fbpx

ตลาดของนกสีฟ้าอันแสนจะเสรี (และวายป่วง)

ขณะที่เขียนบทความนี้ อีลอน มัสก์ในฐานะผู้บริหารทวิตเตอร์ ประกาศจะลาออกหากผลการลงคะแนนเสียงของผู้ใช้ทวิตเตอร์ให้เขาลาออก ซึ่งผลคือทวิตเตี้ยนสิบกว่าล้านคนมาร่วมลงคะแนนและเสียงข้างมากที่ร้อยละ 57 เห็นว่าอีลอนควรลาออก

ถึงตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าอีลอน มัสก์จะเป็นตายร้ายดีอย่างไร  

รวมเวลาที่อีลอนเข้าซื้อทวิตเตอร์จนถึงวันที่เขาถูกลงคะแนนให้ลาออกจากตำแหน่งผู้บริหารนั้นเพียงแค่เกือบสองเดือนหย่อนไปไม่กี่วัน แต่เป็นช่วงเวลาที่ทวิตเตอร์ปั่นป่วนวุ่นวาย ส่วนหนึ่งของความวุ่นวายนี้คือหลักคิดของอีลอน ซึ่งเรียกตัวเองว่าเป็น free speech absolutist เป็นผู้เชื่อมั่นในเสรีภาพในการแสดงออกโดยไม่มีอะไรห้าม อีลอนเห็นว่าทวิตเตอร์นั้นมีปัญหาเพราะเป็นพื้นที่แสดงออกของฝ่ายซ้ายหัวเสรี และแอบกีดกันเนื้อหาของฝ่ายขวาอย่างลับๆ ซึ่งเขาก็ได้ประกาศจะล้างบางทวิตเตอร์ให้กลายเป็นเวทีเสรีที่แท้จริง

ในช่วงเวลาที่อีลอนดำรงตำแหน่งอยู่ เขาจึงเปิดให้ลงคะแนนเสียงให้นำบัญชีของโดนัลด์ ทรัมป์กลับมา นอกจากนี้ ยังนำบัญชีของผู้นำทางความคิดฝ่ายอนุรักษ์หลายคนที่ถูกห้ามใช้ไปนั้นกลับมาเช่นกัน

หลักคิดของอีลอนนั้นน่าสนใจไม่น้อย คนเราจะสร้างพื้นที่แห่งเสรีภาพทางการแสดงออกแบบไร้ขีดจำกัดใดๆ ได้เลยจริงหรือไม่ ทำแล้วจะเกิดอะไรขึ้น

ตลาดเสรี

คำถามว่าทำไมการแสดงออกควรเสรีนั้น อาจตอบโดยเปรียบเทียบกับตลาดอื่นๆ

ความคิดก็เหมือนสินค้าอื่นๆ เพียงแต่ความคิดไม่มีรูปร่างจับต้องได้ กระนั้นก็ตาม เราขายความคิดเราให้คนอื่นได้ ทรัพย์สินทางปัญหาเป็นตัวอย่างที่เห็นชัด แต่เราอาจจะ ‘ขาย’ ความคิดให้คน ‘ซื้อ’ ไป เช่น เราขายความคิดว่าหญิงและชายเท่าเทียมกัน ถ้าคนอื่นซื้อไปเรื่อยๆ ก็กลายเป็นสินค้าขายดีในที่สุด

แนวคิดตลาดแบบเสรีนิยมแบบคร่าวๆ นั้น ปล่อยให้มือที่มองไม่เห็นจัดการตลาด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สินค้าไหนดีก็กลายเป็นที่นิยมขึ้นเอง สินค้าใดคุณภาพแย่ก็จะถูกกลไกตลาดจัดการให้หายไป วิธีคิดนี้จึงพยายามไม่ให้รัฐเข้ามายุ่งกับกลไกตลาด

ถ้าตลาดความคิดเสรี เปิดให้ถกเถียงโต้แย้งกัน ความคิดไหนเข้าท่าก็จะรอด แล้วก็ถูกคนซื้อไป กลายเป็นสินค้ายอดนิยม ด้วยวิธีนี้ เราใช้กลไกตลาดในการจัดการเนื้อหาความคิดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รัฐไม่ต้องเข้าไปช่วยยุ่งชี้นำว่าเราควรเชื่ออะไรบ้าง เพราะกลไกตลาดจัดการเอง อะไรไม่เข้าท่าก็แพ้การถกเถียงโต้แย้ง ไม่น่าเชื่อถือ แล้วก็หายไป

กลไกตลาดที่ล้มเหลว

ปัญหาของตลาดเสรีคือมันไม่สมบูรณ์แบบขนาดนั้น และหน้าที่หลักของรัฐคือ เข้าแทรกแซงในยามที่กลไกตลาดล้มเหลว

ความจริงที่น่าเศร้าคือ ผู้บริโภคไม่ได้ซื้อสินค้าที่ดีที่สุดเสมอไป มองไปรอบตัวเรา หลายครั้งเราไม่ได้เลือกผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด เราเลือกผลิตภัณฑ์ที่ลดราคาหรือเพราะเคยชินกับยี่ห้อ นอกจากนั้น เรายังซื้อของผิดประจำ เราอาจจะประเมินพ่อค้าแม่ค้าผิดไปจนซื้อของย้อมแมว

