fbpx
คนประหลาดในโลกประหลาด : สนทนาวิทยาศาสตร์กับ FREAK lab

คนประหลาดในโลกประหลาด : สนทนาวิทยาศาสตร์กับ FREAK lab

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่องและภาพ

 

ประมาณกลางเดือนกรกฎาคม 2561 มีข่าวในวงการวิทยาศาสตร์ไทยที่ชวนตื่นตาว่า คนไทยมีส่วนร่วมในการส่ง ‘สัมภาระ’ ขึ้นไปในอวกาศ ด้วยยาน New Shepard ของบริษัท Blue Origin ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการจะสร้างยานเพื่อนำคนทัวร์อวกาศในอนาคต

สิ่งของหลายอย่างที่อาจนำไปใช้ในอวกาศ ถูกส่งขึ้นไปเพื่อทดสอบในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง จากการร่วมมือกันระหว่าง muSpace และนักวิจัยอวกาศไทย การส่งยานขึ้นไปครั้งนี้ อยู่ในช่วงทดสอบระบบ In-flight Escape System ยานพุ่งขึ้นในอวกาศด้วยความเร็วสูง แล้วจึงค่อยดีดแคปซูลออกมา ภายในนั้นมีสัมภาระและหุ่นจำลองของนักบินอวกาศ ทั้งหมดนี้เพื่อทดสอบความปลอดภัยของระบบ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

ยานอวกาศ
ภาพจากเว็บไซต์ Blue Origin

นอกจาก muSpace จะเป็นบริษัทเอเชียรายแรกที่ทดลองสำรวจอวกาศร่วมกับ Blue Origin ได้สำเร็จแล้ว ยังมีหน่วยงานวิจัยของไทยหลายแห่งมีส่วนร่วมในการส่งของขึ้นไปบนอวกาศด้วย เช่น วัสดุผ้าแบบใหม่ที่ใช้พัฒนาชุดนักบินอวกาศของ muSpace, เครื่องมือศึกษาการเคลื่อนไหวของก๊าซ และเครื่องมือตรวจจับอนุภาคของ Micro-Color ขณะแรงโน้มถ่วงต่ำโดย FREAK lab, ผลไม้ขึ้นชื่อของไทยอย่างทุเรียนโดย Thai Food in Space, เสื้อฟุตบอลทีมชาติไทยซึ่งเป็นสัญลักษณ์ในการช่วยเหลือทีมหมูป่าอคาเดมี, Carbon Nanotube วัสดุชนิดใหม่ที่แข็งแรงกว่าเหล็กประมาณ 100 เท่า โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฯลฯ

ทั้งหมดถูกส่งไปเพื่อดูว่าเมื่อสิ่งของเหล่านี้ขึ้นไปอยู่ในสภาพบรรยากาศที่ไม่เหมือนโลก จะกลายเป็นแบบไหน หนึ่งในกลุ่มที่มีส่วนร่วมนี้ มีกลุ่มที่รวมตัวกันทำสิ่ง ‘บ้าๆ’ โดยพยายามรวมเอาวิทยาศาสตร์เข้ากับศิลปะ ในชื่อว่า FREAK lab

FREAK lab เริ่มต้นจากการรวมกลุ่มค่ายวิทยาศาสตร์ JSTP ที่รวมตัวกันทำ social robot สร้างสิ่งเลียนแบบสิ่งมีชีวิต เมื่อรวมกันทำหลายอย่างเข้า จึงเกิดไอเดียว่าน่าจะชวนคนที่ชอบอะไรเหมือนๆ กันมาเปิดแล็บ

งานชิ้นแรกของ FREAK lab คือ ชุดฮอร์โมน ที่ดอกไม้จะบานเมื่อฮอร์โมนในร่างกายหลั่งออกมาว่าพร้อมมีบุตร การรวมเอาชีววิทยาเข้ากับความงาม เป็นสิ่งที่พวกเขาพยายามทำอยู่เสมอ ชุดนี้ได้ร่วมแสดงผลงานกับ Wearable Computers (ISWC) ที่ฮาวาย ในปี 2017 พวกเขาควบรวมเอาทุกศาสตร์ไว้ด้วยกัน ด้วยแนวคิดหลักที่ว่า “ทำแล้วต้องสนุก”

เรานัดกันที่ตึก Institute of Field Robotics (FIBO) สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม คุยกับ เกีย – โพธิวัฒน์ งามขจรวิวัฒน์ นักศึกษาปริญญาเอกสถาบัน FIBO ผู้จัดการของ FREAK lab ผู้หลงรักหุ่นยนต์มาตั้งแต่วัยเด็ก  และ กอล์ฟ – วเรศ จันทร์เจริญ นักศึกษาปริญญาเอก Information Science ที่ Nagoya University ผู้สนใจด้านอวกาศเป็นชีวิตจิตใจ และเป็นผู้นำกลุ่มวิจัยอวกาศใน FREAK lab

บทสนทนาต่อไปนี้ ว่าด้วยวิทยาศาสตร์ ไล่เรียงตั้งแต่การส่งทุเรียนและการแต่งหน้าบนอวกาศ การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในไทย การสร้างหุ่นยนต์เหี้ย และทุนนิยมบนดาวอังคาร!

FREAK lab

เล่าความเป็นมาให้ฟังหน่อยว่า ทำไมถึงได้มีส่วนร่วมในการส่งทุเรียนและสัมภาระอื่นๆ ขึ้นไปบนอวกาศครั้งนี้ได้

เกีย : เริ่มจาก Blue Origin ตั้งใจจะทำกระสวยสำหรับให้คนนั่งทัวร์อวกาศ ตอนนี้เป็น mission ที่ 9 ของเขาแล้ว ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการทดลอง แล้วในชุดที่ส่งยานขึ้นไปทัวร์อวกาศ ก็มีบริษัท muSpace ที่เป็นของคนไทย ต้องการทดลองเกี่ยวกับชุดนักบินอวกาศของเขาเอง เขาก็มาถามทีมวิจัยที่ไทยว่าอยากส่งอะไรขึ้นไปทดลองบนแคปซูลนั้นด้วยมั้ย เราก็เลยทำร่วมกับทีมอาหารไทย ที่อยากเอาอาหารขึ้นไปบนอวกาศ ให้นักบินอวกาศได้กินอาหารไทย เพื่อสร้างมูลค่าของประเทศให้มากขึ้น เขาก็เลยหาทุเรียนขึ้นไป

