Fortuna, Irony และ 2475

Fortuna, Irony และ 2475

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เรียนอาจารย์

 

ผมขอบคุณอาจารย์ที่กรุณาฝากแบบประเมินฯ ของผู้ทรงคุณวุฒิพร้อมเล่มรายงานที่มีความเห็นของผู้ประเมินอยู่ในนั้นมาให้ครับ  ผมได้รับและอ่านความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิเรียบร้อยแล้ว เห็นว่าแยกได้เป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือส่วนที่ควรแก้ไขตามที่ผู้ทรงคุณวุฒิขอให้ปรับในจุดที่คลุมเครืออยู่ให้ชัดเจนขึ้น และเป็นโอกาสให้ผมได้แก้ไขบางตอนที่ผมเห็นว่าควรเขียนออกมาใหม่ด้วย ส่วนนี้ไม่มีอะไรน่าหนักใจ อีกส่วนหนึ่งผมอ่านแล้วคล้ายจะเป็นข้อคิดหรือคำปรารภทำนองตั้งประเด็นชวนสนทนาจากผู้อ่านถึงผู้เขียนในเรื่องที่เป็นความสนใจร่วมกันมากกว่าที่จะเป็นการขอให้ปรับแก้จริงๆ

ความเห็นส่วนหลังนี้ มีเรื่องหนึ่งที่ผู้ทรงคุณวุฒิตั้งถามขึ้นมา คือส่วนที่เกี่ยวกับแนวคิดเรื่อง mixed constitution ท่านเขียนกึ่งถามกึ่งปรารภใกล้ๆ ข้อเสนอในงานวิจัยส่วนนั้นว่า “จากการที่ผู้วิจัยนำแนวคิด mixed constitution มาพิจารณาการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475  ผู้วิจัยพิจารณาจัดตัวเองหรืองานวิจัยนี้ว่าอยู่ฝ่ายไหนอย่างไรหรือไม่ ในการนำเสนอความเข้าใจการเมืองของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475?”

ผมคิดว่าแม้คำถามกึ่งปรารภตรงนี้จะไม่ใช่คำขอหรือคำแนะนำให้แก้ไขงานวิจัย แต่ผมคิดว่าเป็นประเด็นน่าสนใจ เพราะถ้ามีใครได้อ่านงานวิจัยนี้ ก็อาจสงสัยและตีตราลงไปว่าเป็นงานฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ ผมเลยเขียนมาขอเรียนถามอาจารย์ เพราะผมก็ไม่ทราบแน่ว่า ในงานศึกษาการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ตามแนวทางศึกษาของรัฐศาสตร์ มีการแยกประเภทไว้แบบไหน แบ่งออกเป็นกี่ฝ่าย ใช้เกณฑ์แบ่งอย่างไร  ฝ่ายไหนเป็นคำอธิบายหลัก ฝ่ายไหนเป็นคำอธิบายแก้ และมีไปถึง post revisionist แล้วหรือยังครับ

ที่เขียนมานี้เพราะไม่ทราบว่าเขามีแบ่งไว้ชัดเจนอย่างไร ผมจึงขอยืมการแบ่งงานที่ศึกษาสงครามเย็นในสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาใช้เขียนเทียบออกมา แต่พอจะทราบว่าในสายประวัติศาสตร์ไทยที่ศึกษาเรื่องนี้ มีการแบ่งประวัติศาสตร์นิพนธ์ออกเป็นฝ่ายต่างๆ อยู่เหมือนกัน แต่จะเหมือนกับการแบ่งในสาขารัฐศาสตร์ของเราหรือไม่ ผมขอความกรุณาอาจารย์ช่วยให้ความกระจ่างด้วย

