fbpx
‘หมวย’ นักสิ่งแวดล้อมหญิง นักแอนตี้คอร์รัปชันชาวลาวที่โลกควรรู้จัก

‘หมวย’ นักสิ่งแวดล้อมหญิง นักแอนตี้คอร์รัปชันชาวลาวที่โลกควรรู้จัก

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และ ศุภกฤต เรื่อง

 

ประเทศลาวดูจะเป็นดินแดนแปลกประหลาดของใครหลายคน ดินแดนนี้ถูกฉายภาพผ่านสื่อว่าเป็นดินแดนพุทธศาสนาที่สงบเงียบ เรียบง่าย แต่ก็ยังเป็นประเทศที่อ้างว่าปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ปี 1975 ซึ่งอาจดูย้อนแย้งสำหรับเราหลายคนที่ถูกปลูกฝังว่า ศาสนากับคอมมิวนิสต์ไปด้วยกันไม่ได้ ภายใต้ความย้อนแย้งนี้ดูคล้ายว่าจะมีพื้นที่ให้กับการอดทนอดกลั้น ทว่าก็มีสิ่งที่อดทนอดกลั้นไม่ได้ ดังที่ จอร์จ ออร์เวลล์ เคยเขียนไว้ “สัตว์ทุกตัวล้วนเท่าเทียมกัน แต่บางตัวเท่าเทียมกันมากกว่าตัวอื่นๆ” กล่าวคือ ผู้ที่จะขีดเส้นแบ่งว่าอะไรทำได้-ไม่ได้ ไม่ใช่หลักการใดๆ หากแต่เป็นตัวบุคคล ซึ่งในประเทศลาว รัฐ และพรรคคอมมิวนิสต์ลาวคือผู้กำหนดสิ่งที่เป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ทั้งหมดของประเทศ การจะอดทนอดกั้นอะไรหรือไม่ อยู่ที่คณะบุคคลเหล่านี้

ประเทศลาวเป็นดินแดนลี้ลับทางวิชาการเช่นเดียวกัน ในบรรดาประเทศอาเซียน ลาวเป็นประเทศที่มีงานศึกษาทางวิชาการตีพิมพ์ออกมาน้อยชิ้นมาก เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนงานศึกษาเกี่ยวกับไทย พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย

ในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา หนึ่งในผู้เขียนได้มีโอกาสรู้จักกับคนลาวผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ทำให้ทราบถึงสถานะความเปราะบางของพวกเขาที่ถูกมองข้าม และได้นำเสนอบทความ Lao dissidents exiled under Thailand’s military rule หลังจากที่บทความเผยแพร่ออกไปปรากฏว่ามีผู้ลี้ภัยชาวลาวคนอื่นๆ ได้อ่านและติดต่อมา ทำให้พวกเราได้มีโอกาสพบปะพวกเขาหลายคน ได้สัมภาษณ์ เรียนรู้เรื่องราวร่วมสมัยในประเทศลาวที่เราไม่อาจเห็นได้ผ่านสื่อทั่วไป รวมถึงเราได้ให้การช่วยเหลือเท่าที่เป็นไปได้แก่พวกเขา (ด้วยการก่อตั้ง Humanity Beyond Borders ระดมทุนจากนิสิต ประชาชน และรายได้การขายหนังสือเพื่อช่วยเหลือพวกเขา)

แม้ว่าประเทศลาวจะถูกควบคุมด้านข่าวสารอย่างเข้มข้น แต่คนลาวก็ยังหลงเหลือพื้นที่ในโลกออนไลน์ เช่นที่ผู้ลี้ภัยชาวลาวใช้ยูทูบเป็นช่องทางการแสดงออกของเขา การติดตามเฟซบุ๊กของคนลาวทั่วไปอาจทำให้เราทราบความคิดของเขาต่อรัฐบาลและสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นจริงได้ แต่การแสดงออกก็ยังคงมีความเสี่ยง ผู้แสดงความเห็นอาจถูกรัฐบาลควบคุมตัว ตั้งข้อหา และติดคุก คนลาวจำนวนมากไม่อาจอยู่ประเทศลาวได้ เพียงเพราะแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล จนต้องลี้ภัยมายังประเทศไทย (มีรายงานว่าพวกเขาบางคนถูกจับส่งกลับไป หรือถูกอุ้มหายสาบสูญ)

แม้จะมีความเสี่ยงเช่นนี้ แต่ก็ยังมีคนลาวที่เอาชีวิตแลก ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หนึ่งในคนที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในขณะนี้คือสุภาพสตรีชื่อว่า หมวย หรือ ห้วยเฮือง ไซยะบูลี อายุ 30 ปี เธอเป็น ‘เน็ตไอดอล’ ที่มีผู้ติดตามความเห็นของเธอนับหมื่น แต่เธอถูกจับเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา หลังโพสต์คลิปแสดงความเห็นว่ารัฐบาลลาวตอบสนองต่อเหตุการณ์น้ำท่วมอย่างล่าช้าจนทำให้ประชาชนถูกทิ้งและตัดขาดซึ่งความช่วยเหลือ คลิปของเธอมีผู้เข้าชมหลายแสนคน เธอถูกเจ้าหน้าที่ตั้งข้อหาหมิ่นประมาทประเทศตามกฎหมายอาญามาตรา 117 ถูกสั่งจำคุก 5 ปีและปรับ 20 ล้านกีบ ปัจจุบันเธอยังอยู่ในคุก ไม่ได้รับการประกันตัว โดยทิ้งลูกวัย 4 ขวบให้แม่ของเธอเป็นคนเลี้ยงดู

