fbpx
สี่หมื่นคำตอบ เรื่อง 4.0 จากคนรุ่นใหม่ในอาเซียน

สี่หมื่นคำตอบ เรื่อง 4.0 จากคนรุ่นใหม่ในอาเซียน

สันติธาร เสถียรไทย เรื่อง

 

เมื่อไม่นานมานี้ ทีมของผมได้จับมือกับ World Economic Forum (WEF) ทำการทดลองที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง

เนื่องจากบริษัทของเราให้บริการด้านเทคโนโลยีและกลุ่มผู้ใช้หลักเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทำให้เรามีช่องทางที่จะสื่อสารกับคนกลุ่มนี้ได้เป็นจำนวนมากในหลายประเทศที่เราให้บริการทั่วเอเชีย เราลองใช้แพลตฟอร์มของบริษัทเราที่ชื่อ Garena (แพลทฟอร์มเกม ที่จำหน่ายเกม RoV และ Free Fire) และ Shopee (แพลทฟอร์มอีคอมเมิร์ซ) ส่งแบบสอบถามให้คนรุ่นใหม่ช่วงอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จนถึง 36 ปี ทั่วอาเซียน เพื่อสำรวจว่ากลุ่มตัวอย่างคิดอย่างไรกับยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0

เราตั้งคำถาม เช่น อยากทำอาชีพอะไรในอนาคต? คิดว่าการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีจะมีผลอย่างไรต่อตลาดแรงงาน? และเคยใช้การศึกษาออนไลน์บ้างหรือไม่?

ปรากฏว่าผลที่ได้รับเกินความคาดหมาย กลุ่มตัวอย่าง 64,000 คนจากทั่วอาเซียนตอบแบบสำรวจ และ 42,000 คนตอบคำถามจนครบทุกข้อ โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจจากประเทศไทยถึง 1 หมื่นคนของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด

ข้อมูลเหล่านี้เป็นเสมือนเลนส์ที่เราสามารถใช้ส่องดูและทำความรู้จักกับคนรุ่น Gen Y และ Gen Z ที่จะต้องเป็นรุ่นที่เผชิญกับยุคเทคโนโลยีป่วนอย่างเต็มประตู โดยมีประเด็นที่น่าสนใจและน่าขบคิดกันต่อหลายเรื่อง

 

Spirit ความเป็นผู้ประกอบการร้อนแรง

 

ข้อแรก คนรุ่นใหม่ของอาเซียนมีจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการสูงมาก หนึ่งในสี่ของคนที่ตอบแบบสำรวจต้องการเป็นผู้ประกอบการในอนาคต โดยประเทศไทยมีความโดดเด่นในเรื่องนี้มากที่สุด เพราะมีสัดส่วนของคนที่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจสูงที่สุดในอาเซียน คือ 36%

ถ้าดูกันเผินๆ ตรงนี้ อาจเป็นนิมิตหมายที่ดีว่าประเทศไทยเราจะมีนักธุรกิจเลือดใหม่ไฟแรงมากมายเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งตรงกับหัวข้อการประชุมของ WEF ASEAN ที่จัดขึ้นที่กรุงฮานอย เรื่อง Entrepreneurship แต่หากดูให้ลึกๆ แล้ว ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นถึงบางประเด็นที่น่าเป็นห่วงเช่นเดียวกัน

แบบสำรวจนี้บอกเราว่า คนส่วนใหญ่ที่อยากเป็นผู้ประกอบการในอนาคต หากไม่ได้เป็นเจ้าของธุรกิจตัวเองอยู่แล้วหรือว่างงานอยู่ในปัจจุบัน ก็มักจะเป็นคนที่เป็นลูกจ้างทำงานอยู่ในธุรกิจ start up หรือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME)

จากการสำรวจคนที่ทำงานอยู่ใน SME พบว่ามีเพียงแค่ 21% ที่ต้องการทำงานอยู่ที่เดิมต่อไป ขณะที่ 31% ของคนกลุ่มนี้ต้องการออกไปเป็นเจ้าของธุรกิจของตนเอง ในขณะที่คนทำงานในภาครัฐ ธุรกิจของครอบครัวตนเอง และบริษัทข้ามชาติส่วนใหญ่ ต้องการทำงานอยู่ที่เดิม

พูดง่ายๆ คือ ลูกจ้างบริษัทขนาดเล็ก หากเลือกได้ก็อยากเปลี่ยนไปเปิดธุรกิจเป็นของตัวเอง เป็นผู้ก่อตั้ง (founder) และ CEO แต่หากทุกคนต้องการเป็นเช่นนั้นแล้ว CEO เหล่านี้จะหาคนเก่งมาสร้างทีมพัฒนาธุรกิจได้อย่างไร? ใครจะมาเป็น CTO ที่มาช่วยดูแลด้านเทคโนโลยี เป็น CMO ดูแลด้านการตลาด หรือเป็น CFO ที่ช่วยดูแลเรื่องการเงิน ในเมื่อคนไม่อยากเป็นลูกจ้างบริษัทเล็กๆ หรือแม้แต่ start up ดังนั้น ปัญหาเรื่องการขาดแคลนบุคลากรของภาคธุรกิจอาจยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต

การเพิ่มผลิตผล (productivity) โดยไม่ต้องใช้คนมากขึ้น อาจกลายเป็นเรื่องจำเป็นกว่าเดิม การใช้เทคโนโลยียุคดิจิทัล เช่น อีคอมเมิร์ซ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) Cloud อาจเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น เช่น การศึกษาของ IMF เมื่อไม่นานมานี้ ชี้ให้เห็นว่าอีคอมเมิร์ซสามารถเพิ่ม productivity ให้กับผู้ประกอบการได้ถึง 30% โดยเฉลี่ย เพราะ SME สามารถเพิ่มยอดขายได้อย่างก้าวกระโดด โดยไม่จำเป็นต้องใช้กองทัพพนักงานขาย และไม่จำเป็นต้องมีหลายสาขา