ส่วนของเราไม่ได้ยุ่งกับเรื่องอาหาร แต่เป็นส่วนของวิศวกรรม ทำกล่องหรืออุปกรณ์ช่วยให้อาหารของเขาถูกส่งขึ้นไปได้ เราเองก็เลยขอแบ่งพื้นที่เพื่อทำการทดลองของเรา มีการทดลองเรื่องการปล่อยก๊าซ ระบบ auto trigger ไฟล์ทนี้มีความท้าทายตรงที่ทั้งระบบต้องไม่มีไฟฟ้าเลย เพราะยังเป็นจรวดรุ่นทดสอบอยู่ เขาไม่อยากให้มีอะไรผิดพลาดหรือมารบกวน เพราะถ้าไฟสปาร์กขึ้นมาจะมีปัญหาทันที แต่ระหว่างนี้เขาก็อยากทดลองดูว่าสิ่งของแบบไหนที่ขึ้นไปบนนั้นได้บ้าง ซึ่งเราก็เห็นความท้าทาย และอยากร่วมทดลองด้วย

ผมเองมาจากสายไฟฟ้า ทำเกี่ยวกับ robotic ก็คิดว่าจะทำไงดี นึกไปนึกมา คิดว่าเราน่าจะมีกลไกที่พอทำได้ ก็ทำเป็นกล่องที่สามารถเปิดปิดเองได้ด้วยแรงโน้มถ่วง คือเมื่อไหร่ที่กระสวยเลยเส้นขอบโลกไปสู่อวกาศแล้ว ไม่มีแรงโน้มถ่วง กล่องนี้จะเปิดเอง แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่กระสวยตกลงมา เริ่มได้รับแรงโน้มถ่วง กล่องก็จะปิด แล้วเราก็วัดผลจากเซนเซอร์ที่ติดไปด้วย อันนี้คือจุดเด่นของงานเรา

ถ้าคนที่อินกับศิลปะ ก็จะพูดว่าเรามีงานศิลปะหนึ่งชิ้น เราเอาผงสีใส่เข้าไป แล้วข้างบนก็ติดกาวกับกระดาษ พอกล่องขึ้นไปบนอวกาศปุ๊บ ผงน่าจะกระจาย แล้วเกิดเป็นสีติด แต่พอพูดๆ ไปแล้ว คนก็จะถามว่าทำทำไม ไม่เห็นอินเลย ผมเลยอยากถามง่ายๆ ว่า ถ้าสาวๆ อยากแต่งหน้าบนอวกาศจะทำยังไง ตอนนี้เราแต่งไม่ได้ ถ้าตอบได้ว่าแต่งหน้าบนอวกาศต้องทำยังไง ก็ดูมีมูลค่าขึ้นมาทันที

ที่เราแต่งหน้าในอวกาศไม่ได้เพราะอะไร

กอล์ฟ : ฝุ่นผงเป็นเรื่องอันตรายมาก ปรกติที่เขาทำการทดลองหรือกินอะไรก็ตามบนอวกาศ จะไม่มีผงหลุดออกมา เพราะถ้าผงหลุดไปติดในแผงวงจรที่สำคัญแล้วช็อต จบเลย เพราะฉะนั้นเครื่องสำอางต้องไม่ใช่ผงอีกต่อไป แล้วมันควรเป็นอะไร ก็ต้องไปคิด ให้เป็นเจลเหรอ แล้วเจลจะติดได้มั้ย ก็เป็นความท้าทาย ทุกอย่างที่เคยใช้บนโลก กลายเป็นสิ่งใหม่หมดเลย เรื่องเหล่านี้ไม่ได้ไกลตัว

FREAK lab
ภาพจาก FREAK lab

สิ่งที่ผลักดันให้ทำสิ่งล้ำอนาคตมากๆ ไปไกลมากๆ ออกมาคืออะไร คาดหวังว่าจะเกิดอะไรขึ้น

เกีย : ส่วนตัวผม ตอบง่ายมากเลย ทำแล้วสนุกมั้ย ตื่นเต้นมั้ย ถ้าใช่ ทำครับ บางเรื่องอาจจะดูอนาคตก็จริง แต่ถ้าผมรู้สึกไม่สนุก ผมก็ไม่ทำ

ทุกคนตีความคำว่า FREAK lab ด้วยตัวเอง คุณมาอยู่แล้วรู้สึกว่าคืออะไร ถ้าถามผม FREAK lab คือที่ที่อยากทำอะไรบ้าๆ เจ๋งๆ ล้ำๆ ด้วยฐานของคำว่าสนุก

กอล์ฟ : ผมขอใช้คำของรุ่นน้องผมว่า FREAK lab เป็นสนามเด็กเล่น ตอนนี้ในส่วนของสเปซเอง ไม่มีใครเป็นวิศวกรอวกาศ เด็กที่สุดคือมัธยม เขารู้ว่าระบบสุริยะมีอะไร แต่ไม่เคยดีไซน์จรวด ไม่เคยทำอะไรที่นาซ่า แต่เขาอยากทำ เพราะฉะนั้น FREAK lab ก็เลยเป็นสนามเด็กเล่นให้เขามาเล่น แล้วหลังจากที่ได้เล่น เขาจะสร้างยานอวกาศของเขาได้เอง ซึ่งเราไม่ต้องบอกให้เขาทำ เป็นแล็บที่ไม่ใช่คนจบศาสตราจารย์มานั่งทำงาน

ส่วนของสเปซใน FREAK lab ทำอะไรกันอยู่บ้างตอนนี้

กอล์ฟ : แบ่งเป็น 2 อย่าง อย่างแรก สร้างคน ให้น้องรุ่นใหม่ที่อยากมีพื้นที่ทำโปรเจ็กต์ได้เข้ามาใช้พื้นที่ ทำสิ่งที่เขาอยากทำ ทุกวันนี้ด้านอวกาศมีงานแข่งขันตลอด ล่าสุดมีน้องม.4 ดีไซน์อวกาศที่จะไปลงดวงจันทร์แบบใหม่ ตอนนี้รอดูผลอยู่ว่าจะเป็นยังไง นี่คือธีมสนามเด็กเล่น

อย่างที่สอง โตขึ้นมาอีกรุ่น เป็นเด็กวิศวะฯ จากบางมด หรือจากที่ไหนก็ได้ในโลก ทำอะไรขึ้นมาสักอย่าง เช่น ตอนนี้เรามีดาวเทียมเอาไว้ตรวจสอบขยะอวกาศขนาดเล็ก ก็สร้าง conceptual idea ขึ้นมา

หรือทางฝั่งที่สนใจด้าน A.I. ก็มาเรียนรู้ว่าจะเขียนอัลกอริธึมใส่ไปในดาวเทียมได้อย่างไร เป็นการทำงานร่วมกัน ไม่จำเป็นต้องรวมเฉพาะส่วนของอวกาศอย่างเดียว

สำหรับน้องๆ ที่มา เราไม่ต้องไปสอนให้เขาแก้สมการยังไง แต่เราให้โจทย์ไป เดี๋ยวเขาจะไปหาวิธีการแก้ในลู่ทางของเขาเอง ถ้าผิดกฎทางฟิสิกส์ เราก็ไปช่วยปรับว่า ต้องเป็นอย่างนี้นะ เดี๋ยวเขาได้เอง