การตัดสินจำคุกของเธอสร้างความไม่พอใจและเกิดกระแสแฮชแท็ก #savemuay ในเฟซบุ๊ก เรื่องของเธอถูกรายงานในสื่อต่างประเทศหลายสำนัก แต่ก็ได้รับความสนใจน้อยมาก และข่าวทั้งหมดล้วนสนใจแค่ว่าเธอเป็นผู้เคราะห์ร้ายจากการวิจารณ์รัฐบาล โดยไม่ได้รายงานให้ทราบว่าหมวยมีความสำคัญอย่างไร และบทบาทการอนุรักษ์ธรรมชาติผ่านการวิจารณ์เขื่อนของเธอก็สมควรที่โลกจะยกย่อง

 

หมวยเป็นใคร?

 

ห้วยเฮือง ไซยะบูลี หรือหมวย เกิดเมื่อปี 1988 ในเมืองโพนทอง แขวงจำปาศักดิ์ เธออยู่ในครอบครัวนักปฏิวัติลาว ค่อนข้างมีฐานะ พ่อแม่เธอมีลูกมี 4 คน เธอเป็นคนที่ 3 และเป็นลูกผู้หญิงคนเดียว หลังเรียนจบจากมหาวิทยาลัยด้านการท่องเที่ยว หมวยทำงานเป็นไกด์ทัวร์พานำเที่ยวของบริษัทแห่งหนึ่ง เธอพูดภาษาเพื่อนบ้านได้ทั้งไทยและเวียดนาม พ่อแม่ของเธอใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองโพนทอง แต่ก็มีที่ดินอยู่ที่เมืองปากเซด้วย

เมืองปากเซอยู่ในแคว้นจำปาศักดิ์ เคยเป็นเมืองหลวงของแคว้นก่อนที่จะมีการวมประเทศ แคว้นนี้อยู่ริมแม่น้ำโขง มีพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์มาก มีพรมแดนอยู่ใกล้กับอุบลราชธานีประเทศไทย โดยใช้เวลาเดินทางจากชายแดนประเทศไทยประมาณ 1 ชั่วโมง จากการมีพรมแดนใกล้ชิดกับไทยทำให้เกิดการค้าขายไปมาของคนสองฝั่งประเทศอย่างใกล้ชิด

ถึงหมวยจะไม่ได้เป็นคนปากเซโดยกำเนิด แต่เธอใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นเป็นส่วนใหญ่ เธอเปิดร้านขายเสื้อผ้าแบบประเพณีให้เช่าและซื้อ ควบคู่กับการเป็นไกด์ทัวร์เมื่อบริษัทต้องการ ทุกอย่างคงจะสงบเรียบร้อยด้วยดี แต่เพราะทรัพยากรทางธรรมชาติของลาวยังอุดมสมบูรณ์อยู่มาก โดยเฉพาะที่นั่นติดกับริมฝั่งโขง ปากเซจึงเป็นพื้นที่ที่รัฐเห็นว่าเป็นประโยชน์ในการให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน โดยเป็นการดำเนินการอย่างไร้ธรรมาภิบาลและขาดการรับฟังเสียงประชาชนในพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านและระบบนิเวศอย่างมหาศาล หมวยยอมสิ่งนี้ไม่ได้

 

จุดเริ่มต้น: คนไม่มีเงิน จงอย่าใช้ถนน

 

ประเทศลาวเป็นประเทศที่ปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์ แต่สะพาน และ ถนน หลายแห่งเป็นของบริษัทเอกชนที่มารับสัมปทานก่อสร้างจากรัฐ บริษัทเหล่านี้มีสิทธิเก็บเงินค่าผ่านทางจากประชาชนผู้สัญจรผ่านไปมา เป็นการสร้างภาระให้แก่ประชาชนมาก ครอบครัวหมวยเองก็เป็นหนึ่งในผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการต้องสัญจรผ่านถนนเมืองโพนทอง แขวงจำปาสัก (ฝั่งขวาของแม่น้ำโขง)

