บั่นทอนศักยภาพในการสื่อสารของปัจเจกบุคคลได้

“ในโลกที่ทันสมัย เรามีความสะดวกสบายมากขึ้น แต่สิ่งที่น่าคิดคือ คุณค่าพื้นฐานบางอย่างของมนุษย์ขยับตามไปด้วยหรือเปล่า” จีรนุชกล่าวทิ้งท้ายในคำถามแรก

คำถามที่สอง เทคโนโลยีดิจิทัลและผู้ใช้ส่งผลต่อกันและกันอย่างไร?

จีรนุชตั้งข้อสังเกตว่า เทคโนโลยีดิจิทัลเปลี่ยนตัวตนของผู้ใช้ไปอย่างมหาศาล โดยเฉพาะมิติด้านเวลา การตอบสนองทุกสิ่งแบบทันทีทันใด (real time) ทำให้ความอดทนในการรอคอยของผู้คนน้อยลง กล่าวเฉพาะในแวดวงสื่อสารมวลชน แม้การแข่งขันเพื่อทำข่าวอย่างรวดเร็วจะตอบโจทย์ผู้บริโภคสื่อได้ดี แต่ก็มีการตั้งคำถามถึงคุณภาพของสื่อมวลชนด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีไม่ได้เป็นตัวกำหนดทุกสิ่ง เบื้องหลังของเทคโนโลยียังมี ‘คน’ อยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นนักพัฒนาซอฟแวร์ นักบริหารจัดการเทคโนโลยี คนทำคอนเทนต์ เป็นต้น คำถามคือผู้ใช้เทคโนโลยีจะมีส่วนในกระบวนการออกแบบที่ตอบโจทย์คุณค่าพื้นฐานเรื่องสิทธิและเสรีภาพได้อย่างไร และมากน้อยแค่ไหน

“โจทย์ในเรื่องนี้คือ แทนที่จะเป็นฝ่ายถูกเปลี่ยนเพียงอย่างเดียว มนุษย์จะมีส่วนเข้าไปกำกับหรือพัฒนาเทคโนโลยีอย่างไรบ้าง” จีรนุชขมวดปมคำถามข้อที่สอง

คำถามที่สาม สังคมไทยมีวิธีคิดแบบดิจิทัล (digital mindset) มากน้อยแค่ไหน?

สิ่งสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลคือ การมีวิธีคิดแบบดิจิทัล ซึ่งได้แก่ การรวมศูนย์น้อยลง และการมีเครือข่ายที่ภาคส่วนต่างๆ สามารถเข้ามีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในแนวราบมากขึ้น

“ปัญหาของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลในสังคมไทย คือ ภาครัฐยังอยู่ในวิธีคิดแบบอนาล็อก ขาดความเข้าใจวิธีคิดแบบดิจิทัล ตราบที่ยังสั่งการด้วยระบบราชการแบบรวมศูนย์ เราคงเปลี่ยนผ่านไม่ไปไหน” จีรนุชย้ำให้เห็นถึงปัญหาสำคัญเรื่องนี้

คำถามที่สี่ สื่อไทยปรับตัวได้ทันโลกดิจิทัลได้มากแค่ไหน อย่างไร?

ในโลกดิจิทัล อำนาจของสื่อสารมวลชนในฐานะผู้ส่งสารที่สามารถกำหนดวาระทางสังคมลดน้อยลง แต่บทบาทของสื่อกลับยิ่งมีความสำคัญ โดยเฉพาะในเชิงคุณภาพ เราต้องการสื่อที่ทำหน้าที่วิเคราะห์ ตรวจสอบข้อมูล และนำเสนอข่าวสารอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้คนในสังคมสามารถก้าวทันโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้

