fbpx

เรียนฟรีเหมือนกันแต่ได้ไม่เท่ากัน? : ปรับ ‘นโยบายเรียนฟรี’ ให้ตอบโจทย์สังคมไทย กับ ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์

หลายครั้งที่เราพูดคุยกันถึงนโยบายเรียนฟรีในสังคมไทย มีงบประมาณที่ให้นักเรียนต่อคนเท่าๆ กัน แต่เมื่อดูรายละเอียดแล้วคุณภาพกลับไม่เสมอภาคและทั่วถึงกัน 

บางโรงเรียนมีการเก็บเงินเพิ่มในรูปแบบ ‘ค่าบำรุงการศึกษา’ หรือ ‘ค่าธรรมเนียมการศึกษา’ ด้วยเหตุผลที่ว่างบประมาณอุดหนุนการเรียนฟรีจากรัฐไม่ครอบคลุมต่อคุณภาพการศึกษาบางอย่าง เช่น ค่าจ้างครูชาวต่างชาติ ค่าห้องเรียนปรับอากาศ ค่าบำรุงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ฯลฯ

ในขณะที่โรงเรียนขนาดเล็กหรือโรงเรียนห่างไกล พบปัญหางบประมาณไม่เพียงพอต่อการจัดการศึกษาได้มีประสิทธิภาพได้เท่ากันกับโรงเรียนขนาดใหญ่หรือโรงเรียนในตัวเมือง จึงต้องกลับมาถามว่า ในนโยบายเรียนฟรี 15 ปีที่ผ่านมา ยังตอบโจทย์และครอบคลุมต่อการศึกษาไทยมากน้อยแค่ไหน

ในขณะเดียวกัน ตลอดหลายปีที่มีการดำเนินนโยบายเรียนฟรี กลับไม่สามารถมีตัวชี้วัดที่บอกถึงคุณภาพการศึกษาที่สัมฤทธิ์ผลได้อย่างชัดเจน ในทางตรงกันข้าม ตัวเลขของผู้เข้าเรียนกลับลดลงเรื่อยๆ จึงต้องกลับมาตั้งคำถามว่านโยบายเรียนฟรีที่ผ่านมาตอบโจทย์ต่อสังคมไทยมากพอหรือยัง

101 คุยกับ รศ.ดร. ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ศึกษานโยบายเรียนฟรี 15 ปี และนำเสนอในงานเสวนา ‘ถึงเวลาแล้วหรือยัง ปฏิรูปนโยบายเรียนฟรี’ โดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ตามไปหาคำตอบว่าข้อเสนอการปรับนโยบายเรียนฟรีให้ตอบโจทย์กับภาวะข้าวยากหมากแพงจากงานศึกษานี้เป็นอย่างไร ทำอย่างไรลักษณะโรงเรียนไทยที่มีคุณภาพและความต้องการเงินช่วยเหลืออุดหนุนแตกต่างกัน จะได้รับการดูแลได้อย่างมีคุณภาพและทั่วถึงกัน

ปัญหาที่ผ่านมาของนโยบายเรียนฟรี 15 ปีคืออะไร ทำไมจึงต้องมีข้อเสนอการปรับเปลี่ยนนโยบายกันใหม่

ต้องเล่าก่อนว่า ตามกฎหมาย รัฐมองว่าการศึกษาเป็นสิทธิที่คนไทยมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาทั่วถึงและมีคุณภาพ ทุกคนต้องได้เรียน ไม่ว่าจะมาจากแบล็กกราวนด์แบบไหน ความแตกต่างอะไร แม้กระทั่งต่างชาติที่มาอยู่บ้านเราก็ตาม รัฐต้องอุดหนุน 

ซึ่งปกติการศึกษาภาคบังคับของเรา ตั้งแต่ประถมจนถึงม.ต้น ไปจนถึงม.ปลาย รัฐบาลมีการอุดหนุนเงินให้ ชาวบ้านเรียกง่ายๆ ว่าโครงการเรียนฟรี ซึ่งก็จะพูดถึงการอุดหนุน มีองค์ประกอบหนึ่งคือเรื่องค่าเล่าเรียนเป็นรายหัวนักเรียน รวมถึงค่าเครื่องแบบนักเรียน ตำราเรียน อุปกรณ์การเรียน สมุด หรือเด็กประถมมีค่าอาหารกลางวันให้ แล้วก็กิจกรรมต่างๆ ที่โรงเรียนจัดเพื่อพัฒนาเด็ก ดังนั้น โดยรวมเวลาพูดถึงเรียนฟรี เขาพูดถึงมาตรการของการอุดหนุนผ่านสถานศึกษา ซึ่งบางสถานศึกษาจะเอาเงินอุดหนุนบางรายการมาให้ผู้ปกครอง เช่น ค่าเสื้อผ้า บางโรงเรียนให้ค่าหนังสือ แล้วผู้ปกครองเอาไปซื้อเอง แต่ส่วนใหญ่โรงเรียนจะซื้อให้ เพราะมีรายละเอียดเยอะเนอะ ต้นเทอมเด็กก็จะแบกกันมาเป็นถุงๆ 