อย่างไรก็ดี จากการติดตามอย่างคนนอก ไม่รู้ว่าถูกหรือผิดเพียงใด ผมรู้สึกว่างานของนักประวัติศาสตร์ ทั้งที่เป็นงานของนักวิชาการชาวไทยและต่างประเทศ ดูจะมีอิทธิพลต่อการศึกษาการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ของฝ่ายรัฐศาสตร์อยู่มาก และมากกว่าที่จะเป็นในทางกลับกัน นอกจากนั้นงานจากสาขาประวัติศาสตร์ยังมีอิทธิพลต่อวงกว้างในการสร้างความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มากกว่างานที่ใช้แนวคิดและแนวทางศึกษาของรัฐศาสตร์ และในแง่นี้จะรวมถึงสังคมวิทยาการเมืองด้วยก็ได้

คำถามข้างต้นของผู้ทรงคุณวุฒิ ทำให้ผมนึกถึงบทความที่ผมเขียนส่งให้ 101 เมื่อปีก่อน เกี่ยวกับการศึกษารัฐศาสตร์ไทยตามทัศนะ (วัยหนุ่ม) ของอาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ผมพบว่าอาจารย์ธเนศเคยแบ่งแนวทางศึกษารัฐศาสตร์ในประเทศไทยสมัยนั้นออกเป็น 2 สาย ตามเป้าหมายของการสร้างความรู้ สายหนึ่งคือการศึกษามุ่งไปที่การพัฒนาประชาธิปไตยของไทย อีกสายหนึ่งศึกษาเกี่ยวกับหรือเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่การพัฒนาระบบราชการไทย ผมอยากจะเติมเข้าไปอีกสายหนึ่งคืองานที่ศึกษาการจัดอำนาจรัฐของไทย

อาจารย์คิดอย่างไรครับ ถ้าผมจะใช้กรอบการแบ่งข้างต้นตอบผู้ทรงคุณวุฒิว่า งานวิจัยที่ทำนี้จัดอยู่ในระหว่างฝ่ายที่ศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตยกับฝ่ายที่ศึกษาการจัดอำนาจรัฐไทย จากฐานคิดที่เห็นว่า การพัฒนาประชาธิปไตยสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับเรื่องการจัดอำนาจการปกครองของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในความหมายของการจัดอำนาจระหว่าง the one, the few และ the many ในระบบการเมือง

ผมเห็นด้วยกับผู้ทรงคุณวุฒิในเรื่องขยายความเพิ่มเติมให้เห็นความหมายและความสำคัญของ mixed constitution กับประสิทธิภาพการทำงานของการเมืองประชาธิปไตย และเห็นด้วยกับอาจารย์ว่า ถ้าหากการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยไม่ใส่ใจเรื่องการจัดอำนาจรัฐระหว่าง the one, the few และ the many ตามหลัก mixed constitution อย่างเพียงพอแล้ว ก็ยากที่จะหวังได้ว่าการปกครองที่เปลี่ยนมาเป็นประชาธิปไตยนั้นจะเกิดขึ้นอย่างตั้งมั่นได้โดยมีการถ่วงดุลและตรวจสอบการใช้อำนาจการปกครองอย่างที่จะเป็นหลักประกันให้แก่เสรีภาพของคนทุกฝ่ายได้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายข้างน้อยหรือฝ่ายข้างมากที่มีโอกาสจะสลับมาเป็นฝ่ายข้างน้อยในเวลาไหน/เรื่องไหน/ประเด็นไหนได้ทุกเมื่อ