“ปัญหาหนึ่งของสื่อไทยคือพัฒนาไม่ทันความเปลี่ยนแปลง เช่น ต่อให้เรามีทีวีดิจิทัล แต่เนื้อหาที่ทำยังคงเป็นอนาล็อกอยู่เหมือนเดิม สิ่งที่เปลี่ยนไปจริงคือรูปแบบ (form) เท่านั้น” จีรนุชทิ้งท้ายเรื่องปัญหาการปรับตัวของสื่อ

 

 ระบบความปลอดภัยไซเบอร์ของไทย: เราตามโลกไม่ทัน

 

ดร.ภูมิ ภูมิรัตน ที่ปรึกษาอาวุโสด้านความมั่นคงปลอดภัย บริษัท G-ABLE ชี้ให้เห็นว่า การมองปัญหาความปลอดภัยทางไซเบอร์ต้องมองให้เห็นภาพกว้าง ซึ่งได้แก่ ความไว้ใจและความมั่นใจ (trust and confidence)

ที่ผ่านมา การพูดถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์มักพูดถึงเฉพาะมิติด้านความมั่นคง ซึ่งให้ความสำคัญกับการ ‘การปกป้อง’ แต่เราไม่เคยรู้เลยด้วยซ้ำว่า “เรากำลังปกป้องอะไร” ประเด็นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากสิ่งที่เราปกป้องไม่ใช่คุณค่าพื้นฐานอย่างสิทธิเสรีภาพแล้ว การปกป้องอาจเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์เท่าไหร่

การสร้างความไว้ใจและความมั่นใจให้กับระบบมีองค์ประกอบสำคัญ 5 องค์ประกอบ ได้แก่ การมีระบบกฎหมายรองรับ การมีสาธารณูปโภคด้านดิจิทัลที่ดี การมีบริการภาครัฐดิจิทัล การศึกษาและการตระหนักรู้ และการเข้าใจบทบาทและความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคล

ประเทศไทยมีกฎหมายที่รองรับความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่สำคัญ ได้แก่ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ซึ่งเปรียบเสมือนกฎหมายอาญาในโลกดิจิทัล โดยหลักการ เป้าหมายของกฎหมายฉบับนี้ควรมีไว้เพื่อจับการกระทำความผิดต่อระบบคอมพิวเตอร์ แต่ในรอบสิบปีที่ผ่านมา การบังคับใช้ได้ขยายกินความไปถึงเรื่องเนื้อหาด้วย

นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายอีกฉบับที่อยู่ในกระบวนการร่าง ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ… ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญในการปกป้องผู้บริโภคจากธุรกรรมโลกออนไลน์ ร่าง พ.ร.บ. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ… ซึ่งให้อำนาจรัฐในการตอบสนองต่อการถูกโจมตีทางไซเบอร์ และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ….

ภูมิชี้ให้เห็นว่า หลักในการร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ….ในระดับสากลได้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่ให้ความสำคัญกับการยินยอม (consent based) ของเจ้าของข้อมูลได้เปลี่ยนไปสู่ระบบกึ่งยินยอม กล่าวคือ หากที่ใดสามารถขอการยินยอมได้ ยังจำเป็นต้องขออยู่ แต่หากขอไม่ได้ ก็สามารถนำข้อมูลไปดำเนินการอื่นต่อได้ภายใต้เงื่อนไขว่ากระบวนการดำเนินการจะต้องมีความโปร่งใส เจ้าของข้อมูลสามารถกลับมาตรวจสอบได้ว่า ข้อมูลของตนถูกนำไปใช้ด้วยเหตุผลอะไร

“ในโลกที่เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว การขอความยินยอมกลายเป็นกระบวนการที่ช้า ถ้าอยากปรับตัวให้ทันต้องยอมยืดหยุ่นหลักการบางอย่าง แต่การยืดหยุ่นจะต้องรับประกันว่าคนยังสามารถปกป้องตนเองได้ นี่เป็นเรื่องที่อยากผลักให้เกิด ไม่เช่นนั้นเราก็มีกฎหมายที่ล่าช้าไป 10 ปี”  ภูมิอธิบาย