บริษัทดวงดีผู้รับสัมปทานการก่อสร้าง รู้ดีว่าเส้นทางนี้มีคนสัญจรไปมามาก คุ้มค่าแก่การลงทุน เพราะมีการติดต่อค้าขายระหว่างประชาชนลาวและไทยอยู่เป็นประจำ การจะเดินทางเข้าประเทศไทยผ่านด่านช่องเม็ก-วังเต่า(อุบล-จำปาสัก) จะต้องผ่านถนนเส้นนี้ หรือแม้จะไปปราสาทหินวัดพูก็ต้องผ่านเส้นทางนี้เช่นกัน ดังนั้นการสัมปทานสร้างถนนเส้นนี้แล้วเก็บค่าผ่านทางจากประชาชนเป็นเวลาต่อเนื่องไปอีก 20 ปี นับว่าคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม

แต่เดิมหมวยก็เหมือนคนอื่นๆ ที่ไม่ได้สนใจการเมืองเพราะรัฐบาลบอกผ่านระบบการศึกษาและสังคมว่า จงไว้วางใจแก่รัฐบาล แต่เพราะหมวยเป็นคนหนึ่งที่ต้องสัญจรผ่านเส้นทางนี้เป็นประจำ ทุกครั้งที่ขับรถผ่านด่าน รถยนต์ 4 ล้อต้องเสียเงิน 80 กว่าบาท หมวยและประชาชนเดือดร้อนมากจากการกดขี่เอาเปรียบของกลุ่มนายทุนที่มีรัฐบาลหนุนหลัง หมวยเริ่มทนไม่ได้และอัดคลิปเชิงบ่นให้เพื่อนฟังว่า ถ้าจะกดขี่เอาเปรียบกันถึงขนาดนี้ ขอถนนเส้นเดิมคืนยังดีกว่า (ก่อนที่บริษัทดวงดีจะมารับสัมปทานสร้างถนน ถนนเส้นเดิมของรัฐก็ยังสามารถสัญจรผ่านไปได้อย่างสะดวก) ด้วยความไม่ตั้งใจ แต่คลิปของเธอได้สร้างแรงสั่นสะเทือนแก่สังคมลาว มีผู้คนจำนวนมากเอาคลิปของเธอไปเผยแพร่ต่อตามเพจต่างๆ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและนายทุนอย่างดุเดือด จนรัฐต้องออกมาแถลงข่าวเพื่อให้บริษัทดวงดีระงับเก็บค่าผ่านทางไปก่อน แต่กระนั้นบริษัทก็ยังคงให้พนักงานเก็บค่าผ่านทางตามเดิมจนเกิดเรื่องโต้เถียงกันกับประชาชน ซึ่งสุดท้ายชัยชนะก็ยังเป็นของผู้รับสัมปทาน

แม้จะพ่ายแพ้ ทว่าสิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้วก็คือ หมวยค้นพบว่าตัวเธอมี ‘เสียง’ การพูดความจริงไม่ได้น่ากลัว แถมยังโล่งอกด้วย เธอค้นพบว่าตัวเองเมีพรสวรรค์ในการพูดทำให้คนติดตาม นอกจากลีลาท่าทางการพูดที่เธอมี เสียงของเธอเป็นอำนาจที่สร้างผลกระทบให้เกิดการทบทวนหลายๆ สิ่งในลาวที่เธอเคยต้องเก็บความไม่พอใจอยู่ลึกๆ เท่านั้น หมวยตัดสินใจแล้วว่า เธอจะเปล่งเสียงของเธอต่อไป

 

การคอร์รัปชันที่แทรกซึมไปทั่วสังคมลาว

 

‘หมวย’ หรือ ห้วยเฮือง ไซยะบูลี
หมวยสวมเสื้อรณรงค์ ฉันไม่อยากให้มีการใช้เงินซื้อตำแหน่งเข้าทำงาน

        

การวิจารณ์เรื่องถนนทำให้คนเริ่มรู้จักผู้หญิงใจกล้าคนนี้ แต่รัฐก็เริ่มจับตาดูเธอ โดยส่งเจ้าหน้าที่มาตักเตือน ขอให้เธอหยุดวิจารณ์รัฐบาล หมวยคิดว่าเธอไม่ได้ทำสิ่งที่ผิดนอกจากนำเสนอปัญหาที่เกิดขึ้น จึงไม่หยุดที่จะวิจารณ์ (แต่เธอก็รู้ดีว่าไม่สามารถวิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์ได้) เธอไม่หยุดเพียงแค่การเป็นขวัญใจชาวบ้านในพื้นที่เท่านั้น เธอออกมาวิจารณ์การคอร์รัปชันซื้อขายตำแหน่งเข้ารับราชการ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่รับรู้ทั่วไปในสังคมลาว แต่ไม่มีใครกล้าพูด สอดคล้องกับที่ GAN Integrity จัดอันดับประเทศโปร่งใสในปี 2018 ให้ลาวอยู่อันดับที่ 132 จาก 180 ประเทศทั่วโลก