ในมุมมองของทั้ง 2 คน คิดว่าวิทยาศาสตร์ที่สอนเด็กไทยควรเป็นแบบไหน

เกีย : วิทยาศาสตร์คือสิ่งรอบตัวเรา ศิลปะก็เป็นวิทยาศาสตร์ แต่ด้วยความที่คนไทยชอบมองว่าวิทยาศาสตร์กับศิลปะอยู่คนละฝั่งกัน อันนี้แหละคือจุดสำคัญที่ทำให้วิทยาศาสตร์ดูแห้งๆ กลายเป็นแค่ก้อนก้อนนึง ส่วนศิลปะมีความโค้ง มีสุนทรียะ ฉะนั้นถ้าเอา 2 อย่างมารวมกันได้จะดีมาก บ้านเราควรเลิกมองได้แล้วว่า นี่คือศิลปะ นี่คือวิทยาศาสตร์

ผมยกตัวอย่างว่า เราหยิบพู่กันมาหลายแบบ สาดสีด้วยท่าเดิมๆ ลงไปบนผ้า ก็อาจจะออกมาเป็นภาพมั่วๆ แต่พอมานั่งวัด อาจได้สมการคณิตศาสตร์ขึ้นมาว่า สีที่เปรอะลงไปบนกระดาษที่มาจากคนละพู่กัน มีผลต่างกันยังไง ได้หยดออกมาเป็นแบบไหน ผมเลยอยากให้บ้านเราเอาความคิดสร้างสรรค์เข้ามาประยุกต์ในวิทยาศาสตร์ด้วย เด็กๆ จะเริ่มมองเห็นความสวยงามของสูตรที่เป็นตัวเลข เห็นความสวยงามของ s/t = v

กอล์ฟ : พอดีผมอยู่ญี่ปุ่นมาหลายปี จะรู้ว่าเด็กๆ ญี่ปุ่นเขาเรียนวิทยาศาสตร์ แล้วทำไมถึงประสบความสำเร็จกับนวัตกรรมมากมายขนาดนี้ เพราะว่าเขาทำให้เข้าไปในชีวิตประจำวันมากที่สุด เวลาหยุดปิดเทอม เขาจะมีวิชา freedom research ทำอะไรก็ได้ ไปจับแมลงตัวนึงมาดูก็ได้ แล้วเขาก็จะเห็นว่าธรรมชาติอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ เขาเลยมีนวัตกรรมที่เราเห็นของเล็กๆ น้อยๆ ในร้าน daiso ทำเครื่องมือเล็กๆ มัดนู่นมัดนี่ เพราะเขาเริ่มคิดจากเรื่องใกล้ตัว

หรืออย่างฝั่งอเมริกา เขามีสตาร์ตอัพที่เกิดขึ้นจากโรงรถเยอะมาก สตีฟ จ็อบส์  อีลอน มัสก์ เกิดจากโรงรถ เพราะว่าถ้าเขาอยากทำอะไร เขาก็เดินไปร้านช่าง ซื้อคู่มือมาเล่มนึงกลับมาทำที่โรงรถ

นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมฝรั่งถึงมีสตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีเยอะมาก เพราะโรงรถเขาทำอะไรก็ได้ ญี่ปุ่นมีสตาร์ตอัพเยอะมากเหมือนกัน แต่เราไม่รู้ เพราะดังไม่เท่ากับฝั่งนั้น

แล้วการพัฒนานวัตกรรมของไทยเป็นยังไง

กอล์ฟ : ของไทยเรามักคิดว่า ต้องนั่งเรียนวิทยาศาสตร์ คนทำนวัตกรรมต้องเป็นวิศวกรเท่านั้น เกษตรกรทำไม่ได้ เพราะไม่มีความรู้ ทำอะไรต้องไปถามกระทรวงวิทย์ฯ ก่อน สิ่งนี้มาปิดกั้นเราไว้ แต่จริงๆ เกษตรกรเป็นคนที่รู้วิธีทำต่างๆ เยอะมาก ถ้าเขาเพียงแค่ไปทำนวัตกรรมในโรงเพาะชำของเขาได้ เราก็อาจกลายเป็นผู้นำทางนวัตกรรมเกษตรกรรมได้ แต่ตอนนี้เราพูดไม่ได้ว่าเป็นผู้นำนวัตกรรมทางการเกษตร ทั้งๆ ที่เกษตรกรรมเป็นจุดขายของบ้านเรา

คนก็อาจมองว่าเกษตรกรไม่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ หรือที่มีทฤษฎีรองรับได้เพียงพอ หรือถ้าจะทำก็ไม่มีเงินทุนอีกรึเปล่า

เกีย : เพราะเราแยกไงครับ แยกว่านี่คือเกษตรกร เพราะฉะนั้นก็จะมีกรอบนึงมาบอกว่า เฮ้ ยูต้องทำได้แค่นี้ ถ้ายูทำมากกว่านี้แปลว่ายูไม่ใช่เกษตรกร

ผมกล้าพูดว่า เกษตรกรมีเงินสดสูงกว่าพนักงานออฟฟิศ วันๆ นึง เขาอาจจะกำเงินเป็นฟ่อนเลยก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดเรื่องเงินทุนเป็นหลัก ผมว่าไม่ใช่

กอล์ฟ : ปัญหาใหญ่จริงๆ ก็คือ เกษตรกรเขาอยากทำ แต่อย่างแรกที่เขาคิดคือ จะไปคุยกับใคร คำถามคือทำไมเขาไม่ทำเอง เขาเป็นคนที่รู้เยอะกว่าวิศวกรอีก พอไม่รู้จะคุยกับใคร ก็ไม่คุย จบ แต่ถ้าเขาไปซื้อนู่นซื้อนี่มาทำ กลายเป็นนวัตกรรมของเขาได้เอง เดี๋ยวคนก็จะเข้ามา เฮ้ย มาช่วยทำตรงนี้หน่อย ก็จะเกิดเป็นกลุ่มที่สร้างอะไรบางอย่างขึ้นมาได้

ผมเคยไปบ่อเลี้ยงปลาทองญี่ปุ่นพันธุ์หนึ่งชื่อรันจู ดังมาก ตัวนึงราคาเป็นแสนเป็นล้าน แต่กว่าจะถึงขั้นนั้นได้ เขาต้องลองผิดลองถูก น้ำต้องบำรุงเท่าไหร่ ค่า PH เท่าไหร่ ต้องเลี้ยงอาหารเยอะขนาดไหน เขาไปลงเรือเลย ต้องลองจากความไม่รู้มาก่อน เพราะฉะนั้นจะบอกว่าเงินทุนไม่มีเหรอ ผมว่าไม่เกี่ยว แต่เป็นเพราะเขาไม่กล้าทำ เลยไม่ขึ้นไปถึงตรงนั้นมากกว่า