ฉันใดก็ฉันนั้น เราซื้อสินค้าทางปัญญาผิดเยอะแยะและน่าจะซื้อผิดบ่อยกว่าสินค้าอื่นด้วย การแพทย์สมัยใหม่ก้าวหน้าขึ้นเพราะการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการพิทักษ์เสรีภาพในการแสดงออกในช่วงยุคฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมในยุโรป แต่ทุกวันนี้เราก็ยังมีคนกินฉี่ กินมะนาวแก้มะเร็ง คนเราเชื่ออะไรที่ไม่ควรเชื่อ ไม่น่าเชื่อเต็มไปหมด เชื่อว่าอีกไม่นานแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา เชื่อว่าโรคซึมเศร้าไม่มีจริง เชื่อว่าซีไอเออยู่เบื้องหลังขบวนการเยาวชน เป็นอาทิ แต่ยังมีความเชื่อผิดอื่นๆ ที่เป็นสินค้ายอดนิยมอีกมากมาย

ปัญหาอีกประการของสินค้าความคิดคือ เมื่อเกิดขึ้นมาในตลาดแล้ว มันเก็บไปทิ้งไม่ได้ ไม่ว่าแนวคิดประหลาดพิสดารแค่ไหนก็มักจะหาลูกค้ากลุ่มเล็กๆ ของตนเจอเสมอ ผ่านสงครามโลกครั้งที่สองมาแปดสิบปีแล้วแต่ก็ยังมีคนสมาทานลัทธินีโอนาซี เป็นต้น

การควบคุมตลาด

เมื่อตลาดสินค้าเสรีล้มเหลว รัฐต้องเข้ามากำกับหรือควบคุม เช่น สั่งให้ติดฉลาก ติดคำเตือน หรือหากจำเป็นก็ต้องห้ามส่วนผสมอันตราย ถ้าร้ายแรงมากก็ต้องบังคับให้ห้ามจำหน่ายไปเสียเลย ถ้าความคิดไหนเป็นอันตรายแก่ประชาชน รัฐก็ควรจะสามารถเข้ามากลั่นกรอง หรือควบคุมได้บ้าง

ตลาดที่ทุกคนแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี ไม่ว่าจะอันตรายแค่ไหนก็ตาม สุดท้ายจะกลายเป็นตลาดที่ไม่มีอะไรเสรีภาพ เมื่อพื้นที่แสดงความเห็นถูกยึดครองด้วยคนบ้าคลั่งที่เสียงดัง นำเสนอความเห็นอันตรายไร้เหตุผล ยั่วยุให้เกิดความรุนแรงต่อผู้เห็นต่าง กลายเป็นพื้นที่ตะเบ็งเสียง ใครดังคนนั้นชนะ ผู้เล่นที่สติดีย่อมเงียบหรือละทิ้งตลาดแบบนี้ แต่นั่นทำให้ความเห็นที่เหลืออยู่ยิ่งกลายเป็นขยะมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกที

ในตลาดอื่น ผู้กำกับดูแลตลาดอาจเป็นรัฐ แต่โซเชียลมีเดียทั้งหลายเป็นพื้นที่ที่เอกชนเจ้าของเวทีต้องเข้ามารับผิดชอบ ด้วยความสำคัญและขนาดของโซเชียลเหล่านี้ เอกชนเจ้าของแพลตฟอร์มทั้งหลายจึงมีหน้าที่ต่อสาธารณะไม่น้อยไปกว่าที่รัฐใดจะพึงมี

ภายใต้อีลอน มัสก์ ทวิตเตอร์ได้ยกเลิกกฎบางส่วนในเรื่องมาตรฐานชุมชน ทีมงานบางส่วนถูกไล่ออก และถูกขุดคุ้ยเรื่องการแบน หรือลดการมองเห็นบัญชีของฝ่ายขวา ซึ่งเป็นเรื่องไม่โปร่งใสที่อีลอนวิจารณ์ ซึ่งนำมาสู่ความกังวลว่า ทวิตเตอร์จะกลายเป็นพื้นที่สำหรับวาจากระตุ้นความเกลียดชัง ทฤษฎีสมคบคิด และการล่าแม่มด

แต่ถึงที่สุด แม้จะยืนกรานว่าตนยึดมั่นหลักการเสรีภาพในการแสดงออกมากแค่ไหน อีลอนก็หนีไม่พ้นต้องเข้ามาแทรกแซงตลาดอยู่ดี แต่ครั้งนี้เลวร้ายกว่าเดิม เพราะเมื่อไม่มีกฎเกณฑ์มาตรฐานใดๆ เสียแล้ว เกณฑ์เดียวที่ใช้อยู่คือ อำเภอใจของอีลอนเอง สัปดาห์ที่ผ่านมา ทวิตเตอร์แบนบัญชีที่แชร์ข้อมูลเครื่องบินของอีลอนเอง และบัญชีของนักข่าวหลายคนโดยไม่ชี้แจงเหตุผล

ดังนั้น สิ่งที่อีลอนควรทำไม่ใช่ยกเลิกนโยบายการควบคุมทวิตเตอร์ แต่เป็นการปรับปรุงให้เป็นธรรมขึ้นต่างหาก เพื่อให้ทวิตเตอร์ยังเป็นเวทีให้ทวิตเตี้ยนปลอดภัยที่จะใช้แสดงออกต่อไป

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save