เธอเปิดเผยเรื่องที่น้องชายของเธอใช้เงินซื้อตำแหน่งเพื่อบรรจุเป็นตำรวจ หมวยไม่ได้เห็นด้วยที่น้องชายทำแบบนี้และได้เตือนน้องไปแล้ว แต่การจ่ายสินบนเพื่อความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานถือเป็นเรื่องปกติในสังคม น้องชายหมวยได้รับข้อเสนอมาว่า ถ้าอยากเป็นตำรวจ จงจ่ายเงินมา และจะรับเข้าเป็นตำรวจ แต่ถ้าไม่ได้ทำงานก็จะคืนเงินให้ แต่เมื่อเขาจ่ายเงินไปหลายแสน รอหลายปีแล้วก็ไม่ได้งานและไม่ได้เงินคืน น้องชายหมวยร้อนรน เริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่พี่สาวเตือนถูกต้องแล้ว เขาจึงขอให้หมวยเอาเรื่องมาเปิดเผยเพื่อแสดงความฉ้อฉลของระบบราชการลาว เธอจึงอัดคลิปวิจารณ์การจ่ายเงินซื้อตำแหน่ง ความบิดเบี้ยวที่ทุกคนรู้แต่มองข้ามจนกว่าจะโดนด้วยตัวเอง หมวยบอกว่าเธออัดคลิปเพื่อเตือนให้คนอื่นๆ ในสังคมรู้เท่าทันปัญหานี้ เพราะเชื่อว่าเรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับครอบครัวของเธอเพียงครอบครัวเดียว และใครที่คิดจะจ่ายเงินก็ต้องยอมรับถึงความเสี่ยงที่จะถูกโกงอีกด้วย

หลังจากที่หมวยอัดคลิปวิจารณ์เรื่องนี้ ทางการลาวร้อนรนในการถูกเปิดโปงรีบยื่นมือมาเหลือน้องชายหมวย “ถ้าคุณไม่เก่งขั้นเทพจริงๆ ก็ต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อตำแหน่งเท่านั้น” หนึ่งในผู้ลี้ภัยชาวลาวที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของลาวบอกกับพวกเรา

หมวยกล่าวเสียดสีอย่างมีชั้นเชิงต่อเรื่องนี้ด้วยว่า

“คนมีเงินตอนก่อนสอบก็กินเหล้าเป่าขลุ่ย พอเข้าไปสอบก็นั่งไขว่ห้าง นั่งสั่นขาอยู่เฉยๆ ใบข้อสอบก็คงมีคนเอาไปทำให้ตอนออกจากห้องสอบ”

“ประเทศจะพัฒนาได้ต้องเกิดจากการพัฒนาบุคลากรก่อน ถ้าบุคลากรพัฒนาไม่ได้ก็อย่างพึ่งเอาถนนคอนกรีตมาสร้างเลย เอาความรู้มาใส่สมองประชาชนก่อน”

คลิปวิดีโอของเธอมีคนดูนับแสนและแสดงความเห็นสนับสนุนสิ่งที่เธอพูด ครั้งนี้รัฐบาลไม่ปรากฏกายมาเตือนเธอ แต่บริษัทนำทัวร์ที่เธอทำงานกลับถูกกดดันจากรัฐบาลอีกที ทำให้หมวยกลายเป็นคนตกงานภายในชั่วข้ามคืน

“ข้าพเจ้าไม่โทษบริษัทนะ เพราะบริษัทของข้าพเจ้าเป็นบริษัทลูก แน่นอนว่าคนที่สั่งให้ออกจากงานต้องมาจากข้างบนอีกที” หมวยกล่าว

 

จัดคอนเสิร์ตเพื่อสร้างโรงเรียน

 

‘หมวย’ หรือ ห้วยเฮือง ไซยะบูลี

 

หลังจากที่หมวยเปิดโปงการทุจริตคอร์รัปชันการเข้าทำงานของตำรวจจนต้องตกงานก็มีคนติดตามเธอมากขึ้น พวกเขารอคอยว่าหมวยจะทำอะไรต่อไป

สำหรับหมวย เธอไม่ได้มีความตั้งใจที่จะโค่นล้มรัฐบาล เพื่อนของหมวยที่ลี้ภัยอยู่ในไทยเพราะเผยแพร่เรื่องราวความเดือดร้อนของประชาชนจากกรณีเขื่อนแตกและเคยทำงานร่วมกับหมวยอยู่หลายปี บอกกับพวกเราว่า “ถ้าหมวยต้องการล้มล้างรัฐบาล เธอจะไม่พูดภาษาลาวเลย เธอพูดภาษาอังกฤษได้ และเธอควรพูดภาษาอังกฤษถ้าอยากให้โลกรับรู้”

หมวยเพียงแต่ต้องการพูดความจริงเพื่อให้รัฐบาลเห็นปัญหาและแก้ปัญหาที่เกิดจากการไม่ฟังเสียงประชาชน เธอกับเพื่อนอีกไม่กี่คนนั่งประชุมกันว่า นอกจากการวิจารณ์เรื่องทุจริตแล้ว ในฐานะภาคประชาสังคมจะช่วยรัฐบาลให้พัฒนาได้อย่างไร เพื่อให้คนลาวรู้ว่าพวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสิ่งดีๆ ในสังคมได้