โดยหลักที่ผมเข้าใจ รัฐธรรมนูญมีขึ้นมาก็เพื่อจำกัดอำนาจ ที่จะทำให้ประชาชนปลอดภัยจากพวกเขากันเอง และปลอดภัยจากการใช้อำนาจของรัฐ โดยประชาชนยังคงรักษาเสรีภาพและอัตตาณัติของตนไว้ได้ และในการทำให้จุดมุ่งหมายทั้ง 2 ด้านของการจำกัดอำนาจที่ว่านี้สัมฤทธิผล เมื่อเปลี่ยนการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยแล้ว ก็จำเป็นจะต้องคิดหาทางออกแบบในเชิงสถาบันที่จัดให้มีการถ่วงดุลกันระหว่างผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ไม่ปล่อยให้เกิดช่องที่คณะใดคณะหนึ่งหรือคนใดคนหนึ่งฉวยโอกาสรวบอำนาจทั้งหมดไปไว้ในมือแต่คนเดียวหรือคณะเดียว ควบคุมทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร แถมการตั้งศาลพิเศษขึ้นมาจัดการกับปรปักษ์ทางการเมืองจนเสียหลัก rule of law ก็ยังทำไปได้

คำถามของผู้ทรงคุณวุฒิยังทำให้ผมคิดว่า มันยังมีวิธีมองการเมืองของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อีกแบบหนึ่ง ที่ผมอยากเสนอออกมาถ้ามีโอกาสทำงานวิจัยต่ออีกสักหน่อย เลยจะขอขยายความคิดนี้ให้อาจารย์ทราบ เผื่ออาจารย์จะบอกผมได้ว่า มันพอไปไหวไหม

ก่อนจะขยายและทำให้ผมเขียนเรียบเรียงความคิดออกมาให้อาจารย์พิจารณาได้ง่ายขึ้น ผมขออนุญาตเล่าที่มาของความคิดเรื่องนี้ให้อาจารย์ทราบนะครับ อาจารย์คงไม่ว่าเสียเวลาอ่าน เพราะผมเขียนเล่าอะไรไปเรื่อยเจื้อย

เมื่อเร็วๆ นี้ มีนิสิตปีสี่ที่ภาคคนหนึ่งมาขอให้ผมอธิบายการพิจารณาเหตุการณ์และบุคคลในการเมืองในเชิง irony ในบรรดานักวิชาการคนไทย ผมพบว่านักวิชาการที่มักเสนอให้พิจารณาเหตุการณ์และการกระทำการของบุคคลในประวัติศาสตร์ในเชิง irony อยู่เสมอ จนถือเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งในงานเขียนของเขาได้เลย คือ งานเขียนประวัติศาสตร์ของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

ผมถามนิสิตที่มาขอคำอธิบายจากผมว่า มาถามผมเรื่องนี้เพราะอ่านงานของอาจารย์สมศักดิ์มาหรือ เขาว่าไม่ใช่ครับ ไม่ได้มาจากงานของอาจารย์สมศักดิ์ แต่พบการเสนอให้มองการเมืองระหว่างประเทศแบบ irony ในงานของ Martin Wight ผู้เป็นต้นบรรพบุรุษของสำนักทฤษฎี IR ที่พวกเราในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเรียกกันว่า ทฤษฎีสำนักอังกฤษ

นิสิตที่มาถามเขาเคยเรียนทฤษฎีสำนักนี้ในวิชาที่ผมสอนตอนอยู่ปีสาม เมื่อเจอประเด็นที่เขาไม่แน่ใจว่าเข้าใจกระจ่างในงานของ Wight เลยมาขอให้ผมอธิบาย พร้อมกับ quote ที่ยกมาจากบทความของ Wight เรื่อง ‘Fortune’s Banter’

ใน quote ที่นิสิตคัดมาถามผมนั้น  Wight เขียนถึง irony ไว้อย่างนี้ครับอาจารย์

Irony in literature has been defined by an American critics as ‘the obvious warping of the statement by the context.’ Irony in politics might be defined as the warping of the political intention by the historical context — the warping of the-less-than-one-half of our action which we direct by the more-than-one-half of which fortune is arbiter. And in politics, if not in literature, the irony varies inversely with the obviousness of it. Irony is manifested in peripeteia. This is the word Aristotle used for the reversal of situation which provides the hinge of tragic drama. It is a train of action intended to bring about a certain end, but resulting in something different. The situation swings round and recoils against the agent who is attempting to deal with it.