ถ้ามองในมุมเด็กวัยรุ่น หากมีความฝันอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ อยากทำอะไรที่ล้ำๆ ในประเทศไทย เรามีความหวังขนาดนั้นมั้ย เป็นได้ไปได้แค่ไหนในสายตาเราทั้ง 2 คน

เกีย : ผมว่าทุกคนทำได้ ขึ้นอยู่กับ 3 อย่าง คือ เด็ก ผู้ปกครอง และโรงเรียน ตอนผมเป็นเด็กที่ชอบหุ่นยนต์ ผมเริ่มจากตัวเองก่อน ตอนนั้นผมเล่นดนตรีด้วย แล้วมีประโยคหนึ่งที่แม่ถามว่า ให้เอาดีหนึ่งเรื่อง เลือกมาเลยจะทำอะไร ทำให้สุดยอดไปเลย ตอนนั้นผมก็เลือกหุ่นยนต์ ทำทุกอย่างที่อยากทำ ตอนเด็กๆ ที่ฝันอยากขับกันดั้ม ก็เป็นแรงผลักดันให้ผมมาทำหุ่นยนต์

แต่ตัวเราเองไม่พอ ที่บ้านก็ต้องสนับสนุนด้วย ผมเก็บเงิน แล้วพ่อก็ช่วยซื้อชุดต่อเลโก้ ผมก็นั่งเล่นๆๆ โรงเรียนก็สนับสนุนให้ทำ ผมก็ขลุกทำหุ่นยนต์ หาเรื่องไปแข่ง ทำให้ถึงที่สุด

ยิ่งเด็กทุกวันนี้ โอกาสดีกว่าผม ตรงที่เขามีอินเทอร์เน็ตแล้ว สามารถเข้าหาความรู้ได้ เปิดคอมพ์ฯ เปิดมือถือ เดินเข้ามาหาคนที่เขารู้สึกว่ารู้เรื่องนี้ เสิร์ชเรื่องนี้เจอแต่คนชื่อนี้ ก็เดินมาหาเขา หรืออีเมลไปหา ยกโทรศัพท์ไปหา สมัยก่อนต้องส่งจดหมาย ไม่รู้จดหมายจะไปถึงรึเปล่า เขาจะเปิดอ่านรึเปล่า นี่อีเมลส่งไปก็รู้ว่าส่งถึงหรือไม่ถึง ถ้าเราไม่ท้อเสียก่อน ได้ของเจ๋งแน่นอน

กอล์ฟ : ผมคิดคล้ายๆ พี่เกียครับ สมัยนี้มีอินเทอร์เน็ต เปิดคอมพ์ฯ ทำได้ทุกอย่าง สมัยนี้ถึงมีสตาร์ตอัพด้านซอฟต์แวร์เยอะมาก ด้านฮาร์ดแวร์ก็มีพวกเมกเกอร์อะไรขึ้นมาแล้ว ซึ่งเป็นโอกาสที่ช่วยให้เด็กสมัยนี้ได้ทำอะไรที่อยากทำ

ตัวกอล์ฟเอง หลักๆ คือไปทางอวกาศเลยใช่มั้ย สนใจอะไรบ้าง

กอล์ฟ : อวกาศน่าจะเป็นความฝันของเด็กที่ชอบวิทยาศาสตร์เกือบทุกคนนะ หนังไปอวกาศก็มี หรือถ้าบริษัททำขวดน้ำอยากทำโลโก้ให้ดูล้ำๆ ก็ติดรูปจรวดเข้าไป ผมว่าทุกคนมีอวกาศอยู่ในฝัน เพียงแต่จะกล้าออกมาทำรึเปล่า

ผมก็เป็นคนนึงที่ดูหนังอวกาศแล้วอิน แล้วเมื่อวันนึงที่มีโอกาส เราก็ลุกขึ้นมาทำอะไรที่อยากทำ ชวนคนที่คิดแบบเดียวกันมารวมกัน แล้วก็ทำให้เป็นจริงขึ้นมา

มีความฝัน ‘ที่สุด’ มั้ยว่าอยากเห็นอะไรเกี่ยวกับอวกาศ

กอล์ฟ : ถ้าเป็นความฝันเลเวลของไทยแลนด์ ผมอยากให้บ้านเรามี facility ทุกอย่าง เหมือนที่ตอนนี้โลกพยายามทำกันอยู่ มีสถานีอวกาศ มีนักบินอวกาศ มีจรวด เพราะถ้ามีของพวกนั้นแล้ว เดี๋ยวทุกอย่างจะตามมาเอง เด็กรุ่นใหม่ก็จะเห็นว่า เฮ้ย มีแล้วนี่ ถ้าเราอยากทำโรบอตวิ่งบนดาวเนปจูน ก็ทำได้ เพราะมีโครงสร้างพื้นฐานแล้ว

แต่ถ้าความฝันในเลเวลที่ไม่มีขอบเขตเลย คือ เราต้องใช้ชีวิตอยู่ได้บนดาวอังคาร อันนี้อาจจะคล้ายๆ กับที่อีลอน มัสก์ อยากจะทำ คือเขาอยากจะไป แต่หลังจากนั้นยังไม่ได้คิด ให้ไปให้ได้ก่อน แต่ว่าหลังจากนั้น ต้องไปกินอยู่ให้ได้เหมือนบนโลก อันนี้เหมือนความฝันที่ไม่มีขอบเขต เพราะไม่รู้ว่าผมตายไปแล้วจะทำได้รึเปล่า

เวลาคนพูดถึงเรื่องการไปอวกาศ เหมือนเป็นการวัดสิ่งทรงภูมิ สิ่งที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ แล้วโดยส่วนตัวของทั้งสองคน มองว่าจริงๆ แล้ววิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่ต้องยิ่งใหญ่ขนาดนั้นมั้ย ยากขนาดนั้นมั้ย

เกีย : จริงๆ อวกาศไม่ได้ยิ่งใหญ่ โอเค บางเรื่องต้องใช้ความรู้ที่เยอะจริง แต่บางเรื่องก็แก้ไขกันได้ง่ายๆ อย่างสิ่งของที่ลอยอยู่ในสถานีอวกาศ เพราะไม่มีแรงโน้มถ่วง เราก็หาวิธีเก็บโดยเอาเทปพันไว้ ไม่ต้องใช้ความคิดระดับสูงขนาดนั้น ไม่ต้องอ่านหนังสือมาเป็นพันๆ หมื่นๆ เล่มถึงจะคิดออก ส่วนตัวผมไม่รู้สึกว่าต้องทรงภูมิอะไรมากมาย