แต่การจะนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครๆ ก็สามารถทำได้ และคนจำนวนไม่น้อยก็ยังเห็นเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นเรื่องที่น่ากลัว มากกว่าที่จะเป็นโอกาส

กลัวหรือกล้ากับยุคเทคโนโลยี

 

อีกธีมหนึ่งที่น่าสนใจจึงเป็นเรื่องมุมมองของคน Gen Y และ Gen Z ต่อเทคโนโลยี โดยเฉพาะเรื่องตลาดแรงงาน

ผลปรากฏว่าคนรุ่นใหม่ในอาเซียนโดยเฉลี่ย มองเทคโนโลยีในแง่บวก ผู้ตอบแบบสำรวจ 52% คิดว่าเทคโนโลยีจะช่วยเพิ่มงานได้ในอนาคต ในขณะที่ 37% คิดว่าเทคโนโลยีอาจลดการจ้างแรงงานคนลง

อย่างไรก็ดี ทัศนคตินี้แตกต่างกันอย่างมากในแต่ประเทศ คนรุ่นใหม่ในประเทศอย่างฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย มองเทคโนโลยีเป็นบวกมากที่สุด ในขณะที่คนสิงคโปร์กลับมีมุมมองเทคโนโลยีในแง่ลบต่อตลาดแรงงานที่สุดในอาเซียน และประเทศไทยเองก็เป็นอีกประเทศที่มองในแง่บวกน้อยกว่าที่อื่น โดย 44% ของผู้ตอบแบบสำรวจ มองว่าความต้องการแรงงานอาจน้อยลงในยุคเทคโนโลยี

นอกจากนี้ มุมมองต่อเทคโนโลยีนั้นยังแตกต่างกันมากระหว่างคนแต่ละกลุ่มอายุและการศึกษา

กลุ่มคนอายุน้อยจะมองเทคโนโลยีในแง่ดี ส่วนกลุ่มคนอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปจะมองเทคโนโลยีในแง่ลบมากกว่า ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะน่าจะเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการที่เด็กรุ่นใหม่เป็น Digital Native หรือเกิดมากับยุคดิจิทัลที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบันตั้งแต่แรก ซึ่งแตกต่างจากคนรุ่นใหญ่ (กว่า) ที่อาจต้องมาปรับตัวพัฒนาทักษะใหม่บางส่วน จึงทำให้เกิดความกลัวต่อเทคโนโลยีอยู่บ้าง

สิ่งที่น่าแปลกใจและน่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ การที่ผู้มีการศึกษาสูงกว่า เช่น จบปริญญาตรีขี้นไป กลับมองเทคโนโลยีในแง่ลบมากกว่าคนที่เรียนอยู่ในระดับต่ำกว่าปริญญาตรี โดยผลนี้เห็นได้ชัดทั้งในระดับภูมิภาคอาเซียนและในประเทศไทยเองด้วย

บางคนอาจมองว่าเป็นเพราะคนที่เรียนสูงกว่า น่าจะมีความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีและความเสี่ยงต่อตลาดแรงงานมากกว่า แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็อาจเป็นไปได้ว่าคนที่เรียนสูง สะสมความรู้โดยเฉพาะความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมานาน จึงอาจมีความกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีมากกว่า เพราะ ‘รู้มาก’ เลยยิ่ง ‘รื้อยาก’ ไม่สามารถออกจาก comfort zone มาเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งใหม่ได้ง่ายนัก

ส่วนนี้อาจชี้ถึงประเด็นสำคัญว่า ในโลกที่การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้แต่ผู้ที่มีการศึกษาสูงกว่าก็ใช่ว่าจะปลอดภัย ในโลกใหม่นั้น คนที่จะสามารถได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ คือคนที่เป็น ‘ปลาไว’ คือ สามารถขยับปรับตัวและจับกระแสการเปลี่ยนแปลงได้เร็วกว่าคนอื่น สามารถรื้อความรู้เก่า ค้นหาเรียนรู้ทักษะใหม่ได้ และใช้ประโยชน์จากการเรียนรู้ตลอดชีวิต (life long learning) ได้อย่างเต็มที่

ประเด็นนี้ทำให้ผมนึกถึงคำกล่าวของผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่สิงคโปร์คนหนึ่ง ซึ่งบอกว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ยากที่สุดนั้น ไม่ใช่เรื่องทักษะ แต่เป็นเรื่องของทัศนคติ (Mindset) ที่กล้าเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่

คำถาม คือ เรามีระบบที่จะช่วยสร้าง Mindset เช่นนี้ให้กับคนในองค์กรของเรา ในประเทศไทยของเรา แล้วหรือยัง?

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

29 Nov 2023

ถอดบัญญัติธรรมนูญ ‘จิราธิวัฒน์’ ไม่มีวิกฤตใดที่ฝ่าไปไม่ได้ : ทศ จิราธิวัฒน์

สำรวจธรรมนูญ ‘จิราธิวัฒน์’ 76 ปีของอาณาจักรเซ็นทรัลในฐานะหลอดเลือดใหญ่ของภาคธุรกิจไทย 101 สนทนากับ ทศ จิราธิวัฒน์ ทายาทรุ่นที่สามของตระกูล ผู้มุ่งหมายอยากพาเซ็นทรัลและประเทศไทยไปเฉิดฉายบนเวทีโลก

กองบรรณาธิการ

29 Nov 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save