fbpx
คำเตือนและคำอวยพร

คำเตือนและคำอวยพร

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

Ken Regan ภาพ

 

ผ่านปี 2020 มาได้เพียงสองเดือน โลกของเราเข้าขั้นโหดสัสเหลือเกิน

ป่าที่ออสเตรเลียถูกไฟไหม้กินพื้นที่ไปกว่า 1.6 แสนตารางกิโลเมตร ใหญ่พอๆ กับภาคอีสานทั้งภาคที่จมไปในทะเลเพลิง สัตว์ป่าถูกไฟคลอกตายไปกว่า 500 ล้านตัว

ไม่ทันไร – ไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ก็แพร่ลามจากจีนระบาดไปทุกทวีป มีคนติดเชื้อหลายหมื่นและเสียชีวิตหลายพันคน

แม่ของลูกมีอาการแพนิคเล็กๆ ด้วยการสั่งให้ทุกคนที่เข้าออกบ้านล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ แถมยังให้พ่อเอาติดกระเป๋าไปด้วยทุกที่ทุกครั้งที่เดินทาง

แต่ที่โหดสัสกว่าคือพอเราพยายามตั้งใจฟังมาตรการรับมือของรัฐบาลทหารของเรา แต่เขา – บางคนบอกว่ามันเป็นแค่โรคหวัดธรรมดา

ยังไม่นับบรรดาฝุ่น PM 2.5 ที่กลืนบ้านเมืองเราเข้าไปและคายออกมาจนกลายเป็นสีทึมเทา แต่บรรดาผู้บริหารประเทศที่เสวยสุขบนภาษีของพวกเรายังมีเงินซื้อยุทโธปกรณ์ แต่กลับปล่อยให้พวกเราหาซื้อหน้ากากอนามัยและเครื่องกรองอากาศกันเอง

เราไม่เข้าใจว่า เขาจะเอารถถังไปรบพุ่งกับฝุ่นที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าได้อย่างไร

แต่แม้จะเริ่มต้นปีที่โหดสัส อนาคตเริ่มพร่าเลือนและรกชัฏเรายังอาจพอเห็นดอกไม้ผลิบานในดงกาฝาก ท่ามกลางอนาคตที่ถูกผลาญทิ้งไปเรื่อยๆ จากมือคนเฒ่าไม่กี่คนที่ครองอำนาจมายาวนาน หนุ่มสาวจำนวนมากกลับไม่ยอมจำนน

จากแฮชแท็กในโซเชียลมีเดียที่ประกาศไล่เผด็จการเริ่มลามออกมาบนลานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ

แขนที่เหยียดตรง สามนิ้วที่ชูขึ้นฟ้า ใช่ว่าจะไม่สั่นคลอนโลกใบเก่าของผู้เฒ่าทั้งหลาย

“เราไม่สามารถข้ามห้วงทะเลได้ เพียงแค่ด้วยการยืนและจ้องมองลงไปที่ผิวน้ำ”

ข้อความสั้นๆ ของ ‘รพินทรนาถ ฐากุร’ ปรากฏอยู่บนกระดาษที่นักเรียนมัธยมชูขึ้นให้สื่อมวลชนถ่ายภาพระหว่างพวกเขาออกมาประท้วง บอกเราว่าถ้าปัจจุบันเป็นดั่งห้วงทะเล พวกเขาก็พร้อมจะกระโจนลงไปและก้าวไปหาอนาคตด้วยตัวเอง

แน่นอน – มันเป็นวันเวลาของลูกเช่นกัน

ทุกวันที่ลูกเติบโตขึ้น เราพยายามเตือนตัวเอง (ถ้าสติสัมปชัญญะยังมีก็ควรใช้) ว่าทั้งพ่อและแม่ไม่ใช่เจ้าชีวิตของลูก ไม่มีใครเป็นเจ้าชีวิตของใคร ลูกมีสิทธิในตัวเองที่จะมีอนาคตเป็นของตัวเอง

ก็แบบที่ ‘ครูเม’ เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาเด็กและครอบครัวเคยบอกไว้

“การมีลูกคนหนึ่งต้องถามตัวเองว่าต้องการมีเขาเพื่อตอบสนองอะไรหรือเพราะอยากจะมีเขาจริงๆ เด็กเกิดมาเพื่อเป็นตัวของเขาเอง ไม่ได้เพื่อเป็นใครหรือเพื่อทำตามความปรารถนาของใคร

“การมีลูกนอกจากความพร้อม ต้องใช้ความรักและความกล้าหาญของพ่อแม่ อย่ามีลูกเพื่อตอบสนองความคาดหวังหรือความฝันของใคร

“เรามีลูกเพื่อให้เขาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในแบบของเขา สมบูรณ์ไม่ได้แปลว่าเพอร์เฟ็กต์ แต่แปลว่าเขามีความสุขในชีวิต สามารถเติบโตด้วยตัวเอง และทำในสิ่งที่เขาต้องการโดยไม่ทำให้ใครเดือดร้อนได้”