กอล์ฟ : คุณคิดว่าอวกาศไกลตัว ก็เลยเกิดคำถามนี้ขึ้นมา แต่ว่าจริงๆ ไม่ไกลเลย แค่เปลี่ยนสถานที่ เหมือนเราไปอยู่บ้านเพื่อน เราจะทำอะไรที่บ้านเพื่อนได้บ้างก็ต้องรีเสิร์ชก่อน เพราะเราไม่รู้ว่าของในบ้านเพื่อนอยู่ที่ไหนบ้าง แล้วบ้านเพื่อนมีกี่ชั้น เราต้องศึกษาเพื่อทำความคุ้นเคยกับมัน

อวกาศก็เหมือนกัน เพียงแต่มันดันย้ายไปอยู่ในที่ที่ไม่มีแรงโน้มถ่วง ซึ่งเราก็ต้องคิดใหม่ว่าจะทำยังไง เพื่อกำจัดปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้เราอยู่ได้ คอนเซ็ปต์มีง่ายๆ แค่นี้ แต่คนจะชอบคิดไปก่อนว่ามันไกล มันก็เลยไกล

ณ ตอนนี้ FREAK lab มีโปรเจ็กต์อะไรที่น่าตื่นเต้นบ้าง การส่งทุเรียนขึ้นไปบนอวกาศ สำหรับพวกคุณแล้วเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมั้ย

เกีย : ก็ตื่นเต้นนิดนึงครับ ตรงที่ว่า เฮ้ย เราได้ส่งของขึ้นไปจริงๆ แล้ว เพราะที่เราทำมา เราไม่เคยได้ส่งของอะไรขึ้นไปจริงๆ เลย แต่ไม่ได้ตื่นเต้นกับทุเรียน

ถ้าถามว่าตอนนี้ สิ่งที่รู้สึกว้าวสุดคืออะไร ก็คือตอนที่พีพี (พัทน์ ภัทรนุธาพร หนึ่งในสมาชิก FREAK lab) โทรมาบอกว่าอยากให้ทำหุ่นยนต์ใน FREAK lab ก็ถามว่าทำหุ่นยนต์อะไรดี พีก็บอกว่าทำหุ่นยนต์เหี้ย

หุ่นยนต์เหี้ยคืออะไร น่าสนใจยังไง

เกีย : มันวิ่งเร็วได้ ว่ายน้ำเร็วได้ มีเทคนิคการว่ายน้ำหลายแบบ ว่ายเหมือนจระเข้ ว่ายแบบดำน้ำ แค่การที่เราจะทำหุ่นยนต์เลียนแบบมันก็น่าสนใจแล้ว หรืออย่างผิวหนังเหี้ยก็น่าสนใจ พอเราซูมแล้วจะเห็นว่าโครงสร้างน่าสนใจหลายจุด แล้วอีกอย่างคือที่บางขุนเทียน (ที่เก็บของ FREAK lab) มีเยอะ เออ ทำล้อเลียนมันดีกว่า แต่ไม่รู้ว่าจะทำได้มั้ย น่าจะต้องใช้งบเยอะ

พอพูดถึงหุ่นยนต์เลียนแบบสิ่งมีชีวิต ก็คิดถึงประเด็นที่คนพูดถึงกันมากในช่วงที่ผ่านมาคือ A.I. จะมาแทนที่มนุษย์ พวกคุณคิดอย่างไรกับประเด็นนี้

เกีย : ต้องแบ่งก่อนครับว่า A.I. กับโรบอท คือคนละเรื่องกัน แต่เมื่อเอาสองอย่างมารวมกันจะทำอะไรได้หลายอย่าง

A.I. คือ สมอง ความคิด การตัดสินใจ การเรียนรู้ เป็นแนว machine learning เช่น ถ้าเราไปที่ไหนบ่อยๆ มันก็จะถามว่าที่นี่คือที่ทำงานคุณรึเปล่า

โรบอท ถ้ามองโหดร้ายหน่อย ก็คือเครื่องจักรนั่นแหละ แต่มีความสามารถมากขึ้น เริ่มฉลาดมากขึ้น ซึ่งความฉลาดนั้นก็คือการเอา A.I. มาใส่ ตอนนี้อาจยังไม่ถึงขั้นเอา A.I. มาใส่แล้วทำอะไรได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็เริ่มมีความฉลาดแล้ว

เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าโรบอทจะมาแทนคนมั้ย แทนครับ แต่แทนในงานบางงาน

ผมยกตัวอย่าง บริษัทผลิตน็อต ต้องตรวจคุณภาพว่าน็อตตัวนี้ผลิตออกมาแล้วใช้ได้ไหม วิธีการคือ เขาจ้างคนมายืนไขน็อต ไขเข้าไขออกทั้งวัน ลองนึกภาพว่าถ้าเราต้องทำอะไรแบบนี้ตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น สุขภาพเป็นยังไง สายตา หลัง เป็นยังไง เรื่องจิตใจอีก ตกเย็นจะมีความคิดสร้างสรรค์ไปทำชีวิตให้ดีขึ้นกว่านี้มั้ย ประเด็นคืออะไรที่ไม่ตอบโจทย์ชีวิตคน หุ่นยนต์ควรเข้ามาแทนที่ เพราะหุ่นยนต์ถนัดทำเรื่องซ้ำๆ โดยเฉพาะเรื่องที่ต้องการความแม่นยำ แล้วเราก็เอาคนมาทำอะไรที่สร้างสรรค์กว่า

ถ้าพูดถึง A.I. ตอนนี้จะให้มานั่งตัดสินใจ ก็ยังทำไม่ได้ มันมีหน้าที่ให้ข้อมูลว่าอะไรทำได้แค่ไหน แต่การตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ ยังขึ้นอยู่กับมนุษย์ เหมือนเรื่องไอรอนแมน ที่ A.I. บอกว่ามีโอกาสทำภารกิจสำเร็จแค่ 0.01 เปอร์เซ็นต์ แต่ไอรอนแมนตัดสินเองว่าในโอกาสแค่นั้นเขาจะทำอะไร  A.I. ยังมีลิมิตอยู่ เช่น เราเห็นอัลฟ่าโกะเล่นโกะเก่งมาก แต่ถ้าให้ไปปาลูกดอกมันก็ทำไม่ได้