อันนี้คือนโยบายเราพยายามที่จะส่งเสริมให้เกิดการจัดการศึกษาที่ได้ทั่วถึง ทีนี้ประเด็นของการทั่วถึงมันต้องตีความอยู่พอสมควร เพราะว่านโยบายการให้เงินคือการให้ตามจำนวนนักเรียน ซึ่งมันควรจะทั่วถึง แต่ประเด็นคือ การจะจัดการศึกษาได้ดีหรือไม่ดี มันมีปัจจัยเรื่องจำนวนเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งนี่คือมิติหนึ่งของปัญหานโยบายเรียนฟรี

ลองยกตัวอย่างกรณีค่าอาหารกลางวัน ถ้ามีโรงเรียนที่มีจำนวนเด็ก 100 คน อีกโรงเรียนมีจำนวนเด็ก 1,000 คน ทุกคนได้ค่าอาหารเท่ากันในจำนวน 21 บาท แต่เงินที่เอามาบริหารจัดการได้ไม่เท่ากัน สำหรับเด็ก 100 คน ได้มา 2,100 เทียบกับเด็กที่มี 1,000 คน รวมเงินกันได้ 21,000 ลองคิดดูว่าคุณภาพจะต่างกันไหม

อีกเรื่องที่อาจจะไม่ได้คิดกันอยู่มาก คือความแตกต่างในระดับพื้นที่ เด็กอยู่บนเขาหรือบนเกาะ ค่าอาหารแพงกว่าเด็กในเมือง เพราะมันเดินทางยาก มีค่าขนส่ง พอแปลงเป็นคุณภาพอาหารมันก็ต่างกันอยู่แล้ว 

มิติที่สอง คือ การเข้าไปชดเชยความแตกต่างตรงนี้เพื่อให้งบเพียงพอและมีคุณภาพ หลักการง่ายๆ คนที่เสียเปรียบก็ควรได้รับส่วนที่เสียเปรียบ บ้านเราก็มีการอุดหนุนเพื่อชดเชยโรงเรียนที่เสียเปรียบ เช่น  รัฐก็มีนโยบายอุดหนุนเพิ่มเติมไว้ให้โรงเรียนขนาดเล็ก ถ้าคุณมีนักเรียนจำนวนน้อยเท่านี้ เราจะมีเงินอุดหนุนเพิ่มให้ แล้วก็ถ้าโรงเรียนคุณอยู่ในพื้นที่พิเศษตามประกาศของสพฐ. หรือกระทรวงการคลัง เช่น พื้นที่เสี่ยงภัย กันดาร เกาะแก่ง สันเขา เดินทางลำบาก มีโรคระบาด เขาก็มีการชดเชยให้ 

แต่มิติพวกนี้ไม่ได้มีการทำให้เป็นกิจจะลักษณะ เงินที่รัฐอุดหนุนให้ก็ไม่ได้มากนัก การจะจัดให้โรงเรียนได้คุณภาพเท่ากันมันยังไม่เกิด เพราะฉะนั้น ไม่แปลกใจทำไมคนบนเขาอยากให้ลูกลงไปเรียนข้างล่าง คนบนเกาะก็พาลูกไปเรียนบนฝั่ง 

เราจะเห็นแล้วว่าตัวระบบดึงนักเรียนจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ประเด็นบ้านเราคือไม่มีการบังคับ ผมอยู่ที่ตำบลนี้ ไปเรียนข้ามจังหวัดก็ได้ ไม่มีใครว่า ตรงภาพเราจะต่างจากต่างประเทศ เขาเรียนในเขตบริการ หรือที่เราเห็นว่าเขาเรียนใกล้บ้าน จะรวยหรือจนก็เรียนที่เดียวกัน 

ของเราลูกคนรวยเลือกเรียน ส่วนคนจนไม่ได้เลือก เราจะเห็นว่ามันจะมีโรงเรียนบางกลุ่มที่จำนวนนักเรียนลดลงๆ เรื่อยๆ และคุณภาพลดลง ปัญหาคือในทางเศรษฐศาสตร์ เมื่อจำนวนน้อย ต้นทุนต่อหน่วยจะเพิ่ม เพราะว่าหลายๆ อย่างไม่ได้แชร์แล้ว มันก็ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ อีก เช่น การจัดสรรครู คุณภาพครู เมื่อมีเด็กน้อยก็มีครูน้อย เมื่อครูน้อยก็ต้องสอนหลายชั้น สอนหลายห้อง 