พอเห็นชื่อบทความนี้ของ Wight  และเห็น quote ที่นิสิตเขายกมา เงาของอาจารย์สมศักดิ์ที่ผมคิดว่าตามนิสิตมาเลยหายวับไป กลายเป็นว่าเงาที่ติดตามเขามาจริงๆ เป็นเงามาคิอาเวลลีต่างหาก และในการใช้ irony ในงานประวัติศาสตร์ของอาจารย์สมศักดิ์ ถ้าพิจารณาตามที่ Wight เสนอในบทความนี้ของเขา ผมได้ความเข้าใจว่าอาจารย์สมศักดิ์นั้นใกล้ไปทาง Polybius มากกว่าทางมาคิอาเวลลี เพราะ Wight บอกว่า Polybius พิจารณา irony และการทำงานของเทพีแห่งโชคชะตาไม่ใช่ในฐานะผู้สนใจจะเข้าไปรับใช้ผู้อยู่ในอำนาจรัฐ แต่ในฐานะผู้สังเกตการณ์ ที่เขียนงานประวัติศาสตร์ให้คนที่สนใจศึกษาเรื่องนี้อ่าน โดย Polybius เห็นว่า irony และเทพีแห่งโชคชะตาเป็น “category of historical interpretation” แบบหนึ่ง ที่เป็นวิธีอธิบายความผันแปรกลับกลายของเหตุการณ์เรื่องราวต่างๆ ซึ่งทำให้ความสำเร็จทางการเมืองไม่อาจรักษาไว้ได้คงทนยืนนาน

ความจริงผมอยากส่งนิสิตที่มาถามผมไปหาอาจารย์เหมือนกัน เพราะอาจารย์จะอธิบายเรื่องแบบนี้ให้เขาเข้าใจอย่างถูกต้องได้ดีกว่าผม เพราะงานของ Wight เรื่องนี้ไม่เพียงแต่จะอิงกับข้อเสนอของมาคิอาเวลลีในเรื่องเทพีแห่งโชคชะตา ที่เป็นพลังเข้ามาจัดการวางเงื่อนไขหรือเข้ามาขวางทางการกระทำทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังโยงกับความคิด Anánkē ของกรีกเกี่ยวกับ Necessity และ Fates อีกด้วย  เรื่องนี้ในบางตำราก็ว่า Fates เป็นบุตรีของ Necessity ในขณะที่บางตำราบอกว่า Necessity เป็นผู้รับใช้ของ Fortuna และคอยเดินนำหน้านางเสมอ

Wight ไล่เลียงการเปลี่ยนแปลงในความคิดเกี่ยวกับ Fortuna เป็นลำดับมาว่าตกลงแล้วนางเป็นอะไรหรือการทำงานของนางเป็นแบบไหนแน่ นางเป็นโชค ที่พาโชคดีโชคร้ายหรือพาเหตุบังเอิญมาผลักเปลี่ยนเส้นทางการกระทำหรือส่งผลต่อการกระทำของคนให้เกิดผลเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา หรือว่านางเป็นชะตากรรมที่กำหนดผลล่วงหน้าไว้แล้วแต่แรกว่าจะต้องเกิดอะไรขึ้นกับใครเมื่อใด ทุกคนเพียงเดินตามเส้นที่นางขีดไว้

Wight เองยกเหตุผลหลายอย่างมาตีความมาคิอาเวลลีว่ามอง Fortuna ที่คู่กันมากับ Necessity ว่าคือการเป็นผู้มีอำนาจมากำหนดความผันแปรไม่แน่นอนให้เกิดขึ้นแก่เหตุการณ์และความสำเร็จของผู้นำ มากกว่าการเป็นผู้ที่มากำหนดเส้นทางชะตากรรมไว้ล่วงหน้าอย่างตายตัว ในเส้นทางที่ Fortuna ผ่านเข้าไปจัดการกำหนดจึงมีความประจวบเหมาะเกิดขึ้นในเหตุดีร้ายทั้งหลาย  มีเหตุบังเอิญขึ้นมาในเรื่องที่ถูกกำหนดไว้แล้ว มีสิ่งไม่คาดฝันในเรื่องที่คาดการณ์ได้ล่วงหน้า มีความพลิกผันในเรื่องที่ใครๆ ก็เห็นว่าเที่ยงแท้แน่ชัด