หรืออย่างการให้ A.I. ไปเรียนรู้ภาพทั้งหมดของศิลปินที่ตายไปเมื่อ 300 ปีที่แล้ว แล้วให้ลองประมวลผลว่า ถ้าศิลปินคนนี้ยังมีชีวิตอยู่ เขาจะวาดภาพอะไรต่อไป A.I. แบบนี้มันสามารถวาดได้ แต่ถ้าบอกให้มันวาดรูปที่สื่อถึงความรู้สึกถึงมนุษย์ต่างดาวบนดาวอังคารหน่อยสิ มันจะวาดยังไง ในเมื่อมันไม่เคยรู้ว่ามนุษย์ต่างดาวที่อยู่บนดาวอื่นเป็นยังไง มีแต่มนุษย์ต่างดาวที่คนวาด สุดท้ายคนวาดแบบนี้ มันก็จะวาดแบบนี้ ไปต่อไม่ได้อยู่ดี ถามว่าเจ๋งมั้ย เจ๋ง เท่ดีนะ สามารถคำนวณเพื่อจะสร้างอะไรขึ้นมาได้ แต่มันยังไม่ใช่ความสร้างสรรค์

แต่ถ้าเมื่อไหร่เราจับเอา A.I. กับโรบอทรวมเข้าด้วยกันอย่างไม่มีรอยต่อ ก็น่าสนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราจะเรียกหุ่นยนต์นี้ว่าสิ่งมีชีวิตมั้ย บ้านเราไม่ค่อยคุยกันเรื่องนี้ แต่ต่างประเทศคุยไปเยอะแล้ว สุดท้ายแล้ว ถ้าเราเอามาใช้เพื่อการสงคราม ก็คือการทำลาย แต่ถ้าเราเอามาใช้เพื่อความสร้างสรรค์ ก็คือความสร้างสรรค์

เพราะฉะนั้นก็ต้องดูว่าหุ่นยนต์จะมาแทนที่ในจุดไหน เราจะต้องไปอยู่ในจุดไหน มันจะทำลายบางอาชีพ แต่ก็จะเกิดอาชีพใหม่ขึ้นมา เหมือนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ยุคหุ่นยนต์อาจเป็นการ paradigm อีกรอบนึงก็ได้

กอล์ฟ : ผมขอเล่าเรื่องตอนผมเป็นล่ามที่โรงงานในญี่ปุ่น ตลอดระยะเวลา 5 ปี ผมเห็นการพัฒนาในโรงงาน จากแต่เดิมเป็นคน ผมหายไป 2 เดือน กลับมาอีกทีคนหายไปทั้งชั้นเลย กลายเป็นเครื่องทั้งชั้น สิ่งที่ผมเห็นคือพนักงานมีความสุขมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้เขาต้องมานั่งทำหมื่นชิ้นต่อวัน มันเจ็บมือ ตอนนี้เขาแค่เข็นเอาไปจ่ายให้เครื่อง ตอนนี้อาจเหนื่อยเดิน แต่ในอนาคตก็อาจมีหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่ คนก็ขยับไปทำงานอื่นอีก งานที่คนทำจะไม่ใช่งานที่ทำอะไรซ้ำๆ แล้ว แต่จะใช้ความคิดมากขึ้น งานที่ต้องทำอะไรซ้ำๆ ก็ให้หุ่นยนต์ทำไปเลย คนไม่ควรมาทำงานแบบนี้แล้ว

ผมถามพี่คนไทยว่า โรงงานที่ไทยหุ่นยนต์เยอะขนาดนี้มั้ย พี่เขาบอกว่า ที่ไทยไม่มีหุ่นยนต์เลย คนทำทั้งหมด ผมคิดว่าควรจะเริ่มเอามาแทนได้แล้ว เพราะการที่มีเทคโนโลยี A.I. หรือโรบอทเข้ามาแทน มันดีเสียอีก ไม่ใช่ว่าจะแย่งงานคน เพราะมันไม่ใช่งานของคนตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เราควรขยับไปทำสิ่งอื่นได้ ไปคิดว่าจะพัฒนาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อย่างไร อย่ามองเป็นปัญหา แต่ต้องประยุกต์ นี่คือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่

ก็มีบางงานที่หุ่นยนต์ทำแล้วเละ คืองานศิลปะ เช่น เพนท์สีรถยนต์ในส่วนโค้งเว้า หรือการเย็บเบาะ ตอนนี้อีลอน มัสก์ กำลังสู้อยู่ว่าอยากให้หุ่นยนต์ทำให้ได้ แต่ยังติดตรงที่ว่า อะไรที่ต้องใช้ศิลปะ คนยังทำได้ดีกว่า หุ่นยนต์ยังเข้าไม่ถึงความสวยงามของรูปลักษณ์ การซ้อนทับกันของแต่ละชั้น แต่วันนึงอาจไปถึงได้

ในไทยมีโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่การมีหุ่นยนต์มาทำงานแทนคนมั้ย

เกีย : มีครับ ผมว่าใกล้แล้ว ตอนนี้ก็มีบริษัทหุ่นยนต์มาทำ automation ในไทย เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดเลย เด็กไทยเองก็มีฝีมือเยอะแยะ เราจะเห็นว่ามีเด็กไปแข่งหุ่นยนต์ ซึ่งพวกที่แข่งๆ ได้แชมป์มา ก็เริ่มมาทำอะไรพวกนี้มากขึ้น แต่ก่อนก็คงไปอยู่ต่างประเทศกัน แต่มันเป็นแค่การรอเวลา วันนึงที่ประเทศไทยเห็นว่าเขามีคุณค่า เขาก็พร้อมที่จะกลับมา ซึ่งผมว่าถ้าในสายหุ่นยนต์ เราใกล้ถึงเวลานั้นแล้ว

FREAK lab

ปัญหาในวงการหุ่นยนต์ที่ไทยเป็นอย่างไร แล้วที่กอล์ฟไปเรียนที่ญี่ปุ่น เห็นความแตกต่างอะไรบ้าง

กอล์ฟ : เห็นว่าเรียนที่ไทยดีกว่า ญี่ปุ่นระบบการศึกษาเขาไม่ได้ดีกว่าบ้านเรานะ เราไม่ได้ด้อยกว่าเขาในเรื่องความรู้ แต่อย่างที่รู้ว่าเขาทำให้ทุกอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นคนนอกระบบการศึกษา หรือไม่ได้เรียนวิศวะฯ ก็ทำอะไรของเขาเองได้หมดเลย ประเทศเขาถึงพัฒนามาได้ถึงจุดนี้

สิ่งที่เราด้อยคือโอกาส เพราะเวลาเราจะทำอะไรที่ญี่ปุ่น ผมแค่เดินไปบอกอาจารย์ ผมอยากทำอันนี้ จบ ได้เลย ถ้าหาทุนได้ ซึ่งมันมีทุนต่างๆ ให้อยู่แล้ว

เกีย : เป็นปัญหาเหมือนกัน ผมอยู่ที่ไทย กว่าจะสร้างหุ่นยนต์ได้ ผมต้องใช้เวลาเกือบ 3 ปีเพื่อรอเงิน ค่อยๆ สะสมเงินเพื่อซื้อมอเตอร์ แต่ถ้าอยู่จีน เดือนเดียวผมทำได้แล้ว มันต่างกันที่เรื่อง funding