หมวยและเพื่อนๆ เกิดความคิดว่าจะขายเสื้อสกรีนข้อความว่า #ຂ້ອຍບໍ່ຢາກໃຫ້ມີການໄດ້ຊື້ຈ້າງເຂົາເຮັດວຽກ (ฉันไม่อยากให้มีการได้ซื้อจ้าง(จ่ายเงิน)เข้าทำงาน) และจัดคอนเสิร์ตระดมทุนเพื่อหาเงินมาสร้างโรงเรียน เพื่อนผู้ลี้ภัยของหมวยบอกกับพวกเราว่า “นี่เป็นก้าวแรกเล็กๆ ที่พวกเราทำเพื่อให้รัฐเห็นว่า ประชาชนไม่พอใจการคอร์รัปชันติดสินบน เลยแสดงออกผ่านการสร้างโรงเรียน ให้เห็นโดยอ้อมว่าถ้าเงินไม่ถูกนำไปคอร์รัปชัน การศึกษาของลาวคงจะดีกว่านี้” (ดัชนี UNDP ลาวอยู่ที่ 140 จาก 189 ประเทศทั่วโลก) หมวยโพสต์ขายเสื้อออนไลน์ ภายในไม่กี่ชั่วโมงมีคนสั่งซื้อเข้ามาจากทั่วประเทศลาวหลายพันตัว หมวยเชิญเพื่อนๆ คนรุ่นใหม่ที่เป็นคนดังในสังคมออนไลน์ลาวมาขึ้นเวทีร้องเพลง ดึงดูดคนมาฟังคอนเสิร์ตหลายพันคน ระดมเงินเพื่อสร้างโรงเรียนได้มหาศาล

อย่างไรก็ตาม ความหวังดีของหมวยและเพื่อนๆ ไม่ได้ถูกมองอย่างเป็นมิตรจากรัฐบาล สำหรับรัฐบาลลาว สิ่งที่หมวยทำเป็นภัยความมั่นคง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ามาปิดงานคอนเสิร์ตในขณะที่กำลังเล่นไปได้ไม่กี่เพลง เพื่อนคนเดียวกันของหมวยซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ให้คำอธิบายกับพวกเราว่า “รัฐบาลกังวลถึงการรวมตัวกันของประชาชนที่รัฐไม่ได้เป็นคนสั่งเสียเอง”

ถึงคอนเสิร์ตจะถูกปิด แต่หมวยก็มองเห็นการสนับสนุนที่มีอยู่จริงของชาวลาว ซึ่งบ่งบอกว่าพวกเขาอยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น ให้ลาวไม่มีการทุจริตคอร์รัปชันไปพร้อมกับหมวย หมวยไม่อาจจะลดบทบาทในการเป็นแบบอย่างการพูดความจริงและกล้าหาญเพื่อเป็นแรงบันดาลใจแก่พวกเขาได้

 

ข้อวิพากษ์สิ่งแวดล้อมและนายทุนต่างชาติ

 

ภาพสารเคมีจากสวนกล้วยจีนไหลลงสู่ห้วยน้ำ ในเขตเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ทำให้ปลาลอยตาย ภาพจากผู้ลี้ภัยชาวลาว
ภาพสารเคมีจากสวนกล้วยจีนไหลลงสู่ห้วยน้ำ ในเขตเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ทำให้ปลาลอยตาย ภาพจากผู้ลี้ภัยชาวลาว

 

ก่อนหน้านี้ประเทศที่ลงทุนมหาศาลในลาวคือประเทศไทย แต่ปัจจุบันจีนได้แซงหน้าประเทศไทยไปแล้วในการเข้ามาลงทุนในลาว รัฐบาลจีนและนายทุนจีนเข้ามาลงทุนสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า รถไฟ โครงการเศรษฐกิจพิเศษ รับสัมปทานขุดเหมืองแร่ สัมปทานที่ดินเพื่อปลูกกล้วย และอื่นๆ การหลั่งไหลเข้ามาลงทุนของนายทุนจีน บวกกับการอ้าแขนรับของรัฐบาลลาว นำมาซึ่งปัญหานับไม่ถ้วนให้กับคนลาวทั่วไป

“คนจีนมาพร้อมเงินจำนวนมาก ไม่ต้องสงสัยเลยว่าที่ดินของเราที่รัฐบาลสัญญาว่าจะให้ที่ดินทำกิน ย่อมถูกขโมยไปให้พวกเขา” คนลาวที่ประสบปัญหาการถูกแย่งยึดที่ดินทำกินบอกกับพวกเรา ผู้ประกอบการรายย่อยในลาวไม่มีความสามารถในการแข่งขันกับเงินมหาศาลอย่างแน่นอน จึงปิดกิจการไปหรือไม่ก็มีคนจีนเข้ามาซื้อกิจการ สัมปทานการปลูกกล้วยของทุนจีนที่รัฐบาลลาวให้ มาพร้อมกับปัญหาสิ่งแวดล้อม เนื่องจากใช้สารเคมีจำนวนมากทำให้แหล่งน้ำปนเปื้อนไปด้วยสารเคมี ปลาในแม่น้ำตายลอยขึ้นมา คนลาวที่เป็นลูกจ้างเหล่าเจ้านายจากจีน และคนที่อยู่ใกล้ๆ ล้มป่วย