ผมอธิบายให้นิสิตฟังตามที่ผมเข้าใจ Wight เกี่ยวกับความตั้งใจ การกระทำ ผลลัพธ์ ผลตอบสนองที่บิดผัน พลิกเปลี่ยน ตลบย้อนเล่นกลเอากับคนที่เป็นผู้ลงมือกระทำการในการเมืองระหว่างประเทศโดยใช้ช่วงเวลาจากปี 1941 ถึงปี 1951 แสดงกล irony ของ Fortuna ในความสัมพันธ์ที่สลับกลับกลายระหว่างสหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น จากเวลาก่อนหน้าที่สงครามเอเชียแปซิฟิกจะเริ่มต้นไปจนถึงการลงนามในข้อตกลงที่ซานฟรานซิสโก

เพราะถ้าจะมีตัวอย่างอันเด่นชัดที่แสดงการทำงานของเทพีแห่งโชคชะตาด้วย irony สำหรับจะยืนยันว่า “Fortune is the queen of international politics.” ที่ Wight บอกว่าเขาได้มตินี้มาจาก Polybius และมาคิอาเวลลี ผมก็คิดว่าช่วงเวลา 10 ปีนี้แหละครับ ที่จะยืนยันได้ดีที่สุดว่า ไม่มีใครหรือทฤษฎีการเมืองระหว่างประเทศสำนักไหนๆ ทั้งนั้นที่จะอวดอ้างได้ว่าจะสามารถบอกและอธิบายได้ถูกแต่แรกในการพลิกตลบของเหตุที่สร้างผลและการส่งผลไปก่อเหตุ ที่ทำให้ผลลัพธ์กลับตาลปัตรจากจุดตั้งต้นในปี 1941 ที่ชุมนุมเหตุและเหตุการณ์อยู่แบบนั้นแล้วมันจะพามาลงเอยกันในปี 1951 ได้แบบนี้ ที่จะเปลี่ยนการเมืองระหว่างประเทศของโลกและของเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปโดยสิ้นเชิง

ในบทความของ Wight ผมคิดว่าอาจารย์จะต้องถูกใจ quote นี้ของ William Morris ที่ Wight ยกมาปิดท้ายจบบทความของเขา ผมขอส่งมาฝากอาจารย์นะครับ

I pondered all these things, and how men fight and lose the battle, and the thing that they fought for comes about in spite of their defeat, and when it comes turns out not to be what they meant, and other men have to fight for what they meant under another name.

ผมอ่านแล้วเห็นว่ามันสนุกสมกับที่จะเป็น ‘Fortune’s banter’

ในขณะเดียวกันการอ่านงานของ Wight เรื่องนี้ก็ทำให้ผมเกิดนึกอะไรใหม่ขึ้นมาได้เหมือนกัน Wight บอกว่า Burke สนใจการทำงานของ Fortuna ในการเมืองภายใน และผมเห็นด้วยกับ Burke ว่าผลงานของนางในการพลิกผันการเมืองภายในด้วย irony ก็น่าติดตามไม่แพ้การเมืองระหว่างประเทศจริงๆ