ฟังแล้วมีหลายปัญหามาก ซึ่งข้อเสนอของอาจารย์คือให้ปรับเงินอุดหนุนตามขั้นบันได พิจารณาตามขนาดและพื้นที่ของโรงเรียน คำถามคือ นโยบายเงินอุดหนุนจะช่วยแก้ปัญหาทั้งหมดนี้ได้อย่างไร

โดยหลักการ ถ้าเงินมากขึ้น ปัญหาอาจจะลดลง ถ้าเราแยกปัญหาครูกับทรัพยากรอื่นๆ ออกก่อนนะ เพราะฉะนั้น สิ่งที่รัฐบาลเพิ่งอนุมัติไปคือการเพิ่มเงินรายหัวที่เราให้ต่อคน แล้วเงินค่าเครื่องแบบและเงินค่ากิจกรรมจะทยอยปรับขึ้น ด้วยเหตุผลเรื่องความไม่เพียงพอ และค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อโดยหลักการที่รัฐอนุมัติไปก็โอเค ไม่ได้มีประเด็นอะไร ถ้าโรงเรียนมีทรัพยากรที่เพิ่มขึ้น เขาก็สามารถที่จะใช้จ่ายในเรื่องที่จำเป็นได้

ในข้อเสนอหนึ่งของอาจารย์คือการเพิ่มเงินอุดหนุนให้กับวัยอนุบาลด้วย โดยเฉพาะเด็กยากจนพิเศษ ประเด็นนี้สำคัญต่อการศึกษาไทยอย่างไร

ปกติเราอุดหนุนเงินเรียนฟรีตั้งแต่อนุบาลอยู่แล้ว เดิมในสังกัดสพฐ. เราเริ่มที่อนุบาล 2 กับ 3 สำนักงบประมาณเขาจะให้อัตราอุดหนุนเด็กอนุบาลในปัจจุบันคือ 1,700 แต่ว่ามันมีตัวหนึ่งที่น่าจะเป็นประเด็น เนื่องจากการเข้าเรียนอนุบาลค่าใช้จ่ายสูงเหมือนกัน เราไปสำรวจมา ส่วนใหญ่วัยนี้ก็เรียนแบบเตรียมความพร้อม เล่นสนุก อาจจะดูไม่ได้ใช้อะไรมาก แต่จริงๆ มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าเสื้อผ้า เพราะโรงเรียนบอกว่าเด็กวัยนี้เล่นเลอเทอะ ต้องเปลี่ยนชุดนอนบ้าง กินมอมแมม หรือเรื่องระเบียบวินัย ซึ่งถ้าถามผมคิดว่าไม่ได้จำเป็น แต่ในมุมของครูถ้าเด็กไม่ได้ใส่ชุดเป็นระเบียบจะดูแลยาก แล้วก็มีค่าประกัน เล่นกันแล้วเผื่อหัวร้างค่างแตก ซึ่งค่าใช้จ่ายสูงเหมือนกันนะ ไม่ใช่ว่าไปเรียนฟรี จริงๆ ตรงนี้เก็บเยอะเลย โดยเฉพาะครอบครัวที่ไม่มีเงินก็ลำบาก 

คราวนี้อนุบาลไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับ ถ้าหากไม่ส่งลูกมาเรียนก็ได้ บ้านที่ไม่มีฐานะก็ไม่ได้ส่งมาเรียน ซึ่งรัฐบาลไม่ได้มีการอุดหนุนนักเรียนกลุ่มที่มีฐานะยากจนมาก่อน จนกระทั่งกศส. มาทำ เขาเลยมีข้อเสนอว่า น่าจะทำให้เป็นตัวระบบเดียวกัน เด็กที่เข้ามาสู่ระบบการศึกษาตั้งแต่อนุบาลและมีฐานะยากจน ก็ควรจะได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ

เพราะฉะนั้น แนวโน้มถ้าเราอุดหนุนในกลุ่มเด็กยากจนได้ ผมคิดว่าอัตราการเข้าเรียนอนุบาลจะดีขึ้น เพราะปัจจุบันนี้มีเด็กประมาณ 20% ที่สภาพัฒน์เขาไปสำรวจว่าเด็กจำนวนมากที่ไม่ได้เข้าเตรียมความพร้อมในระดับอนุบาล เป็นสถิติที่นานพอสมควร ซึ่งผมไม่แน่ใจว่า acculate มากน้อยแค่ไหน  

การลงทุนการศึกษาให้กับเด็กตั้งแต่วัยอนุบาลสำคัญอย่างไร

ถ้าเรามองในแง่หนึ่ง คนที่เตรียมความพร้อมได้ตั้งแต่ในระดับอนุบาลน่าจะมีฐานะดี เพราะฉะนั้น ก้าวแรกเขาพร้อมเข้าสู่ระบบศึกษาภาคบังคับระดับป.1 ได้แล้ว ส่วนเด็กที่จนหน่อย กว่าจะได้เข้าเรียน พอเข้ามาแล้วอาจจะยังไม่รู้เรื่องเลย อะไรหลายๆ อย่างอาจจะไม่พร้อม เพราะฉะนั้น จะมีช่องว่างตรงนี้ 