หมวยและเพื่อนๆ ได้ช่วยส่งต่อข้อมูลของชาวบ้านในพื้นที่ให้ประชาชนลาวได้เห็นปัญหา หมวยออกคลิปประกาศขอความเห็นใจจากผู้มีอำนาจให้แก้ไขปัญหาเหล่านี้ เพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อความหลากหลายของชีวิตและประชาชนชาวลาว การเสียงของเธอครั้งนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐติดต่อมา การวิพากษ์จีนที่สร้างความเดือดร้อนให้คนลาวไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ แต่กลุ่มทุนและผู้มีอำนาจเริ่มจะทนไม่ได้ พวกเขามองว่าหมวยและเพื่อนๆ รวมถึงคนที่ออกมาเรียกร้องเรื่องความเดือดร้อนนั้นสร้างความวุ่นวาย เจ้าหน้าที่ระดับสูงของลาวออกมาแถลงข่าวผ่านสื่อของรัฐ ขอให้ประชาชนระวังการใช้สื่อออนไลน์ ถ้าพบว่าผิด จะถูกดำเนินคดีถึงขั้นติดคุก

 

เขื่อนแตก

 

รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวนั้นน่าอัศจรรย์ตั้งแต่ชื่อ เพราะอ้างว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตยที่ทำเพื่อประชาชน แต่ประชาชนลาวที่มีจำนวน 7 ล้านกว่าคนกลับมีเสรีภาพต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ทั้งหมดในอาเซียน โดยทำคะแนนได้เพียง 12 จาก 100 จากการจัดอันดับของ Freedom House ทุกวันนี้ผู้ที่คิดต่างจากรัฐบาลถูกอุ้มหายสาบสูญ ถูกฆ่าตาย ซึ่งกรณีที่โด่งดังที่สุดคือ สมบัติ สมพอน นักพัฒนาชาวลาว เจ้าของรางวัลแมกไซไซที่ถูกอุ้มหายสาบสูญในนครเวียงจันทน์ โดยรัฐบาลลาวอ้างว่าไม่รู้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าว

ลาวที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติมหาศาล ปัจจุบันมีเขื่อนมากกว่า 50 แห่งและกำลังจะทำเพิ่มอีกเพื่อขายไฟฟ้า ซึ่งคิดเป็นรายได้ 2 ใน 3 ของมูลค่าการส่งออกรวมของประเทศ ส่วนผลประโยชน์ตกที่ใครยังเป็นที่กังขา เพราะลาวเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง รายได้น้อย และคอร์รัปชันมาก รวมถึงคุณภาพชีวิตเด็กต่ำที่สุดในอาเซียน

ในปี 2013 รัฐบาลให้สัมทานบริษัทสัญชาติเกาหลีใต้และบริษัทสัญชาติไทยเข้ามาลงทุนเพื่อสร้างเขื่อน ‘เซเปียน-เซน้ำน้อย’ เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าขายให้กับไทย พื้นที่เขื่อนตั้งอยู่ระหว่างเมืองปากซอง แขวงจำปาสัก กับเมืองสะหนามไซ แขวงอัตตะปือ โครงการนี้ได้รับการประชาสัมพันธ์อย่างดีจากช่องข่าวรัฐบาลประเทศไทย “เป็นโอกาสลงทุนของนักลงทุนไทยเพื่อการรับรองการเติบโตของอาเซียน”

ทว่าก่อนเขื่อนจะสร้างเสร็จปีเดียว ในปี 2018 เกิดพายุใหญ่เข้ามาทำให้เกิดฝนตกหนักและน้ำล้นเขื่อน จนจุดกักน้ำจุดหนึ่งของเขื่อนแตก น้ำท่วมบ้านเรือนของประชาชน ส่งผลให้ชาวบ้านกว่า 5,000 ครอบครัวไม่มีที่อยู่อาศัย มีคนเสียชีวิตและสูญหายหลายร้อยคน

แม้จะมีน้ำใจจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามาช่วยคนลาว โดยเฉพาะองค์กรกู้ภัยไทยที่ต้องการเข้าไปช่วย แต่ก็เป็นเรื่องที่โหดเหี้ยมที่รัฐบาลลาวได้ออกมาตรการขึ้นมาเพื่อกีดกันองค์กรที่จะเข้ามาต้องผ่านการอนุญาตอย่างเคร่งครัดโดยรัฐบาลลาว ไม่อนุญาตให้ส่งของช่วยเหลือโดยตรงให้ผู้ประสบภัย ห้ามถ่ายรูปขณะที่ช่วยเหลือใดๆ ทั้งนั้น