แต่การจะอธิบายการเมืองภายในออกมาแบบที่จะแสดงให้เห็น irony ที่ Fortune ส่งมาเล่นล้อเลียน หรือหยอกล้ออย่างโหดร้ายเอากับผู้กระทำการทางการเมือง ผมคิดว่าเราต้องเปลี่ยนวิธีอธิบายการเมืองแบบกดฝ่ายหนึ่งลงยกอีกฝ่ายหนึ่งขึ้น หรือวิธีการเขียนประวัติศาสตร์แบบยกย่องหรือย้ายการยกย่องทางหนึ่งมายกย่องอีกทาง หรือเขียนเชิดชูบุคคล คณะบุคคล หรือขบวนการเพื่อรักษาพวกเขาเหล่านั้นไว้เป็นแรงบันดาลใจในการมุ่งมั่นฟันฝ่าที่ยังจะต้องมีต่อไป

Northrop Frye นักทฤษฎีด้านวรรณกรรมวิจารณ์ เขาแยกแนวให้เราไว้อย่างนี้ครับอาจารย์

ถ้าหากเราเขียนให้ตัวผู้กระทำการอยู่สูงส่งเหนือกว่ามนุษย์และมีพลังอำนาจวิเศษเหนือสภาพแวดล้อมปกติ เรากำลังเขียนเรื่องนั้นแบบ myth

ถ้าหากเราเขียนให้ตัวผู้กระทำเก่งกว่า มีคุณธรรม/คุณสมบัติดีเด่นมากกว่าคนทั่วๆ ไปและสามารถคุมสภาพแวดล้อมได้มากกว่าคนอื่นๆ แต่ไม่ใช่ว่ามีพลังอำนาจวิเศษเหนือกว่ามนุษย์ เรากำลังเขียนเรื่องนั้นแบบ romance

ถ้าหากเราเขียนให้ตัวผู้กระทำการเก่งดีมีคุณธรรม/คุณสมบัติดีเด่นกว่าคนทั่วไป แต่ไม่มีอำนาจคุมสภาพแวดล้อมอะไรได้มากไปกว่าใคร เรากำลังเขียนถึงผู้นำแบบ high mimetic เหมือนตัวเอกที่พบอยู่ใน epic หรือโศกนาฏกรรม

ถ้าหากเราเขียนให้ตัวผู้กระทำการมีความรู้ความสามารถมีคุณสมบัติไม่แตกต่างอะไรจากคนอื่นทั่วไป  และยังเหมือนกับคนทั่วไปที่ไม่อาจคุมสภาพแวดล้อมไว้ในมือได้ เรากำลังเขียนเรื่องนั้นออกมาเป็นเรื่องสมจริงในแบบ low mimetic

แต่ในการเขียนถึงผู้กระทำการทางการเมืองและเหตุการณ์ที่เขาเผชิญใน irony mode เราคนเขียนตั้งตัวอยู่เหนือคนที่เราศึกษาในแง่ที่ว่าเรามองออกและรู้มากกว่าเขาซึ่งไม่รู้และมองไม่ออกในขณะที่เขากระทำการ ว่าสิ่งที่เขาทำมันเป็น irony หรือกำลังตั้งต้นเหตุและกระบวนการปฏิกิริยาตามมาในทางที่จะก่อความพลิกผันของผลลัพธ์ให้เกิดขึ้นอีกแบบ ความพยายามและความตั้งใจที่จะทำอย่างหนึ่งจะผลิผลออกมาในทางตรงข้ามและยอกย้อนเขาจนบางทีถึงกับพาไปสู่ความพินาศหมดสิ้น

เราคนเขียนหรือคนอ่านงานเขียนแบบ irony จะรู้มากกว่าคนที่ลงมือทำไปแล้วว่า ตรงไหนจุดไหนที่คนทำไม่รู้ความหมายหรือความสำคัญอันแท้จริงในสิ่งที่ได้พูดได้ทำได้ตอบสนองออกไป และมันกำลังจะพาไปสู่ผลที่เขาไม่ได้คาดคิดหรือคิดไม่ถึง เหมือนละครที่แสดงสถานการณ์ irony คนดูจะรู้ในขณะที่ตัวละครนั้นไม่รู้หรือมิได้เฉลียวใจ จนกระทั่งมาถึงช่วงเวลาของ peripeteia ซึ่งบางทีก็มาพร้อมกับ irony นั่นเอง อาจารย์เป็นผู้ชำนาญบทละครโศกนาฏกรรมกรีก ผมจะยกตัวอย่างประกอบ ก็เกรงจะเป็นการบอกหนังสือสังฆราช