ผมว่ามันมีงานศึกษาพอสมควรนะที่บอกว่าเด็กในช่วงป.1-3 เรียนรู้กันเร็วมากเลย แต่ตรงนี้มันหายไปหมด เพราะเด็กยากจนไม่ได้เรียน แล้วทำให้ปีหนึ่งเด็กรวยกับเด็กจนเรียนต่างกันเยอะมากเลยเพราะฉะนั้น ประเด็นที่เราอุดหนุนครอบครัวยากจนในระดับที่ต้องการเอาเด็กเข้าเรียนอนุบาลก็ถือว่าเป็นแนวคิดที่โอเค ในแง่หนึ่งคือทำให้อัตราการเข้าเรียนในระดับอนุบาลเพิ่มขึ้น

  แล้วส่วนใหญ่เขามองว่าการศึกษาในระดับที่มีคุณภาพ คือทำให้เด็กมีความพร้อมไปเรื่อยๆ ในต่างประเทศเขาค่อนข้างจะนิยมให้ลงทุนในเด็กเล็ก ปูพื้นฐานความพร้อมเด็กตั้งแต่ช่วงก่อนอนุบาลด้วยซ้ำ เขามองว่าเมื่อเด็กกลุ่มนี้พร้อมก็จะโตขึ้นเป็นเด็กมีคุณภาพ และอยู่ในการศึกษาระยะยาว มันก็คุ้ม ดูสมเหตุสมผล ถ้าคุณจะช่วยคนคนหนึ่งไม่ให้เขาออกจากการศึกษากลางคัน ตอนเขาจะตกเหวแล้วมันจะช้าไปนิดหนึ่ง การลงทุนตั้งแต่ระดับอนุบาลหรือเด็กเล็กที่มีคุณภาพ ถือว่าเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างจะคุ้ม

ปัญหาของเด็กที่ต่างกันก็มีรายละเอียดยิบย่อยที่จะต้องดูแลแตกต่างกัน ในการปฏิบัติจริงควรมีการวางแผนทำงานอย่างไรบ้าง

จริงๆ ในต่างประเทศเขาสร้างศูนย์ขึ้นมา แล้วสร้างแฟกเตอร์ว่าถ้าเกิดคุณมีโรงเรียนที่ต้องดูแลเพิ่ม เขาควรจะอุดหนุนเพิ่ม คนที่เสียเปรียบกว่าคุณต้องให้เพิ่มมากขึ้นอีกหน่อย ก็ตรงไปตรงมามากๆ เลย

แต่บ้านเรายังไม่ได้ทำเป็นกิจจะลักษณะ คือทำแหละ แต่ไม่ได้ปรับมานานมากแล้วอย่างที่บอก ถ้าทำให้มันเป็นกิจจะลักษณะมันก็จะดีขึ้น 

ในข้อเสนอของอาจารย์ระบุว่าที่ผ่านมานโยบายเรียนฟรีมีจุดอ่อนตรงที่ไม่มีการประเมินผลอย่างจริงจัง ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น และคิดว่านโยบายนี้ควรมีการติดตามประเมินผลอย่างไรบ้าง

เนื่องจากมันเป็นโครงการใหญ่มาก ปีหนึ่งมีจำนวนวงเงินมหาศาลหลายแสนล้าน แต่ว่าเรื่องของการติดตามผล ถ้าดูจากตัวชี้วัดของกระทรวงส่วนใหญ่คือผลการเรียน เช่น โอเน็ต ซึ่งถามว่ามันจะเป็นตัวชี้วัดที่ดีหรือไม่ดีก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่โดยรวม ภาพรวมคุณภาพโดยเฉลี่ยแนวโน้มมันลดลงเรื่อยๆ เราใช้เงินแบบเดิม แล้วคุณภาพลดลง คำถามคือ มันเกิดอะไรขึ้น คุณไม่ติดตามมันก็ไม่รู้  ถ้ามีการติดตามอย่างต่อเนื่อง คุณอาจจะเห็นว่าโรงเรียนที่ใช้ไม่พอ เขาอาจจะคุณภาพแย่ โรงเรียนที่เขาใช้เหลืออาจจะมีคุณภาพดี ซึ่งมันก็มีแนวโน้มจะเป็นอย่างนั้น 

ปัญหาส่วนใหญ่ตอนนี้เกิดจากอะไร ทำไมผลสัมฤทธิ์ลดลงเรื่อยๆ

ตอบยากมากเลย เขาก็พยายามที่จะวิเคราะห์เหมือนกันนะ แต่จริงๆ จุดหนึ่งที่ยังไม่ได้คือ ข้อมูลที่ได้จากสทศ. เขาไม่สามารถระบุตัวตนนักเรียนได้ ส่วนใหญ่ผลลัพธ์จะได้มาแค่รวมๆ เป็นโรงเรียนไป ข้อมูลที่ได้เต็มที่คือค่าเฉลี่ยแต่ละที่ว่าโรงเรียนนี้ได้ดีกว่าโรงเรียนนี้ ต่างกันขนาดไหน 