ในส่วนของ ร่าง พ.ร.บ. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ…. ภูมิชี้ว่า การร่างกฎหมายโดยให้อำนาจกับรัฐในการแก้ไขปัญหาอย่างเดียวนั้น ไม่เพียงพอ เพราะรัฐทำได้เพียงแค่แก้ไขปัญหาหลังจากที่ความเสียหายเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น กฎหมายจำเป็นต้องมีมาตรการเพิ่มเติมที่ให้เอกชนต้องรับผิดชอบตัวเองมากขึ้นด้วย โดยหากถูกโจมตีทางไซเบอร์ เอกชนต้องมีส่วนในการรับผิดชอบแก้ไขปัญหาให้กับตัวเองและสังคมด้วย

“ในโลกที่ไม่ใช่ดิจิทัล รัฐมีหน้าที่แก้ปัญหาให้กับคนอย่างทั่วถึง เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นความเสียหายเชิงกายภาพ แต่ในโลกดิจิทัลที่มีพลวัตและมีความแตกต่างกันสูง เช่น ระบบไอทีของบริษัทเอกับบริษัทบีอาจแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง รัฐย่อมไม่อาจเข้ามาดูแลทั้งสองบริษัทได้เหมือนกันและพร้อมกัน …”

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ… ภูมิชี้ให้เห็นปัญหาของการที่กฎหมายได้นิยามคำว่า ‘เทคโนโลยีที่น่าเชื่อถือ’ แบบตายตัว ไม่มีความหยืดหยุ่น ซึ่งผิดกับธรรมชาติของโลกดิจิทัลที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

เป็นเรื่องตลกร้าย หากในอนาคตมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ปลอดภัยและดีกว่าเทคโนโลยีปัจจุบัน แต่กลับต้องกลายเป็น ‘เทคโนโลยีที่ไม่น่าเชื่อถือ’ เพียงเพราะไม่สอดคล้องกับนิยามที่กฎหมายกำหนด

ในประเด็นโครงสร้างและสาธารณูปโภคด้านดิจิทัล นอกจากการทำให้ประชาชนเขาถึงอินเทอร์เน็ตแล้ว รัฐต้องสร้างระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) และการระบุตัวตน (identity) ให้น่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันรัฐได้ดำเนินการในการพัฒนาระบบการชำระเงินแล้ว แต่ข้อเสียสำคัญคือ ระบบที่รัฐสร้างเป็นระบบปิดที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นไม่กี่รายเข้ามาแสวงหากำไรในระบบได้

ในส่วนของการระบุตัวตน ประเทศไทยเคยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ก้าวหน้าในเรื่องนี้อย่างมาก เมื่อนำระบบบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดมาใช้ในปี 2546 ทว่า 13 ปีผ่านไป เรากลับไม่เคยเปลี่ยนเทคโนโลยีเลย ทั้งที่เทคโนโลยีในปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างมหาศาล

ภูมิทิ้งท้ายว่า โจทย์สำคัญในการเปลี่ยนประเทศไทยด้วยดิจิทัล คือ การสร้างสาธารณูปโภคด้านดิจิทัลให้มีความพร้อมและความปลอดภัย ภาครัฐต้องปรับตัวให้เป็นดิจิทัล มีประสิทธิภาพ และคล่องตัวมากขึ้น กฎหมายต้องได้รับการปรับให้ทันสมัยและยืดหยุ่นเพียงพอต่อการรองรับความเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญคือ การสร้างระบบนิเวศที่ทำให้ทุกคนเกิดความไว้วางใจกันและสามารถทำงานร่วมกันได้ในระบบ.

 

หมายเหตุ: เรียบเรียงจากเวทีสาธารณะ “Digital Transformation: โอกาสและความท้าทายสำหรับประเทศไทย” จัดโดย Friedrich Ebert Stiftung Thailand (FES), สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ), คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโครงการอินเทอร์เน็ตศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2560 ณ สถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาแห่งประเทศไทย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023