ขณะที่น้ำท่วม หมวยได้ลงพื้นที่ไปช่วยชาวบ้านที่เดือดร้อน ประชาสัมพันธ์ขอให้คนลาวในพื้นที่ต่างๆ บริจาคสิ่งของมาให้ คนไทยจำนวนไม่น้อยก็ติดตามสถานการณ์ผ่านเธอ ทำให้มีคนเข้ามาช่วยเหลือจำนวนมาก แต่เธอผิดหวังที่รัฐบาลอนุญาตให้องค์กรกู้ภัยเข้ามาช่วยเหลือได้ช้า และตัวรัฐบาลเองก็มาช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนช้า ทั้งที่การสร้างเขื่อนก็ทำลายชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเหล่านี้มาก่อนแล้ว เธอจึงอัดคลิปวิดีโอและตัดพ้อการทำงานของรัฐบาล

คลิปของเธอมีคนมาดูนับแสน และเข้ามาแสดงความคิดเห็นหลายพัน จึงเป็นอีกครั้งที่รัฐบาลลาวจะต้องทำให้เธอเงียบให้ได้ เพราะความไม่พอใจรัฐบาลกำลังครุ่นขึ้นในหมู่ประชาชน และอาจจะกระทบกับการลงทุนของนักลงทุน ดังนั้นเธอจึงถูกเรียกไปตักเตือนเป็นครั้งที่สอง

 

ความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลลาวในการช่วยคนประสบภัย

 

“อยากให้เรามีอุปกรณ์ช่วยเหลือที่ทันสมัย เพราะประเทศเราก็ไม่ได้ยากจนถึงขนาดจะไม่มีเงินซื้อ แค่ไม่อยากซื้อเอง ส่วนพวกพนักงานที่เงินเดือนไม่สูง แต่มีเงินซื้อรถหรู ซื้อบ้าน ซื้อที่ดิน ซื้อตู้เซฟ อ้าว! เงินเดือนก็มีแค่นั้นแล้วทำไมมีเงินซื้อล่ะ?

“เอาไปเอามาเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปช่วยเหลือประชาชน จะจมน้ำตายก่อนประชาชนอีก ครั้งนี้ก็อยากให้เป็นประสบการณ์ว่าฝึกฝนกำลังเจ้าหน้าที่ด้วย เผื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครึ่งประเทศแบบนี้อีก” (ข้อความจากคลิปวิดีโอของหมวย)

หลังจากเหตุการณ์อันเป็นโศกนาฏกรรมผ่านไปหนึ่งปี พายุโพดุล-คาจิกิ ได้เข้ามา ทำให้ฝนตกหนักหลายวันติดต่อกันจนท่วมบางพื้นที่ภาคอีสานของไทย (ุอุบลราชธานี) และลาวตอนใต้อย่างปากเซ ระดับน้ำในแม่น้ำโขงสูงขึ้น น้ำในเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยล้นอย่างรวดเร็ว จึงต้องระบายน้ำออกมามิฉะนั้นจะทำให้เขื่อนได้รับความเสียหายซึ่งมีผลเสียต่อการลงทุน ดังนั้นจึงมีการปล่อยให้น้ำท่วมเมืองอีกครั้ง ประชาชนได้รับผลกระทบหลายร้อยครัวเรือน และต้องอพยพประชาชนไปขึ้นที่ราบสูงอีกครั้ง ครั้งนี้เองหมวยก็ออกมาวิจารณ์ว่ายังไม่เกิดบทเรียนจากเรื่องเขื่อนแตกซ้ำแล้วซ้ำอีก และการจัดการที่ช้าเชื่องช้าไม่ได้เปลี่ยนแปลง

หมวยไม่รู้ว่านี่เป็นการแสดงออกครั้งสุดท้ายของเธอ รัฐบาลลาวไม่เสี่ยงให้เธอปลุกให้คนเห็นถึงข้อบกพร่องของรัฐบาลได้อีกต่อไป หลังจากเธออัดคลิปวิดีโอไลฟ์สดในเฟซบุ๊กได้ไม่กี่วัน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าควบคุมตัวและขังเธอในคุก หลังจากบังคับให้เธอสารภาพผิดแล้ว ศาลแขวงจำปาสักตัดสินว่า หมวยมี ความผิดข้อหามาตรา 117 “รณรงค์ต่อต้าน หมิ่นประมาท และมุ่งหมายจะโค่นล้มพรรค (คอมมิวนิสต์แห่งประเทศลาว/พรรคประชาชนปฏิวัติลาว) รัฐ และรัฐบาล” หมวยถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุก 5 ปี เมื่อมีญาติไปขอประกันตัว ศาลไม่ให้ประกันตัวเพราะเป็นข้อหาใหญ่

แต่อย่างไรก็ตาม หมวยได้ชี้แจงอยู่ตลอดตั้งแต่อัดคลิปมาว่า ที่ตนออกมาวิจารณ์นั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะต่อต้านรัฐบาล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านการทุจริต คอร์รัปชัน หมวยเชื่อว่าในคนทำงาน 100 คนนั้น มีคนดีอยู่ 90 คนและคนไม่ดีแค่ 10 คน แต่โทษที่หมวยได้รับจากการวิจารณ์สิ่งที่ไม่ดีในรัฐบาลนั้น ไฉนถึงได้กลายเป็นการต่อต้านรัฐบาลไปได้