แต่ถ้าเราอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลง มันต้องดูจากเด็กแต่ละคน ซึ่งมีปัจจัยเบื้องหลังไม่เหมือนกัน เราจะอธิบายได้ว่าเด็กเรามีพัฒนาการต่างกันมากน้อยอย่างไรก็ต้องดูว่า เขามาจากครัวเรือนที่มีความพร้อมแตกต่างกันมากน้อยด้วยไหม เพราะมันไม่ได้เกิดจากปัจจัยโรงเรียนฝั่งเดียว มันเกิดจากปัจจัยตัวเด็กเอง ผู้ปกครอง ชุมชน หลักสูตร คุณภาพครู เพราะฉะนั้น พัฒนาการที่คุณจะเข้าใจได้ว่าโรงเรียนบริหารจัดการดี แล้วเด็กมีคุณภาพดี โรงเรียนมีคุณภาพ มันก็ต้องมีข้อมูลมายืนยัน 

ในต่างประเทศเขามีการศึกษาเป็นรายคนแล้วข้อมูลลึกมากเลย แต่เปิดเผยโดยไม่ระบุตัวตนของเด็กนะ แต่ของเรา ไม่มีเลย ในอนาคตผมไม่แน่ใจว่าเขาจะยอมเปิดเผยไหม 

การวัดผลในรายละเอียดแบบนั้น ใช้ทรัพยากรหลายด้าน บ้านเรามีทรัพยากรมากพอรองรับการวัดผลเหล่านี้ไหม

คือจริงๆ ตัวระบบสารสนเทศข้อมูล ทางกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เขาเริ่มวางรากตัวนี้แล้ว แต่เราจะมีแค่ข้อมูลสำหรับเด็กที่ได้รับทุน ทั้งข้อมูลพื้นฐานบางส่วนเกี่ยวกับครอบครัว สุขภาพเด็ก

 จริงๆ ปัจจุบันทางกระทรวงเองก็ทำตัวระบบ ดูแลช่วยเหลือนักเรียน เก็บข้อมูลสุขภาพจิต เรื่องพฤติกรรมอะไรเพิ่มเติมเข้าไปด้วย อันนี้เขาก็พยายามทำ แต่เพิ่งเริ่ม เข้าใจว่ากสศ. เพิ่งจะเปิดตัวระบบที่ทำร่วมกับสพฐ. ไป เป็นระบบเพื่อดูแลช่วยเหลือนักเรียน ลดความเสี่ยงจากการหลุดออกจากระบบการศึกษา แต่อันนี้ก็พื้นฐานอยู่ ถ้าเรามีข้อมูล แล้วเราสามารถที่จะบริหารจัดการข้อมูลได้มันก็จะเกิดประโยชน์

ในนโยบายของอาจารย์มีการพูดถึงกยศ. ด้วย ซึ่งสังคมก็ถกเถียงเรื่องนี้อย่างเผ็ดร้อนในโซเชียล ถ้าให้มองภาพรวมปัญหาของการกู้ยืมเรียนตอนนี้คืออะไร

ผมมองว่าอย่างนี้นะ โดยรวมเขาให้กู้เพื่อให้คนได้เรียนมันดีอยู่แล้ว แล้วพยายามทำให้ดอกเบี้ยต่ำ มันก็เป็นข้อที่ไม่มีประเด็นอยู่แล้ว การให้ทุนเพื่อเรียนเป็นคอนเซปต์ที่ดี คุณรู้ว่าคุณมีความรู้ความสามารถ และคุณมีแรงจูงใจที่จะเรียน คุณอยากเรียน แต่ว่าคุณติดขัดเรื่องทุนทรัพย์ กยศ. ก็เป็นทางออก โดยเฉพาะถ้ามองว่าเงื่อนไขของการปล่อยกู้รับได้ เช่น การขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งก็ค่อนข้างที่จะต่ำอยู่ที่ 1% หรือระยะเวลาการผ่อนชำระ 15 ปี 

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ในความคิดผมคงมีสองส่วน ส่วนหนึ่งคือเศรษฐกิจไม่ดี คนที่เขาไม่ได้อยากผิดนัดชำระหนี้ เขาก็เลยต้องผิดนัดชำระหนี้ หรืออีกส่วนคือเด็กที่คาดว่าจะหางานทำได้ ก็หางานทำไม่ได้ ก็เลยกลายเป็นประเด็นปัญหาขึ้นมา 