 

ห้วงยามของการคิดถึงอนาคตของคนรุ่นลูก อย่างน้อยมันทำเราให้ได้ทบทวนตัวเองในอดีตที่ผ่านมา อดีตที่เราสร้างขึ้นเป็นความทรงจำ

ในงานแต่งงานของพ่อกับแม่เมื่อห้าปีก่อน (ก่อนปี 2020) เราสลักคำว่า forever young ลงบนทัพพีไม้สักเป็นของที่ระลึกให้กับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่มาร่วมงานแต่งงานของเรา

5 ปีผ่านมา เราขยับจากคู่หนุ่มสาวมาเป็นพ่อแม่ ฯลฯ อายุอานามกล้ามเนื้อไม่ได้สดเหมือนเมื่อก่อนแล้ว

ไอ้คำหวานๆ ซึ้งๆ ที่เคยนิยมก็ทิ้งขว้างไปตามกาลเวลาแต่สิ่งที่ทำให้เรายังรู้สึกเฟรชเสมอคือด้านมืดของตัวเราเองและด้านมืดของบ้านนี้เมืองนี้

มันทำให้เราตระหนักถึงคำของ ‘ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข’ ว่า “ตราบใดที่คนสองคนรักกัน จะไม่มีใครปล่อยให้ใครจนกว่ากัน”

แม้จะทะเลาะกันทุกวัน แต่พ่อกับแม่ไม่เคยลืมสิ่งนี้เลย ดูแลกันมันง่าย แต่ดูแลกันนานๆ มันก็ต้องพิสูจน์

สุดท้ายแล้วนี่อาจเป็นความหมายของคำว่า forever young ที่เราเลือกสลักลงไปบนทัพพีไม้ เพราะทัพพีมันคอยย้ำเตือนเราว่า ไม่ว่าจะเป็นความรักหรือความจน มันไม่ใช่เรื่องผูกขาดไว้เฉพาะแค่คนสองคนแน่ๆ

ใครต่อใครมักแชร์ประสบการณ์การครองเรือนสำหรับเรา 5 ปีผ่านมา ถ้าเป็นโรงเรียน เรายังไม่พ้นประถมเลย เราไม่สามารถพูดอะไรมากได้มากกว่านี้ และบางทีปีที่มากขึ้น เราหวังว่าจะพูดอะไรให้น้อยลง

 

ลืมบอกลูกไปอีกเรื่องว่าในงานแต่งคืนนั้น นอกจากทัพพี เรายังมีแหวนแต่งงานที่สลักคำว่า forever young ลงไปด้วย

กระทั่งเพลงที่เราใช้เปิดตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาว ก็ยังเป็นเพลง forever young ของ Bob Dylan ด้วยเช่นกัน

ระหว่างที่เราเดินไปขึ้นเวที แสงสีสปอตไลท์และไฟมือถือของเพื่อนๆ ฉายส่องมาที่เรา มันทำให้หัวใจเรากำลังสว่างวาบ เสียงของ Norah Jones ที่ร้องคัฟเวอร์ เป็นเวอร์ชั่นที่ทำให้คำอวยพรหวานละมุน แม้มันจะเป็นเพลงที่ใช้คำเชยๆ ก็ตาม

 

https://www.youtube.com/watch?v=7jEKY-3eNZc

 

บ็อบ ดีแลน แต่งเพลงนี้ไว้ในอัลบั้ม Planet Waves ปี 1974 เรามารู้ภายหลังว่าเขาแต่งให้ลูกๆ ของเขาเอง

แม้บ็อบจะถูกยกย่องว่าเพลงที่เขาเขียนขึ้นหลายๆ เพลงนั้นสะท้อนชีวิตและสังคมในยุคบุปผาชนเพื่อต่อต้านสงครามและเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ แต่เขามักปฏิเสธในหลายๆ ครั้งว่ามันเป็นแค่เพลงธรรมดาทั่วไปเพลงหนึ่งที่คนอื่นตีความ

แต่สำหรับเพลง forever young ที่เขาแต่งให้ลูก อาจเป็นเพลงที่ตรงไปตรงมาที่สุดของบ็อบแล้วก็ได้

 

 

May God bless and keep you always

May your wishes all come true

May you always do for others

And let others do for you

May you build a ladder to the stars

And climb on every rung

May you stay forever young

May you stay forever young

May you grow up to be righteous

May you grow up to be true

May you always know the truth

And see the light surrounding you

May you always be courageous

Stand upright and be strong

May you stay forever young

May you stay forever young

May your hands always be busy

May your feet always be swift

May you have a strong foundation

When the winds of changes shift

May your heart always be joyful

May your song always be sung

And may you stay forever young

May you stay forever young

 

วันนั้น – เราตั้งใจอวยพรให้พวกเราเอง

วันนี้ – เราอยากอวยพรให้ยุคสมัยของลูก

 

____________________________
อ่านคอลัมน์เมื่อเวลามาถึงทั้งหมดต่อที่นี่ 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save