คนเขียนประวัติศาสตร์แบบ irony จะต้องไม่ผ่อนปรนกับการกระทำและชะตากรรมขึ้นลงของใครหรือมุ่งจะเขียนเพื่อมายกย่องเชิดชูใครในคุณธรรมวีรธรรมที่เขามี เพราะเหตุว่ามีจุดมุ่งหมายแบบเดียวกัน หรือมุ่งมั่นและต่อสู้เพื่อคุณค่าเดียวกัน จึงอยากเขียนให้สังคมทรงจำเขาไว้เป็นผู้นำที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นต่อๆ ไป

อาจารย์ว่ามีใครในประเทศนี้ที่เขียนประวัติศาสตร์การเมืองของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ในแบบ irony บ้างไหมครับ?

อ้อ อีกประเด็นหนึ่งนะครับ ถ้าจะศึกษาการเมืองภายในแบบ irony ผมคิดว่าคนที่ Fortune จะสนใจหาทางเข้ามาทักทายเยี่ยมเยียนเป็นพิเศษเพื่อที่จะดึงความสำเร็จและอำนาจควบคุมผลลัพธ์ออกมาจากมือของเขาหรือเธอมาอยู่ในมือของนาง คือคนที่กล้าเปลี่ยน ‘ลิขิต’ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนหรือกลุ่มคนที่เปลี่ยนมันได้สำเร็จ

ผู้นำคณะราษฎรของอาจารย์คือตัวอย่างอันชัดเจนของกลุ่มคนที่กล้าเปลี่ยนลิขิตและเปลี่ยนได้สำเร็จ

ลิขิตที่ว่านี้คืออะไร อาจารย์อาจจะสงสัยว่าผมพูดถึงอะไรอยู่

ความจริงผมใช้ในความหมายตรงตัว ลิขิตคือสิ่งที่ถูกเขียนไว้แล้ว คือบทที่เราต้องเล่นตามสิ่งที่ถูกเขียนถูกกำหนดไว้แล้วว่าเกิดว่าเป็นไพร่เป็นเจ้า เป็นหญิงเป็นชาย เป็นพุทธเป็นอิสลาม เป็นชาวนาเป็นขุนนาง เป็นพระเป็นครูบาอาจารย์ มีบทอะไรให้ต้องเล่น รุสโซใช่ไหมครับที่บอกว่าเราเกิดมาเสรีแล้วมาอยู่ในโซ่ตรวนของสังคม สมัยก่อนเราอาจยกการลิขิตนี้ให้แก่เบื้องบน แต่เมื่อเราเลิกให้ข้างบนเขียนบท หน้าที่เดิมของศาสนจักรก็เปลี่ยนมาเป็นของรัฐศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา เศรษฐศาสตร์ จิตวิทยา ภาษาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ที่จะมาเป็นเจ้าของความรู้เกี่ยวกับบทที่ถูกลิขิตไว้เพื่อให้เราเล่น

ถ้าจะเรียก ลิขิต เป็นศัพท์วิชาการก็อาจเรียกได้ว่ามันคือ structure คนที่อยากจะเปลี่ยนลิขิต ไม่อยากเล่นและอยากฝืนสิ่งที่ถูกลิขิตไว้ ก็ต้องออกไปต่อสู้เพื่อหาทางเปลี่ยน structure เท่าที่ภาวะความสามารถของเขาแต่ละคน หรือการรวมตัวกันขึ้นมา จะสามารถทำได้