อีกส่วนคือ กยศ. มีการฟ้องร้องคนที่รับชำระหนี้ และมีการบังคับคดีคนจำนวนมาก คราวนี้จะอธิบายตรงนี้ต้องถอยไปไกลเหมือนกัน เพราะว่าแต่เดิมเขาคิดว่าคนกู้ไม่ต้องใช้คืน พูดตรงๆ เลย มันมีความเชื่ออย่างนั้น สมัยก่อนโรงเรียนเป็นคนชวนให้กู้ด้วยซ้ำ หนึ่ง-โรงเรียนได้รายหัว สอง-มาเรียนแล้วคุณเรียนไม่รอด ภาระความเสี่ยงอยู่ที่นักเรียน มากู้เรียนตอนม.4 เรียนไม่รอด ต้องปรับตัว มีค่าใช้จ่ายนู่นนี่นั่น เรียนไม่ทันเพื่อน ก็ต้องออกไปกลางคัน ถ้าจำไม่ผิด ตามเงื่อนไขคือ 2 ปีหลังเรียนจบหรือออกจากการศึกษาก็ต้องชำระ

ทีนี้อีกเรื่องที่เป็นปัญหา คือเบี้ยปรับสูงพอสมควร ผมคิดว่าเด็กเวลากู้ เขามองไม่เห็นภาพของการเป็นหนี้ครบ ผิดนัดชำระหนี้ขึ้นมามันพอกหัวโตเลย เหมือนธนาคารเขาไปปรับตั้งแต่วันที่คุณกู้ ไม่ได้ปรับวันที่คุณเบี้ยว ย้อนไปตั้งแต่ปีแรกที่กู้ เบี้ยปรับเลยกลายเป็นภาระ ซึ่งปัจจุบันนี้ กยศ. เขาพยายามจะลดผ่อนปรนนู่นนี่นั่น เพราะได้เงินคืนดีกว่าไม่ได้เลย

 

บางคนคิดว่าการศึกษาเป็นบริการด้านสาธารณะจะต้องจัดสรรให้เรียนฟรี ซึ่งบางข้อเสนอมองว่าการเรียนฟรีจำเป็นต้องถึงระดับอุดมศึกษา เพราะรัฐใช้ทรัพยากรแรงงานฝีมือ อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร

อันนี้ก็ตรงไปตรงมาว่า เงินมันมีต้นทุน ระหว่างที่คุณบอกว่าเอาไปให้นักศึกษามหาวิทยาลัยเรียนฟรี เดี๋ยวเขาจะมาจ่ายคืนในรูปภาษี ก็จริง แต่ผลประโยชน์เขาก็มองว่าต้องดูว่า รัฐมีหน้าที่ต้องลงทุนทางด้านอื่น เพราะฉะนั้น ถ้าจะเทียบกันผมว่าเอาไปลงทุนอนุบาลดีกว่ามหาวิทยาลัยดีไหม คุ้มกว่า ถ้าใช้ตรรกะแบบนี้มีโครงการอีกเยอะแยะที่คุ้มกว่า 

จริงๆ การกู้ในระดับมหาวิทยาลัยในหลายที่ก็กู้หมดนะ อเมริกาก็ต้องกู้ ยกเว้นยุโรปให้เรียนฟรี เพราะฉะนั้นเขามองว่าประโยชน์ที่เกิดจากการใช้จ่ายตรงนี้ รัฐอุดหนุนไปแล้วบางส่วน คืออุดหนุนผ่านมหาวิทยาลัย ปัจจุบัน เงินที่คุณจ่ายเป็นค่าเล่าเรียนไม่ถึงครึ่งหนึ่งของต้นทุนด้วยซ้ำ พูดง่ายๆ ว่ากลายเป็นคนจนจ่ายค่าเรียนแพงกว่า เพราะต้องไปเรียนมหาวิทยาลัยเอกชน แล้วคนที่มีโอกาสได้เรียนโรงเรียนรัฐคือค่าเรียนถูก เพราะฉะนั้น ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มไหม ก็คุ้ม ไม่ใช่ว่าไม่คุ้ม แต่ว่ารัฐก็มีโครงการอื่นที่จำเป็นจะต้องลงทุน

กลับมาที่ ม.ปลาย ผมคิดว่าในอนาคตอาจต้องลองคิดดูว่าเราขยับขยายการอุดหนุน ม.ปลาย เพิ่มไหม เพราะมีแนวโน้มว่าเราต้องการขยับอายุการศึกษาเฉลี่ยของเรา แล้วนักเรียนเราพยายามจบ ม.ต้น เพื่อเข้าเรียนต่อ ม.ปลาย รวมทั้งสายอาชีวะค่อนข้างเยอะ ปัจจุบันอัตราการเรียนต่อ ม.ปลาย ของเราสูงมาก เพียงแต่ว่าตอนนี้รัฐอาจจะไม่ได้อุดหนุนได้มากขึ้น แต่ถ้ามองระหว่างการเรียนฟรีอุดมศึกษากับเรียนฟรี ม.ปลาย ผมยังมองไปที่ ม.ปลาย มากกว่า 