แต่ในขณะเดียวกัน ผมเคยไปเรียนแลกเปลี่ยนที่ญี่ปุ่น ตอนป.โท ผมรู้สึกถึงความเครียด เป็นแพทเทิร์นมาก ต้องทำแบบนี้ๆ ด้วยความที่ผมไม่ชอบเดินตามทางที่คนเขาวางไว้ แล้วเซนเซ (อาจารย์) จะชอบวางแนวทางไว้ เราก็จะไม่เอา พอเราดื้อ เราก็จะไม่จบ ผมเลยรู้สึกว่า ไม่ไปดีกว่า ถ้าเราทำอย่างที่เขาวางไว้ เราเรียนจบแน่นอน แต่ผมไม่ใช่เด็กดีไง (หัวเราะ)

กอล์ฟ : เซนเซผมค่อนข้างหัวสมัยใหม่ ไม่ได้ขนาดที่อยากทำอะไรก็ทำได้ แต่อาจเป็นที่มหา’ลัยด้วยแหละครับ คือมหา’ลัยผมขึ้นชื่อเรื่อง freedom อยู่แล้ว ถ้าเราเอาเครื่องมือทั้งหมดที่ญี่ปุ่นมีมาไว้ที่ไทย ญี่ปุ่นจะเป็นขี้เล็บเลย

เกีย : ใช่ๆ ตอนผมไปที่นู่น ผมเห็นชัดเลย ที่ญี่ปุ่นมี spectrum analyzer เครื่องละโต๊ะ เครื่องเป็นล้าน แต่ที่ไทย ทั้งภาคไฟฟ้าต้องแย่งกันใช้เครื่องเดียว ที่นู่นใครอยากหยิบมาใช้ หยิบเลย ถ้าเรามีแบบนั้น ผมกล้าพูดเลยว่าไทยทำได้ไม่แพ้ ทำได้ดีกว่าด้วย เพราะเด็กเราถูกฝึกมาให้ทำได้ ให้โตมาเพื่อจะทำ

ภาพของเด็กไทยในวงการวิทยาศาสตร์ ถือว่าไม่แพ้ใคร?

เกีย : ไม่ใช่แค่ในวงการนี้ ผมว่าถ้าให้เด็กทำอะไรที่เขาชอบ เราทำได้หมด และทำได้ดีด้วย แค่ขาดการสนับสนุนที่ดี ถ้าสิ่งแวดล้อมเอื้อ กฎหมายเอื้อ เงินสนับสนุนเอื้อ เด็กไทยสุดยอด

ถ้าให้มองอนาคตข้างหน้าสักอีก 30 ปี คิดว่าในวงการวิทยาศาสตร์ไทยจะเกิดอะไรที่น่าตื่นตาบ้าง

เกีย : ถ้าภายใน 30 ปีเราเอาวิทยาศาสตร์กับศิลปะมารวมกัน แล้วเห็นความสวยงามของวิทยาศาสตร์กับศิลปะเป็นอันหนึ่งเดียวกัน ผมเชื่อว่าจะต้องมีอะไรที่เกินกว่าเราจะจินตนาการได้ แล้วผมว่าจะเจ๋งกว่าเมืองนอก เจ๋งกว่าใครๆ เพราะว่าด้วยแวดล้อม ด้วยภูมิประเทศเอง มันดีอยู่แล้ว มีความหลากหลายทางเชื้อชาติด้วย

ดีไม่ดี ลูกหลานเราโตไปอาจจะได้ยิ่งกว่าโนเบลไพรซ์อีก ผมเชื่อว่าเป็นไปได้ แต่ถ้าวิทยาศาสตร์กับศิลปะยังไม่ได้รวมกัน เราก็ต้องไปมองว่ารอบๆ บ้านเราเขาทำอะไรกันอยู่บ้าง เราก็คงจะอยู่ประมาณนั้นแหละครับ อาจจะล้ำกว่า หรือล้าหลังกว่า นิดๆ หน่อยๆ ก็แล้วแต่วิสัยทัศน์ของคนไทยว่าจะไปอยู่ที่ตรงไหน

กอล์ฟ : ขอตอบในมุมมองสเปซแล้วกัน 30 ปีเป็นระยะที่กว้างมาก เพราะปัจจุบันการ disrupt เกิดขึ้นหลักเดือน เพราะฉะนั้น 30 ปีอาจจะเกิด disrupt แล้ว 200 รอบก็ได้ ผมว่า 30 ปี โลกไปดาวอังคารได้แล้ว ก่อนหน้านี้มนุษย์เกิดสงครามแย่งพื้นที่ในโลกกันมา แต่ต่อไปจะกลายเป็นต้องการพื้นที่บนดาวอังคารแล้ว แต่ไทยไม่มีอาวุธไปสู้กับเขา หรือแม้แต่ยานพาหนะที่จะไปให้ถึง

ในขณะที่โลกกำลังแย่งชิงพื้นที่เพื่อทำธุรกิจใหม่ และดำเนินไปด้วยทุนนิยม เพราะฉะนั้นเมื่อทุนนิยมไปดาวอังคาร ก็คงจะเกิดเป็นทุนนิยมในรูปแบบดาวอังคาร ถ้าเราอยากจะแย่งชิงพื้นที่ตรงนั้นมาให้ได้ สิ่งที่ต้องเกิดคือทำให้เทคโนโลยีอวกาศโตได้ภายใน 10 ปี เพื่อที่ 30 ปีข้างหน้า เราจะมีโอกาสไปยึดครอง และมีสิทธิ์ในอะไรสักอย่างบนพื้นที่แบบนั้นบ้าง

แต่ถ้ามองจากความเร็วระดับนี้ของไทย ถ้าจะมีอะไรที่พลิกได้ ก็น่าจะเป็นเทคโนโลยีอวกาศที่อย่างน้อยไปถึงดวงจันทร์ เราต้องมีส่วนร่วมอะไรสักอย่างได้แน่นอน แต่ก็ยังไม่กล้ารับปากว่าจะโตแบบไหน  30 ปีอาจจะได้แค่ดวงจันทร์ แต่ถ้ามีอะไรสักอย่างมากดดัน เช่น เกิดสงคราม อาจจะโตเร็วทันทีเลย เราก็ต้องพยายามหน่อย

น่าสนใจว่า โลกตอนนี้เป็นทุนนิยม ถ้าเราไปดาวอังคาร ดาวอังคารก็จะกลายเป็นทุนนิยมเหมือนกันมั้ย

เกีย : ช่วงเริ่มต้นผมว่าน่าจะทุนนิยม แล้วพอเวลาผ่านไป การไปดาวอังคารเป็นเรื่องง่ายขึ้น ราคาเริ่มเข้าถึงคนมากขึ้น อาจจะเริ่มเปลี่ยนจากทุนนิยมไปเป็นอย่างอื่นรึเปล่า ต้องถามว่าคนกลุ่มแรกที่มีโอกาสได้ไปดาวอังคาร คือใคร ทุนนิยมมั้ยล่ะ