ผมคิดว่า Fortune ชอบคนที่ไม่ยอมจำนนต่อลิขิตเหล่านี้เป็นพิเศษ เพราะคนแบบนี้แหละครับที่จะเหมาะจะเล่นกับ ‘แรงอันเชี่ยวกราก’ ของนางได้ ตามสำนวนแปลของอาจารย์สมบัติ จันทรวงศ์ของพวกเรา มาคิอาเวลลีเขียนว่า เทพีแห่งโชคชะตาจะ “แสดงอำนาจของนางออกมาให้เห็นในที่ซึ่งไม่มีคุณธรรมที่ถูกจัดระเบียบแบบแผนเพื่อทัดทานนาง และนางก็หันเหแรงเชี่ยวกรากของนางไปยังที่ๆ นางรู้ว่าไม่ได้มีการสร้างเขื่อนกั้นน้ำ และการป้องกันเพื่อสะกัดนางไว้”

คนที่ฝืน คนที่ไม่ยอมจำนนต่อลิขิต และทำลายโครงสร้างเดิม ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างในทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมเดิม ที่เคยกำหนดขีดลิขิต เขียนและรักษาบทเดิมให้พวกเราเล่น จึงเท่ากับช่วยปลดปล่อยพลังของเทพีแห่งโชคชะตาออกมา

นางจึงรักคนเหล่านี้และเริ่มต้นทำงานของนางผ่านคนเหล่านี้ การทำลายโครงสร้างหรือลิขิตเดิม ถ้าเกิดขึ้นพร้อมกันได้ทุกส่วนทั้งทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม จนไม่เหลือแนวสะกัดต้านทานใดๆ ต่อเทพีแห่งโชคชะตา นางยิ่งสำแดงฤทธิ์จากความปั่นป่วนได้มากขึ้น ถ้าฟังตามมาคิอาเวลลี เราก็อาจกล่าวได้ว่า ความแตกต่างอันสำคัญระหว่างการปฏิวัติอเมริกากับการปฏิวัติฝรั่งเศสก็อยู่ตรงจุดนี้เอง นั่นคือ เทพีแห่งโชคชะตาเข้าทำงานของนางได้อย่างทรงพลังรุนแรงเต็มที่เมื่อฝรั่งเศสตั้งต้นศักราชใหม่  มากกว่าที่นางจะทำได้กับการเมืองอเมริกันภายหลังการปฏิวัติสำเร็จ

การทำลายบทที่เคยเล่นและต้องเล่นมาแต่เดิม ทำให้คนที่ทำลายโครงสร้างและได้เสรีภาพใหม่จากการที่ไม่ต้องเล่นตามบทเดิมที่โครงสร้างนั้นลิขิตไว้ แต่เสรีภาพตรงนี้แลกมาด้วยความไม่รู้ หรือไม่รู้พอและไม่รู้แน่ชัดว่าเขาและพวกเขาจะต้องทำอะไร แล้วทำอย่างไร ต้องทำอะไรในลำดับก่อนหลังแบบไหน ต้องร่วมมือกับใคร จัดการใคร ปรับ เปลี่ยน ย้าย ทิ้ง ทำลาย สร้าง ผสม รักษา อะไรไว้ เพื่อทำให้เป้าหมายตามที่ตั้งใจ และการลงมือกระทำที่คิดว่าเป็นการพาไปสู่เป้าหมายนั้นให้ผลออกมาตรงกัน

แต่อาจารย์ก็รู้ว่าในเรื่อง All’s Well That Ends Well มีประโยคสำคัญอยู่ตรงนี้

“If she, my liege, can make me know this clearly, I’ll love her dearly, ever, ever dearly.”

แล้วผมจะหาโอกาสไปพบอาจารย์เพื่อคุยเรื่องนี้กันต่อนะครับ ว่าเทพีแห่งโชคชะตาอนุญาตให้ผู้กระทำที่ฝืนลิขิตได้สำเร็จรู้เฉลียวในสิ่งที่ทำเมื่อไม่มีบทลิขิตไว้แล้วแค่ไหน ก่อนที่นางจะส่ง peripeteia เข้ามา

 

ศ.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save