ทำไมถึงคิดว่าควรสนับสนุนมัธยมปลายมากกว่า

ในแง่หนึ่ง เขาเทียบกันเลยว่าอัตราการตอบแทนในการลงทุน ยิ่งลงทุนเล็ก ยิ่งมีรีเทิร์นสูง เพราะฉะนั้นหลายประเทศเขาถึงต้องให้การศึกษาพื้นฐานในการเรียนฟรี แต่พออุดมศึกษาปุ๊ปเป็นเรื่องของที่รัฐอาจจะต้องอุดหนุน แต่อุดหนุนบางเรื่อง เช่น ปัจจุบันเราให้การอุดหนุน กยศ. เอาอุดหนุนในสาขาที่ขาดแคลน อาจจะเป็นสาขาที่มันพื้นฐาน เขาก็อุดหนุน

อาจารย์คิดว่าควรมีข้อเสนออะไรสำหรับกยศ. ในการช่วยเหลือมัธยมปลายอีกบ้างไหม

ผมคิดว่าถ้าจะช่วยได้ให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน อาจจะเป็นเงินค่าครองชีพ ซึ่งผมมีความรู้สึกว่ามันต่ำไป แต่ก็ต้องถามว่าเด็กอยากจะกู้มากหรือเปล่า ผมไม่แน่ใจนะ แต่ในความคิดผมคือมันไม่น่าจะพอ แล้วจริงๆ ผมว่า ม.ปลาย ไม่ได้อยากกู้นะ ถ้าไม่ถึงขั้นลำบากจริงๆ เขาก็จะยังไม่กู้ ไปยืมญาติก่อน เพราะค่าใช้จ่าย ม.ปลาย ไม่ได้มีค่าเทอมเหมือนมหาวิทยาลัย มันมีค่าครองชีพ ดังนั้น คนกู้ ม.ปลาย มีไม่เยอะ เท่าที่ผมคำนวณตัวเลขคร่าวๆ มีคนกู้ราว 10% ของคนเรียนต่อ ม.ปลาย

จริงๆ ข้อเสนอเดิมที ผมเสนอให้กศส. อุดหนุนเงินให้เด็กม.ปลายตัดสินใจที่จะเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้ เพราะอย่าลืมว่าการตัดสินใจเรียนต่อ มันมีเงินมอบตัว ถ้าคุณไม่มีเงินมากพอไปจ่าย คุณอยากจะตัดสินใจเรียนต่อไหม หรือคุณไม่คิดว่าคุณจะได้เงินกู้ตอนเรียน คุณจะมาสมัครเรียนและมาดำเนินการไหม แล้วก็ระหว่างที่ยื่นกู้อยู่ รอการอนุมัติ แล้วไม่มีเงินในช่วงเทอมแรกจะอยู่อย่างไร เพราะกยศ. ใช้เวลาค่อนข้างนานในการอนุมัติ

ข้อเสนอของผมให้กสศ. ช่วยเด็กยากจนพิเศษคือ ถ้าเราคิดว่าเด็กที่เขามีความรู้ความสามารถ ทำไมเราไม่มาชดเชยตรงนี้ไป คล้ายๆ เป็นแรงโบนัสให้เขา คุณมาดำเนินการเข้าระบบ เราให้เงินคุณไปดำเนินการ แล้วก็หลังจากนั้น ถ้าคุณจำเป็นต้องกู้กยศ. เพื่อค่าเทอมก็ยื่นเรื่องไป หรือคุณจะกู้ญาติก็ไม่มีใครว่ากัน แต่ว่ากสศ. มาช่วยส่งตรงให้คุณเข้าสู่ระบบขั้นตอนนี้ให้ได้ 

แต่ทางกองทุนเขายังไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ เพราะอาจจะมีแนวโน้มว่าคุณอาจจะขอมาลองเฉยๆ แล้วคุณก็ทิ้ง เพราะว่าอดีตมันมีให้เงินมาก้อนหนึ่งเพื่อคุณมาสมัครเรียน แล้วคุณไม่ผ่าน ก็ไม่โผล่มาอีกเลย คุณก็ได้เงินก้อนนั้นไป ผมยังคิดอยู่ว่าทำไงดี