กอล์ฟ : อาจเหมือนโมเดลของแอนตาร์กติกา หรือขั้วโลกใต้ คนที่ไปแรกๆ ก็จะมีญี่ปุ่น โชวะ สเตชั่น แล้วก็มีที่อื่นอีก สุดท้ายแล้วไม่มีใครครอบครองพื้นที่แอนตาร์กติกาได้เลย เขาถือว่าไม่มีใครสามารถเป็นเจ้าของได้ ใช่ สเตชั่นนั้นเป็นของคุณ แต่พื้นที่ไม่ใช่ของคุณนะ ดาวอังคารก็อาจจะเหมือนกัน แต่ผมว่าเริ่มต้นเป็นทุนนิยมแน่นอน เพราะคนที่ไปได้คนแรกคือคนที่กล้าลงเงิน แล้วพอเกี่ยวกับเงิน ก็หนีไม่พ้นทุนนิยม

ตอนนี้มีอุปสรรคอะไรบ้างที่ทำให้ไทยไม่สามารถพัฒนาเรื่องด้านอวกาศได้

เกีย : ตอนนี้ถ้าเราจะ launch ดาวเทียมหนึ่งดวง แล้วไม่ใช่ประเทศที่มีจรวดอยู่แล้ว ต้องไปขอประเทศอื่น เราโดนชาร์จแน่นอน ปรกติคนอื่นเขาส่งของขึ้นไปบนยานกิโลกรัมละล้าน พอเป็นประเทศที่อยู่นอกกลุ่ม กิโลกรัมละ 3 ล้าน เป็นเทคนิคการกีดดันอย่างหนึ่ง เราก็ต้องยอมจ่ายตังค์ให้เขา

แต่ตอนนี้ในไทย ถ้าเราคิดจะเริ่มสร้างจรวดเมื่อไหร่ เราจะโดนจับ เพราะถือว่าผิดกฎหมาย

กอล์ฟ : ใช่ กฎหมายบ้านเราเป็นกฎหมายที่ทำให้ประชาชนปลอดภัยมากที่สุด แต่ในทางเดียวกัน มันคือการทำอะไรไม่ได้เลย

ผมเพิ่งไปถามเจ้าของบริษัทจรวดที่ญี่ปุ่นมาว่า เฮ้ย ประเทศยูมีทหารไม่ได้ไม่ใช่เหรอ แล้วทำไมยูทำจรวดได้ เขาบอกว่าก็สงสัยเหมือนกัน ตอนที่เขาทำ เขาเลยไปศึกษากฎหมาย ปรากฏว่า มีทหารไม่ได้ แต่ไม่มีกฎหมายเรื่องจรวด เขาเลยทำ จบ แต่ของไทยดันมีกฎหมายห้ามทำขึ้นมา เราปลอดภัยจากการที่จรวดจะตกใส่หัวเรา แต่เราก็เดินออกไปจากกำแพงที่สร้างไว้ไม่ได้

เกีย : ผมนึกขึ้นได้ สมัยก่อน เวลาเราสั่งตัวสำหรับควบคุมมอเตอร์ เราต้องมานั่งแจ้งว่าเราเอามาทำอะไร เพราะเขากลัวว่าจะเอาไปสร้างจรวด แต่ต่างประเทศคือเดินไปซื้อได้เลย ญี่ปุ่นนี่วางอยู่กองๆ หยิบมาได้เลย หรือตัว controller สมัยใหม่ จะซื้อแต่ละตัว ต้องเขียนใบขออนุญาตว่าเราเอามาใช้สอนนะ เพราะเขาบอกว่าชิปตัวนี้เข้าข่ายทำจรวดได้

กอล์ฟ :  คือกฎหมายมันล้าหลัง การมีกฎหมายน่ะถูกแล้ว แต่กฎหมายต้องตามโลกให้ทันด้วย

เกีย : ยังมีปัญหาเรื่องกีดกันทางการค้าอีก เช่น เขาห้ามนำเข้า 3D printer คนที่นำเข้าต้องมีใบอนุญาตเท่านั้น เพราะเขากลัวว่ามันจะสร้างปืนได้

แต่ผมกล้าพูดเลยว่า ผมเป็นคนที่ใช้ 3D printer มานานมาก รุ่นที่จะสร้างปืนได้ ไม่ใช่ราคาปรกติ เครื่องเกือบล้าน แต่พอเราจะซื้อเครื่องรุ่นปรกติที่ใช้ทั่วไป ราคา 8,000 – 10,000 บาท จากจีน เราซื้อไม่ได้ จะซื้อทีก็ต้องให้คนที่มีใบอนุญาตซื้อให้ จากราคาไม่กี่พันก็โดนคูณไปไม่รู้กี่เท่า นี่เป็นตัวอย่างของกฎหมายที่เกิดจากความกลัว แล้วก็มีคนมาใช้ประโยชน์

ถามว่าเหนื่อยมั้ย เหนื่อยครับ ที่ต้องมาสู้อะไรกับพวกนี้ แต่ก็ยังอยากทำ เราก็ต้องหาลู่ทางที่ทำได้ เพื่อให้ได้ทำสิ่งที่เราอยากทำ เพราะเรามีความฝัน เราไม่ยอมอยู่เฉยๆ

กอล์ฟ : จริงๆ ประเทศอื่นก็เป็นเหมือนกัน ไม่ใช่แค่ประเทศเรา แต่ประเทศเราคิดเยอะกว่าประเทศอื่นเท่านั้นเอง ถือเป็นอย่างหนึ่งที่ต้องฝ่าฟันทั้งเรื่องทางวิทยาศาสตร์ และไม่ใช่วิทยาศาสตร์

สิ่งหนึ่งที่ทำให้คนในทีม รวมถึงผมเอง ยังคงเดินต่อไป ทั้งๆ ที่ต้องเผชิญเรื่องไร้สาระมากมาย คือเริ่มจากการอยากทำก่อน เราอยากสนุกกับมัน อยากทำจริงๆ เพราะฉะนั้นจะเจอคลื่นลมอะไรระหว่างทาง เดี๋ยวเราก็หาทางไปถึงเป้าหมายได้ เราก็เลยรวบรวมคนที่เพี้ยนๆ ไง หาคนที่อยากทำมารวมกันไว้ก่อน แล้วก็ค่อยๆ ทำร่วมกันไป

ส่วนเรื่องที่ไม่ make sense ทั้งหลาย มันหนีไม่พ้นหรอก แต่สุดท้ายมันไม่ได้มีผลกับเราขนาดนั้น

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save