“ผมเคยบอกหมวยแล้วว่า วิจารณ์อะไรก็ได้ แต่ถ้าไปแตะเรื่องเขื่อนนี่คอขาดบาดตายเลย เพราะรัฐบาลได้เงินจากตรงนี้ทั้งนั้น” ผู้ลี้ภัยที่เป็นเพื่อนสนิทหมวยบอกกับพวกเรา

ต่อไปนี้ การสร้างเขื่อนของลาว ซึ่งสร้างผลกระทบกับระบบนิเวศ การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน คงจะเดินหน้าโดยไม่มีก้างขวางคออีกต่อไปแล้ว

 

หมวย มโนธรรมแห่งสังคมลาว

 

ภาพรณรงค์ Free หมวย
ภาพรณรงค์ Free หมวย

 

การที่เรื่องเกี่ยวกับลาวถูกรับรู้น้อยในสายตาโลก ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นความสำเร็จของรัฐบาลในการกำราบสื่อและประชาชนให้เงียบ ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะความล้มเหลวของคนลาวเองในการจัดตั้งองค์กรของตนในประเทศ (ที่มีข้อจำกัดมากมาย) และต่างประเทศ แต่ในเมื่อโลกทั้งใบเชื่อมโยงกัน ลาวยังคงเป็นประเทศที่มีพื้นที่ป่ามากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย เป็นปอดเล็กๆ ให้กับคนและสัตว์ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของการสร้างเขื่อนในจีนและลาว ทำให้แม่น้ำโขงน้ำแห้ง ส่งผลต่อเกษตรกรและผู้ทำอาชีพประมงนับล้านคนในอาเซียน

การที่ประเทศลาวควบคุมความคิดเห็นของประชาชนและลงโทษคนที่คิดต่าง ทำให้เสียงประชาชนซึ่งใกล้ชิดกับธรรมชาติไม่มีความหมาย ธรรมชาติคือสิ่งที่ถูกตักตวงเพื่อผู้ปกครองและพรรคพวกเท่านั้น จึงไม่แปลกใจเลยว่าขณะที่เขื่อนถูกมองว่าล้าหลังไปแล้ว แต่ลาวยังผุดเขื่อนขึ้นเรื่อยๆ โดยขาดการตรวจสอบและเล็งเห็นถึงปัญหาจากการสร้าง ทำให้ภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้น เขื่อนหลายแห่งพังลงมา ระบบนิเวศและความหลากหลายทางธรรมชาติที่รุ่มรวยกำลังถูกทำลายลงไป โดยที่คนทั้งโลกแทบจะไม่รู้ตัว

คนในประเทศที่มีการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน รวมถึงคนในอาเซียนที่แม้จะไม่ได้เป็นประชาธิปไตยและมีเสรีภาพน้อยกว่า ล้วนมีพันธะหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น รัฐบาลลาวกำลัง ‘ฆ่าธรรมชาติ’ ที่กระทบคนทั้งโลก และ ‘ลงโทษ’ คนที่ส่งเสียงให้รัฐบาลตระหนักถึงภัยนี้

ในยุคแห่งความมืดมนนี้ เรากำลังเห็นว่า แท้จริงแล้ว คนหนุ่มสาวชาวลาวที่เติบโตมาในยุคที่ข้อมูลข่าวสารไม่ได้ปิดกั้นได้ง่ายกำลังท้าทายความอยุติธรรมของการปิดกั้นเสรีภาพและละเมิดสิทธิมนุษยชนยาวนานกว่า 40 ปีของรัฐบาลลาว

หมวย เป็นแรงบันดาลใจของพวกเขา

หมวยเป็นชาวบ้านธรรมดาๆ ที่รักชาติของเธอ รักชุมชน รักผืนดิน รักป่า แม้เสียงเงินจากนายทุนจีนและการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมลาวจะยังดังกว่า แต่เธอก็ไม่กลัวที่จะพูด พูดแทนคน พูดแทนเสียงต้นไม้ที่กำลังถูกโค่นเพื่อสร้างเขื่อน

แม้คนทั้งโลกยังไม่รู้จักหมวย แต่เธอได้ยืนหยัดอย่างกล้าหาญเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมในลาวให้เป็นปอดของโลกได้อยู่ยาวนานที่สุด กล่าวอีกนัยคือ เธอกล้าหาญเพื่อคนทั้งโลก หมวยไม่สมควรจะถูกตั้งข้อหาจากการยืนหยัดนี้ เราทั้งโลกควรเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกและองค์กรต่างประเทศทั้งหลายเข้าไปช่วยเหลือเธอ และเรียกร้องรัฐบาลลาวให้ปล่อยตัวเธอโดยทันที

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save