อาจารย์มองเห็นว่าปัญหาช่วงก่อนเข้าเรียนตอนนั้นมันยังกู้กยศ. ไม่ได้ใช่ไหม

ใช่ ก็คนตอนไม่มีจะให้ทำอย่างไร คุณจะตัดสินใจได้อย่างไร ลำบากถูกไหม ต่างประเทศเขาก็มีนะ พยายามสร้างระบบบางอย่างว่าถ้าผมช่วยคุณไปถึงระดับหนึ่ง แล้วเราจะเก็บเงินไว้ให้คุณเป็นเงินก้นถุงเพื่อเรียนต่อ เพราะว่าไม่ใช่ไปถึงเวลาเราก็ปล่อยเขาไป ถ้าเขาไม่มี saving เขาก็ยังไม่สามารถจะเดินต่อได้ ก็เลยเป็นแนวคิดที่เสนอในบทความว่าถ้าเราผลักดันให้กลุ่มนี้ส่งถึงมือกยศ. มันจะเป็นประโยชน์ไหม แต่ว่าการตัดสินใจกู้หรือไม่กู้เป็นหน้าที่ของนักเรียนที่เขาจะรู้ความเสี่ยงของตัวเอง ว่าเขาควรจะกู้ไหม

สุดท้ายอาจารย์คิดว่าภาพฝันสวัสดิการการศึกษาแบบไหนที่อาจารย์คิดว่าอยากให้มีในบ้านเราบ้าง

คงอยากเห็นโรงเรียนที่มีคุณภาพและเข้าถึงได้ ปัจจุบันเรารู้ว่าโรงเรียนมีคุณภาพเข้าถึงได้มันแก่งแย่งกันขนาดไหน ผู้ปกครองมีฐานะก็ไปตามหาโรงเรียนให้ลูก

ท้ายที่สุดแล้ว ระบบมันไม่ได้วางไว้ว่าทุกพื้นที่ต้องดูแลการบริการตัวนี้ของตัวเอง ถ้าท้องถิ่นเป็นคนดูแล คุณก็ไปเรียกเก็บเอาจากคนในพื้นที่ได้ เขาก็มีระบบว่าถ้าคุณมาจากพื้นที่ที่ไม่มีทรัพยากร ส่วนกลางเขาก็ไปชดเชยให้ ทุกวันนี้มันไม่มีระบบตรงนี้

ถ้าอยู่ในอเมริกาเขาอุดหนุนการเรียนผ่านฐานภาษี การที่เขาจัดเรียนฟรี มันมาจากที่ผู้ปกครองจ่ายเงินค่าเรียนในรูปภาษี property tax ให้กับท้องถิ่น แล้วเอาไปจัดสรรให้โรงเรียน แต่ตัวระบบเรา ไม่ได้ให้ตัวท้องถิ่นทำ แม้เราจะสร้างเขตพื้นที่มา แต่ของเราไม่ได้ทำหน้าที่เหมือนกับเขตพื้นที่ต่างประเทศ 

แสดงว่าการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นก็เป็นสิ่งสำคัญในการทำให้การศึกษามีคุณภาพและความเสมอภาค?

เป็นอีกมิติที่คนก็พยายามผลักดัน ทำยังไงให้ตัวอำนาจจากส่วนกลางลดลง แล้วให้ระดับพื้นที่หรือโรงเรียนเป็นศูนย์กลางของความเปลี่ยนแปลง เพราะว่าการกระจายอำนาจจากส่วนกลาง ส่วนใหญ่จะเป็นการกระจายอำนาจแบบเหมาโหล

จริงๆ ถามว่าเหมาโหลก็ได้ ก็คงต้องทำอย่างนั้น แต่มันต้องเปิดช่องให้ขจัดความแตกต่างในพื้นที่ที่ไปด้วย มันต้องมีฟังก์ชั่นตรงนี้ ที่ผมเสนอว่าจะต้องมีการปรับเงินอุดหนุนเป็นขั้นบันได การมีระบบกระจายอำนาจก็ช่วยเรื่องนี้ได้ดีกว่า

หนึ่งในความพยายามผลักดันนโยบายเรียนฟรีคือ สภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานครและเครือข่ายได้ผลักดันแคมเปญ “เรียนฟรีต้องฟรีจริง” โดยมีข้อเสนอสำคัญคือ 
1. ขยายกลุ่มเป้าหมาย จากเดิม จัดสรรเป็นรายบุคคล เฉพาะระดับประถมศึกษา-ม.ต้น เป็น จัดสรรรายบุคคล เพิ่มระดับอนุบาล และม.ปลายเฉพาะนักเรียนยากจนพิเศษ ม. 4 
2. ปรับอัตราเงินอุดหนุน จากเดิมให้เฉพาะนักเรียนชั้นประถมคนละ 1,000 บาทต่อปี และม.ต้น คนละ 3,000 บาทต่อปี เป็น อนุบาลคนละ 1,000 บาทต่อปี เด็กประถมคนละ 2,000 บาทต่อปี มัธยมต้นคนละ 4,000 บาทต่อปี มัธยมปลายคนละ 6,000 บาทต่อปี

อ่านรายละเอียดข้อเสนอเรียนฟรีต้องฟรีจริงได้ที่ : https://www.change.org/FreeEducationForAllThaiStudents

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save